Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนที่ 1)

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้และตอนหน้า จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและที่ผมได้เคยทำมาทุกปีคือ จะสรุปเหตุการณ์สถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะเลือกมา 10 เรื่อง และจัดอันดับเป็นสถานการณ์โลก Top 10 สิบเรื่องทีมีความสำคัญที่สุด โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับคือ จะวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ใด จะมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ในปีนี้ ผมจะเรียงลำดับจากอันดับ 10 มาจนถึงอันดับ 1

อันดับที่ 10 ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 10 และถือเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่วิกฤติที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามในอนาคตได้ คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือที่เราเรียกกันว่า ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ยืดเยื้อมานานแล้ว ด้วยความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งทางด้านการทหารและทางด้านเศรษฐกิจ จึงมีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน โดยเฉพาะจีนได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทั้งหมด ส่วนเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อ้างสิทธิ์เป็นบางส่วน ในอดีต ความขัดแย้งเคยนำไปสู่สงครามมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งเริ่มทุเลาลง เพราะจีนต้องการเอาใจอาเซียน จึงได้ทำปฏิญญาแก้ไขปัญหากับอาเซียนในปี 2002 แต่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้จีนมีนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อปัญหานี้

จนในที่สุด ปัญหาก็มาปะทุขึ้น ระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่ฮานอย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประเทศที่จุดชนวนปัญหาครั้งใหม่คือ สหรัฐฯ Hillary Clinton ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐฯ ว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและสหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯ ทำให้จีนไม่พอใจมาก หลังจากนั้น กองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด ซึ่งปฏิกิริยาของจีนทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม เรือรบของสหรัฐฯ ชื่อ John McCain และเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington ได้จอดเทียบท่าที่เมืองดานัง เวียดนามได้ออกมาประณามจีน ในการส่งเรือรบเข้าไปในเขตหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นของตน

พฤติกรรมของจีนในเรื่องนี้ ทำให้จีนเสียหายมาก เพราะก่อนหน้านี้ยุทธศาสตร์ของจีนคือ การลดความหวาดระแวงจีน ด้วยสโลแกน Peaceful Rise หรือการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ

อันดับที่ 9 รางวัลโนเบลสันติภาพ
เมื่อเดือนตุลาคม คณะกรรมการโนเบลได้ประกาศให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน แต่หลังจากการประกาศ รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมาโจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร รัฐบาลจีนได้พยายาม lobby อย่างหนักไม่ให้ประเทศต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีมอบรางวัล โดยมี 65 สถานทูตได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีที่กรุงออสโล แต่ก็มีเพียง 17 ประเทศที่บอยคอตพิธี ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศเผด็จการ ต่อต้านตะวันตก และมีผลประโยชน์กับจีน

สำหรับพิธีให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu นั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดย Liu ไม่ได้ไปรับ และไม่มีผู้แทนมารับรางวัลดังกล่าว ผู้จัดจึงปล่อยให้เก้าอี้สำหรับ Liu นั้นว่าง

การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีนเป็นอย่างมาก ทำให้จีนตกเป็นเป้าในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจ การจัดกีฬาโอลิมปิก 2008 และ World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ปฏิกิริยาของรัฐบาลจีนยิ่งทำให้จีนเสียชื่อหนักขึ้น การที่จีนบอยคอตพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ ทำให้มีการเอาจีนมาเปรียบเทียบกับเยอรมนีในสมัยนาซีของ Hitler ทั้งนี้เพราะ การที่ไม่มีคนมารับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งเดียวที่ไม่มีผู้มารับรางวัล ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1936 โดยผู้ได้รางวัลในปีนั้นคือ Carl von Ossietzky ผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวเยอรมันผู้ถูกคุมขัง และ Hitler ปฏิเสธไม่ให้เขามาเข้าร่วมพิธี

อันดับที่ 8 ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ
เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 8 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ การเกิดแผ่นดินไหวในเฮติและความช่วยเหลือของประชาคมโลก โดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ทำให้เมืองหลวงของเฮติพังพินาศเกือบทั้งเมือง มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 แสนคน นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบปี 2010

หลังแผ่นดินไหว ประชาคมโลกได้ระดมการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งน่าจะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยสหรัฐฯ ในฐานะอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก และเป็นลูกพี่ใหญ่ในภูมิภาคได้เล่นบทเป็นพระเอกในการให้ความช่วยเหลือ โดยได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจอดนอกชายฝั่ง และส่งทหารกว่า 1 หมื่นคนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนทางสหประชาชาติมีกองกำลังรักษาสันติภาพอยู่ในเฮติ Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้กล่าวว่า สถานการณ์ในเฮติถือเป็นวิกฤตการณ์ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้ว การช่วยเหลือเฮติของประชาคมโลกในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ข่าวเรื่องเฮติเป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นปี แต่พอมาถึงช่วงกลางปีและปลายปี ข่าวเรื่องเฮติก็ได้จางหายไปจากพื้นที่ข่าวของสื่อมวลชนโลก ชาวโลกก็ได้ลืมหายนะในเฮติไปอย่างรวดเร็ว

อันดับที่ 7 พม่า
สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 7 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน คือ การเลือกตั้ง การปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ข้อสงสัยเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ

สำหรับในเรื่องการเลือกตั้งนั้น ครั้งสุดท้ายที่พม่าได้มีการเลือกตั้งคือ ในปี 1990 คือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว แต่หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติมานาน รัฐบาลเผด็จการทหารจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมา และผู้นำทหารหลายคนก็ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของพรรค เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และปราศจากความโปร่งใส ดังนั้น จึงได้รับการโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายตะวันตก ประธานาธิบดีโอบามา ได้โจมตีการเลือกตั้งว่า ไม่ free และ ไม่ fair ทำให้การเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดกว่า 2 พันคน รัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ก็มีท่าทีในทำนองเดียวกัน Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้แสดงจุดยืนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม มีจีนกับอาเซียนเท่านั้นที่แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

และในขณะที่ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ในวันที่ 12 พฤศจิกายน

นอกจากนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีข่าวเกี่ยวกับพม่าอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma ระบุว่า มีหลักฐานว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นข้อมูลที่ได้มาจากอดีตทหารพม่า ซึ่งได้เคยทำงานในโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Mandalay นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากชาวพม่า ตีพิมพ์ในรายงานของนักวิชาการออสเตรเลียว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ที่เมือง Naung Laing ซึ่งคาดว่า จะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020
ต่อมา Wikileaks ได้เผยแพร่โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่โดยสรุป ยังมีไม่หลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง

อันดับที่ 6 เกาหลีเหนือ
สำหรับสถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 6 ในรอบปี 2010 คือสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ โดยในเดือนมีนาคม เรือรบเกาหลีใต้ชื่อ Cheonan ได้ถูกระเบิดตอร์ปิโดจมลง มีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน เกาหลีใต้เชื่อว่า เป็นฝีมือของเรือดำน้ำเกาหลีเหนือ และต่อมาเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เกาะ Yeonpyeong โจมตีเป้าหมายฐานทัพทหารของเกาหลีใต้ รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนบนเกาะ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1953 ที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่เข้าสู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน มีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต 4 คน

หลังเหตุการณ์ได้มีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ โดยประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ จะปกป้องพันธมิตรคือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีของเกาหลีเหนือ ต่อมา สหรัฐได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington เดินทางสู่คาบสมุทรเกาหลี ส่วนญี่ปุ่นได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะมีบทบาทกดดันเกาหลีเหนือคือ จีน แต่ท่าทีของจีนกลับไม่ประณามเกาหลีเหนือ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้กล่าวว่า ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ควรจะแสวงหาสันติภาพ และว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว

Wikileaks เปิดเผยข้อมูลลับ พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

Wikileaks เปิดเผยข้อมูลลับ พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์?
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Guardian ได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่ได้มาจาก Wikileaks เป็นโทรเลขลับรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะสรุปวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ดังนี้

ข้อมูลลับเรื่องโรงงานนิวเคลียร์
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2004 สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับข้อสงสัยที่พม่าจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทราบ ซึ่งเป็นข้อมูลลับ โดยในโทรเลขดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ได้มีนักธุรกิจต่างชาติทำงานในพม่า ซึ่งชื่อของเขาได้ถูกลบออก (ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์ Guardian น่าจะเป็นคนลบออก) ได้บอกกับเจ้าหน้าที่สถานทูตว่า ได้ยินข่าวลือว่า รัฐบาลพม่ากำลังแอบสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ใกล้เมือง Minbu นักธุรกิจคนนั้นได้บอกว่า ได้เห็นเรือขนาดใหญ่บรรทุกเหล็กเส้นขนาดใหญ่ และเขาได้ถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เมือง Minbu ชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่า เรือขนาดใหญ่บรรทุกเหล็กเส้นมาทุกสัปดาห์ เหล็กเส้นจะเอามาใช้ก่อสร้างโรงงานที่ไม่มีการเปิดเผย ในความเห็นของนักธุรกิจคนนั้น ดูจากปริมาณและความใหญ่ของเหล็กเส้น คิดว่าน่าจะเอามาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่กว่าโรงงาน

เจ้าหน้าที่สถานทูตได้ให้ความเห็นในโทรเลขลับว่า ข่าวลือเกี่ยวกับการสร้างโรงงานิวเคลียร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2002 โดยได้มีข่าวลือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับพม่าในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ต่อมาในปี 2003 ได้มีข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ สถานทูตสรุปว่า ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ข่าวลือเกี่ยวกับการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ก็หนาหูขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ

ข้อมูลลับความสัมพันธ์พม่ากับเกาหลีเหนือ
สำหรับโทรเลขลับอีกฉบับหนึ่ง สถานทูตรายงานในวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2004 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการพัฒนาขีปนาวุธในพม่า โดยในโทรเลขดังกล่าวได้รายงานรายละเอียดว่า ได้ข้อมูลมาว่า มีชาวเกาหลีเหนือประมาณ 300 คน ทำงานอยู่ในสถานที่ลับทางตะวันตกของเมือง Minbu บุคคลที่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกลบชื่อออกในโทรเลขที่หนังสือพิมพ์ Guardian ตีพิมพ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ชาวเกาหลีเหนือได้มาช่วยสร้างขีปนาวุธ SAM ให้พม่า นอกจากนี้ ก็กำลังก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใต้ดินขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงถึง 500 ฟุต

จากข้อมูลดังกล่าว เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากคำบอกเล่าของแหล่งข้อมูลดังกล่าว เกี่ยวกับการที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าสร้างขีปนาวุธ และสร้างสิ่งก่อสร้างลึกลับใต้ดินนั้น ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลที่สถานทูตได้จากแหล่งข่าวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สถานทูตระบุว่า จากข้อมูลดังกล่าว ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยพม่าในด้านใดบ้าง แหล่งข้อมูลยังไม่สามารถยืนยันได้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นทางสถานทูตจึงมองว่า ข้อมูลดังกล่าว เมื่อใช้ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ น่าจะบ่งชี้ถึงความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่าว่า กำลังแอบทำอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญทางทหาร แต่จะเป็นอะไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

บทวิเคราะห์
• จากข้อมูลโทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ที่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาทาง Wikileaks นั้น ทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวหนาหูขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องทั้ง 2 นี้ แต่เมื่อดูจากข้อมูลในโทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และไม่สามารถยืนยันได้ว่า เกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

• ก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลลับของสถานทูตสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูล จากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma โดยได้เผยแพร่บทความระบุว่า มีหลักฐานว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นข้อมูลที่ได้มาจากอดีตทหารพม่า ซึ่งได้ให้ข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับโรงงานนิวเคลียร์ของพม่า โดยอดีตทหารพม่าผู้นี้ได้เคยทำงานที่โรงงานพิเศษ ซึ่งต่อมาเขาก็พบว่า เป็นโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Thabeikkyin ทางเหนือของ Mandalay

ดังนั้น ประเด็นก็คือ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีข้อสงสัย ผมเห็นว่า จะต้องมีการตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยจะต้องมีกลไกในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็น IAEA หรือ อาเซียน

หากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดกับพม่า ไทยและอาเซียนคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ คงจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความชัดเจน

• สำหรับในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการตีพิมพ์รายงานของนักวิชาการออสเตรเลีย โดยข้อมูลได้มาจากชาวพม่าที่แปรพักตร์ โดยบอกว่า กองทัพพม่าได้จัดตั้งฐานการพัฒนานิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2000 โดยโรงงานอยู่ใต้ดินในภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Naung Laing ใกล้เมือง Pyin Oo Lwin รายงานระบุว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ Naung Laing ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020

กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า เกาหลีเหนือช่วยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า ที่น่าจะสามารถมีหลักฐานและยืนยันได้ น่าจะเป็นการที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาขีปนาวุธ ฐานปล่อยจรวด อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีทางทหารเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 2010

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2553

ภูมิหลัง
เมื่อตอนเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน โดยคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า Liu ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีนมาอย่างยาวนาน โดยได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 และเป็นคนสำคัญในการเขียนเอกสาร Charter 08 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน จากการกระทำดังกล่าว Liu ได้ถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 11 ปี เขาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน
หลังจากการประกาศรางวัลโนเบลสันติภาพให้แก่ Liu รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu จึงเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของรางวัลโนเบล

หลังจากนั้น รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไปร่วมในพิธีให้รางวัล โดยภรรยาของ Liu ได้ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน ส่วนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่าง Charter 08 ก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังได้ถูกปราบปรามอย่างหนักในช่วงก่อนพิธีให้รางวัล โดยเฉพาะการจับกุมและการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

รัฐบาลจีนพยายามประกาศโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีน โดยบอกว่า การให้รางวัลดังกล่าว เป็นอุบายของตะวันตกที่ต้องการทำลายการผงาดขึ้นมาของจีน

ก่อนหน้าพิธีให้รางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม รัฐบาลจีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การให้รางวัลอย่างรุนแรง โดยบอกว่า พิธีให้รางวัลเป็น ละครตลกทางการเมือง (political farce) และผู้เข้าร่วมพิธีจะเป็นตัวตลก (clown) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า จีนจะต่อต้านประเทศหรือบุคคลใดก็ตาม ที่จะใช้รางวัลโนเบลสันติภาพ มาแทรกแซงกิจการภายในของจีน และล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของจีน โดยย้ำว่า Liu เป็นอาชญากร ใครให้รางวัลแก่เขา เท่ากับเป็นการดูถูกระบบตุลาการของจีน และมองว่า คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจเลือกอาชญากร ทั้งนี้เพื่อที่จะสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศตะวันตกบางประเทศ

นอกจานี้ รัฐบาลจีนได้พยายาม lobby อย่างหนัก ไม่ให้ประเทศต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีให้รางวัล โดยจีนอ้างว่า การให้รางวัลดังกล่าว ไม่ได้เป็นการสะท้อนความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ในโลก

มีสถานทูต 65 สถานทูต ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในพิธี ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ จีนพยายาม lobby อย่างหนัก แต่ก็มีเพียง 17 ประเทศที่บอยคอตพิธี ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศเผด็จการ ไม่ชอบตะวันตก และมีผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับจีน ซึ่ง 17 ประเทศนั้นคือ รัสเซีย คาซัคสถาน แอลจีเรีย ตูนิเซีย ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน ศรีลังกา เซอร์เบีย อิรัก อิหร่าน เวียดนาม อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา อียิปต์ ซูดาน คิวบา และโมรอคโค
พิธีให้รางวัล

สำหรับพิธีให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu นั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย Liu ไม่ได้ไปรับและไม่มีผู้แทนมารับรางวัลดังกล่าว ผู้จัดจึงปล่อยให้เก้าอี้สำหรับ Liu นั้น ว่าง และได้เอารางวัลไปวางไว้บนเก้าอี้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญ

ในพิธี Thorbjorn Jagland ประธานคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า ถึงแม้จีนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สถานะใหม่ของจีนในการเป็นมหาอำนาจนั้น จีนจะต้องเปิดกว้างรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ และต้องปฏิรูปทางการเมือง Jagland ได้เปรียบเทียบการต่อต้านของจีนต่อการให้รางวัลในครั้งนี้ว่า เปรียบเหมือนกับในสมัยที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ ต่อต้านการให้รางวัลแก่ Desmond Tutu และเปรียบเหมือนกับรัฐบาลทหารพม่าที่ต่อต้านการให้รางวัลกับ ออง ซาน ซูจี Jagland เปรียบ Liu เหมือนกับ Nelson Mandela อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ที่เคยได้รับรางวัลในปี 1993 Jagland กล่าวว่า Liu ต้องการที่จะอุทิศรางวัลโนเบลนี้ให้แก่ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989

สาเหตุและปัจจัย
สำหรับคำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่ Liu ในครั้งนี้ ผมมองว่า อาจจะมีปัจจัย 2 ปัจจัยที่อาจจะผสมผสานกันอยู่ ปัจจัยแรก น่าจะเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และจริงใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบล ที่ต้องการจะส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อาจจะอีกมีปัจจัยหนึ่ง ที่แอบแฝงอยู่ คือ คณะกรรมการโนเบลเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก ซึ่งมองการผงาดขึ้นมาของจีนด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดโลก จีนจึงอาจจะท้าทายระเบียบโลกและการครองโลกของตะวันตกได้ ฉะนั้น วาระซ่อนเร้นคือ การใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการโจมตีจีน เพื่อทำให้จีนเสียชื่อ และไม่มีความชอบธรรมที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก

ผลกระทบต่อจีน
• ผมมองว่า การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของจีน ทำให้จีนตกเป็นเป้า โดยเฉพาะในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การผงาดขึ้นมาของจีน การจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และ World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ดังนั้น soft power ของจีนก็เสียหายหนัก

• ปฏิกิริยาของรัฐบาลจีน ยิ่งทำให้จีนเสียชื่อหนักขึ้น การที่จีนบอยคอตพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ ทำให้มีการเปรียบเทียบว่า จีนเหมือนกับสหภาพโซเวียตในปี 1975 ที่บอยคอตการให้รางวัลแก่ Andrei Sakharov นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่หนักไปกว่านั้นคือ จีนถูกเอามาเปรียบเทียบกับเยอรมนีในสมัยนาซี ของ Hitler ทั้งนี้เพราะ การที่ไม่มีคนมารับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งเดียวที่ไม่มีผู้มารับรางวัล ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1936 โดยผู้ได้รับรางวัลในปีนั้นคือ Carl von Ossietzky ผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวเยอรมันที่ถูกคุมขัง และ Hitler ก็ปฏิเสธที่จะไม่ให้เขามาเข้าร่วมพิธี

• ผมมองว่า ปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความหายนะในเรื่องของการทำ PR โดยหากรัฐบาลจีนไม่มีปฏิกิริยาเกินเหตุ ก็คงจะไม่ทำให้ชาวโลกหันมาสนใจพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ และความพยายามของจีนในการ lobby เพื่อให้ประเทศต่างๆ บอยคอตพิธี ก็ไม่สำเร็จ

จริงๆ แล้ว จีนควรทำเหมือนอิหร่าน คือ เมื่อหลายปีก่อน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของอิหร่านขื่อ Shirin Ebadi ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ รัฐบาลอิหร่านในตอนแรก ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในตอนหลัง ก็ปล่อยให้ Ebadi ไปรับรางวัล และทูตอิหร่านในออสโล ก็เข้าร่วมพิธีด้วย กระแสต่อต้านอิหร่านในครั้งนั้นจึงไม่เกิดขึ้น

• ผลกระทบอีกประการต่อจีนในเรื่องนี้คือ ในอนาคต การทูตจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี คงต้องเผชิญกับปัญหาการหยิบยกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนขึ้นมาหารือ รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ก็คงจะถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว Liu

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Wikileaks : ผลกระทบต่อการทูตโลก

Wikileaks : ผลกระทบต่อการทูตโลก
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2553

ข่าวการรั่วไหลข้อมูลลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางเวปไซท์ชื่อ Wikileaks กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลังของ Wikileaks
Wikileaks เป็นเวปไซท์ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลลับจากรัฐบาล โดยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Wikileaks เริ่มเป็นที่รู้จักกันหลังจากที่ได้เผยแพร่ไฟล์ข้อมูลลับ 77,000ไฟล์ เกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน และต่อมาในเดือนตุลาคม ได้เผยแพร่เอกสารลับเกี่ยวกับสงครามในอิรัก ถึง 400,000 ไฟล์

และล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Wikileaks ได้เปิดเผยว่า มีไฟล์ข้อมูลลับอีก 250,000 ไฟล์ ซึ่งเป็นข้อมูลรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1966 ถึง ปี 2010 โดยข้อมูลทั้งหมด Wikileaks ได้ส่งต่อให้กับหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ เพื่อลงตีพิมพ์ต่อไป โดยมีหนังสือพิมพ์ New York Times, Guardian, Le Monde, El Pair และ Der Spiegel

สำหรับบุคคลที่ถูกจับตามองว่า น่าจะเป็นคนขโมยข้อมูลลับดังกล่าวคือ ทหารสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า Bradly Manning ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ในเดือนกรกฎาคม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า Manning สามารถเข้าไปในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Secret Internet Protocol Router Network ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายการติดต่อข้อมูลระหว่างรัฐบาลกับสถานทูตทั่วโลก

ข้อมูลลับ
สำหรับข้อมูลลับที่ได้มีการเผยแพร่ออกมาแล้วนั้น มีหลากหลายมาก แต่ที่สำคัญคือ

• อัฟกานิสถาน
ในเอกสารลับได้ระบุว่า สหรัฐฯ มีความเป็นห่วงกังวลถึงความสามารถของประธานาธิบดี Karzai ที่จะบริหารประเทศ โดยได้มีข้อความกล่าวถึง Karzai ว่า “เป็นคนอ่อนแอ paranoid และไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ”

• จีน
จากข้อมูลของ Wikileaks ได้เปิดเผยว่า ในปี 2007 สหรัฐฯ ได้ขอให้จีนยับยั้งการส่งอุปกรณ์ขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือไปอิหร่าน โดยเป็นการส่งทางเครื่องบินผ่านจีน แต่จีนกลับไม่สนใจ และต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวหาว่าจีนได้ hack เข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ

• เกาหลีเหนือ
ข้อมูล Wikileaks ได้เปิดเผยว่า จีนไม่พอใจต่อพฤติกรรมของเกาหลีเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ และจีนมองว่า ควรมีการรวมชาติในคาบสมุทรเกาหลี โดยเกาหลีใต้น่าจะเป็นผู้ควบคุมคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จีนได้พูดถึงเกาหลีเหนือว่า เหมือนกับเป็นเด็กที่ถูก spoiled หรือเด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน และมองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงโลก นอกจากนี้ นักการทูตสหรัฐฯ ยังได้พูดถึง Kim Jong Il ว่าเป็น “flabby old chap” ซึ่งน่าจะแปลว่า “คนแก่ที่อ่อนแอ”

• อิหร่าน
สำหรับข้อมูลสำคัญที่ Wikileaks ได้เปิดเผยออกมาคือ การที่ผู้นำอาหรับหลายประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน เพื่อยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยรัฐมนตรีกลาโหมของ UAE ได้เปรียบประธานาธิบดีของอิหร่าน Mahmoud Almedinejad ว่า เปรียบเสมือน Hitler

• ปากีสถาน
สำหรับในกรณีปากีสถานได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า นักการทูตสหรัฐกลัวว่า วัตถุดิบนิวเคลียร์ของปากีสถานอาจจะตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย และตั้งแต่ปี 2007 สหรัฐฯ ได้พยายามที่จะโยกย้ายแร่ธาตุยูเรเนียมในปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ปากีสถานพยายามปฏิเสธไม่ให้ทางฝ่ายสหรัฐฯ เข้าถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตน

• รัสเซีย
Wikileaks ได้เปิดเผยว่า นักการทูตสหรัฐฯ มองว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีการฉ้อฉลและอำนาจอยู่ในมือของ Vladimir Putin โดยโทรเลขฉบับหนึ่ง ได้กล่าวถึงประธานาธิบดี Medvedev ว่า เป็นเหมือน Robin ในขณะที่ Putin เป็น Batman นอกจากนี้ Wikileaks ได้เปิดเผยอีกว่า จริงๆ แล้ว Putin ก็มีความยืดหยุ่น โดยได้มีข้อมูลว่า หลังจากที่รัฐบาลโอบามาได้ยุติระบบการติดตั้งขีปนาวุธในโปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งรัสเซียได้ต่อต้านมาโดยตลอด โดยหลังจากนั้น รัสเซียได้ตอบแทนการปรับท่าทีของโอบามาด้วยการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลสหรัฐฯ
หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงข่าว โดยบอกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ขอประณามการเปิดเผยข้อมูลลับอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีผลทำให้ชีวิตคนหลายคนประสบอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะคนที่ให้ข้อมูล การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และถือเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ ไม่ใช่แต่เป็นการโจมตีสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ถือเป็นการโจมตีต่อประชาคมโลกด้วย

Clinton ได้กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการขโมยข้อมูลลับดังกล่าว และได้ขอให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปกป้องข้อมูลอย่างรัดกุม และจะไม่ให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

Clinton ได้กล่าวในตอนท้ายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดต่อสื่อสารทางการทูต และมีข้อมูลที่ละเอียดอ่อน นักการทูตทุกประเทศต้องมีการพูดคุยกับประชาชน และต้องมีข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในวงการทูตเท่านั้น แต่ในทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมาย นักข่าว การเงิน การแพทย์ การศึกษา และธุรกิจ ก็ต้องมีการติดต่อกันที่เป็นความลับ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจกัน และการปกป้องความลับ แต่หากความลับและความเชื่อถือถูกทำลาย จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ผลกระทบ
จากการเปิดเผยข้อมูลลับของ Wikileaks ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการทูตและการเมืองโลก โดยผมจะวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

• ผมมองว่า โดยรวมแล้ว ข้อมูลที่ Wikileaks เปิดเผยออกมา เป็นข้อมูลที่เราก็รู้อยู่แล้ว เป็นเพียงการตอกย้ำสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกที่นักการทูตสหรัฐฯ จะมองว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานอ่อนแอ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้นำอาหรับจะมีความห่วงใยต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน

• อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางเรื่องที่คงจะส่งผลกระทบและคงจะทำให้สหรัฐฯ ประสบปัญหาในการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นในกรณีของปากีสถาน ข้อมูล Wikileaks ได้เปิดเผยถึงการที่สหรัฐฯ พยายามเข้าไปแทรกแซงในเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งคงจะทำให้ในอนาคต สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเจรจากับปากีสถาน เช่นเดียวกับในกรณีเยเมน ที่รัฐบาลเยเมนสนับสนุนให้สหรัฐฯ ให้กำลังทหารโจมตีขบวนการก่อการร้ายในประเทศอย่างลับๆ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคงจะทำให้ในอนาคต รัฐบาลเยเมนคงจะถอยห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้น

• ส่วนผลกระทบในระยะยาวคือ ในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเผยความลับ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ให้กับนักการทูตสหรัฐฯ ฟัง ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการได้ข้อมูลข่าวกรองต่างๆ

• นอกจากนี้ ในระยะยาว นักการทูตสหรัฐฯ เอง คงจะระมัดระวัง และคงจะไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เป็นทางการที่จะเกิดการรั่วไหลได้อย่างในกรณี Wikileaks ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดข้อมูลสำคัญๆ ผมมองว่า ในกรณี Wikileaks ในครั้งนี้ คงจะเป็นสัญญาณเตือนนักการทูตต่างๆ ทั่วโลก โดยในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการติดต่อสื่อสารกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับ นอกจากนี้ การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐฯ และในรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก คงจะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น

NATO กับยุทธศาสตร์ใหม่ : Strategic Concept

NATO กับยุทธศาสตร์ใหม่ : Strategic Concept
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดนาโต้ ครั้งล่าสุด ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ที่เรียกว่า Strategic Concept คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว โดยเน้นวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ดังนี้

การประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง
ในเอกสาร Strategic Concept ได้วิเคราะห์ประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง ดังนี้

• ในปัจจุบัน ภูมิภาคยุโรปมีสันติภาพและภัยคุกคามจากการโจมตีอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ภูมิภาคในโลก ยังมีการสะสมเพิ่มกำลังทางทหาร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค ทั้งนี้รวมถึงการแพร่ขยายของการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญของภูมิภาค

• การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธร้ายแรงอื่นๆ ก็เป็นภัยคุกคามสำคัญ

• การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของนาโต้ โดยกลุ่มก่อการร้ายได้แพร่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อนาโต้ และถ้าหากผู้ก่อการร้ายสามารถมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในความครอบครอง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

• ความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของนาโต้ได้ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะการค้าอาวุธ การค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์

• ภัยคุกคามในอินเตอร์เน็ตเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ โดยการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคได้

• สมาชิกนาโต้บางประเทศ ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายการส่งพลังงาน ดังนั้นความมั่นคงทางพลังงานจึงเป็นประเด็นสำคัญ

collective defense
ในเอกสาร Strategic Concept ได้แบ่งภารกิจของนาโต้เป็น 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งเรียกว่า collective defense หรือการป้องกันร่วมกัน ด้านที่สองคือ crisis management หรือการจัดการกับวิกฤติการณ์ และด้านที่สามคือ cooperative security หรือความมั่นคงร่วมกัน

สำหรับภารกิจแรกคือ collective defense นั้น นาโต้จะป้องปรามและป้องกันต่อภัยคุกคาม โดยความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของนาโต้คือ การป้องกันสมาชิกจากการถูกโจมตี โดยยุทธศาสตร์หลักที่จะใช้ คือ การป้องปราม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า deterrence ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างการป้องปรามด้วยอาวุธธรรมดาและการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะมีการปฏิบัติการร่วมในลักษณะการป้องกันร่วม หรือ collective defense โดยนาโต้จะเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ การป้องกันภัยคุกคามจากอาวุธร้ายแรง การป้องกันการโจมตีในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย รวมถึงความสามารถในความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเครือข่ายด้านพลังงาน

crisis management
ภารกิจที่สองของนาโต้คือ การจัดการวิกฤติการณ์ ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ นาโต้จึงมีภารกิจที่จะเข้าไปป้องกันวิกฤติการณ์และความขัดแย้ง จัดการวิกฤติการณ์ และส่งเสริมฟื้นฟู บูรณะหลังความขัดแย้ง นาโต้มีขีดความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง โดยมีความสามรถในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในบริเวณที่มีความขัดแย้ง

cooperative security
ภารกิจที่สามของนาโต้คือ การสร้างความมั่นคงร่วมกัน โดยนาโต้จะเน้นความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศ ควบคุมอาวุธและป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธ ซึ่งรวมถึงอาวุธธรรมดาและอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง

สำหรับในกรณีของสมาชิกภาพนั้น นาโต้มีนโยบายที่จะเปิดกว้าง สำหรับประเทศในยุโรปที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต นอกจากนี้ นาโต้จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลก

นาโต้จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับยูเครนและจอร์เจีย นอกจากนี้ จะส่งเสริมบูรณาการกับประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ Mediterranean Dialogue ซึ่งจะเปิดกว้างสำหรับประเทศสมาชิก ซึ่งก็คือประเทศรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

บทวิเคราะห์
• จากการวิเคราะห์เอกสาร Strategic Concept ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้นั้น จะเห็นได้ว่า นาโต้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในการที่จะเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดในโลก

• Global NATO : อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เอกสารให้ดี จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของเอกสารชี้ให้เห็นว่า นาโต้กำลังถอยหลัง ซึ่งมีหลายเรื่องด้วยกันที่เป็นความล้มเหลว

เรื่องแรกคือ ความล้มเหลวในเรื่อง Global NATO คือ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดคราวนี้ ในช่วงต้นปี ได้มีการผลักดันแนวคิดเรื่อง Global NATO คือ การขยายขอบเขตของนาโต้ให้ครอบคลุมทั่วโลก โดยจะไม่เน้นจัดการความมั่นคงในยุโรปเหมือนในอดีตอีกต่อไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่บทบาทของนาโต้ได้ขยายออกไปเรื่อยๆ จนขอบข่ายการปฏิบัติการของนาโต้ได้ขยายไปทั่วโลก นาโต้มีกองกำลังทหารในหลายทวีป มีเรือรบของนาโต้จัดการกับปัญหาโจรสลัดในทะเลนอกฝั่งโซมาเลีย นาโต้ได้เข้าไปมีบทบาทในการฝึกทหารของอิรัก และมีกองกำลังนาโต้ในอัฟกานิสถานเกือบ 10,000 คน นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังนาโต้ในดาร์ฟูร์ของซูดานด้วย

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของนาโต้ เกิดขึ้นในสงครามอัฟกานิสถาน โดยสหรัฐฯ ได้ดึงนาโต้เข้าไปในสงครามอัฟกานิสถาน แต่สงครามกลับยืดเยื้อ สหรัฐฯ ต้องการให้นาโต้เพิ่มกำลังทางทหารเข้าไป แต่หลายประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วย จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ และหลายประเทศมีท่าทีอยากจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ดังนั้น ความล้มเหลวครั้งใหญ่ในอัฟกานิสถานของนาโต้ จึงทำให้แนวคิดเรื่อง Global NATO สะดุดหยุดลง หลายประเทศสมาชิกมองว่า นาโต้ควรจะกลับมาสู่ภารกิจเดิมคือ เน้นความมั่นคงในยุโรป จึงเห็นได้ว่า ในเอกสาร Strategic Concept นี้ จึงได้ละทิ้งคำว่า Global NATO และขอบข่ายภารกิจก็จำกัดลง โดยกลับมาเน้นที่ยุโรป สำหรับภูมิภาคอื่น ก็เพียงแต่พูดกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจง

• สมาชิกใหม่ : ความล้มเหลวของนาโต้อีกประการคือ การขยายจำนวนสมาชิกใหม่ สหรัฐฯ ต้องการให้นาโต้ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต คาบสมุทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย สหรัฐฯ และนาโต้ สนับสนุนการประกาศเอกสารของโคโซโว และมีแนวโน้มจะเชิญบอสเนีย มาเซโดเนีย และมอนเตเนโกร เป็นสมาชิก นาโต้ได้ชักชวนยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัสเซียทำสงครามบุกจอร์เจียในปี 2008 สงครามรัสเซีย-จอร์เจียนี้เอง ที่ทำให้แผนการขยายจำนวนสมาชิกของนาโต้สะดุดหยุดลง ในเอกสาร Strategic Concept ก็ไม่ได้มีข้อความที่จะเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิกอีก ความล้มเหลวของการเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิก ถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของนาโต้ ซึ่งจะมีผลต่อประเทศอื่นๆ ที่อยากจะเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต

• รัสเซีย : ตัวแสดงสำคัญในยุทธศาสตร์ของนาโต้นั้นคือ รัสเซีย จริงๆ แล้วสหรัฐฯ มีวาระซ่อนเร้น ที่จะใช้นาโต้ในการครองความเป็นเจ้า ทั้งในทวีปยุโรป และในระดับโลก วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือใช้นาโต้เพื่อปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย สำหรับรัสเซียก็เหมือนกับจะรู้ทันสหรัฐฯ โดยมองว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียโดยใช้นาโต้เป็นเครื่องมือ ดังนั้น ความขัดแย้งหลักในยุโรปในอนาคต จะเป็นความขัดแย้งระหว่างนาโต้ ซึ่งมีสหรัฐฯ ชักใยอยู่เบื้องหลัง กับรัสเซีย

ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาหลี

ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาหลี
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 19 - วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด G20 ครั้งล่าสุด ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ประสบความล้มเหลว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ความล้มเหลวของการประชุมครั้งนี้ ดังนี้

ระบบอัตราแลกเปลี่ยน
ก่อนหน้าการประชุม ได้มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก ถึงขั้นเรียกได้ว่า สงครามค่าเงิน โดยประเด็นหลักคือ การที่สหรัฐฯ กดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน โดยสหรัฐฯ มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐฯ ประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริง 40% ทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนงานอเมริกันตกงาน นำไปสู่อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ เกือบ 10% นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมองว่า ค่าเงินหยวนของจีนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล เกือบ 300,000 ล้านเหรียญ

ก่อนหน้าการประชุม มีการคาดการณ์กันว่า สหรัฐฯ คงจะ lobby ประเทศสมาชิก G20 ให้ร่วมกันกดดันให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน แต่ผลการประชุมที่ออกมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยในเอกสารผลการประชุมที่เรียกว่า Seoul Action Plan นั้น ได้แค่ระบุกว้างๆ ว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามกลไกตลาด และส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่สะท้อนหลักการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเห็นว่า ประเทศต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงิน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเงินทุนสำรองอยู่ ควรหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะส่งผลกระทบ นำไปสู่การไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ดังนั้น สหรัฐฯ จึงล้มเหลวในการ lobby ประเทศอื่นให้กดดันจีน แต่กลับกลายเป็นว่า สถานการณ์ในการประชุมกลับตาลปัตร เพราะกลายเป็นว่า แทนที่จีนจะถูกโจมตี กลับกลายเป็นว่า สหรัฐฯ ถูกโจมตีแทน ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศจะปั๊มเงินเหรียญสหรัฐฯ ออกมา 600,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหลายประเทศมองว่า สหรัฐฯ กลับกลายเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเสียเอง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า currency manipulator

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้กล่าวหาจีนในเรื่องนี้ แต่กลับกลายเป็นสหรัฐฯ ถูกประเทศอื่นๆ กล่าวหาเสียเอง หลายประเทศมองว่า มาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะมีผลเสียอย่างมาก โดยเงินเหรียญสหรัฐฯ จะไหลทะลักเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเหรียญของสหรัฐฯ ลดลง แต่ก็จะทำให้เกิดปัญหาในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อ 2 -3 เดือนก่อน หลายประเทศ อาทิ บราซิล เยอรมณี ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเงินของจีน แต่ขณะนี้ ประเทศเหล่านี้ได้หันมาโจมตีสหรัฐฯ แทน สิ่งที่ประเทศเหล่านี้กลัวคือ เงินเหรียญสหรัฐฯ 600,000 ล้านเหรียญ ที่จะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ จะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้สูงขึ้น รวมทั้งราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และในที่สุด อาจจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 1997 ที่เรียกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง มาแล้ว

รัฐมนตรีคลังของเยอรมณี โจมตีสหรัฐฯ อย่างรุนแรงในเรื่องนี้ โดยได้กล่าวว่า ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่า แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขณะนี้ สหรัฐฯ กลับทำเรื่องนี้เสียเอง

ดุลบัญชีเดินสะพัด
อีกเรื่องที่ล้มเหลวในการประชุม G20 ในครั้งนี้ คือ ข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมุ่งเป้าไปที่จีน ที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่มาก ในขณะที่ สหรัฐฯ ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล ข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการประชุม G20 คือ จะให้มีการกำหนดเพดานมูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 4% ของ GDP โดยประเมินว่าขณะนี้จีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่กว่า 10% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐฯ ได้รับการต่อต้านจากหลายประเทศ และผลการประชุม G20 ในครั้งนี้ ก็ออกมา คือ ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ แต่ก็มีการประนีประนอม โดยใน Seoul Action Plan ได้กล่าวว่า ที่ประชุม G20 จะให้มีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อลดภาวะความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเรื่องความไม่สมดุลในดุลบัญชีเดนสะพัด โดยจะให้มีการจัดทำดัชนีชี้วัด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า indicative guideline ซึ่งจะประกอบด้วยดัชนีชี้วัดหลายตัวที่จะเป็นกลไกระบุถึงระดับความไม่สมดุล ซึ่งจะต้องมีการป้องกันและแก้ไข

ปัจจัยแห่งความล้มเหลว
จะเห็นได้ว่า การประชุม G20 ในครั้งนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะไม่ได้มีข้อตกลงอะไรที่เป็นรูปธรรม สาเหตุของความล้มเหลวก็มาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

• ปัจจัยประการแรกคือ ความแตกแยกที่เกิดขึ้นใน G20 จะเห็นได้ว่า การประชุมสุดยอด G20 เกิดขึ้นเพราะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งนำไปสู่วิกฤติการเงินโลก ในช่วงปี 2008-2009 ในขณะนั้น สหรัฐฯ จำเป็นต้องดึงเอาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล เข้ามาร่วมแก้ปัญหาวิกฤติการเงินโลก ในตอนนั้น ทุกประเทศสามารถร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี เพราะมีปัญหาร่วมกันคือ วิกฤติการเงินโลก อย่างไรก็ตาม มาถึงปี 2010 เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวแล้ว ความเป็นเอกภาพและความร่วมมือใน G20 จึงหมดไป แต่ละประเทศก็มองถึงปัญหาและผลประโยชน์ต่างกัน จึงนำไปสู่ความแตกแยก ความขัดแย้ง และไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ซึ่งความแตกแยกใน G20 จะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต ที่จะยิ่งแตกแยกและขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ

• ปัจจัยที่สองคือ บทบาทของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ได้ตกต่ำลงอย่างมาก การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะปั๊มเงินเหรียญสหรัฐฯ ออกมา 600,000 ล้านเหรียญนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้สถานะของสหรัฐฯ เปลี่ยนจาก “พระเอก” กลายเป็น “ผู้ร้าย” โดยสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็น currency manipulator เสียเอง

• ปัจจัยอีกประการคือ การเมืองภายใน โดยเฉพาะการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งสร้างข้อจำกัดต่อการผลักดัน G20 ไปข้างหน้า โดยเฉพาะโอบามามาเข้าร่วมการประชุม G20 หลังจากพรรคเดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้การเป็นผู้นำโลกตกต่ำลง ความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครททำให้โอบามาไม่กล้าที่จะเสนอหรือผลักดันข้อเสนออะไรที่อาจจะส่งผลในทางลบต่อพรรคเดโมแครท ดังนั้น บทบาทของสหรัฐฯ จึงกลายเป็นบทบาทอนุรักษ์นิยม ซึ่งผิดกับบทบาทของโอบามาในช่วงปีแรก ที่มีนโยบายในเชิงรุก และมีข้อเสนอใหม่ๆ ใน G20 หลายเรื่อง

• อีกปัจจัยหนึ่งคือ แนวโน้มที่อำนาจของสหรัฐฯ ได้ตกต่ำลงในระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถบีบบังคับและกำหนดทิศทางของผลการประชุมอย่างที่สหรัฐฯ เคยทำได้ในอดีต เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ 2 เรื่องใหญ่คือ เรื่องค่าเงินหยวน และเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดได้รับการต่อต้าน และในที่สุดก็ประสบความล้มเหลว

ผลกระทบและแนวโน้ม
จากความล้มเหลวของการประชุม G20 ในครั้งนี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกประสบกับปัญหาหนักมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีแนวโน้มว่า จากความล้มเหลวของการประชุมในครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของตนใหม่ และมีแนวโน้มว่า ยุคสมัยของลัทธิปกป้องทางการค้า กำลังจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งทางการค้าคงจะมีมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งสงครามค่าเงินก็คงจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ความล้มเหลวของ G20 ที่จะมีมาตรการในการป้องกันการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนานั้น คงจะทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีมาตรการในการควบคุมเงินทุน หรือ capital control มากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสวนกระแสการค้าเสรีและกลไกตลาดมากขึ้น

สำหรับในสหรัฐฯ เอง สภาคองเกรสก็ได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะขึ้นภาษีสำหรับสินค้าจีน เพื่อเป็นการลงโทษจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ซึ่งจะทำให้แนวโน้มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เลวร้ายลง

แนวโน้มมาตรการปกป้องทางการค้า สำหรับหลายๆ ประเทศคงจะเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการตั้งกำแพงภาษี การอุดหนุนการส่งออก รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีในอีกหลายรูปแบบ

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะวิเคราะห์คือ บทบาทของ G20 ซึ่งผมมองว่า กำลังมีปัญหา เห็นได้ชัดว่า บทบาทของ G20 กำลังลดลง ปีที่แล้วในการประชุม G20 ที่พิตส์เบิร์ก ตอนนั้นก็ประโคมข่าวกัน และตื่นเต้นกันมากว่า จะเป็นศักราชใหม่ จะเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่ G20 จะเป็นกลไกที่จะมาแทน G8 แต่ในปีนี้ เราได้เริ่มเห็นแล้วว่า บาบาทของ G8 ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น ในขณะที่บทบาทของ G20 ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ G8 มีการหารือกันทุกเรื่อง แต่ G20 ถูกลดบทบาทให้เหลือหารือกันเฉพาะเรื่องทางการเงินเท่านั้น และในการประชุมครั้งล่าสุด ก็ตกลงอะไรกันไม่ได้อีก แม้กระทั่งในเรื่องทางการเงิน

สงครามเกาหลี ?

สงครามเกาหลี ?
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ในคาบสมุทรเกาหลี โดยทางเกาหลีเหนือได้ยิงถล่มเกาะที่อยู่ในเขตเกาหลีใต้ และได้เกิดการยิงตอบโต้กันขึ้น การปะทะกันครั้งนี้ จึงมีคำถามว่า จะนำไปสู่การเกิดสงครามเกาหลีภาค 2 หรือไม่ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ สาเหตุและปัจจัยของการปะทะ รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มว่า สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามครั้งใหม่ได้หรือไม่

เหตุการณ์การปะทะ
เหตุการณ์การปะทะกันครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยทางเกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เกาะ Yeonpyeong โดยกระสุนปืนใหญ่กว่า 50 นัด ได้โจมตีเป้าหมายฐานทัพทหารของเกาหลีใต้รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนบนเกาะ ส่วนทางฝ่ายเกาหลีใต้ได้ยิงปืนใหญ่ตอบโต้กลับไปกว่า 80 นัด การยิงต่อสู้กันประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อปี 1953 ที่เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่เข้าสู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน ปรากฏว่า มีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต 4 คน เป็นทหาร 2 คน และเป็นพลเรือน 2 คน

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม ได้เกิดวิกฤติมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยในครั้งนั้น เรือรบของเกาหลีใต้ชื่อ Cheonan ได้ถูกระเบิดตอร์ปิโดจมลง มีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน เกาหลีใต้เชื่อว่า เป็นฝีมือของเกาหลีเหนือ

ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ

หลังเหตุการณ์ได้มีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

รองโฆษกทำเนียบขาว ได้แถลงว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ จะปกป้องพันธมิตรคือ เกาหลีใต้ ต่อมา ทางทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการกระทำที่ก้าวร้าว และขอให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงสงบศึกของปี 1953 ทำเนียบขาวมองว่า การกระทำครั้งนี้ของเกาหลีเหนือก้าวร้าวมาก และสหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องเกาหลีใต้

หลังจากนั้น โอบามาได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า สหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีของเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ กำลังพยายามแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ
โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวออกมาในทำนองเดียวกัน และบอกว่า สหรัฐฯ กำลังหารือกับเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อหามาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือ

ต่อมา สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington เดินทางมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีใต้ และเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จึงไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับกองกำลังทหารของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน

สำหรับญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี Naoto Kan ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในภาวะฉุกเฉินว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์วิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือนถึงอันตรายของเหตุการณ์ในครั้งนี้ และประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ ซึ่ง EU และอังกฤษก็ได้ประณามเกาหลีเหนือด้วย สำหรับทางฝรั่งเศสได้มีข่าวออกมาว่า กำลังผลักดันให้มีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงด่วน เพื่อพิจารณาวิกฤติการณ์ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือคือ จีน แต่ท่าทีของจีนกลับออกมาในลักษณะที่ไม่ประณามเกาหลีเหนือ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนได้กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศคือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ควรจะแสวงหาสันติภาพ และบอกว่า ขณะนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้มีการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว

ในอดีต จีนปกป้องเกาหลีเหนือมาโดยตลอด และผู้นำเกาหลีเหนือก็ขอความช่วยเหลือจากจีนมาโดยตลอด สำหรับจีนนั้นมองเกาหลีเหนือว่าเป็นรัฐกันชนเกาหลีใต้และกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะหลังจากที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2006 จีนแสดงความไม่พอใจ ด้วยการลงคะแนนเสียงสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือในคณะมนตรีความมั่นคง ดังนั้น ในขณะนี้ จึงไม่มีความชัดเจนว่า จีนจะมีอิทธิพลในการกดดันเกาหลีเหนือมากน้อยแค่ไหน

แต่สำหรับสหรัฐฯ แล้ว ก็มองว่า จีนเป็นกุญแจสำคัญ ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จึงได้แถลงว่า สหรัฐฯ ต้องการให้จีนร่วมมือในการส่งสัญญาณให้เกาหลีเหนือเห็นว่า การโจมตีเกาหลีใต้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และควรหยุดการกระทำดังกล่าว สหรัฐฯ เห็นว่า จีนจะมีบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือ และกดดันให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน


สาเหตุและปัจจัย
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมเกาหลีเหนือจึงโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ ผมอยากจะแบ่งสาเหตุและปัจจัยออกเป็น ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

• ปัจจัยภายใน
ปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่การโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนผ่านผู้นำของเกาหลีเหนือ จาก Kim Jong-il เป็น Kim Jong-un ซึ่งเป็นลูกชาย โดย Kim Jong-il ขณะนี้ มีสุขภาพไม่ดีและกำลังจะให้ Kim Jong-un ขึ้นมาเป็นผู้นำเกาหลีเหนือแทน ในเดือนกันยายน ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ Kim Jong-un ได้รับตำแหน่งสำคัญในพรรค จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์จมเรือรบเกาหลีใต้ ในเดือนมีนาคม และการโจมตีเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด น่าจะเป็นเพราะ ต้องการแสดงให้เห็นว่า Kim Jong-un นั้นมีความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำคนใหม่ ทั้งนี้ น่าจะเป็นความพยายามที่จะแสดงให้ฝ่ายทหารเกาหลีเหนือเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของ Kim Jong-un ทหารเกาหลีเหนือกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้อาจจะเป็นการกระทำของฝ่ายทหาร โดยอาจจะไม่ได้ปรึกษากับทางผู้นำเกาหลีเหนือ

• ปัจจัยภายนอก
แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ และเกาหลีเหนือได้ใช้วิธีนี้มาหลายครั้งแล้ว คือ การทำความก้าวร้าวเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และเพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

การเจรจา 6 ฝ่าย ซึ่งได้หยุดชะงักมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2009 สาเหตุมาจากการที่เกาหลีเหนือไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในปี 2005 ที่เกาหลีเหนือจะต้องยอมยุติและปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรพยายามตั้งเงื่อนไขว่า การเจรจา 6 ฝ่ายจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือยอมที่จะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ของตน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ปฏิเสธมาโดยตลอด และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เกาหลีเหนือได้เปิดเผยถึงโรงงานนิวเคลียร์ผลิตแร่ยูเรเนียมให้กับนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ Stephen Bosworth ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ในการเจรจากับเกาหลีเหนือถึงกับกล่าวว่า สหรัฐฯ คงจะไม่เจรจากับเกาหลีเหนือหากยังมีโครงการนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งน่าจะทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจเป็นอย่างมาก และอาจนำไปสู่การโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ เพื่อกดดันให้สหรัฐฯ กลับมาเจรจา 6 ฝ่าย กับเกาหลีเหนือใหม่

นอกจากนี้ เกาหลีเหนืออาจต้องการเจรจา 6 ฝ่ายในรอบใหม่ เพราะเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ และต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

และสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการเป็นอย่างมากคือ การเจรจา 2 ฝ่ายกับสหรัฐฯ เกาหลีเหนือต้องการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ตั้งเงื่อนไขมาตลอดว่า จะไม่จอมเจรจาหากเกาหลีเหนือไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์

แนวโน้ม : สงครามเกาหลี ?
ดังนั้นคำถามสำคัญคือ ความขัดแย้งในครั้งนี้จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็รู้ดีว่า หากเกิดสงครามขึ้น ทั้ง 2 ประเทศก็จะประสบกับหายนะ โดยชาวเกาหลีใต้กว่าครึ่ง อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับพรมแดนเกาหลีเหนือ ซึ่งหากเกิดสงคราม เกาหลีเหนือซึ่งมีจรวดขีปนาวุธกว่า 12,000 ลูก ก็สามารถยิ่งถล่มเกาหลีใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะกรุงโซล ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนเกาหลีเหนือมาก สำหรับเกาหลีเหนือ หากเกิดสงครามกับเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ก็คงจะใช้กำลังทหารโดยเฉพาะการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธถล่มเกาหลีเหนือ ซึ่งก็คงจะทำให้เกาหลีเหนือแหลกลาญไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นสงครามจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียังคงจะยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้เพราะ การเจรจาต่อรองไม่สามารถหาสูตรที่ลงตัวได้ คือ เกาหลีเหนือต้องการเจรจา แต่สหรัฐฯ ก็ตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่มีทางจะยอม ดังนั้นวิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีคงจะมีต่อไป ตราบใดที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนท่าที โดยมีความเป็นไปได้ว่า ขั้นต่อไปของเกาหลีเหนืออาจจะเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 หรือการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจมีการโจมตีเกาหลีใต้อีก โดยเกาหลีเหนือคงจะพยายามกดดันสหรัฐฯ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้กลับมาเจรจาให้ได้

ผมมองว่า ทางออกปัญหาเกาหลีเหนือ อยู่ที่สหรัฐฯ จะต้องปรับเปลี่ยนท่าที โดยสหรัฐฯ จะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เกาหลีเหนือคงจะไม่มีทางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพราะการมีอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเกาหลีเหนือ และจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะจากการถูกโจมตีจากสหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐฯ ควรเปลี่ยนเป้าหมายการเจรจาใหม่ โดยเปลี่ยนจากการที่จะให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมันสายไปแล้ว มาเป็นเป้าหมายไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม หรือส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ควรยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับเกาหลีเหนือ แทนที่จะยืนกรานเจรจา 6 ฝ่าย และสหรัฐฯ ควรจะยอมเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ และให้หลักประกันความมั่นคงว่าจะไม่โจมตี และโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทั้งนี้เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือจะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และยุติการส่งออกอาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์

พม่า : การเลือกตั้ง และ ออง ซาน ซูจี

พม่า : การเลือกตั้ง และ ออง ซาน ซูจี
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศติกายน 2553

ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่องเกิดขึ้นในพม่าคือ การเลือกตั้งและการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

การเลือกตั้ง
• ภูมิหลัง

ครั้งสุดท้ายที่พม่าได้มีการเลือกตั้งคือ ในปี 1990 เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ในครั้งนั้น พรรค National League for Democracy หรือ NLD ซึ่งนำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ยังคงคุมอำนาจต่อไป และกักบริเวณซูจีมาเกือบตลอด ในตอนหลัง หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในที่สุด ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ 25% ในรัฐสภาต้องมาจากทหาร นอกจากนั้นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) เป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมา และผู้นำทหารหลายคนก็ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพรรค USDP เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนชุดจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น และมีความเป็นไปได้มากว่านายพลตาน ฉ่วย จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสภา ซึ่งจะมีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี

ในส่วนของพรรค NLD และ ออง ซาน ซูจี บอยคอตการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายเลือกตั้งกำหนดว่า บุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจะไม่มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึง ซูจีด้วย จากการบอยคอตการเลือกตั้งทำให้พรรค NLD ต้องถูกยุบไปตามกฎหมายเลือกตั้ง นอกจากนี้ มีพรรคของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่บอยคอตการเลือกตั้งเหมือนกัน และหลายๆ เขตที่เป็นเขตของชนกลุ่มน้อยก็ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง ปรากฏว่า กลุ่มกบฏชาวกระเหรี่ยงได้เปิดศึกปะทะกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อเป็นการประท้วงการเลือกตั้ง ทำให้ชาวกระเหรี่ยงกว่า 2 หมื่นคนลี้ภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย บริเวณจุดที่มีการสู้รบคือ เมืองเมียวดี และผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามาไทยคือ บริเวณแม่สอดและด่านเจดีย์สามองค์

รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง

• ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก
ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และปราศจากความโปร่งใส ดังนั้นจึงได้รับการโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันตก โดยทางสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโอบามาได้ออกมาโจมตีการเลือกตั้งว่า ไม่ free และไม่ fair ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังคงคุมขังนักโทษทางการเมืองกว่า 2 พันคน กฎหมายเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมทำให้พรรค NLD ไม่ได้เข้าร่วม และรัฐบาลปฏิเสธการลงทะเบียนของพรรคการเมืองจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไป ในยุทธศาสตร์การกดดันร่วมกับการปฏิสัมพันธ์ สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี

สำหรับ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ผิดหวังเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งไม่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยเฉพาะการไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้าไป สหรัฐฯ จะดำเนินยุทธศาสตร์กดดันต่อไป โดยสหรัฐฯ จะเจรจากับผู้นำพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยหากพม่าไม่ดำเนินมาตรการดังกล่าว สหรัฐฯ จะดำเนินการคว่ำบาตรพม่าต่อไป

สำหรับรัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ก็มีท่าทีออกมาในทำนองเดียวกัน เช่น ออสเตรเลียออกแถลงการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังกับการเลือกตั้ง ในขณะที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และผิดหวังกับการเลือกตั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษมีท่าทีในทำนองเดียวกัน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น รู้สึกผิดหวังต่อการเลือกตั้ง บัน คี มุน เลขาธิการ UN ก็ได้แสดงจุดยืนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม มีจีนกับอาเซียน ที่แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมากล่าวยินดีกับการเลือกตั้งว่า พม่ากำลังเดินหน้าสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้า road map สู่ประชาธิปไตย ในขณะที่อาเซียน ก็ได้ออกแถลงการณ์โดย รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ว่าอาเซียนยินดีต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ และถือเป็นก้าวสำคัญต่อการดำเนิน road map สู่ประชาธิปไตย และอาเซียนขอให้พม่าเดินหน้าในกระบวนการประชาธิปไตยและความปรองดองแห่งชาติต่อไป

ออง ซาน ซูจี
• การปล่อยตัว
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารพม่าก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการประกาศปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ซูจี ได้กล่าวสุนทรพจน์ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน เน้นว่า จะเดินหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป และได้เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการพูด และกระตุ้นให้ผู้คนที่สนับสนุนนาง ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตน มีอีกหลายเรื่องที่ ซูจี จะเดินหน้าผลักดันคือ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ รวมทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม โดย ซูจี ได้บอกว่า จะเดินหน้าร่วมกับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

• ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก
หลังจาก ซูจี ได้รับการปล่อยตัว ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะตะวันตกได้ออกมาแสดงความยินดี

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ซูจี เป็นวีรสตรีของเขา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในพม่าและทั่วโลก สหรัฐฯ ยินดีต่อการปล่อยตัวในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ซูจี จะไม่ได้ถูกคุมขังในบ้าน แต่ก็ยังเหมือนเป็นนักโทษในประเทศพม่า เพราะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ นักโทษทางการเมืองกว่า 2 พันคนยังถูกคุมขังอยู่ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

ส่วน บัน คี มุน เลขาธิการ UN ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่เหลืออยู่ทั้งหมด

ในขณะที่ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้ประกาศว่า ฝรั่งเศสให้ความสนใจอย่างมากต่อสถานะของ ออง ซาน ซูจี และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้อิสระเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่นาง เช่นเดียวกับทาง EU ได้เรียกร้องในทำนองเดียวกัน คือให้รัฐบาลพม่าให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่นาง รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการประกาศท่าทีในเรื่องนี้จากพันธมิตรของพม่า อย่างเช่น จีนและอาเซียน โดยอาเซียนยังไม่ได้มีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ มีเพียงแต่คำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สุรินทร์ พิษสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ว่ารู้สึกโล่งอกต่อข่าวการปล่อยตัว และหวังว่านางซูจี จะสามารถเล่นบทในการสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ และหวังว่านักโทษทางการเมืองที่เหลือจะได้รับประโยชน์จากท่าทีที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้

แนวโน้ม
จากสถานการณ์การเมืองพม่าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งและการปล่อยตัวนางซูจี นั้น จึงมีคำถามว่า แนวโน้มในอนาคตของการเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ประเด็นแรกคือ การเลือกตั้งในครั้งนี้ถึงแม้จะถูกโจมตีว่า ไม่มีความโปร่งใส แต่จากการที่ได้มีการจัดการเลือกตั้ง ผมจึงมองว่า รัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้งที่ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็จะมีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้นจะทำให้กระแสการต่อต้าน แรงกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรลดลง ซึ่งเราก็เริ่มได้เห็นแล้วจากการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ล่าสุด โดยในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่า สหรัฐฯ มีแผนที่จะเปิดฉากการเจรจากับรัฐบาลใหม่ของพม่า โดยสหรัฐฯ บอกว่า กำลังเตรียมที่จะปรับความสัมพันธ์กับพม่าใหม่ ซึ่งพม่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่าผิดหวังว่า รัฐบาลใหม่ไม่ได้มาจากกระบวนการทางการเมืองที่มีความชอบธรรม แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแผนที่จะปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่นี้

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือ บทบาทของ ออง ซาน ซูจี ในอนาคต ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่า นางจะมีบทบาทต่อไปอย่างไรในสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การที่รัฐบาลทหารพม่ายอมปล่อยตัวนางออกมา ก็เพราะรัฐบาลมองว่า นางจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป

ถึงแม้ว่า ซูจี จะตอกย้ำว่า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป แต่ก็มีคำถามหลายคำถามว่า นางจะทำได้หรือไม่ โดย ซูจี ได้บอกว่า มีแผนที่จะหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 30 พรรค แต่พรรคการเมืองเหล่านี้ก็กำลังระมัดระวังไม่อยากจะเป็นศัตรูกับรัฐบาลทหารพม่า จึงอาจจะไม่อยากเป็นพันธมิตรกับพรรค NLD ของซูจี ซึ่งขณะนี้ก็เป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย

มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าคงจะจับตามองความเคลื่อนไหวของ ซูจี อย่างใกล้ชิด และคงจะไม่ปล่อยให้นางมีอิสระเสรีภาพที่นางจะทำอะไรได้อย่างเต็มที่ อย่าลืมว่า การปล่อยตัวนางซูจี ครั้งนี้ไม่ใช่เป้นครั้งแรก ซูจี ถูกกักบริเวณครั้งแรกในปี 1989 และในปี 1995 ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่พอมาถึงปี 2000 ก็ถูกกักบริเวณอีก ปี 2002 ได้รับการปล่อยตัว แต่ปี 2003 ก็ถูกกักบริเวณอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จึงเป็นการถูกปล่อยตัวครั้งที่ 3 ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันว่านางจะไม่ถูกจับกุมและถูกกักบริเวณอีกในอนาคต

ดังนั้น การปล่อยตัวนางซูจี ในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากมายอะไรนักต่อการเมืองพม่า มีบางคนเปรียบเทียบซูจี กับ Nelson Mandela ในกรณีของ Mandela ถูกจำคุกอยู่ 27 ปี หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแอฟริกาใต้ และ Mandela ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ในกรณีของซูจี คงจะเป็นไปได้ยากที่จะเป็นเหมือน Mandela หรือที่เรียกว่า “Mandela Moment” ทั้งนี้เพราะรัฐบาลทหารพม่าคงจะไม่ยอมสูญเสียอำนาจไปง่ายๆ

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาคมเอเปก

ประชาคมเอเปค
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน - วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ผลการประชุม

• ประชาคมเอเปค
ในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งนี้ ได้มีการผลักดัน รื้อฟื้นเอเปคครั้งสำคัญ โดยที่ประชุมได้มีการตั้งเป้าการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยประชาคมเอเปคจะเน้นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ โดยจะเน้นในเรื่องของบูรณาการทางเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดเสรีทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ดังนี้
- จะมีการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงาน
- จะมีมาตรการที่จะทำให้การทำธุรกิจในภูมิภาคมีความง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และถูกลง
- จะมีการปรับปรุงกระบวนการศุลกากรให้มีความโปร่งใส
- จะมีการลดค่าใช้จ่ายในการทำการค้า รวมทั้งกำจัดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ

ที่ประชุมตั้งเป้าว่า บูรณาการทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะบรรลุให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ ที่เราเรียกว่า Bogor Goal โดยจะให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
หัวใจสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจเอเปค คือ การที่ที่ประชุมตกลงที่จะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ Free Trade Area of Asia Pacific (FTAAP)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะแก้ไขอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ ด้วยการดำเนินมาตรการภายใต้ แผนปฏิบัติการ APEC Supply-Chain Connectivity Framework Action Plan โดยตั้งเป้าว่า จะปรับปรุง supply-chain ให้ดีขึ้น 10% ภายในปี 2015 และลดค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ โดยตั้งเป้าว่า จะลดลง 25% ภายในปี 2015
• FTAAP
ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า FTAAP จะเป็นหัวใจของประชาคมเอเปค ในการประชุมสุดยอดที่โยโกฮามา ในครั้งนี้ จึงได้มีการจัดทำเอกสารแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการจัดตั้ง FTAAP ขึ้นมาต่างหาก โดยในเอกสารดังกล่าวได้บอกว่า การประชุมเอเปคปีที่แล้ว ที่สิงคโปร์ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะให้มีการสำรวจแนวทางในการจัดตั้ง FTAAP โดย FTAAP ได้รับการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2006 และได้มีการศึกษาตั้งแต่นั้นมา ที่ประชุมในครั้งนี้จึงได้เห็นตกลงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เอเปคจะต้องแปลแนวคิด FTAAP ให้เป็นจริง ให้เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตกลงที่จะจัดทำแผนการที่จะจัดตั้ง FTAAP โดยได้ตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้นด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP และเอเปคจะมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะ FTAAP ด้วยการเล่นบทบาทเป็นผู้นำในกระบวนการดังกล่าว เอเปคจะผลักดัน FTAAP โดยจะพิจารณาสาขาที่สำคัญ อาทิ การลงทุน บริการ e-commerce แหล่งกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม

• TPP
หัวใจของ FTAAP คือ การจัดตั้ง FTA ในกรอบของ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมนอกรอบ ผู้นำของ 9 ประเทศ ที่ตกลงจะเข้าร่วมในการจัดตั้ง TPP ซึ่ง 9 ประเทศนั้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรกนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการเจรจา เพื่อบรรลุถึงการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี TPP ที่ประชุมได้เน้นถึงเป้าหมายที่ TPP จะเป็นข้อตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง และจะครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ โดยมองว่า TPP เป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค และที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายว่า จะขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ซึ่งจะมีปริมาณการค้าคิดเป็น 40% ของการค้าโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่ประเทศในภูมิภาคหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค หลังจากที่ซบเซามานาน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ผมวิเคราะห์ว่า ประเทศที่อยู่เบื้องหลังการรื้อฟื้นเอเปค และการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค น่าจะเป็นสหรัฐฯ ซึ่งได้ครอบงำเอเปคมาตลอด การผลักดันเรื่องประชาคมเอเปค น่าจะเป็นการผลักดันขึ้นมาเพื่อแข่งกับประชาคมอาเซียน โดยท่าทีของสหรัฐฯ ในขณะนี้คือ ความหวาดวิตกว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และอิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลง ยุทธศาสตร์อันหนึ่งของสหรัฐฯ คือ การรื้อฟื้นเอเปค ด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งมีหัวใจคือ FTAAP และ TPP

• สำหรับภูมิหลังของ FTAAP นั้น ได้รับการผลักดันครั้งแรกในปี 2006 ในสมัยรัฐบาลบุช ในตอนนั้น ที่ประชุมไม่ได้ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ด้วยการเตะถ่วงให้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของ FTAAP ในตอนนั้น ประเทศที่สนับสนุน FTAAP ก็เป็นพวกสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนประเทศที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนคือ จีน โดยจีนต้องการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน และเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3

สหรัฐฯ หวังว่า การจัดตั้ง FTAAP จะช่วยฟื้นฟูบทบาทของเอเปค ซึ่งตกต่ำลงไปอย่างมาก และจะไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในขณะที่ กำลังมีกระแสการรวมตัวของประเทศเอเชีย ซึ่งจะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มบทบาทของเอเปค ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ผลักดัน FTAAP คือ การที่สหรัฐฯ จะใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มกันของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน+3 ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ หวาดวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงสถานการณ์การร่วมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกที่จะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป และหากอาเซียน+3 พัฒนากลายไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก จะทำให้เกิดขั้วทางด้านเศรษฐกิจการเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ อย่างมาก สหรัฐฯ จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและพยายามทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือที่ใหญ่กว่า คือ ให้เป็นส่วนหนึ่งของเอเปค

• TPP
และขณะนี้ สหรัฐฯ ก็มียุทธศาสตร์ใหม่ ในการผลักดัน TPP ที่จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวว่า จะขยายจำนวนสมาชิกของ TPP จากตอนนี้ที่มีสมาชิก 9ประเทศ ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ กำลังมีแผนอย่างชัดเจน โดยในการประชุมเอเปคครั้งนี้ มีการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรก และพอถึงปีหน้าที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย TPP ก็คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม โดยคงจะมีการลงนามในข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการ

สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะ lobby ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเข้าร่วม TPP มากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่เข้าร่วมล่าสุดประเทศที่ 9 คือ มาเลเซีย ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Naoto Kan เข้าร่วมในการประชุมสุดยอด TPP ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมในที่สุด เกาหลีใต้ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP เช่นกัน นอกจากนี้ได้มีข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังเจรจากับ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อให้เข้าร่วม TPP ด้วย

ส่วนประเทศไทยยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ได้ให้ข่าวว่า ท่าทีของไทยควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เรามีความพร้อมในทุกสาขาหรือไม่ และต้องพิจารณาถึงผลกระทบ โดย TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งอาจกระทบต่อสาขาเกษตรและภาคบริการของไทย ส่วนใน Facebook ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ขณะนี้ ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่หากประเทศสมาชิกเอเปคเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยคงต้องกำหนดท่าทีให้ชัดเจน แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานสูงของ TPP อาทิ เรื่อง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน และด้านการเงิน และบอกว่า ไทยควรติดตาม TPP อย่างใกล้ชิด ก่อนจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่

ผมมองว่า พัฒนาการในเรื่อง TPP กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยควรต้องรีบศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และรีบกำหนดจุดยืนว่า เราจะเอาอย่างไร

กล่าวโดยสรุป พัฒนาการของเอเปค กำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ดังนั้น ควรจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเปค เรื่อง FTAAP และ TPP

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลก

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตั้งกลางเทอมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mid-term election โดยเป็นการเลือกตั้ง สส. และสว.ของสหรัฐ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐ และผลกระทบต่อโลก ดังนี้

การเลือกตั้งกลางภาค
ระบบการเมืองของสหรัฐ จะมีการแยกระหว่างการเลือกตั้งฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้งฝ่ายบริหารจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุกๆ 4 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2008 และโอบามาจากพรรคเดโมแครทก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเทอมคือ 2 ปี หลังจากการรับตำแหน่งประธานาธิบดี จะมีการเลือกตั้ง กลางเทอมที่เรียกว่า mid-term election โดยจะเป็นการเลือก สส. และสว. เข้ามานั่งในสภาคองเกรส ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ

สำหรับการเลือกตั้ง mid-term ครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2010 โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคริพับลิกันได้รับชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครท โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก่อนการเลือกตั้ง เดโมแครทมีที่นั่งมากกว่าริพลับลิกันถึง 39 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งคราวนี้ ริพับลิกันชนะ และกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง โดยมีที่นั่งอยู่ 239 ที่นั่ง ในขณะที่เดโมแครทมีที่นั่งเพียง 188 ที่นั่ง ในขณะที่วุฒิสภาหรือสภา senate เดโมแครทเคยมีที่นั่งอยู่ 59 แต่จากผลการเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 53 ในขณะที่ริพลับลิกันมีสว.เพิ่มขึ้นเป็น 46 คน ซึ่งต่างกันไม่กี่ที่นั่ง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สหรัฐประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือที่เราเรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และเมื่อโอบามาได้มาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ต้นปี 2009 ชาวอมเมริกันก็หวังว่า โอบามาจะสามารถกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นและดูเหมือนจะทรุดหนักลง โดยขณะนี้ มีอัตราการว่างงานสูงเกือบ 10% ทำให้คนอเมริกันผิดหวังในการบริหารประเทศของโอบามาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูสโลแกนของโอบามาในการหาเสียง คือ คำว่า “change” แต่ 2 ปีผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นน้อยมาก

โดยปกติแล้ว การเมืองอเมริกันจะกลับไปกลับมาระหว่างแนวคิดเสรีนิยมที่สนับสนุนเดโมแครท กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนริพลับลิกัน 2 ปีที่แล้ว กระแสเสรีนิยมมาแรง และหลายฝ่ายก็คิดว่ากระแสนี้คงจะอยู่อีกนาน แต่การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ชี้ให้เห็นว่า การเมืองอเมริกันเริ่มเหวี่ยงกลับไปสู่กระแสอนุรักษ์นิยมอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการเกิดขึ้นของขบวนการที่เรียกว่า Tea Party Movement ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระแส Tea Party นี้ มีส่วนช่วยให้ริพลับลิกันได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในครั้งนี้

ผลกระทบต่อโลก
สหรัฐคือ อภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก เมื่อการเมืองภายในเปลี่ยน ย่อมกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งในที่สุด ก็จะกระทบต่อโลกโดยรวม อาจจะแบ่งผลกระทบออกได้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้

ภาพรวม
การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ได้ทำให้สถานะของโอบามาอ่อนลง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีการตัดสินใจสำคัญๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ที่โอบามาอาจจะตัดสินใจได้ยากยิ่งขึ้น เพราะจะมีสภาคองเกรสที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะคอยขัดแย้งและต่อต้านนโยบายของโอบามาอยู่ โดยเฉพาะนโยบายการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ในตะวันออกกลาง ก็มีเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ซึ่งยังไม่คืบหน้า การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาในคองเกรส จะทำให้มีเสียงเข้าข้างอิสราเอลมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การเจรจาสันติภาพยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

โอบามายังมีเวลาเหลืออีก 2 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ และโอบามาก็รู้ตัวดีว่า ความพ่ายแพ้ของเดโมแครทในการเลือกตั้ง mid-term ครั้งนี้ เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เวลาที่เหลือ 2 ปีนี้ โอบามาจะทุ่มเทให้กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจให้สำเร็จ ซึ่งจะมีลำดับความสำคัญมากที่สุด ส่วนเรื่องนโยบายต่างประเทศจะมีความสำคัญลดลง ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อโลกโดยรวม

• นโยบายต่างประเทศของสภาคองเกรส
เมื่อริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ริพับลิกันจะพยายามผลักดันแนวนโยบายต่างประเทศในแนวอนุรักษ์นิยมของตน ซึ่งจะขัดแย้งกับแนวนโยบายเสรีนิยมของโอบามามากขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงประการแรกคือ การที่ Ileana Ros-Lehtinen สส. รัฐฟลอริดา จากริพับลิกันจะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ ของสภาคองเกรส Ros-Lehtinen มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมขวาจัด จึงมีแนวโน้มว่า จะมีนโยบายเดินหน้าชนกับรัฐบาลโอบามาในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่อง

สส. จากริพับลิกันชื่อ John Boehner ก็จะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ Boehner มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน โดยได้เคยกล่าวโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาว่า เป็นการส่งออกตำแหน่งงานต่างๆ ไปให้จีน แทนที่จะสร้างงานในประเทศ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งคราวนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มฝ่ายขวาในพรรครีพับลิกันได้เริ่มพยายามรื้อฟื้นแนวนโยบายโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มมองว่า อเมริกาควรจะถอยมาจากปัญหาของโลก และควรจะกลับมาแก้ปัญหาภายในมากกว่า

โดยรวมแล้ว มีแนวโน้มว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านการต่างประเทศที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสคงมีปัญหาแน่ และสภาเองก็คงจะพยายามผลักดันกฎหมายในแนวอนุรักษ์นิยมและแข็งกร้าว แนวโน้มที่ชัดเจนคือ สภาคงจะผลักดันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มข้นมากขึ้น กฎหมายตอบโต้จีนในเรื่องค่าเงินหยวน มาตรการลงโทษประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐ เช่น คิวบา เกาหลีเหนือ และซีเรีย แผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานก็คงจะได้รับการต่อต้านจากสภา กฎหมายที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน สนธิสัญญาในการลดอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย และสนธิสัญญาการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงเหล่านี้ต้องผ่านการอนุมัติจากสภา แต่คงจะได้รับการต่อต้านจากสภาคองเกรสอย่างแน่นอน

ในด้านงบประมาณนั้น ก็เป็นไปได้ว่า ริพับลิกันคงจะใช้สภาคองเกรสในการตัดงบประมาณในการช่วยเหลือต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะไปเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ริพับลิกันให้ความสำคัญมาโดยตลอด

• นโยบายการค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 พรรคคงจะมีความขัดแย้งในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่องข้างต้น แต่ผมมองว่า ในประเด็นเรื่องนโยบายการค้านั้น การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส อาจจะมีผลในทางบวกต่อโลก เพราะโดยพื้นฐานแล้ว พรรคริพับลิกันจะสนับสนุนการค้าเสรีและการจัดทำ FTA ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสคงจะหันมาให้การสนับสนุน FTA สหรัฐกับประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยที่จะมีผลกระทบต่อเอเชีย ก็จะมี FTA กับเกาหลีใต้ ซึ่งยังค้างอยู่ในสภา และสภาคองเกรสก็คงจะสนับสนุนเต็มที่ในการเดินหน้าเจรจา FTA ในกรอบ Trans Pacific Partnership หรือ TPP

• นโยบายต่อจีน
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจับตามอง ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในครั้งนี้คือ นโยบายสหรัฐต่อจีน ซึ่งภายใต้สภาคองเกรสที่มีริพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีแนวโน้มจะขัดแย้งกับจีนหนักขึ้น โดยเฉพาะ Ros-Lehtinen ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ก็มีแนวคิดต่อต้านจีน โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Ros-Lehtinen ได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรจีน ด้วยเหตุที่จีนได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยบริษัทจีนได้เข้าไปลงทุนในอิหร่าน และสภาคองเกรสก็คงจะกดดันหนักขึ้น ในเรื่องการบีบให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ดังนั้น แนวโน้มคือ ในอนาคต ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐคงมีแนวโน้มเสื่อมทรามลง

อีกเรื่องที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐเสื่อมทรามลง อาจจะมาจากเหตุผลที่ว่า การที่เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้ง mid-term ในครั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า โอบามาจะต้องมีนโยบายในเชิงรุกในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายกดดันจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวน เป็นต้น

• นโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์คือ ผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ริพับลิกันมีแนวนโยบายต่อต้านจีน การที่สหรัฐเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สภาคองเกรสคงจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อไป ในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องพม่า สส. ริพับลิกันหลายคนมีแนวนโยบายสายเหยี่ยวที่ต้องการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรพม่าแทนที่จะปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น ในภาพรวมแนวโน้มอาจจะมีทั้งแนวโน้มที่เป็นไปในเชิงบวกและเชิงลบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ASEAN Connectivity
ไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity หรือแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่มาของแนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity นี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2009 โดยมองว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 นั้น ประชาคมอาเซียนจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ใน Master Plan ได้มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ สำหรับช่วงปี 2011 ถึง 2015 เพื่อเชื่อมอาเซียนใน 3 ด้าน ด้านแรกเรียกว่า physical connectivity คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ ด้านที่ 2 institutional connectivity เป็นการเชื่อมโยงกันทางสถาบัน และด้านที่ 3 people-to-people connectivity คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน

สำหรับในด้าน physical connectivity นั้น อุปสรรคสำคัญคือ เส้นทางคมนาคม เครือข่ายถนนที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงเส้นทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือและสนามบิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศด้วย ดังนั้น ในแผนแม่บทจึงได้มีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นในเรื่องของการจัดสร้างระบบคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สำหรับโครงการสำคัญคือ การจัดทำเครือข่าย ASEAN Highway Network และการจัดทำเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ถึงคุนหมิง

สำหรับในด้าน institutional connectivity นั้น มีอุปสรรคในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน อาเซียนจึงจะต้องมีการจัดการกับอุปสรรคที่มิใช่ภาษี และจัดทำข้อตกลงในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการขนส่ง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า physical connectivity นั้น เน้นในเรื่องของ hard infrastructure ส่วน institutional connectivity นั้นเน้น soft infrastructure

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การจัดทำ Master Plan ในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าและเป็นความสำเร็จในการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 และถือเป็นไฮไลท์และความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด ไทยเป็นคนที่ริเริ่มและผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ตอกย้ำ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเน้นดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ด้าน ด้านแรกคือ การเร่งบูรณาการของอาเซียน เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนมีความเข้มข้น และอาเซียนจะได้เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมได้ ด้านที่ 2 เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคในกรอบต่างๆ ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน+3 EAS ARF และ ADMM Plus

สำหรับในกรอบอาเซียน+1 นั้น ในการประชุมครั้งนี้ มีความสำเร็จและความคืบหน้าหลายด้านกับประเทศคู่เจรจา โดยได้มีการประชุมสุดยอดและข้อตกลงหลายเรื่องกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่

• ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียขึ้น ในวันที่ 30 ตุลาคม
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนนั้น ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแปลงปฏิญญาร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะครอบคลุมช่วงปี 2011-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ สำหรับหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย สำหรับปี 2010-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับปฏิญญาโตเกียวในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย นอกจากนั้น ได้มีการจัดประชุม Mekong-Japan Summit เป็นครั้งที่ 2 ด้วย
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี มีการจัดทำปฏิญญาร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
• ในวันที่ 30 ตุลาคม ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2
• ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนกันยายน

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำว่า อาเซียน+3 จะยังคงเป็นกลไกหลักในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายระยะยาว

สำหรับในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS นั้น ที่ประชุมได้เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมครั้งนี้ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เข้าร่วมประชุม EAS ด้วย
ผมมองว่า จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า อาเซียนได้เดินหน้าในการที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยได้มีความเคลื่อนไหวและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่าเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็ให้ความสนใจว่า อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อการที่พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เมื่อดูจากเอกสารผลการประชุม พอคาดเดาได้ว่า อาเซียนคงจะมีถ้อยคำที่ประนีประนอม ซึ่งผลการประชุมก็ออกมาในทำนองนี้ คือ อาเซียนยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่จะให้มีการเลือกตั้ง และขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเน้นว่า พม่าควรจะร่วมมือกับอาเซียนและ UN ต่อไป จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำของเอกสารการประชุม ภาษาที่ใช้ค่อนข้างจะอ่อนมาก และไม่ได้มีการกดดันพม่าแต่อย่างใด

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในการประชุมครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือหมู่เกาะ สแปรตลีย์ ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมา ในช่วงเดือนกรกฎาคมในการประชุม ASEAN Regional Forum โดยสหรัฐได้เป็นคนจุดชนวนประเด็นนี้ขึ้นมา และทำให้จีนไม่พอใจประกาศซ้อมรบและทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของฝ่ายต่างๆ คือ ต้องการที่จะลดความตึงเครียดในเรื่องนี้ลง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเจรจา ในเอกสารผลการประชุม อาเซียนได้ตอกย้ำความสำคัญของปฏิญญาในการแก้ปัญหานี้ ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่ได้ลงนามกันไปเมื่อปี 2002 และอาเซียนหวังว่า ทุกฝ่ายจะยึดมั่นในปฏิญญาดังกล่าว และเดินหน้าสู่การจัดทำ code of conduct ในการแก้ไขปัญหานี้ อาเซียนรู้สึกยินดีต่อแนวโน้มในทางบวกระหว่างอาเซียนกับจีน เพราะกำลังจะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับจีนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอด EAS Hillary Clinton ได้เดินหน้าต่อ ในการจุดประเด็นความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดย Clintonได้ย้ำว่า ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องนี้ สหรัฐก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธีด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม Clinton ได้กล่าวในเชิงบวกว่า เห็นด้วยที่จีนกำลังจะเจรจากับอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจา code of conduct และสหรัฐก็ได้แสดงจุดยืนว่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า สหรัฐยังคงพยายามเดินหน้าเปิดประเด็นในเรื่องนี้ต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นจุดอ่อนของจีน และจะเป็นจุดที่สหรัฐจะเข้ามาเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว อาเซียนก็ไม่อยากให้ปัญหานี้บานปลาย ต้องการให้ความตึงเครียดลดลง จีนเองก็คงไม่อยากจะให้เกิดความตึงเครียดมากไปกว่านี้ จึงยอมที่จะกลับมาเจรจากับอาเซียน

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐฯ ต่อเอเชีย

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่ฮาวาย ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

สุนทรพจน์ของ Hillary Clinton
สุนทรพจน์ดังกล่าว มีหัวข้อว่า “America’s Engagement in the Asia – Pacific” ในตอนแรก Clinton ได้เน้นว่า เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การเป็นผู้นำของสหรัฐ Clinton ได้ใช้คำใหม่ สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ว่า “forward deployed diplomacy” ซึ่งน่าจะแปลว่า การทูตในเชิงรุก โดยจะมีการใช้เครื่องมือทางการทูตในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียจะเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นอันดับแรก อันดับสองเป็นความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ และอันดับสามจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาค

สำหรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนั้น สหรัฐจะเน้นพันธมิตรทั้ง 5 คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งพันธมิตรทั้ง 5 จะเป็นเสาหลักของนโยบายสหรัฐ โดยสหรัฐจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น สำหรับญี่ปุ่นเพิ่งครบรอบ 50 ปี ของสนธิสัญญาความร่วมมือทางความมั่นคง ส่วนเกาหลี ปีนี้ครบรอบ 60 ปีของสงครามเกาหลี ปีหน้าก็จะครบรอบ 60 ปี พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย ส่วนพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทยและฟิลิปปินส์นั้น สหรัฐจะร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

สำหรับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ นั้น อินโดนีเซียกำลังเล่นบทบาทนำในภูมิภาค ในปีหน้าจะเป็นประธานอาเซียน ในเดือนหน้า โอบามาจะเดินทางไปอินโดนีเซีย และจะมีการลงนามในข้อตกลง Comprehensive Partnership Agreement อีกประเทศที่สำคัญคือ เวียดนาม ความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น และขณะนี้ความร่วมมือได้ขยายไปสู่ด้านความมั่นคงทางทะเล และด้านการป้องกันประเทศ ส่วนสิงคโปร์ก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำอาเซียน และมีบทบาทในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกรอบใหม่ที่เรียกว่า Trans Pacific Partnership หรือ TPP

สำหรับมหาอำนาจที่สำคัญในภูมิภาคคือ อินเดียและจีน สำหรับความสัมพันธ์กับอินเดียนั้น ถือว่ากำลังได้รับการยกระดับ ที่เรียกว่า U.S. – India Strategic Dialogue โอบามากำลังจะเดินทางไปเยือนอินเดีย สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้นมีความซับซ้อน แต่จะไม่เป็นประโยชน์หากสหรัฐกับจีนเป็นศัตรูกัน ดังนั้น สหรัฐพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกและร่วมมือกับจีน หลายคนในจีนอาจจะมองว่าสหรัฐกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่ Clinton ก็เน้นว่าสหรัฐไม่มีนโยบายเช่นนั้น

สำหรับบทบาทของสหรัฐในเวทีพหุภาคีนั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐอย่างแข็งกร้าวว่า หากในเวทีไหนมีการหารือกันและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐจะต้องมีส่วนและมีที่นั่งในเวทีนั้น Clinton ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาเซียนซึงกระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก อีกเวทีที่สำคัญคือ เอเปค ซึ่งสหรัฐพยายามที่จะทำให้เอเปคกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดในปีหน้า นอกจากนี้ สหรัฐยังมีนโยบายในการเสริมสร้างเวทีในระดับอนุภูมิภาค หรือที่ Clinton ใช้คำว่า mini-laterals ตัวย่างสำคัญคือ เวที Lower Mekong Initiative

สำหรับเวที East Asia Summit หรือ EAS นั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐต่อเวที EAS ว่า สหรัฐเห็นด้วยที่อาเซียนจะมีบทบาทนำ แต่สหรัฐต้องการให้ EAS เป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะในประเด็นด้านยุทธศาสตร์และการเมือง ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่อง การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และความมั่นคงทางทะเล

ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐกับพันธมิตร หุ้นส่วน และเวทีในภูมิภาคนั้น จะมีสหรัฐเล่นบทบาทนำใน 3 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน

สำหรับในด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายของสหรัฐคือ การขยายการส่งออกและการลงทุนในภูมิภาค สหรัฐจะดำเนินนโยบายผ่านทางเอเปค G20 และความสัมพันธ์ทวิภาคี ในการเปิดตลาด และสร้างความโปร่งใส แต่ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐน่าจะอยู่ที่การผลักดัน Trans Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้ง FTA ซึ่งขณะนี้มี 9 ประเทศเข้าร่วม และในอนาคตจะมีการขยายสมาชิกออกไปเรื่อยๆ

สำหรับทางด้านความมั่นคง ขณะนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐกำลังจัดทำเอกสารสำคัญเรียกว่า Global Posture Review ซึ่งจะมีการกำหนดแผนการคงกองกำลังทหารของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป โดย Clinton เน้นว่า สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเพิ่มบทบาทให้เกาะกวมเป็นฐานทัพทางทหารที่สำคัญ นอกจากนี้ สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในความร่วมมือด้านทหาร สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐจะเพิ่มบทบาทกองทัพเรือในสิงคโปร์ และจะปฏิสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มมากขึ้นกับฟิลิปปินส์และไทย สำหรับออสเตรเลียก็จะมีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน และสหรัฐได้มีความร่วมมือกับกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

สำหรับด้านสิทธิมนุษยชน Clinton ได้เน้นโจมตีรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และได้บอกว่า เอเชียขณะนี้ มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ 3 คน แต่ทั้ง 3 คน ถูกจับกุมหรือไม่ก็ต้องลี้ภัย 3 คนนั้น คือ อองซาน ซูจี ดาไล ลามะ และ Liu Xiaobo ดังนั้น ในการปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่มีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน สหรัฐจะพยายามกระตุ้นให้มีการปฏิรูป ในตอนท้าย Clinton ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งในพม่าจะไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

บทวิเคราะห์
• สุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียของ Clinton ในครั้งนี้ ดูคร่าวๆ แล้ว อาจจะดูเหมือนเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมีการใช้คำใหม่ว่า forward deployed diplomacy แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรใหม่ คือมีลักษณะเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เสียมากกว่า เมื่อวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Clinton แล้วก็เห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐไม่เคยเปลี่ยนคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า Clinton พูดคำว่า leadership หลายครั้ง โดยเน้นว่า สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงแม้ Clinton จะปฏิเสธ แต่ผมเชื่อว่า ลึกๆ แล้วสหรัฐมียุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีน โดยเฉพาะทางทหาร นอกจากนี้ สหรัฐมียุทธศาสตร์ที่จะต้องป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ Clinton ประกาศก็เป็นไปตามบทวิเคราะห์ของผม ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากรูปข้างล่างนี้

• แต่ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นแนวโน้มเกิดขึ้นชัดเจนในเรื่องบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคคือ นโยบายในเชิงรุกของสหรัฐ โดยเฉพาะในปีนี้ เราเห็นสหรัฐ active มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคี สหรัฐก็กำลังรุกหนัก โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินโดจีน ในเวทีพหุภาคี สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ กับอาเซียน และรีบกระโดดเข้าร่วมในเวที EAS และประชุมสุดยอดกับอาเซียนไปแล้ว 2 ครั้ง ส่งทูตไปประจำอาเซียน รัฐมนตรีกลาโหมก็เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 เช่นเดียวกับเวทีเอเปค สหรัฐก็กำลังรุกหนักในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP ทางด้านการทหาร สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ อาทิ การซ้อมรบในทะเลเหลือง และการจุดประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จะเห็นได้ว่า สหรัฐ ขณะนี้กำลัง active มาก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งทั้งรัฐบาลไทยและภาควิชาการของไทย ที่จะต้องติดตามวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และเราจะต้องตามให้ทันว่า สหรัฐกำลังทำอะไร เวลาสหรัฐจะรุก จะรุกหนักมาก จนเราอาจจะตามไม่ทัน ตั้งรับไม่ทัน ตามเกมไม่ทัน ไทยคงจะต้องเตรียมตั้งรับให้ดี กับการรุกหนักของสหรัฐต่อภูมิภาคในอนาคต

• สำหรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐทางด้านเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่จะต้องจับตามองและต้องวิเคราะห์กันให้ดีคือ การที่สหรัฐพยายามจะผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุด ในตอนแรกมีแค่ 6 ประเทศ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 9 ประเทศแล้ว โดยประเทศที่ 9 ที่เข้าร่วมคือ มาเลเซีย ดังนั้น คำถามสำคัญในแง่ของไทยคือ ท่าทีของไทยจะเป็นอย่างไร ไทยควรที่จะเข้าร่วม TPP หรือไม่ จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่เกาหลี

ผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่เกาหลี
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G20 ที่เมือง Gyeongju เกาหลีใต้ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด G20 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

การปฏิรูป IMF
ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ การตกลงในเรื่องการปฏิรูป IMF โดยเฉพาะการปฏิรูปโควตาสัดส่วนอำนาจในการลงคะแนนเสียง ซึ่งจะทำให้ IMF มีความชอบธรรมมากขึ้น โดยที่ประชุมได้เพิ่มโควตา 6%ให้กับประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายว่า จะมีการทบทวนสูตรสัดส่วนอำนาจการลงคะแนนเสียงเพื่อสะท้อนบทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคมปี 2013

ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF คือ Dominique Strauss-Kahn ชาวเยอรมัน ได้กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดของ IMF โดยให้ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เช่น จีนและอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น Kahn ได้แถลงว่า ได้มีการปฏิรูปจำนวนสมาชิกในบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารของ IMF ซึ่งมี 24 คน ยุโรปได้ยอมสละที่นั่ง 2 ที่นั่ง ให้กับประเทศกำลังพัฒนา Kahn ได้กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปในครั้งนี้ทำให้ IMF มีความชอบธรรม และบอร์ดก็สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การปฏิรูป IMF ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีเรื่องต้องปฏิรูปกันอีกมาก เพราะจริงๆ แล้ว ข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนาได้เสนอให้เพิ่มโควตา 10% แต่ที่ประชุมสุดยอด G20 ที่ Pittsburgh เมื่อปีที่แล้ว ตกลงให้เพิ่มเพียง 2.5% การประชุมครั้งนี้ ตกลงให้เพิ่มเป็น 6% ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ โดยภาพรวม ตะวันตกยังครอบงำ IMF และธนาคารโลกอยู่ สหรัฐมีโควตาถึง 20% และยุโรปมีเกือบ 30% นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF ก็เป็นชาวยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ ประธานธนาคารโลกก็เป็นชาวอเมริกันมาโดยตลอด

ดุลบัญชีเดินสะพัด
อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่การประชุมครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

เรื่องแรกคือ ข้อเสนอของสหรัฐ ที่จะให้มีการกำหนดเพดานมูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัด โดยสหรัฐได้เสนอที่จะให้ประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้ไม่เกิน 4% ของ GDP ซึ่งสหรัฐอ้างว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นไปตามข้อตกลงของ G20 ที่ต้องการปรับเศรษฐกิจโลกให้มีความสมดุล โดยให้ประเทศที่เกินดุลนั้น โดยเฉพาะจีน ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ จากการเน้นการส่งออกมาเป็นเน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคือ Timothy Geithner กล่าวว่า ประเทศที่ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายมากระตุ้นอุปสงค์ภายใน และประเทศที่มีค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง จะต้องปรับค่าเงินของตน IMF ได้ประเมินว่า ภายในปี 2015 จีนจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ถึง 7.8%

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐได้รับการต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ อาทิ เยอรมนี รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น
โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียมองว่า สหรัฐต้องการผลักดันเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะกดดันจีน แต่ไม่คิดว่า สหรัฐจะประสบความสำเร็จ โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียโจมตีสหรัฐว่า กดดันประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากความล้มเหลวของนโยบายสหรัฐเอง นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นคือ Yoshihiko Noda ก็แสดงความเห็นว่า การตั้งเป้าหมายเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐเสนอนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก

อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐแต่เป็นเสียงข้างน้อยคือ แคนาดาและออสเตรเลีย แต่ในที่สุด ผลการประชุมก็ออกมาคือ ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐ

ระบบอัตราและเปลี่ยน
อีกเรื่องที่การประชุมในครั้งนี้ประสบความล้มเหลวคือ การกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐกดดันจีนทั้งในเวทีทวิภาคีและพหุภาคี โดยสหรัฐมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน สหรัฐได้กดดันจีนในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จีนได้ประกาศจะปรับค่าเงินหยวน แต่มาถึงปัจจุบัน เงินหยวนก็เพิ่มค่าเพียง 2%

โดยทางจีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ โดยบอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และปฏิเสธว่า จีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน และสหรัฐอย่าเอาค่าเงินหยวนของจีนมาเป็น “แพะรับบาป” สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ

ก่อนการประชุม G20 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ประเทศสมาชิก G20 จะร่วมกันกดดันให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จากผลการประชุมที่ออกมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยในเอกสารผลการประชุมมีแต่เพียงข้อความกว้างๆ ว่า “ที่ประชุมจะผลักดันให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น และจะป้องกันไม่ให้มีการแข่งกันลดค่าเงิน โดยประเทศที่มีเงินทุนสำรองควรจะมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนของตน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”

จะเห็นได้ว่า ข้อความในเอกสารผลการประชุมไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนเลย ถึงแม้ว่า จะได้มีการพบปะหารือแบบทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐกับรองนายกรัฐมนตรีจีน แต่ผลการประชุมทวิภาคี ก็ออกมาในลักษณะที่ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ทางฝ่ายสหรัฐเพียงแต่แถลงว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเจรจาและความพยายามของสหรัฐในการกดดันจีนในเรื่องนี้

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังนี้

ผลการประชุม
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus (ADMM-Plus) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก ในอดีต เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการประชุม ADMM-Plus ขึ้นนั้น น่าจะเป็นเพราะในภูมิภาคยังไม่มีเวทีหารือในระหว่างรัฐมนตรีกลาโหม ในอดีต มีเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเรื่องความมั่นคง แต่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่มีรัฐมนตรีกลาโหมเข้าร่วม

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ผมมองว่า สหรัฐคงจะไม่สบายใจที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มาประชุมสุมหัวรวมกันโดยไม่มีสหรัฐ ในด้านการทหารนั้น สหรัฐเน้นมากในการเป็นแกนกลางในการครอบงำและครองความเป็นเจ้าทางทหาร โดยระบบที่สหรัฐใช้มาตลอดเรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐเป็น hub และพันธมิตรทางทหารต่างๆ เป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ ผมเดาว่า สหรัฐคงเรียกร้องที่จะเข้ามาประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ดังนั้น จึงได้มีการหารือกันในหลายสูตร สูตรแรกน่าจะเป็น ADMM+1 แต่จะมีปัญหาว่า ถ้าจะเป็นการประชุมกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว จะดูไม่เหมาะ แต่ถ้าจะขยายออกไป ก็จะหาข้อยุติได้ยาก หากขยายออกไปเป็น ADMM+3 หรือ ADMM+6 ก็จะไม่มีสหรัฐ ซึ่งสหรัฐคงไม่ยอมแน่ ในที่สุดจึงต้องขยายออกไปเป็น ADMM+8 โดยมีสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย

สำหรับผลการประชุมนั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ADMM-Plus และที่ประชุมมองว่า ADMM-Plus จะเป็นกลไกสำคัญของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ประชุมมองว่า ขณะนี้มีสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงที่มีลักษณะข้ามชาติและซับซ้อน อาทิ เรื่องภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมข้ามชาติ และโรคระบาด โดยที่ประชุมเน้นที่จะร่วมมือกันในการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม สำหรับในเรื่องการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นประเทศสมาชิก ADMM-Plus จึงควรร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่าย และเสริมสร้างสมรรถนะในการต่อสู้กับภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

ที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมมือกันใน 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการด้านการรักษาสันติภาพ และด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้จัดตั้ง ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting–Plus (ADSOM-Plus) และให้มีการจัดตั้ง Experts’ Working Groups (EWG) หรือคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน โดยเวียดนามกับจีนได้แสดงความสนใจที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ส่วนมาเลเซียและออสเตรเลียเสนอที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านความมั่นคงทางทะเล และฟิลิปปินส์กำลังหารือกับนิวซีแลนด์ในคณะทำงานด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
ท่าทีของสหรัฐ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ Robert Gates ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และแน่นอนในความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่ง สหรัฐพยายามแสดงบทบาทนำในการประชุมครั้งนี้ โดยในสุนทรพจน์ของ Gates ได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศในแปซิฟิกและเป็นมหาอำนาจในเอเชีย ในอดีต สหรัฐได้เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มาโดยตลอดและจะเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต ดังนั้น สหรัฐจะร่วมมือในการเผชิญกับสิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคงร่วมกัน สหรัฐเน้นว่า ความสัมพันธ์ในแบบทวิภาคีจะต้องได้รับการเสริมด้วยสถาบันพหุภาคี โดย Gates ได้เน้นถึงหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคว่าต้องประกอบด้วย การค้าเสรี ระเบียบระหว่างประเทศที่เน้นสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ เสรีภาพในการเข้าถึงน่านน้ำและน่านฟ้าสากล รวมถึงหลักการในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญคือ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งทางพรมแดน การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

ท่าทีของจีน
ประเทศมหาอำนาจอีกประเทศที่ถูกจับตามองคือ จีน ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จีนได้พยายามที่จะลดกระแสความตื่นตระหนกของประเทศในภูมิภาคอันเกิดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายคู่กรณี โดยเฉพาะกับสหรัฐในเรื่องเกาหลีเหนือ ทะเลเหลือง และทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะ Sensaku/Diaoyu ในสุนทรพจน์ของนายพล Liang Guanglie รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ได้พยายามที่จะลดกระแสความตึงเครียดในภูมิภาค โดยให้หลักประกันต่อประเทศในภูมิภาคว่า จีนพร้อมที่จะร่วมมือ โดยนายพล Liang ได้กล่าวย้ำว่า จีนมีนโยบายป้องกันประเทศที่มีลักษณะเป็นนโยบายในเชิงรับ การพัฒนาทางทหารของจีนก็ไม่ได้ที่จะไปคุกคามประเทศใด และจีนต้องการที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
แต่เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมื่อ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้จุดประเด็นในเรื่องนี้ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งท่าทีของสหรัฐที่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ทำให้จีนไม่พอใจมาก จีนจึงได้ประกาศซ้อมรบและประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า หมู่เกาะ สแปรตลีย์เป็นของจีน ซึ่งก็ได้ทำให้สหรัฐรีบจับมือกับเวียดนามและเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทำให้บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นมา

ในเอกสารผลการประชุม ADMM-Plus ได้มีการกล่าวว่า บางประเทศได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และที่ประชุมยินดีต่อความพยายามของฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน์ของรัฐมนตีรกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า สหรัฐไม่ได้เข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน แต่ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขอย่างสันติวิธี และยินดีที่จะได้มีการหารือกันในการจัดทำ Code of Conduct สหรัฐสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบพหุภาคี และพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ชัดเจนคือ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือ ดังนั้นสหรัฐจึงมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องนี้
แต่ในส่วนของจีนนั้น รัฐมนตรีกลาโหมของจีนได้กล่าวไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐ โดยบอกว่า ความขัดแย้งไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขในแบบพหุภาคี โดยทางจีนมองว่า ADMM-Plus น่าจะร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ละเอียดอ่อน

จีนพยายามที่จะไม่ให้เอาเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เข้าสู่ที่ประชุม แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอาเซียนอื่นๆ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่4 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2553

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2010
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 ให้แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน โดยใน press release ของคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า Liu ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีนมาอย่างยาวนาน และได้กล่าวถึงจีนว่า ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะนี้ จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และคนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะใหม่ของจีนย่อมหมายถึงจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย แต่จีนได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ชาวจีนยังถูกจำกัดเสรีภาพ

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ Liu ได้เป็นกระบอกเสียงในการผลักดันสิทธิมนุษยชนในจีน เขาได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 Liu ได้เป็นคนสำคัญในการเขียนเอกสารที่เรียกว่า Charter 08 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเรียกร้องเสรีภาพในจีน และจัดทำขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จากการกระทำดังกล่าว Liu ได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้ถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 11 ปี ขณะนี้ การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนกำลังเกิดขึ้น โดยชาวจีนทั้งในประเทศและนอกประเทศ และ Liu ได้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน
หลังจากมีการประกาศรางวัลโนเบลสันติภาพให้แก่ Liu รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์โจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร ที่ละเมิดกฎหมายจีน การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu จึงเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของรางวัลโนเบล และเป็นการดูถูกรางวัลโนเบลสันติภาพ นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศจีนยังได้ขู่ด้วยว่า การที่คณะกรรมการโนเบลกระทำเช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่คณะกรรมการตั้งอยู่

ในตอนที่ประธานกรรมการโนเบล Thorbjorn Jagland ได้ประกาศรางวัล ได้มีการถ่ายทอดไปทั่วโลกโดย CNN และ BBC โดย Jagland ได้แสดงความเห็นว่า จีนกำลังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มหาอำนาจจะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่โลกภายนอกควรจะจับตามองจีนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และประชาคมโลกควรจะมีการถกเถียงว่า เราควรอยากจะให้จีนเป็นอย่างไร ซึ่งการแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก มีข่าวว่า รัฐบาลจีนได้ตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดการประกาศรางวัลดังกล่าวของ BBC และ CNN ทันที นอกจากนั้น สื่อต่างๆ ในจีนก็แทบจะไม่ได้ลงข่าวในเรื่องนี้เลย

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรางวัล ทางรัฐบาลจีนได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยในเดือนกันยายน สำนักข่าวของนอร์เวย์ได้ลงข่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้รับการข่มขู่จากนักการทูตจีนว่า การให้รางวัลต่อ Liu จะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างนอร์เวย์กับจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ต โดยมีการบล็อก ชื่อของ Liu และ บล็อกเว็บไซท์สื่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยที่ได้โพสต์ข้อความสนับสนุน Liu ใน blog ต่างๆ และใน twitter มีข่าวว่าตำรวจในปักกิ่งจับกุมชาวจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเฉลิมฉลองการที่ Liu ได้รางวัลดังกล่าว

ต่อมา รัฐบาลจีนได้เรียกทูตนอร์เวย์ที่ปักกิ่งเข้าพบเพื่อทำการประท้วง โดยย้ำว่า Liu เป็นอาชญากรและการให้รางวัลถือเป็นการขัดกับหลักการของโนเบลและจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ต่อมามีข่าวว่า จีนได้ยุติการเจรจากับนอร์เวย์ในเรื่องการจัดทำข้อตกลงทางการค้า

ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ
สำหรับทางประเทศตะวันตกนั้น ได้สนับสนุนรางวัลสันติภาพของ Liu อย่างเต็มที่

โดยนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ ชื่อ Jens Stoltenberg ได้แสดงความยินดีต่อ Liu และได้กล่าวว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการโนเบลเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน Liu ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ถึงแม้จีนจะมีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่จีนก็ยังมีสิ่งท้าทายโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สำหรับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้เลือก Liu ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญและจะเป็นกระบอกเสียงในการเสริมสร้างค่านิยมสากล โดยเฉพาะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปทางการเมืองยังพัฒนาไม่ทันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โอบามาได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัว Liu

ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ได้กล่าวว่ารางวัลโนเบลสันติภาพของ Liu นั้น แสดงให้เห็นถึงฉันทามติระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเทศยุโรปก็มีปฏิกิริยาออกมาในแนวเดียวกันหมด โดยโฆษกรัฐบาลเยอรมันกล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันต้องการให้จีนปล่อยตัว Liu เพื่อที่เขาจะมารับรางวัลที่นอร์เวย์ได้ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส Bernard Kouchner ได้กล่าวว่า ท่าทีของฝรั่งเศสก็เหมือนท่าทีของ EU ที่มีความห่วงใยต่อการที่ Liu ถูกคุมขัง และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวมาหลายครั้งแล้ว ฝรั่งเศสขอตอกย้ำข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนทางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้แถลงว่า การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน รัฐบาลอังกฤษได้หยิบยกการที่ Liu ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และอังกฤษขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า ปัญหาจีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพในครั้งนี้ ทำให้จีนตกเป็นเป้า โดยเฉพาะในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ซึ่งถือเป็นภาพในแง่ลบของจีนที่เกิดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การผงาดขึ้นมาของจีน การจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และความยิ่งใหญ่ของการจัด World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกกลับมาให้ความสนใจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งผมมองว่า เป็นจุดอ่อนที่สุดของจีนในขณะนี้

• การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ในแง่ของจีนคงจะมองว่า เป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของจีน ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ซึ่งในตอนนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตะวันตก ได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อจีน

• อย่างไรก็ตาม การที่จะอธิบายถึงสาเหตุของการให้รางวัลโนเบลแก่ Liu นั้น หากมองในแง่ดี อาจอธิบายได้ว่า เป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และจริงใจจากคณะกรรมการโนเบล ที่ต้องการส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ร้าย อาจจะมีประเด็นสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ อย่าลืมว่า คณะกรรมการโนเบลก็ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก ซึ่งมองจีนด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตะวันตกจึงวิตกกังวลว่า ในอนาคตจีนอาจจะท้าทายระเบียบโลก และการครองโลกของตะวันตกได้ ฉะนั้น วาระซ่อนเร้นคือ การใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการโจมตีจีน เพื่อที่จะทำให้จีนเสียชื่อ และไม่มีความชอบธรรมที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก

• อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ หลังจากนี้ การเมืองของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด มีความเป็นไปได้ว่า การให้รางวัลดังกล่าว อาจจะเป็นการจุดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนขึ้นอีกครั้ง และ รางวัลดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงทางการเมืองระหว่างผู้นำจีน ในเรื่องทิศทางการปฏิรูปทางการเมือง ในขณะที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านผู้นำของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำคนใหม่ในปี 2012 เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ในระยะยาวแล้ว พัฒนาการทางการเมืองของจีนโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร