Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ประจำวันศุกร์ที่ 29 เมษายน– วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 ซึ่งเป็นตอนที่ 2 ไปแล้ว โดยได้วิเคราะห์คำแถลงของ Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้แถลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯล่าสุดต่อเอเชีย ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรสไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยได้สรุป วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้จะเป็นตอนจบ โดยจะสรุปยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ 5 ของสหรัฐฯต่อเอเชียนั้น จะเน้นความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าในเชิงรุก ปี 2011 จะเป็นปีสำคัญที่สหรัฐฯจะแสดงบทบาทสำคัญของสหรัฐฯในภูมิภาค โดยจะเน้นการเร่งบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยสหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 คือ เรื่องการให้สัตยาบันต่อข้อตกลง FTA ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้
เรื่องที่ 2 คือ การเจรจา FTA ในกรอบของ TPP และ
เรื่องที่ 3 คือ การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

แนวทางสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย และเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ คือ ข้อตกลง FTA ในกรอบ TPP

และในปี 2011 นี้ สหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี จะเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญในการปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาค และกำหนดทิศทางของเอเปค ซึ่งจะสะท้อนถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ส่งเสริม บูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจและแรงงานของสหรัฐฯ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมการในการประชุมสุดยอด ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ที่ฮาวาย

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า การประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียในครั้งนี้ ไม่ได้มีอะไร
ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ บุคคลสำคัญในรัฐบาล Obama ได้ออกมากล่าวหลายครั้งแล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากการประกาศนโยบายดังกล่าว คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ
ผมมองว่า สหรัฐฯมียุทธศาสตร์แท้จริง ซึ่งเป็นวาระซ่อนเร้น ที่ Campbell ไม่ได้ประกาศ อยู่ 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน
ยุทธศาสตร์แรกที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์การทำให้สหรัฐฯเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากภูมิภาค

• ช่องทางการดำเนินยุทธศาสตร์
ข้อสังเกตประการที่ 2 ของผม คือ สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น ผ่านหลาย
ช่องทาง
ช่องทางแรก คือ ช่องทางทวิภาคี ซึ่งมีลักษณะเป็น hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub และพันธมิตรเป็น spokes
อีกช่องทาง เป็นช่องทางพหุภาคี ซึ่งที่ผ่านมา มีเอเปคเป็นกลไกหลัก แต่ในอนาคต จะมีกลไกพหุภาคีเพิ่มเติมขึ้นมา โดยเฉพาะ TPP และ Lower Mekong Initiative เป็นต้น
ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯจะผลักดันเป็นช่องทางเสริมขึ้นมา คือ ช่องทางไตรภาคี หรือความสัมพันธ์ 3 ฝ่าย ซึ่งขณะนี้ มีการประชุมไตรภาคี สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลี และสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย แล้ว ในอนาคต คงต้องจับตามองว่า จะมีช่องทางไตรภาคีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

• พันธมิตรใหม่
ข้อสังเกตอีกประการของผม คือ แนวโน้มที่สหรัฐฯกำลังเน้นที่จะขยายพันธมิตร และประเทศ
หุ้นส่วนออกไป จากเดิมที่มีแค่ 5 ประเทศ ที่เป็นพันธมิตรหลัก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย ฟิลิปปินส์ แต่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯต้องการที่จะใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่งแนวโน้มการขยายพันธมิตรออกไป จะกระทบต่อสถานะการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯจะมีตัวเลือกมากขึ้น ไทยมีแนวโน้มจะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯลดลง ในขณะที่ อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯมากขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานะของไทยตกต่ำลงมากในเวทีระหว่างประเทศ สถานะการเป็นผู้นำในอาเซียนก็ตกต่ำลง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด ทำให้การเป็นพันธมิตรของไทยในสายตาสหรัฐฯตกต่ำลงมาก ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้

• ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน ซึ่ง
Campbell ไม่ได้ประกาศออกมาเป็นทางการ แต่ผมมองว่า ขณะนี้ China factor กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนการทูตสหรัฐฯในภูมิภาค เพราะสหรัฐฯหวาดวิตกว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง จึงพยายามดำเนินยุทธศาสตร์สกัดกั้นอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ต่อจีนนั้น มีลักษณะ กึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ก็มีการใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งสลับกันไป เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะมีลักษณะทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งควบคู่กันไป

• สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการที่ Campbell ไม่ได้พูดถึง คือ ยุทธศาสตร์การทำให้สหรัฐฯ
กลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้วจากสุนทรพจน์ของ Clinton เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว สหรัฐฯจะเป็นแกนกลาง หรือเป็น hub อยู่วงในสุด และมีพันธมิตรเป็น spokes อยู่วงที่ 2 ส่วนวงถัดมา เป็นเวทีพหุภาคี ในระดับอนุภูมิภาค ที่สำคัญ คือ TPP และ LMI ส่วนวงนอกสุด จะเป็นเวทีเอเปค

• ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ
สุดท้าย ในเรื่องยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯในภูมิภาค หัวใจของยุทธศาสตร์สหรัฐ คือ การผลักดันการจัดตั้ง FTA ในกรอบ TPP ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเอเปคด้วย โดยสหรัฐฯมีแผนจะขยาย TPP ให้ครอบคลุมสมาชิกเอเปคทั้งหมด และจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ซึ่งการผลักดัน FTA ของสหรัฐฯนั้น นอกจากสหรัฐฯจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคแล้ว สหรัฐฯจะบรรลุวัตถุประสงค์อีกประการที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ TPP และ FTAAP ในกรอบเอเปค จะเป็นตัวกันการที่เอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งสหรัฐฯกลัวมากว่า การที่อาเซียน+3 จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์และการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ในภูมิภาค