Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) : การผงาดขึ้นมาของจีน และการเสื่อมถอยของสหรัฐ

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ธนาคารที่มีชื่อย่อว่า AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank)  ซึ่งจีนได้ริเริ่มขึ้น และท่าทีของสหรัฐ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของ AIIB ต่อระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคต
               AIIB
               AIIB เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจีนได้เสนอในปี 2013 และได้เริ่มจัดตั้งในเดือนตุลาคมปี 2014 วัตถุประสงค์ของ AIIB ก็เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ
               ธนาคารจะมีเงินทุนในตอนแรกประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนจะเป็นผู้ลงขันรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม เงินทุน 5 หมื่นล้านเหรียญของ AIIB ยังถือว่าไม่มาก เพราะคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินทุนของ ADB  (Asian Development Bank) อย่างไรก็ตาม เงินทุนของ AIIB คงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญ เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ มีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 30 ประเทศแล้ว
               ปัจจัยสำคัญที่จีนผลักดัน AIIB ส่วนหนึ่ง ก็น่าจะมาจากการที่จีนไม่พอใจในสถาบันการเงินของโลกคือ IMF และธนาคารโลก และสถาบันการเงินในภูมิภาคคือ ADB ที่ถูกครอบงำโดยสหรัฐทั้งหมด แม้ว่าจีนและประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะได้เรียกร้องมานาน ให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินเหล่านี้ ให้เปิดโอกาสให้จีนมีบทบาทมากขึ้น แต่สหรัฐก็มีท่าทีเฉยเมยมาโดยตลอด ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนจึงได้ตัดสินใจผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ จีนได้ผลักดันการจัดตั้งธนาคาร BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และตอนนี้ก็มาผลักดัน AIIB ขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก
               ท่าทีของสหรัฐ
               ในช่วงปลายปีที่แล้ว สหรัฐได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนในการคัดค้านข้อเสนอของจีน และได้กดดันประเทศต่างๆ โดยเฉพาะพันธมิตร ไม่ให้ไปเข้าร่วม AIIB สหรัฐคงจะเห็นชัดว่า AIIB จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยสหรัฐหวังว่า ประเทศพันธมิตรของสหรัฐจะไม่เข้าร่วม และข้อเสนอของจีนจะไปไม่รอด หรือไม่ AIIB ก็จะมีประเทศเข้าร่วมไม่กี่ประเทศ
               สหรัฐอ้างเหตุผลว่า AIIB ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องความโปร่งใส และในเรื่องของธรรมาภิบาล แต่ในความเป็นจริง ก็เห็นชัดว่า สหรัฐต่อต้านการจัดตั้ง AIIB ก็เพราะเป็นความคิดริเริ่มของจีน การต่อต้านอย่างชัดเจนของสหรัฐในครั้งนี้ ทำให้เห็นชัดขึ้นถึงยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีน และการปิดล้อมจีนทางด้านเศรษฐกิจ
                 อย่างไรก็ตาม ความพยายามของสหรัฐในการสกัดการเกิดขึ้นของ AIIB ก็ไม่เป็นผล เพราะประเทศพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐเกือบทั้งหมด ตัดสินใจเข้าร่วม AIIB โดยประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียเท่านั้น ที่ยังลังเลอยู่ และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง ประเทศอังกฤษที่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของสหรัฐ ก็ได้ประกาศเข้าร่วม AIIB และต่อมาเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วม AIIB ตามอังกฤษไปด้วย
               บทวิเคราะห์
               การจัดตั้ง AIIB ท่าทีของสหรัฐ และการเข้าร่วม AIIB ของประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกโดยมีนัยยะสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์การจัดตั้ง AIIB ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการผงาดขึ้นของจีน และการเสื่อมถอยของอิทธิพลของสหรัฐอย่างชัดเจน ในอดีต ในยุคสมัยที่สหรัฐครองความเป็นเจ้าและมีอำนาจล้นฟ้า ถ้าสหรัฐออกมาคัดค้าน พันธมิตรของสหรัฐก็จะต้องถอยกันหมด แต่ในครั้งนี้ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าสหรัฐจะคัดค้านอย่างเต็มที่และพยายามกดดันประเทศพันธมิตรและประเทศต่างๆไม่ให้เข้าร่วม แต่ในที่สุด ก็แทบจะไม่มีประเทศใดสนใจการคัดแค้นและแรงกดดันจากสหรัฐเลย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงอิทธิพลของสหรัฐที่เสื่อมถอยลงไปเป็นอย่างมาก
ที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือการตัดสินใจของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐ ในการเข้าร่วม AIIB การตัดสินใจของอังกฤษอาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญ ถึงการสิ้นสุดของศตวรรษของอเมริกา และการเกิดขึ้นของศตวรรษแห่งเอเชีย การตัดสินใจของอังกฤษอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐไม่สามารถครอบงำประวัติศาสตร์โลกได้อีกต่อไป และชี้ให้เห็นถึงการอุบัติขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจโลกใหม่
การที่สหรัฐคัดค้านไม่เข้าร่วม AIIB มีผล แทนที่จะโดดเดี่ยวจีน แต่กลับกลายเป็นสหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเกือบทั้งหมดได้กระโดดเข้าร่วม AIIB สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะถ้าจะคัดค้าน AIIB ต่อไป ก็จะยิ่งถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ถ้าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB ก็ดูจะสายไปเสียแล้ว และที่สำคัญ คือสหรัฐจะเสียหน้ามาก
นับเป็นการเดินเกมทางการทูตที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนกับว่า สหรัฐกำลังสับสนและไม่รู้ว่าจะปรับนโยบายอย่างไรดี เพื่อรองรับต่อการเสื่อมถอยอำนาจของตน และรองรับการผงาดขึ้นมาของจีน จึงเห็นได้ชัดว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในปัจจุบัน ดูสับสนวุ่นวายและผิดพลาดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในตะวันออกกลาง สงครามต่อต้านการก่อการร้าย นโยบายต่อรัสเซีย และยุทธศาสตร์ rebalancing  ของสหรัฐในเอเชีย ซึ่งดูล้มเหลวหมด
สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากและสับสนว่า จะต้องปรับตัวอย่างไร สหรัฐยังคงยึดนโยบายเก่าๆ ที่ทำตัวเป็นลูกพี่ใหญ่ และบีบทุกประเทศให้เดินตามสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐลืมไปว่า อำนาจและอิทธิพลของตน ลดลงไปมากแล้ว และสหรัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะบีบประเทศต่างๆให้ทำตามสหรัฐได้อีกต่อไป
AIIB กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐได้วิตกกังวลอย่างมากว่า AIIB จะมาลดทอนบทบาทของสถาบันการเงินที่สหรัฐครอบงำคือ IMF ธนาคารโลก และ ADB การเดินเกมกดดันให้พันธมิตรไม่เข้าร่วม AIIB สหรัฐจึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเดิมพันในเรื่องอิทธิพลของสหรัฐกับจีน ซึ่งในที่สุด จีนก็เป็นฝ่ายชนะ และสหรัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ผลลัพธ์ของการตั้ง AIIB สำเร็จ ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าในอดีต สหรัฐสามารถเล่นเกมแบ่งแยกและปกครองได้ แต่ขณะนี้ จีนก็สามารถเล่นเกมแบ่งแยกได้เหมือนกัน นั่นก็คือทำให้สหรัฐและพันธมิตรแตกแยกกัน และทำให้สถานะการเป็นผู้นำในเอเชียของสหรัฐสั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก
ท่าทีของสหรัฐต่อ AIIB ในครั้งนี้ ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดถึงยุทธศาสตร์การต่อต้านจีนของสหรัฐ สหรัฐได้ทำต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมจีนทางทหาร การจุดประเด็นและการเข้าแทรกแซงในปัญหาทะเลจีนใต้ การผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ของภูมิภาค โดยไม่ได้เชิญจีนให้เข้าร่วม TPP จึงเท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จากเหตุการณ์ AIIB ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่ายุทธศาสตร์ rebalancing ของสหรัฐ ก็น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั่นเอง
การจัดตั้ง AIIB ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร
การจัดตั้ง AIIB ของจีน ยังไม่ถือว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก เพราะในภาพรวมแล้ว อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงเหนือกว่าจีนมาก และ AIIB ก็เป็นเพียงสถาบันการเงินในระดับภูมิภาค จีนก็คงจะเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาค สหรัฐยังคงจะครอบงำสถาบันการเงินในระดับโลกอยู่เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่า จากความสำเร็จของการจัดตั้ง AIIB ของจีนในครั้งนี้ น่าจะทำให้ ในอนาคต ในระยะยาว ก้าวต่อไปของจีนก็คือการเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินในระดับโลกของจีนขึ้นมา ซึ่งก็จะเป็นการท้าทายการครอบงำระเบียบการเงินโลกของสหรัฐอย่างชัดเจน


รบกวนติดตามความเคลื่อนไหวของผมได้ที่ www.drprapat.com

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่2)

          คอลัมน์กระบวนทรรศน์ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558  ผมได้วิเคราะห์การต่างประเทศของไทยในอนาคต โดยเน้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะไทยกับสหรัฐไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน และความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
               บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
               โจทย์ใหญ่ของไทย จะมีเรื่องว่า เราจะเอาอย่างไรกับมหาอำนาจ นั่นคือโจทย์ที่หนึ่ง โจทย์ที่สองคือ ไทยจะบทบาทอย่างไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยควรจะเน้นให้อาเซียนเป็นสถาบันหลักของภูมิภาค ไทยจะต้องจับอาเซียนให้มั่น
               เพราะฉะนั้น regional architecture หรือระบบความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาค ตอนนี้มีการแข่งขันกันอยู่หลายตัวแบบ หลายระบบ อาเซียนบอกว่า จะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
               ส่วนอเมริกา ถึงแม้จะไม่ประกาศ แต่  hidden agenda ของอเมริกา ก็ต้องการจะเป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ โดดเด่นในด้านการทหาร อำนาจทางทหารไม่มีใครสู้สหรัฐได้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังลดลงเรื่อยๆ เพราะว่าในภูมิภาค มีการรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็น AEC  ASEAN+3 ASEAN+6 ASEAN+8  มี FTA อาเซียนกับจีน อาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งการรวมกลุ่มเหล่านี้ไม่มีสหรัฐอยู่ด้วยเลย สหรัฐกำลังรู้สึกว่า ถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาค และบทบาททางด้านเศรษฐกิจของตนกำลังลดลง
               นี่คือสาเหตุหลักที่สหรัฐผลักดัน TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งจะเป็น FTA ที่มีอเมริกาเป็นหัวหน้า สหรัฐพยายามที่จะเอา TPP มาสู้ มาเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้อเมริกากลับมามีบทบาท มีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะอิทธิพลของสหรัฐตกไปเยอะ ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน
               ถามว่า แล้วไทยจะเอาอย่างไรต่อไป คำตอบคือ ไทยต้องยึดอาเซียนเป็นหลัก เพราะว่าอาเซียนกำลังมีการเจรจา FTA  ASEAN+6  คือ RCEP  ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า TPP
               TPP จะมีผลเสียต่อไทย แต่กรอบการเจรจา RCEP มีการประนีประนอมกัน  ยืดหยุ่นกันได้ ตรงไหนไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องเปิดเสรี แต่ TPP อเมริกาทุบโต๊ะเลย ว่าต้องเปิดหมด ฉะนั้นถ้าไทยเข้าร่วม TPP ไทยจะกลับไปอยู่ในสถานะที่เคยตกอยู่ คือตอนที่เจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งตอนนั้น เราถูกอเมริกากดดันอย่างหนักให้เปิดหมดทุกสาขา ซึ่งในที่สุด ไทยบอกว่าไม่ไหว เลยเลิกเจรจาไป ถ้าไทยไปร่วม TPP จะเจอแบบนั้นอีก นั่นคือสิ่งที่เป็นอันตราย TPP น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจ
               แต่ TPP ไม่ได้มีแต่เรื่องการค้า เรารู้ว่า TPP ที่สหรัฐฯผลักดันขึ้นมา เพื่อให้สหรัฐฯเป็นหัวหน้าใหญ่และมาสู้กับ FTA ของอาเซียน และมีเป้าหมายโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจด้วย เพราะสหรัฐไม่เคยเชิญจีนให้เข้าร่วม TPP เพราะฉะนั้น ถ้าไทยเข้าร่วม TPP ก็อาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับจีนได้ นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ไทยรีรอมาโดยตลอด ไม่กล้ากระโดดเข้าร่วม TPP เพราะเราคิดหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่คิด คงจะเป็นเรื่องไทยกับจีน
               ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน
               ยุทธศาสตร์ของไทย จะมองไกลตัวแล้วเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายต่างประเทศไทย ไกลตัวคือเรื่องของมหาอำนาจตะวันตก ถ้าไกลกว่านั้น จะเป็นเรื่อง UN ยุโรป ซึ่งเราจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียมากเท่าไรนัก ไม่ค่อยสำคัญ ในที่สุด นโยบายต่างประเทศของไทย  ต้องกลับมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และที่สำคัญที่สุดคือ อาเซียน ปลายปีนี้ก็จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นแล้ว
               จะเห็นได้ว่า ไทยพยายามเตรียมความพร้อม พยายามที่จะมียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ว่าที่ผ่านมา ถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่มีวิกฤตการเมืองขึ้นมาพอดี เราตีกันเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไทยจะต้องเดินหน้า จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงรุกในด้านต่างๆ แต่ปรากฏว่า ไทยมัวแต่วุ่นกับการเมืองภายใน บางช่วงเราเป็นอัมพาต ไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหารปี 2006 แล้วมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย เจอเสื้อเหลือง ไม่ได้ทำอะไรเลย มัวแต่วุ่นกับเรื่องเสื้อเหลือง พอมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะมาเจอเสื้อแดงอีก ต่อมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นเดียวกัน ทำให้เราเสียโอกาส เราไม่สามารถที่จะมีสมาธิ ไม่สามารถ focus หรือมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องของอาเซียนได้  สรุปคือ ไทยยังไม่พร้อม ที่เสียดายที่สุดคือเราไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งๆ ที่ไทยคือศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไทยคือศูนย์กลางของอาเซียน ฉะนั้น การเป็นประชาคมอาเซียน ไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเราจะเป็น hub ของทุกอย่าง hub ทางด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือในด้านต่างๆ การคมนาคมขนส่ง การศึกษา โลจิสติกส์ การแพทย์ คือเรามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะมียุทธศาสตร์และนโยบายที่ชัดเจนในเชิงรุกได้ ดังนั้น เราจะต้องทำการบ้านกันอีกเยอะ
               เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปี เราต้องรีบ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึง 1 มกราคม 2559 แล้ว เราจะทำอะไรไม่ได้เลย จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องมากกว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กับวันที่ 1 มกราคม 2559 ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมาก เหมือนเป็นหลักกิโลเมตร เหมือนเป็นสัญลักษณ์มากกว่า โดยจะมีการประกาศว่า เราเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า 1 มกราคม 2559 เราจะต้องหยุดหมด เราทำต่อได้ในสิ่งที่เรายังทำไม่เสร็จ
               ผมคิดว่า เราจะต้องรีบมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า วิสัยทัศน์ของเราคืออะไร เรายังไม่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายใหญ่ของไทยในประชาคมอาเซียน
               ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้สภาพัฒน์ไปทำแผนแม่บทการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่สภาพัฒน์ตีโจทย์ไม่แตก สภาพัฒน์ไม่ถนัดเรื่องอาเซียน แต่ถนัดการทำแผนพัฒนาประเทศ คือยุทธศาสตร์ที่สภาพัฒน์ทำออกมามี 8 ยุทธศาสตร์ เรียกว่า “ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย” แต่จริงๆแล้ว ผมมองว่า เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมากกว่า คือ มียุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม แต่เตรียมพร้อมอย่างเดียวไม่พอ เปรียบเทียบกับแผนเล่นฟุตบอล ยุทธศาสตร์สภาพัฒน์เหมือนกับเตรียมนักฟุตบอลให้พร้อมว่า ต้องนอนกี่ชั่วโมง วิ่งกี่ชั่วโมง ต้องเตรียมอะไรบ้าง แต่ว่าจะต้องมียุทธศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ที่จะบอกเราว่า พอลงสนามแล้ว เราจะเล่นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่มี
               ผมมองว่า หน่วยงานที่รู้เรื่องอาเซียนดีที่สุดคือ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ แต่ ปัญหาในระบบราชการก็มีเยอะ มีเรื่องของการประสาน “งา” มากกว่าการประสานงาน หน่วยงานไทยขาดการประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ดังนั้น จะมีปัญหาในเรื่องที่เราจะทำอย่างไร ให้หน่วยงานมีการบูรณาการให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ให้มียุทธศาสตร์มีเป้าหมายร่วมกัน
               กระทรวงการต่างประเทศพยายามทำ โดยมีการตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการ
               ผมขอเสนอว่า คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติควรจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ใช่รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญ และเรียกรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและสั่งการ แต่ก่อนอื่น เราจะต้องมีแผนแม่บท แผนใหญ่ก่อนว่า ไทยจะเอาอย่างไร ตรงนี้อาจให้มีคณะกรรมการพิเศษมาทำแผนนี้ คือจะต้องมีกลไกพิเศษทำตรงนี้ขึ้นมา ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติต่ออาเซียน เสร็จแล้วพอมียุทธศาสตร์ก็จะต้องมีการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
               ในยุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศ เราต้องปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทยต่ออาเซียนด้วย ต้องชัดเจนว่า เราจะรุกตรงไหน รับตรงไหน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ต้องชัดเจนว่า ไทยอยากจะเป็นอะไรในประชาคมอาเซียน  ซึ่งผมขอเสนอว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ ไทยจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน เป็นวิสัยทัศน์ที่เห็นชัดเจน แต่รัฐบาลกลับฟันธงไม่ได้ เราบอกว่า จะเป็น hub ของประชาคมอาเซียน แค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว วิสัยทัศน์นี้ก็จะเป็นเป้าหมายของเรา และยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็จะต้องถูกกำหนดขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือทำให้ไทยเป็น hub หรือเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป