Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)

              คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2012 โดยได้เน้นวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายต่างประเทศของ Obama และ Romney ไปแล้ว คอลัมน์ตอนนี้จะมาวิเคราะห์ต่อ ในประเด็นผลกระทบของการเลือกตั้งต่อโลก ต่อภูมิภาคเอเชีย และต่อไทย

ผลกระทบต่อโลก
ภาพรวม
จริงๆแล้วทั้ง Obama และ Romney ก็จะดำเนินนโยบายต่างประเทศให้เป็นไปตามผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐเป็นหลัก แต่ทั้ง 2 คนตีความในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐแตกต่างกัน โดยObama มองว่า การที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐ จะต้องดำเนินนโยบายสายพิราบ ในขณะที่ Romney มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐ จะได้รับการปกป้อง ด้วยการดำเนินนโยบายแบบสายเหยี่ยว
Obama
                อย่างไรก็ตาม หาก Obama ชนะการเลือกตั้ง นโยบายก็จะต่อเนื่อง จะไม่มีอะไรต่างไปมากจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อเมริกาจะคงดำเนินนโยบายแบบเดิมๆ ถึงแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า Obama จะเดินหน้าต่อ และพยายามสานฝันให้เป็นจริง นโยบายทางทหารจะกลับมาเน้นที่เอเชีย ให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น ส่วนนโยบายเศรษฐกิจ จะเน้นในเรื่องการผลักดัน FTA ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า TPP
Romney
                แต่สมมุติว่า หาก Romney ชนะการเลือกตั้ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และจะเกิดผลกระทบต่อโลก ต่อไทยอย่างไร
ผมมองว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศอีกครั้ง จากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง จากซ้ายมาเป็นขวา จากเสรีนิยมมาเป็นอนุรักษ์นิยม มีแนวโน้มว่า Romney คงจะรื้อฟื้นนโยบายหลายๆอย่างของ Bush แต่นโยบายของ Romney คงจะไม่แข็งกร้าวเท่านโยบายของ Bush ทั้งนี้ นโยบายของ Bush แข็งกร้าวมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่หากไม่มีการก่อการร้ายครั้งใหม่เกิดขึ้นเหมือนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ นโยบายของ Romney คงจะไม่แข็งกร้าว สุดโต่ง เหมือนในสมัยรัฐบาล Bush แต่ก็คงจะก้าวร้าวกว่านโยบายของ Obama โดย Romney คงจะเน้นเรื่องความแข็งแกร่งทางทหาร การเผชิญหน้ากับจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
                ดังนั้น โลกคงจะปั่นป่วนมากขึ้น ไทยคงจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่อีกครั้ง เราคงจำกันได้ว่า ในสมัยรัฐบาล Bush ไทยเสียเวลาไปมากกับการให้ความร่วมมือกับสหรัฐในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย
ภาพรวมนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
เป้าหมายที่สำคัญของอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชีย คือ การครองความเป็นเจ้า แต่ในขณะนี้ จีนกลายเป็นคู่แข่งของอเมริกาในภูมิภาค เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกา คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน นี่คือ นโยบายอันดับ 1 ของอเมริกาต่อภูมิภาค
ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ คือ ยุทธศาสตร์ Hub and Spoke โดยสหรัฐเป็น Hub เป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั้น อเมริกาจำเป็นที่จะต้องตีสนิทกับอาเซียน เพื่อดึงอาเซียนออกมาจากจีน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐพยายามตีสนิทกับอาเซียน รวมทั้งไทยด้วย ในอดีต อเมริกาไม่เคยให้ความสำคัญกับอาเซียน ไม่เคยมีการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่ในสมัย Obama มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนมาแล้ว 3 ครั้ง อเมริกาได้เข้ามาเป็นสมาชิก EAS (East Asia Summit) แล้ว ซึ่งเป็นกรอบ อาเซียน + 8 อเมริกาได้เข้ามายุ่งในเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่อเมริกาต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และทำให้อาเซียนแตกกันด้วย
 ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน เพราะแตกกันด้วย ประเด็นทะเลจีนใต้ โดยอเมริกาถือหางเวียดนามและฟิลิปปินส์ ในขณะที่กัมพูชาเอียงไปเข้าข้างจีน เพราะฉะนั้น อาเซียนก็แตกกัน ขณะนี้มหาอำนาจคือ จีนและอเมริกา ต้องการทำให้อาเซียนแตก อย่าลืมว่า ไม่มีมหาอำนาจไหนต้องการให้อาเซียนเจริญและร่วมตัวกันติดและพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น มหาอำนาจต่างๆ ก็ต้องการดำเนินยุทธศาสตร์แบ่งแยกและปกครอง ซึ่งขณะนี้ทั้งอเมริกาและจีนก็กำลังทำเช่นนั้นอยู่   
สำหรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ อเมริกากำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ คือ TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งอเมริกาจะเป็นศูนย์กลางของ FTA ตัวใหม่นี้ ขณะนี้มี 10 กว่าประเทศที่เข้าร่วม TPP แล้ว โดยได้ดึงเอา 4 ประเทศอาเซียนเข้ามาใน TPP คือ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นอาเซียนก็แตกกันอีกด้วยเรื่อง FTA ตัวใหม่ของอเมริกา 4 ประเทศไปร่วมแล้ว แต่อีก 6 ประเทศยังไม่ได้ร่วม
                ไทยก็กำลังรีรออยู่ ไม่กล้าตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP เพราะเกรงใจจีน ขณะนี้ไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะทั้งจีนและอเมริกาก็กำลังมาดึงไทย จีนก็บอกว่า ไทยต้องเป็นพวกจีน อเมริกาก็บอกว่า ไทยต้องเป็นพวกอเมริกา แล้วไทยจะทำอย่างไร ไทยไม่ต้องการเลือกข้าง worst-case scenario ของไทยคือ ไทยถูกบีบให้เลือกข้าง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต ไทยจะถูกบีบให้ต้องเลือกข้างหนักขึ้นเรื่อยๆ
                จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งล่าสุด ในกรณีอู่ตะเภา กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะไทยกลัวว่า ถ้าร่วมมือกับอเมริกา จะทำให้จีนโกรธ ไทยก็เลยไม่กล้า
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น Obama หรือ Romney มาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม นโยบายนี้คงจะไม่เปลี่ยน ไทยจะตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยและอเมริกากับไทย อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยในอนาคตว่า เราจะเอาอย่างไร ประเด็นสำคัญคือ ไทยจะต้องตามเกมส์มหาอำนาจให้ทัน ตามจีนให้ทันว่า จีนกำลังจะทำอะไรกับเรา และต้องตามอเมริกาให้ทันว่า อเมริกาต้องการเล่นอะไรกับเรา เรากำลังจะเป็นเบี้ยในเกมส์หมากรุกของมหาอำนาจหรือไม่ เรากำลังตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจหรือไม่

ผลกระทบในภาพรวม
                สำหรับผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ ต่อภูมิภาคเอเชียในภาพรวมนั้นObama และ Romney แม้ว่าจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน โดยแม้ว่า Obama จะเป็นสายพิราบ และ Romney จะเป็นสายเหยี่ยวก็ตาม แต่นโยบายหลักต่อภูมิภาคคงไม่เปลี่ยน ที่แตกต่างกันคือ นโยบายย่อยหรือนโยบายเฉพาะเรื่อง เช่น นโยบายต่อจีน Romney อาจจะมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนมากกว่า Obama นโยบายต่อเกาหลีเหนือ ต่อภูมิภาค Romney อาจจะเน้นเรื่องการทหารมากกว่า Obama เป็นต้น
                เป้าหมายสำคัญของสหรัฐต่อเอเชีย คงไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล Obama หรือรัฐบาล Romney เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐต่อเอเชีย คือ การดำรงความเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียต่อไป หรือการครองความเป็นเจ้า ซึ่งเป็นนโยบายหลัก แต่ที่จะต่างกัน คือ รายละเอียดหรือวิธีการในการครองความเป็นเจ้า โดยพรรค Republican จะเน้นกลไกทวิภาคี เน้นยุทธศาสตร์ Hub and Spoke ในขณะที่พรรค Democrat จะเน้นกลไกพหุภาคีในการครองความเป็นเจ้า

Obama
                 ในสมัยรัฐบาล Obama เราได้เห็นถึงความแตกต่างจากในสมัยรัฐบาล Bush ในเรื่องวิธีการ โดย Obama เชื่อว่า นโยบายการทูตควรจะเน้น พหุภาคีนิยม รัฐบาล Obama จึงเน้นปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนมากเป็นพิเศษ ในยุค Obama ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาเซียนจึงสำคัญต่อสหรัฐ Obama คงเห็นแล้วว่า อาเซียนกำลังผงาดขึ้นมา ดังนั้น จึงต้องรีบปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน และ Obama ก็คงเห็นว่า จีนกำลังผงาดขึ้นมาและกำลังจะกลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐ ดังนั้น จึงต้องดำเนินยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และนี่ก็คือเป้าหมายหลักที่ Obama กำลังทำอยู่
Romney
                สำหรับ Romney ซึ่งยังไม่มีนโยบายต่อเอเชีย Romney ไม่เคยประกาศนโยบายต่อไทย แต่ตอนนี้เขาสนใจจีน ตอนนี้จีนเป็นประเด็นสำคัญมาก โดย Romney โจมตี Obama ว่า อ่อนข้อให้กับจีน ผมจึงวิเคราะห์ว่า หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี เป้าหมายหลักคงไม่เปลี่ยน จีนยังคงเป็นปัจจัยหลัก ในการกำหนดนโยบายของสหรัฐต่อภูมิภาคต่อไป แต่ว่าวิธีการของ Romney อาจจะกลับไปเหมือนวิธีการของ Bush คือ หันไปเน้น ทวิภาคีนิยม หันไปเน้น Hub and Spoke และจะลดความสำคัญของอาเซียนลง  
เพราะฉะนั้น นโยบายหลักคงจะไม่เปลี่ยน คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน แต่วิธีการอาจจะเปลี่ยน นโยบายของ Obama อาจจะนิ่มนวลกว่า นโยบายของ Romney อาจจะแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น และRomney อาจจะให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น และอาจลดความสำคัญต่ออาเซียนลง

ผลกระทบต่อไทย
ภาพรวม
                สำหรับผลกระทบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐต่อไทยนั้น นโยบายต่อไทยก็เช่นเดียวกับนโยบายใหญ่ คือ เป้าหมายใหญ่คงไม่เปลี่ยน คือมองว่า ไทยเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐในเอเชีย อเมริกามีพันธมิตรหลักอยู่ 5 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ก็จะประกาศเหมือนกันว่า ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และมองว่าไทยเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นหมากสำคัญในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน อเมริกาจะยังคงมองว่าไทยเป็นประตูสู่อาเซียนต่อไป และมองว่าไทยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ไทยมี GDP เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย คือมี GDP ประมาณ 3 แสนล้านเหรียญ ดังนั้น เค้กเศรษฐกิจของไทยก็เป็นเค้กก้อนโตเหมือนกัน
                ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยรวมจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก ไม่ว่าจะเป็นRepublican หรือ Democrat ไทยก็จะยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐต่อไป และอเมริกาก็จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยต่อไป

Bush
                แต่ถามว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สำหรับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ คำตอบ คือ ขอให้ดูว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐบีบให้ไทยเป็นพันธมิตรในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย Bush เน้นเจรจา FTA กับไทยแบบทวิภาคี นี่คือ 2 เรื่องที่อเมริกาต้องการจากไทยในสมัย Bush ถามว่าไทยดำเนินการอย่างไรต่อสหรัฐ คำตอบ คือ ไทยร่วมมือกับสหรัฐทั้ง 2 เรื่อง ทั้งในการต่อต้านการก่อการร้าย และการเจรจา FTA คือ เราเล่นตามเกมส์ของสหรัฐตลอด
Obama
                ถามว่าสมัย Obama อเมริกาดำเนินนโยบายอะไรต่อไทย คำตอบคือ รัฐบาล Obama ให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น และลดความสำคัญของไทยลง ดังนั้น ไทยในช่วงนี้ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยพยายามทำให้สหรัฐเห็นถึงความสำคัญของไทยมากขึ้น แต่อเมริกาก็มีแนวโน้มลดความสำคัญของไทยลง ยุทธศาสตร์ของอเมริกา คือ การหาพันธมิตรใหม่ๆ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงค์โปร และตอนนี้ก็กำลังไปที่พม่า ดังนั้น ในอนาคต โจทย์ใหญ่ของนโยบายไทยต่อสหรัฐ คือ จะทำอย่างไรให้อเมริกาเห็นความสำคัญของไทยมากขึ้น

Romney
                แต่สำหรับ Romney หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี จะหันมาให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น คือ กลับมาให้ความสำคัญกับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย นั่นก็หมายความว่า หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี ไทยจะมีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของสหรัฐ
 นอกจากนี้ หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี ไทยก็อาจจะได้ของแถมอีกอันหนึ่ง คือ FTA ไทย-สหรัฐ ไทยเคยเจรจา FTA กับสหรัฐในสมัยรัฐบาลของทักษิณ แต่ก็หยุดไป เพราะมีรัฐประหาร ปี 2006 ต่อมาในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐก็เปลี่ยนนโยบายไม่เจรจา FTA ทวิภาคีต่อ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า รัฐบาลที่มาจากพรรค Republican อาจจะกลับมาสนใจเจรจา FTA ทวิภาคีอีกครั้ง นั้นก็หมายความว่า FTA ไทย-สหรัฐอาจจะได้รับการปัดฝุ่นกลับมาเจรจากันใหม่

บทสรุป
                สรุป หากเราจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2012 นี้
หาก Obama ชนะการเลือกตั้ง ทุกอย่างก็คงจะเหมือนเดิม 4 ปีที่ผ่านมา เคยเป็นอย่างไร อีก 4 ปีข้างหน้า ก็จะเป็นอย่างนั้น คงจะไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันมาก
แต่โจทย์สำคัญคือ หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า
ในระดับโลก อาจจะเป็นลบ เพราะโลกอาจจะปั่นป่วน เพราะ Romney อาจจะแข็งกร้าวต่ออิหร่าน เกาหลีเหนือ รัสเซีย และจีน มากขึ้น โลกจะวุ่นวายมากขึ้น
ในระดับภูมิภาคเอเชีย บวก ลบ คูณ หารแล้ว น่าจะเป็นลบ เพราะรัฐบาล Romney น่าจะมีปัญหากับจีนมากขึ้น จะทำให้ภูมิภาคปั่นป่วน
สำหรับไทย บวก ลบ คูณ หารแล้ว ไทยจะได้หรือเสียหาก Romney ได้มาเป็นประธานาธิบดี ผมคิดว่า ไทยคงจะทั้งได้และเสีย ผลดีต่อไทย คือ Romney จะให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น จะให้ความสำคัญต่อไทยมากขึ้น FTA ไทย-สหรัฐ อาจได้รับการปัดฝุ่นเจรจากันใหม่ ความสัมพันธ์ทางทหารไทยกับสหรัฐ จะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางลบต่อไทย คือ ผลกระทบทางอ้อมที่จะเป็นผลกระทบในเชิงลูกโซ่ โดยรัฐบาล Romney น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อโลกและต่อภูมิภาค ดังนั้น หากโลกปั่นป่วน ภูมิภาคปั่นป่วน ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยก็คงจะปั่นป่วนไปด้วย 





การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)

              
                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในปลายปีนี้ โดยเฉพาะจะวิเคราะห์ว่า Obama และ Romney ผู้สมัครทั้ง 2 คน จะมีแนวนโยบายต่างประเทศอย่างไร และจะกระทบต่อโลก ต่อภูมิภาคและต่อไทยอย่างไร
                 ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่า พรรค Democrat และ พรรค Republican มีอุดมการณ์ การมองโลกต่างกัน มีแนวนโยบายเศรษฐกิจและแนวนโยบายต่างประเทศต่างกัน ทั้งนี้เพราะอุดมการณ์ต่างกัน
                ในอเมริกา จะมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ อนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม เสรีนิยม หรือ Liberalism นั้น เป็นอุดมการณ์ของพรรค Democrat ส่วนอนุรักษ์นิยม หรือ Conservatism เป็นนโยบายของพรรค Republican
                Bush
                George Bush อยู่ในตำแหน่ง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2001-2008 เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลก
                Bush มีอุดมการณ์ที่เราเรียกว่า อนุรักษ์นิยมใหม่ หรือ Neo-Conservative ซึ่งพวกนี้จะมองโลกในแง่ร้าย เป็นพวกสายเหยี่ยว ต้องการใช้กำลังทางทหารในการแก้ปัญหาของโลก และมองว่าอเมริกาจะต้องยิ่งใหญ่ อเมริกาจะต้องครองโลก อเมริกาจะต้องบุกเดี่ยวลุยเดี่ยว ไม่ต้องสนใจใครทั้งนั้น อเมริกาจะต้องยิ่งใหญ่คนเดียว
                พอเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 Bush จึงบุกแหลก ลุยแหลก บุกยืดอัฟกานิสถานในปี 2001 บุกยืดอิรักในปี 2003 และไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น แม้ว่าจะไม่มีไฟเขียวจาก UN ก็จะบุก ไม่สนใจใคร เพราะอเมริกามีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ในโลกนี้ นี่คือความเชื่อของพรรค Republican ความเชื่อของ Bush ในตอนนั้น
                เพราะฉะนั้น ในช่วงนั้น โลกก็ปั่นป่วน เข้าสู่ยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย 8 ปีที่เราอยู่ในโลกของความปั่นป่วน โลกของความขัดแย้ง Bush ประกาศอักษะแห่งความชั่วร้าย ซึ่งประกอบด้วย อิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ และ Bush ก็ประกาศจะจัดการกับอักษะแห่งความชั่วร้าย และได้จัดการกับอิรักไปแล้ว ต่อไปก็จะจัดการอิหร่านและเกาหลีเหนือ แต่เวลาหมดเสียก่อน
                ก่อนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ภาคใต้ไม่มีปัญหา เราอยู่กันอย่างสงบ แต่หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯหลังจากที่ Bush ดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะก้าวร้าว บุกแหลก ลุยแหลก ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้น และก็เกิดปัญหาภาคใต้ ปัญหาการก่อการร้ายก็เกิดขึ้นทั่วโลก อเมริกาสูญเสียความเป็นผู้นำ อเมริกาเสียชื่อมาก โดยเฉพาะในการบุกอิรัก ซึ่งถูกมองว่า เป็นสงครามที่ไม่มีความชอบธรรม อเมริกาถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก Bush อ้างว่า Saddam Hussein สะสมอาวุธ และสนับสนุนการก่อการร้าย แต่ก็ไม่พบหลักฐาน
                Obama
                 เพราะฉะนั้น 8 ปีในยุคนั้นถือว่า อเมริกาเสียชื่อมาก และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นกับโลก ในขณะนั้นเอง Obama ก็ผงาดขึ้นมา และกลายเป็นตัวเลือกใหม่ของชาวอเมริกัน ในการเลือกตั้งปลายปี 2008 Obama สัญญาว่า จะเปลี่ยนโลกใหม่และปฏิรูปนโยบายต่างประเทศใหม่ จะนำอเมริกากลับมาสู่ประชาคมโลก จะทำให้โลกกลับมาเชื่อมั่นในอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง Obama ต่อต้านนโยบายของ Bush ในทุกๆเรื่อง Obama มีอุดมการณ์เป็นเสรีนิยม เป็นสายพิราบเปรียบเทียบกับ Bush ที่เป็นสายเหยี่ยว
                 เพราะฉะนั้น เมื่อ Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดีใหม่ เขาก็สัญญากับโลกว่า เขาจะเปลี่ยนแปลงโลก ประกาศนโยบายต่อ UN ในเดือนกันยายน 2009 ว่า จะเปลี่ยนโลกใหม่ อเมริกาจะเปลี่ยนนโยบายใหม่ ประกาศนโยบายกับโลกมุสลิมว่า อเมริกาจะปฎิสัมพันธ์ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่กับโลกมุสลิม อเมริกาจะยื่นดอกไม้ให้กับอิหร่าน ยินดีจะเจรจากับอิหร่าน ยื่นดอกไม้ให้กับเกาหลีเหนือ พร้อมจะเจรจากับเกาหลีเหนือ  Obama ประกาศว่า พร้อมจะกลับมาปฎิสัมพันธ์กับโลก โดยประกาศว่า จะกลับมาแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง และประกาศว่า จะปฎิสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย จะเริ่มกันใหม่ ในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ
                อย่างไรก็ตาม 3 ปี ผ่านไป ถามว่า Obama ประสบความสำเร็จอะไรบ้าง ผมประเมินว่า Obama ล้มเหลว และจุดนี้เอง ทำให้ Romney ฉวยโอกาสโจมตีนโยบายต่างประเทศของ Obama ว่าล้มเหลว      การปฏิสัมพันธ์กับโลกมุสลิมล้มเหลว ปัญหาการก่อการร้ายก็แก้ไม่ได้ ปัญหาอิหร่านก็แก้ไม่ได้ การคืนดีกับจีนและรัสเซียก็ไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาเกาหลีเหนือที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่สำเร็จ การกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก กอบกู้วิกฤต Eurozone และการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถือเป็น 3 ปีที่ล้มเหลว Obama ขายฝันไว้เยอะ แต่ในที่สุด Obama ก็ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้
                อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Obama จะล้มเหลว แต่หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดีจะมีอะไรดีขึ้นไหม สำหรับโลกใบนี้



                Romney
                Romney เป็นตัวแทนพรรค Republican ขณะนี้ก็กำลังหาเสียงเลือกตั้งอยู่ และกำลังโจมตีรัฐบาลObama อย่างหนักว่า ล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แนวคิดของ Romney ก็คล้ายๆกับของ Bush
                Romney มองโลกอย่างไร Romney บอกว่า
-           อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน จะครอบงำแหล่งน้ำมันใหญ่ของโลก และจะควบคุมช่องแคบ Hormuz
-           อัฟกานิสถาน หลังจากนาโต้ถอนทหาร นักรบตาลีบัน จะกลับคืนสู่อำนาจอีก อัฟกานิสถานจะกลับมาเป็นแหล่งซ่องสุมของขบวนการก่อการร้าย
-           ปากีสถาน ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์กว่า 100 ลูก จะตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
-           จีนมีเจตจำนงชัดเจน ที่จะผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหาร และอำนาจของจีนจะคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และจะผลักดันกองกำลังทหารของอเมริกาให้ออกไปจากภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จีนจะสร้างแนวร่วมของประเทศเผด็จการทั่วโลก
-          Putin จะทำให้รัสเซียกลับมาเป็นเหมือนอดีตสหภาพโซเวียต โดยจะข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้าน จะทำลายระบบเศรษฐกิจของยุโรป ด้วยการตัดเส้นทางพลังงานจากรัสเซียไปยุโรป
               Romney บอกว่า สภาวะแวดล้อมโลกดังกล่าว เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ เป็นอันตรายที่อเมริกากำลังประสบ โดยเฉพาะอันตรายดังกล่าว จะเป็นจริงมากขึ้น หากสหรัฐยังคงเดินหน้าตามนโยบายที่ผิดพลาดของObama ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น Romney จึงเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ ที่บอกว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งอเมริกา (American Century) อีกครั้งหนึ่ง โดยอเมริกาจะมีระบบเศรษฐกิจและกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก อเมริกาจะกลับมาเป็นผู้นำโลกเสรี หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็นศตวรรษของอเมริกา และเขาจะไม่ยอมกล่าวขอโทษต่อชาวโลก อย่างที่ Obama ได้ทำมาโดยตลอด โดย Romney กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของเขา คือ การทำให้อเมริกาเข้มแข็ง ซึ่งความเข้มแข็งของอเมริกาจะมาจากเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง กองกำลังที่แข็งแกร่ง และค่านิยมอันสูงส่งของอเมริกา 3 ปีที่ผ่านมา Obama ทำให้ความแข็งแกร่งของอเมริกาลดน้อยถอยลงไปในทุกๆด้าน                เพราะฉะนั้น Romney จึงประกาศกร้าวว่า ในวันแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาจะสร้างเศรษฐกิจอเมริกาให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง และจะปรับนโยบายส่วนทางกับ Obama ที่ปรับลดงบประมาณทางทหารลงไปเป็นอย่างมาก โดย Romney จะเพิ่มงบประมาณทางทหารและทำให้อเมริกากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง
                (โปรดอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2555)

ไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)


  ไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 20 กันยายน
  2555



คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ว่า ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น จะกระทบ   
ต่อไทยอย่างไร เราจะต้องรองรับ ปรับตัวอย่างไร  คือ ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมสู่ประชาคม
อาเซียนอย่างไร เป็นภาพกว้างๆ ไปแล้ว
สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ ผมจะพูดถึง roadmap หรือ แผนงานของการเตรียม     
ความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยวันนี้จะพูดในส่วนของภาครัฐก่อน
roadmap
ใน roadmap การเตรียมความพร้อมของภาคราชการ วิสัยทัศน์ คือ ระบบราชการไทยมีความ
เป็นสากลในการส่งเสริม สนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยความเป็นมืออาชีพ 
กล่าวคือ เรื่องความเป็นสากล เรื่องของการสนับสนุน เรื่องของความเป็นมืออาชีพ
                จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้น ก็นำมาสู่พันธกิจ 9 ด้าน ดังนี้
- การเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร ทั้งทักษะ ทัศนคติ และสมรรถนะ
- การเตรียมความพร้อมในด้านงบประมาณ
- การเตรียมความพร้อมในด้านองค์กร
- การเตรียมความพร้อมในการจัดทำยุทธศาสตร์
- การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแปลง ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
- การเตรียมพร้อมโดยมีกลไกควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผล
- มีความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในแผนงานของประชาคมอาเซียน
- การประชาสัมพันธ์ การเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อม
- การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมอย่างมีเอกภาพ และบูรณาการ
จาก 9 พันธกิจหลัก แปลงมาเป็นยุทธศาสตร์ 9 ยุทธ์ศาสตร์ด้วยกัน คือ
1.             ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร
จะมีกลยุทธ์ทั้งด้านทักษะ ด้านภาษา ด้านการเจรจาต่อรอง ด้านการดำเนินการประชุม  ด้านกฎหมาย 
ระหว่างประเทศ ด้านการทำงานเป็นทีม ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และด้านการทำงานเป็นทีมด้าน
องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และด้านการสร้างและกำหนดมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ในการเตรียมคน มีการเตรียมความพร้อมในด้านทัศนคติ โดยมีกลยุทธ 3 ด้านด้วยกัน
- ทัศนคติต่อประชาคมอาเซียน ในเชิงบวก เราต้องการให้ข้าราชการนั้นมองประชาคมอาเซียนใน
เชิงบวก
- ต้องการให้ข้าราชการนั้นมีทัศนคติต่อประเทศสมาชิกในเชิงบวก อันนี้ต้องมีการปรับทัศนคติ
- ทัศนคติในการทำงาน ยุทธศาสตร์ส่วนการเตรียมความพร้อมในด้านสมรรถนะ เป็นไปตาม
มาตรฐาน
           กล่าวโดยสรุป การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร จะต้องมี 3 ด้านด้วยกัน คือ ต้องมีความเป็นมือ  
อาชีพ มีความเป็นนานาชาติ และมีความเป็นผู้สนับสนุน และนอกจากนั้น จะมีแผนย่อย ๆ ลงไปอีก คือ 
เรื่องการพัฒนาบุคลากรรับผิดชอบภารกิจด้านประชาคมอาเซียนโดยตรง มีระบบฐานข้อมูล มีแผนพัฒนา
บุคลากร มีการเพิ่มสัดส่วนบุคลากรที่รู้เกี่ยวกับอาเซียน เรื่องการถ่ายถอดองค์ความรู้ทั้งกับเพื่อนร่วมงาน
และบุคลากรต่างหน่วยงาน มีความเป็นมืออาชีพที่ชัดเจนสำหรับบุคลากร และมีแผนจัดฝึกอบรม
      2. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมในด้านงบประมาณ
      3. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมในด้านองค์กร โดยมี 5 เรื่องหลักด้วยกัน
                                - ต้องมีกลไกระบบเตรียมความพร้อม
                                - มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
                                - มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ในลักษณะธรรมาภิบาลที่ดี
                                - มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาเซียนโดยตรง
                                - มีวางแผนอัตรากำลังและจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับภารกิจประชาคมอาเซียน
      4. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
       ซึ่งแบ่งเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรับ เป็นยุทธศาสตร์ ที่ถ้ามีประชาคมอาเซียนแล้วจะมีผลกระทบ แล้ว  
เราจะรองรับอย่างไรในเรื่องของคนในเรื่องขององค์กรต่าง ๆ
        ส่วนยุทธศาสตร์ในเชิงรุก หมายความว่า นอกจากเราจะต้องเตรียมคน เราควรจะต้องบุกด้วย บุกใน 
ที่นี้หมายถึงว่าเราควรจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ในฐานะข้าราชการนั้น เข้าไปมีส่วนร่วมในประชาคม
อาเซียนด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ 9 ประเทศเขาสร้างประชาคมอาเซียนแล้วเราค่อยมาตั้งรับ เราควรจะเข้าไปมี
ส่วนร่วมในการสร้างด้วย
       นอกจากนั้นแล้ว แต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจของตัวเองในการไปผลักดันประเด็นต่าง ๆ ยุทธศาสตร์
ในเชิงรุก หมายความว่า หน่วยงานจะต้องทำการบ้าน คิดดูว่า ประเด็นไหนที่เราต้องไปผลักดัน เราต้อง
ไปริเริ่ม ไปเสนอ ให้เป็นความคิดริเริ่มของฝ่ายไทยในเวทีอาเซียนต่าง ๆ อันนี้ต้องมีการทำการบ้าน และ
ผลักดันประเด็นที่ไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด
       5. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การ
           ปฏิบัติ
       6. ยุทธศาสตร์ ที่เป็นกลไกควบคุมตรวจสอบ
       7. ยุทธศาสตร์เรื่องความคืบหน้าในการดำเนินงานต่างๆในแผนงาน (blueprint) 
            ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
       8. ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม
       9. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมอย่างมีเอกภาพและมีบูรณาการ
ปัญหาการเตรียมความสู่ประชาคมอาเซียนของไทย
        สำหรับ roadmap ที่ผมเสนอข้างต้น ก็เป็นเพียงแค่ข้อเสนอ ปัจจุบันไทยก็ยังไม่มี roadmap และแผน 
แม่บทการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
      ไทยมีปัญหาหลายเรื่องในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยเรื่องสำคัญคือ อาเซียนได้ 
ตกลงที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปี พ.. 2546 ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี คือ เมื่อเกือบสิบปีมา
แล้วที่ไทยรู้ว่าจะมีประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น แต่จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ก็เพิ่งจะมาตื่นตัว
ในเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อไม่กี่ปีนี้ ไทยจึงค่อนข้างจะช้าในเรื่องการเตรียม
ความพร้อม หลายสิ่งหลายอย่างที่เราควรจะจัดทำแต่ก็ยังไม่มี เช่น แผนแม่บทการเตรียมความพร้อมของ
ประเทศก็ยังไม่มี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ หรือ
หน่วยงานต่าง ๆ เมื่อไม่มีแผนแม่บทก็ไม่มีแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของ
กระทรวง แต่กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องทำยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของตนเอง
ขึ้นมา จึงเกิดเป็นปัญหาว่า การเตรียมความพร้อมของส่วนราชการต่าง ๆ จึงมีลักษณะต่างคนต่างทำ” 
ขาดการประสานงานกันอย่างมีเอกภาพและบูรณาการ ดังนั้น ปัญหาสำคัญของไทยขณะนี้ก็คือจะทำ
อย่างไรที่จะทำให้ประเทศรวมทั้งระบบราชการมีการเตรียมความพร้อมไปในทิศทางเดียวกัน และมี
เอกภาพ และมีบูรณาการ
                      สำหรับในประเด็นการเตรียมความพร้อมด้านองค์กร แม้ว่าจะมีการระบุในแผนงานหรือ 
             roadmap ว่า ในแต่ละหน่วยงานควรมีการกำหนดกลไกและผู้รับผิดชอบเรื่องอาเซียนโดยตรง  
             แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกกระทรวงจะต้องมีการตั้งกองอาเซียนขึ้นมา โดยกลไกที่รับผิดชอบ  
             อาเซียนอาจจะเป็นรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กอง คืออาจจะเป็นส่วน ฝ่าย งาน หรือที่เรียกเป็นภาษา 
             อังกฤษว่า ASEAN Unit ก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่า แต่ละกระทรวงต้องไปกำหนดดูความ
             เหมาะสม ซึ่งแต่ละกระทรวงมีการเตรียมความพร้อมไม่เท่ากัน มีภารกิจในด้านอาเซียนไม่เท่า 
             กัน บางกระทรวงที่มีภารกิจมากก็อาจจะตั้งเป็นกองอาเซียนหรือกรมอาเซียนได้ ตัวอย่างเช่น 
             กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักอาเซียนของกรมเจรจาการค้าระหว่าง
             ประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่บางกระทรวงอาจจะไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น คือ มีแค่ ASEAN Unit 
             ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
                       สำหรับเรื่องยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของแต่ละกระทรวง 
             นั้น คงจะไปกำหนดว่า ทุกกระทรวงจะต้องมียุทธศาสตร์เหมือนกันหมดไม่ได้ แต่ละกระทรวง
             จะต้องไปกำหนดเอาเองว่า กระทรวงมีภารกิจด้านอาเซียนอย่างไร ต้องการพัฒนา เตรียม
             บุคลากร มากน้อยเพียงใด ต้องมีการเตรียมองค์กรอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวง ที่จะ
             ต้องไปพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ของตัวเอง

        (โปรดติดตามอ่านต่อ ตอนที่ 4 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2555)