Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2013 (ตอนที่1)



แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556


คอลัมน์กระบวนทัศน์ในวันนี้เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ผมจึงจะมาวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปีนี้ โดยตอนที่ 1 จะวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงโลก ส่วนตอนหน้าจะวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ความมั่นคงโลก 
·         ตะวันออกกลาง
ปีนี้ ภูมิภาคที่จะต้องจับตามองมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง ซึ่งน่าจะเป็นภูมิภาคที่มีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความขัดแย้ง สงคราม และการก่อการร้าย
ประเทศที่ต้องจับตามองมากที่สุดคือ อิหร่าน โดยเฉพาะวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน ที่คงจะเป็นปัญหาต่อเนื่อง มาจากปีที่แล้ว ตะวันตกกำลังวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์อิหร่านกับตะวันตกโดยเฉพาะกับสหรัฐฯและอิสราเอล ตึงเครียดขึ้นมาก จนอาจถึงขั้นสงคราม แนวโน้มคือ อิสราเอลและสหรัฐฯ อาจจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ โดย scenario ที่น่าจะเป็นไปได้คือ อิสราเอลร่วมกับสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินหรือขีปนาวุธโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
 อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายฝ่ายออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบในทางลบหากเกิดสงคราม โดยเฉพาะสงครามอาจลุกลามบานปลาย อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบ Hormuz โจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ และสนับสนุนการก่อการร้ายทั่วโลก รวมทั้งอาจเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งใหม่
จุดอันตรายอีกจุดคือ ซีเรีย ซึ่งเป็นวิกฤตที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กำลังกลายเป็นสงครามกลางเมือง ที่มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่าหกหมื่นคน ปีนี้มีแนวโน้มว่า สงครามกลางเมืองอาจรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นที่อาจจะมีการแทรกแซงจากภายนอกโดยเฉพาะการแทรกแซงจากตะวันตก เหมือนในกรณีของลิเบีย ที่ NATO เข้าแทรกแซง แต่ในกรณีของซีเรียอาจไม่ง่าย เพราะ จีน รัสเซีย และอิหร่าน สนับสนุนรัฐบาล Assad อยู่
หลายฝ่ายมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว จึงได้เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางทหาร เพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาคมโลกจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับปัญหานี้ ที่กำลังจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ และจุดที่จะทำให้เกิดวิกฤตหนักขึ้นคือ รัฐบาล Assad อาจตัดสินใจใช้อาวุธเคมีในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน
นอกจากนี้ มีอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาความวุ่นวายในปี 2013  ดังนี้
-                       ลิเบีย : อาจจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ที่ใช้ลิเบียเป็นฐานที่มั่นใหม่
-                       เยเมน : สถานการณ์ความมั่นอาจจะทรุดหนักลง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มการเพิ่มบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายในเยเมน
-                       เลบานอน : ความขัดแย้งในซีเรียอาจลุกลามบานปลายเข้าสู่เลบานอน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มคริสต์กับมุสลิม
-                       อิรัก : ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สหรัฐฯบุกยึดครองอิรักในปี 2003 สถานการณ์ความวุ่นวายและความรุนแรง ก็มีมาโดยตลอด และน่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังคงมีบทบาทอยู่
-                       จอร์แดน : อาจจะเกิดการแพร่ขยายของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เราเรียกว่า Arab Spring
-                       อียิปต์ : การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ ยังคงไม่เรียบร้อย และอาจเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ที่เป็นผลมาจาก การปฏิรูปทางการเมือง และภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ทรุดหนักลง
-                       ซาอุดิอาระเบีย : อาจเกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่เป็นผลมาจากกระแส Arab Spring
-                       ตุรกี  : ก็อาจเกิดความไม่สงบ โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นเขตของชาวเคิร์ด ที่ได้ต่อสู้แบ่งแยกดินแดนมาอย่างยืดเยื้อ

·         การก่อการร้ายสากล
การก่อการร้ายสากล จะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกต่อไปในปีนี้ แม้ว่า Osama Bin Laden ผู้นำ Al-Qaeda จะได้ถูกสังหารไปแล้ว แต่ในปีนี้สถานการณ์การก่อการร้าย จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และทำท่าว่า จะทรุดหนักลงเสียด้วยซ้ำ โดยเหตุการณ์ Arab Spring กลับเป็นตัวช่วย ทำให้กลุ่มก่อการร้ายฉวยโอกาสจากความวุ่นวายทางการเมือง และสุญญากาศแห่งอำนาจ ในการเพิ่มบทบาทของตน
                        การสูญเสีย Bin Laden ไป ไม่ได้ทำให้ Al-Qaeda อ่อนแอลงไปมากนัก ผู้นำคนใหม่คือ Ayman al-Zawahiri ยังคงเดินหน้าปลุกระดมและเรียกร้องให้มีการก่อวินาศกรรมทั่วโลก
                แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ องค์กรสาขาของ Al-Qaeda และแนวร่วมของ Al-Qaeda ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้
-                      Lashkar e Tayyiba: หรือเรียกย่อว่า LeT ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน มีบทบาทในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ในปี 2008 ในปีนี้ คงต้องจับตามองบทบาทของ LeT ซึ่งพยายามที่จะยุแหย่ให้เกิดสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน LeT มีเครือข่าย หรือ cell ทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง
-                      AQIM: ซึ่ง ย่อมาจาก Al-Qaeda in the Islamic Maghreb เป็นองค์กรสาขาของ Al-Qaeda ในแอฟริกาเหนือ และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศมาลี (Mali) ชื่อ Ansar al Dine และขณะนี้ได้ยึดครองพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศแล้ว AQIM ถูกสงสัยว่า อยู่เบื้องหลังการสังหารทูตสหรัฐฯในลิเบีย นอกจากนี้ กลุ่มยังได้อาวุธจากการล่มสลายของรัฐบาล Gaddafi ทำให้กลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีอาวุธมากที่สุด
-                      AQAP: ซึ่งย่อมาจาก Al-Qaeda in the Arabian Peninsula บทบาทและสมาชิกได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ฐานที่มั่นสำคัญของ AQAP อยู่ในเยเมน และได้พยายามก่อวินาศกรรมในอเมริกามาแล้วสามครั้ง แต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลเยเมนก็อ่อนแอ AQAP  จึงได้ฉวยโอกาส ในการเพิ่มบทบาทขึ้นเป็นอย่างมาก
-                      ซีเรีย: จากความวุ่นวายในซีเรีย ทำให้ Al-Qaeda  กำลังมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น ผู้นำ Al-Qaeda ได้เรียกร้องให้ผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงจากทั่วโลกเดินทางมาซีเรีย ในสถานการณ์สงครามทางกลางเมือง กลุ่มก่อการร้ายได้ขยายตัว และ Al- Qaeda ก็กำลังจะใช้ซีเรียเป็นฐานในการก่อวินาศกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน คือ จอร์แดน ตุรกี อิรัก และเลบานอนด้วย อย่างไรก็ตาม จุดอันตรายของสถานการณ์การก่อการร้ายในซีเรียคือ การที่อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพของรัฐบาล Assad อาจจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ก็ยังคงน่าเป็นห่วง รัฐบาลสหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 และมีแนวโน้มจะลดกำลังทหารลงในปีนี้ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ NATO จะลดกำลังลง ก็อาจจะทำให้นักรบตาลีบันเหิมเกริมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานทรุดหนักลง เช่นเดียวกับในปากีสถาน ก็มีแนวโน้มว่า สงครามจะลุกลามบานปลาย นักรบตาลีบันก็กำลังก่อความวุ่นวายมากขึ้น

·        เอเชียตะวันออก
สำหรับสถานการณ์ความมั่นคงโลกอีกเรื่อง ที่ต้องจับตามองปีนี้ คือ กรณีพิพาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และจีนกับอาเซียนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
 ต้นตอของปัญหาคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลว่า จีนจะผงาดขึ้นมาแข่งกับตนสหรัฐฯ จึงมียุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร และพยายามยุแหย่ให้ประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกับจีน จึงทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู และกรณีพิพาทระหว่างจีนกับอาเซียนในทะเลจีนใต้ จีนไม่พอใจสหรัฐฯเป็นอย่างมาก ที่สหรัฐฯได้ส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือออสเตรเลีย โดยมองว่า พันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และจีนก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้ โดยมองว่า สหรัฐฯต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน
ดังนั้น จุดอันตรายที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ สงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นสงครามใหญ่ หากสหรัฐฯเข้าแทรกแซง และเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีน
นอกจากนี้ จุดอันตรายอีกจุดคือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู โดยจุดที่น่าห่วงคือ ขณะนี้ญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่โดยนายอาเบะ นายกรัฐมนตรี มีแนวนโยบายต่างประเทศแบบแข็งกร้าวเป็นสายเหยี่ยว พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งอาจเป็นชนวนให้ความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายได้ และเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งอาจกลายเป็นสงครามใหญ่ หากสหรัฐฯเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น และเกิดความขัดแย้งทางทหารกับจีน

(โปรดติดตามอ่านต่อ ตอนต่อไป ซึ่งจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก)