Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนจบ)

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึง ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็น ผลกระทบต่อภาคราชการไทย และการปรับตัวของภาคราชการไทย ต่อการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ในปี 2015 โดยได้วิเคราะห์การปรับตัวในภาพรวม และการปรับตัวในประชาคมการเมืองและความมั่นคงไปแล้ว สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในส่วนของการปรับตัวในประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เป้าหมายของเรา ในปี 2015 คือ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมา ซึ่งหัวใจของประชาคมเศรษฐกิจ คือ จะมีตลาดเดียว และฐานการผลิตเดียว (single market and production base) และการที่เราจะมีตลาดเดียว จะมีการไหลเวียนของปัจจัยต่างๆอย่างเสรี คือ

• การไหลเวียนของสินค้าอย่างเสรี
• การไหลเวียนของการค้าภาคบริการอย่างเสรี
• การไหลเวียนของการการลงทุนอย่างเสรี
• การไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น (freer flow of capital) ซึ่งการไหลเวียนของเงินทุนนี้ ไม่ใช้คำว่า free แต่ใช้คำว่า freer ซึ่งหมายถึง มีเสรีมากขึ้น แต่ยังไม่เสรี 100%
• การไหลเวียนของแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี (free flow of skilled labor) โดยจะมีการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ซึ่งหมายความว่า แรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) ยังไม่เปิดเสรี เหตุผล คือ เราเห็นภาพอยู่ในขณะนี้ว่า ประเทศไทยไม่ได้เปิดเสรีให้คนงานพม่าเข้ามาทำงานในประเทศ แต่ก็มีการลักลอบแอบเข้ามาทำงาน จำนวนก็คงจะหลายล้านคนที่แอบทำงานอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการเปิดเสรีในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ ก็คงจะทะลักเข้ามา คราวนี้คงจะไม่ใช่ 3-4 ล้านคน แต่อาจจะเป็น 10 ล้านคน จากพม่า กัมพูชา และลาว เพราะฉะนั้น ไทยก็ไม่พร้อมในการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ก็ไม่พร้อม ปัญหาตรงนี้ คือ ถ้าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ต่างกันมาก ก็คงจะไม่ทะลัก แต่ในอาเซียน ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ห่างกันมาก ดังนั้น หากมีการเปิดเสรี คนจนในประเทศจน จะทะลักเข้าไปสู่ประเทศรวย เพื่อที่จะหางานที่ดีกว่า

นี่คือประเด็นหลักๆในเรื่องของการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แต่ถ้าถามว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

ในบรรดาทั้ง 3 ประชาคมย่อย ผมคิดว่า ประชาคมเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อไทยมากที่สุด เพราะเมื่อเราเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายสินค้า สินค้าบางตัว ไทยอาจได้เปรียบ ส่งไปขายในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น แต่อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม ไทยอาจเสียเปรียบ เราอาจจะผลิตสินค้าต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น เมื่อเปิดเสรีแล้ว สินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน จะทะลักเข้าสู่ไทย อุตสาหกรรมบางสาขา จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งภาคเกษตรด้วย ตัวอย่างเช่น ข้าว เมื่อเปิดเสรีแล้ว ข้าวราคาถูกจากลาว จากพม่า จะทะลักเข้าไทย เพราะฉะนั้น ในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีทั้งโอกาส และภัย เมื่อเปิดเสรีแล้ว ต้องมีคนได้ คนเสีย บาง sector อาจจะยังไม่พร้อม ก็จะได้รับผลกระทบ

แต่ในภาพรวม การเปิดเสรีการค้าสินค้าในอาเซียน จะไม่กระทบต่อไทยมากนัก เพราะเรามี AFTA อยู่แล้ว ขณะนี้ สินค้าที่ค้าขายกันในอาเซียน ก็มีภาษีอยู่ที่ประมาณ 0% อย่างมากก็ไม่เกิน 5%

สำหรับเรื่องภาคบริการ ถามว่า ภาคบริการไทยสู้กับอาเซียนได้หรือไม่ ผมคิดว่า เราน่าจะสู้ได้ ที่อาจจะยังสู้ไม่ได้ ก็น่าจะเป็นสิงคโปร์ โดยเฉพาะในภาคสถาบันการเงิน ธนาคาร แต่โดยรวมแล้ว เราน่าจะสู้เขาได้ เพราะฉะนั้น ไทยน่าจะได้ประโยชน์ มากกว่าเสียประโยชน์
เช่นเดียวกับเรื่องการลงทุน ต่อไปจะเป็นเขตการลงทุนเดียวในอาเซียน กฎเกณฑ์ต่างๆด้านการลงทุนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาคเอกชน แต่ผมคิดว่า ในภาคการลงทุน เราไม่ได้เป็นรองใครในอาเซียน เราน่าจะมีโอกาสมากขึ้นในการไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน นักธุรกิจไทยก็กำลังจ้องจะไปลงทุนในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากขึ้น และกำลังจะขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วย

สำหรับ การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือในอาเซียนนั้น ในแผนงาน ASEAN Economic Community Blueprint ได้กำหนดไว้ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ จะเริ่มจากอาชีพทางด้านการแพทย์ บัญชี วิศวกร พยาบาล และสถาปนิก ที่จะเปิดเสรีกันก่อน การเปิดเสรีในที่นี้ หมายถึง ต่อไปในอนาคต เราเป็นประชาคมเศรษฐกิจแล้ว สถาปนิกชาวมาเลเซีย อยากจะเข้ามาทำงานในไทย ก็สามารถเข้ามาได้ หรือสถาปนิกไทย อยากไปทำงานที่สิงคโปร์ ก็สามารถไปได้อย่างเสรี เพราะฉะนั้น จะเปิดโอกาสมากขึ้นสำหรับอาชีพเหล่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสู้เขาได้หรือไม่ หมอไทย กับหมอมาเลเซีย เราสู้เขาได้หรือไม่ หรือหมอไทย กับหมอลาว มาตรฐานของเราน่าจะดีกว่าหรือไม่ เพราะฉะนั้น ในอนาคต หมอไทยจะมีโอกาสไปทำงานในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น จะติดขัดอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องภาษา อย่างเช่น พยาบาลไทย ที่ความจริงโอกาสมีมาก แต่ยังติดขัดเรื่องภาษาอังกฤษ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้เปรียบ เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะฉะนั้น ข้อเสียเปรียบของเรา คือ เรื่องภาษา

มีอยู่ 3 กลุ่ม ที่จะต้องปรับตัว และมีบทบาทในเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจ

กลุ่มที่ 1 คือ บุคลากรในหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีอยู่มากมายหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม

กลุ่มที่ 2 คือ ภาคเอกชน

และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชน

แต่สำหรับบทความนี้ จะเน้นเรื่อง การปรับตัวของภาคราชการไทย ซึ่งต้องไปดูว่า หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย จะปรับตัวอย่างไร และจะมีบทบาทอย่างไรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประการแรก คือ หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรจะต้องศึกษาถึงผลกระทบจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า จะมีผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบจากการเปิดเสรีภาคบริการ ผลกระทบจากการเปิดเสรีด้านการลงทุน ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ต้องศึกษาถึงผลกระทบอย่างละเอียด โดยการศึกษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นลบทั้งหมด เพราะโอกาส ก็มีมาก

ประการที่ 2 หน่วยงานเศรษฐกิจของไทย จะต้องให้ความรู้แก่ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถึงโอกาสที่กำลังจะเปิดให้ สำหรับประชาคมเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบในเชิงลบ คือจะต้องให้ภาคส่วนต่างๆรู้ว่า กำลังเผชิญกับผลกระทบในเชิงลบอย่างไร และหน่วยงานราชการจะต้องกำหนดมาตรการในการรองรับต่อผลกระทบดังกล่าวด้วย
เราได้รับบทเรียนมาแล้ว จากการทำ FTA ทวิภาคี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เช่น FTA ไทย-ออสเตรเลีย FTA ไทย-จีน FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่พอทำไปแล้ว มีผลกระทบในทางลบ กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการรองรับผลกระทบในทางลบไว้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พอเปิด FTA ไทย-จีน ผักและผลไม้ของจีน ก็ทะลักเข้าไทย เกษตรกรรายย่อยของไทยขายผลผลิตทางเกษตรของตนไม่ได้ รัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้มีมาตรการรองรับที่ดีพอ

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

เรื่องหลักๆ คือ

• การส่งเสริม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
• การคุ้มครอง และสวัสดิการสังคม
• ความยุติธรรม และสิทธิ
• การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
• การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

นี่คือเรื่องหลักๆของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งมีหน่วยงานของไทย ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหลายหน่วยงาน
ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ขณะนี้ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน กระจายไปเกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม เพราะฉะนั้น จึงมีหลายหน่วยงาน ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความร่วมมืออาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น หน่วยงานของไทย บุคลากรของไทย ต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมมากขึ้น ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น

ส่วนในเรื่องการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม ก็เป็นเรื่องของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะโยงมาถึงเรื่อง สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับหน่วยงานของไทยทางด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิสตรี และสิทธิเด็ก เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ด้วย

สำหรับในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน โดยมีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอยู่เป็นประจำ

สุดท้าย เป็นเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งเน้นว่า เราจะส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศอาเซียนกันอย่างไร ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรง

จะเห็นได้ว่า เกือบทุกหน่วยงานของภาคราชการไทย ก็เกี่ยวข้องกับอาเซียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ในเรื่องของการที่จะเข้าไปมีบทบาท ซึ่งบทบาทที่สำคัญของภาคราชการไทยนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะปรับตัวเพื่อรองรับต่อผลกระทบของประชาคมอาเซียนเท่านั้น แต่ภาคราชการไทยจะต้องมีบทบาทในการผลักดัน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย นอกจากนี้ ข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน จะต้องมีจิตสำนึกอยู่ในใจว่า เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย เราควรจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ไทยกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีอาเซียนได้อีกครั้งหนึ่ง และผลักดันประเด็นต่างๆที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

สงครามลิเบีย

สงครามลิเบีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 – วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงสงครามลิเบีย ที่ได้ระเบิดขึ้นแล้ว ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยผมจะเน้นวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สงครามในขณะนี้ และแนวโน้มในอนาคต

สงครามลิเบีย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม สงครามลิเบียได้เกิดขึ้น โดยเครื่องบินฝรั่งเศสได้เปิดฉากการโจมตีลิเบีย นับเป็นสงครามครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นสงครามระหว่างตะวันตกกับโลกมุสลิม (สงคราม 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ สงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก) โดยยุทธศาสตร์ของตะวันตกในขณะนี้ คือ การจัดตั้งเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone เพื่อป้องกันกองกำลังของ Gaddafi โจมตีฝ่ายต่อต้านและพลเรือน อย่างไรก็ตาม วาวะซ่อนเร้น คือ การกำจัด Gaddafi ซึ่งแนวโน้มในอนาคต ยังไม่มีความแน่นอนว่า การสู้รบจะบานปลาย จากการโจมตีทางอากาศ มาสู่การใช้กองกำลังทหารภาคพื้นดิน ซึ่งอาจนำไปสู่การบุก และยึดครองลิเบียในอนาคต ได้หรือไม่

สงครามครั้งนี้ เปิดฉากเมื่อเครื่องบินรบของฝรั่งเศส โจมตีกองกำลังของ Gaddafi ใกล้เมือง Benghazi ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายต่อต้าน โดยเครื่องบินรบของฝรั่งเศสได้ทำลายรถถังของฝ่าย Gaddafi จำนวน 4 คัน ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ฝ่าย Gaddafi ต้องยุติการโจมตีฝ่ายต่อต้านที่เมือง Benghazi

ก่อนหน้าการโจมตีลิเบียเพียงไม่กี่ชั่วโมง ได้มีการจัดประชุมที่กรุงปารีส และที่ประชุมได้ตกลงที่จะใช้กำลังทหารในการบังคับใช้ข้อมติ UNSC ที่ 1973 ในการกำหนดเขตห้ามบิน โดยประธานาธิบดี Nicholas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้ออกมาประกาศการโจมตีกองกำลังของ Gaddafi และ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron ได้กล่าวสนับสนุนท่าทีของฝรั่งเศสว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิบัติการทางทหาร

ต่อมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ประกาศว่า เรือดำน้ำสหรัฐฯและอังกฤษ ได้ยิงขีปนาวุธ Tomahawk จำนวน 110 ลูก โจมตีเป้าหมายทางทหารทางตอนเหนือของลิเบีย 20 แห่ง นอกจากนี้ เรือรบของสหรัฐฯและอังกฤษหลายลำ ก็ลอยลำอยู่ใกล้ชายฝั่งของลิเบียด้วย

โดยประธานาธิบดี Obama ได้สั่งการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการทางทหารในขอบเขตจำกัดในลิเบีย เพื่อสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติ ในการปกป้องประชาชนชาวลิเบีย แต่สหรัฐฯจะไม่ส่งทหารบก หรือกองกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปในลิเบีย ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯตั้งชื่อว่า Operation Odyssey Dawn

Obama ชัดเจนในการประกาศเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามข้อมติของ UNSC ที่ 1973 เพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน เพื่อยุติสงครามกลางเมือง และเพื่อเป็นการแทรกแซงด้วยหลักการมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งเศส มีเป้าหมายที่แตกต่างจากสหรัฐฯ คือ ต้องการโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi แต่ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามนี้อย่างเต็มตัว และไม่ต้องการส่งกองกำลังทหารบกเข้าไป

ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการถกเถียงกันอย่างหนักภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว ท่าทีของ Obama คือ ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางทหาร และเขต no-fly zone แต่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาล Obama ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยหันมาสนับสนุน เขต no-fly zone และสนับสนุนข้อมติ UNSC ที่ 1973

ในรัฐบาล Obama มีความคิดเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะช่วยฝ่ายกบฎ และต้องการโค่นล้ม Gaddafi แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ต้องการให้สหรัฐฯก่อสงครามในโลกมุสลิมอีก อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Obama ได้ตัดสินใจเอียงไปข้างฝ่ายแรก คือ ตัดสินใจปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยฝ่ายกบฏ แต่ Obama ก็ยังวิตกกังวลว่า สงครามลิเบีย จะกลายเป็นเหมือนสงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรักอีก คือ จะยืดเยื้อ ไม่จบ ดังนั้น Obama จึงเลือกยุทธศาสตร์ exit strategy หรือ เผื่อ “บันไดหนีไฟ” ด้วยการประกาศจะไม่เป็นผู้นำในสงครามครั้งนี้ โดยได้ให้อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นผู้นำแทน และสหรัฐฯจะเกี่ยวข้องกับสงครามให้น้อยที่สุด

แนวโน้ม

ขณะนี้จึงมีคำถามมากมายว่า สงครามลิเบียในครั้งนี้ จะมีแนวโน้มอย่างไร จะจบเร็ว เป็นสงครามย่อย หรือจะยืดเยื้อยาวนาน เป็นสงครามใหญ่ ผมมองว่า ในขณะนี้ ยังคงวิเคราะห์ได้ยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีปัจจัย ตัวแปร หลายตัวที่ยังไม่มีความแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมขอประมวลปัจจัยสำคัญคร่าวๆที่อาจจะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

• เป้าหมายของสงคราม

ปัจจัยประการแรก คือ เป้าหมายในการทำสงครามครั้งนี้ของตะวันตกคืออะไร เป้าหมายที่
ตะวันตกประกาศอย่างเป็นทางการ คือ การมีเป้าหมายที่จำกัด คือ การกำหนดเขตห้ามบิน ซึ่งถ้ามีเป้าหมายเพียงเท่านี้ ก็ไม่น่าจะยาก เพราะขณะนี้ ตะวันตกก็ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเขตห้ามบินได้แล้ว แต่หากเป้าหมายที่แท้จริง คือ การโค่น Gaddafi ก็จะเป็นเรื่องยาก และสงครามจะยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่า Obama จะต้องการให้เป็นสงครามจำกัดขอบเขตและจบอย่างรวดเร็ว แต่ Gaddafi ก็ต้องการให้เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน

ผมเดาว่า แม้ตะวันตกจะไม่ประกาศ แต่วาระซ่อนเร้น คือ การโค่นล้ม Gaddafi ดังนั้น สงคราม
จึงน่าจะยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่า กระทรวงกลาโหมจะประกาศว่า Gaddafi จะไม่ได้เป็นเป้าหมายในการโจมตี แต่ก็มีการยิงขีปนาวุธไปที่ศูนย์บัญชาการของ Gaddafi ที่กรุงตริโปลี ในข้อมติ UNSC ที่ 1973 จะมีข้อกำหนดให้ใช้กำลังทางทหารในการปกป้องประชาชน แต่ไม่ได้มีการระบุถึงเป้าหมายในการโค่น Gaddafi หากการโค่น Gaddafi เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของตะวันตก ก็มีคำถามใหญ่ตามมาว่า ตะวันตกพร้อมแค่ไหนในการที่จะทำสงครามที่ยืดเยื้อกับ Gaddafi

• สงครามภาคพื้นดิน

ขณะนี้ สงครามยังเป็นการใช้เครื่องบิน และขีปนาวุธในการโจมตีลิเบีย แต่ยังไม่ได้มีการใช้
กองกำลังทหารบก แม้ว่า Obama จะประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ส่งทหารบกเข้าไปในลิเบีย เช่นเดียวกับ อังกฤษที่ยังไม่มีแผนที่จะส่งทหารบกเข้าไปในลิเบีย แต่ประเด็นปัญหาสำคัญทางทหาร คือ ชัยชนะในสงครามจะเป็นการยากมาก ที่จะใช้แค่กำลังทางทหารอากาศ และทหารเรือ โดยไม่ใช้ทหารบก กองกำลังหลักของ Gaddafi คือ กองกำลังภาคพื้นดิน เพราะฉะนั้น การโจมตีทางอากาศคงไม่สามารถชนะสงครามในครั้งนี้ได้ ในที่สุดตะวันตก อาจจะต้องตัดสินใจส่งกองกำลังทางทหารภาคพื้นดิน เพื่อโค่นล้ม Gaddafi ลงให้จงได้ ซึ่งนั่น จะนำไปสู่สงครามที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น โดยหากมีการปะทะกันทางภาคพื้นดิน ความเสียหายจะมีมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจะมีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งสหรัฐฯก็ได้ประสบการณ์มาแล้ว จากการบุกอัฟกานิสถานและอิรัก

อย่างไรก็ตาม หากตะวันตกตัดสินใจบุกยึดลิเบีย และโค่น Gaddafi ลงได้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่า สงครามจะจบ Gaddafi อาจจะลงใต้ดิน และต่อสู้แบบสงครามกองโจร ซึ่งก็จะกลับไปเหมือนกับสงครามในอัฟกานิสถาน เราคงจำได้ว่า สหรัฐฯบุกยึดอัฟกานิสถานได้ แต่ต่อมา นักรบตาลีบัน ได้กลับมารวมตัว และกลับมาทำสงครามกับสหรัฐฯใหม่ กลายเป็นสงครามยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

• โลกอาหรับและโลกมุสลิม

ปัจจัยสำคัญอีกประการ สำหรับอนาคตของสงครามลิเบีย คือ การสนับสนุนจากโลกอาหรับ ซึ่ง
ที่ผ่านมา สันนิบาตอาหรับได้มีมติสนับสนุน การจัดตั้งเขตห้ามบินในลิเบีย ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการที่โลกอาหรับสนับสนุนการโจมตีลิเบียของตะวันตก อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของโลกอาหรับ ก็มีความไม่แน่นอนสูงว่า จะเปลี่ยนท่าทีไปอย่างไร โดยอาจจะเปลี่ยนกลับมาต่อต้านตะวันตกได้ โดยแนวโน้มที่เป็นไปได้ คือ ในที่สุด สงครามลิเบียอาจจะเหมือนกับสงครามอิรัก และอัฟกานิสถาน ที่โลกอาหรับและโลกมุสลิม มองว่า เป็นสงครามที่ตะวันตกโจมตีโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตะวันตกต้องการขยายสงครามกลายเป็นสงครามใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งทหารและประชาชนเป็นจำนวนมาก ก็จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากโลกอาหรับและโลกมุสลิมขึ้นได้

และแนวโน้มการต่อต้านจากโลกอาหรับก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม
หลังจากที่ตะวันตกโจมตีลิเบียได้ไม่นาน เลขาธิการของสันนิบาตอาหรับ คือ นาย Amr Moussa ได้ออกมาประณาม และแสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางทหารของตะวันตก ที่เขามองว่า ทำเกินเลยจากเป้าหมายการจัดตั้งเขตห้ามบิน และขู่ว่า จะพิจารณาท่าทีของสันนิบาตอาหรับใหม่

กล่าวโดยสรุป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า สงครามลิเบียในครั้งนี้ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะเป็นสงครามจำกัดขอบเขต และจบลงอย่างรวดเร็ว หรือจะกลายเป็นสงครามใหญ่ ที่ยืดเยื้อยาวนาน ก็ยังไม่สามารถฟันธงลงไปได้

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนที่ 1)

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า ผมจะวิเคราะห์ถึง ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็น ผลกระทบต่อภาคราชการไทย และการปรับตัวของภาคราชการไทย ต่อการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ในปี 2015

ภูมิหลัง

สำหรับภูมิหลังของประชาคมอาเซียนนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2002 โดยสิงคโปร์ได้เสนอในการประชุมสุดยอดปี 2002 ว่า ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรจะมีการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community พอสิงคโปร์เสนอ อาเซียนก็เห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเดินหน้ากันสักที หลังจากที่เราติดขัดกันมานาน คือ ติดอยู่กับ AFTA มาตั้งแต่ปี 1992 และไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย ถ้าอาเซียนจะยังคงมีความสำคัญอยู่ในเวทีโลก เราต้องรีบขยับ เราต้องรีบเดินหน้า เราต้องรีบบูรณาการในเชิงลึกกว่านี้ นั่นก็คือ การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แนวคิดนี้มาถึงจุดที่ทุกฝ่ายตกลงกันในปี 2003 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ได้มีข้อตกลง Bali Concord II กำหนดว่า เราจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 แต่ในตอนหลังหลายประเทศมองว่า ปี 2020 อาจจะนานเกินไป ตอนหลังจึงตกลงที่จะร่นเป้าหมายมาเป็นปี 2015 เพราะฉะนั้น จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015

ประชาคมอาเซียน มี 3 เสาหลัก หรือ 3 ประชาคมย่อย คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ทีนี้ ประเด็นต่อไปที่ผมจะวิเคราะห์ คือ การวิเคราะห์ผลกระทบในภาพรวม และการปรับตัวของภาคราชการไทยในภาพรวม และหลังจากนั้น ก็จะมาวิเคราะห์ในรายละเอียดในแต่ละประชาคม 3 ประชาคมย่อย ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และภาคราชการไทยจะปรับตัวอย่างไรในแต่ละประชาคม

ภาพรวม : ผลกระทบและการปรับตัวของภาคราชการไทย

การปรับตัวของภาคราชการไทยนั้น ผมมองว่า มีอยู่ 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ การปรับตัวจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในแง่ที่ว่า เมื่อมีการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะต้องปรับตัวอย่างไร เป็นการปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อผลกระทบ

แต่จะมีบทบาทของภาคราชการไทยอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ นอกจากเราจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับต่อผลกระทบแล้ว ภาคราชการไทยควรจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ แล้วก็รอให้เกิดประชาคมอาเซียน แล้วค่อยปรับตัว แต่เราควรจะมีบทบาท ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย ในฐานะที่เป็นส่วนราชการ จึงควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนด้วย เกือบทุกกระทรวงในขณะนี้ก็เกี่ยวข้องกับอาเซียน เพราะฉะนั้น บทบาทของภาคราชการไทย นอกจากจะต้องปรับตัวแล้ว ยังจะต้องมีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และบทบาทในการผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับผลกระทบของการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนต่อภาคราชการไทยในภาพรวมนั้น คือ เมื่อเกิดประชาคมอาเซียน ความร่วมมือจะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆด้าน จะมีการติดต่อกันระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆของประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดประชาคมอาเซียน ความร่วมมือในทุกๆด้านจะเพิ่มมากขึ้น และข้าราชการเกือบจะทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาเซียนมากขึ้น จึงต้องมีการปรับตัว เพื่อที่จะให้ทันกับประเทศอาเซียนอื่นๆ จะมีการแข่งขันกันมากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กันในระบบราชการต่างๆ เพราะฉะนั้น ระบบราชการไทยจะต้องทำงานให้ทันกับระบบราชการในประเทศอาเซียนอื่นๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ขึ้นชื่อว่าระบบราชการนั้นมีประสิทธิภาพมาก

และอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การที่ภาคส่วนต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน นั่นหมายความว่า หน่วยงานราชการของไทย ซึ่งในอดีต มักจะปิดตัวเอง ก็จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างมากขึ้น ในการที่จะดึงเอาภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว อย่างเช่น ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะไปทำสัญญาอะไรกับใคร รัฐบาลจะต้องปรึกษาหารือภาคประชาชนด้วย และอาเซียนก็จะทำให้แนวโน้มต่างๆเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานราชการจึงต้องเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องของภาคประชาสังคม
จากผลกระทบดังกล่าว ภาคราชการไทยจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ผมขอเสนอประเด็นเหล่านี้ ที่น่าจะเป็นประเด็นหลักของการปรับตัวของภาคราชการไทย

• เราจะต้องรู้เรื่องอาเซียนมากขึ้น ภาคราชการไทยจะต้องมีการตื่นตัวในการรับรู้เกี่ยวกับ
อาเซียนมากขึ้น

• เราจะต้องพยายามที่จะรู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน
ด้วยกันทั้งนั้น เราจะต้องรู้จักภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อันนี้ คือ จุดอ่อนของไทย ที่เรามักจะมองข้ามประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรามักจะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราไม่ให้ความสำคัญ เวลาเรามองอะไรก็มักจะมองไปที่ประเทศที่เจริญแล้ว ภาษา เราก็จะไปเรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น แต่ภาษาเพื่อนบ้านไม่มีใครอยากจะเรียน เพราะฉะนั้น จึงเป็น mentality ที่เราจะต้องปรับ ต้องเปลี่ยน เรื่องนี้โยงไปหลายเรื่อง อย่างเช่น ปัญหาความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ก็เหมือนกัน รากเหง้าของปัญหา คือ เราไม่สนใจประเทศเพื่อนบ้าน เราจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน และมองประเทศเพื่อนบ้านในแง่บวก ไม่ใช่มองเป็นศัตรู เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญที่เราจะต้องผลักดัน คือ ทำอย่างไร เราถึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านได้สักที ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่เราทะเลาะกับกัมพูชาอยู่ในขณะนี้ เรายกประเทศหนีเขาไปไม่ได้ เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดกาล

• อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้ตัดสินใจแล้วว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของอาเซียน
ดังนั้น ในอนาคต ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนของอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งระหว่างระบบราชการของไทยกับระบบราชการของประเทศสมาชิกอื่น จะมีการพบปะ เจรจา และประชุมกันมากขึ้น เพราะความร่วมมือต่างๆจะเกิดมากขึ้นในทุกมิติ และภาษาที่จะต้องใช้ในการพบปะ เจรจา และประชุม ก็คือ ภาษาอังกฤษ ดังนั้น สิ่งที่ภาคราชการไทยจะต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็ว ก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ

• สุดท้าย คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของภาค
ประชาชน ที่ได้วิเคราะห์ไป เป็นเรื่องของการปรับตัวในภาพรวม ตอนนี้เราจะมาดูในแต่ละประชาคมย่อย ว่า
จะต้องปรับตัวกันอย่างไร โดยจะเริ่มที่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงก่อน และหลังจากนั้น ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่ 2 ก็จะมาวิเคราะห์ต่อ ในส่วนที่เป็นประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น เรื่องหลักๆ คือ การพัฒนาทางการเมือง การผลักดันประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การสร้างบรรทัดฐาน (norms) ให้เกิดขึ้น คือ การจัดทำข้อตกลง สนธิสัญญาต่างๆ การสร้างกลไกในการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง

สำหรับผลกระทบของการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนต่อประเทศไทย โดยเฉพาะต่อภาคราชการไทยนั้น ผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นในเชิงบวกมากกว่า

ถ้าจะมองในแง่ของประชาชน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน จะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะฉะนั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชน น่าจะได้รับการปกป้องดีขึ้น และในอนาคต จะมีข้อตกลงมากขึ้น และความขัดแย้งต่างๆก็จะลดลง เพราะอาเซียนจะมีกลไกต่างๆดีขึ้นในการแก้ไขและป้องกันความขัดแย้ง
สำหรับผลกระทบต่อหน่วยงานราชการ ก็ต้องดูว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด

เช่นเรื่อง การพัฒนาทางการเมือง เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ก็จะไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการผลักดันความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน และกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ดังนั้น บุคลากรในกระทรวงยุติธรรม ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น และต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปผลักดันในประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องภาษา ซึ่งการประชุมอาเซียนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ

ส่วนเรื่องการพัฒนาบรรทัดฐาน ก็เป็นเรื่องของการจัดทำข้อตกลง สนธิสัญญา และกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม

สุดท้าย ก็จะเป็นเรื่องของบทบาทที่จะไปเสริมสร้างกลไกป้องกันความขัดแย้ง กลไกแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งจะเป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ฝ่ายทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในอดีต ฝ่ายทหารก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับอาเซียนเท่าไร แต่หลังจากมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งแรกในปี 2006 ทหารก็มีความตื่นตัวขึ้นมา ในเรื่องที่จะเรียนรู้ว่าอาเซียนคืออะไร กลไกอาเซียนเป็นอย่างไร และหน่วยงานฝ่ายทหารจะเข้าไปมีบทบาทได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือด้านความมั่นคง และบทบาทของฝ่ายทหารไทยในเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม ซึ่งจะเน้นวิเคราะห์ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม)

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 3 )

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 3 )

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ประจำวันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของประชาคมโลกต่อวิกฤติลิเบีย โดยเน้นการวิเคราะห์เรื่องข้อเสนอเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการ ความเคลื่อนไหวของนานาชาติต่อวิกฤติลิเบีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะวิเคราะห์ต่อ โดยจะเน้นวิเคราะห์ทางเลือกต่างๆที่มีการถกเถียงกันอยู่ ในการนำไปสู่มาตรการที่จะโค่นรัฐบาล Gaddafi ซึ่งจะมีรายละเอียด ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 : สงคราม

ได้มีข้อเสนอให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ แทรกแซงทางทหาร ด้วยการทำสงคราม ส่งทหารบุกลิเบียเพื่อโค่น Gaddafi ซึ่งทางเลือกนี้ จะเหมือนกับมาตรการทางทหารในปี 2003 ในการบุกอิรักของสหรัฐฯ และโค่นรัฐบาล Saddam Hussein อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้คงเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ Robert Gates และผู้นำทหารหลายคน ก็ไม่เห็นด้วยต่อการส่งทหารเข้าไปในลิเบีย

นอกจากนี้ สหรัฐฯมองว่า ลิเบียไม่มีความสำคัญพอ ทั้งในด้านผลประโยชน์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่จะทำให้สหรัฐฯต้องแทรกแซงทางทหาร ซึ่งตอนนี้ สหรัฐฯก็ปวดหัวอยู่มากแล้วในสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน รัฐบาล Obama จึงมีท่าทีชัดเจนว่า สหรัฐฯคงจะไม่แทรกแซงทางทหารในประเทศที่ไม่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ

และยังมีความไม่แน่นอนด้วยว่า หากการแทรกแซงทางทหาร และโค่นล้ม Gaddafi ลงได้ จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ที่น่ากังวลคือ อาจจะมีผู้นำคนใหม่ที่ต่อต้านตะวันตก หรือลิเบีย อาจจะเข้าสู่สภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจ เกิดสภาวะอนาธิปไตย และเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้

ทางเลือกที่ 2 : เขตห้ามบิน หรือ no-fly zone

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับทางเลือกนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนสนับสนุนทางเลือกนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสก็สนับสนุนมาตรการนี้ แต่ก็มีหลายๆประเทศ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยอาจสรุปปัญหาของมาตรการ no-fly zone เป็นข้อๆ ได้ดังนี้

• สงคราม : อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่กล้าดำเนินมาตรการ no-fly
zone เพราะกังวลว่า จะนำไปสู่สงครามใหญ่ เพราะหากจะบังคับใช้ no-fly zone ตะวันตกต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นควบคุมน่านฟ้าลิเบีย ซึ่งต้องทำลายฐานทัพอากาศ เครื่องบิน และปืนต่อสู้อากาศยานของลิเบีย และ Gaddafi ก็คงจะต่อสู้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นสงครามใหญ่ในที่สุด

• ไม่มีหลักประกันว่า no-fly zone จะบรรลุเป้าหมายในการโค่นรัฐบาล Gaddafi ลงได้ ทั้งนี้
no-fly zone จะไม่กระทบต่อการใช้เฮลิคอปเตอร์ รถถัง และกองกำลังภาคพื้นดิน ของ Gaddafi ดังนั้น no-fly zone จะไม่ได้ช่วยฝ่ายต่อต้าน Gaddafi และกองทัพลิเบียก็ไม่ได้เน้นการโจมตีฝ่ายต่อต้านทางอากาศอยู่แล้ว

• ปัญหาอีกประการของ no-fly zone รวมถึงการใช้มาตรการทางทหารอื่นๆ คือ การที่วิกฤติลิเบีย
อาจจะเปลี่ยนเรื่อง จากเรื่องของการลุกฮือขึ้นของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ กลายเป็นเรื่องตะวันตกแทรกแซงทางทหารในโลกอาหรับ และโลกมุสลิม โดยสงครามระหว่างตะวันตก กับ Gaddafi จะกลายเป็นเรื่องราวที่เราคุ้นกันดี คือ ตะวันตกแทรกแซงโลกมุสลิม และโลกอาหรับ เพื่อต้องการน้ำมัน ซึ่งจะเข้าทางของ Gaddafi ซึ่งได้ประกาศมาตลอดว่า วิกฤติในครั้งนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ จักรวรรดินิยมตะวันตกที่ต้องการครอบครองลิเบีย สงครามอิรักได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากโลกอาหรับ ทำให้ชาวอาหรับหวาดระแวงเป็นอย่างมากต่อการใช้กำลังทางทหารของตะวันตก

• อุปสรรคอีกประการของ no-fly zone คือ ตามหลักแล้ว การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะต้อง
ได้รับการอนุมัติจาก UNSC แต่ก็มีแนวโน้มชัดเจนว่า รัสเซียกับจีน ไม่เห็นด้วย และคงจะวีโต้ข้อเสนอดังกล่าว

• และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอด EU แม้ว่าแถลงการณ์ผลการประชุม
จะประกาศว่า EU กำลังพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อปกป้องประชาชนชาวลิเบีย แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงมาตรการ no-fly zone แม้ว่า อังกฤษกับฝรั่งเศส จะพยายามผลักดันในเรื่องนี้แล้วก็ตาม

ทางเลือกที่ 3 : no-drive zone

สำหรับทางเลือกที่ 3 ในการโค่นรัฐบาล Gaddafi คือ การใช้มาตรการ no-drive zone หรือการตั้งเขตห้ามการเคลื่อนย้ายกำลังทางทหารทางภาคพื้นดิน ซึ่งมาตรการนี้ จะเน้นการห้ามเคลื่อนย้ายรถถัง และทหารราบของ Gaddafi อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของมาตรการนี้ ก็คล้ายๆกับมาตรการ no-fly zone แต่จะยิ่งมีความลำบากมากขึ้น เพราะจะต้องใช้กำลังทหารเป็นจำนวนมาก ต้องแทรกแซงทางทหารมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการนี้ โดยเฉพาะหากจะใช้แต่เครื่องบินในการโจมตีเป้าหมายทางภาคพื้นดิน ดังนั้น หากจะใช้มาตรการนี้ให้ได้ผล ในที่สุด ก็จะต้องส่งกองกำลังทหารเข้าไปในลิเบีย ซึ่งก็จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ และคงจะหาประเทศที่จะสนับสนุนได้ยาก

ทางเลือกที่ 4 : สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน Gaddafi

มาตรการนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศตะวันตก ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน Gaddafi อังกฤษได้ส่งหน่วยรบพิเศษ SAS เข้าไปติดต่อกับกลุ่มกบฏฝ่ายต่อต้าน Gaddafi แล้ว ส่วนฝรั่งเศส ได้รับรองรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านซึ่งมีชื่อว่า National Transition Council ว่า เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของลิเบีย ส่วน EU แม้ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลของฝ่ายกบฏ แต่ยังไม่ได้ให้การรับรองทางการทูตอย่างเป็นทางการ สำหรับ Obama ก็ได้ส่งทูตพิเศษเพื่อไปหารือกับฝ่ายต่อต้าน Gaddafi ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ ก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน โดยตัวอย่างสำคัญในอดีต คือ การที่ตะวันตกและสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน แต่ต่อมา กลุ่มที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือทางทหาร กลับกลายเป็นกลุ่มนักรบตาลีบัน และกลายมาเป็นศัตรูสำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบัน

ทางเลือกที่ 5 : การทูตเชิงบีบบังคับ (coercive diplomacy)

จากการวิเคราะห์ทางเลือกทางทหารข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีปัญหาทุกทางเลือก ดังนั้น ขณะนี้ ตะวันตกจึงมุ่งไปสู่การใช้มาตรการการทูตเชิงบีบบังคับ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ 5 ที่จะใช้ในการโค่นรัฐบาล Gaddafi จุดเน้นของมาตรการนี้ คือ การขู่ว่าจะใช้กำลัง และการกดดันในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างของมาตรการนี้ คือ การที่ Obama ได้ออกมากล่าวในเชิงขู่และบีบบังคับ Gaddafi ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ประชาคมโลกมีความรับผิดชอบที่จะต้องป้องกันการเข่นฆ่าประชาชนชาวลิเบีย เหมือนกับที่ประชาคมโลกได้เคยทำในกรณีความขัดแย้งในรวันดา และบอสเนียในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดย Obama กล่าวว่า สหรัฐฯ จะใช้หลายมาตรการ เพื่อบีบให้ Gaddafi ยอมสละอำนาจ สหรัฐฯ กำลังพยายามกดดัน Gaddafi มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังพิจารณามาตรการต่างๆทุกมาตรการ (รวมถึงมาตรการทางทหารด้วย) โดยบอกว่า สหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับประชาคมโลก และร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน Gaddafi ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

EU ก็ได้ดำเนินมาตรการการทูตเชิงบีบบังคับเช่นเดียวกัน โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า Gaddafi จะต้องยอมสละอำนาจ และขณะนี้ EU ได้เพิ่มแรงกดดันจากนานาชาติ

นาโต้ ก็ได้ดำเนินมาตรการกดดันทางทหาร ด้วยการส่งเรือรบลอยลำนอกชายฝั่งลิเบีย และส่งเครื่องบินตรวจการ บินอยู่ใกล้ชายฝั่งลิเบีย

แต่ปัญหาของมาตรการนี้ คือ อาจจะไม่ได้ผลที่จะบีบให้ Gaddafi ยอมสละอำนาจได้

ทางเลือกที่ 6 : มาตรการคว่ำบาตร

สำหรับทางเลือกสุดท้าย คือ มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นมาตรการที่ UNSC ได้มีข้อมติออกมาแล้ว และประเทศตะวันตกได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวไปแล้ว โดยมีการอายัดบัญชีทรัพย์สินของ Gaddafi ในธนาคารสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 30,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ก็มีมาตรการการห้ามผู้นำลิเบียเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการขับลิเบียออกจากการเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เหล่านี้ ในที่สุด ก็อาจจะไม่ได้ผล

กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ประชาคมโลกอยู่ในสภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่รู้ว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรดี เพื่อจะขับ Gaddafi ให้ลงจากอำนาจ มาตรการทางทหารก็เสี่ยงเกินไป ขณะนี้ จึงมีลักษณะของการผสมผสาน ระหว่างทางเลือกที่ 4, 5 และ 6 คือการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน Gaddafi การใช้การทูตเชิงบีบบังคับ และมาตรการคว่ำบาตร แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า ทั้ง 3 มาตรการที่ประชาคมโลกใช้อยู่นั้น จะบรรลุเป้าหมาย คือการกดดันให้ Gaddafi สละอำนาจลงได้

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 2)

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของประชาคมโลก ต่อวิกฤติลิเบีย โดยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของ UNSC มหาอำนาจสหรัฐฯ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มีพัฒนาการความเคลื่อนไหวของประชาคมโลก ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดเขตห้ามบิน (no-fly zone) คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับข้อเสนอ no-fly zone ดังนี้

ข้อเสนอเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวในประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะ อังกฤษ และ สหรัฐฯ ในการผลักดัน มาตรการเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone โดยในสหรัฐฯได้มีสมาชิกสภาคองเกรสหลายคน ได้ออกมาผลักดันในเรื่องนี้

บุคคลที่ออกมาเสนอเรื่องนี้ที่โดดเด่นคือ John McCain ซึ่งเป็น ส.ว. พรรครีพับลิกัน (เคยเป็นคู่แข่งของ Obama ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี) ได้ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า สหรัฐฯมีงบประมาณทางทหารกว่า 5 แสนล้านเหรียญ แต่กลับไม่สามารถจัดการกับเครื่องบินของลิเบียได้ เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาล Obama ดำเนินมาตรการจัดตั้งเขต no-fly zone และบอกว่า ในอดีต สหรัฐฯก็เคยทำสำเร็จมาแล้วในอิรัก

สำหรับในฟากของพรรคเดโมแครต ก็มีกระแสเรียกร้องเช่นเดียวกัน โดย ส.ว. John Kerry ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา ก็เห็นด้วยกับ John McCain ในการกำหนด no-fly zone และได้กล่าวว่า นานาชาติและนาโต้ ไม่ควรนิ่งเฉย และปล่อยให้ Gaddafi ใช้เครื่องบินรบเข่นฆ่าประชาชน

โดยหากได้มีการกำหนด no-fly zone ขึ้นมา ก็น่าจะเป็นมหาอำนาจหลักๆ คือ สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่จะเป็นผู้ดำเนินการ เหมือนอย่างที่ทั้ง 2 ประเทศ เคยดำเนินการในอิรักเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 โดยในตอนนั้น เครื่องบินรบของสหรัฐฯและอังกฤษ ได้ปฎิบัติการป้องกันไม่ให้ Saddam Hussein นำเครื่องบินรบขึ้น เพื่อโจมตีชาวอิรักนิกายชีอะห์ ทางภาคใต้ของอิรัก

ท่าทีของรัฐบาล Obama

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ออกมาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ no-fly zone โดย Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวเตือนสภาคองเกรสว่า การจัดตั้งเขต no-fly zone เหนือลิเบียนั้น จะต้องเริ่มด้วยการโจมตีฐานทัพอากาศของลิเบีย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากในลิเบียซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง ก่อนหน้านี้ Gates ได้กล่าวสุนทรพจน์เตือนว่า สหรัฐฯควรจะหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในอิรัก และอัฟกานิสถาน โดย Gates ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้ง no-fly zone ในลิเบียนั้น จะกินอาณาเขตกว้างขวาง ต้องใช้เครื่องบินรบเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกองกำลังของสหรัฐฯในอิรัก และอัฟกานิสถานด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของสหรัฐฯหลายคน ได้ออกมาเตือนว่า no-fly zone อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีอุปสรรคด้านการเมือง และการทูต

Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาตอกย้ำว่า สหรัฐฯคงจะยังไม่ตัดสินในการดำเนินมาตรการนี้ โดยเสริมว่า ประเทศในภูมิภาคคงไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงทางการทหารของตะวันตก

อุปสรรค

ผมขอประมวลอุปสรรคในการดำเนินมาตรการจัดตั้งเขต no-fly zone ซึ่งแบ่งเป็นข้อๆได้ ดังนี้

• สงคราม

อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้รัฐบาล Obama ไม่กล้าดำเนินมาตรการ no-fly zone เพราะกังวลว่า
การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย นำไปสู่สงครามใหญ่ ทั้งนี้ เพราะการประกาศ no-fly zone เท่ากับเป็นการประกาศสงคราม และจะต้องมีสงครามเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้าสหรัฐฯจะบังคับใช้เขต no-fly zone สหรัฐฯต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นควบคุมน่านฟ้าของลิเบีย ซึ่งเครื่องบินจะปลอดภัยได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ต้องทำลายฐานทัพอากาศ เครื่องบิน และปืนต่อสู้อากาศยาน ของลิเบีย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบแล้ว นอกจากนั้น มีแนวโน้มว่า Gaddafi ก็คงจะต่อสู้อย่างที่สุด และเหตุการณ์ก็คงจะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่อย่างแน่นอน


• อิรัก

ในอดีต เคยมีการใช้มาตรการ no-fly zone หลายครั้ง แต่ยังมีข้อถกเถียงว่า มาตรการดังกล่าว
จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแคไหน อย่างเช่น ในกรณีของอิรัก ภายหลังสงครามอ่าว เมื่อปี 1991 สหรัฐฯและพันธมิตรได้บังคับใช้มาตรการ no-fly zone ต่ออิรัก โดยหวังว่า จะนำไปสู่การโค่นรัฐบาล Saddam Hussein แต่ในที่สุด ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น มาตรการ no-fly zone ในกรณีของลิเบีย ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะนำไปสู่การโค่น Gaddafi ลงได้

• UNSC

การบังคับใช้ no-fly zone นั้น ถือเป็นการทำสงคราม ดังนั้น ตามหลักแล้ว ก่อนที่จะดำเนิน
มาตรการดังกล่าว ทางฝ่ายตะวันตก จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ก่อน ซึ่งในข้อมติของ UNSC ที่ได้ออกมาเกี่ยวกับเรื่องลิเบียเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ก็ไม่ได้มีการระบุถึงมาตรการ no-fly zone และขณะนี้ ก็ไม่มีแนวโน้มว่า สมาชิก UNSC ต้องการที่จะให้มีมาตรการดังกล่าว โดยมีความเป็นได้ว่า ถ้าทางตะวันตกเสนอเรื่องนี้เข้าไป รัสเซีย กับจีน ก็คงจะไม่เห็นด้วย

• โลกอาหรับ และโลกมุสลิม

อุปสรรคอีกประการ ของการดำเนินมาตรการ no-fly zone คือ ทางฝ่ายโลกอาหรับ และโลก
มุสลิม คงจะมองว่า เป็นการแทรกแซงทางทหารของตะวันตก ดังนั้น ทางโลกอาหรับ และโลกมุสลิม คงจะไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ และอาจจะยิ่งเข้าทาง Gaddafi ที่ได้ประกาศออกมาแล้วว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นแผนการของสหรัฐฯและตะวันตกที่ต้องการครอบครองประเทศ และน้ำมันของลิเบีย

แนวโน้ม

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า มาตรการ no-fly zone คงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama คงจะตกอยู่ในสภาวะตกที่นั่งลำบาก โดยขณะที่รัฐบาล Obama ระมัดระวัง ไม่ให้สหรัฐฯถูกดึงเข้าไปสู่สงครามใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน เสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ทั้งจากฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ได้บีบให้รัฐบาล Obama จะต้องดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อหยุดยั้งการเข่นฆ่าประชาชนของ Gaddafi

นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาล Gaddafi ซึ่งได้มีการจัดตั้งสภารัฐบาลแห่งชาติชั่วคราว (Interim National Government Council) โดยการนำของอดีตรัฐมนตรียุติธรรม คือ Mustafa Abdel-Jalil ได้เรียกร้องให้ตะวันตกดำเนินมาตรการมากกว่าเขต no-fly zone เสียอีก โดยได้เรียกร้องให้ตะวันตกแทรกแซงทางทหาร ด้วยการโจมตีเป้าหมายทางทหารของรัฐบาล Gaddafi

แต่ขณะนี้ ดูเหมือนกับรัฐบาลตะวันตก โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินมาตรการทางทหารใดๆ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเพียงแค่มาตรการคว่ำบาตรเท่านั้น ซึ่งดูแล้ว มาตรการคว่ำบาตรคงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆได้
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทางฝ่ายตะวันตก ก็อาจต้องกลับมาพิจารณามาตรการทางทหารอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ ทางฝ่ายทหารตะวันตกก็กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆอยู่

คงต้องจับตาดูกันต่อว่า สถานการณ์ในลิเบียจะคลี่คลาย หรือจะลุกลามบานปลายใหญ่โตอย่างไรในอนาคต

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 1)

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย


ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 4 – วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2554


คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤติการณ์ในลิเบีย ปฏิกิริยาของประชาคมโลก โดยเฉพาะจากสหประชาชาติ และมหาอำนาจ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก และการเมืองโลก


วิกฤตลิเบีย


เหตุการณ์การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับ ได้ลุกลามบานปลายจากตูนีเซีย อียิปต์ และขณะนี้ลามมาถึงลิเบีย ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการลุกฮือขึ้นของชาวลิเบียเพื่อต่อต้านผู้นำเผด็จการ Muammar Gaddafi ซึ่งได้ครองอำนาจมานานกว่า 40 ปี โดยรัฐบาล Gaddafi ถือเป็นรัฐบาลที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดรัฐบาลหนึ่งในโลก Gaddafi อาจจะมีเงินฝากอยู่ในธนาคารสหรัฐฯ ถึงหลายพันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน Gaddafi ได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ซึ่งน่าจะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,000 คน ในตอนแรก สถานการณ์จำกัดวงอยู่ที่เมืองหลวงตริโปลี แต่ต่อมาได้ขยายวงลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสงครามกลางเมือง โดยทางตะวันออกของประเทศ ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งได้ควบคุมเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของลิเบีย คือ เมือง Benghazi แต่ฝ่าย Gaddafi ยังคงควบคุมเมืองหลวงตริโปลี ที่มีประชากรอยู่ 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดของประเทศที่มี 6.5 ล้านคน


UNSC


สำหรับปฏิกิริยาของประชาคมโลกนั้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกย่อว่า UNSC ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ โดยสมาชิกของ UNSC ทั้ง 15 ประเทศ ได้ลงมติในข้อมติที่ 1970 โดยสาระสำคัญของข้อมติดังกล่าว มีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องการห้ามประเทศสมาชิกขายอาวุธให้กับลิเบีย ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นมาตรการคว่ำบาตร Gaddafi ครอบครัวและคนสนิท โดยในข้อมติ ได้มีการระบุถึง บุคคลใกล้ชิดของ Gaddafi รวมทั้งหมด 17 คน ที่จะถูกห้ามการเดินทางออกนอกประเทศและห้ามการออกวีซ่าให้ นอกจากนี้ Gaddafi และครอบครัวยังถูกอายัดทรัพย์สินและบัญชีเงินฝากในประเทศต่างๆ สำหรับเรื่องที่ 3 เป็นมติที่ UNSC ส่งเรื่องต่อให้กับศาลอาชญากรระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court ( ICC) โดย UNSC ได้ขอให้ ICC เข้ามาสอบสวน Gaddafi ในฐานะที่ได้กระทำอาชญากรรมสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ภายหลัง UNSC มีมติดังกล่าว เลขาธิการ UN คือ Ban Ki-moon ได้แสดงความยินดีต่อข้อมติดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประชาคมโลกจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ส่วนทูตอังกฤษประจำ UN ได้กล่าวว่า ข้อมติของ UNSC แสดงให้เห็นว่า ประชาคมโลกมีความห่วงใยและไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ในลิเบีย เช่นเดียวกับทูตสหรัฐฯประจำ UN ก็ได้กล่าวว่า ข้อมติดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณไปให้ผู้นำลิเบียว่า การเข่นฆ่าประชาชนจะต้องยุติ และผู้นำลิเบียจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว


สหรัฐฯ


สำหรับปฏิกิริยาของอภิมหาอำนาจสหรัฐฯนั้น ในตอนแรก รัฐบาล Obama ลังเล ซึ่งเหมือนกับท่าทีของสหรัฐฯต่ออียิปต์ คือ รัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้ออกมาประกาศที่จะให้ Gaddafi ลงจากอำนาจ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในที่สุด รัฐบาล Obama ได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าที แข็งกร้าวกับรัฐบาล Gaddafi โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ รัฐบาล Obama ได้ประกาศปิดสถานทูตในลิเบีย และอายัดบัญชีของ Gaddafi ที่ฝากอยู่ในธนาคารสหรัฐฯทั้งหมด Obama ได้ประกาศว่า มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเข่นฆ่าประชาชน ซึ่งได้รับการประณามจากประชาคมโลก


ผลกระทบ

* เศรษฐกิจโลก

วิกฤติลิเบียในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อ เศรษฐกิจโลก และการเมืองโลก สำหรับ ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ผลกระทบหลัก คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งได้สูงขึ้นอย่างมากหลังจากเกิดวิกฤติการณ์ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก หากวิกฤติมีความยืดเยื้อและบานปลาย ลิเบียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยปกติ จะส่งน้ำมันออกวันละ 1.7 ล้านบาร์เรล แต่หลังจากเกิดวิกฤต การส่งออกก็ลดลงกว่าครึ่ง ฝ่ายกบฏทางตะวันออกได้เข้าควบคุมแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ที่ลอนดอน ขยับขึ้นไปกว่า 120 เหรียญต่อบาร์เรล และที่สหรัฐฯก็ขยับขึ้นไปเกินกว่า 100 เหรียญ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขยับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันโลก ประการแรก คือ ความกลัวว่า supply น้ำมันจะขาดแคลน ทั้งนี้เพราะลิเบียไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ปัจจัยประการที่ 2 คือ ความหวาดวิตกว่า ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งสำรองน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติหนัก ซึ่งอาจจะลุกลามบานปลายออกไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ ตูนิเซีย อียิปต์ และตอนนี้ก็มาที่ลิเบีย บาร์เรน และเยเมน มีการคาดการณ์ว่า ประเทศต่อไปที่จะเจอปัญหาวิกฤตการเมือง คือ อัลจีเรีย ซึ่งก็เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ผลกระทบของวิกฤติในโลกอาหรับ และในลิเบีย ก็มากระทบถึงประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเศรษฐกิจไทย มีความอ่อนไหวมากต่อราคาน้ำมัน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ในโลกอาหรับยืดเยื้อ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลง ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว ไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานไทยในตะวันออกกลาง จะได้รับผลกระทบในเรื่องรายได้ การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางจะลดลง และนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่จะมาไทย ก็จะลดลงด้วย

* การเมืองโลก

สำหรับผลกระทบอีกด้านหนึ่งจากวิกฤติลิเบีย คือ ผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคง และการเมืองของโลกอาหรับ ซึ่งจะกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงของโลกด้วย โดยหากสถานการณ์การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการลุกลามขยายตัวไปทั่ว ภูมิภาค จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้กับขบวนการหัวรุนแรงที่จ้องหาจังหวะเข้ายึดอำนาจรัฐ ฉวยโอกาสที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น

สถานการณ์ภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ขบวนการหัวรุนแรงฉวยโอกาสจะใช้ความ รุนแรงนั้น มีความเป็นไปได้สูงในลิเบีย ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ในลิเบียต่างจากตูนีเซียและอียิปต์ ซึ่งมีสถาบันทางทหารที่เข้มแข็ง ซึ่งแม้ผู้นำเผด็จการจะต้องลงจากอำนาจ แต่ฝ่ายทหารก็จะยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้ แต่ในกรณีของลิเบีย ตลอดเวลา 40 ปีที่ครองอำนาจ Gaddafi ได้ทำให้สถาบันทหารอ่อนแอเป็นอย่างมาก ดังนั้น หาก Gaddafi ต้องลงจากอำนาจ ก็จะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และเกิดสภาวะอนาธิปไตย ลิเบียอาจกลายเป็น failed state หรือ รัฐที่ล้มเหลว ซึ่งก็จะเหมือนกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ก่อนที่นักรบ Taliban จะเข้ายึดอำนาจ และเหมือนกับสถานการณ์ในโซมาเลีย ที่มีลักษณะเป็น failed state เหมือนกัน ซึ่งเป็นสภาวะที่ al Qaeda ชอบมาก และจะฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าวในการยึดอำนาจรัฐ สำหรับในลิเบีย กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงที่สำคัญ คือ กลุ่ม Libyan Islamic Fighting Group (LIFG) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1995 แต่ก็ได้ถูก Gaddafi ปราบปรามอย่างหนัก สมาชิก LIFG หลายคนได้หนีไปเข้ากับกลุ่ม al Qaeda ในอัฟกานิสถาน หลังจากนั้น al Qaeda กับ LIFG ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

กล่าวโดยสรุป แม้ว่า แนวโน้มในขณะนี้ จะยังไม่ถึงจุดที่กลุ่มหัวรุนแรงจะเข้ายึดอำนาจรัฐ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป โดยหาก Gaddafi ต้องลงจากอำนาจ และลิเบียต้องเข้าสู่สงครามกลางเมือง และเกิดสภาวะอนาธิปไตย กลุ่มหัวรุนแรง LIFG ก็จะสามารถมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต และคงจะฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าว ในความพยายามที่จะเข้ายึดอำนาจรัฐในที่สุด

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภัยคุกคามสหรัฐฯ ปี 2011

ภัยคุกคามสหรัฐฯ ปี 2011

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ – วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2554

ทุกๆปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเผยแพร่เอกสารการประเมินสถานการณ์ภัยคุกคาม สำหรับในปีนี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารประจำปี 2011 เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว ดังนี้

การก่อการร้าย

ในเอกสารดังกล่าว ได้ระบุว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุด โดยองค์กร Al Qaeda ยังคงเป็นอันตรายอยู่ ยังคงมีเป้าหมายที่จะก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ ในสหรัฐฯและยุโรป ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของเครือข่าย Al Qaeda ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ Al Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) และ Al-Shabaab ในโซมาเลีย ซึ่งมีแผนจะก่อวินาศกรรมหลายจุด แผนของ AQAP นั้น เน้นการโจมตีในเยเมน และซาอุดิอาระเบีย แต่ก็มีแผนที่จะโจมตีประเทศสหรัฐฯและเป้าหมายในโลกตะวันตกด้วย เช่นเดียวกับ Al-Shabaab แม้จะมีเป้าหมายหลักในโซมาเลีย แต่ก็มีแผนจะโจมตีแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้ มีองค์กร Tehrik-e-Taliban Pakistan ซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนก่อวินาศกรรมที่ Times Square นครนิวยอร์ก และสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เมือง Peshawar ในปากีสถาน ส่วนกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ คือ Al Qaeda in the land of the Islamic Maghreb และ Lashkare-e-Tayyiba

อาวุธร้ายแรง

อีกเรื่องที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯในปี 2011 คือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยมีทั้งประเทศที่พยายามจะพัฒนาอาวุธร้ายแรง รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายที่อยากจะได้อาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง

สำหรับประเทศที่สหรัฐฯหมายหัว คือ อิหร่าน โดยในเอกสารดังกล่าว ได้โจมตีอิหร่านว่า ได้ละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และประเมินว่า อิหร่านยังคงเปิดทางเลือกในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯก็ยังไม่แน่ใจว่า อิหร่านได้ตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้วหรือยัง แต่ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ อิหร่านได้เพิ่มสมรรถภาพแร่ยูเรเนียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯประเมินว่า ขณะนี้อิหร่านมีสมรรถภาพพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะสามารถพัฒนาแร่ธาตุยูเรเนียมเพียงพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังได้ส่งออกขีปนาวุธไปหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอิหร่าน และซีเรีย และได้ช่วยซีเรียในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ แต่ได้ถูกทำลายไปเมื่อปี 2007 ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทางฝ่ายเกาหลีเหนือได้ให้คณะผู้มาเยือนจากสหรัฐฯเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถภาพแร่ยูเรเนียมที่เมือง Yongbyon นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล ชื่อว่า Taepo Dong 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป สามารถยิงมาถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯได้

อัฟกานิสถาน และปากีสถาน

อีกเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งมีลักษณะเป็นสงครามกองโจร และการก่อการร้าย นำโดยนักรบ Taliban ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ต่อสหรัฐฯในปี 2011 โดยฝ่าย Taliban ได้พยายามปลุกระดมให้ชาวอัฟกานิสถานเชื่อว่า กองกำลังนานาชาติและสหรัฐฯนั้นเป็นกองกำลังที่มายึดครองประเทศ และรัฐบาล Karzai ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรม

ส่วนสถานการณ์ในปากีสถานนั้น นักรบ Taliban ร่วมกับ Al Qaeda ทำสงครามกับรัฐบาลปากีสถาน ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา กองกำลังของรัฐบาลจะปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ และยังไม่สามารถยุติการขยายวงของสงครามในปากีสถานได้

เอเชียตะวันออก

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น เอกสารประเมินภัยคุกคามประจำปีนี้ ได้เน้นไปที่เกาหลีเหนือ และจีน ในฐานะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯในภูมิภาค

สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือนั้น เป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ที่เกาหลีเหนือได้โจมตีเกาะ Yeonpyeong ของเกาหลีใต้ ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯมองว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน โดยเป็นความพยายามที่จะทำให้ทายาททางการเมืองของ Kim Jong Il คือบุตรชาย ชื่อ Kim Jong Un ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งจากฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของอำนาจยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะหาก Kim Jong Il เสียชีวิต ก่อนที่บุตรชายของเขาจะสามารถรวบอำนาจให้อยู่ในมือได้ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือได้ส่งสัญญาณว่า ต้องการกลับมาเจรจา โดยอาจเป็นเพราะต้องการลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร และต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือต้องการได้รับการยอมรับว่า มีสถานะเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประเมินภัยคุกคามในปีนี้ ได้มองจีนในแง่ลบเพิ่มมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าว ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การผงาดขึ้นมาของจีน และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีนในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ทำให้การมองจีนเปลี่ยนไป โดยหลายๆประเทศมีความไม่แน่ใจในยุทธศาสตร์ของจีน โดยเฉพาะการสนับสนุนรัฐบาลเกาหลีเหนือ และท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่น พฤติกรรมของจีนทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมีความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์กับจีน ขณะนี้ได้มีความกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมและเป้าหมายของจีน ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯได้ประเมินว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จะทำให้จีนมีพฤติกรรมที่แข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน

บทวิเคราะห์

• ในภาพรวม การประเมินภัยคุกคามของสหรัฐฯในปีนี้ เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในสมัยรัฐบาล Obama จะเห็นได้ว่า 2 ปีที่แล้ว Obama พยายามจะเปลี่ยนการมองภัยคุกคามในมุมมองใหม่ โดยเน้นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น ภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้ หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯได้กลับมามองภัยคุกคามในรูปแบบเดิม คือ การก่อการร้าย อาวุธร้ายแรง และภัยคุกคามจากจีน

• สำหรับประเด็นภัยคุกคามจากจีนนั้น เป็นแนวโน้มที่สำคัญ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯไม่เคยมองจีนในแง่ลบ เท่ากับเอกสารในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่สำคัญในปีนี้ โดยผมมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ จีน-ญี่ปุ่น และจีน-อินเดีย และจุดอันตรายอีกจุดหนึ่งที่เอกสารดังกล่าวไม่ได้พูดถึง คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

• อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยมีแนวโน้มว่า ความ
ขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะมีความยืดเยื้อต่อไป โดยยังไม่สามารถหาสูตรการเจรจาที่ลงตัวได้ ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ดังนั้น ในปีนี้ เกาหลีเหนืออาจดำเนินมาตรการเพื่อกดดัน และเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ ด้วยการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 หรืออาจทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่

• สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในปีนี้ ภูมิภาคที่ล่อแหลม คือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
โดยเฉพาะคาบสมุทรอาระเบีย อัฟริกาตะวันออก โซมาเลีย และเยเมน ในปีนี้ จะเป็นปีครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ 11 กันยา จึงมีแนวโน้มว่า Al Qaeda คงจะหาทางก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว

• สำหรับสงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถานนั้น ก็น่าเป็นห่วง ทั้งนี้เพราะนักรบ Taliban ได้
ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถาน และปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอัฟกานิสถาน ฝ่าย Taliban เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นงานยากสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความแตกแยกในพันธมิตร NATO ที่บางประเทศต้องการถอนทหารออกไป ปากีสถานก็กำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของทั้ง Al Qaeda และ Taliban ซึ่งได้ยึดครองพื้นที่ในปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ

• ส่วนเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น ก็มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ โดย
เกาหลีเหนือคงจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขายเทคโนโลยีให้กับประเทศอื่น เช่นเดียวกับอิหร่านก็คงจะเดินหน้าพัฒนาต่อ ในสิ่งที่อิหร่านเรียกว่า โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯเรียกว่า โรงงานอาวุธนิวเคลียร์