Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 1)


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 มิถุนายน 2557

               ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ โดยไทยมีปัญหาที่หมักหมมมานาน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ขณะนี้ ก็มีข้อเสนอเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ และปฏิรูปสังคม และมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่หลายคนมองข้ามไป คือ การปฏิรูปการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ และการทูตของไทย ซึ่งคอลัมน์กระบวนทรรศน์จะได้มาวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ โดยตอนที่ 1 จะวิเคราะห์สถานการณ์การต่างประเทศของไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน และในตอนต่อๆไป จะนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทยในอนาคต
               การต่างประเทศของไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน
               นับตั้งแต่สมัยโบราณ นโยบายต่างประเทศและการทูตของไทย ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความอยู่รอดของชาติ และความเจริญรุ่งเรืองของไทยมาโดยตลอด
               ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ไทยได้ดำเนินการทูตอย่างแหลมคม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับจีนโดยได้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนมาโดยตลอด ในสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตก ไทยได้ดำเนินการทูตกับตะวันตกอย่างชาญฉลาด ซึ่งการทูตก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก
               ต่อมา ในสมัยสงครามเย็น ไทยได้ใช้การทูตในการป้องกันภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยการตีสนิทและการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ซึ่งผลพลอยได้สำคัญ จากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐคือ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยก้าวกระโดด เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
               และเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประมาณปี 1990 ก็เข้าสู่ยุคทองของไทย เศรษฐกิจไทย ในยุคหลังสงครามเย็น เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 1990 ไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 13 % ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกในปีนั้น เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ถือเป็นยุคทองของไทย ไทยถูกมองว่า กำลังเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเอเชียและของโลก ไทยกำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5 และมังกรตัวใหม่ของเอเชีย เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ นโยบายต่างประเทศไทยจึงมียุทธศาสตร์หลัก ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนั้น เรามีศักยภาพพอ ที่เราจะฝันเช่นนั้น ที่จะมียุทธศาสตร์เช่นนั้น
               ทุกอย่างกำลังเดินไปได้ด้วยดี แต่พอมาถึงปี 1997 ทุกอย่างก็พังครึนลงมาหมด เมื่อไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ที่เราเรียกว่า วิกฤตปี 40 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ความฝันของไทย ที่จะเป็นผู้นำและศูนย์กลางของภูมิภาคก็ล่มสลายลง พร้อมกับการล่มสลายของเศรษฐกิจไทย
               พอมาถึงปี 2001 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นพร้อมกับการที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้โดดเข้าสู่การเมืองด้วยการตั้งพรรคไทยรักไทย โดยชูนโยบายประชานิยม และชูนโยบายชาตินิยมในด้านการต่างประเทศ พร้อมกับผลักดันความคิดริเริ่มต่างๆหลายเรื่อง ทางด้านการต่างประเทศ ซึ่งทำให้ไทยเริ่มที่จะกลับมามีบทบาททางการทูตอีกครั้งหนึ่ง แต่ความคิดริเริ่มต่างๆของรัฐบาลทักษิณ ในที่สุดก็พังหมด เพราะกลายเป็นว่า การทูตไทยในสมัยทักษิณ กลายเป็นการทูตเชิงธุรกิจ และการทูตเชิงทุจริต โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ทักษิณได้ใช้การทูตในการตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน ทักษิณได้ใช้นโยบายต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ แต่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
               แต่การทูตไทยก็ไม่ดีขึ้นเลย หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ปี 2006 ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ รัฐบาลขิงแก่ทุกอย่างก็หยุดหมด การทูตไทยก็หยุดนิ่ง ที่เราเรียกกันตอนนั้นว่า การใส่เกียร์ว่าง ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ จึงไม่มีความคิดริเริ่มในด้านนโยบายต่างประเทศใดๆ เกิดขึ้นเลย
               หลังจากนั้น หลังการเลือกตั้งปี 2007 จนถึงปัจจุบัน เราก็มีรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การเมืองไทยก็ปั่นป่วนมาโดยตลอด เกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง รัฐบาลเหล่านี้ก็ไม่มีเวลาที่จะคิดริเริ่มในเรื่องการต่างประเทศ คิดแต่ว่า จะทำอย่างไรที่จะรอดจากการถูกล้มรัฐบาล
               ดังนั้น ประเทศไทยก็หยุดอยู่กับที่ มาเป็นเวลานานนับ 10 ปีแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็หมักหมมและกลายเป็นวิกฤตหนักขึ้นเรื่อยๆ ระบบต่างๆ เริ่มจะล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคม ไทยประสบกับปัญหาต่างๆ รุมเร้ามากมาย ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาวิกฤตการเมืองที่คนไทยตีกันเอง ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ 16 ปีผ่านมาแล้ว หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ไทยก็ยังเมาหมัดอยู่ ระบบสังคมที่กำลังจะล่มสลาย ระบบการศึกษาก็ล้มเหลว ถ้าจะพูดถึงปัญหาของประเทศไทย ก็ไม่จบสิ้น เพราะมีอยู่เยอะมาก
               แต่ผลพวงของวิกฤตและปัญหาเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยตกต่ำลงไปเรื่อยๆ และมีผลอย่างยิ่งต่อการทูตและการต่างประเทศของไทย ทำให้การทูตและการต่างประเทศของไทยหยุดนิ่ง และไทยได้สูญเสียบทบาทนำในอาเซียน สูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และสูญเสียความสำคัญในสายตาประชาคมโลกและมหาอำนาจ
               แทบไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 47 ปีมาแล้ว ตอนที่ไทยริเริ่มก่อตั้งอาเซียนขึ้นมา ในตอนนั้น สถานะของไทยคือผู้นำอาเซียนอย่างชัดเจน และในตอนนั้น ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทย ก็ไม่แพ้ใครในอาเซียนเลย แต่จากการที่เราตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อับดับของไทยก็ตกลงในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอันดับความสามารถในการแข่งขัน อันดับของประเทศที่น่าลงทุน อันดับของประเทศในด้านคุณภาพการศึกษา
               และที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งคือ อันดับของไทยในด้านคุณภาพชีวิตมนุษย์ ซึ่งทาง UN ได้มีการจัดทำ
อันดับของประเทศ ในด้านคุณภาพชีวิตมนุษย์ทุกปี ที่เราเรียกว่า  Human Development Index หรือ HDI ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อันดับ HDI ของไทยอยู่ที่อันดับ 50 ของโลก ซึ่งก็ไม่เลวเลย เพราะถ้าเราดู 49 ประเทศ ที่อยู่หน้าเรา ก็เป็นประเทศร่ำรวยกันทั้งนั้น แต่ในปัจจุบัน อันดับของไทยตกจาก อันดับ 50 มาอยู่อันดับ 100 กว่าของโลก ซึ่งก็หมายความว่า มีกว่า 50 ประเทศ ที่แซงหน้าไทยไป ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของคุณภาพชีวิตมนุษย์ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำของประเทศไทยในปัจจุบัน
               สำหรับในอาเซียน 47 ปีที่แล้ว ตอนที่ไทยริเริ่มตั้งอาเซียน เราไม่เป็นรองใคร แต่ 47 ปีผ่านไป เราก็ตกอันดับไปเรื่อยๆ สิงคโปร์ก็ผงาดขึ้นมา เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอาเซียน โดยมี GDP ต่อคนต่อปี สูงถึง 60,000 เหรียญ บรูไนก็ประมาณ 30,000 เหรียญ ส่วนมาเลเซียตอนนี้แตะ 10,000 เหรียญต่อคนต่อปีไปแล้ว ในขณะที่ GDP ต่อคนต่อปีของไทย ก็แค่ 5,000 เหรียญเท่านั้น เราจึงตกมาอยู่อันดับ 4 ของอาเซียน  และถ้าหากไทยยังคงจมปลักอยู่กับวิกฤต ในอนาคต ไทยก็อาจจะตกไปอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 หรืออาจจะตกไปเป็นที่โหล่ของอาเซียนก็ได้
               และนี่ก็คือ สถานการณ์ด้านต่างประเทศของไทย ที่ตกต่ำลงไป พร้อมกับการตกต่ำของประเทศไทยในทุกๆ เรื่อง ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องพลิกฟื้นให้ประเทศไทยกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราอยากให้ลูกหลานเราอยู่ดีกว่านี้ มีชีวิตที่ดีกว่านี้ เราจะต้องรีบพลิกฟื้นประเทศไทย เรายอมรับไม่ได้ในสถานะที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งก็จะถอยหลังลงคลองไปทุกวัน
               ดังนั้น เราจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะเราจะปฏิรูปการต่างประเทศของไทยให้กลับมาโดดเด่น และช่วยให้ประเทศกลับมารุ่งเรื่องได้อย่างไร นี่คือโจทย์สำคัญ ที่ผมจะวิเคราะห์ต่อ ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า

               (โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 )

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์วันที่ 12 มิถุนายน 2557

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา Chuck Hagel รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ในระหว่างการประชุม Shangri-la Dialogue ที่สิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ประกาศยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อภูมิภาคเอเชียล่าสุด ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่มีนัยสำคัญ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               Hagel ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ด้วยกัน
               เรื่องแรกคือ ท่าทีของสหรัฐต่อปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยเน้นการแก้ปัญหาอย่างสันติ ยึดหลักเสรีภาพการเดินเรือ และต่อต้านการข่มขู่และความแข็งกร้าว
               เรื่องที่สองคือ การส่งเสริมการสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นความร่วมมือในเวทีพหุภาคี
               เรื่องที่สามคือ การให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่พันธมิตร
               และเรื่องที่สี่คือ การเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐ
               ทะเลจีนใต้
               ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ที่สหรัฐให้ความสำคัญที่สุดคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ Hagel ได้กล่าวโจมตีจีนว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ และการกระทำฝ่ายเดียวของจีน ทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพ สหรัฐต่อต้านการข่มขู่ และการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา และสหรัฐต่อต้านการที่ประเทศใดจะกีดกันเสรีภาพในการเดินเรือ สหรัฐจะไม่สามารถมองข้ามไปได้ หากหลักการพื้นฐานดังกล่าว ถูกท้าทาย
               Hagel ยังได้ตอกย้ำท่าทีของสหรัฐอย่างชัดเจนว่า สหรัฐไม่ยอมรับในการประกาศ Air Defense Identification Zone (ADIZ) ซึ่งเป็นการประกาศของจีนฝ่ายเดียว  Hagel ได้ตอกย้ำท่าทีของประธานาธิบดี Obama ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น ในเดือนเมษายนว่า เกาะ Senkaku เป็นของญี่ปุ่น และเกาะดังกล่าว อยู่ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางทหาร ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น
               ผมวิเคราะห์ว่า การที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐได้หยิบยกปัญหาทะเลจีนใต้ มาพูดเป็นเรื่องแรก ถือว่ามีนัยอย่างสำคัญยิ่ง และน่าจะเป็นครั้งแรกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวโจมตีจีนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ การที่ Obama และ Hagel ได้ตอกย้ำว่า เกาะ Senkaku เป็นของญี่ปุ่น และพร้อมที่จะปกป้องเกาะดังกล่าวนั้น ถือว่ามีนัยอย่างสำคัญยิ่ง นับเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับจีนอย่างชัดเจนมากขึ้น ผมมองว่า เป็นจุดอันตรายที่ทั้งจีนและสหรัฐกำลังเล่นไพ่เกทับกันหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา สหรัฐพยายามที่จะไล่บี้จีนในเรื่องทะเลจีนใต้มาโดยตลอด ผลก็คือ จีนก็มีปฏิกิริยาตอบโต้สหรัฐหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดจากการที่ จีนได้มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุด จีนก็เคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในเขตหมู่เกาะพาราเซล ที่เป็นกรณีพิพาทกับเวียดนาม ทำให้เหตุการณ์ลุกลามกันไปใหญ่
               ผมจึงคิดว่า ขณะนี้ปัญหาทะเลจีนใต้ กำลังเป็นจุดอันตราย และอาเซียนก็ควรที่จะมีบทบาทในการเข้าไปป้องปรามทั้งสหรัฐและจีน ไม่ให้ตอบโต้กันและกัน และจะทำให้ปัญหาปีนเกลียวหนักขึ้นเรื่อยๆ
               สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
               เรื่องที่สอง ที่สหรัฐให้ความสำคัญคือ การสนับสนุนการพัฒนาสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค การพัฒนาเวทีหรือสถาบันความร่วมมือทางด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยสหรัฐมุ่งเน้นไปที่อาเซียน ในการเป็นสถาบันหลัก ซึ่งมีความร่วมมือหลายกรอบ ทั้งอาเซียน +1 เวที EAS เวที ARF รวมทั้งการประชุม ADMM+8 เวทีต่างๆเหล่านี้ สหรัฐก็พยายามเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
               สำหรับในสุนทรพจน์ของ Hagel เน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับอาเซียน โดยเฉพาะในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการจัดการกับภัยพิบัติ  Hagel ได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนขอเสนอของสิงคโปร์ ที่เสนอให้ใช้ท่าเรือ Changi ของสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือในด้านดังกล่าว
               นอกจากนี้ Hagel ได้พูดถึงเวทีการประชุมใหม่ที่สหรัฐเป็นผู้ริเริ่มคือ U.S.-ASEAN Defense Forum เวทีหารือระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งได้จัดประชุมครั้งแรกไปเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วที่ฮาวาย
               นอกจากนี้ Hagel ยังได้บอกว่า ได้ขอให้นายพล Sam Locklear ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐ
ในมหาสมุทรแปซิฟิก ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมโดยจะเชิญผู้นำทางทหารของประเทศต่างๆในภูมิภาค มาหารือกันในด้านความร่วมมือทางด้านความมั่นคงทางทะเล
               ผมวิเคราะห์ว่า สหรัฐกำลังพยายามที่จะมีบทบาทอย่างมาก ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นการที่สหรัฐจะเข้าไปมีบทบาทในกรอบต่างๆของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น  EAS  ADMM+8 และริเริ่มจัดเวที U.S.-ASEAN Defense Forum อีกด้วย ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีนัยอย่างสำคัญยิ่ง เห็นได้ชัดว่า สหรัฐต้องการเสริมบทบาททางทหารของตน ซึ่งในอดีต เน้นระบบ Hub and Spokes ซึ่งเป็นระบบที่เน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหาร แต่ในอนาคต สหรัฐก็จะเสริมระบบ Hub and Spokes ด้วยระบบพหุภาคี
               Hub and Spokes
               สำหรับแกนหลักของยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐ ยังคงเป็น Hub and Spokes สหรัฐจะเดินหน้าต่อในการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยจะเน้นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารของพันธมิตร สำหรับประเทศอาเซียน สหรัฐเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการให้ความช่วยเหลือทางทหารกับฟิลิปปินส์ (ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยฟิลิปปินส์ ในการสกัดกั้น การขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้)
               นอกจากนี้ Hagel ได้พูดถึงความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพันธมิตรประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยสหรัฐเน้นย้ำว่า จะช่วยเสริมสร้างความสามารถทางทหารของพันธมิตรผ่านการซ้อมรบร่วม ซึ่งมีถึง 130 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนนี้ สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเรียกชื่อการซ้อมรบว่า RIMPAC โดยจะมีประเทศเข้าร่วมถึง 23 ประเทศ และมีทหารเข้าร่วมกว่า 25,000 คน
               แสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐ
               และแน่นอนว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐต่อภูมิภาคคือ การเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐในภูมิภาคให้เข้มแข็งขึ้น สหรัฐมีทหารและมีฐานทัพอยู่หลายจุดในเอเชีย โดยเฉพาะที่เกาหลี ญี่ปุ่นและเกาะกวม และขณะนี้ก็ขยายไปสู่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออเตรเลียด้วย
                Hagel ได้ตอกย้ำว่า สหรัฐจะเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของตนให้เพิ่มมากขึ้นอีก โดยเฉพาะสหรัฐก็
กำลังจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จึงจะมีการย้ายกองกำลังทหาร จากตะวันออกกลางและยุโรป มาเอเชีย
มากขึ้น โดยภายในปี 2020  60% ของกองกำลังสหรัฐจะย้ายมาอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ Hagel ได้ตอกย้ำในตอนท้ายของสุนทรพจน์ว่า การลดงบประมาณทางทหารของสหรัฐในอนาคต จะไม่กระทบต่อบทบาททางทหารของสหรัฐในภูมิภาคอย่างแน่นอน
               ผมวิเคราะห์ว่า แม้สหรัฐจะพยายามเพิ่มบทบาททางทหาร และเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารใน
ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น แต่จากการที่รัสเซียได้ผนวกไครเมีย และเกิดวิกฤตยูเครนขึ้น จึงทำให้เกมการเมืองโลกได้เปลี่ยนไปหมด โดยขณะนี้ สหรัฐและตะวันตกกำลังเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างชัดเจน ดังนั้น จากเกมในอดีต ที่สหรัฐไม่ได้สนใจรัสเซีย และมุ่งเป้ามาที่เอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะการมุ่งเป้าไปที่การปิดล้อมจีนเป็นหลัก แต่จากเกมการเมืองโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้สหรัฐกำลังเจอศึก 2 ด้านคือ ศึกด้านหนึ่งคือ การปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลทางทหารของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกัน ศึกอีกด้านหนึ่งคือ การสกัดกั้นและปิดล้อมจีนทางทหาร ดังนั้นเราคงจะต้องดูกันต่อว่า จะเป็นราคาคุยหรือไม่ ที่สหรัฐจะสามารถทุ่มเททางทหารมาที่เอเชียได้ทั้งหมด อย่างที่ Hagel ได้ประกาศไว้ในสุทรพจน์