Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

การประชุม G 20 ที่ลอนดอน: การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก

การประชุม G 20 ที่ลอนดอน: การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2552 หน้า 4

ในวันที่ 2 เมษายน จะมีการประชุมสุดยอด G 20 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้มีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว การประชุมครั้งนี้ ชาวโลกกำลังจับตามองว่า จะสามารถผลักดันมาตรการในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ และการประชุมครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดี Barack Obama จะเข้าร่วมประชุมเวทีพหุภาคี ชาวโลกกำลังหวังว่า รัฐบาล Obama อาจจะมีนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาล Bush ซึ่งอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ

การประชุม G 20 ที่ลอนดอนในครั้งนี้ คาดว่าจะมี 4 เรื่องใหญ่ที่จะหารือกันดังนี้

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เรื่องแรกที่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ในขณะนี้ ตลาดการเงินของภาคเอกชนกำลังเป็นอัมพาต ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตกต่ำลงอย่างมาก ดังนั้น มาตรการเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะต้องเป็นมาตรการกระตุ้นอัดฉีดเงินจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจโลก

ประเทศสมาชิก G 20 ได้อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยประมาณ 1.4-1.7% ของ GDP แต่จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำลงอย่างมาก หลายฝ่ายจึงได้เสนอให้การประชุม G 20 ที่ลอนดอน เพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็น 3% ของ GDP ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ด้วยเม็ดเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญในช่วงปี 2009-2010

อย่างไรก็ตาม G 20 ควรมีการประสานนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เพราะมาตรการของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถเพียงพอที่จะกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ โดยได้มีข่าวออกมาว่า ทางฝ่ายสหรัฐได้ออกมาส่งสัญญาณให้ประเทศยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น

การป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้า

เรื่องใหญ่เรื่องที่ 2 ของการประชุม G 20 ที่ลอนดอนคือ มาตรการที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้า โดยขณะนี้ เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆว่า ประเทศต่างๆจะพยายามเอาตัวรอด ด้วยการออกมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะยิ่งทำให้วิกฤติเศรษฐกิจทรุดหนักลง ดังนั้น ในการประชุม G 20 จึงควรมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายจะต้องหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า

ถึงแม้ว่าในการประชุม G 20 ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่ประชุมจะได้ตกลงกันแล้วว่า จะหลีกเลี่ยงนโยบายกีดกันทางการค้า แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า 17 ประเทศจาก 20 ประเทศ G 20 ได้ละเมิดต่อข้อตกลงดังกล่าวไปแล้ว

มาตรการกีดกันทางการค้าจะเป็นอันตรายอย่างมากต่อระบบการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ในสภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี และหากประชาคมโลกไม่สามารถหยุดยั้งแนวโน้มการปกป้องทางการค้าได้ การค้าโลกอาจจะทรุดหนักลง เหมือนในช่วงที่เลวร้ายที่สุดคือในช่วงทศวรรษ 1930

G 20 จะต้องมีมาตรการป้องกันการบิดเบือนทางการค้าในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันการนำเข้า เงินอุดหนุนการส่งออก เงินอุดหนุนภายในโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ หลายๆประเทศขณะนี้กำลังจะพยายามกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโดยการส่งออก ด้วยความพยายามลดค่าเงินและมีมาตรการบิดเบือนทางการค้าในรูปแบบต่างๆ G 20 จึงอาจจะประสานกับทาง WTO และ IMF ในการมีมาตรการลงโทษและคว่ำบาตรต่อพฤติกรรมดังกล่าว

บทบาทของ IMF

เรื่องสำคัญเรื่องที่ 3 ที่คาดว่าการประชุม G 20 ที่ลอนดอนจะหารือกัน คือความพยายามเพิ่มบทบาทให้กับ IMF ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาขณะนี้ ใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก แต่หลายๆประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการลดลงอย่างมากจากการส่งออก รวมทั้งการลดลงของเงินลงทุน และเงินทุนไหลเข้า ดังนั้น หลายๆประเทศจึงมีความต้องการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งก็คงต้องมาจาก IMF เป็นหลัก

การประชุม G 20 ในครั้งนี้ จึงอาจมีการผลักดันให้ IMF อัดฉีดเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในประเทศกำลังพัฒนา โดยให้มีการลดเงื่อนไขต่างๆลง ซึ่งในอดีต IMF ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในเรื่องเงื่อนไขการกู้เงิน ในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง คนไทยก็จำได้ดี และขมขื่นเป็นอย่างมากจากการกู้เงินจาก IMF ที่มีเงื่อนไขต่างๆมากมาย

นักเศรษฐศาสตร์อย่างเช่น Fred Bergsten ได้ประมาณการว่า ควรจะมีการเพิ่มเงินให้กับ IMF ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ โดยเงินดังกล่าวน่าจะมาจากประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาล โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศส่งออกน้ำมัน

การปฏิรูประบบการเงินโลก

เรื่องสำคัญเรื่องที่ 4 ที่การประชุม G 20 ที่ลอนดอนน่าจะหารือกัน คือเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก ที่ผ่านมา ผู้นำของทางยุโรปได้พยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี รวมทั้ง Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ที่อยากจะให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะนาย Brown ที่จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุม G 20 ในครั้งนี้ ก็ได้ผลักดันแนวคิดเรื่อง การจัดตั้งระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “Global New Deal” หรือ “Bretton Woods II” ประเด็นสำคัญที่มีการพูดกันมากก็คือ สาเหตุของวิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ มาจากการที่ระบบการเงินโลกขาดระบบการควบคุมตรวจสอบ

ผมว่าเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลกเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะมาตรการข้างต้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเพิ่มบทบาทของ IMF นั้น เป็นเพียงมาตรการการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุของวิกฤติคราวนี้คือ การขาดกลไกควบคุมระบบการเงินในระดับโลก

ดังนั้น จึงต้องมีการปฏิรูปและจัดตั้งกลไกในการควบคุมตรวจสอบระบบการเงินโลกขึ้นใหม่ นอกจากนั้น จะต้องมีการปฏิรูปสถาบันการเงินของโลกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก เรื่องใหญ่ของ IMF คือ การไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่มี veto power และครอบงำทั้ง IMF และธนาคารโลก ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรป และประธานธนาคารโลกก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด

แต่อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูประบบการเงินโลกคือ ท่าทีของสหรัฐ โดยสหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการปฏิรูป ในสมัยของ Bush ก็มีท่าทีว่า การปฏิรูปจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทุนนิยมแบบอเมริกัน เบื้องหลังท่าทีของสหรัฐคือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า และคงความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกไว้ สหรัฐมีความหวาดระแวงมากต่อข้อเสนอการปฏิรูประบบการเงินโลก ที่อาจจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในการควบคุมระบบการเงินโลกลดลง

จริงๆแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับความชอบธรรมของกลุ่ม G 20 ในการจะมาเป็นกลไกบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโลก เพราะถ้าดูให้ดีแล้ว กลุ่ม G 20 นี้ เป็นกลุ่มที่อเมริกาตั้งขึ้นมา โดยไม่ได้มีความชอบธรรมใดๆ ไม่ได้มีข้อตกลงหรือสนธิสัญญาใดๆทั้งสิ้น ประเทศที่เป็นสมาชิก G 20 ก็เป็นประเทศที่อเมริกาเลือกเข้ามาทั้งหมด ดังนั้น ในที่สุดแล้ว อเมริกายังคงครอบงำ G 20 และคำถามใหญ่คือว่า จะมีความชอบธรรมอย่างไรที่ 20 ประเทศนี้ จะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของประเทศอื่นๆอีกเกือบ 180 ประเทศ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่า เวทีและกลไกที่มีความชอบธรรมที่สุด น่าจะเป็นสหประชาชาติ Ban Ki-moon เลขาธิการ UN เคยเสนอให้มีการจัดประชุมสุดยอดเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ แต่ทางสหรัฐและตะวันตกก็ไม่เอา ดังนั้น ในที่สุดแล้ว ผมเห็นว่า จะต้องมีการปฏิรูปองค์กรและกลไกการจัดการเศรษฐกิจโลกอย่างถอนรากถอนโคน