Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สรุปสถานการณ์อาเซียนปี 2014


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเซียนในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกเป็นหัวข้อได้ดังนี้
               เอกภาพของอาเซียน
               ปีที่แล้วและปีนี้ เป็นปีของการประสานรอยร้าว ที่ในปี 2012 เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในอาเซียน ในเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ โดยกัมพูชาประธานอาเซียนในปีนั้น ไปเข้าข้างจีน ในขณะที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนามทะเลาะกับจีนในเรื่องนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อาเซียนก็ทะเลาะกันเองถึงขั้นไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ นี่คือจุดอ่อนอันยิ่งใหญ่ของอาเซียน คือความแตกแยกและการขาดเอกภาพ
               ความแตกแยกดังกล่าว มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงอาเซียน ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และจีนกับญี่ปุ่น ทำให้อาเซียนแตกแยกและวางตัวลำบาก
               ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นตัวการสำคัญทำให้อาเซียนแตกแยก เป็นเรื่องใหญ่ระหว่างจีนกับอาเซียน ในช่วงปีนี้ จีนมีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องการประกาศแสนยานุภาพของตน แต่อาเซียนกับจีนก็พยายามที่จะทำให้ความตึงเครียดลดลง ได้มีการหารือกันระหว่างอาเซียนกับจีนหลายระดับ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และระดับผู้นำ เพื่อนำไปสู่มาตรการและกลไก เพื่อการปฏิบัติตามปฏิญญาทะเลจีนใต้ หรือ DOC และกำลังเจรจาเพื่อนำไปสู่การจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct ที่เรียกย่อว่า COC
               ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC)
               ไฮไลท์ของอาเซียนในปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมสุดยอด ได้เน้นถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง APSC ภายใต้ APSC Blueprint
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การจัดตั้ง APSC ยังไม่คืบหน้าหลายเรื่อง เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่คืบหน้า AICHR ยังไม่มีประสิทธิภาพ กลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียนยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ยังเบาบางมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และภัยพิบัติ ปัญหากรณีพิพาทเรื่องพรมแดนยังมีอยู่ และความร่วมมือทางทหารก็เบาบางเช่นเดียวกัน
               ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
               ในปี 2014 นี้ อาเซียนเดินหน้าตาม AEC Blueprint ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประกาศว่าการปฏิบัติตาม AEC Blueprint เสร็จสิ้นไปถึงขั้นตอนที่ 3 ของแผนงานแล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 4  ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการจัดตั้ง AEC
               และเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นพิเศษคือ ความคืบหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง โดยมีการปฏิบัติตามแผน ASEAN Strategic Transport 2011-2015 มีความคืบหน้าในโครงการ ASEAN Single Aviation Market ข้อตกลง Open Sky โครงการ ASEAN Single Shipping Market เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง และ ASEAN Highway Network
               อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว AEC ยังมีปัญหาอีกมาก AEC ยังไม่ใช่ตลาดและฐานการผลิตเดียว ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ และประเทศสมาชิกก็ยังไม่ไว้ใจกัน ยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนนั้น ส่วนใหญ่ก็มีแต่แผน โดยเฉพาะแผนการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ อุปสรรคใหญ่คือการขาดเงินทุนที่จะมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
               ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)
               ในรอบปีที่ผ่านมา ที่ประชุมอาเซียนแสดงความยินดีต่อความคืบหน้า การจัดตั้ง ASCC ภายใต้แผน ASCC Blueprint และที่ประชุมอาเซียนก็หวังว่า จะได้มีการดำเนินงานตาม Blueprint อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
               แต่ผมมองว่า ASCC ยังมีอุปสรรคอยู่มาก ความร่วมมือในด้านต่างๆยังเบาบาง ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา สวัสดิการและสิทธิด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เรื่องใหญ่คือการขาดเงินทุน นอกจากนี้ การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ในปี 2014 ก็ดูยังไม่มีความคืบหน้า และไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน คน 600 ล้านคนในอาเซียนยังคงห่างไกลกับการที่จะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ห่างไกลจากความรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และอาเซียนก็ยังห่างไกลต่อการที่จะเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
               ประชาคมอาเซียนหลัง 2015
               เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่อาเซียนให้ความสำคัญในปีนี้คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่องใหญ่ของการประชุมคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์ กำหนดวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลัง 2015 โดยวิสัยทัศน์หลักๆคือ การปรับปรุงประชาคมอาเซียนให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น การทำให้ประชาคมอาเซียนมีประชาชนเป็นเป็นศูนย์กลาง อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และมีการกำหนดท่าทีร่วมกัน นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงกลไกและสถาบันต่างๆของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าวิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่สรุปมาจากปฏิญญาเนปิดอว์นั้น โดยรวมแล้วไม่มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆที่อาเซียนทำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าผิดหวัง และไม่ได้มองไปไกล
               วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่ควรจะเป็น จะต้องมีการแก้กฎบัตรอาเซียนให้ทันสมัย ต้องปรับปรุงกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน โดยการเพิ่มบทบาทให้กับ AICHR และพิจารณาความเป็นไปได้ของการ จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนของอาเซียน
               สำหรับวิสัยทัศน์ของ AEC หลัง 2015 นั้น AEC ควรพัฒนาไปเป็นตลาดร่วมที่สมบูรณ์แบบ โดยมีการเปิดเสรี 4 ด้าน คือ การค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ในระยะยาวของ AEC ควรพัฒนาไปสู่การเป็นสหภาพเศรษฐกิจอาเซียน โดยเน้นการหลอมรวมเศรษฐกิจของ 10 ประเทศให้เป็น 1 เดียว

               สำหรับ ASCC นั้น วิสัยทัศน์หลัง 2015 ที่จะต้องให้ ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การสร้างอัตลักษณ์ อาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และการทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็น ศูนย์กลางอย่างแท้จริง

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 ธันวาคม 2557

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานทูตเกาหลีที่กรุงเทพ ได้จัดการสัมมนาในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะสรุปสาระสำคัญของคำบรรยายของผม ในหัวข้อ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ดังนี้
               บริบท
               บริบทที่สำคัญต่อความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี คือการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาด
               ผงาดที่ 1 คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia โดยขณะนี้มีแนวโน้มชัดเจนว่า ศูนย์กลางของเศรษฐกิจของโลก จะย้ายฐานจากตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งตะวันออกนั้น จริงๆแล้วคือ เอเชียตะวันออก ซึ่งอาเซียนและเกาหลีก็เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออก
               ผงาดที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของเกาหลี (เกาหลีในบทความนี้หมายถึงเกาหลีใต้) หรือ The Rise of Korea  โดยเกาหลีใต้ได้พัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มี GDP 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก GDP ต่อหัวก็สูงถึง 28,000 เหรียญ อยู่ในอันดับ 29 ของโลก ดัชนีชีวิตคุณภาพชีวิตมนุษย์ หรือ Human Development Index (HDI) ก็อยู่อันดับที่ 15 ของโลกซึ่งสูงมาก นอกจากนี้ สินค้าเกาหลีกำลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกับวัฒนธรรมเกาหลี และเกาหลีก็เป็นสมาชิกกลุ่ม G20 อีกด้วย  
               สำหรับผงาดที่ 3 คือการผงาดขึ้นมาของอาเซียน ซึ่งขณะนี้อาเซียนได้กลายเป็นองค์การระหว่างประเทศ หรือสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาเซียนถือเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะเป็นรองก็แต่เพียงสหภาพยุโรปเท่านั้น ในปี 2015 อาเซียนก็จะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียน ก็ยิ่งจะทำให้อาเซียนมีบทบาทความสำคัญมากขึ้นไปอีก
               อาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน มี GDP รวมกัน 10 ประเทศ มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และภายในปี 2030 GDP ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยจะมีมูลค่าประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับ 5 ของโลก
               นอกจากนี้ อาเซียนกำลังจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางทางการทูตในภูมิภาค โดยอาเซียนเป็นแกนกลางของหลายกรอบคือ ASEAN +1, ASEAN +3, East Asia Summit และ ASEAN Regional Forum
               ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี
               และด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น และด้วยการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาดดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในปี 1991 เกาหลีใต้ได้มีสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ต่อมาในปี 1997 มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีขึ้น ในปี 2004 มีการจัดทำปฏิญญา Joint Declaration on Comprehensive Cooperation Partnership ในปี 2010 มีการลงนามในปฏิญญาอีกฉบับคือ Joint Declaration on ASEAN-ROK Strategic Partnership โดยได้มีการยกระดับความสัมพันธ์เป็นระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และในปีนี้จะครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี
               หัวใจของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีคือ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกัน มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2015 จะมีมูลค่า 150,000 ล้านเหรียญ ขณะนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศคู้ค่าอันดับ 5 ของอาเซียน และอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของเกาหลีใต้
               ในปี 2005 ได้มีการจัดทำกรอบความตกลง Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี
               ในด้านการลงทุน ในปี 2009 มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนโดยการลงทุนของเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงถึง 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
               นอกจากนี้ ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง ด้านการพัฒนา ด้านสังคมวัฒนธรรม ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม K-POP ของเกาหลีก็ได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน
               อาเซียนและเกาหลี นอกจากความสัมพันธ์ในระดับ ASEAN + 1 แล้ว ยังมีความร่วมมือในกรอบ ASEAN + 3 ซึ่งเกาหลีมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือ ASEAN +3 โดยเฉพาะเรื่องข้อเสนอประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มจากเกาหลีใต้  
               เกาหลีใต้และอาเซียนเป็นสมาชิกใน East Asia Summit ซึ่งก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว และอาเซียน-เกาหลีก็กำลังเจรจา FTA ในกรอบ ASEAN +6 ที่เรียกว่า Regional Comprehensive Economic Partnership  หรือ RCEP
               กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และในอนาคตมีแนวโน้มว่า ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายจะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการผงาดขึ้นมาของอาเซียนและเกาหลีคงจะมีพัฒนาการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันในความร่วมมือ ที่เป็นลักษณะของความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีสถานะระดับกลางหรือ medium power   ดังนั้น ศักยภาพและ ความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ก็จะพัฒนาต่อไปในอนาคต



               

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประชาคมอาเซียนหลัง 2015

 ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557              

              เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เรื่องใหญ่ของการประชุมคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์ กำหนดวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปสาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าว พร้อมกับเสนอข้อเสนอของผมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลัง 2015 ดังนี้
               ปฏิญญาเนปิดอว์
               ตามที่ได้กล่าวแล้ว เรื่องใหญ่ของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์กำหนดวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง 2015 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
·       วิสัยทัศน์หลัก
สำหรับวิสัยทัศน์หลักของปฏิญญาเนปิดอว์คือ
               - ปรับปรุงประชาคมอาเซียน และจะให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง และให้มีบูรณาการกันระหว่าง 3 ประชาคมย่อยของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               - อาเซียนเป็นประชาคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
               - จัดทำ ASEAN Development Goals หรือ เป้าหมายแห่งการ พัฒนาของอาเซียน
               - อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
               - อาเซียนมีการกำหนดท่าทีร่วมกัน ในประเด็นปัญหาของโลก เพื่อที่จะทำให้อาเซียนเพิ่มบทบาทของอาเซียนในประชาคมโลก
               - ปรับปรุงกลไกและสถาบันต่างๆของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน
·       ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
สำหรับวิสัยทัศน์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงในยุคหลัง 2015  เรื่องสำคัญคือ
               -  ยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และข้อตกลงอื่นๆของอาเซียน
               - ส่งเสริมเครื่องมือทางการทูตในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี และจะพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน
               - ส่งเสริมเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน เพื่อเพิ่มบทบาทของอาเซียนใน comprehensive security
               - กระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา โดยยึดหลัก ASEAN Centrality  คืออาเซียนเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์
               - ส่งเสริมบรรทัดฐานของอาเซียนโดยเฉพาะ TAC และจะส่งเสริมให้มีการจัดทำบรรทัดฐาน ของภูมิภาค โดยใช้บรรทัดฐานของอาเซียนเป็นแกน
·      ประชาคมเศรษฐกิจ
สำหรับวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจหลัง 2015 จะมีประเด็นหลักดังนี้
- AEC 2025 จะประกอบด้วย เศรษฐกิจของอาเซียนที่บูรณาการและเป็นหนึ่งเดียว อาเซียนที่มีพลวัต อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และอาเซียนที่มีบทบาทในเศรษฐกิจโลก หรือ Global ASEAN
           - มีการลดช่องว่างแห่งการพัฒนาในอาเซียน
           - มีการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการเน้นการเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน
           - อาเซียนมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
           - อาเซียนมีบทบาทในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจโลก และอาเซียนมีจุดยืนร่วมกันต่อปัญหาเศรษฐกิจโลก
ข้อเสนอวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015
               ผมมองว่า วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่สรุปมาจากปฏิญญาเนปิดอว์ข้างต้นนั้น ค่อยข้างน่าผิดหวัง เพราะโดยรวมแล้ว ก็ไม่มีอะไรใหม่ วิสัยทัศน์ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเดิมๆที่อาเซียนทำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองไปไกล นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาเนปิดอว์ ก็แทบจะไม่มีอะไรเลย
ผมจึงขอเสนอวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง 2015 เพิ่มเติมจากปฏิญญาเนปิดอว์ ดังนี้
·      SWOT analysis
               ก่อนที่จะมีการทำวิสัยทัศน์ จะต้องมีการทำวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของอาเซียน เพื่อจะสามารถระบุได้ว่า อะไรคือโอกาส อะไรคือภัยคุกคามของอาเซียน อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็งของอาเซียน ผมจึงขอเสนอให้อาเซียนจัดทำการวิเคราะห์ SWOT Analysis ก่อนการทำวิสัยทัศน์อย่างละเอียด
·      กฎบัตรอาเซียน
                              วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 จะต้องมีการแก้กฎบัตรอาเซียนให้มีความทันสมัย โดยเรื่องหลักที่จะต้องมีการแก้คือ
               - แก้ให้กฎบัตรอาเซียนเป็นกฎบัตรของประชาชนอย่างแท้จริง
               - มีมาตราใหม่ระบุกลไกของภาคประชาสังคมในอาเซียน โดยอาจจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาหรือ Concultative Council ซึ่งจะเป็นกลไกของภาคประชาชน
               - มีการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกลไกนิติบัญญัติของอาเซียน ในลักษณะสภานิติบัญญัติอาเซียน หรือ ASEAN Parliament ขึ้น
               - มีการพิจารณาจัดตั้งกลไกตุลาการของอาเซียนขึ้น ในลักษณะศาลสถิตยุติธรรมอาเซียน หรือ ASEAN Court of Justice
·      ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
               ผมมองว่า APSC หลัง 2015 เรื่องสำคัญคือ การดำเนินมาตราการต่างๆที่ปรากฏอยู่ใน APSC Blueprint ให้เสร็จสมบูรณ์
               นอกจากนี้ APSC หลัง 2015 ควรมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม
               - จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพอาเซียนขึ้น
               - ปรับปรุงกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน โดยเพิ่มบทบาทในด้านการปกป้อง (protection) ให้กับ AICHR และควรมีการบรรจุหลักการของสหประชาชาติ โดยเฉพาะหลักการ Responsibility to Protect ใน TOR ใหม่ของ AICHR ด้วย เพิ่มบทบาทให้กับเลขาธิการอาเซียนและภาคประชาสังคม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนของอาเซียน หรือ ASEAN Court of Human Rights
·      ประชาคมเศรษฐกิจ
               สำหรับวิสัยทัศน์ของ AEC หลัง 2015 นั้น ผมขอเสนอประเด็นสำคัญดังนี้
               - ให้ AEC พัฒนาไปสู่การเป็นตลาดร่วมที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง โดยมีการเปิดเสรี 4 ด้าน คือ การค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน
               - ในระยะยาว AEC ควรพัฒนาไปเป็นสหภาพเศรษกิจอาเซียน โดยเน้นการหลอมรวมเศรษฐกิจของ 10 ประเทศให้เป็น 1 เดียว โดยมีนโยบายการค้าเดียว และนโยบายเศรษฐกิจเดียว
               - มีมาตรการลดช่องว่างรวยจนในอาเซียนให้ได้ เพราะนี่คืออุปสรรคสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
               - มีการปรับทัศนคติ และสร้างอัตลักษณ์อาเซียนขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกมองประเทศสมาชิกอื่น เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่คู่แข่งทางเศรษฐกิจ อีกต่อไป
               - AEC หลัง 2015 จะต้องมีบูรณาการทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง
·      ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               และเช่นเดียวกับเสาหลักอื่น ASCC หลัง 2015 จะต้องเดินหน้าต่อในการดำเนินมาตรการต่างๆใน ASCC Blueprint ให้เสร็จสมบูรณ์
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า มี 2 เรื่องใหญ่ที่ ASCC จะต้องเน้นเป็นพิเศษในอนาคตคือ
               - การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การสร้างอัตลักษณ์ร่วม ที่จะทำให้คน 600 ล้านคน มีอัตลักษณ์ร่วมกันโดยมีความรู้สึกว่า 600 ล้านคนเป็นพวกเดียวกันอย่างแท้จริง

               - และอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องสุดท้าย ที่ผมอยากจะเน้นคือ การที่ ASCC หลัง 2015 จะต้องมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ ในการที่จะทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียน ปี 2014 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

               เมื่อเร็วๆนี้  Dr. Susan Rice, National Security Advisor  ของสหรัฐ ซึ่งคล้ายๆกับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ Brookings Institution ซึ่งเป็น Think Tank อันดับ 1 ของสหรัฐ สุนทรพจน์ดังกล่าว เป็นการพูดถึงนโยบายของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Rice ได้อ้างคำพูดของ Obama ในตอนมาเยือนมาเลเซียช่วงต้นปีนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก อิทธิพลของเอเชียเพิ่มมากขึ้น และบทบาทของเอเชียในเวทีโลกก็เพิ่มมากขึ้น แต่การผงาดขึ้นมาของเอเชียเป็นผลของการผงาดขึ้นมาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชีย
               เศรษฐกิจ
               ทางด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐ การลงทุนของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่ามากที่สุดในเอเชีย และในอนาคตเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ดังนั้น ในอนาคต อาเซียนจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐมากขึ้นไปอีก
               และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้สหรัฐผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งมี 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการเจรจาอยู่ คือ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน
               ขณะนี้สหรัฐกำลังรีบเร่งขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับอาเซียน ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐมาเยือน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
               นอกจากนี้ ผู้แทนการค้าของสหรัฐก็ได้พบปะกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่พม่า

               ความมั่นคง
               สำหรับทางด้านความมั่นคงนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยสหรัฐมีไทยและฟิลิปปินส์ที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่กันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ สหรัฐก็มีสิงคโปร์ที่เป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง
               ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Obama กับประธานาธิบดี Aquino ของฟิลิปปินส์ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐได้เพิ่มความร่วมมือกับมาเลเซียและเวียดนาม โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางทะเล
               และก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่สหรัฐและอาเซียนร่วมมือกัน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย และการแก้ไขความขัดแย้งทางทะเลในภูมิภาค
               อาเซียน
               ความร่วมมือต่างๆเหล่านี้ เกิดขึ้นจากความพยายามของสหรัฐในการกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาคโดยเฉพาะกับอาเซียน โดยได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนกับสหรัฐ มาตั้งแต่ปี 2009 และได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สหรัฐได้ส่งทูตมาประจำอาเซียนคือ Nina Hachigian               
               การปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในการจัดการทาง   ด้านภัยพิบัติ การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงานสีเขียว และความร่วมมือความมั่นคงทางทะเล
               นอกจากนี้ สหรัฐยังมีกรอบความร่วมมือ Lower Mekong Initiative ซึ่งได้เน้นความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย
               สิทธิมนุษยชน
               อีกเรื่องที่สหรัฐให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยได้เห็นความสำเร็จและความคืบหน้าในอินโดนีเซียในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ประธานาธิบดี Omaba ก็จะได้พบปะกับประธานาธิบดี Widodo ของอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้
               นอกจากนี้ สหรัฐได้เห็นความคืบหน้าทางด้านประชาธิปไตยในพม่า แต่ก็ยังมีสิ่งท้าทายหลายประการในกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า
               อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่พัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทยได้สะดุดหยุดลง แต่สหรัฐก็จะยังคงยึดมั่นในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยต่อไป แต่อย่างไรก็ดี สหรัฐต้องการเห็นไทยกลับคืนสู่การมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
               สรุปวิเคราะห์
               และนั่นก็คือสุนทรพจน์ของ Dr.Susan Rice ที่ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคอาเซียน โดยได้เน้นถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Rice ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่เป็นแนวยุทธศาสตร์และ นโยบายมาตรฐานของสหรัฐต่ออาเซียน สุนทรพจน์เน้นการใช้คำหวาน ภาษาทางการทูต และภาษาดอกไม้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของสุนทรพจน์ของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐ
               แต่ยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐนั้น Rice ไม่ได้พูดออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่นโยบาย  ต่างประเทศมักจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่มากมาย  ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐที่ไม่ได้ประกาศออกมาคือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน หรือการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนทางทหาร การแข่งกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียน และยุทธศาสตร์การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียน และนี่ก็คือเหตุผลที่จะเป็นคำอธิบายสำคัญที่จะมาตอบคำถามว่า ทำไมสหรัฐต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และทำไมสหรัฐจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอาเซียนด้วย