Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554 (ตอนที่ 2)

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 14-วันพฤหัสฯที่ 20 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เรื่องสำคัญๆในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ไปแล้ว ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เรื่องอื่นๆ ที่สำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

การก่อการร้าย

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ สถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชีย ที่น่าห่วงที่สุด คือ สถานการณ์ในเอเชียใต้ คือ ใน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน รองลงมา คือ ใน เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเรื่องอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ผมจะแยกเป็นหัวข้ออีกเรื่องต่างหาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับอินเดีย ในปีนี้ ก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการก่อการร้ายทางตอนเหนือ และทางตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเมืองใหญ่ๆของอินเดีย เช่น นิวเดลี และมุมไบ ก็น่าเป็นห่วง ที่อาจจะมีการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้น สำหรับในเอเชียกลาง มีขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรงที่ต้องการโค่นรัฐบาลสายกลาง โดยเฉพาะใน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย มีอยู่ ใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในกรณีของอินโดนีเซียนั้น รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง แนวโน้มการก่อการร้าย จึงน่าจะลดลง แต่คงยังไม่หมดไป สำหรับในฟิลิปปินส์ ได้มีความพยายามจากหลายๆประเทศร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับในกรณีของไทย สถานการณ์การก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ยังคงมีการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ไปแล้วกว่า 4,000 คน มีความห่วงกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ อาจจะเข้ามามีความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน รวมทั้งยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทย กับเครือข่ายก่อการร้ายในภูมิภาค โดยเฉพาะกับกลุ่ม Jemaah Islamiyah หรือ JI

ผมมองว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในภูมิภาคในปีนี้ คงจะลุกลามบานปลายต่อไป ไม่จบง่ายๆ

การแข่งขันการสะสมอาวุธ

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในภูมิภาค ในปีนี้ คือ แนวโน้มการแข่งขันกันสะสมอาวุธ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันกันสะสมอาวุธและซื้ออาวุธ มีดังนี้
• อินโดนีเซีย ซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซีย จำนวน 6 ลำ มูลค่า 300 ล้านเหรียญ
• ไทย ซื้อรถยานเกราะจากยูเครน จำนวน 96 คัน มูลค่า 125 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ยังได้ซื้อเครื่องบินรบจากสวีเดน มูลค่า 574 ล้านเหรียญ ซึ่งจะส่งมอบในปีนี้
• สิงคโปร์ ได้ซื้อเรือดำน้ำจากสวีเดนเพิ่มเติมอีก 2 ลำ มูลค่า 128 ล้านเหรียญ
• มาเลเซีย ซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสและสเปน มูลค่าถึง 1,000 ล้านเหรียญ
• เวียดนาม ซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซีย จำนวน 6 ลำ มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญ และซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียจำนวน 12 ลำ มูลค่า 1000 ล้านเหรียญ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ เพิ่มขึ้นถึง 84 % สิงคโปร์
เพิ่มขึ้น 146 % และมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 722 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก การสั่งซื้ออาวุธส่วนใหญ่ เป็น เครื่องบิน เรือรบ และเรือดำน้ำ และขณะนี้ สิงคโปร์ติด 10 อันดับแรกประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่ในโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ กำลังหวาดวิตกเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือของตน

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสะสมอาวุธ ปัจจัยแรก น่าจะเป็นเพราะ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความหวาดระแวงต่อกันและกันสูง โดยเฉพาะทางด้านการทหาร และปัจจัยที่ 2 น่าจะมาจากการผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของจีน และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ คงจะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มสะสมอาวุธ เพื่อถ่วงดุลทางทหารกับจีน

ในปีนี้ แนวโน้มของการแข่งขันกันสะสมอาวุธ อาจจะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้คงไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค

การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคที่ผมวิเคราะห์มา ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวร้าย แต่เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะวิเคราะห์ น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเอเชีย นั่นคือ แนวโน้มการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งในปีนี้ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย น่าจะโดดเด่นมากขึ้น ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของเอเชีย ได้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาสู่เอเชีย โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของอินเดีย และจีน ทำให้เอเชียโดดเด่นมาก ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรมต่างๆ ปีนี้ เราจะเห็นประเทศต่างๆในเอเชีย มีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ใน G20 ก็มีประเทศในเอเชียหลายประเทศเป็นสมาชิกอยู่ สำหรับ IMF และ ธนาคารโลก ปีที่แล้ว ทางตะวันตกก็ต้องยอมจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงให้กับประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น

ปีที่แล้ว เอเชียประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ และความสำเร็จนั้น น่าจะทอดยาวมาถึงปีนี้ โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย สูงถึง 8.4% ซึ่งสูงกว่าตะวันตกที่มีอัตราเฉลี่ย 2.1% นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในของจีน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชีย และ เอเชียก็กำลังเดินหน้าการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อตกลงทางด้านการค้า และการลงทุนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เอเชีย ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง คือ ความหวาดระแวงกันทางด้านการทหาร ทำให้หลายๆประเทศในเอเชีย เริ่มหวาดระแวงการผงาดขึ้นมาของจีน และหันไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลจีน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิกฤติการเงินหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาค่าเงิน แนวโน้ม คือ ประเทศต่างๆในเอเชีย คงจะมีการแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น นโยบายปั๊มเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ รวมทั้งวิกฤตการเงินในยุโรป จะส่งผลกระทบต่อเอเชีย ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มของนโยบายการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุน หรือ capital control เพื่อป้องกันการไหลทะลักของเงินทุนตะวันตก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก