Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ลงใน ไทยโพสตร์
วันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2552

สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำ หัวหิน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ได้มีการหารือกันคือ ข้อเสนอในเรื่องสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (regional architecture) โดยญี่ปุ่นได้เสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก และออสเตรเลียได้เสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค แต่ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียง 2 ตัวแบบเท่านั้น จริง ๆ แล้วมีตัวแบบสำหรับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคอีกมากมาย ซึ่งเท่าที่ผมลองนับดู มีถึง 12 ตัวแบบ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ตัวแบบต่าง ๆ เหล่านี้ และจะเสนอว่าตัวแบบใดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด

1.ตัวแบบ 1 ขั้วอำนาจ

ตัวแบบนี้เน้นการที่สหรัฐฯเน้นการครองความเป็นเจ้า ถึงสหรัฐฯจะไม่ได้อยู่ในภูมิภาคโดยตรง แต่ก็เป็นประเทศที่มีบทบาท โดยเฉพาะด้านการทหารและความมั่นคงมากที่สุดในเอเชีย โดยระบบที่อเมริกาใช้อยู่เรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือ ดุมล้อ และมีประเทศพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ ในปัจจุบัน ระบบ hub and spokes ยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่ในระยะยาว ในขณะที่จีนและอินเดียกำลังผงาดขึ้นมา ตัวแบบระบบ 1 ขั้วอำนาจกำลังจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และจะถูกแทนที่ด้วยระบบหลายขั้วอำนาจ ตัวแบบที่ 1 คงจะไม่ใช้ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย เพราะหากไทยเลือกได้ เราน่าจะเลือกตัวแบบเวทีพหุภาคีที่ไทยจะมีบทบาทมากขึ้น

2. ตัวแบบหลายขั้วอำนาจ หรือ ตัวแบบดุลแห่งอำนาจ

ตัวแบบนี้จะมีลักษณะถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย อย่างไรก็ตาม ระบบหลายขั้วอำนาจนี้จะมีมหาอำนาจเป็นตัวแสดงหลัก แต่ไทยไม่ใช่มหาอำนาจ เพราะฉะนั้น ตัวแบบนี้จึงไม่ใช่ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

3. ตัวแบบ Condominiums of power

ตัวแบบนี้หมายความว่า จะมี 2 ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดมาร่วมมือกัน จัดการเรื่องต่าง ๆ ในภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งในแง่ของเอเชียคือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งคงจะเป็นได้ยาก และคงจะไม่ใช่ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

4. ตัวแบบ Concert of Asia

แนวคิด Concert of Asia เน้นการที่มหาอำนาจในภูมิภาคมาร่วมมือกัน ล่าสุด มีแนวคิดเรื่อง G8 of Asia ซึ่งเป็นแนวคิดของนักวิชาการอินโดนีเชีย ที่เสนอให้มีความร่วมมือกันระหว่างมหาอำนาจ 8 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และ สหรัฐฯ แนวคิดนี้จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและคงจะไม่ใช่ตัวแบบที่ไทยควรจะสนับสนุน เพราะสมาชิก G8 of Asia คือ มหาอำนาจ 8 ประเทศ แต่จะไม่มีอาเซียนและไม่มีไทย

5. ตัวแบบ ACD

ตัวแบบที่เหลืออีก 8 ตัวแบบ จะเป็นตัวแบบเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ในภูมิภาค
สำหรับตัวแบบ ACD หรือ Asia Cooperation Dialogue เป็นเวทีที่รัฐบาลทักษิณได้จัดตั้ง ขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2002 โดยจะเป็นเวทีหารือของประเทศในเอเชีย ทั้งทวีป อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ บทบาทของ ACD ได้ลดลงไปมาก ทั้งนี้ เพราะว่าเวที ACD เป็นเวทีที่ใหญ่เกินไป ทวีปเอเชียมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก จึงเป็นการยากมากที่จะพัฒนา ACD ให้ขยายต่อไปได้ ผมดูแล้ว จึงเป็นความยากลำบากมากที่ ACD จะกลายเป็นสถาปัตยกรรมหลักในภูมิภาค ตัวแบบนี้ จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

6. ตัวแบบ APEC

เวทีพหุภาคีอีกเวทีหนึ่งที่สำคัญในภูมิภาคคือ เวที APEC อย่างไรก็ตาม APEC ก็เหมือนกับ ACD คือเป็นเวทีที่ใหญ่เกินไป สมาชิกมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก นำไปสู่การขาดอัตลักษณ์ร่วมที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งประชาคมในภูมิภาค นอกจากนี้ APEC ยังถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ จึงทำให้ประเทศต่าง ๆในเอเชียถอยห่างจาก APEC มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลัง ๆ APEC ก็ไม่สามารถมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอะไรได้เลย ดังนั้น APEC จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่ไทยควรจะผลักดัน

7. ตัวแบบ APC หรือ Asia-Pacific Community

ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค หรือ Asia-Pacific Community (APC)
เป็นข้อเสนอของออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียคนปัจจุบัน คือ Kevin Rudd ได้พยายามผลักดันข้อเสนอ APC อย่างเต็มที่ ล่าสุด ก็ได้มาผลักดันที่เวทีการประชุมสุดยอดที่ชะอำ-หัวหิน โดย Rudd อ้างว่า ยังไม่มีองค์กรในภูมิภาคที่จะครอบคลุมประเด็นปัญหาในทุกเรื่อง แต่ปัญหาใหญ่ของ APC คือ การขาดอัตลักษณ์ร่วมเหมือน APEC วาระซ่อนเร้นของออสเตรเลียในการผลักดัน APC คือ การที่ออสเตรเลียและตะวันตกจะใช้ APC เป็นตัวกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีประเทศตะวันตก ซึ่งหากเอเชียรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการครองการความเป็นเจ้าของสหรัฐฯและตะวันตก โดยขณะนี้ตะวันตกซึ่งมีออสเตรเลียและสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย กำลังหวาดวิตกต่อการรวมตัวของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งไม่มีสหรัฐฯและออสเตรเลีย ดังนั้น APC จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่เป็นประโยชน์สำหรับไทย


8. ตัวแบบ อาเซียน

เวทีพหุภาคีที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งคือ อาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ขณะนี้ อาเซียนกำลังรวมตัวกันอย่างเข็มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยกำลังจะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 แต่ข้อจำกัดของอาเซียนคือ อาเซียนเป็นเพียงองค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น และประกอบด้วยประเทศเล็ก ๆ เพียง 10 ประเทศ ดังนั้น ถึงแม้อาเซียนจะเป็นประโยชน์ต่อไทย แต่อาเซียนก็ไม่สามารถจะพัฒนาไปเป็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดได้ และนั่นก็คือ เหตุผลที่ทำไมอาเซียนต้องขยายวงออกไปเป็น อาเซียน +3 และ อาเซียน +6

9. ตัวแบบ อาเซียน +1

สำหรับกรอบอาเซียน + 1 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจต่างๆ อาทิ อาเซียน – สหรัฐฯ, อาเซียน – จีน, และอาเซียน – ญี่ปุ่น ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนที่จะพัฒนาอาเซียน +1 ให้เป็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคคือ การดำเนินยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีอาเซียนเป็น hub และมีประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เป็น spokes อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของอาเซียน +1 คือ ไม่สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมในภูมิภาคได้

10. ตัวแบบ อาเซียน +3

อาเซียน +3 เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาเซียน +3 มีศักยภาพอย่างมากที่จะพัฒนาไปเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยในอดีตได้มีข้อเสนอที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ กรอบอาเซียน +3 เริ่มแผ่วลง สาเหตุสำคัญมาจากการที่ประเทศอาเซียนบางประเทศ และญี่ปุ่น เริ่มหวาดระแวงว่า จีน จะครอบงำอาเซียน +3 บวกกับการที่สหรัฐฯ เริ่มออกมาคัดค้านกรอบอาเซียน +3 มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่นเริ่มถอย และเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับกรอบอาเซียน +6 มากขึ้น

11. ตัวแบบ อาเซียน +6 หรือ East Asia Summit (EAS)

ตัวแบบ EAS มีลักษณะเป็นอาเซียน +6 นอกจากจะมีประเทศอาเซียน +3 แล้ว ยังมีอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพิ่มเข้ามา จะเห็นได้ว่า ในการประชุมอาเซียนในระยะหลัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต และการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ชะอำ – หัวหิน เห็นได้ชัดว่า อาเซียน +3 ถูกลดความสำคัญลง แต่อาเซียน +6 กลับได้รับความสำคัญมากขึ้นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คือ Hatoyama ก็พยายามผลักดันให้ EAS พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งข้อเสนอของญี่ปุ่น ก็แตกต่างจากแนวคิดของอาเซียนที่มีมาแต่แรก โดยจุดยืนของอาเซียน คือ พัฒนาอาเซียน +3 ไม่ใช่อาเซียน +6 ให้วิวัฒนาการไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก

ผมมองว่า ไทยต้องระมัดระวังในเรื่องพัฒนาการของ EAS เพราะ EAS เป็นเหมือนดาบสองคม ข้อดีของ EAS คือ เป็นเวทีดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาถ่วงดุลจีน แต่ข้อเสียของ EAS คือ EAS ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมได้ เพราะสมาชิก EAS ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ดังนั้น หากไทยให้ความสำคัญกับ EAS มากเกินไป EAS ก็อาจจะกลายเป็น Trojan horse และเป็นตัวการทำลายกระบวนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุด


12. ตัวแบบ ASEAN Regional Forum หรือ ARF


ตัวแบบสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านความมั่นคง ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ แต่ปัจจุบัน ARF พัฒนาไปอย่างช้ามาก
ข้อเสนอตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย
จากที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น ผมอยากจะสรุปว่า ตัวแบบสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่ดีที่สุดสำหรับไทย คือ ตัวแบบที่จะมีอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม โดยรวมเอาตัวแบบที่ 8-12 สรุปได้ด้วยภาพข้างล่าง

ASEAN
ASEAN+1
ASEAN+3
(East Asia Community)
ASEAN+6
(East Asia Summit: EAS)


ASEAN Regional Forum

ยุทธศาสตร์หลักของไทยคือ วงในสุดทำให้ความร่วมมืออาเซียนเข้มข้นด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบโดยเร็ว สำหรับวงต่อมา คือ อาเซียน +1 ไทยควรผลักดันยุทธศาสตร์ hub and spokes วงที่สามคือ อาเซียน +3 ซึ่งไทยควรผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้นว่า อาเซียน +3 กับ อาเซียน +6 กำลังเกิดการซ้ำซ้อน ดังนั้น ทางออกของไทยคือ การดำเนินยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือ พัฒนาอาเซียน +3 คู่ขนานไปกับอาเซียน +6 หรือ EAS โดยในอนาคตหากสหรัฐฯ จะเข้ามาเป็นสมาชิกใน EAS ไทยก็คงจะไม่สามารถทัดทานได้ แต่ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การใช้ EAS ในการถ่วงดุลจีนและลดกระแสการต่อต้านจากสหรัฐฯ แต่ไม่ควรไปไกลกว่านั้น ไทยไม่ควรสนับสนุนให้ EAS พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ไทยต้องไม่ให้ความสำคัญต่อ EAS เหนือ ASEAN + 3 สำหรับวงนอกสุด คือ ARF ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การพัฒนา ARF ขึ้นมาเป็นตัวกันการเกิดขึ้นของ APC โดยไทยน่าจะผลักดันให้ ARF พัฒนาไปเป็นเวทีหารือในทุก ๆ เรื่อง และยกระดับขึ้นเป็นการประชุมสุดยอด

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15

ลงใน ไทยโพสต์
วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2552

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15

ในช่วงวันที่ 23 -25 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่หัวหิน จากเอกสารของกระทรวงต่างประเทศระบุว่า ไทยจะผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะมีปฏิญญาความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซียน ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในกรอบอาเซียน +6 และความร่วมมือด้านอาหารและพลังงานในกรอบอาเซียน +3 โดยหากไทยสามารถจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วยความเรียบร้อย จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่นานาประเทศมีต่อไทย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า เนื้อหาการประชุมครั้งนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่โดดเด่น ดูมีลักษณะเป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นการเก็บตกเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่ไทยจะหมดวาระการเป็นประธานอาเซียน แต่ผมเห็นว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน ไทยจึงน่าจะมีนโยบายในเชิงรุก ผลักดันความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของอาเซียนให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ผมจึงอยากจะเสนอว่า ในการประชุมครั้งนี้ ไทยควรจะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง ไทยควรจะทำอย่างไร จึงจะพลิกบทบาทกลับมาเป็นผู้นำทางความคิดของอาเซียนได้อีก

ประเด็นหลัก คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งอันนี้ก็เป็นสโลแกนที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันอยู่ แต่ในความคิดของผม ผมคิดว่า มันยังไม่เป็น อาเซียนยังไม่เป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง แล้วมีเรื่องอะไรบ้าง ที่ทำให้อาเซียนยังไม่เป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง แล้วไทยควรจะผลักดันในการประชุมที่หัวหิน

เรื่องที่หนึ่ง คือเรื่องกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน อาเซียนมีอายุมา 42 ปี แต่อาเซียนไม่เคยพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้อาเซียนถูกมอง ดูถูกดูหมิ่นจากประชาคมโลกว่า เราเป็นองค์กร เราเป็นสมาคมอะไรกัน ที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งๆที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล สหประชาชาติก็พูดเรื่องนี้มาตั้งหกสิบปีมาแล้ว แต่อาเซียนไม่เคยพูด อาเซียนไม่เคยมีกลไกนี้ เพราะฉะนั้น ในกฎบัตรอาเซียน ในมาตรา 14 ระบุว่า จะต้องมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้นมา และหลังจากนั้น มีการร่าง TOR หรือบทบาทหน้าที่ของกลไกนี้ ก็เพิ่งจะมาร่างกันเสร็จในตอนประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ปัญหาคือว่า เมื่อดูใน TOR แล้ว จะเห็นได้ว่า กลไกนี้ (ซึ่งมีชื่อว่า ASEAN Inter-Governmental Commission on Human Right หรือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน) จะเห็นได้ว่ากลไกตัวนี้ไม่มีเขี้ยวเล็บ เป็นเสือกระดาษ เพราะว่ากลไกนี้ มีบทบาทเฉพาะเรื่อง promotion คือส่งเสริม แต่ไม่มีบทบาทเรื่องปกป้อง หรือ protection หมายความว่า ถ้ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมา กลไกนี้หรือคณะกรรมาธิการชุดนี้ ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการขึ้นในการประชุมสุดยอดที่หัวหิน จะไม่มีบทบาทในการรับเรื่องร้องทุกข์ ไม่มีบทบาทในการไต่สวนว่า มีการละเมิดจริงหรือไม่ และไม่มีบทบาทในการเสนอมาตรการ ที่จะหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน นี่เป็นจุดอ่อน ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน

แต่ว่าทุกเรื่อง ก็เหมือนเหรียญสองด้าน ถ้าเป็นทางรัฐบาล ก็จะบอกว่า okay เรามาได้แค่นี้ ก็ถือว่าดีแล้ว ถือว่าเป็นก้าวแรก ต่อไป เราก็จะค่อยๆพัฒนาไปให้มันดีขึ้น ก็ว่ากันไป แต่สำหรับผม ผมคิดว่า ก้าวแรก เรามีแล้ว แต่ก้าวต่อไป เราจะต้องรีบเดินหน้าครับ คือ จะต้องทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนมีเขี้ยวเล็บ แต่ปัญหาคือ มีการระบุอยู่ใน TOR ว่า จะมีการทบทวน TOR ทุกๆ 5 ปี ซึ่งมันนานเกินไป 5 ปีจะแก้กันที เราจะต้องรออะไรกันอีก 5 ปี เราถึงจะสามารถแก้หรือปรับบทบาทของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้
เรื่องที่สอง ที่ผมอยากจะฝาก อยากจะให้รัฐบาลไทย ช่วยผลักดันในการประชุมสุดยอด คือ เรื่องกฎบัตรอาเซียน ในตอนแรก ในตอนที่มีการร่าง เราก็หวังว่า จะเป็นเอกสารสำคัญ เป็นเอกสารที่เป็นblueprint เป็น roadmap ของความร่วมมืออาเซียนในอนาคต จะเป็นเอกสารที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล กว้างไกล แต่ในที่สุด เมื่อมีการร่างกันเสร็จ ลงนามกันไปแล้ว ให้สัตยาบันกันไปแล้ว ประกาศใช้กันไปแล้ว จะเห็นว่า กฎบัตรนี้มีจุดอ่อนอยู่หลายจุด คือ


· ยังมีการยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก
· ไม่มีกลไกภาคประชาชนในกฎบัตรอาเซียนเลย เรากำลังจะบอกว่า จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่จะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร ในเมื่อกฎบัตรไม่มีกลไกให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทเลย นี่เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ซึ่งมันต่างกับกฎบัตร UN กฎบัตรUN ร่างเมื่อปี 1945 แต่ผมกลับมองว่า กฎบัตร UN มีวิสัยทัศน์ยาวไกกว่ากฎบัตรอาเซียนซะอีก ผมจำได้ว่า ในกฎบัตร UN มีมาตราหนึ่ง มีการกำหนดไว้เลยว่า จะต้องให้ NGO เข้ามามีบทบาท NGO จะต้องมีสถานะที่เรียกว่า Consultative Status กับ UN แต่ว่าสถานะของภาคประชาสังคมอาเซียนนั้น ไม่มีเลย
· นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในมาตรา 20 ของกฎบัตร ที่ยังคงยืนหยัดหลักการตัดสินใจ
ของอาเซียนที่ยึดหลักของฉันทามติ จริงๆแล้ว อาเซียนควรที่จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ ในบางเรื่อง ควรจะลงคะแนนเสียง เอาเสียงข้างมากเป็นหลัก ถ้าใช้ฉันทามติเรื่อยไป หมายความว่าอย่างไร ฉันทามติคืออะไร ฉันทามติคือถ้า 9 ประเทศเอา 1 ประเทศไม่เอา ก็คือ ไม่เอา นี่คือฉันทามติ หมายความว่า ถ้า 9 ประเทศเอา พม่าไม่เอา ก็คือไม่เอา นี่คือฉันทามติ เพราะฉะนั้น พม่ามี veto power อยู่ตลอด พม่าเป็นตัวฉุดอาเซียน ตัวถ่วงอาเซียนมาโดยตลอด เพราะพม่า veto มาตลอด เพราะฉะนั้น เราควรที่จะเปลี่ยนหลักฉันทามติ ในบางเรื่อง ต้องให้ลงคะแนนเสียง เสียงข้างมากเป็นหลัก
· นอกจากนี้แล้ว กฎบัตรอาเซียนยังไม่มีกลไกหรือมาตรการ ถ้ามีการละเมิดกฎบัตร
ถ้ามีการละเมิดข้อตกลงอาเซียนแล้ว ว่าเราจะทำอย่างไร ไม่มีมาตรการลงโทษการละเมิด
นี่คือจุดอ่อนของกฎบัตร ซึ่งต้องมีการแก้ ต้องมีการผลักดันให้มีการแก้กฎบัตร
และไทยควรจะมีความกล้าหาญพอที่เราจะผลักดัน ที่เราจะบอกว่า ให้มีการแก้กฎบัตรให้มีความสมบูรณ์มากกว่านี้


เรื่องที่สามคือ เรื่องของประชาคมอาเซียน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ยังมีปัญหาในเรื่องความขัดแย้งกัน ปัญหาเขาพระวิหารก็ยังมีอยู่ ประเทศอาเซียนยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ยุทธศาสตร์ทหารของประเทศอาเซียน ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เราเตรียมพร้อมที่จะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ายังเป็นแบบนี้กันอยู่ ประชาคมอาเซียนก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือถ้าเกิดขึ้น ก็จะเป็นประชาคมแบบปลอมๆ ไม่ใช่ประชาคมที่แท้จริง ประชาคมที่แท้จริงจะต้องอยู่ด้วยความรักกัน ไม่หวาดระแวงกัน ไม่ได้พร้อมที่จะมารบกัน
นี่คือจุดอ่อนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ไทยจะต้องผลักดันประเด็นเหล่านี้ : จะต้องแก้ความขัดแย้ง ลดความหวาดระแวงกัน จะต้องให้มีความไว้วางใจกัน และจะต้องมีความร่วมมือด้านการทหารมากขึ้น เป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่า 40 ปีของอาเซียน ไม่เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียนเลย เพิ่งจะมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งแรก เมื่อปี 2006 นี้เอง หมายความว่าเราไม่เคยมีความร่วมมือด้านทหารกันเลย ก็เพราะว่า เรายังหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ต่อหน้าเราก็บอกว่าร่วมมือกัน ลับหลัง เราก็หวาดระแวงกัน


ส่วนเรื่องประชาคมเศรษฐกิจ เรื่องใหญ่คือ เราบอกว่า ปี 2015 จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมา เรากำลังจะมีตลาดร่วมอาเซียน แต่ถามว่า ตลาดร่วมคืออะไร ตลาดร่วมจริงๆหมายถึงต้องมี 4 เสรีคือ เสรีการค้า เสรีการบริการ เสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสรีในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน ถามว่า อาเซียนพร้อมแล้วหรือ ที่จะมี 4 เสรีนี้ คำตอบก็คือ เราไม่พร้อม อย่างเก่ง เราก็ได้ 2 ตัวแรก คือ เสรีการค้าและเสรีการบริการ ส่วนเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ก็ยังไม่พร้อม เสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ก็ไม่พร้อม เพราฉะนั้นในปี 2015 เราก็ยังจะไม่มีตลาดร่วมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ เราจะมีตลาดร่วมแบบปลอมๆ คือเรามีแค่ 2 เสรี
ดังนั้น ไทยควรที่จะต้องมีบทบาทนำ ถึงแม้ในครั้งนี้อาจจะไม่ทันในฐานะที่เป็นประธาน แต่ไม่จำเป็นครับ เราไม่เป็นประธาน เราก็ผลักดันได้ ปีหน้าเวียดนามเป็นประธาน ไทยก็ยังเป็นสมาชิกอาเซียนอยู่ เราก็ยังผลักดันในเรื่องต่างๆเหล่านี้ได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำ คือไทยต้องผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง

สำหรับ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เรื่องใหญ่คือ เรื่องอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน เรื่องใหญ่คือ อาเซียนยังไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และประชาชนยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน นี่คือปัญหาใหญ่ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น ไทยจะต้องพยายามหาวิถีทางและเป็นผู้นำในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน ผลักดันในเรื่องของการที่จะให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมของอาเซียนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ประเด็นหลักอีกเรื่องที่ไทยควรผลักดันในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
โดยสำหรับกรอบอาเซียน +1 นั้น ไทยควรผลักดันให้อาเซียนดำเนินยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีอาเซียนเป็น hub หรือ เป็นดุมล้อ และประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ และยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจคือ อาเซียนจะต้องสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ ความสัมพันธ์ยังไม่สมดุล โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร อาเซียนจึงน่าจะผลักดันให้มีการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ครั้งแรกขึ้น และจัดทำ FTA สหรัฐฯ กับอาเซียน
สำหรับกรอบอาเซียน +3 ไทยควรผลักดันให้อาเซียนยังคงเป็นแกนหลักของอาเซียน +3 และผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกให้เกิดขึ้นโดยเร็ว


สำหรับกรอบอาเซียน +6 หรือ เวที East Asia Summit (EAS) นั้น ไทยจะต้องให้อาเซียนระมัดระวังสำหรับพัฒนาการของ EAS เพราะ EAS นั้นเป็นเหมือนดาบสองคม ในแง่หนึ่ง ข้อดีของ EAS คือ จะเป็นเวทีที่ดึงมหาอำนาจอื่นเข้ามาถ่วงดุลจีน แต่ข้อเสียของ EAS คือ EAS ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมได้เพราะสมาชิกของ EAS ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ดังนั้น หากอาเซียนให้ความสำคัญกับ EAS มากเกินไป EAS อาจจะกลายเป็นตัวการทำลายกระบวนการในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุด