Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 3 ) : grand strategy

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2557)

              ในอดีต นโยบายต่างประเทศและการทูตของไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดของชาติ และความเจริญรุ่งเรืองของไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การต่างประเทศของไทยก็ตกต่ำลงอย่างมาก พร้อมๆกับการตกต่ำของประเทศไทยในทุกๆเรื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
               สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาคือ การขาด grand strategy หรือยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท การต่างประเทศไทย ทำให้เราขาดนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก ขาดการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ จึงทำให้การทูตและการต่างประเทศไทยหยุดนิ่ง ทำให้ไทยสูญเสียบทบาทนำในอาเซียน สูญเสียการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และสูญเสียความสำคัญในสายตาประชาคมโลกและมหาอำนาจ
·       grand strategy
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ด้วยการจัดทำ grand strategy ทางด้านนโยบายต่างประเทศ โดยจะต้องมีการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ เป็นภาพรวมและภาพกว้าง ต้องมีการผลักดันยุทธศาสตร์และนโยบายในเชิงรุก คือจะต้องมียุทธศาสตร์สำหรับบทบาทของไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน จะต้องมีนโยบายในเชิงรุก ในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับมหาอำนาจ และภูมิภาคอื่นๆด้วย
·       การทูตเชิงสุจริต
grand strategy ของไทยจะต้องมุ่งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต คือจะต้องไม่เป็น “การทูตเชิงธุรกิจ” หรือ “การทูตเชิงทุจริต” แต่การทูตในยุคใหม่ของไทย จะต้องเป็น “การทูตเชิงสุจริต” ที่เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งเน้นหลักธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย
·       นโยบายทางสายกลาง
grand strategy ของไทย จะต้องมีลักษณะสมดุล เน้นนโยบายทางสายกลาง คือต้องไม่มีนโยบายแบบสุดโต่ง อย่างเช่นในบางสมัย รัฐบาลมีนโยบายสุดโต่ง มีลักษณะ “โลภมาก” ทำหลายเรื่องมากเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นลักษณะแบบหยุดนิ่งแบบสุดโต่ง เหมือนในสมัยที่ผ่านมา นโยบายสายกลางยังหมายถึง การมียุทธศาสตร์การสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ ไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเกินไป นโยบายสายกลางยังหมายถึง การสร้างสมดุลระหว่างการเป็นพลเมืองโลกที่ดีกับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย
·       ศูนย์กลางของภูมิภาค
grand strategy ของไทย จะต้องเน้นจุดแข็งของไทย คือผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็น hub ของประชาคมอาเซียนและของภูมิภาค ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมระหว่างประเทศอาเซียนจึงต้องผ่านไทยทั้งหมด ไทยคือสี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพในการเป็น hub ของประชาคมอาเซียน
·       ประเทศผู้ประสานงาน (coordinator)
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยคือ เราสามารถเข้ากับใครก็ได้ ไทยจึงสามารถที่จะมีบทบาทเด่นในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกได้ ในฐานะเป็นตัวกลางประสานงานหรือที่เรียกว่า coordinator ทั้งในฐานะตัวกลางประสานความร่วมมือ และเป็นตัวกลางประสานรอยร้าวและตัวกลางประสานจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น ไทยควรเล่นบทบาทเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน
·      multi-track strategy
        ยุทธศาสตร์ใหญ่อีกประการคือ ไทยควรจะดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์หลายช่องทาง หรือ multi-track strategy  คือการดำเนินนโยบายระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีไปพร้อมๆกัน โดยจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของระดับต่างๆ และประสานให้นโยบายในระดับต่างๆ เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และมีเอกภาพบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน
·       พลเมืองโลกและเพื่อนบ้านที่ดี
ไทยควรมียุทธศาสตร์เน้นการเป็นพลเมืองโลกที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย ตัวอย่างเช่น ไทยอาจเล่นบทบาทที่โดดเด่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นพลเมืองโลกที่ดี แต่เราก็ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ฉะนั้นความพอดี จุดสมดุลอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่ไทยจะต้องหาจุดสมดุลดังกล่าวให้ได้


·      global network
ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างเครือข่ายในระดับโลก (global network) โดยการผลักดันให้ คนไทย ได้เข้าไปมีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีตำแหน่งในระดับสูง ในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ เลขาธิการสหประชาชาติ หรือผู้อำนวยการใหญ่ WTO
·      กลไกนโยบายต่างประเทศ
เราจะต้องมีการปฏิรูปกลไกนโยบายต่างประเทศของไทย ให้มีความเป็นธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องการประสานงาน การซ้ำซ้อน และการขาดประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ จุดอ่อนสำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยคือ การขาด think tank คลังสมองหรือสถาบันวิจัย ที่จะเป็นกลไกในการช่วยรัฐบาล ศึกษาค้นคว้า เสนอแนะ แนวนโยบายต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น สหรัฐ ก็จะเห็นได้ว่า เราขาดตรงนี้เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา ไทยก็ใช้วิธีคิดในใจใช้ไหวพริบ และสัญชาติญาณในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยในลักษณะนี้ จึงขาดข้อมูลในเชิงลึกและขาดการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้นโยบายต่างประเทศไทยเป็นผลผลิตทางความคิดของคนเพียงไม่กี่คน
·      ยุทธศาสตร์ “สนต้องลม”
ในอดีต การทูตไทยมีลักษณะเด่นคือ เป็นนโยบายที่ฝรั่งเรียกว่า bending with the wind หรือนโยบาย “สนลู่ลม” โดยไทยมักจะมีไหวพริบดีในการอ่านทิศทางลม แล้วลู่ตามลมตามมหาอำนาจในยุคสมัยต่างๆ เช่นในสมัยล่าอาณานิคม เราก็ลู่ตามลมอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้เรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ลู่ตามลมญี่ปุ่น สมัยสงครามเย็นเราก็ลู่ตามลมสหรัฐ แต่การที่เรามีนโยบาย “สนลู่ลม” มาโดยตลอด ทำให้ไทยถูกมองว่า ไม่มีหลักการ และเก่งแต่การเอาตัวรอด ซึ่งนโยบายดังกล่าว มีประโยชน์ต่อไทยในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมองไทยอย่างไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ นโยบาย “สนลู่ลม” ทำให้ไทยเน้นการพึ่งพิงมหาอำนาจมากเกินไป จนเป็นความเคยชินทางการทูต ที่เราจะต้องรีบวิ่งเข้าหามหาอำนาจ ตีสนิทกับดาวรุ่งดวงใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ไทยในอนาคต น่าจะปรับเปลี่ยนจาก “สนลู่ลม” มาเป็น “สนต้องลม” เสียมากกว่า
·      แกนหลักของกลุ่มประเทศพุทธ
จุดเด่นอีกจุดที่เราอาจจะมองข้ามไปคือ ไทยสามารถที่จะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยจำเป็นต้องมีพวก มีกลุ่ม นอกจากอาเซียนแล้ว ไทยก็ไม่มีแนวร่วมธรรมชาติในเวทีระหว่างประเทศเลย ฉะนั้น แนวร่วมหนึ่งที่ไทยจะต้องพัฒนาคือ แนวร่วมของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีไทยเป็นแกนหลัก
·      ยุทธศาสตร์ต่อประเทศและเวทีต่างๆ
และแน่นอน grand strategy ของไทย ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งต่อเวทีพหุภาคีต่างๆ โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคตคือ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจเก่า (สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น) นั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะไทยเข้ากับมหาอำนาจได้ดีอยู่แล้ว ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เรามีปัญหามาโดยตลอด แต่โจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคตคือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจใหม่ อาทิ บราซิล อินเดีย ตุรกี นอกจากนี้ นโยบาย “ตีสองหน้า” ของไทยที่พยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและสหรัฐนั้น ก็กำลังจะเล่นยากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ไทยปฏิเสธที่จะเลือกข้าง แต่ในอนาคต หากจีนกับสหรัฐขัดแย้งกันหนักขึ้น ไทยจะถูกบีบให้ต้องเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นยุทธศาสตร์ไทยในอนาคต จะต้องมีการกำหนดแนวทางและมาตรการ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ดังกล่าว
สำหรับบทบาทไทยในเวทีพหุภาคีนั้น อาเซียนจะต้องเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ในเวทีพหุภาคีของไทย โดยจะต้องมีการพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน สำหรับบทบาทไทยในเวทีโลกนั้น ที่ผ่านมา ไทยแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย ดังนั้น grand strategy เป้าหมายระยะยาวคือ ไทยจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก อาทิ ในสหประชาชาติ WTO IMF และธนาคารโลก เป็นต้น รวมทั้งพยายามเข้าไปเป็นสมาชิกในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งก็จะสอดรับกับเป้าหมายระยะยาวของไทยที่จะยกระดับให้ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่
·      branding Thailand
สุดท้าย grand strategy ของไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในอดีต ไทยมีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกหลายด้าน เป็นสยามเมืองยิ้ม ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และไมตรีจิตของคนไทย เป็นฐานการผลิตที่น่าลงทุน รวมทั้งสินค้า made in Thailand          
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศก็เปลี่ยนจากบวกเป็น
ลบมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนจากสยามเมืองยิ้ม เป็นสงครามกลางเมือง และความรุนแรง ภาพลักษณ์ของประเทศก็เสียหายอย่างหนัก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นับเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้าง brand Thailand เป็นอย่างยิ่ง
               ดังนั้น grand strategy ด้านการต่างประเทศของไทย จะต้องมียุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
ของไทย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า branding Thailand โดยจะต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ในการกอบกู้ภาพลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และทัศนคติที่ดีของไทยในสายตาประเทศต่างๆทั่วโลก

(โปรดติดตามอ่านต่อ “ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 4 )” ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2557)

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 2 )

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 

             ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า ขณะนี้กำลังมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่งที่หลายคนมองข้าม คือการปฏิรูปการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ และการทูตของไทย โดยในตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์การต่างประเทศของไทย จากอดีตที่เคยรุ่งเรือง มาสู่ยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่การต่างประเทศของไทยตกต่ำลงอย่างมาก พร้อมๆกับการตกต่ำลงของประเทศไทยในทุกๆเรื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูป และพลิกฟื้นประเทศไทย ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
               ดังนั้น คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ว่า เราจะมาปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะเราจะปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ให้กลับมาโดดเด่น และช่วยให้ประเทศกลับมารุ่งเรืองได้อย่างไร
               ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
               คำตอบของผมคือ เราจะต้องปฏิรูปการต่างประเทศในหลายด้าน แต่ขณะนี้ ลำดับความสำคัญสูงสุดคือ การปฏิรูปยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย
               ประเด็นสำคัญคือ อาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทย ซึ่งมีอยู่หลายด้าน ดังนี้
               ด้านการค้า อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย 25 % ของการค้าไทย เป็นการค้ากับอาเซียน
               ด้านภาคบริการ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ การให้บริการทางการแพทย์ และการศึกษา ภาคบริการเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น hub และนับวันจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนมากขึ้น
               ด้านการลงทุน  ไทยจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า มีแรงงาน มีวัตถุดิบ ซึ่งที่ผ่านมา คือการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
               ด้านแรงงาน ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการแก้ปัญหาของเราคือ การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือจากประเทศสมาชิกอาเซียน
               หากเอา GDP ของประเทศสมาชิก 10 ประเทศมารวมกัน จะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนจึงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และในปี 2030 อาเซียนอาจจะมีขนาดเศรษฐกิจ
ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก อาเซียนจึงกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการเป็นสมาชิกอาเซียน
               นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นเวทีทางการทูตและองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค และอาเซียนก็เป็นการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะเป็นรองก็แต่เพียงสหภาพยุโรปเท่านั้น ไทยเป็นประเทศเล็ก เราจะเสียเปรียบอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง
               และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญต่ออาเซียน และจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อม และยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
               แต่ปัญหาใหญ่ของไทยคือ ขณะนี้เรายังไม่มียุทธศาสตร์ชาติ ยังไม่มีแผนแม่บทในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไทยจึงยังไม่พร้อม และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เรากำลังจะพลาดโอกาสทอง ในการใช้อาเซียนมาเป็นตัวช่วยในการพลิกฟื้นประเทศไทย
               ในขณะที่ไทยควรจะเดินหน้าและมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ไทยกลับล้มลุกคลุกคลาน และประสบกับวิกฤติต่างๆมากมาย ทำให้ไทยอ่อนแอลงอย่างมาก จนไม่สามารถมีบทบาทนำในอาเซียนได้ ประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ จากที่เราเคยเป็นผู้นำอาเซียน อันดับหนึ่งของอาเซียน ตอนนี้เราก็ตกมาอยู่อับดับ 4 ของอาเซียน และก็อาจจะตกอันดับลงไปเรื่อยๆ
               ผมมองว่า การเตรียมความพร้อมและการมียุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย จะเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
               ดังนั้น วาระแห่งชาติในขณะนี้คือ ปฏิรูปการเตรียมความพร้อมของไทย และรีบกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยโดยเร็วที่สุด เราเหลือเวลาไม่มากแล้ว คือในวันที่ 31 ธันวาคมปีหน้า เราก็จะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว
               จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องนี้คือ การทำ SWOT analysis คือ การวิเคราะห์ผลกระทบประชาคมอาเซียนต่อไทย และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของไทยในประชาคมอาเซียน
               จุดอ่อนของไทยคือ ความอ่อนแอและความตกต่ำของไทยในทุกๆด้าน และคนไทยก็ยังไม่พร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ไทยก็มีจุดแข็งหลายประการในอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการเป็น hub ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรมของอาเซียน
               ยุทธศาสตร์ของไทยคือ เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อรองรับผลกระทบในเชิงบวก ยุทธศาสตร์ในเชิงรับ หรือมาตรการการรองรับ สำหรับผลกระทบในเชิงลบ ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้จุดอ่อนของประเทศ และยุทธศาสตร์ในการใช้จุดแข็งของไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศในประชาคมอาเซียน
               วิสัยทัศน์ของไทยต่อประชาคมอาเซียนคือ การเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน
               โดยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น เป้าหมายหลักคือ ไทยจะเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนในอาเซียน มีบทบาทนำในการพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้ง และการจัดการปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
               สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น เป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการของอาเซียน
               สินค้าที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ และมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมากขึ้น ที่โดดเด่นคือ สินค้าอาหารและยานยนต์ ไทยอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกในการส่งออกสินค้าอาหาร ไทยจึงมีศักยภาพที่จะเป็น hub ของสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังเป็น hub ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนด้วย
               สำหรับด้านการท่องเที่ยว ไทยก็มีความโดดเด่นมากโดยติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยก็ยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ของภูมิภาค หรือที่เราเรียกว่า medical hub
               ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมระหว่างประเทศอาเซียน จึงต้องผ่านไทยทั้งหมด ไทยคือ สี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพในการเป็น hub ของกาคมนาคมขนส่งของอาเซียน รวมทั้งทางด้านโลจิสติกส์
               สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสูประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น มีเป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษาของอาเซียน มีบทบาทนำในด้านสวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาสและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทางด้านการสร้างอัตลักษณ์ด้านอาเซียน และการเป็น hub ของการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของอาเซียนด้วย
               สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของคนไทย เป้าหมายหลักคือ การทำให้คนไทยทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน มีความพร้อม ทั้งในด้านทักษะ สมรรถนะ และทัศนคติ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

               (โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 3 เกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 )