ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐปี 2010 – 2014 : ผลกระทบต่อโลก
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 4
ทุกๆ 4 ปี กระทรวงกลาโหมสหรัฐ จะจัดทำรายงานยุทธศาสตร์ทหาร สำหรับในช่วง 4 ปีข้างหน้า และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 นี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ทหารล่าสุด ประจำปี 2010 – 2014 เอกสารดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Quadrennial Defense Review (QDR) คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐในอนาคต และผลกระทบต่อโลกดังนี้
สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
เอกสารดังกล่าวได้เริ่มด้วยการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกวิเคราะห์ สภาวะแวดล้อมปัจจุบัน และส่วนที่สอง วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต
สำหรับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันนั้น เอกสาร QDR ระบุว่า สหรัฐยังเป็นประเทศที่ยังมีสงครามอยู่ และผลของสงครามนี้ จะกำหนดสภาวะแวดล้อมความมั่นคงโลกในอนาคต โดยกระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญมากที่สุดสำหรับชัยชนะต่อสงครามนี้
สงครามดังกล่าวคือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งในขณะนี้ สมรภูมิหลักอยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน สหรัฐและพันธมิตร กำลังเพิ่มบทบาทในการช่วยรัฐบาลทั้งสองเพื่อเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะ Al-Qaeda ภายในปี 2010 สหรัฐจะเพิ่มทหารเป็นถึง 1 แสนคนในสมรภูมิอัฟกานิสถาน เพื่อเอาชนะ Al-Qaeda และตาลีบัน
สำหรับในสมรภูมิปากีสถานนั้น เชื่อมโยงกับสงครามในอัฟกานิสถาน สหรัฐจะช่วยเหลือปากีสถานในการเอาชนะผู้ก่อการร้าย
แม้ว่าสมรภูมิหลักจะอยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน แต่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะกับกลุ่ม Al-Qaeda แพร่ขยายไปทั่วโลก โดยกลุ่มก่อการร้ายได้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐและพันธมิตร
สำหรับสภาวะแวดล้อมในอนาคตนั้น เอกสาร QDR ได้วิเคราะห์ว่า ดุลแห่งอำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองโลก กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการแพร่กระจายของอำนาจโดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อระบบโลกในอนาคต แม้ว่าสหรัฐจะยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุด แต่สหรัฐก็จะต้องร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่สำคัญคือ มหาอำนาจใหม่จะบูรณาการเข้ากับระบบโลกอย่างไร
แนวโน้มอีกประการคือ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจะมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ โลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการในเรื่องของการแพร่กระจายของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทมากขึ้น
แนวโน้มที่สหรัฐเป็นห่วงมากที่สุด คือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง หลายประเทศพยายามจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กลุ่มก่อการร้ายก็พยายามจะมีอาวุธร้ายแรง และแนวโน้มที่อันตรายที่สุดคือ การที่รัฐที่มีอาวุธร้ายแรงล่มสลาย ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และพัฒนาไปสู่วิกฤติการณ์ความมั่นคงโลก ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ
แนวโน้มสุดท้าย คือ ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่จะมีสาเหตุมาจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ความต้องการพลังงาน ภาวะโลกร้อน การแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมทั้งความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม
ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐ
จากการประเมินสภาวะแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น เอกสาร QDR ได้กำหนดยุทธศาสตร์สหรัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยมี 3 ยุทธศาสตร์หลัก
· ยุทธศาสตร์การชนะสงคราม
ยุทธศาสตร์ทหารที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องชนะสงคราม ซึ่งตามที่ได้กล่าวข้างต้น สงครามขณะนี้ คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่รบกับ Al-Qaeda และตาลีบัน ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งจะมียุทธศาสตร์ย่อยดังนี้
- โต้กลับการรุกคืบของตาลีบันโดยใช้กำลังทหารสหรัฐร่วมกับ NATO
- ปฏิเสธไม่ให้ตาลีบันเข้ายึดครองเมืองและเขตเศรษฐกิจ
- รุกคืบเข้าไปในเขตรอบนอกที่ตาลีบันยึดครองอยู่ และป้องกันไม่ให้ Al-Qaeda กลับมาตั้งแหล่งซ่องสุมใหม่ในอัฟกานิสถาน
- ทำให้สมรรถภาพของตาลีบันลดลงในระดับที่กองกำลังของอัฟกานิสถานจะจัดการได้ โดยตั้งเป้าไว้ภายในเดือนกรกฎาคม 2011
การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีการเพิ่มกำลังทหารเข้าไป โดยจะมีการเพิ่มกำลังทหารให้ได้ประมาณ 1 แสนคน
· ยุทธศาสตร์ป้องกันและป้องปรามความขัดแย้ง
ยุทธศาสตร์นี้จะป้องกันสหรัฐจากการถูกโจมตี และป้องปรามศัตรู ส่งเสริมความมั่นคงในระดับภูมิภาค และการเข้าถึงเขตสากล (global commons อาทิ อวกาศ น่านน้ำสากล ขั้วโลกใต้) โดยจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือพันธมิตรในการส่งเสริมสมรรถภาพทางทหาร แต่เอกสาร QDR เน้นว่า อำนาจอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐจะยังเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์การป้องกันและการป้องปราม โดยสหรัฐจะยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องปรามการโจมตีสหรัฐและพันธมิตร นอกจากนี้ สหรัฐจะช่วยเหลือพันธมิตร ด้วยการจัดตั้งระบบป้องปรามในระดับภูมิภาค ด้วยการคงกองกำลังทหารสหรัฐ ระบบป้องกันขีปนาวุธ และระบบป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์
· ยุทธศาสตร์การชนะสงครามในรูปแบบใหม่ๆ
ถ้าการป้องปรามล้มเหลวและศัตรูข่มขู่หรือใช้กำลัง สหรัฐก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งในอนาคตที่จะมีความหลากหลาย ซึ่งรวมถึง
- การเอาชนะกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะ Al-Qaeda และพันธมิตร
- การเอาชนะการรุกรานจากรัฐศัตรู
- การป้องกันอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ศัตรูที่ไม่ใช่รัฐมีอาวุธร้ายแรง
- ช่วยเหลือรัฐที่อ่อนแอในการเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย
- เตรียมพร้อมทำสงครามในอินเตอร์เน็ต
บทวิเคราะห์
· ภาพรวม : เมื่อผมอ่านยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐ ฉบับล่าสุดปี 2010 นี้ ก็มีความรู้สึกว่า นโยบายทหารของรัฐบาล Obama ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจากรัฐบาล Bush ยุทธศาสตร์ทหารที่ได้สรุปมาเห็นได้ชัดว่า มีแนวคิดแบบสัจนิยมสายเหยี่ยวไม่ต่างจากรัฐบาล Bush นับเป็นความน่าผิดหวังอย่างยิ่งต่อนโยบายทหารของรัฐบาล Obama เพราะนับตั้งแต่ Obama ได้เข้ามาเป็นประธานาธิบดี และ 1 ปีที่ผ่านมา Obama พยายามที่จะฉายภาพลักษณ์ว่า เขากำลังจะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศสหรัฐใหม่ และโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือ ที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น เป็นแนวเสรีนิยมและอุดมคตินิยม ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ผมได้เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่า แนวนโยบายอุดมคตินิยมคงจะประสบปัญหาแน่ ทั้งนี้ เพราะธรรมชาติของการเมืองโลกนั้น สวนทางกับแนวคิดของ Obama คือในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เป็นโลกแห่งสัจนิยมที่มองโลกในแง่ร้าย และมักจะมองประเทศอื่นว่า เป็นศัตรู การเมืองโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้ง และผมว่า ขณะนี้ Obama คงไม่สามารถหลีกหนีตรรกะของการเมืองโลกไปได้ จากนโยบายทหารล่าสุดชี้ให้เห็นว่า Obama กำลังจะมีแนวคิดเป็นสัจนิยมมากขึ้นทุกที ผมมองว่า โดยภาพรวมแล้ว ยุทธศาสตร์ทหารล่าสุดปี 2010 นี้ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐกำลังจะกลับมามีแนวนโยบายสายเหยี่ยวอีกครั้ง ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อโลกในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
· จากเอกสาร QDR ฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐยังคงมองภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือ ขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง และมองว่าอัฟกานิสถานและปากีสถานเป็นสมรภูมิที่สำคัญที่สุดที่ต้องเอาชนะให้ได้ แต่ผมมองว่า ตราบใดที่อเมริกายังคงมุ่งใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาคงลุกลามบานปลายไม่จบ มีแนวโน้มว่าการก่อการร้ายจะลุกลามขยายตัว โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมน และโซมาเลีย และสงครามอัฟกานิสถานถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของสหรัฐ เป็นการบ้านชิ้นยากที่สุดของ Obama การที่กระทรวงกลาโหมจะเพิ่มกำลังทหารเป็น 1 แสนคนนั้น ถือเป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมาก เพราะไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย คือถ้าเป็นแบบอิรัก ก็อาจจะประสบชัยชนะ แต่ก็ไม่รู้จะซ้ำรอยสงครามเวียดนามหรือไม่ และสำหรับสมรภูมิปากีสถาน ก็หนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน การสู้รบกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ และนักรบตาลีบันได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ในปากีสถาน ซึ่งสิ่งที่อเมริกาห่วงที่สุดคือ การที่อาวุธนิวเคลียร์จะตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย
· เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐล่าสุด แทบจะไม่มีการระบุชื่อประเทศที่สหรัฐมองว่าเป็นศัตรู ทั้งนี้ อาจเป็นความพยายามของรัฐบาล Obama ที่จะลดดีกรีของความเป็นสายเหยี่ยวลงเมื่อเทียบกับรัฐบาล Bush แต่ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศ แต่อเมริกาก็มีชื่อประเทศอยู่ในใจคือ มีวาระซ่อนเร้นอยู่มาก ตัวอย่างเช่น จีน ซึ่งเอกสาร QDR อาจไม่ได้ระบุว่าเป็นศัตรู แต่ลึกๆแล้ว ทหารสหรัฐยังมองว่าจีนเป็นศัตรู และวาระซ่อนเร้นคือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร ซึ่งยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนนั้น ก็ไม่ได้มีการระบุในเอกสาร QDR อย่างเปิดเผย ผมมองว่า มีวาระซ่อนเร้นหรือยุทธศาสตร์ที่ไม่เปิดเผยอีกหลายเรื่อง รวมทั้งยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซีย ก็ไม่ได้เปิดเผยออกมา
· อีกเรื่องที่ดูขัดกันมาก คือก่อนหน้านี้ Obama ประกาศอย่างสวยหรูว่าจะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยุทธศาสตร์ทหารล่าสุดของสหรัฐกลับเน้นว่า อาวุธนิวเคลียร์จะยังคงเป็นแกนหลักของพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐต่อไป
· สุดท้าย ไทยก็อาจจะได้อานิสงค์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐปี 2010 นี้ เน้นหลายครั้งเหลือเกินว่า สหรัฐจะต้องร่วมมือกับพันธมิตร โดยสหรัฐคงจะรู้ตัวดีว่า ในระยะยาว อำนาจของสหรัฐคงจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จึงต้องสร้างแนวร่วมและพันธมิตรทางทหารเพิ่มขึ้น และไทยก็เผอิญเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค ดังนั้น แนวโน้มคือสหรัฐน่าจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือทางทหารในอนาคต