Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิกฤติอียิปต์ : ผลกระทบต่อโลก

วิกฤติอียิปต์ : ผลกระทบต่อโลก

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11-วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล Mubarak กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยจะเน้นวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและผลกระทบต่อการเมืองโลก โดยเฉพาะต่อตะวันออกกลาง ดังนี้

แนวโน้ม

สำหรับเหตุการณ์การเดินขบวนประท้วงนั้น เป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งผมคงจะไม่กล่าวซ้ำ แต่อยากจะวิเคราะห์ข้ามไปถึงแนวโน้มในอนาคต สถานการณ์ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยอาจจะมีความเป็นไปได้หลายทางด้วยกัน

ความเป็นไปได้ที่ 1 คือ การที่รัฐบาล Mubarak คงจะอยู่ต่อไป แต่มีแนวโน้มว่า Mubarak คงจะอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน ทางฝ่ายทหารคงจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่

ความเป็นไปได้ที่ 2 คือ การที่ฝ่ายผู้ชุมนุมบีบให้มีการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ คนจากทางฝ่ายค้านอาจจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะเป็น ElBaradei

ส่วนความเป็นไปได้ที่ 3 คือ การเลือกตั้งจะนำไปสู่การที่อียิปต์จะมีรัฐบาลที่มีอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง โดยเฉพาะการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่ม Muslim Brotherhood

ซึ่งแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การที่ฝ่ายทหารจะครองอำนาจต่อไป แต่จะมีการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยังคงหวั่นวิตกถึงความเป็นไปได้ที่ 3 ที่อียิปต์จะกลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง

ผลกระทบ

ดังนั้น ผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเมืองอียิปต์ในอนาคต คือหากฝ่ายทหารยังคงกุมอำนาจได้ต่อไป นโยบายต่างประเทศของอียิปต์ก็จะไม่เปลี่ยน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก แต่หากฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงได้เป็นรัฐบาล ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยผู้เล่นที่สำคัญ เช่น อิหร่าน จะได้แนวร่วมในการเป็นรัฐบาลต่อต้านตะวันตกและสหรัฐฯ แต่สำหรับสหรัฐฯ อียิปต์ที่กลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง จะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในภูมิภาค อียิปต์นั้น ถือเป็นศูนย์กลางของโลกอาหรับ ในอดีต ในสมัยประธานาธิบดี Sadat การที่เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนพันธมิตรจากสหภาพโซเวียต มาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้ช่วยเสริมบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาคเป็นอย่างมาก อียิปต์ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯมาโดยตลอด ดังนั้น ในอนาคต หากอียิปต์จะเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกับอิสราเอล ซึ่งได้มีสนธิสัญญาสันติภาพกับอียิปต์ การที่คาบสมุทรซีนาย เป็นคาบสมุทรปลอดทหาร ทำให้อิสราเอลมีความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาก หากในอนาคต อียิปต์จะกลายเป็นรัฐบาลหัวรุนแรง และฉีกข้อตกลง Camp David ก็จะถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่ออิสราเอล

สหรัฐฯ

ด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น นโยบายของรัฐบาล Obama ในช่วงเกิดวิกฤติ คือ การสนับสนุนรัฐบาล Mubarak
นโยบายของสหรัฐฯต่ออียิปต์และในตะวันออกกลาง คือ ความพยายามจะทำ 2 สิ่ง คือ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสร้างเสถียรภาพ แต่ตราบใดก็ตาม ถ้าเป้าหมายทั้งสองขัดแย้งกัน สหรัฐฯก็จะเลือกเสถียรภาพมาก่อนประชาธิปไตย

ดังนั้น ในช่วงวิกฤติอียิปต์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาล Obama พยายามรักษาเสถียรภาพมากกว่าประชาธิปไตย โดยรัฐบาล Obama หวั่นวิตกถึงแนวโน้มที่อียิปต์จะถูกปกครองด้วยกลุ่มหัวรุนแรง นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงสัญญาณที่สหรัฐฯจะส่งออกไปในภูมิภาค หากสหรัฐฯสนับสนุนผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯส่วนใหญ่ก็เป็นเผด็จการ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน เยเมน และ อัลจีเรีย ประเทศเหล่านี้อาจจะทบทวนการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯได้ ถึงขนาดผู้นำอาหรับบางคนได้กล่าวว่า Obama นั้นได้แทง Mubarak ข้างหลัง คือมองว่า สหรัฐฯหักหลังพันธมิตรของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาล Obama ค่อยๆเปลี่ยนท่าที จากในตอนต้น ยกย่องรัฐบาล Mubarak ว่ามีเสถียรภาพ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นการเสนอให้มีการปฏิรูป และในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Obama ก็ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างมีระเบียบ (orderly transition) และล่าสุดได้บอกว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะต้องเริ่มในทันที

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ยังวิตกกังวลว่าในอนาคต หากอียิปต์กลายเป็นรัฐบาลหัวรุนแรง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ต่อปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะทำให้ดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะจะเป็นหายนะต่อสหรัฐฯ หากอียิปต์จะไปเป็นแนวร่วมในการต่อต้านสหรัฐฯ ร่วมกับอิหร่าน และซีเรีย นอกจากนี้ สหรัฐฯยังกลัวว่า พันธมิตรอื่นๆ อย่างเช่น จอร์แดน โมร็อกโก ซาอุดิอาระเบีย อาจจะกลายเป็นเหมือนเช่นอียิปต์

อิสราเอล

ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวข้างต้นหนักที่สุด น่าจะเป็นอิสราเอล อิสราเอลขณะนี้มีศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Hezbollah ในเลบานอน Hamas ในกาซา ดังนั้น หากอียิปต์จะมาเป็นศัตรูกับอิสราเอล ก็จะเป็นฝันร้ายของประเทศ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล Benjamin Netanyahu ถึงกับกล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในอียิปต์ว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอียิปต์ อาจจะเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอิหร่าน คือการผงาดขึ้นมาของรัฐบาลมุสลิมหัวรุนแรง

สิ่งที่อิสราเอลต้องการ คือ เสถียรภาพในภูมิภาค ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อียิปต์ภายใต้รัฐบาล Mubarak ถือได้ว่าเป็นประเทศอาหรับที่ใกล้ชิดกับอิสราเอลมากที่สุด อียิปต์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลในปี 1979 ดังนั้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลก็ไม่ต้องเป็นห่วงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางใต้ แต่วิกฤติการณ์ในอียิปต์ในครั้งนี้ ทำให้อิสราเอลกลัวว่า อียิปต์จะกลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง ภายใต้การนำของ Muslim Brotherhood ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Hamas อิสราเอลยังกลัวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ จะทำให้ภูมิภาคเกิดความวุ่นวาย โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจลุกลามสู่ประเทศอาหรับอื่นๆ อาทิ จอร์แดน และเยเมน

อิหร่าน

สำหรับอิหร่านก็กำลังจ้องมอง และฉวยโอกาสจากวิกฤติอียิปต์ในครั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอียิปต์ แต่อิหร่านก็พยายามฉวยโอกาสในความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์ในครั้งนี้ โดยผู้นำศาสนาของอิหร่าน Ayatollah Khatami ประกาศยินดีกับการลุกฮือขึ้นของประชาชนในอียิปต์ โดยมองว่า การลุกฮือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การจัดตั้งรัฐอิสลาม ซึ่งก็เหมือนกับการลุกฮือขึ้นของชาวอิหร่าน ในการโค่นล้มรัฐบาล Shah ในปี 1979 โดย website ของอิหร่าน ได้โจมตี Mubarak ว่าเป็นรัฐบาล Zionist และยินดีที่การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาค อิหร่านมองว่า ตนคือผู้นำของตะวันออกกลาง และมองว่า รัฐบาล Mubarak ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลแห่งอำนาจในภูมิภาค และอิหร่านก็หวังจะได้ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ อิหร่านก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่ม Muslim Brotherhood โดยผ่านทาง Hamas ซึ่งใกล้ชิดกับอิหร่าน

กล่าวโดยสรุป วิกฤติอียิปต์ในครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูกันต่อ ถึงแนวโน้ม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเมืองโลกในอนาคต