Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2554

เมื่อช่วงวันที่ 16-17 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ Lombok อินโดนีเซีย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย

ปี 2011 อินโดนีเซียรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนต่อจากเวียดนาม โดยตามกฎบัตรอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 16-17 มกราคม ถือเป็นการจัดประชุมครั้งแรกที่อินโดนีเซียเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย คือ Dr. R. M. Marty M. Natalegawa เป็นประธานการประชุม อินโดนีเซียได้ประกาศเป้าหมายหลัก 3 เรื่อง ที่อินโดนีเซียจะผลักดัน ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เรื่องที่ 1 คือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 เรื่องที่ 2 อินโดนีเซียจะทำให้สถาปัตยกรรมในภูมิภาคและสภาวะแวดล้อมในภูมิภาคเอื้อต่อการพัฒนา และเรื่องที่ 3 ซึ่งจะเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” คือ การผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นเรื่องหลักที่จะมีการทำวิสัยทัศน์ในยุคหลังปี 2015

อาเซียนในเวทีโลก

อินโดนีเซียได้พยายามผลักดันอย่างมาก ในสิ่งที่เรียกว่า ASEAN Beyond 2015 Initiative โดยเน้นการเพิ่มบทบาทอาเซียนในเวทีโลก อินโดนีเซียให้เหตุผลว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะทำให้อาเซียนมีบทบาทความรับผิดชอบในเวทีโลกมากขึ้น อาเซียนจึงจะต้องเพิ่มบทบาท และเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการปัญหาสำคัญๆของโลก

สำหรับเอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่ Lombok ซึ่งได้เผยแพร่โดยกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียนั้น ได้กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการต่างๆ ในการที่จะเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการเสนอแนวคิด และการปฏิบัติ ในการจัดการกับปัญหาของโลกและของภูมิภาค ซึ่งบทบาทดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์อาเซียนในยุคหลังปี 2015 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีความเห็นว่า ประชาคมโลกได้เริ่มที่จะยอมรับบทบาทของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาของโลก ดังนั้น ในอนาคต อาเซียนจะต้องมีบทบาทร่วมกัน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เน้นย้ำว่า บทบาทดังกล่าว จะอยู่ในแผนงานใหม่ของอาเซียนที่จะมีชื่อว่า “Blueprint of ASEAN Community 2022”

อาเซียนกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2030

และแนวคิดหนึ่งที่จะผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก คือการที่อาเซียนจะเสนอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 โดยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ Lombok ได้มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ อาเซียนอยู่ในขั้นเริ่มต้นในการหารือถึงผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ โดยมาเลเซียได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมเอกสารข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤษภาคม ดร.สุรินทร์ได้กล่าวให้ความเห็นว่า หากอาเซียนสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพได้สำเร็จ จะทำให้ภาพลักษณ์และสถานะของอาเซียนในประชาคมโลกได้รับการยกระดับขึ้นอย่างมาก รวมทั้งความเชื่อมั่นในอาเซียนก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตลักษณ์อาเซียนด้วย ประชาชนอาเซียนจะมีความปรารถนาที่จะร่วมกันสร้างประชาคมในอนาคต

พม่า

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือในเรื่องมาตรการคว่ำบาตรพม่า ซึ่งอาเซียนมีความเห็นว่า ควรจะมีการยกเลิก โดยที่ประชุมได้รับการชี้แจงจากรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าถึงความคืบหน้าในการเดินหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตย ที่ประชุมเห็นว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกควรจะยุติ ทั้งนี้เพราะ พม่าได้เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว และต่อมาได้มีการปล่อยตัว นาง อองซาน ซูจี แล้ว อาเซียนเห็นว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะช่วยทำให้พม่าพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้

บทวิเคราะห์

• การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย

ผมมองว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า อินโดนีเซียต้องการ
ที่จะกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่บทบาทได้ตกต่ำไปนาน โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ขณะนี้ การเมืองและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้กลับมามีเสถียรภาพแล้ว ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียมีความฝันและทะเยอทะยานที่ต้องการเป็นผู้นำอาเซียน และต้องการที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค จากการที่อินโดนีเซียได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า อินโดนีเซียจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในปีนี้ ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียน ก็คือ การจะใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันความฝันของ
อินโดนีเซียให้กลายเป็นจริง ดังนั้นในปีนี้ เราน่าจะเห็นอินโดนีเซียเล่นบทบาทนำ และเสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆในอาเซียนหลายเรื่อง

• อาเซียนในเวทีโลก

theme ของอินโดนีเซีย ตามที่กล่าวแล้ว คือ “ASEAN Community in a Global Community of
Nations” คือ การที่จะทำให้อาเซียนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก ซึ่งผมมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแล้ว น่าจะดีสำหรับอาเซียน หากอาเซียนสามารถจะมีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีโลกได้ และมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาของโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนจะมีความสามารถในการเล่นบทบาทนี้ได้หรือ

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการเล่นบทบาทนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการ
ผลักดันให้อินโดนีเซียกลายเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกกับบทบาทของอินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิก G20

ที่เป็นห่วงก็คือ อาเซียน คงจะเล่นบทบาทนี้ได้ยาก ขอให้ดูตัวอย่างปัญหาสำคัญของโลกในขณะนี้ และดูว่าอาเซียนได้มีบทบาทอย่างไร

- ทางด้านความมั่นคง มีปัญหาเรื่อง อาวุธร้ายแรง อิหร่าน การก่อการร้ายสากล และ
สงครามในภูมิภาคต่างๆ แต่อาเซียนก็แทบจะไม่มีบทบาทในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้เลย


- ทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องใหญ่คือ การเจรจา WTO รอบ Doha ซึ่งอาเซียนก็ไม่มีบทบาทที่
โดดเด่น มิหนำซ้ำ อาเซียนยังไม่มีบทบาทร่วมใน WTO ที่ผ่านมา ก็ต่างคนต่างเดิน มีลักษณะแพแตกกันหมด ส่วนวิกฤติการเงินโลก อาเซียนก็ไม่ได้มีบทบาทใดๆ กลไกสำคัญ คือ G20 ซึ่งตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นายกฯอภิสิทธิ์ได้รับเชิญไปประชุม แต่ก็ไม่มีบทบาทอะไร

- ตัวอย่างสุดท้ายคือ การเจรจาปัญหาภาวะโลกร้อน ก็เหมือนปัญหาโลกในเรื่องอื่นๆ
อาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทใดๆเลย

จริงๆแล้ว ผมมองว่า อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว ผมมองว่า หลังปี 2015 อาเซียนยังคงมีปัญหาในการที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ปัญหาการบูรณาการในเชิงลึกและเชิงกว้าง ปัญหาการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ปัญหาการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ปัญหาการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัญหาการแก้กฎบัตรอาเซียน และปัญหาการขาดนโยบายร่วมกันของอาเซียน จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ผมกล่าวมาข้างต้นก็เป็นโจทย์และการบ้านหนักสำหรับอาเซียนในยุคหลังปี 2015 อยู่แล้ว

•เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030

ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดี ในการที่จะเสนอให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกปี 2030 ผม
เห็นด้วยกับ ดร.สุรินทร์ที่มองว่า ถ้าหากอาเซียนสามารถเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกได้ จะทำให้สถานภาพของอาเซียนในเวทีโลกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และจะมีส่วนช่วยในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย เพราะจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ร่วม ประชาชนในประเทศสมาชิก 10 ประเทศ จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนร่วมกัน และจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

•พม่า

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะแสดงความเห็น คือท่าทีล่าสุดของอาเซียนในความต้องการให้
ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า จริงๆแล้ว ท่าทีดังกล่าวของอาเซียน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อาเซียนก็ยืนหยัดกับหลักการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่ามาโดยตลอด และอาเซียนก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรของตะวันตกมาโดยตลอด เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมา อาเซียนยังไม่สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนท่าทีของตนได้ แต่หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้เดินเกมส์อย่างแยบยล ให้มีการเลือกตั้ง และปล่อยตัว นาง อองซาน ซูจี จึงทำให้ขณะนี้อาเซียนมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม คงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ทางตะวันตกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ผมเดาว่า ทั้งสหรัฐฯและยุโรป คงจะยึดนโยบายที่สหรัฐฯเรียกว่า practical engagement ต่อไป คือ นโยบายการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับพม่า แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมาตรการคว่ำบาตรไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรอง