Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนถึงยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

                ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
                ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community เรียกย่อๆว่า ASCC ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และก่อให้เกิดเอกภาพ โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ รวมทั้งสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ASCC ให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
                 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : เน้นการศึกษาเป็นวาระของอาเซียน การสร้างสังคมความรู้ โดยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสริมสร้างทักษะในการประกอบการ สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
                สวัสดิการสังคม : ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม เน้นการแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) ในการกำจัดความยากจนและความหิวโหย และ ASCC จะให้ความมั่นใจว่า ประชาชนอาเซียนทุกคนมีอาหารพอเพียงตลอดเวลา และให้ความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นการเข้าถึงการรักษาสุขภาพ การบริการทางการแพทย์และยาที่เพียงพอและราคาถูก รับประกันอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด และพร้อมรับกับภัยพิบัติ รวมถึงประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
                สิ่งแวดล้อม : ในแผนการจัดตั้ง ASCC กล่าวว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด โดยการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ดิน น้ำ แร่ธาตุ และพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ อาเซียนจะมีส่วนร่วมในความพยายามของโลกในการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการคุ้มครองชั้นโอโซน
                การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน : เน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และอารยธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว และค้นหาอัตลักษณ์ของอาเซียน และสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นแกนนำ โดยสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคม
                สิทธิมนุษยชน : ในแผนการจัดตั้ง ASCC กล่าวว่า อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิตสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
                อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง ASCC อย่างแท้จริงในปี 2015 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาเรื่องสังคมวัฒนธรรมอีกมาก ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ปัญหาการทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และปัญหาที่ประชาชนไมมีความรู้เรื่องอาเซียน

                SWOT analysis
                จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ ASCC ของไทยนั้น จะต้องเริ่มด้วยการทำ SWOT analysis คือการวิเคราะห์ผลกระทบของ ASCC ต่อไทย ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ รวมทั้งการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของไทยใน ASCC ดังนี้
·       การพัฒนามนุษย์
ความร่วมมือในการพัฒนามนุษย์ใน ASCC จะเน้นความร่วมมือด้านทางด้านการศึกษา ซึ่งผลกระทบในเชิงบวก คือ ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสมาชิกอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย และจุดแข็งของไทยในเรื่องนี้ คือ ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของอาเซียน
·       การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทย คือ ความร่วมมือในด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ผลกระทบในเชิงลบ คือ ASCC อาจส่งผลให้ปัญหาในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความปลอดภัยทางสังคม ด้านสาธารณสุข และปัญหายาเสพติด ซึ่งจะทำให้ไทยต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีศักยภาพพอ ที่จะมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความร่วมมือ ในด้านสวัสดิการสังคม และเสริมสร้างมาตรการรองรับผลกระทบในเชิงลบ
·       ความยุติธรรมและสิทธิ
สำหรับผลกระทบในเชิงบวก คือ ความร่วมมือในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น จากการจัดตั้ง ASCC แต่ปัญหาในการละเมิดสิทธิและสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ ก็อาจ จะเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย และไทยก็อาจจะต้องเพิ่มภาระในการให้บริการพื้นฐานแก่คนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
·       ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบเชิงบวก คือ ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีศักยภาพที่จะมีบทบาทนำในการส่งเสริมความร่วมมือด้านนี้ของอาเซียน
·       การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
อาเซียนเน้นใช้ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยในด้านนี้ คือ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น ความพยายามในการแสวงหาและสร้างอัตลักษณ์อาเซียนเพิ่มมากขึ้น และไทยก็มีศักยภาพที่จะมีบทบาทนำในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               
               
                ยุทธศาสตร์ของไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
                จากการทำ SWOT analysis ข้างต้น ก็จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยยุทธศาสตร์สำคัญๆ มีดังนี้
1.             การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านศึกษาของอาเซียน โดยเฉพาะการทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครชั้นนำด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน
2.             ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือในด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
3.             ไทยมียุทธศาสตร์ในการสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
4.             ไทยมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน
5.             ไทยมีแผนรองรับปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการจัดตั้ง ASCC โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านสวัสดิการสังคม และการละเมิดสิทธิผู้ด้อยโอกาส และแรงงานย้ายถิ่นฐาน
6.             ไทยมียุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนในระยะยาว ทั้งนี้ไทยควรเน้น ส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนด้วย