คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว
ผมได้วิเคราะห์สรุปสถานการณ์โลกในปีที่แล้วไปแล้ว สำหรับในตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนที่ 2 จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะคาดการสถานการณ์การเมืองโลกและความขัดแย้งในปีนี้
ดังนี้
การก่อการร้าย
ปัญหาการก่อการร้ายยังคงจะยืดเยื้อต่อไปในปีนี้
ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ได้เกิดการก่อวินาศกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทำท่าจะลุกลามบานปลายไปอีกหลายประเทศในยุโรป
ดังนั้นในปีนี้จึงกำลังจะเกิดแนวโน้มใหม่ของการก่อการร้าย ซึ่งจะกลับเป็นเหมือนช่วงเหตุการณ์
11 กันยา ปี 2001 ที่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายคือโลกตะวันตก
ซึ่งหลักๆคือ สหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย Think Tank ของสหรัฐเองก็ได้ประเมินสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ในปีนี้
สหรัฐและโลกตะวันตก จะถูกโจมตีครั้งใหญ่เหมือนกับเหตุการณ์ 11 กันยา
นอกจากนี้
มีความเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกัน ที่จะมีการโจมตีในรูปแบบใหม่จากกลุ่มก่อการร้าย
คือจะเป็นการโจมตีทางอินเตอร์เน็ต
ทำลายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของสหรัฐ อาทิ
เครือข่ายสาธารณูปโภค และสถาบันการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้
สถานการณ์การก่อการร้ายในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ โดยเฉพาะในอิรัก มีแนวโน้มว่า
จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการรุกคืบของกลุ่ม ISIS
และปัญหาความขัดแย้งระหว่างมุสลิมชีอะห์และมุสลิมสุหนี่ แม้ว่าปีที่แล้ว
สหรัฐจะโจมตีทางอากาศกับกลุ่ม ISIS แต่ก็เป็นได้แค่หยุดการรุกคืบของกลุ่ม
ISIS เท่านั้น
ปฏิบัติการของกลุ่ม
ISIS ได้ลุกลามเข้าไปในซีเรีย ทำให้สงครามกลางเมืองในซีเรีย
มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ที่ทางตะวันตกสนับสนุน ก็อ่อนแอลง
ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนอัลกออิดะห์และ ISIS ก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ตะวันออกกลาง
และที่เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาการก่อการร้ายคือปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลาง
ที่กำลังจะลุกลามบานปลายออกไปเรื่อยๆ
สถานการณ์ในลิเบียก็น่าเป็นห่วง
กลุ่มหัวรุนแรงรุกคืบ และใกล้จะเป็นสงครามกลางเมือง รัฐบาลกลางก็อ่อนแอมาก
ในอียิปต์
มีแนวโน้มปัญหาความวุ่นวายมากขึ้น กลุ่มหัวรุนแรงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
สงครามกลางเมืองในซีเรีย
ได้ลุกลามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
จอร์แดนกำลังมีความวุ่นวายหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเลบานอน ความขัดแย้งทางศาสนาและความวุ่นวายทางการเมือง
เป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ส่วนในตุรกี กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆกับรัฐบาลตุรกี
สำหรับเยเมนกลุ่มก่อการร้ายสาขาย่อยของอัลกออิดะห์ซึ่งมีชื่อว่า
Al-Qaeda in the Arabian Peninsula กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานในปีนี้ คงหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน
โดยนักรบตาลิบันแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กองกำลังของอัฟกานิสถานก็อ่อนแอ
สหรัฐซึ่งตอนแรกตั้งเป้าว่า จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้คงจะถอนกำลังไม่ได้ทั้งหมด
ปีที่แล้ว กลุ่มตาลิบันยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และปี 2014 ก็เป็นปีที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจากสงครามเป็นจำนวนมาก
ปีนี้กลุ่มตาลิบันคงจะเดินหน้าโจมตีกองกำลังนาโต้และกองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อไป
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านคือปากีสถาน
ก็มีทีท่าว่าจะมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักรบตาลิบันในปากีสถาน
จุดอันตรายอีกจุดคือ
อิหร่าน ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ยังมีความพยายามเจรจากับอิหร่านเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่เริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า การเจรจาคงไปไม่ถึงไหน
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อิหร่านจะกลายเป็นวิกฤตอีกครั้ง ความตึงเครียดจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
หากอิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ซึ่งยืดเยื้อมานาน ซึ่งในปีนี้ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
ยูเครน
ปีนี้วิกฤตยูเครนยังจะไม่จบ
ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตสุด เมื่อรัสเซียบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย
และเกิดความตึงเครียดอย่างหนักทางตะวันออกของยูเครน ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตไปกว่า
5 พันคน และทำให้รัสเซียกับตะวันตกขัดแย้งกันอย่างหนัก
ปีนี้ รัสเซียจะยังคงเดินหน้าสนับสนุน Donetsk และ Luhanskให้แยกตัวออกมาจากยูเครน สถานการณ์ในปีนี้ยังไม่แน่นอน นอกจากนี้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนคือ
เขต Kharkivและ Zaporizhia
ล่อแหลมที่จะเกิดปัญหาหากรัสเซียตัดสินใจที่จะผนวกเขตดังกล่าว
เพราะถ้ารัสเซียได้พื้นที่ตรงนี้ จะเป็นช่องทางทางบก ที่จะเข้าถึงคาบสมุทรไครเมียได้
เอเชียตะวันออก
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก
จุดอันตรายมีอยู่ 3 จุด คือ
คาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออก และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สำหรับคาบสมุทรเกาหลี
สถานการณ์ในเกาหลีเหนือกำลังเป็นคำถามใหญ่ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้น
วิกฤตเกาหลีเหนืออาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายทหารของสหรัฐ
หรือความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีเหนือเอง ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือครั้งใหม่
ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
ในกรณีการแย่งชิงเกาะเซนกากุหรือเกาะเตียวหยู ยังคงเป็นจุดอันตราย ที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันทางทหารระหว่างประเทศทั้งสองได้
สุดท้าย
ปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวของประเทศไทยของเรามาก ขณะนี้ยืดเยื้อมานานไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย
โดยจีนยังคงตอกย้ำอ้างความเป็นเจ้าของ ขณะที่สหรัฐก็ยุให้ประเทศอาเซียนทะเลาะกับจีน
สถานการณ์เช่นนี้ ล่อแหล่มต่อการที่ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายได้ในปีนี้