Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

สหรัฐประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลก

สหรัฐประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลก
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2553

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลกที่ Council on Foreign Relations คอลัมน์โลกทรรศในตอนนี้ จะวิเคราะห์สุนทรพจน์และยุทศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม
ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกที่ Clinton ได้ประกาศออกมานั้น เริ่มด้วยการมองว่า สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำโลกในศตวรรษที่ 21 โลกในปัจจุบันถือเป็น American Moment หรือช่วงเวลาของอเมริกา เป็นจังหวะเวลา ที่การเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่สหรัฐจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคต นี่คือช่วงจังหวะเวลา ที่จะสร้างรากฐานการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐสำหรับศตวรรษที่ 21

Clinton จึงประกาศยุทธศาสตร์สำหรับสถาปัตยกรรมของโลกใหม่ โดยเน้นการสร้างหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วน การพัฒนาสถาบันในภูมิภาค และสถาบันในระดับโลก

พันธมิตร
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ในการสร้างสถาปัตยกรรมโลกคือ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะในยุโรปและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม Clinton ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับยุโรป ในการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด โดยได้กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังร่วมมือกับพันธมิตรในยุโรปอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นาโต้ยังคงเป็นพันธมิตรในระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ นาโต้ได้ส่งกองกำลังร่วมกับสหรัฐในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายทั้ง al Qaeda และ นักรบตาลีบัน รัฐบาลโอบามาได้ให้ความสำคัญต่อสงครามอัฟกานิสถาน กองกำลังนาโต้ได้ส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังของสหรัฐหลายพันคน

ปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของสถาปัตยกรรมโลกคือ การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจใหม่ โดยสหรัฐได้เพิ่มความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคและพหุภาคี โดยหวังว่า มหาอำนาจใหม่เหล่านี้ จะเพิ่มความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกมากขึ้น

ขณะนี้ Strategic and Economic Dialogue เป็นเวทีความร่วมมือกับจีน

สำหรับอินเดีย สหรัฐกำลังวางรากฐานของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปเยือนอินเดียในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับรัสเซีย การแก้ปัญหาสำคัญของโลกจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัสเซีย ในสมัยรัฐบาลโอบามาจึงได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่ และในช่วงเวลา 1 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับรัสเซียหลายเรื่อง อาทิ สนธิสัญญาลดอาวุธ ความร่วมมือมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือในคณะมนตรีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน การทำสงครามจอร์เจียของรัสเซีย ประเด็นเหล่านี้ สหรัฐจะไม่รีรอที่จะแสดงท่าทีคัดค้าน เมื่อมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ไม่ยอมเล่นบทประเทศที่มีความรับผิดชอบ สหรัฐก็จะพยายามกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 ของการสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐนั้น คือ การที่สหรัฐจะเข้าไปมีบทบาทในสถาปัตยกรรมในภูมิภาคต่างๆ

สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น สหรัฐเคยถูกมองว่า บทบาทกำลังลดลง ดังนั้น รัฐบาลโอบามาจึงได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า สหรัฐกำลังจะกลับมา หลังจากนั้น สหรัฐได้กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยเฉพาะกับ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สหรัฐจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ โดยทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐได้ให้ความสำคัญกับเอเปค และได้ผลักดันการจัดทำ FTA ในกรอบ Trans Pacific Partnership (TPP) นอกจากนั้น สหรัฐยังได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับกรอบการประชุมของอาเซียนที่เรียกว่า East Asia Summit หรือ EAS โดยตั้งเป้าว่า จะพัฒนาให้ EAS พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค โดย Hillary Clinton จะเข้าร่วมการประชุม EAS ที่กรุงฮานอย ปลายปีนี้ และประธานาธิบดีโอบามาจะเข้าร่วมการประชุม EAS ครั้งต่อไปในปี 2011

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และสหรัฐลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากกว่าในจีนเสียอีก ดังนั้น สหรัฐจึงกำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สถาบันในระดับโลก
สำหรับยุทธศาสตร์ 4 ในการสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐ คือ การปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง และจะพัฒนาสถาบันดังกล่าว ให้สามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายในปัจจุบัน

สหประชาชาติหรือ UN ยังคงเป็นสถาบันโลกที่สำคัญที่สุด แต่ UN ก็มีข้อจำกัด โดยเฉพาะมีความยากลำบากอย่างยิ่งในการที่จะให้สมาชิกทั้ง 192 ประเทศ บรรลุฉันทามติในเรื่องต่างๆ ได้ UN จึงอาจจะไม่สามารถเผชิญกับทุกปัญหาในโลกได้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐจึงได้พยายามใช้หรือสร้างสถาบันอื่นๆ ขึ้นมา ตัวย่างเช่น การแก้ไขวิกฤติการณ์การเงินโลก สหรัฐได้ใช้ G20 เป็นกลไกสำคัญ สำหรับปัญหานิวเคลียร์ สหรัฐได้จัดตั้งเวที Nuclear Security Summit ขึ้นมาใหม่

ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นตัวอย่างของการที่สหรัฐใช้หลายกลไกและหลายช่องทาง แม้ว่า UN จะเป็นกลไกในระดับโลก แต่สหรัฐก็ได้ผลักดันเวทีใหม่ขึ้นมา คือ Major Economies Forum โดยเน้นเฉพาะการประชุมหารือระหว่างประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ๆ และเมื่อการเจรจาที่โคเปนเฮเกนติดขัด สหรัฐได้ใช้รูปแบบการหารือในวงเล็ก โดยตกลงร่วมกับจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล (กลุ่มนี้ตอนนี้มีชื่อย่อใหม่ว่า BASIC) และในที่สุดก็สามารถที่จะผลักดัน Copenhagen Accord ออกมาได้

บทวิเคราะห์
จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐนั้น จริงๆ แล้ว ก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงแค่บูรณาการยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่สหรัฐกำลังทำอยู่แล้ว

แต่ผมขอย้ำว่า ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกนั้น ในที่สุด ก็มีเป้าหมายเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ คือ การครองเป็นเจ้าของสหรัฐในโลกต่อไป

ผมอยากจะสรุปยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐดังภาพข้างล่างนี้



จากภาพ ยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐ จะมีหลายวงซ้อนกันอยู่

วงในสุดคือ สหรัฐ ผมมองว่า เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐคือ สหรัฐจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมโลก

ส่วนวงที่ 2 เป็นพันธมิตรของสหรัฐ ซึ่งผมมีข้อสังเกตว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับพันธมิตรในยุโรปมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ถ้าหากเรามองว่า สหรัฐกับยุโรปก็คือพวกเดียวกัน คือ เป็นพวกตะวันตกด้วยกันนั่นเอง

วงที่ 3 เป็นมหาอำนาจใหม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่า มหาอำนาจใหม่ที่จะใกล้ชิดกับสหรัฐคือ อินเดีย กับบราซิล ส่วนจีนกับรัสเซียนั้น ในอนาคต น่าจะมีความขัดแย้งกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

วงที่ 4 คือ สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ สหรัฐให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด เพราะกำลังมีวิวัฒนาการ ยังไม่ลงตัว สหรัฐมียุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยสหรัฐจะพยายามเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเน้นกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาค เน้น เอเปค FTA ในกรอบ TPP ขณะเดียวกัน ก็เข้าร่วมกับ EAS เพื่อเป็นตัวกันไม่ให้อาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐลดลง

และวงที่ 5 ก็คือ สถาบันในระดับโลก ซึ่งผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อสถาบันโลกนั้น กำลังมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจาก UN ออกไป โดยสหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ในการใช้หลายๆ สถาบัน หลายๆ กลไก ในการแก้ปัญหาในระดับโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ที่สหรัฐมองว่า เวที UN ใหญ่เกินไป จึงไม่สามารถหาฉันทามติได้ และเวที UN สหรัฐจะเสียเปรียบเพราะประเทศกำลังพัฒนาได้รวมหัวกันกดดันสหรัฐให้ปรับลดก๊าซเรือนกระจกลงเป็นอย่างมาก สหรัฐจึงกำลังหาวิธีการใหม่ ด้วยการสร้างกลไกคู่ขนาน โดยแม้จะมีการเจรจาในกรอบ UN อยู่ แต่สหรัฐก็สร้างเวทีหารือที่สหรัฐเรียกว่า Major Economies Forum และเวทีวงเล็กที่ประกอบด้วยประเทศกลุ่มใหม่เรียกว่า BASIC