Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประชาคมอาเซียนหลัง 2015

 ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557              

              เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เรื่องใหญ่ของการประชุมคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์ กำหนดวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปสาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าว พร้อมกับเสนอข้อเสนอของผมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลัง 2015 ดังนี้
               ปฏิญญาเนปิดอว์
               ตามที่ได้กล่าวแล้ว เรื่องใหญ่ของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์กำหนดวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง 2015 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
·       วิสัยทัศน์หลัก
สำหรับวิสัยทัศน์หลักของปฏิญญาเนปิดอว์คือ
               - ปรับปรุงประชาคมอาเซียน และจะให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง และให้มีบูรณาการกันระหว่าง 3 ประชาคมย่อยของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               - อาเซียนเป็นประชาคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
               - จัดทำ ASEAN Development Goals หรือ เป้าหมายแห่งการ พัฒนาของอาเซียน
               - อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
               - อาเซียนมีการกำหนดท่าทีร่วมกัน ในประเด็นปัญหาของโลก เพื่อที่จะทำให้อาเซียนเพิ่มบทบาทของอาเซียนในประชาคมโลก
               - ปรับปรุงกลไกและสถาบันต่างๆของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน
·       ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
สำหรับวิสัยทัศน์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงในยุคหลัง 2015  เรื่องสำคัญคือ
               -  ยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และข้อตกลงอื่นๆของอาเซียน
               - ส่งเสริมเครื่องมือทางการทูตในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี และจะพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน
               - ส่งเสริมเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน เพื่อเพิ่มบทบาทของอาเซียนใน comprehensive security
               - กระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา โดยยึดหลัก ASEAN Centrality  คืออาเซียนเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์
               - ส่งเสริมบรรทัดฐานของอาเซียนโดยเฉพาะ TAC และจะส่งเสริมให้มีการจัดทำบรรทัดฐาน ของภูมิภาค โดยใช้บรรทัดฐานของอาเซียนเป็นแกน
·      ประชาคมเศรษฐกิจ
สำหรับวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจหลัง 2015 จะมีประเด็นหลักดังนี้
- AEC 2025 จะประกอบด้วย เศรษฐกิจของอาเซียนที่บูรณาการและเป็นหนึ่งเดียว อาเซียนที่มีพลวัต อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และอาเซียนที่มีบทบาทในเศรษฐกิจโลก หรือ Global ASEAN
           - มีการลดช่องว่างแห่งการพัฒนาในอาเซียน
           - มีการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการเน้นการเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน
           - อาเซียนมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
           - อาเซียนมีบทบาทในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจโลก และอาเซียนมีจุดยืนร่วมกันต่อปัญหาเศรษฐกิจโลก
ข้อเสนอวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015
               ผมมองว่า วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่สรุปมาจากปฏิญญาเนปิดอว์ข้างต้นนั้น ค่อยข้างน่าผิดหวัง เพราะโดยรวมแล้ว ก็ไม่มีอะไรใหม่ วิสัยทัศน์ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเดิมๆที่อาเซียนทำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองไปไกล นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาเนปิดอว์ ก็แทบจะไม่มีอะไรเลย
ผมจึงขอเสนอวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง 2015 เพิ่มเติมจากปฏิญญาเนปิดอว์ ดังนี้
·      SWOT analysis
               ก่อนที่จะมีการทำวิสัยทัศน์ จะต้องมีการทำวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของอาเซียน เพื่อจะสามารถระบุได้ว่า อะไรคือโอกาส อะไรคือภัยคุกคามของอาเซียน อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็งของอาเซียน ผมจึงขอเสนอให้อาเซียนจัดทำการวิเคราะห์ SWOT Analysis ก่อนการทำวิสัยทัศน์อย่างละเอียด
·      กฎบัตรอาเซียน
                              วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 จะต้องมีการแก้กฎบัตรอาเซียนให้มีความทันสมัย โดยเรื่องหลักที่จะต้องมีการแก้คือ
               - แก้ให้กฎบัตรอาเซียนเป็นกฎบัตรของประชาชนอย่างแท้จริง
               - มีมาตราใหม่ระบุกลไกของภาคประชาสังคมในอาเซียน โดยอาจจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาหรือ Concultative Council ซึ่งจะเป็นกลไกของภาคประชาชน
               - มีการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกลไกนิติบัญญัติของอาเซียน ในลักษณะสภานิติบัญญัติอาเซียน หรือ ASEAN Parliament ขึ้น
               - มีการพิจารณาจัดตั้งกลไกตุลาการของอาเซียนขึ้น ในลักษณะศาลสถิตยุติธรรมอาเซียน หรือ ASEAN Court of Justice
·      ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
               ผมมองว่า APSC หลัง 2015 เรื่องสำคัญคือ การดำเนินมาตราการต่างๆที่ปรากฏอยู่ใน APSC Blueprint ให้เสร็จสมบูรณ์
               นอกจากนี้ APSC หลัง 2015 ควรมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม
               - จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพอาเซียนขึ้น
               - ปรับปรุงกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน โดยเพิ่มบทบาทในด้านการปกป้อง (protection) ให้กับ AICHR และควรมีการบรรจุหลักการของสหประชาชาติ โดยเฉพาะหลักการ Responsibility to Protect ใน TOR ใหม่ของ AICHR ด้วย เพิ่มบทบาทให้กับเลขาธิการอาเซียนและภาคประชาสังคม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนของอาเซียน หรือ ASEAN Court of Human Rights
·      ประชาคมเศรษฐกิจ
               สำหรับวิสัยทัศน์ของ AEC หลัง 2015 นั้น ผมขอเสนอประเด็นสำคัญดังนี้
               - ให้ AEC พัฒนาไปสู่การเป็นตลาดร่วมที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง โดยมีการเปิดเสรี 4 ด้าน คือ การค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน
               - ในระยะยาว AEC ควรพัฒนาไปเป็นสหภาพเศรษกิจอาเซียน โดยเน้นการหลอมรวมเศรษฐกิจของ 10 ประเทศให้เป็น 1 เดียว โดยมีนโยบายการค้าเดียว และนโยบายเศรษฐกิจเดียว
               - มีมาตรการลดช่องว่างรวยจนในอาเซียนให้ได้ เพราะนี่คืออุปสรรคสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
               - มีการปรับทัศนคติ และสร้างอัตลักษณ์อาเซียนขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกมองประเทศสมาชิกอื่น เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่คู่แข่งทางเศรษฐกิจ อีกต่อไป
               - AEC หลัง 2015 จะต้องมีบูรณาการทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง
·      ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               และเช่นเดียวกับเสาหลักอื่น ASCC หลัง 2015 จะต้องเดินหน้าต่อในการดำเนินมาตรการต่างๆใน ASCC Blueprint ให้เสร็จสมบูรณ์
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า มี 2 เรื่องใหญ่ที่ ASCC จะต้องเน้นเป็นพิเศษในอนาคตคือ
               - การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การสร้างอัตลักษณ์ร่วม ที่จะทำให้คน 600 ล้านคน มีอัตลักษณ์ร่วมกันโดยมีความรู้สึกว่า 600 ล้านคนเป็นพวกเดียวกันอย่างแท้จริง

               - และอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องสุดท้าย ที่ผมอยากจะเน้นคือ การที่ ASCC หลัง 2015 จะต้องมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ ในการที่จะทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง