Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ผลการประชุม G 20 เพื่อปฏิรูประบบการเงินโลก

ผลการประชุม G 20 เพื่อการปฏิรูประบบการเงินโลก
ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2551 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4407

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอด G 20 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงการปฏิรูประบบการเงินโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงผลการประชุมในครั้งนี้ และประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว

ภูมิหลัง
ภายหลังจากเกิดวิกฤติการเงินลุกลามไปทั่วโลก ผู้นำโลกตะวันตกเริ่มตื่นตัวที่จะหาวิธีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด G 20 ครั้งแรกขึ้น ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่กรุง Washington D.C. การประชุมครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Summit on Financial Markets and the World Economy” การประชุมวันที่ 15 เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก ซึ่งตามแผนจะมีการประชุมอีกหลายครั้ง การประชุมครั้งแรกเน้นเรื่องการตกลงหลักการกว้างๆ ส่วนรายละเอียดนั้น จะให้รัฐมนตรีคลังศึกษาและเสนอต่อการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป

ผลการประชุม
สำหรับผลการประชุมซึ่งได้แถลงออกมาในรูปของปฏิญญา ได้เน้นว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักลงทั่วโลก ที่ประชุมจึงตกลงที่จะต้องมีนโยบายเพื่อตอบสนอง โดยเน้นในเรื่องความร่วมมือเศรษฐกิจมหภาคให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจะร่วมมือกันผลักดันมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน ที่ประชุม G 20 ได้เน้นบทบาทของ IMF โดยเฉพาะบทบาทในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ มาตรการเสริมสภาพคล่อง และการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น G 20 ยังได้เน้นบทบาทของธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีต่างๆ โดยย้ำว่า สถาบันเหล่านี้จะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะเล่นบทในการกอบกู้วิกฤติ

ที่ประชุมจะได้มีมาตรการปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงิน และให้มีกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน โดยการควบคุมตรวจสอบนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินในปัจจุบัน มีขอบเขตขยายไปทั่วโลก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ และต้องมีการเสริมสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ

ที่ประชุม G 20 ได้ตกลงหลักการ 5 ประการในการปฏิรูป

หลักการประการแรก คือ การเสริมสร้างความโปร่งใส โดยเน้นการสร้างความโปร่งใสในตลาดการเงิน

หลักการประการที่ 2 คือ การเสริมสร้างการควบคุมตรวจสอบ โดยจะต้องส่งเสริมกลไกควบคุมตรวจสอบ การบริหารจัดการความเสี่ยง

หลักการประการที่ 3 การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในตลาดการเงิน โดยจะต้องมีการปกป้องทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน การบิดเบือนกลไกตลาดอย่างผิดกฎหมาย

หลักการประการที่ 4 เป็นเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเน้นในเรื่องของการกำหนดมาตรการ กำหนดการควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน โดยส่งเสริมความร่วมมือ และประสานงานในการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งรวมถึงการไหลเวียนของเงินทุนข้ามชาติ

หลักการสุดท้าย หลักการประการที่ 5 คือ การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ G 20 ตกลงจะให้มีการปฏิรูปสถาบัน Bretton Woods (คือ IMF และธนาคารโลก) โดยจะต้องทำให้สถาบันดังกล่าว สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เพื่อจะทำให้สถาบันดังกล่าวมีความชอบธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจึงควรจะมีสิทธิ์มีเสียงในสถาบันเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของปฏิญญา ก็มีข้อความในลักษณะติดเบรกการปฏิรูป ซึ่งน่าจะเป็นการผลักดันจากทางฝ่ายสหรัฐ โดยในปฏิญญาได้กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิรูปเหล่านี้จะสำเร็จได้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานและหลักการของตลาดเสรี และจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีมาตรการควบคุมสถาบันการเงินมากเกินไป
ในตอนสุดท้าย กลุ่ม G 20 ได้มีการตกลงว่า จะมีการประชุมครั้งต่อไป ในช่วงเดือนเมษายน 2009

ความสำเร็จหรือความล้มเหลว?

· โดยภาพรวมแล้ว ถ้าจะให้ผมประเมิน ถ้าดูจากความคาดหวังก่อนการประชุมว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ โดยอาจจะมีข้อตกลงการปฏิรูประบบการเงินโลกแบบถอนรากถอนโคน แต่ผลออกมาแล้ว ปรากฏว่า เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะข้อตกลงต่างๆไม่ได้มีลักษณะการปฏิรูปอย่างจริงจัง มาตรการส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยไม่ได้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ที่จะกอบกู้วิกฤติการเงินโลกครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกของกลุ่ม G 20 โดยก่อนหน้านี้ การประชุมสุดยอดจะมีระดับ G 8 เท่านั้น ก่อนหน้านี้ ตะวันตกยังคงหวงก้าง ไม่อยากขยายวงออกไปรวมประเทศกำลังพัฒนา แต่จากวิกฤติคราวนี้ ทำให้ตะวันตกต้องกัดฟันขยายวงจาก G 8 เป็น G 20 ซึ่งเราคงต้องดูกันต่อไปว่า การประชุมสุดยอด G 20 จะกลายเป็นกลไกถาวรในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการยกระดับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการยกระดับบทบาทของจีนและอินเดีย แต่ผมยังไม่แน่ใจ เพราะการประชุมสุดยอด G 20 อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะกิจก็ได้

· หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง มีหลายฝ่ายมองว่า การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว เพราะไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง และมาตรการต่างๆก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นมาตรการที่รู้ๆกันอยู่แล้ว และหลายๆเรื่องก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว มาตรการเหล่านี้ ดูแล้วเหมือนจะเป็นมาตรการ “ซ่อม” มากกว่าจะเป็นมาตรการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง

· นอกจากนี้ มาตรการที่ G 20 ตกลง ส่วนใหญ่เป็นหลักการกว้างๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด และหลายมาตรการก็กำกวมว่า จะเป็นมาตรการของแต่ละประเทศ หรือจะเป็นมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ

· ดัชนีบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการประชุม G 20 คือ การตอบสนองของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากทราบข่าวผลการประชุม ปรากฏว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ดีขึ้น บางแห่งหุ้นก็ตกลงเสียด้วยซ้ำ โดยนักวิเคราะห์หุ้นมองว่า เป็นผลมาจากตลาดหุ้นไม่เห็นว่า การประชุมจะช่วยกอบกู้วิกฤติการเงินโลกได้อย่างไร โดยมองว่าการประชุมมีผลเพียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีผลในเชิงรูปธรรม ตลาดหุ้นรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้มีการประกาศมาตรการความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะความร่วมมือในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

· ความล้มเหลวของการประชุม G 20 ในครั้งนี้ เป็นผลมาจาก ท่าทีที่ขัดแย้งกัน ระหว่างสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย
โดยทางยุโรปนั้น มีท่าทีชัดเจน ที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน ทั้ง Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนาย Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ควบคุมระบบการเงินโลก ผู้นำยุโรปหลายคนเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ ให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกครั้งใหญ่ ยุโรปต้องการระบบการเงินโลกใหม่ หรือ Bretton Woods II

แต่รัฐบาล Bush กลับมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปของยุโรป โดย Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาด และการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทุนนิยมแบบอเมริกัน รัฐบาล Bush ยังคงยืนยันในหลักการว่า กลไกภาครัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดให้น้อยที่สุด

เบื้องหลังท่าทีของสหรัฐ ก็คือ สหรัฐซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจอำนาจอันดับ 1 ของโลก มีความหวาดระแวงต่อข้อเสนอของประเทศอื่นๆ ที่จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในระบบการเงินโลกลดลง โดย Bush ยังคงยืนยันว่า สหรัฐจะต้องเล่นบทเป็นผู้นำโลกต่อไปในการปฏิรูประบบการเงินโลก

แต่สำหรับท่าทีของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศจากเอเชียนั้น มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อเสนอของตะวันตก ที่ต้องการผลักดันการเพิ่มบทบาทของ IMF และธนาคารโลก ทั้งนี้ เพราะเอเชียไม่มีสิทธิ์มีเสียงในองค์กรดังกล่าว และมีประวัติศาสตร์อันขมขื่นกับ IMF ซึ่งถูกมองว่า ถูกครอบงำโดยตะวันตก โดยเฉพาะโดยสหรัฐอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ประสบการณ์ของเอเชียในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 นั้น IMF ก็ได้เข้ามามีอำนาจบาตรใหญ่ และบีบคั้นประเทศที่กู้เงินจาก IMF เป็นอย่างมาก ซึ่งเอเชียมองว่า มาตรการต่างๆของ IMF สอดรับกับผลประโยชน์ของสหรัฐนั่นเอง

· ความล้มเหลวของการประชุม G 20 ประการสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึง คือ ท่าทีของสหรัฐในการประชุมครั้งนี้ เป็นท่าทีของรัฐบาล Bush ซึ่งจะบริหารประเทศได้อีกไม่กี่วัน ในขณะที่ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ คือ นาย Barack Obama กลับไม่ได้มีบทบาทในการประชุม ดังนั้น จึงดูเหมือนกับว่า การประชุมครั้งนี้ คงจะไม่มีความหมาย เพราะค่อนข้างแน่นอนว่า รัฐบาล Obama คงจะมีท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล Bush ดังนั้น ในที่สุดแล้ว เราคงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน ปีหน้า ถึงจะเห็นถึงท่าทีของรัฐบาล Obama ในการประชุม G 20 ครั้งหน้าว่า จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูประบบการเงินโลกได้มากน้อยแค่ไหน

Obama กับสถานการณ์การเมืองโลก

Obama กับสถานการณ์การเมืองโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 21-พฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2551

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลกไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ความมั่นคงโลก ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ๆ และเป็นการบ้านใหญ่สำหรับประธานาธิบดี Obama ถึงแม้ว่าเรื่องการกอบกู้วิกฤติการเงินสหรัฐ คงจะเป็นเรื่องที่ Obama ให้ความสำคัญมากที่สุด แต่สถานการณ์การเมืองโลก ก็คงจะไม่ปล่อยให้ Obama อยู่เฉยๆได้

อิรัก
การบ้านชิ้นแรกของประธานาธิบดี Obama คือการแก้ปัญหาอิรัก

ในปี 2006 สถานการณ์ในอิรักทรุดหนักลงอย่างมาก โดยทั้งกลุ่มก่อการร้ายซุนหนี่และชีอะฮ์ ก็โจมตีกองกำลังสหรัฐ และทั้งกลุ่มซุนหนี่และชีอะฮ์ก็ต่อสู้กันเอง จนถึงขั้นกำลังจะเกิดสงครามกลางเมือง ต่อมาหลังจากที่พรรค Democrat ได้ครองเสียงข้างมากในสภา Congress ได้มีกระแสกดดันให้ถอนทหารออกจากอิรัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Bush กลับสวนทาง ด้วยการเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในอิรัก และดูเหมือนกับว่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะหลังจากนั้น ความปั่นป่วนวุ่นวายก็สงบลง นอกจากนี้ รัฐบาล Bush ยังได้เริ่มเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายซุนหนี่ ทั้งสหรัฐและกลุ่มซุนหนี่ต้องการให้ฝ่ายชีอะฮ์จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มมีการเจรจาอย่างลับๆกับฝ่ายอิหร่าน ซึ่งสำหรับอิหร่านนั้น ตระหนักดีว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลอิรักที่ pro อิหร่านนั้น คงจะยาก สิ่งที่อิหร่านกลัวที่สุดคือ การกลับคืนมาของรัฐบาลอิรัก นำโดยกลุ่มซุนหนี่ ซึ่งจะกลับไปเหมือนสมัยรัฐบาล Saddam Hussain ซึ่งได้ทำสงครามกับอิหร่านเป็นเวลาเกือบ 10 ปี อิหร่านจึงมองว่า รัฐบาลผสมที่เป็นกลาง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ผลพวงของความพยายามของรัฐบาล Bush จึงทำให้กลุ่มก่อการร้ายลดบทบาทลง และได้มีรัฐบาลผสมเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนจากทั้งทางสหรัฐและอิหร่าน แม้สถานการณ์ในอิรักยังคงเปราะบาง แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ก็ดีกว่าเมื่อปี 2006

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของประธานาธิบดี Obama คือ การตัดสินใจว่าจะถอนทหารออกจากอิรักเมื่อไหร่ และอย่างไร Obama ประกาศมาโดยตลอดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะถอนทหารออกจากอิรักภายใน 16 เดือน

ในแง่ยุทธศาสตร์ทางทหารนั้น มีความเร่งด่วนที่จะต้องถอนทหารออกจากอิรักและเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถาน ต้องมีกองกำลังสำรองสำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน และตอบสนองต่อสถานการณ์ในเขตสหภาพโซเวียตเดิม อย่างเช่นในกรณีสงครามจอร์เจีย

อย่างไรก็ตาม พวกที่ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหาร อย่างเช่น McCain และ Bush ก็จะตอกย้ำว่า การถอนทหารออกมาเร็วเกินไป จะทำให้อิรักลุกเป็นไฟ และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในอิรัก ดังนั้น ประเด็นเรื่องการถอนทหารจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอการตัดสินใจจาก Obama

อิหร่าน
การบ้านชิ้นที่ 2 ของประธานาธิบดี Obama คือ อิหร่าน

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ยืดเยื้อมาหลายปี ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ศักยภาพของอิหร่านในขณะนี้ จะยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้

Obama ได้เคยประกาศว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาพร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน เพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ไม่มีหลักประกันว่า การเจรจาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ และหากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง

หาก Obama ต้องการจะถอนทหารจากอิรัก และเพิ่มทหารในอัฟกานิสถาน นั่นหมายความว่า สหรัฐจะต้องได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เพราะหากอิหร่านไม่เล่นด้วย อิหร่านจะสามารถสร้างความปั่นป่วนในอิรักได้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของ Obama คือ จะเอาอย่างไรกับอิหร่าน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นมาอีก คือ บทบาทของรัสเซีย ซึ่งกำลังพยายามผงาดขึ้นมาแข่งกับสหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจจะมาตีสนิทกับอิหร่าน ดังนั้น โจทย์อีกเรื่องของ Obama คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้อิหร่านไปเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย

อัฟกานิสถาน

การบ้านชิ้นที่ 3 ของ Obama คือ นโยบายต่ออัฟกานิสถาน

ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง Obama ย้ำมาตลอดว่า ยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล Bush นั้น ผิดพลาดเพราะไปเน้นที่อิรัก แทนที่จะเน้นที่อัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama มองว่า เป็นศูนย์กลางของขบวนการก่อการร้าย Obama จึงได้เสนอว่า จะต้องเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน

แต่ในทางปฏิบัติ ผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพราะหลายประเทศใน NATO ก็อยากจะถอนทหารกลับ ขณะนี้ สหรัฐและ NATO มีกองกำลังอยู่ในอัฟกานิสถานประมาณ 50,000 คน ประเด็นทางการทหารก็คือ จะต้องมีกองกำลังทหารเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่รัสเซียยึดอัฟกานิสถาน รัสเซียใช้ทหารถึง 120,000 คน แต่ก็ยังไม่พอ ในที่สุด รัสเซียก็พ่ายแพ้ ต้องถอนทหารกลับไป

นอกจากนี้ โจทย์ใหญ่ในอัฟกานิสถานก็คือ กองกำลังนักรบ Taliban ซึ่งได้ชนะสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 90 และสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ ทั้งนี้ ก็เพราะ Taliban เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุด ดังนั้น เป็นไปได้มากเลยที่ ถ้าไม่มีทหารสหรัฐ กลุ่ม Taliban ก็จะกลับมายึดอำนาจรัฐได้อีก จริงๆแล้ว สหรัฐไม่เคยชนะ Taliban เพราะตอนที่สหรัฐบุกยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อ

ปลายปี 2001 นั้น Taliban ก็ไม่ได้สู้กับสหรัฐ แต่ได้อันตรธานหายไปหมด ดังนั้น Obama จะมีนโยบายอย่างไร เพื่อจะเอาชนะ Taliban ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ปากีสถาน
การบ้านชิ้นที่ 4 ของ Obama คือ นโยบายต่อปากีสถาน

ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้ al-Qaeda ได้มีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของปากีสถาน ดังนั้น การบ้านที่ยากที่สุดของ Obama คือ ทำอย่างไรถึงจะเอาชนะ และกำจัด al-Qaeda ให้สิ้นซาก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหานักรบ Taliban ในปากีสถานด้วย สหรัฐคงจะต้องได้รับความร่วมมือจากกองทัพปากีสถานในการโจมตีกลุ่ม Taliban หรือไม่ สหรัฐจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปากีสถานให้ไล่ล่ากลุ่ม Taliban

Obama ในตอนหาเสียงเลือกตั้งได้เคยประกาศกร้าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็พร้อมที่จะส่งกองกำลังเข้าไปในปากีสถาน เพื่อไล่ล่า al-Qaeda และ Taliban ถึงแม้จะไม่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลปากีสถานก็ตาม ดังนั้น คำถามใหญ่คือ ประธานาธิบดี Obama จะกล้าทำเช่นนั้นหรือ Obama คงจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างการไล่ล่ากลุ่มก่อการร้าย กับผลลบที่จะเกิดขึ้น ที่อาจทำให้ปากีสถานลุกเป็นไฟ และอย่าลืมว่า ปากีสถานนั้น มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

รัสเซีย
การบ้านชิ้นยากชิ้นที่ 5 ของ Obama ก็คือ นโยบายต่อรัสเซีย

ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐก็ดูถูกดูแคลนรัสเซีย มองว่ากำลังแตกสลาย อ่อนแอ และคงไม่มีความสำคัญในการเมืองโลก สหรัฐจึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซียเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการขยายสมาชิก NATO เข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียต ซึ่งล่าสุดก็คือการจะรับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก NATO จุดนี้เอง จึงเป็นจุดแตกหัก รัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ด้วยพลังงานอำนาจที่ได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัสเซียจึงประกาศศักดาการกลับมาเป็นมหาอำนาจด้วยการทำสงครามบุกจอร์เจีย

ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับประธานาธิบดี Obama ก็คือ จะทำอย่างไรกับรัสเซีย จะป้องกันการขยายอำนาจของรัสเซียได้อย่างไร ถึงแม้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง Obama จะพูดจาภาษาดอกไม้โดยไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม แต่ในทางปฏิบัติ Obama คงจะต้องเผชิญกับรัสเซียที่จะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก

นโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 14 - พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2551

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก รวมทั้งข้อจำกัดที่ Obama จะประสบในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

นโยบายต่างประเทศของ Obama
หลังจากที่ Obama ชนะการเลือกตั้ง กำลังจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐ ประชาคมโลกก็กำลังสนใจอย่างยิ่งว่า Obama จะมีนโยบายต่างประเทศอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร

โดยภาพรวมแล้ว Obama มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยม มีแนวนโยบายสายพิราบ ตลอดเวลาที่ผ่านมา Obama ได้เน้นว่า นโยบายต่างประเทศจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ ต้องมีการปฏิรูป และเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือจากนโยบายของ Bush

Obama มองโลกในแง่ดี และพยายามย้ำการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐที่ได้เสียหายไปมากจาก 8 ปีของรัฐบาล Bush ดังนั้น หาก Obama สามารถบรรลุการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศได้จริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อโลก โดยน่าจะทำให้โลกมีเสถียรภาพและสันติภาพมากขึ้น

สำหรับนโยบายต่อตะวันออกกลางนั้น นโยบายต่ออิรักก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอเมริกัน Obama หาเสียงมาโดยตลอดว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะยุติสงครามอิรัก และเน้นการแก้ปัญหาโดยวิถีทางอื่นที่ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร โดยจะค่อยๆถอนทหารออกมา

สำหรับในกรณีของอัฟกานิสถานนั้น Obama ได้เน้นมาตลอดว่า นี่คือจุดที่รัฐบาล Bush ละเลย และอัฟกานิสถานน่าจะเป็นสมรภูมิหลักของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อไล่ล่านักรบTaliban al-Qaeda และ Bin laden โดย Obama มีแผนที่จะเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยการสนับสนุนจาก NATO

สำหรับในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านนั้น Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush มาตลอด โดยมองว่าจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ หันมาเน้นการเจรจาทางการทูตอย่างจริงจัง รวมทั้งการเจรจาโดยตรงกับผู้นำอิหร่านด้วย

Obama มองว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล Bush ประสบความล้มเหลว ดังนั้น จึงจะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ที่ไม่เน้นแต่การใช้กำลังทางทหาร แต่ต้องมุ่งแก้ที่รากเหง้าของปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มปฏิรูป กลุ่มสายกลางในโลกมุสลิม การให้การศึกษา และการส่งเสริมการค้าและการลงทุน

เป้าหมายใหญ่ของนโยบายต่างประเทศของ Obama อีกเรื่องหนึ่ง คือการกลับไปฟื้นฟูพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ

สำหรับในเอเชีย Obama มองว่า รัฐบาล Bush ให้ความสำคัญกับพันธมิตรทวิภาคีมากเกินไป Obama จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น ในช่วงการรณรงค์หาเสียง Obama ไม่ได้พูดถึงเอเชียมากนัก ผมจึงอยากจะคิดต่อไปว่า การเน้นเวทีพหุภาคีของ Obama จะมีนัยอย่างไรต่อเอเชีย ผมมองว่า มีความเป็นไปได้ว่า Obama จะให้ความสำคัญกับเวทีอาเซียนมากขึ้น โดยสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาเซียน เพราะฉะนั้น ในสมัยของ Obama ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะอาจมีการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนครั้งแรกขึ้น อาจมีการเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนทั้งกลุ่ม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่อาเซียนและไทยในฐานะประธานอาเซียน ที่จะต้องรีบดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ

สำหรับนโยบายต่อมหาอำนาจอื่นๆนั้น Obama มีแนวโน้มที่จะลดความตึงเครียดกับมหาอำนาจใหญ่ๆโดยเฉพาะกับรัสเซียและจีน ในสมัย Bush ความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซีย เข้าขั้นวิกฤติ บางคนถึงกับกล่าวว่ากำลังจะเกิดสงครามเย็นภาคสอง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ก็มีปัญหา Obama ซึ่งเป็นสายพิราบน่าจะมองรัสเซียกับจีนดีขึ้น และน่าจะผูกมิตรกับรัสเซียและจีนมากขึ้น แทนที่จะมองทั้งสองประเทศเป็นศัตรูเหมือนทางฟากพรรค Republican ซึ่งเป็นสายเหยี่ยว

นอกจากนี้ Obama ยังได้ประกาศนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน โดยประกาศว่าจะมีการตั้งวงเงินถึง 5 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2012 เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าของ Obama ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแนวโน้มปกป้องทางการค้า โดยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ FTA ว่าส่งผลกระทบต่อคนงานอเมริกัน

ข้อจำกัด
ถึงแม้ว่า การประกาศนโยบายต่างประเทศของ Obama ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตามที่ผมได้กล่าวข้างต้นนั้น อาจจะสร้างความหวังให้กับชาวโลกว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมมองว่า มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย ที่ Obama จะประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆก็คือ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น Obama ขายฝันให้กับทั้งคนอเมริกันและชาวโลก และ Obama ก็ขายฝันสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่ยากกว่าการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็คือ การทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดี สิ่งที่ยากกว่าการขายฝัน ก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง

อุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ Obama ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศ คือ วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐที่คงจะทำให้ Obama จะต้องทุ่มเทเวลา ให้กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจภายใน มากกว่าที่จะมาเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก

อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของ Obama ในการสานฝันนโยบายต่างประเทศ คือ การขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนคนอเมริกัน ซึ่งขณะนี้ มองตรงกันว่า Obama ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในก่อน ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายในหลายๆเรื่อง หากทำจริงก็คงจะไม่ง่ายเลย ตัวอย่างเช่น การประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรักภายใน 16 เดือน ในความเป็นจริง หากสถานการณ์อิรักยังไม่นิ่ง Obama ก็คงจะไม่สามารถบรรลุตารางเวลาดังกล่าวได้

เช่นเดียวกับในกรณีอัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama ประกาศจะเพิ่มกองกำลัง แต่ทางฝ่ายพันธมิตร NATO หลายๆประเทศ กลับมีนโยบายสวนทาง อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน โปแลนด์และตุรกีได้ประกาศว่า อยากจะถอนทหารกลับประเทศตน

นอกจากนี้ ตามที่ Obama ได้ประกาศว่าจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของสหรัฐ แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องการสนับสนุนจากสาธารณชน โดยเฉพาะในกรณีการปิดเรือนจำที่อ่าว Guantanamo

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องที่ Obama ประกาศจะเปลี่ยนนโยบายในเรื่องภาวะโลกร้อน แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่กลับมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดคือ เรื่องนโยบายการค้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าประชาชนอเมริกันจะสนับสนุนการค้าเสรีน้อยลง ทั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ Obama เองก็มีแนวคิดที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเจรจา FTA ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐคงจะมีนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับประเทศคู้ค้าต่างๆ

กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ Obama จะขายฝันได้สำเร็จในเรื่องของความหวังและการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ แต่อุปสรรคที่จะสานฝันให้เป็นจริง ก็คงจะทำให้ Obama คงจะอยู่ในสถานะ “เข็นครกขึ้นภูเขา” ทีเดียว

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ชัยชนะของ Obama

ชัยชนะของ Obama
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4391

ในที่สุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ปรากฏผลออกมาแล้ว โดยนาย Barack Obama ผู้สมัครจากพรรค Democrat ได้มีชัยเหนือ John McCain ผู้สมัครจากพรรค Republican โดยชัยชนะก็เป็นไปตามความคาดหมาย แต่ที่เกินความคาดหมายคือ การที่ Obama ชนะอย่างขาดลอย หรือที่เราเรียกว่า ชนะแบบถล่มถลาย

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่ได้ยอดคะแนนทั้งหมด โดย Obama ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 349 เสียง ในขณะที่ McCainได้เพียง 147 เสียง โดย Obama ได้กวาดคะแนนจากรัฐต่างๆทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งรัฐต่างๆทางแถบ Midwest และรัฐริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด

สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ Obama ชนะ McCain อย่างขาดลอยนั้น มีอยู่ด้วยกัน 8ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

1. บุคลิกภาพ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ บุคลิกภาพของ Obama ซึ่งเป็นคนหนุ่ม แม้จะเป็นคนผิวสี แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงของอเมริกาไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนอเมริกันในขณะนี้ ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ

ในขณะที่ McCain มีบุคลิกภาพที่เป็นไปในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นอายุของ McCain และเป็นคนหัวเก่า สายเหยี่ยว อนุรักษ์นิยม แม้ว่า McCain จะพยายามเอาประสบการณ์มาเป็นจุดขาย แต่คนอเมริกันก็คงจะคิดว่า พอแล้วสำหรับประสบการณ์ 8 ปีของรัฐบาลพรรค Republican รัฐบาล Bush

2. นโยบาย
ปัจจัยแห่งชัยชนะอีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอนโยบายของ Obama ที่โดนใจคนอเมริกัน เพราะ Obama เน้นนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลง นโยบายที่จะนำอเมริกาให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ นโยบายสังคมที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนชั้นกลางและคนยากจน และนโยบายต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการกอบกู้ศักดิ์ศรีของสหรัฐกลับคืนมาในสายตาประชาคมโลก

3. กลุ่มผู้สนับสนุน
Obama ได้รับคะแนนนิยมจากกลุ่มต่างๆในสังคมอเมริกา โดยเฉพาะจากกลุ่มเสรีนิยมที่เป็นฐานเสียงพรรค Democrat อยู่แล้ว แต่กลุ่มที่ทำให้ Obama ชนะอย่างขาดลอย คือกลุ่มอิสระที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ที่เราเรียกว่ากลุ่ม Independents กลุ่มนี้จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามกระแส บางครั้งก็เลือก Republican บางครั้งก็เลือก Democrat แต่ในครั้งนี้ กลุ่มนี้เทเสียงให้กับ Obama อย่างเต็มที่ จนทำให้ Obama ชนะในรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรค Republican ที่สำคัญคือ ชัยชนะที่รัฐ Ohio และรัฐ Florida ที่ถือเป็นรัฐชี้ขาดการเลือกตั้ง

4. ประเด็นปัญหา
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Obama ชนะ McCain อย่างขาดลอย คือ เรื่องปัญหาที่คนอเมริกันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งก็เข้าทาง Obama เพราะเมื่อคนอเมริกันคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดขณะนี้ คือ เรื่องการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น คำถามที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ระหว่าง Obama กับ McCain ใครจะมีความสามารถดีกว่ากันในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลพรรค Republican รัฐบาล Bush ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับ McCain พูดง่ายๆก็คือ คนอเมริกันโทษ Bush ว่าเป็นคนทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้ และไม่เชื่อมือ McCain ในขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า Obama น่าจะมีทีมเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น และหากคนอเมริกันคิดว่าเรื่องสำคัญคือเรื่อง ความมั่นคง เรื่องการก่อการร้าย McCain ก็คงจะไม่แพ้ Obama อย่างถล่มถลายเช่นนี้ หรือดีไม่ดีอาจจะพลิกล็อกกลับมาชนะเสียด้วยซ้ำ

5. ความล้มเหลวของรัฐบาล Bush
ปัจจัยอีกประการที่ช่วยให้ Obama ชนะ McCain คือ ความล้มเหลวของรัฐบาล Bush ในการบริหารประเทศ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ในสายตาคนอเมริกัน ได้พิพากษาแล้วว่า รัฐบาล Bush ประสบความล้มเหลวอย่างมาก ในเกือบจะทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ได้นำประเทศดิ่งลงสู่ก้นเหวแห่งวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 นโยบายสังคมก็ล้มเหลว โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับคนจนและคนชั้นกลาง รวมทั้งนโยบายต่างประเทศ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ผลงานชิ้นโบว์ดำของรัฐบาล Bush คือการทำสงครามบุกยึดอิรัก ซึ่งคนอเมริกันส่วนใหญ่มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Bush ไม่ใช่แต่คนอเมริกันเท่านั้น แต่ชาวโลก ก็มองเช่นนั้น และมองว่าสงครามอิรักเป็นสงครามที่ไม่มีความชอบธรรม อเมริกาถูกมองว่าเป็นอันธพาล รังแกคนที่อ่อนแอกว่าที่ไม่มีทางสู้ จึงทำให้ชื่อเสียงของอเมริกาในการเป็นผู้นำโลกตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความล้มเหลวต่างๆเหล่านี้ ทำให้คนอเมริกันตัดสินใจว่า 8 ปี ของรัฐบาลพรรค Republican พอแล้ว และคงจะยอมรับไม่ไหวแล้วสำหรับรัฐบาลพรรค Republican ที่จะนำโดย John McCain

สำหรับ McCain ในตอนหลังๆก็คงจะรู้ตัวดีว่า Bush ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ คงจะเป็นลบมากกว่าจะเป็นบวก ในช่วงหลังๆ McCain จึงได้พยายามประกาศนโยบายที่จะไม่สานต่อนโยบายของ Bush แต่ดูเหมือนกับว่ามันสายไปแล้ว และคนอเมริกันก็ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ให้โอกาสรัฐบาลที่มาจากพรรค Republican อีกแล้ว คนอเมริกันตัดสินใจแล้วว่าจะให้โอกาสพรรค Democrat นำโดย Obama มาบริหารประเทศแทน

6. กระแสหลัก
ปัจจัยประการที่ 6 ที่ช่วยให้ Obama ชนะ McCain คือ กระแสหลักของสังคมอเมริกันที่กำลังเปลี่ยนจากขวาไปซ้าย จากกระแสอนุรักษ์นิยมไปสู่กระแสเสรีนิยม ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา จะมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของกระแสดังกล่าว เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา คือ ในช่วงหนึ่งจะนิยมอุดมการณ์เสรีนิยม และสนับสนุนพรรค Democrat แต่เมื่อพรรค Democrat บริหารประเทศไปได้ซักพักหนึ่ง คนอเมริกันจะเริ่มเบื่อ และหันไปหาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และเลือกพรรค Republican แต่เมื่อรัฐบาล Republican บริหารไปได้ซักพักหนึ่ง คนอเมริกันก็จะเริ่มเบื่ออีก และหันไปเลือกพรรค Democrat อีก ก็จะเป็นแบบนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เหมือนการแกว่งไปแกว่งมาของลูกตุ้มนาฬิกานั่นเอง

ขณะนี้ลูกตุ้มนาฬิกาของสังคมอเมริกา กำลังเหวี่ยงกลับมาที่อุดมการณ์เสรีนิยมและพรรค Democrat

7. Palin factor
ปัจจัยประการที่ 7 ที่ช่วยให้ Obama ชนะ McCain คือ การัดสินใจที่ผิดพลาดของ McCain ในการเลือก Sarah Palin มาลงชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับ McCain ในตอนแรก McCain คงหวังว่า Palin คงจะมาช่วยอุดจุดอ่อนของตน โดย Palin จะทำให้ภาพของ McCain ดูดีขึ้นเพราะ Palin เป็นสตรีและมีบุคลิกภาพดึงดูดคน ในตอนแรก จึงมีกระแส Palin fever ขึ้นอยู่พักหนึ่ง แต่หลังจากนั้น คนอเมริกันได้เริ่มตรวจสอบคุณสมบัติของ Palin อย่างละเอียด และได้พบจุดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะความอ่อนหัดทางด้านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ

ในที่สุดก็กลับตาลปัตร เพราะแทนที่ Palin จะเป็นตัวช่วย McCain กลับมาเป็นตัวฉุด เพราะเมื่อคนอเมริกันได้เริ่มตั้งคำถามว่า หาก McCain เป็นประธานาธิบดีแล้วเป็นอะไรไป ตามระบบของอเมริกา รองประธานาธิบดีจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน คำถามใหญ่ก็คือ แล้ว Palin จะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐได้หรือ คำตอบก็คือ Palin ยังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะเป็นประธานาธิบดีได้

8. สีผิว
ปัจจัยสุดท้ายที่ช่วย Obama ชนะ McCain คือการที่ปัจจัยเรื่องสีผิว ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 4 พฤศจิกายน หลายคนยังมีคำถามอยู่ในใจว่า คนอเมริกันพร้อมแล้วหรือ ที่จะมีประธานาธิบดีผิวสี ความรู้สึกเหยียดผิวในอเมริกา ในที่สุดจะทำให้คนผิวขาวไม่เลือกประธานาธิบดีผิวดำหรือไม่ แต่ในที่สุด การเลือกตั้งในวันที่ 4 พฤศจิกายน ก็ได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดเจนแล้วว่า สังคมอเมริกันได้เปลี่ยนไปมากในลักษณะที่เหลือเชื่อ และกลายเป็นว่า เรื่องสีผิวไม่ได้กลายเป็นปัจจัยในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างที่หลายคนกลัวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การประชุมสุดยอดปฏิรูประบบการเงินโลก

การประชุมสุดยอดปฏิรูประบบการเงินโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 7 - วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2551

แผนการจัดประชุมสุดยอด
ภายหลังจากเกิดวิกฤติการเงินลุกลามไปทั่วโลก ผู้นำของโลกตะวันตกเริ่มตื่นตัวที่จะหามาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของยุโรป โดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy และ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป คือ นาย Jose Manuel Barroso ได้เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดี Bush เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหว่านล้อมให้ประธานาธิบดี Bush จัดการประชุมสุดยอดเพื่อปฏิรูประบบการเงินโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม Dana Perino โฆษกทำเนียบขาว ได้ออกมาประกาศว่าการประชุมสุดยอดครั้งแรก กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ Washington D.C. โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดกลุ่ม G-20 เป็นครั้งแรก ทำเนียบขาวได้บอกว่า ผู้นำของสมาชิกกลุ่ม G-20 ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุมสุดยอด เพื่อหารือเรื่องวิกฤติการเงินในขณะนี้ รวมทั้งสาเหตุและมาตรการการปฏิรูประบบการเงินโลก การประชุมสุดยอดคงจะหารือถึงผลกระทบของวิกฤติต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วย

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Summit on Financial Markets and the World Economy” การประชุมในวันที่ 15 พฤศจิกายนจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก ซึ่งต่อไปจะมีการประชุมอีกหลายครั้ง ในการประชุมครั้งแรกนั้น คงจะเน้นตกลงกันในเรื่องของหลักการหลักๆ ส่วนในเรื่องรายละเอียดนั้น คงจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาและเสนอต่อการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป

ทางทำเนียบขาวมองว่า ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คงจะมีแนวคิดหลายแนวคิดเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูป และมองว่าในการประชุมครั้งแรก คงจะยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องมาตรการ คงจะเป็นการตกลงกันกว้างๆ

ส่วนประเทศที่เข้าประชุมนั้น ตามที่ได้กล่าวแล้ว คือกลุ่ม G-20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐตั้งขึ้นมาในช่วงหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1999 โดยเป็นการขยายวงออกไปจากกลุ่ม G-8 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มมหาอำนาจใหม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยนอกจากกลุ่ม G-8 แล้ว มี 3 ประเทศจากละตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก ส่วนประเทศจากเอเชีย มีจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ตะวันออกกลางมี ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ส่วนแอฟริกา มีประเทศแอฟริกาใต้

นอกจากนี้ ทางสหรัฐได้เชิญผู้อำนวยการ IMF ประธานธนาคารโลก และเลขาธิการ UN เข้าร่วมประชุมด้วย แต่โดยที่ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนั้น จะรู้แล้วว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ แต่ทางทำเนียบขาว ก็ยังไม่แน่ใจว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้หรือไม่

ท่าทีของตะวันตก
โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐมีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปฏิรูประบบการเงินโลก โดย Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาดและการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยสหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางยุโรป ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน

ผมดูแล้ว ท่าทีของสหรัฐน่าจะออกมาในลักษณะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปบ้างเล็กน้อย โดยคงจะเน้นในเรื่องของการเพิ่มความเข้มงวดการทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มความโปร่งใสให้กับระบบการเงิน และการเพิ่มบทบาทของ IMF

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐคงจะได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประเทศยุโรปและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมองว่าต้นตอของวิกฤติคราวนี้ ก็คือ ทุนนิยมแบบอเมริกันนั่นเอง โดยกระแสโลกในขณะนี้ คือ การต้องการจะถอยห่างจากระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐก็คงจะคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอการปฏิรูป ที่จะเป็นการทำลายทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยสหรัฐคงจะยืนยันในหลักการว่า กลไกภาครัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไร โดยผมมองว่า หาก Obama ชนะการเลือกตั้งคราวนี้ นโยบายของ Obama ในการปฏิรูประบบการเงินโลก น่าจะมีท่าทีประนีประนอมกว่าท่าทีของรัฐบาล Bush หรือของ McCain

หันมามองท่าทีของฝั่งยุโรป จะเห็นชัดเจนว่า แตกต่างจากท่าทีของสหรัฐอย่างมาก โดยผู้นำของยุโรปหลายคนได้ออกมาเสนอให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้กล่าวว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างมาก เช่นเดียวกับ นาย Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป การควบคุมระบบการเงินโลก การควบคุมสอดส่องการทำธุรกรรมทางการเงินและธนาคาร ผู้นำยุโรปหลายคนเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ Sarkozy ได้ย้ำว่าต้องมีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกครั้งใหญ่ โดย Sarkozy ถึงกับประกาศว่า ยุโรปต้องการระบบการเงินโลกใหม่ หรือ เรียกว่า Bretton Woods II แต่ข้อเสนอของทางยุโรป ก็คงจะได้รับการต่อต้านจากสหรัฐอย่างแน่นอน

ท่าทีของเอเชีย
จากการวิเคราะห์ข้างต้น อาจจะทำให้มองว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกครั้งนี้ คงจะเป็นการถกเถียงกันระหว่างยุโรปกับอเมริกาเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว ยังมีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ใช่ตะวันตก

ซึ่งหากจะแยกแยะกลุ่ม G-20 แล้ว จะมีประเทศตะวันตกเพียง 7 ประเทศ รวม EU ก็อาจจะเป็น 8 แต่ 12 ประเทศที่เหลือ เป็นประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก และส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนามหาอำนาจใหม่ ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศจากเอเชีย ซึ่งมีมุมมองการปฏิรูประบบการเงินโลกที่ต่างจากตะวันตก

แนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่งของวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน คือ แนวโน้มการผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งมีประชากรเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น ในขณะที่ตะวันตกซึ่งน่าจะมีท่าทีผลักดันการเพิ่มบทบาทของ IMF และธนาคารโลกในการปฏิรูประบบการเงินโลกนั้น แต่สำหรับเอเชียนั้น มีความรู้สึกขมขื่นกับ IMF และธนาคารโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทั้ง IMF และธนาคารโลกถูกครอบงำโดยตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ผู้อำนวยการ IMF จะเป็นชาวยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ประธานธนาคารโลก จะเป็นคนอเมริกันมาโดยตลอด สหรัฐเป็นประเทศที่ครอบงำสถาบันทั้งสอง และเป็นประเทศเดียวที่มีสิทธิยับยั้งในประเด็นสำคัญๆของทั้งสององค์กร

ประสบการณ์ของเอเชียนั้น มีความขมขื่นกับ IMF มาโดยตลอด โดยไม่ใช่แต่จะถูกกีดกัน ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใน IMF เท่านั้น แต่เอเชียจำได้ดีว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 IMF ได้เข้ามามีอำนาจบาตรใหญ่ในการกอบกู้วิกฤติต้มยำกุ้ง และมีมาตรการต่างๆที่บีบคั้นประเทศที่กู้เงินจาก IMF เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า IMF นั้น ดำเนินมาตรการต่างๆ ก็เพื่อสอดรับกับผลประโยชน์ของสหรัฐนั่นเอง ในช่วงนั้น ญี่ปุ่น ได้เคยเสนอจัดตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชีย แต่ก็ถูกสหรัฐคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะมองว่าจะมาเป็นคู่แข่งของ IMF

ดังนั้น เราคงจะต้องจับตามองว่า ในการประชุมสุดยอดในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจากเอเชีย จะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะต่อข้อเสนอของตะวันตกที่จะให้มีการเพิ่มบทบาทของ IMF ดังกล่าวข้างต้น

การปฏิรูประบบการเงินโลก

การปฏิรูประบบการเงินโลก
ไทยโพสต์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4377 วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม 2551

หลังจากที่วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกไปแล้ว ล่าสุดได้มีความพยายามจากผู้นำตะวันตก ที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงความพยายามผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลก ท่าทีของประเทศต่างๆ รูปร่างหน้าตาของการปฏิรูป รวมทั้งอุปสรรคต่อการปฏิรูป

แถลงการณ์ร่วม
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางฝ่ายยุโรปได้เดินหน้าผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ในฐานะประธาน EU และ นาย Jose Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เดินทางไปกรุง Washington D.C. เพื่อหารือกับประธานาธิบดี Bush โดยภายหลังการหารือกันได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมแจ้งว่า จะมีการจัดประชุมสุดยอดเพื่อการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น สถานที่คงเป็นในสหรัฐ และช่วงเวลา คงเป็นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมีแผนที่จะจัดประชุมสุดยอดหลายครั้ง โดยทั้งยุโรปและสหรัฐเห็นพ้องว่า ควรจะต้องมีการผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปรายละเอียด ท่าทีของสหรัฐและยุโรปก็แตกต่างกัน

ท่าทีของสหรัฐ
ในการประชุมดังกล่าวข้างต้น ประธานาธิบดี Bush ได้แถลงว่า วิกฤติการณ์การเงินในครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ Bush ก็ได้กล่าวว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่ทำลายระบบกลไกตลาดเสรี และต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรีในแนวที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด Bush ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางฝ่ายยุโรป ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน โดยกล่าวย้ำว่าการปฏิรูปจะต้องไม่กระเทือนถึงระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ตลาดเสรี และการค้าเสรี

ในเบื้องลึกนั้น สหรัฐซึ่งยังเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ยังคงมีความหวาดระแวงต่อข้อเสนอของประเทศอื่นๆ ที่อาจจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในโลกลดลง และอาจจะทำให้โลกเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดย Bush ยังคงยืนยันว่า สหรัฐจะต้องเล่นบทเป็นผู้นำโลกต่อไปในการปฏิรูประบบการเงินโลก หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐยังคงหวงแหนสถานะการเป็นผู้นำโลก คือ การบอกปัดข้อเสนอของเลขาธิการสหประชาชาติ คือ นาย Ban Kee Mun ที่เสนอจะให้มีการประชุมสุดยอดในกรอบของ UN

ท่าทีของสหรัฐนั้น ก็คงออกมาในลักษณะให้มีการปฏิรูปบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เป็นการถอนรากถอนโคน โดยสหรัฐน่าจะเน้นเรื่องของการสร้างความโปร่งใสในระบบการเงินโลก การกำหนดกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายของเงินทุน การลงทุน และการปรับปรุงบทบาทการควบคุมดูแลระบบการเงินโลกโดยสถาบันการเงินโลก

ท่าทีของยุโรป
แต่สำหรับผู้นำยุโรปนั้น มีท่าทีต่างจากท่าทีของสหรัฐค่อนข้างมาก โดยยุโรปต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน มีการพูดถึงขั้นให้มีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่เรียกว่า “Bretton Woods II” โดยนาย Barroso ถึงกลับประกาศกร้าวว่า เราต้องการระเบียบการเงินโลกใหม่ โดยยุโรปเน้นที่จะต้องมีการแทรกแซงกลไกตลาด และมีกฎระเบียบควบคุมระบบการเงินโลกที่เข้มงวด ยุโรปต้องการให้การประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้น หารือถึงการสร้างรูปแบบใหม่ของทุนนิยม และให้มีการควบคุมระบบการเงินอย่างมีประสิทธิภาพทั่วโลก

นาย Sarkozy ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนของวิกฤติการณ์การเงินโลก ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขวิกฤติในระดับโลก โดยกล่าวย้ำว่า พวก hedge fund และธุรกรรมที่ไม่โปร่งใสต่างๆ เป็นต้นตอของวิกฤติ และต่อไป จะต้องเข้าไปควบคุมอย่างจริงจัง Sarkozy ย้ำว่า “ระบบการเงินโลกและระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบัน เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ ระบบทุนนิยมปัจจุบันถือเป็นการทรยศหักหลังต่อระบบทุนนิยมที่เรายึดมั่นอยู่”

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Gordon Brown ซึ่งมาจากพรรคแรงงานของอังกฤษ มีอุดมการณ์แนวปฏิรูปอยู่แล้ว จึงได้เสนอที่จะให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกอย่างถอนรากถอนโคน โดยนาย Brown ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อที่จะเข้ามาควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน 30 สถาบันที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันของสหรัฐ Brown เสนอว่าน่าจะต้องมีการปฏิรูปองค์กรการเงินโลกที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Bretton Woods Brown ยังได้เสนอให้มีการปฏิรูป IMF โดยให้เล่นบทบาทเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับป้องกันไม่ให้วิกฤติเกิดขึ้นอีก Brown ได้เสนอว่า ขณะนี้โลกต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และระบบโลกาภิบาลทางด้านการเงิน

ข้อเสนอการปฏิรูประบบการเงินโลก
สำหรับแผนการจัดประชุมสุดยอดเพื่อปฏิรูประบบการเงินโลกนั้น ผู้นำตะวันตกได้กำหนดว่าควรจะมีหลายครั้ง โดยครั้งแรก จะเน้นในเรื่องของการพิจารณาความคืบหน้าในการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในขณะนี้ และจะพยายามตกลงกันในเรื่องของหลักการปฏิรูประบบการเงินโลก ส่วนการประชุมสุดยอดครั้งต่อๆไป จะเป็นการหารือถึงมาตรการต่างๆในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป

สำหรับประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนั้น ทางตะวันตกวางแผนว่า กลุ่มแกนหลักคือ G-8 และจะเชิญประเทศนอกกลุ่ม G-8 ที่สำคัญเข้าร่วม อาทิ จีน อินเดีย บราซิล เกาหลีใต้

ขณะนี้ได้มีข้อเสนอออกมาหลายข้อเสนอ โดยมีการมุ่งเป้าไปที่การปฏิรูป IMF อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ IMF มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ แต่สมาชิกก็ยังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ ว่า IMF ควรจะมีบทบาทอย่างไร โดยเฉพาะในการปฏิรูป IMF

บางคนจึงมองว่า หากไม่สามารถปฏิรูป IMF ได้ ก็ควรมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เพื่อมาควบคุมระบบการเงินโลก โดยในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ที่บราซิล ซึ่งได้มีข้อเสนอให้ประเทศกลุ่มนี้ ผลักดันจัดตั้งกลไกใหม่ ในลักษณะการตั้งวงเงินกู้ล่วงหน้าระหว่างกัน และให้มีการตั้งสำนักเลขาธิการ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการควบคุมตรวจสอบ จริงๆแล้ว IMF ควรจะเล่นบทสำนักเลขาธิการดังกล่าว แต่ก็มีหลายประเทศคัดค้าน จึงอาจต้องมีการตั้งกลไกใหม่ขึ้น

การปฏิรูป IMF นั้น คงจะมีปัญหาแน่นอน เพราะสหรัฐคงจะไม่สนับสนุนและคงจะยืนยันในหลักการทุนนิยมเสรีต่อไป โดยเน้นกลไกตลาด ในขณะที่ประเทศในเอเชีย ซึ่งเมื่อปี 1997 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็ได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว จากมาตรการของ IMF ตั้งแต่นั้นมา ประเทศในเอเชียก็สูญเสียศรัทธาใน IMF ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ประเทศในเอเชียก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในสถาบันนี้เลย

ผมอยากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า อนาคตของการปฏิรูประบบการเงินโลกคงไม่ง่าย เพราะมีอุปสรรคหลายเรื่อง ปัญหาใหญ่คือ ตัวตั้งตัวตีของการปฏิรูปในครั้งนี้คือ กลุ่มประเทศตะวันตก คือ กลุ่ม G-8 ซึ่งขณะนี้ กลุ่มG-8 กำลังประสบวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก เพราะ G-8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาคมโลกอย่างแท้จริง

การผงาดขึ้นมาของประเทศมหาอำนาจใหม่ อาทิ จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนา กำลังท้าทายการครอบงำองค์กรโลกของตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ ต้องการที่จะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างใหม่ของระบบโลกไปในทิศทางที่ตนต้องการ แต่ไม่ใช่ไปในทิศทางที่ตะวันตกต้องการ

ในอดีต กลุ่ม G-8 เคยมีบทบาทอย่างมากในการประสานท่าทีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้การประชุม G-8 ในปัจจุบัน ไม่มีความหมาย และไม่มีความชอบธรรม

สำหรับองค์กรการเงินโลกหลักคือ IMF และธนาคารโลกนั้น สหรัฐก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ผูกขาดอำนาจในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก สหรัฐจึงได้ใช้อำนาจดังกล่าวสร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมา ที่เราเรียกว่า Bretton Woods System

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และมหาอำนาจที่ไม่ใช่ตะวันตก แต่ประเทศเหล่านี้ ก็ไม่มีบทบาทใน IMF และธนาคารโลกเลย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้อำนวยการ IMF มาจากยุโรปโดยตลอด และประธานธนาคารโลก ก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนา ก็ไม่มีอำนาจการลงคะแนนเสียง (voting power) ใน IMF โดยมีการให้ voting power กับสหรัฐและยุโรปเป็นอย่างมาก โดยประเทศกำลังพัฒนาแทบจะไม่มี voting power เลย

วิกฤติการเงินโลก: ผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา

วิกฤติการเงินโลก: ผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม - พฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2551

ขณะนี้วิกฤติการเงินโลก ได้ลุกลามขยายตัวไปทั่วโลกแล้ว โดยเริ่มจากวิกฤติการเงินในสหรัฐก่อน หลังจากนั้น ได้ระบาดเข้าไปในยุโรป และขณะนี้ ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะการระบาดเข้าสู่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงแรกที่เกิดวิกฤติ subprime ใหม่ๆ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เฝ้ามองวิกฤติครั้งนี้ว่าคงจะจำกัดวงอยู่แต่ในโลกตะวันตก ธนาคารส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤติ subprime แม้ว่าจะมีการพูดกันว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้ นับว่าเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1930 แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ก็มองว่า น่าจะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของมรสุมการเงินในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ได้เริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า ประทศกำลังพัฒนาไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เงินลงทุนได้เริ่มหดหายไป รวมทั้งตลาดส่งออก และตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนาเอง ก็ตกต่ำอย่างหนัก บางตลาด มูลค่าหุ้น หายไปกว่าครึ่ง และค่าเงินสกุลต่างๆก็กำลังตกต่ำอย่างหนัก

ล่าสุด ในวันอังคารที่ 28 ตุลาคม ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปั่นป่วนและดิ่งลงเหวอย่างต่อเนื่อง โดยที่หนักที่สุด เป็นตลาดหุ้นในเอเชีย โดยตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่น ตกลงไปอีก 6% นับเป็นการตกต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี ในขณะที่ตลาดหุ้นฮั่งเส็งของฮ่องกงก็ตกลงถึง 12% ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า มาตรการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อาจจะไม่ได้ผล และอาจจะสายเกินไปที่จะป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเศรษฐกิจโลก

สำหรับในกรณีของไทย ก็กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก โดยทางสภาอุตสาหกรรมได้ประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยในปีหน้าจะมีคนตกงานถึงกว่า 1 ล้านคน ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบของการส่งออก ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ขณะนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำลังระส่ำระสายอย่างหนัก และกำลังจะล้มละลายกันเป็นแถว ตลาดหุ้นไทยก็ตกต่ำลงอย่างหนัก ขณะนี้ หลุด 400 จุดไปแล้ว

การส่งออก
ผลกระทบประการสำคัญของวิกฤติการเงินโลกต่อประเทศกำลังพัฒนา เรื่องแรกคือ การส่งออก การถดถอยลงของอุปสงค์ในตลาดสหรัฐและยุโรป ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงอยู่ที่สหรัฐและยุโรป ขณะนี้ มีการประเมินว่า การส่งออกของไทยไปตลาดตะวันตก ลดลงไปกว่า 30% แล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันคือ การตกต่ำลงอย่างมากของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรและราคาแร่ธาตุต่างๆ ในกรณีของไทย ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จากภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทย ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุสำคัญ กำลังประสบวิกฤติอย่างหนัก โดยเฉพาะราคา platinum และทอง ทำให้ค่าเงินของแอฟริกาใต้ตกต่ำลงอย่างน่ากลัว บราซิลซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ คิดเป็น 9% ของGDP ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน

การเงิน
วิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะการเงินของประเทศกำลังพัฒนา ระบบการเงินของหลายๆประเทศกำลังสั่นคลอน ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก ก็อาจจะรอดตัวไปได้ อย่างเช่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีเงินทุนสำรองอยู่ประมาณ 140,000 ล้านเหรียญ รัสเซียมีอยู่ 540,000 ล้านเหรียญ และประเทศที่มีเงินทุนสำรองมากที่สุดคือ จีน ซึ่งมีกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ

สำหรับในกรณีของเกาหลีใต้ รัฐบาลได้ออกมาค้ำประกันวงเงินกู้กว่า 1 แสนล้านเหรียญ รัสเซียก็ได้อัดฉีดเงิน 220,000 ล้านเหรียญเพื่อช่วยอุ้มสถาบันการเงินของตน

แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปกู้จาก IMF ซึ่งตอนนี้ มีฮังการีและยูเครนได้รับเงินกู้จาก IMF ไปแล้ว และยังมีอีกกว่า 10 ประเทศที่กำลังเจรจากับ IMF อยู่

สำหรับวิกฤติการการเงินในประเทศกำลังพัฒนานั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤติการเงินในยุโรปและสหรัฐ โดยเงินกู้จากธนาคารสหรัฐและยุโรปได้เหือดหายไป และมีการถอนทุนจากพวก hedge fund และนักลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้ธุรกิจการให้กู้เกิดสะดุด ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจเงินกู้เป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายภายในที่สำคัญ แต่เมื่อธุรกิจการให้กู้สะดุด ก็ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง

แต่ผลกระทบในเรื่องนี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะจีนและประเทศส่งออกน้ำมัน จะได้รับผลกระทบน้อย แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งคิดเป็นกว่า 5%ของ GDP ที่หนักที่สุดคือ ประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งหลายประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 10%

นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนากำลังประสบกับการไหลออกของเงินทุนอย่างหนัก โดยมีการคาดกันว่า ในปีนี้ เงินทุนไหลเข้าจะลดลงกว่า 30% ของปีที่แล้ว

สำหรับประเทศจีน น่าจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพื่อนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้เพราะจีนมีเงินทุนสำรองกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินในตะวันตกค่อนข้างน้อย และดุลงบประมาณก็เกินดุลเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จีนก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน คาดว่าจะลดลงเหลือแค่ 8% ซึ่งในอดีตนั้น จีนโตเกินกว่า 10% มาโดยตลอด

สำหรับประเทศอื่น ก็จะตกอยู่ในสภาวะล่อแหลม อินเดียขณะนี้ ขาดดุลงบประมาณมหาศาล และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล คิดเป็นถึง 3.6% ของ GDP

สถานะการเงินของบราซิลก็น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของบราซิลในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะบราซิลเคยเกิดวิกฤติการเงินหลายครั้ง จึงทำให้มีบทเรียนเหมือนกับประเทศไทย ซึ่งได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว บราซิล จึงได้มีมาตรการกระจายความเสี่ยง กระจายตลาด และมีเงินทุนสำรองค่อนข้างมาก
ซึ่งสถานะของบราซิลก็คล้ายๆกับของไทย คือ บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ไทยค่อนข้างระมัดระวังตัว โดยไทยมีเงินทุนสำรองอยู่ไม่น้อย มีการกระจายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น มีการปฏิรูปสถาบันการเงิน และเข้มงวดกวดขันในการปล่อยเงินกู้ และมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

แต่ขณะนี้ ประเทศที่ดูน่าเป็นห่วงมากคือ กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งกำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ภาวะหนี้สินของภาครัฐสูง การกู้ยืมเงินของภาคเอกชนก็อยู่ในระดับสูงมาก มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการควบคุมการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้หลายๆประเทศกำลังจะประสบภาวะล้มละลาย และหลายประเทศก็กำลังแสวงหาความช่วยเหลือจาก IMF

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา IMF ได้ประกาศปล่อยเงินกู้ให้ความช่วยเหลือแก่ฮังการีและยูเครนไปแล้ว ในกรณีของฮังการีนั้น อาการค่อนข้างหนัก โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ค่าเงินของฮังการีได้ตกลงอย่างมาก และตลาดหุ้นฮังการี ก็ปั่นป่วนอย่างหนัก จนต้องปิดทำการเป็นเวลา 2 วัน IMF จึงได้ทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกับเยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี และธนาคารโลกในการช่วยกันลงขันเงินกู้ให้กับฮังการี สำหรับในกรณีของยูเครนนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม IMF ได้ประกาศวงเงินกู้ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับยูเครน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 7

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ(ตอนที่ 7)
นโยบายต่อเอเชียของ Obama และ McCain

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2551

ขณะนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว ขณะนี้ Obama มีคะแนนนำ McCain อยู่ เราคงต้องจับตาดูในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ว่า จะออกหัวออกก้อยอย่างไร แต่สำหรับคอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ว่า นโยบายของ Obama และ McCain ต่อเอเชียนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ภาพรวม
Obama และ McCain นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมากในแนวนโยบาย เพราะ Obama เป็นเสรีนิยมและเป็นสายพิราบ ขณะที่ McCain เป็นอนุรักษ์นิยมตัวยง และมีแนวนโยบายต่างประเทศแบบสายเหยี่ยวแบบสุดๆ

นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น เป็นไปตามแนวเสรีนิยมที่เน้นการมองโลกในแง่ดี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เน้นสันติภาพและไม่นิยมการใช้กำลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูนโยบายต่างประเทศของ McCain ก็ต่างจาก Obama แบบขาวกับดำ โดย McCain มองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ จะเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความเลว ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ McCain มีนโยบายชาตินิยมแบบสุดโต่ง โดยมองว่าสหรัฐมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือ การสร้างประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทั่วโลก

สำหรับในเอเชียนั้น Obama มองว่าควรจะปฏิรูปนโยบายใหม่ โดยเน้นการพัฒนาสถาบันความร่วมมือในเอเชีย ในอดีต สหรัฐเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีมากเกินไป แต่สำหรับ McCain นโยบายของเขากลับเป็นคนละเรื่องกับ Obama โดย McCain มุ่งเป้าไปที่การเล่นงานประเทศเผด็จการในเอเชีย โดยเฉพาะ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า McCain เน้นสร้างพันธมิตรของประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาค เพื่อร่วมมือกันเล่นงานประเทศเผด็จการ

Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush ต่อเอเชียว่า เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ให้ความสำคัญกับเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรงมากเกินไป ทำให้เอเชียได้สูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของสหรัฐ สงครามอิรักได้ทำให้สหรัฐไม่สามารถให้ความสำคัญกับเอเชียเท่าที่ควร Obama เชื่อว่า สหรัฐควรจะกลับมาส่งเสริมพันธมิตรและสถาปนาเวทีพหุภาคี และกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐกลับคืนมาโดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในเอเชีย โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย และแนวโน้มพัฒนาการของสถาบันในภูมิภาค

ในขณะที่ McCain กลับมองว่าสหรัฐจะต้องสานต่อนโยบายของ Bush เน้นการเป็นผู้นำของสหรัฐ โดย McCain กลับมองสวนทางกับ Obama ว่า สหรัฐขณะนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จีน
สำหรับจีนนั้น McCain มองว่าเป็นศัตรู และจีนกำลังพัฒนากองกำลังทหารขนานใหญ่เพื่อท้าทายสหรัฐและครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค จีนเป็นประเทศเผด็จการและเป็นอันธพาลคุกคามไต้หวัน รวมทั้งใกล้ชิดกับประเทศเผด็จการต่างๆทั่วโลก อาทิ พม่า ซูดาน McCain ยังกล่าวหาจีนว่ากำลังพยายามสร้างกลุ่มเอเชียขึ้นมา โดยจะมีจีนเป็นผู้นำ เพื่อกีดกันสหรัฐออกไปจากเอเชีย

แต่สำหรับ Obama มองจีนต่างจาก McCain อย่างสิ้นเชิง โดย Obama มองจีนในแง่บวก และมองว่าการผงาดขึ้นมาของจีน จะทำให้จีนมีบทบาทความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น Obama มองว่า จะต้องมีการปรับนโยบายใหม่ต่อจีนซึ่งจะต่างจากนโยบายของ Bush ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สหรัฐกับจีนสามารถร่วมมือกันได้ในหลายๆเรื่อง อย่างเช่น ความร่วมมือในการเจรจา 6 ฝ่าย ในปัญหาเกาหลีเหนือ ปัญหาภาวะโลกร้อนก็ต้องการความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งจีนและสหรัฐกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด Obama ยังมองว่าจะสร้างความร่วมมือกับจีนในการป้องกันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ความร่วมมือในการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟู และการส่งเสริมประชาธิปไตย

ในขณะที่ McCain มองจีนในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากำลังทหาร นโยบายเศรษฐกิจที่มีลักษณะกีดกันทางการค้า การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความสัมพันธ์กับซูดานและพม่า ดังนั้นในสายตาของ McCain ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องสร้างพันธมิตรกับประเทศในเอเชียเพื่อกดดันจีน

ญี่ปุ่น
สำหรับนโยบายต่อญี่ปุ่นนั้น ในสายตาของ McCain ซึ่งมองโลกเป็นขาวกับดำนั้น ก็มองว่าพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นจะมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่จะร่วมมือกันกดดันเกาหลีเหนือและจีน McCain เน้นว่าพันธมิตรระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน นอกจากนี้ McCain เน้นว่า พันธมิตรสหรัฐ – ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกันอีกด้วย นั่นคือ ค่านิยมประชาธิปไตยซึ่ง McCain ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ Obama ก็ให้ความสำคัญกับพันธมิตรสหรัฐ - ญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่กลับโจมตีรัฐบาล Bush ว่ากลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ (อาทิ สงครามอิรัก) จนละเลยความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น Obama มองว่าความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ควรเป็นในเชิงบวก โดยร่วมมือกันเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆของโลก

ผมมองว่าข้อแตกต่างระหว่าง McCain กับ Obama ในประเด็นนี้คือ McCain มองว่าญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการปิดล้อมจีน แต่ Obama ไม่ได้มองในลักษณะนั้น แต่กลับมองว่าพันธมิตรสหรัฐ - ญี่ปุ่นน่าจะมุ่งไปสู่ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่างๆของโลก

เกาหลีเหนือ
สำหรับในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้น จุดยืนหลักของ Obama คือการเน้นการเจรจาและสันติวิธี โดยมองว่าการที่รัฐบาล Bush ได้ตัดสินใจถอนเกาหลีเหนือออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมองว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะเผชิญกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือด้วยการทูตทั้งพหุภาคีและทวิภาคี

ในขณะที่ McCain มองว่าการทูตอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ และเขาไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะยอมยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการเจรจาอย่างเดียว โดย McCain สนับสนุนให้มีความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งมาตรการจากคณะมนตรีความมั่นคง
ข้อแตกต่างที่สำคัญที่ผมเห็นคือ Obama จะเน้นการทูต รวมทั้งการเจรจา 2 ฝ่าย ซึ่ง McCain ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ McCain มองว่า การจัดการเกาหลีเหนือนั้นจะต้องใช้มาตรการอย่างอื่น นอกเหนือจากการทูต

การค้า
McCain มีนโยบายต่างประเทศด้านการเมืองความมั่นคงแบบสายเหยี่ยว แต่สำหรับด้านการค้านั้น McCain มีจุดยืนด้านการค้าเหมือนอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ คือเน้นการค้าเสรี โดย McCain ประกาศสนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ และจะขยายการทำ FTA กับประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับในเอเชีย McCain มองว่าสหรัฐควรจะเป็นผู้นำในการเปิดเสรีการค้าในเอเชีย ด้วยการเดินหน้าเจรจา FTA กับมาเลเซียและไทยต่อ โดยมองว่า FTA ที่สหรัฐเซ็นกับประเทศในเอเชียไปแล้ว คือ กับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ทำให้สหรัฐได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ McCain ได้กล่าวโจมตีนักการเมืองสหรัฐที่ต่อต้าน FTA ซึ่งรวมถึง Obama ด้วย

สำหรับ Obama นั้น มีท่าทีต่อต้าน FTA มากขึ้น โดยมองว่า FTA ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานในสหรัฐ และประกาศต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เพื่อเป็นการเอาใจคนงานอเมริกันซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต Obama เน้นว่า หากสหรัฐจะเจรจา FTA ต่อ ก็ควรเป็น FTA ที่มีคุณภาพ และควรมีเนื้อหาเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย