Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 4)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 4)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 45 วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม - วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตอนที่ 3 ไปแล้ว ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในสมัยรัฐบาลทักษิณ คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน ดังนี้

2. ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในปัจจุบัน
2.1 ภาพรวม


ในปัจจุบัน ในยุคหลังรัฐบาลทักษิณ สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐราบรื่นมาตลอด โดยได้มีการจัดประชุมระหว่างกระทรวงต่างประเทศไทยกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเรียกว่า strategic dialogue และได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐทางด้านยุทธศาสตร์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ทำให้สหรัฐแสดงความเป็นห่วงและกลัวว่าสถานการณ์จะบานปลาย กลายเป็นการก่อการร้ายระหว่างประเทศ สหรัฐจึงพยายามเสนอตัวที่จะเข้ามาช่วย แต่ไทยก็ยังยืนยันว่า เรื่องภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทย
อีกเรื่องหนึ่งที่สะดุดคือ การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งในระยะหลังได้มีการประท้วงต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ และในตอนหลังก็มีการยุบสภา จึงทำให้รัฐบาลรักษาการหยุดการเจรจา

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2006 รัฐบาลสหรัฐได้ออกมากล่าวแสดงความไม่พอใจต่อการทำรัฐประหาร และได้มีการขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือทางด้านการทหารต่อไทย

แต่หลังจากที่ไทยได้กลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย โดยได้มีการเลือกตั้งในปี 2007 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย จนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ราบรื่นมาโดยตลอด

2.2 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์
2.2.1 Hillary Clinton เยือนไทย


ไฮไลท์ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์เกิดขึ้นในช่วงที่ Hillary Clinton
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต ในช่วงเดือน กรกฎาคม ปี 2009

เมื่อ Hillary มาถึงไทยในวันที่ 21 กรกฎาคม ภารกิจแรกคือ เข้าพบและหารือกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในระหว่างการหารือ นายกอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และถึงแม้ขณะนี้โลกกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ นายกอภิสิทธิ์ยังได้หารือกับนาง Hillary ถึงเรื่องปัญหาการค้า โดยเน้นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและไทยควรจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าคือ GSP ต่อไป สำหรับในฐานะประธานอาเซียน นายกอภิสิทธิ์กล่าวแสดงความยินดีที่สหรัฐตัดสินใจที่จะภาคยานุวัติหรือให้การรับรองต่อสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น

ในส่วนของ Hillary ได้กล่าวว่า สหรัฐต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ เป็นประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเหนือสิ่งอื่นใด คือเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนานถึง 175 ปี Hillary ได้ใช้ภาษาดอกไม้ ยาหอมประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยบอกว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เล่นบทบาทสำคัญในการจัดประชุมอาเซียนและผลักดันจุดยืนในเชิงสร้างสรรค์ต่อปัญหาในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาพม่าและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ Hillary ยังกล่าวถึงพันธมิตรทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยกล่าวถึงการซ้อมรบ Cobra Gold และการที่ไทยสนับสนุนทหารสหรัฐนั้น ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหารสหรัฐทั่วโลก

2.2.2 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐกับยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” ของทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมา สถานการณ์ความสัมพันธ์ล่าสุดไทย-สหรัฐก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองไทย โดยเฉพาะจากยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” ของทักษิณ

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณ ในยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” คือ ความพยายามที่จะ lobby รัฐบาลและสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยทักษิณได้ว่าจ้างบริษัท lobby ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ชื่อ Barbour, Griffith and Roger (BGR) โดยบุคคลที่อยู่ในบริษัทดังกล่าว หลายคนเป็นอดีตข้าราชการและมีอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรส ตัวอย่างเช่น ทูต Robert Blackwill ซึ่งเคยเป็นรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Bush และยังเคยเป็นทูตที่อินเดีย และที่อิรัก มีข่าวว่า Blackwill มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดี Bush เป็นอย่างมาก ทีม lobbyist ของทักษิณยังมี Stephen Rademaker ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการนโยบายความมั่นคงของ Bill first ผู้นำเสียงข้างมากในสภา senate และ Jonathan Mantz อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงินของ Hillary Clinton ในสมัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา และ Walker Roberts อดีตรองผู้อำนวยการของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณในการ lobby สหรัฐ คือ การส่งนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ เดินทางไปสหรัฐ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อพบปะกับบุคคลในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐ เพื่อ lobby ร่างข้อมติของสภาคองเกรสเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

อย่างไรก็ตาม นายเกียรติ สิทธีอมร หัวหน้าผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ออกมาให้ข่าวว่า นายนพดลไม่ได้พบกับสส.ของสหรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่ได้พบกับผู้ช่วยของ สส. และ สว. และเจ้าหน้าที่ในระดับล่างของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเท่านั้น และการ lobby ของนายนพดลก็ไม่น่าจะมีผลใดใดต่อการลงมติเกี่ยวกับร่างข้อมติดังกล่าว

ก่อนหน้านั้น มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามจะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดย Scot Marciel รองอธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสว่า สหรัฐพยายามที่จะปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายในไทย และสนับสนุนแผนการสร้างความปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์กังวลใจ จึงได้ส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ไปสหรัฐในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งก็เป็นการเดินทางตัดหน้านายนพดล

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐได้ลงมติรับร่างข้อมติเกี่ยวกับไทย ด้วยเสียง 411 ต่อ 4 โดยสาระสำคัญของข้อมติดังกล่าว สนับสนุนให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และเห็นด้วยกับแผนปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์
(โปรดติดตามอ่านต่อ ตอนที่ 5 ในคอลัมน์โลกทรรศน์ สัปดาห์หน้า)