Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ภัยคุกคามสหรัฐปี 2010

ภัยคุกคามสหรัฐปี 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 21 วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33

ในช่วงต้นปีของทุกปี หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐ จะมีการเผยแพร่เอกสารประเมินภัยคุกคามประจำปี คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารการประเมินภัยคุกคามประจำปี 2010 ดังนี้

ภัยคุกคามในอินเตอร์เน็ต

ปีนี้ เป็นปีแรกที่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐมองว่า ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ คือภัยคุกคามในอินเตอร์เน็ต โดยบอกว่า ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก

สหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับภัยอันตรายในรูปแบบใหม่ ประสิทธิภาพของศัตรูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลขาดแผนที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนถูกโจรกรรมทุกวันทั้งจากเครือข่ายของรัฐบาลและเครือข่ายของเอกชน สหรัฐกำลังเผชิญกับประเทศที่เป็นอริกับสหรัฐ หรือเป็นคู่แข่ง (จีนถูกกล่าวหามาตลอดว่า แฮกหรือโจรกรรมข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐเป็นประจำ) นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายการก่อการร้าย องค์กรอาชญากรรม โดยกลุ่มก่อการร้ายได้ประกาศชัดเจนว่า ต้องการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของสหรัฐ ในขณะที่กลุ่มอาชญากร ก็ได้เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นอย่างมากในการโจรกรรมข้อมูล กลุ่มอาชญากรทางอินเตอร์เน็ต ได้พยายามคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ซึ่งทำให้การป้องกันเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น ตามไม่ทัน อย่างเช่นในปี 2009 มีการใช้ Malware ซึ่งเทคโนโลยีการตรวจจับไวรัสก็ตามไม่ทัน ในปี 2008 ก็มี Conficker worm

ผมมองว่า ภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ตนั้น กำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เพราะกลุ่มที่ต้องการแฮกข้อมูลได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราตามไม่ทัน ข้อมูลบางเรื่อง ก็เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ

การก่อการร้าย

เรื่องต่อมาที่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐให้ความสำคัญในปีนี้คือ ปัญหาการก่อการร้าย ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาหลายปีแล้ว ปีที่แล้ว การก่อการร้ายยังคงมีอยู่ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ และในปีนี้ ภัยก่อการร้ายจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

สหรัฐมองว่า กลุ่มก่อการร้าย Al Qaida ยังคงเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด Al Qaida ยังคงมุ่งมั่นที่จะโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐ โดยเฉพาะการที่จะก่อวินาศกรรมแบบเหตุการณ์ 11 กันยา Al Qaida ยังคงมีความสามารถในการแสวงหาสมาชิกใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งการฝึกและวางแผนในการโจมตีสหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หาก Al Qaida สามารถที่จะมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง โดยเฉพาะอาวุธเคมี อาวุธเชื้อโรค อาวุธกัมมันตภาพรังสี และอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ กลุ่มสาขาย่อยของ Al Qaida ก็กระจายอยู่ทั่วโลก ที่สหรัฐวิตกกังวลคือ กลุ่ม Al Qaida ในคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Al Qaida in the Arabian Peninsula (AQAP) จากการสอบสวนเหตุการณ์ที่จะระเบิดเครื่องบินสหรัฐในวันคริสต์มาสปีที่แล้ว พบว่าเป็นฝีมือของกลุ่มนี้ กลุ่ม AQAP ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเยเมน กำลังพยายามที่จะก่อวินาศกรรมทั้งในเยเมนและซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอื่นๆที่สหรัฐเฝ้าระวัง อาทิ กลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานที่เชื่อมโยงกับ Al Qaida กลุ่มก่อการร้ายในอิรักที่มีอุดมการณ์ต่อต้านตะวันตกเช่นเดียวกับ Al Qaida และกลุ่ม Al Qaida ในแอฟริกาตะวันออก

ผมมองว่า ในปีนี้ ปัญหาการก่อการร้าย น่าจะยังคงลุกลามบานปลายไม่จบ ถึงแม้ว่า ปีที่แล้ว Obama จะได้ประกาศยุคใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและโลกมุสลิมแล้วก็ตาม แต่การประกาศนโยบายดังกล่าว จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ภัยคุกคามจากอาวุธร้ายแรง

อีกเรื่องที่สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม คือเรื่องการพัฒนาอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งอาวุธเคมีและอาวุธเชื้อโรค

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีในการผลิตอาวุธร้ายแรงได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว จึงเป็นการยากที่สหรัฐ จะสามารถป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธดังกล่าว ขณะนี้ สหรัฐยังไม่สามารถระบุได้ว่า ประเทศใดที่ให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องอาวุธร้ายแรงแก่ขบวนการก่อการร้าย แต่สหรัฐก็เป็นห่วงกังวลอย่างมากต่อแนวโน้มที่ผู้ก่อการร้ายจะมีอาวุธดังกล่าว

สำหรับในกรณีของอิหร่าน สหรัฐมองว่า อิหร่านละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และยังคงเดินหน้าพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐประเมินว่า อิหร่านอาจจะพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ตาม

จากการประเมินล่าสุดพบว่า อิหร่านได้พัฒนาศักยภาพในเรื่องนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพแร่ยูเรเนียมที่เมือง Natanz ก็เพิ่มขึ้นจากจำนวน 3,000 เครื่อง เป็น 8,000 เครื่อง และอิหร่านยังได้สะสมแร่ยูเรเนียมถึง 1,800 กิโลกรัม นอกจากนี้ สหรัฐยังได้กล่าวหาว่าอิหร่านได้แอบสร้างโรงงานนิวเคลียร์แห่งที่สอง ที่เมือง Qom โดยทางสหรัฐสรุปว่า ขณะนี้อิหร่านมีความสามารถที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และจะมีแร่ยูเรเนียมเพียงพอสำหรับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐมองว่า โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังได้ส่งออกขีปนาวุธและวัตถุดิบอาวุธร้ายแรงให้กับอิหร่านและปากีสถาน และกำลังช่วยเหลือซีเรียในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ไปแล้วสองครั้ง สหรัฐมีนโยบายอย่างแน่วแน่ที่จะไม่ยอมรับการมีอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

ผมมองว่า ถึงแม้ปีที่แล้ว Obama จะได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยหันมาใช้ไม้อ่อน คือนโยบายปฏิสัมพันธ์ และเริ่มเจรจากับอิหร่านและเกาหลีเหนือ แต่ขณะนี้ ผลของนโยบายปฏิสัมพันธ์ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ท่าทีของทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีท่าทีที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

อัฟกานิสถานและปากีสถาน

ภัยคุกคามเรื่องใหญ่เรื่องสุดท้ายที่ผมจะสรุป คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน
ในรายงานประจำปีของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐชี้ว่า การก่อการร้ายของนักรบตาลีบันในอัฟกานิสถาน กำลังเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ นักรบตาลีบันได้ขยายอิทธิพลจากทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขตของชาว Pashtun ขึ้นมาทางเหนือของอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ กลุ่ม Al-Qaida ได้ร่วมกับนักรบตาลีบันในการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานด้วย สหรัฐประเมินว่า น่าจะมีสมาชิก Al-Qaida ในอัฟกานิสถานหลายร้อยคน และนักรบตาลีบันอีกหลายพันคน

สำหรับในปากีสถาน ก็มีกลุ่มติดอาวุธร่วมกับ Al-Qaida ร่วมกันก่อวินาศกรรมและก่อการร้ายในปากีสถาน ทั้งนี้ นักรบตาลีบัน Al-Qaida และกลุ่มติดอาวุธปากีสถาน รวมตัวกันใช้ปากีสถานเป็นแหล่งซ่องสุมใหม่ของการฝึกและวางแผนการโจมตีสหรัฐและพันธมิตรทั่วโลก

สำหรับฝ่ายทหารของปากีสถาน กลับมองว่า กลุ่มก่อการร้ายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับอินเดีย ซึ่งป็นคู่อริของปากีสถาน ดังนั้นฝ่ายทหารของปากีสถานจึงไม่เต็มใจที่จะปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานให้สิ้นซาก

ดังนั้น กลุ่มก่อการร้ายตาลีบันในปากีสถานจึงกำลังขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ และท้าทายรัฐบาลปากีสถานมากขึ้น จึงมีแนวโน้มว่า จะมีการก่อการร้ายและก่อวินาศกรรมมากขึ้นในเมืองต่างๆของปากีสถาน

ผมมองว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานอาจจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ แม้ว่าปีที่แล้ว Obama จะตัดสินใจเพิ่มจำนวนทหาร 30,000 คน แต่ก็เป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมากว่าจะซ้ำรอยสงครามเวียดนาม ในปีนี้ จึงต้องจับตาดูว่า การบ้านชิ้นยากสุดของ Obama คือสงครามอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร แต่ผมเดาว่า การที่สหรัฐหวังจะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานคงไม่ใช่เรื่องง่าย

และสำหรับสงครามระหว่างปากีสถานกับนักรบตาลีบัน ก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ ขณะนี้ นักรบตาลีบันได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้น ถึงความมั่นคงปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ในปากีสถาน

การประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama ต่อเอเชีย

การประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama ต่อเอเชีย
ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 4

Outline ของผมคือ ผมจะพูดถึงเรื่อง grand strategy ก่อน ต่อมา ก็จะพูด 1 ปีของ Obama ว่าทำอะไรไปบ้าง ในระดับโลก ระดับภูมิภาค ต่อมา ก็มาถึงอาเซียน และไทย

grand strategy

ประเด็นแรก เรื่อง grand strategy ผมคิดว่า สหรัฐฯ มี grand strategy ต่อเอเชีย เป็นไปไม่ได้ที่อภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกจะไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่ เป็นไปไม่ได้ที่มหาอำนาจของโลกจะไม่มีวัตถุประสงค์หลักว่า ต้องการอะไรจากเอเชีย

สหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า unipolar คือ 1 ขั้วอำนาจ บางทีเราใช้ hegemon คือ เจ้า ในสมัยของ Bush ที่พยายามครองความเป็นเจ้าหนัก ๆ เราก็จะเรียกสหรัฐฯ ว่า เป็นเจ้าจักรวรรดิโรมันใหม่ new roman empire ที่ผมคิดว่าเป็นวัตถุประสงค์ หรือเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คือ จะทำยังไง ถึงจะให้สหรัฐฯ นั้น ดำรงครองความเป็นเจ้า อันดับหนึ่งของโลก ต่อไปให้ได้ยาวนานที่สุด นี่คือวัตถุประสงค์พื้นฐานที่สุด

ยุทธศาสตร์ที่สองคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า คือ ต้องป้องกันไม่ให้ใครขึ้นมาท้าทายความเป็นเจ้า ต้องป้องกันไม่ให้มีคู่แข่ง ผู้ท้าทาย หรือมาแย่งอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ไป เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปแล้ว เราก็เห็นสถิติ ตัวเลขต่าง ๆ ชัดเจน ที่ชี้ให้เห็นถึงการผงาดขึ้นมาของจีน “the rise of China” ไม่ว่าจะมองยังไงก็ตาม ทิศทางก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด คือ จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดโลก ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ว่าในอนาคต จีนจะแซงแน่นอน คำถาม ณ ตอนนี้ ไม่ได้คำถาม “if” แต่เป็น “when” คือเมื่อไรที่จีนจะแซงสหรัฐฯ ในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

เราเห็นแล้วว่า ทุกวันนี้ จีนดำเนินนโยบายในเชิงรุกต่าง ๆ มากขึ้น และแซงสหรัฐฯ ไปในบางเรื่อง ในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี ก็กำลังไล่กวด ล่าสุด ปีที่แล้ว จีนก็แซงสหรัฐฯ ในเรื่องเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกอีกต่างหาก จากที่ สหรัฐฯ เป็นเจ้าเหรียญทองมาโดยตลอด แต่เมื่อปี 2008 จีนก็กลายเป็นเจ้าเหรียญทอง

เรื่องการผงาดขึ้นมาของจีนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับโลกเรา และสำหรับสหรัฐฯ และภูมิภาคนี้ด้วย เพราะการผงาดขึ้นมาของจีน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลก จีนจะมีพฤติกรรมอย่างไร ในเมื่อจีนจะกลายเป็นอภิอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แทนที่สหรัฐฯ จีนจะยังคงยอมรับในระเบียบโลกที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ และสหรัฐฯ จะยอมรับสภาพหรือไม่ ในสถานะใหม่ของจีนที่ขึ้นมาเทียบชั้นอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เรายังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจน

แต่ว่าข้อสำคัญ ก็คือว่า สหรัฐฯจะต้อง play safe การ play safe ของ สหรัฐฯคือ การพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีน พยายามที่จะถ่วงดุลอำนาจกับจีน เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ กำลังรู้สึกมีความไม่แน่นอนกับการผงาดขึ้นมาของจีนว่า จะเป็นลบหรือเป็นบวกมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น หลาย ๆ ประเทศก็พยายาม play safe เช่นเดียวกัน คือ การดึงเอาสหรัฐฯ กลับคืนมาสู่ภูมิภาคนี้ เพื่อที่จะมาถ่วงดุลอำนาจกับจีน ญี่ปุ่นก็เล่นเกมนี้ อินเดียก็เล่นเกมนี้ อาเซียนก็เล่นเกมนี้ ออสเตรเลียก็เล่นเกมนี้ ทุกประเทศ ขณะนี้ กำลังเล่นเกมเดียวกันหมดคือ เกมถ่วงดุลอำนาจจีน ดังนั้น ผมขอย้ำว่า เรื่อง China factor ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรม นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค และต่อไทยด้วย เพราะไทยก็จะเป็นจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งในยุทธศาสตร์การสกัดจีน ของสหรัฐฯ

ถ้าเราติดตามเรื่องของยุทธศาสตร์จีนในภูมิภาค เราจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมาแรงมากในการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน จีนเป็นประเทศแรกที่เสนอทำ FTA กับอาเซียน จีนเป็นประเทศแรกที่รับรองสนธิสัญญา Treaty of Amity and Cooperation (TAC) กับอาเซียน จีนเป็นประเทศที่ทำปฏิญญาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนเป็นประเทศแรก คือโดยรวมแล้ว จีนกำลังใกล้ชิดกับอาเซียนอย่างมาก ซึ่งทำให้อเมริกาจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์ ทบทวนยุทธศาสตร์ต่ออาเซียน เพื่อที่จะแข่งกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ เป็น grand strategy ที่สำคัญ หนึ่งคือ การครองความเป็นเจ้า สองคือ ความพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีน สามคือ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอันนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ เราคงจะเห็นแล้วว่า ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็วุ่นอยู่กับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแนวรบที่สอง คือ เป็น second front ของสงครามการต่อต้านการก่อร้ายของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็มากระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ภายใต้คำว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”

ประเด็นที่สี่ คือ เรื่องเหตุผลทางเศรษฐกิจ เอเชีย จีน อาเซียน เป็นเค้กก้อนโตทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุน สหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้ ถึงการผงาดขึ้นมาของเอเชีย ในการจะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของโลกในอนาคต เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ ต้องเปิดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเอเชีย ต้องติดต่อค้าขายกับเอเชีย กับจีน กับอาเซียน

ประเด็นที่ห้า คือ เรื่องของการที่เอเชียกำลังมีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกัน โดยการเกิดขึ้นของอาเซียน + 3 ที่อาจจะนำไปสู่การก่อตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในนั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาค ลดลงเป็นอย่างมาก ถ้ามีการรวมกลุ่มกันเฉพาะอาเซียน +3 และเป็นกลุ่มที่มีแต่เฉพาะประเทศในเอเชีย โดยไม่มีสหรัฐฯ เฉพาะฉะนั้น สหรัฐฯ จึงต้องทำอะไรสักอย่าง จึงนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างมาก ในเรื่อง regional architecture หรือ สถาปัตยกรรมในภูมิภาคว่า ควรจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ Obama ตอนที่เดินทางมาเยือนเอเชีย ประกาศว่า สหรัฐฯ พร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมใน EAS หรือ East Asia Summit

จากยุทธศาสตร์ grand strategy ทั้งหมด สหรัฐฯ implement ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในอดีต โดยผ่านช่องทางที่เรียกว่า ช่องทางทวิภาคี ยุทธศาสตร์หลักคือ hub and spokes โดยมี สหรัฐฯ เป็น hub เป็น ดุมล้อ และความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เป็น spokes หรือเป็น ซี่ล้อ hub and spokes มีมาโดยตลอด ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ว่า ในปัจจุบัน กำลังมีพัฒนาการเวทีพหุภาคีเกิดขึ้น ดังนั้น สหรัฐฯ ก็เสริมยุทธศาสตร์ hub and spokes ด้วยยุทธศาสตร์พหุภาคีนิยมมากขึ้น โดยการให้ความสำคัญกับ APEC และกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียน และ สถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่จะเป็นอาเซียน +6 + 7

อเมริกา ในอดีต การที่สามารถเป็นผู้นำโลกได้ เพราะใช้ทั้ง hard power และ soft power hard power คือ อำนาจทางทหาร ส่วน soft power คือ อำนาจในเรื่องของการสร้างความชอบธรรมในการครองความเป็นเจ้า การส่งเสริมวัฒนธรรมอเมริกัน การครอบงำทางวัฒนธรรมอเมริกัน การชูว่า สหรัฐฯ เป็นวีรบุรุษของโลก และทำให้ชาวโลกชื่นชมอเมริกา ในวัฒนธรรมอเมริกัน และยอมรับการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจ ซึ่งอันนี้ เราเรียกว่า soft power

ในอดีตนั้น มี balance สมดุล ทั้ง hard power และ soft power อยู่คู่กัน ทั้งในเรื่องของการใช้กำลังทหารและสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้ง UN และพันธมิตร

แต่พอมาในสมัย Bush เกิดความไม่สมดุลขึ้น โดยรัฐบาล Bush หันไปเน้น hard power มากเกินไปคือ เน้นทางทหารและไม่ได้ให้ความสำคัญกับ soft power ดังนั้น ความสมดุลจึงเสียไป และทำให้สหรัฐฯ ขาดความชอบธรรม ในการเป็นผู้นำโลก

เพราะฉะนั้น นี่คือ ภารกิจสำคัญของรัฐบาล Obama ที่จะต้องกลับมาสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง คือ การที่จะต้องเพิ่ม soft power เข้ามาในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้ง hard และ soft นี่ก็คือ ที่มาของการที่ Obama พยายามเหลือเกินในการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลก เน้นพหุภาคีนิยมกับโลก

การประเมินนโยบายต่างประเทศของ Obama

จากยุทธศาสตร์ทั้งหมด Obama ได้ทำอะไรไปบ้างในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

1 ปีที่ผ่านมา Obama ประกาศนโยบายใหม่ ๆ มากมาย Obama ประกาศว่า พร้อมจะเจรจากับศัตรูของสหรัฐฯ เริ่มปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และพม่า เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์กับโลกมุสลิม โดยไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ไคโรเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรัก และพร้อมที่จะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย และจีน โดยได้เดินทางไปเยือนทั้งสองประเทศ และจากการไปเยือนทั้งสองประเทศ ผลของความร่วมมือต่าง ๆ ก็มีออกมามากมาย จุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาโลกเปลี่ยนไปหมด จากที่ go it alone ตอนนี้ก็หันมาปฏิสัมพันธ์กับโลก พร้อมที่จะให้ความสำคัญกับ UN สุนทรพจน์ของ Obama ที่ UN เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ Obama ได้ประกาศพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลก ในการที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

ทีนี้เราจะประเมินกันอย่างไร คนที่ประเมิน Obama ได้ A คือ คณะกรรมการ Nobel สาขา สันติภาพ ที่ได้ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้กับ Obama โดยได้ชื่นชม Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองโลก การทูตพหุภาคีกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การเจรจา หารือ ได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง Obama จึงทำให้ชาวโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่ดีขึ้น

ส่วนที่พวกที่ให้ F คือกลุ่มอนุรักษ์นิยม Republican ในอเมริกา โดยให้เหตุผลว่า Obama ก็ได้แต่พูด แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ปัญหาต่าง ๆ ในโลก ก็ยังคงมีอยู่ ไม่มีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และพม่า

สำหรับผม ผมคิดว่า Obama ก็มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว คือ ประสบความสำเร็จในการริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ ส่วนล้มเหลวคือ ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ ฉะนั้น เราคงอาจจะเร็วเกินไป ที่จะด่วนสรุปถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศ Obama คงต้องรอดูกันอีกสักระยะหนึ่ง

การประเมินนโยบายของ Obama ต่อภูมิภาค

สำหรับในระดับภูมิภาค Obama ได้เดินทางมาเยือนเอเชีย เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไปเยือนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และมาประชุม APEC ที่สิงคโปร์ และจัดประชุมสุดยอดครั้งแรกขึ้นระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ อันนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการที่ Obama กำลังจะให้ความสำคัญกับเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียน มากขึ้น ในการประกาศนโยบายต่อเอเชียที่ญี่ปุ่น Obama ได้เน้นว่า อเมริกาให้ความสำคัญต่อพันธมิตรทั้ง 5 คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ จีนก็มีความสำคัญเป็นพิเศษ Obama พยายามอย่างยิ่ง ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์กับจีนให้มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น Obama ได้ย้ำว่า สหรัฐฯไม่มีนโยบายปิดล้อมจีน แต่ผมมองว่า นโยบายสหรัฐฯต่อจีน ก็ยังคงเป็นกึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ คือมีลักษณะปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ

ส่วนเวทีพหุภาคี Obama มองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่อเมริกาจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาค เน้น APEC เน้นอาเซียน และพม่า ก็เน้นปฏิสัมพันธ์ เน้นนโยบายที่เรียกว่า Practical Engagement ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของอเมริกาต่อพม่า

สำหรับอาเซียน ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ นั้น ถือว่าเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ เพราะว่า มีข้อตกลงต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงนามใน Treaty of Amity and Cooperation (TAC) แต่งตั้งทูตสหรัฐฯประจำอาเซียน จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน มีท่าทีที่เปลี่ยนไปในเรื่องเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องเศรษฐกิจ การค้ามีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญในปี 2008 มีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนและรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และกำลังจะมีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานกับสหรัฐฯ อเมริกากำลังเปิดแนวรุกใหม่ในเรื่องของ US – Mekong Initiative อเมริกาได้ประชุมกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ซึ่งต่อไปจะมีการประชุมทุกปี

สำหรับไทย highlight คือ ตอนที่ Hillary Clinton มาเยือนไทยในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มาพบปะกับนายกอภิสิทธิ์ Hillary ชมไทยมากมาย ซึ่งแสดงว่า อเมริกาต้องการที่จะใกล้ชิดกับไทย บอกว่าความสัมพันธ์มีมายาวนานกว่า 175 ปี ไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านยุทธศาสตร์ และทางด้านเศรษฐกิจ ไทยในฐานะประธานอาเซียน เล่นบทบาทสำคัญ มีนโยบายในเชิงสร้างสรรค์ต่อปัญหาพม่า เกาหลีเหนือ พันธมิตรทางการทหารก็แน่นแฟ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จะมีการซ้อมรบ Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

สรุปแล้ว ผมคิดว่า อเมริกาคงจะเดินหน้าต่อ ในเรื่องของการที่จะรักษาบทบาท สถานะความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป โดยการดำเนินนโยบายดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี และแน่นอนว่า ในบรรยากาศเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯก็จะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น จากที่เริ่มมาตั้งแต่การประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ และแน่นอน ในเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ก็จะได้อานิสงค์ไปด้วย

การประชุม World Economic Forum 2010

การประชุม World Economic Forum 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 20 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33

ภาพรวม

การประชุม World Economic Forum (WEF) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทีเมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้นับเป็นการประชุมครั้งที่ 40 การประชุม WEF ถือเป็นเวทีการประชุมของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีต ผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันได้ขยายวงออกไป โดยมีการเชิญผู้นำรัฐบาล ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ NGO นักวิชาการ และสื่อเข้าร่วมประชุมด้วย เวที WEF ถึงแม้จะไม่ใช่เวทีที่เป็นทางการที่จะตกลงแก้ไขปัญหาของโลกได้ แต่ก็เป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของโลก แนวโน้มและแนวทางการแก้ไข

สำหรับในปีนี้ การประชุมมีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คน มาจากกว่า 90 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็น CEO ประมาณ 1,400 กว่าคน ผู้นำรัฐบาลกว่า 30 คน และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศกว่า 100 คน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Zarkozy เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม นอกจากนั้น ก็มีคนดัง ๆ หลายคน นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในฐานะประธาน G8 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในฐานะประธาน G20 ในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมี CEO ดัง ๆ อย่างเช่น Bill Gates และ CEO ของ Google คือ Eric Schmidt

สำหรับ theme ของการประชุมในครั้งนี้คือ “Improve the state of the world : Rethink, Redesign, Rebuild” โดยเน้น 3 เรื่อง คือ Rethink หรือ คิดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก น่าจะต้องมีการคิดทบทวนในเรื่องต่าง ๆ ส่วนเรื่องที่สอง คือ Redesign คือ การออกแบบใหม่ โดยเฉพาะกับกระบวนการในการจัดการกับปัญหาของโลก และ Rebuild คือ การสร้างกลไกและสถาบันของโลกขึ้นมาใหม่

สำหรับเรื่องสำคัญที่ได้มีการหารือกัน คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ระบบการเงินโลก การปฏิรูปองค์กรโลก รวมทั้งปัญหาการแก้ไขความยากจน และการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย แต่ตามที่กล่าวไปแล้ว เวทีนี้ทำได้แค่การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่น แต่อย่างน้อย ก็น่าจะทำให้เห็นถึงปัญหา และแนวโน้มของการแก้ไขปัญหาของโลก

ปัญหาภาวะโลกร้อน

เรื่องที่ประชุม WEF ให้ความสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยประธานาธิบดีของเม็กซิโก ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่เม็กซิโกในช่วงปลายปีนี้ โดยน่าจะสรุปบทเรียนข้อผิดพลาดจากที่โคเปนเฮเกน ซึ่งถือว่าล้มเหลว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันเจตนารมณ์ทางการเมือง และหวังว่า การประชุมที่เม็กซิโกน่าจะตกลงกันได้ โดยเฉพาะการตั้งเป้าของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ประชุมที่โคเปนเฮเกนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการตั้งเป้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การประชุมภาวะโลกร้อนในกรอบของ UN กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ที่ประชุมที่โคเปนเฮเกนก็ล้มเหลว โดยเฉพาะในการที่จะตกลงกันใน 4 เรื่องใหญ่

เรื่องที่หนึ่งคือ รูปแบบของข้อตกลง ซึ่งทางฝ่ายประเทศยากจนต้องการให้มีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการให้มีการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมา

สำหรับเรื่องที่สองคือ การกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการไม่ให้เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าอยู่ที่ 2 องศา

ส่วนเรื่องที่สามคือ การกำหนดการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยลดก๊าซลง 40 % ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกาศจะลดเพียงแค่ 4 % เท่านั้น

ส่วนเรื่องที่สี่ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือประเทศยากจนในการจัดการกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอมตามข้อเรียกร้อง

ข้อขัดแย้งทั้งสี่ จึงนำไปสู่ความล้มเหลวของการประชุมที่โคเปนเฮเกน ผมมองว่า การประชุมที่เม็กซิโกปลายปีนี้ จะมีความยากลำบากมากที่จะตกลงกันในสี่เรื่องดังกล่าว

การปฏิรูประบบการเงินโลก

อีกเรื่องที่ WEF ครั้งนี้ให้ความสำคัญ คือ เรื่อง การปฏิรูประบบการเงินโลก ซึ่งเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดขึ้นปีที่แล้ว ถึงแม้ในปีนี้บรรยากาศเศรษฐกิจโลก วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่การหารือเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลกยังเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ หากต้องการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีก

ประธานาธิบดี Zarkozy ของฝรั่งเศส ในสุนทรพจน์เปิดการประชุมได้เน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบ Bretton Woods ใหม่ขึ้นมา หรือ ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ และ Zarkozy ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ใหม่ และให้มีการปฏิรูประบบธนาคารและความไม่โปร่งใสต่าง ๆ รวมถึงเงินโบนัสอันมหาศาลของ CEO ของแบงก์ใหญ่ ๆ

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี Obama ก็ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบการเงินในสหรัฐฯ โดยเสนอให้มีการลดขนาดธนาคาร และเข้าควบคุมตรวจสอบ hedge fund

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ Zarkozy และ Obama ก็ได้รับการต่อต้านจาก CEO ของแบงก์ใหญ่ ๆ ซึ่งมองว่า การเข้ามาควบคุมตรวจสอบหรือ regulation นั้น จะมีผลเสียมากกว่าผลดี และการลดขนาดแบงก์ก็ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ ในการประชุม WEF ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ในฐานะประธานการประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นที่เกาหลีใต้ในปีนี้ ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยเน้นว่า การประชุม G20 ในครั้งต่อไป ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโลก และควรมีการจัดตั้ง Global Financial Safety Net ซึ่งจะเป็นกลไกในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังควรมีการจัดตั้งกลไกในการควบคุมตรวจสอบและเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมมองว่า การประชุมในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีการหารือในเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงหรือฉันทามติที่เป็นรูปธรรมใด ๆ รากเหง้าของปัญหาที่นำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปีที่แล้ว คือ การที่เราขาดกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงินในระดับโลก แต่ดูเหมือนกับว่า ขณะนี้เรื่องนี้ก็กำลังจะถูกลืมไป ทุกประเทศหันมาแก้ไขเฉพาะหน้า คือ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งภาคเอกชน พยายามคัดค้านแนวคิดการจัดตั้งกลไกในระดับโลก โดยยังคงเน้นหลักการในเรื่องกลไกตลาด ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้สถาบันการเงินของสหรัฐฯได้เปรียบมากที่สุด

เรื่องอื่น ๆ

สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่หารือกันใน WEF เรื่องที่หนึ่งคือ การปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ โดยประเด็นคือ ได้มีการมองว่า องค์การระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการล้มเหลวของการเจรจา WTO รอบโดฮา และความล้มเหลวของการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ได้มีการวิเคราะห์ว่า หลักการฉันทามติเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะให้ประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ ตกลงกันได้ในทุก ๆ เรื่อง ขณะนี้จึงมีแนวคิดว่า อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจขององค์กรโลกใหม่ นอกจากนี้ องค์กรการเงินโลก อย่าง IMF และธนาคารโลกก็กำลังถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่มีความโปร่งใส และจะต้องให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น คือ การขยายวงจาก G8 ไปเป็น G20 ขณะนี้มีการยอมรับแล้วว่า G20 จะเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการเศรษฐกิจโลก

อีกเรื่องหนึ่งที่ WEF ได้หารือ คือการช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเด็นหลัก คือ เป้าหมาย MDG หรือ Millennium Development Goals ซึ่งเป็นเป้าของ UN ที่ตั้งเป้าที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้ภายในปี 2015 นั้น คงจะเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศร่ำรวยไม่สามารถให้ความช่วยเงินทางการเงินแก่ประเทศยากจนได้ ที่ประชุม WEF จึงมีแนวคิดว่า น่าจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องสุดท้าย ที่ยังคงมีความสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย มีหลาย session ที่จัดขึ้นที่หัวข้อเป็นเกี่ยวกับเรื่อง จีน และอินเดีย ซึ่งประเด็นเรื่องการผงาดขึ้นมาของทั้งสองประเทศ น่าจะยังคงเป็น hot issue ต่อไปอีกหลายปี ทั้งนี้ เพราะการผงาดขึ้นมาของยักษ์ใหญ่ทั้งสองจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบโลกในอนาคต แนวโน้มก็ชัดเจนขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ศูนย์กลางการเมืองและเศรษฐกิจโลก กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก ซึ่งเราก็คงจะต้องจับตาดูและวิเคราะห์แนวโน้มที่สำคัญนี้กันอีกต่อไป

จีน ปะทะ Google

จีน ปะทะ Google
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ที่ 29 มกราคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33

การปะทะ

เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท Google ได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่า ถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์ ต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯได้ออกมาสนับสนุนท่าทีของ Google แต่รัฐบาลจีนได้ตอกกลับว่า บริษัทต่างชาติจะสามารถทำธุรกิจในจีนได้และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของจีน โดยจีนมองว่า ความขัดแย้งกับ Google ในครั้งนี้ ไม่ควรกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสอง

Eric Schmidt ซึ่งเป็น CEO ของ Google ได้กล่าวว่า จีนเข้มงวดกวดขันมากในเรื่องข้อมูล และมีระบบการเซนเซอร์ที่เข้มงวดมาก ดังนั้น หากคนจีนพิมพ์คำว่า “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” หรือ คำว่า “ดาไล ลามะ” ในเว็บไซต์ของ Google ก็จะถูกบล็อก นอกจากนี้ เขายังโจมตีจีนว่า กำลังพยายามพัฒนาในเรื่องของการจารกรรมทางอินเทอร์เน็ตและการทำสงครามในอินเทอร์เน็ต โดยการ hack หรือ ล้วงข้อมูลของจีนนั้น ได้ถูกกล่าวหาจากตะวันตก ถึงขนาดอดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ William Studeman ถึงกับกล่าวว่า เรื่องการล้วงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่

การผงาดขึ้นมาของจีนทำให้บริษัทต่างชาติแห่เข้าไปทำธุรกิจในจีน เช่นเดียวกับ Google แต่ Google ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน เพราะสิ่งที่ Google ขาย คือการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยเสรีภาพในการติดต่อเชื่อมโยงข้อมูล แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างมากในจีน Google จึงมีส่วนแบ่งในตลาดจีนเพียง 14% ในขณะที่ search engine ของจีน คือ Baidu กลับมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 62%

ปฏิกิริยาจากรัฐบาล Obama

รัฐบาล Obama ได้ออกมากล่าวโจมตีรัฐบาลจีน โดย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่เซนเซอร์อินเทอร์เน็ต โดยมองว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดย Hillary กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้จีนก้าวหน้า แต่การที่รัฐบาลจีนสกัดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของจีนในอนาคต และได้กล่าวสนับสุนน Google ว่า ภาคเอกชนมีความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องมีจุดยืนในการต่อต้านการเซนเซอร์ Hillary ยังได้เรียกร้องในรัฐบาลจีนตรวจสอบข้อร้องเรียนของ Google ว่าถูกล้วงข้อมูลในจีน โดยได้มีการ hack เพื่อค้นหาอีเมล์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน Hillary กล่าวกระทบจีนทางอ้อมว่า ประเทศหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะต้องได้รับผลคือ การถูกประณามจากประชาคมโลก

ต่อมา เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ประธานาธิบดี Obama ก็มีท่าทีเช่นเดียวกับ Hillary Clinton โดยบอกว่า Obama มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีของ Google ในจีน และกำลังแสวงหาคำตอบจากรัฐบาลจีน

ท่าทีของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนก็ได้ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ท่าทีของรัฐบาล Obama โดยบอกว่า สหรัฐฯควรจะเคารพในข้อเท็จจริงและยุติการกล่าวหาที่ไม่มีมูล และกล่าวว่า สหรัฐฯควรที่จะจัดการกับปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนในวิถีทางที่เหมาะสมกว่านี้ สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของจีนในการจัดการบริหารอินเทอร์เน็ต และกล่าวว่าจีนปิดกั้นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง การกล่าวหาเช่นนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ทางฝ่ายจีนได้ตอกย้ำว่า Google และบริษัทต่างชาติต่าง ๆ จะได้รับการต้อนรับให้ทำธุรกิจในจีนได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณีของจีน

ปัจจัย

ผมมองว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความขัดแย้ง ดังนี้

· การผงาดขึ้นมาของจีน

ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯและตะวันตกมากขึ้น
เรื่อย ๆ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ในอนาคต ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และภายในปี 2020 หรือ 2025 จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนได้เป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แนวโน้มคือ จีนกำลังจะพัฒนาไปเป็นอภิมหาอำนาจ และเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต และแน่นอนว่า ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อิทธิพลของตะวันตกและสหรัฐฯก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คราวนี้ทำให้สถานะของสหรัฐฯตกลงไปมาก และคงจะทำให้ผู้นำจีนมีความเชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนมากขึ้น และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ตะวันตกจะมาสั่งสอนจีนหรือบีบให้จีนทำตาม

· ฉันทามติปักกิ่ง

ในอดีต นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามักจะเดินตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” หรือ washington consensus ซึ่งเน้นกลไกตลาด การค้าเสรี และประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ จีนกำลังเสนอตัวแบบพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีน ซึ่งแตกต่างจากฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ฉันทามติปักกิ่ง หรือ beijing consensus ซึ่งเน้นการที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย

ตะวันตกมักจะมีความเชื่อว่า เมื่อจีนมีพัฒนาการเศรษฐกิจมากขึ้น สังคมจีนจะเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเสรีภาพ โดยแนวโน้มนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็รับค่านิยมตะวันตกเข้าไป ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีน แนวโน้มดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น สังคมจีนมีท่าทีต่อต้านค่านิยมตะวันตก และระบบการเมืองจีนก็ยังเป็นระบบเผด็จการภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

จากความสำเร็จในการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้ผู้นำจีนมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และเริ่มแข็งกร้าวกับตะวันตกมากขึ้น จะเห็นได้จากท่าทีที่แข็งกร้าวกับสหรัฐฯและตะวันตกในหลาย ๆ กรณี อย่างเช่น เรื่องการไม่ยอมเพิ่มค่าเงินหยวน และท่าทีที่แข็งกร้าวในการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
ในอดีต โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ยุทธศาสตร์หลักของจีนคือ ไม่เผชิญหน้ากับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ โดยจีนต้องการสหรัฐฯ ทั้งเป็นแหล่งเงินทุน และตลาดส่งออก และช่วยจีนให้เข้าเป็นสมาชิกใน WTO แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่าทีของจีนเริ่มเปลี่ยน ผู้นำจีน เริ่มมีความเชื่อว่า สหรัฐฯไม่มีความสำคัญต่อจีนเหมือนในอดีต โดยขณะนี้ ตลาดภายในของจีนได้เติบโตขึ้นมาแทนที่ตลาดสหรัฐฯ การส่งออกเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกมากขึ้น และจีนก็มีเงินทุนเหลือเฟือ มีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก ถึง 2 ล้านล้านเหรียญ สิ่งเหล่านี้ น่าจะทำให้จีนลดการประนีประนอมต่อรัฐบาลและบริษัทของตะวันตกมากขึ้น

จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น น่าจะนำไปสู่การที่จีนไม่สนใจที่ Google จะถอนธุรกิจออกไปจากจีน และไม่สนใจการกล่าวโจมตีจากรัฐบาล Obama แต่อย่างใด

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับ Google จึงนำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร บางคนอาจเชื่อว่า การผงาดขึ้นมาของจีนอาจจะทำให้จีนปฏิสัมพันธ์กับโลกดีขึ้น แต่จากกรณี Google ก็อาจจะทำให้มีคำถามตามมาว่า การผงาดขึ้นมาของจีนจะยิ่งทำให้จีน มีความเป็นชาตินิยมมากขึ้นหรือไม่ จะยิ่งทำให้จีนยากลำบากในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกหรือไม่ และจีนกำลังจะคิดกลับไปเป็น Middle Kingdom อีกหรือไม่

สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

สหรัฐฯกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553 หน้า 4

ขณะนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันในเวทีการทูตในภูมิภาคคือ เรื่อง รูปแบบของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค หรือ อาจจะเรียกง่าย ๆ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือ Hillary Clinton ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ฮาวาย ประกาศท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเด็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนี้ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์ท่าทีของสหรัฐฯ ดังนี้

สุนทรพจน์ของ Hillary Clinton

Hillary Clinton ได้กล่าวนำว่า ขณะนี้ผู้นำในเอเชียกำลังมีการหารือกันถึงเรื่องความร่วมมือในภูมิภาค และสถาปัตยกรรมทางด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจของเอเชีย ก็กำลังมีวิวัฒนาการเกิดขึ้น Hillary พยายามเน้นถึงหลักการนโยบายพื้นฐานของสหรัฐฯในการปฏิสัมพันธ์และในการเป็นผู้นำของภูมิภาค และยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อความร่วมมือพหุภาคี

Hillary ได้เน้นว่า พันธมิตรทั้ง 5 ของสหรัฐฯในเอเชียจะเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค พันธมิตรทั้ง 5 ดังกล่าว คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ โดยได้ย้ำว่า ความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ได้นำไปสู่ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภูมิภาคประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ Hillary มองว่า พันธกรณีทวิภาคีระหว่างพันธมิตรเหล่านี้จะสอดคล้องกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาค

นอกจากพันธมิตรทั้ง 5 แล้ว สหรัฐฯ กำลังกระชับความสัมพันธ์กับตัวแสดงในภูมิภาค คือ อินเดีย จีน และอินโดนีเชีย รวมทั้งเวียดนามและสิงคโปร์ ความร่วมมือพหุภาคีควรจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทวิภาคีเหล่านี้

ประเด็นที่ 2 ที่ Hillary เน้นคือ สหรัฐฯจะเข้าร่วมหารือในเวทีเฉพาะกิจที่ไม่เป็นทางการและสนับสนุนสถาบันในระดับอนุภูมิภาค โดยได้ยกตัวอย่างเวทีการเจรจา 6 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เวทีการหารือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ( Lower Mekong Initiative) และเวทีการเจรจาไตรภาคี ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯมีการเจรจาไตรภาคีอยู่หลายเวที คือ สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – ออสเตรเลีย สหรัฐฯ- ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และในอนาคตสหรัฐฯกำลังจะพัฒนาเวทีไตรภาคีระหว่าง สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – จีน และสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – อินเดีย ด้วย

ประเด็นที่ 3 ที่ Hillary เน้น คือ การให้คำจำกัดความของสถาบันในภูมิภาค โดยน่าจะมีการระบุว่า องค์กรใดน่าจะดีที่สุด แต่ Hillary ก็ยังไม่ฟันธง และพูดกลาง ๆ ว่า สถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ละสถาบันก็มีจุดประสงค์ของตน แต่สำหรับสหรัฐฯ สถาบันที่เหมาะสมจะต้องมีประเทศสำคัญ ๆ รวมอยู่ด้วยทั้งหมด โดยได้ยกตัวอย่าง เช่น APEC และ East Asia Summit(EAS) หรืออาจจะเป็นการผสมผสานหรือการตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา ซึ่งประเด็นนี้เป็นคำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบด้วยการปรึกษาหารือร่วมกัน

และที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้คือ การที่สหรัฐฯ เสนอที่จะเริ่มหารือกับประเทศในเอเชียถึงการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในเวที EAS หรือ อาเซียน +6

Hillary ได้กล่าวในตอนท้ายว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ และการเล่นบทบาทเป็นผู้นำในการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาค ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ และย้ำว่าไม่ควรมีประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งสหรัฐฯที่จะพยายามครอบงำจากสถาบันเหล่านี้

บทวิเคราะห์

· สรุปยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่ Hillary ประกาศในครั้งนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีความ
ชัดเจนและไม่กล้าฟันธง แต่ก็พอเห็นเป็นลาง ๆ แล้วว่า สหรัฐฯ กำลังคิดอะไรอยู่ ผมอยากจะสรุปว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ การทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า US as the core of regional architecture โดยผมอยากจะสรุปยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยภาพข้างล่างนี้

จากภาพสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ การทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คือ มีสหรัฐฯ อยู่วงในสุด

วงที่สอง คือ ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับพันธมิตรทั้ง 5 รวมทั้งพันธมิตรใหม่ ๆ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม ความสัมพันธ์จะมีลักษณะเป็น hub and spokes คือ สหรัฐฯ เป็น hub หรือ เป็นดุมล้อ และพันธมิตรเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ ดังนั้น ระบบความสัมพันธ์กับพันธมิตร และ ระบบ hub and spokes สำหรับสหรัฐฯ จะยังคงเป็นสถาปัตยกรรมหรือเป็นระบบที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค

วงที่สาม คือ เวทีเฉพาะกิจและเวทีอนุภูมิภาค ที่สำคัญคือ เวทีเจรจา 6 ฝ่าย เวทีลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และเวทีไตรภาคี

วงที่สี่ คือ เวที APEC ซึ่งเป็นเวทีพหุภาคีในภูมิภาคที่สหรัฐฯให้ความสำคัญที่สุด ในอดีต สหรัฐฯก็ครอบงำ APEC มาโดยตลอด แต่ขณะนี้ APEC กำลังประสบวิกฤต เพราะประเทศในภูมิภาคแทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญ

วงที่ห้า คือ เวที EAS หรือ อาเซียน + 6 ซึ่งขณะนี้สหรัฐยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ามาเป็นสมาชิก EAS อย่างเป็นทางการหรือไม่ และจะปฏิสัมพันธ์กับ EAS ในลักษณะใด

วงที่หก เป็นวงที่เผื่อไว้ในอนาคต ที่สหรัฐฯ อาจจะกำลังดูลู่ทางในเรื่องของการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาคใหม่ขึ้นมา

· grand strategy ของสหรัฐฯ

หากจะถามว่า ทำไมสหรัฐฯจึงต้องมียุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น คือ ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ
เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คำตอบ ก็จะอยู่ที่การวิเคราะห์ grand strategy ของสหรัฐฯ ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ซึ่งยุทธศาสตร์ย่อยที่ตามมาในการจะดำรงความเป็นเจ้า คือ ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคลดลง ยุทธศาสตร์ป้องกันการขยายอิทธิพลของจีน และยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และนี่ก็คือ เหตุผลสำคัญในการอธิบายยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

· ท่าทีสหรัฐฯต่ออาเซียน + 3

อีกเหตุผลหนึ่งที่จะอธิบายท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คือ
พัฒนาการของกรอบอาเซียน +3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกัน โดยมี อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีเป้าหมายระยะยาวที่จะจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น และถ้าเอเชียตะวันออกรวมตัวกันได้จริง ก็จะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่จะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ซึ่งจะท้าทายอำนาจของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก และจะเป็นการกีดกันสหรัฐฯออกไปจากภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่ออิทธิพลของสหรัฐฯในอนาคต และสิ่งที่สหรัฐฯ วิตกกังวลอย่างมาก ก็คือ ประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดยจีน สหรัฐฯจึงได้เริ่มส่งสัญญาณคัดค้านพัฒนาการของอาเซียน +3 และทำให้ประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นเริ่มถอย และหันมาดึงอินเดีย ออสเตรเลีย เข้ามาถ่วงดุลจีน ซึ่งพัฒนากลายเป็น EAS หรือ อาเซียน +6

· ผลกระทบต่ออาเซียน

ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์คือ ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมียุทธศาสตร์หลักคือ จะให้สหรัฐฯเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของอาเซียนในเรื่องนี้ เพราะอาเซียนก็ต้องการจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่อาเซียน กับสหรัฐฯ จะแข่งกันเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่สหรัฐฯก็เป็นต่ออาเซียน ในแง่ของพลังอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ แต่ข้อได้เปรียบของอาเซียน คือ อาเซียนมีความชอบธรรมมากกว่าสหรัฐฯ เพราะอาเซียนเป็นสถาบันในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่สหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจที่ความชอบธรรมในการครองความเป็นเจ้ากำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ

สรุปแล้ว เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า ในอนาคต สถาปัตยกรรมในภูมิภาคจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกัน ผมเดาว่า ในระยะยาว อาจจะเป็นทั้งสองรูปแบบเหลื่อมทับซ้อนกัน คือ มีทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ที่จะเป็นแกนหลักของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคในอนาคต