Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 25 กรกฏาคม 2556



เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่บรูไน โดยในการประชุมครั้งนี้ เรื่องสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2015 คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ดังนี้

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ในแผนงานหรือ blueprint การจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ( ASEAN Political-Security Community : APSC) มีเรื่องหลักๆ ที่เป็นหัวใจของ APSC คือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การพัฒนาบรรทัดฐาน การป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง และการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่บรูไน มีความคืบหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ได้จัดทำปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) และได้มีการจัดทำรายงานประจำปี ของ AICHR นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดให้มีการประชุมหารือกับ AICHR ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย
สำหรับความร่วมมือในประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่นั้น ก็กำลังจะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ  ที่จะมีขึ้นที่ประเทศลาวในช่วงเดือนกันยายนนี้
ในด้านยาเสพติดข้ามชาติ ก็กำลังมีการสานต่อจากปฏิญญาผู้นำอาเซียน ที่จะให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี 2015 โดยได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม  ปี 2012 ที่ประเทศไทย และกำลังจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ที่บรูไน ในเดือนกันยายนนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนในด้านยาเสพติด  เพิ่มความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหานี้
สำหรับปัญหาด้านการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ในปี 2011 ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียน ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในภูมิภาค โดยขณะนี้ได้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการประชุมของคณะทำงานด้านการค้ามนุษย์ ในเดือนมิถุนายน ที่เวียดนาม เพื่อจัดทำร่างอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
สำหรับในเรื่องการจัดการภัยพิบัตินั้น ที่ประชุมได้กระตุ้นให้กลไกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนร่วมมือกัน โดยการใช้ ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response เป็นหลักในการจัดการกับปัญหานี้ นอกจากนี้ จะมีการซ้อมปฏิบัติการทางทหารของอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติ ที่เวียดนาม ในเดือนตุลาคมนี้ และความคืบหน้าในการจัดตั้ง ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management นอกจากนี้ มีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ และมีข้อเสนอให้มีการจัดทำปฏิญญาอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้
จะเห็นได้ว่า จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่บรูไนในครั้งนี้ ความคืบหน้าในการจัดตั้ง APSC ก็คืบหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและด้านประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน นอกจากนี้ การจัดตั้ง APSC ยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กรณีพิพาทพรมแดน ประเทศสมาชิกยังมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการทหาร ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 ซึ่งเป็นวันประกาศตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ผมก็มองว่า การจัดตั้ง APSC ยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์อย่างแน่นอน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ในแผนงานหรือ blueprint การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) นั้น เป้าหมายคือการจัดตั้งตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยจะมีการเปิดเสรี 5 ด้าน คือ สินค้า บริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ
สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้ง AEC นั้น ดูจะมีความคืบหน้าไปได้ดีกว่าอีก 2 ประชาคม โดยขณะนี้ ได้มีความคืบหน้าการดำเนินการตาม AEC Blueprint ไปมากแล้ว โดยสาขาที่มีความคืบหน้าไปมาก ในการเปิดเสรีเพื่อเข้าสู่ AEC อาทิ สาขาการเงิน พลังงาน อุตสาหกรรม ไอซีที เกษตร การท่องเที่ยว และการขนส่ง
นอกจากนี้ ขณะนี้ กำลังมีมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคล คือ จะให้บุคคลที่มีสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ต้องมีวีซ่าในการเดินทางในอาเซียน และการจัดทำ ASEAN Common Visa สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคคลทางด้านธุรกิจและการท่องเที่ยว
สำหรับความคืบหน้าใน Master Plan on ASEAN Connectivity ที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของการระดมทุนทรัพยากรทางการเงิน ด้วยการใช้ประโยชน์จากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน และการส่งเสริมหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ขณะนี้ ASEAN Connectivity Coordinating Committee ก็กำลังติดต่อกับประเทศคู่เจรจา และภาคเอกชน ในการแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในหลายเรื่องในการจัดตั้ง AEC แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการเปิดเสรีในหลายๆด้าน โดยเฉพาะในด้านการค้าภาคบริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ปัญหาใหญ่ของอาเซียน คือช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ยังคงมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ ประเทศอาเซียนยังคงมองประเทศอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจแทนที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 AEC ที่จะถูกประกาศจัดตั้งขึ้นนั้น ก็จะยังคงมีความไม่สมบูรณ์

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
สำหรับประชาคมย่อยที่ 3 ของประชาคมอาเซียน คือประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  (ASEAN Socio- Cultural Community: ASCC) นั้น ใน blueprint ของ ASCC ได้เน้นความร่วมมือใน 5 ด้านด้วยกัน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมในสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่บรูไน ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่ได้มีการจัดการประชุมประเมินผลความคืบหน้า ASCC Blueprint เมือเดือนมิถุนายน ที่บรูไน
ในด้านสิทธิเด็กและสตรี ก็ได้มีการจัดตั้ง ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC) ขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานบริการทางสังคมของ ACWC ขึ้น เพื่อป้องกัน ปกป้อง และช่วยเหลือสตรีและเด็กที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อาวุโส ร่วมมือกันในการจัดการกับปัญหาควันไฟป่า และที่ประชุมได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันต่อ ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำ ASEAN Climate Change Initiative และ ASEAN Action Plan on Joint Response to Climate Change และอินโดนีเซียได้เสนอให้มีการจัดตั้ง Regional Climate Change Database center ขึ้น
สำหรับในด้านการปกป้องทางสังคม ได้มีการจัด Workshop on Strengthening Social Protection in ASEAN เมื่อเดือนมิถุนายน ที่อินโดนีเซีย โดยได้มีข้อเสนอให้มีการจัดทำปฏิญญาในด้านการปกป้องทางสังคมของอาเซียนขึ้น
นั่นก็เป็นความคืบหน้าในการจัดตั้ง ASCC อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่คงต้องรอผลการประเมินความคืบหน้า อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และเช่นเดียวกับ APSC และ AEC การจัดตั้ง ASCC ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่อาเซียนไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น การที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ก็จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 


วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 23 ที่บรูไน: ความคืบหน้าและความไม่คืบหน้าของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 23 ที่บรูไน:

ความคืบหน้าและความไม่คืบหน้าของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับที่ 17 ตุลาคม 2556



                เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 23 ที่บรูไน โดยเรื่องหลักเป็นเรื่องของการติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว โดยจะเน้นถึงเรื่องความคืบหน้าและความไม่คืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ดังนี้

            ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)
                ได้มีการนำเสนอรายงาน Second Biennial Review of APSC Blueprint หรือ รายงานทบทวนความคืบหน้าตามแผนการจัดตั้ง APSC ซึ่งทำขึ้นมาในเดือนกันยายน ปีนี้ ที่ประชุมสุดยอดพอใจที่ได้มีความคืบหน้าไปมาก ในการจัดตั้ง APSC อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลอาเซียนจะพยายามฉายภาพให้เราเห็นว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนคืบหน้าไปได้อย่างดี แต่ผมกลับประเมินว่า จริงๆแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ยังไม่มีความคืบหน้า และแม้จะมีความคืบหน้าก็มีความคืบหน้าน้อยมาก โดยเฉพาะที่เป็นรูปธรรมจริงๆ นั้น มีน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน กลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
·        สิทธิมนุษยชน
ที่ประชุมสุดยอดพอใจต่อการทำงานของ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน หรือ AICHR โดยเฉพาะการ implement ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของอาเซียน
แต่ผมมองว่า แม้ว่าการจัดทำปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะเป็นความคืบหน้าของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในระดับหนึ่ง แต่ปฏิญญาดังกล่าว ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าอ่อนมาก โดยอาจจะอ่อนกว่าปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนของ UN เสียอีก ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าจะทำปฏิญญาอาเซียนขึ้นมาทำไม ส่วนบทบาทของ AICHR ก็มีจำกัดมาก โดยเฉพาะบทบาทในการปกป้อง ก็ยังไม่มี มีแต่แค่บทบาทในการส่งเสริมเท่านั้น

·        กลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง
ที่ประชุมสุดยอดคราวนี้ ยินดีต่อการจัดทำเอกสาร ASEAN Security Outlook ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสและส่งเสริมการสร้างมาตรการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันความขัดแย้งในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ตาม Blueprint ของ APSC อาเซียนยังมีการบ้านต้องทำอีกเยอะ ในเรื่องการสร้างมาตรการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำถึงการ implement Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือที่เรียกย่อๆ ว่า DOC นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีที่ได้มีความคืบหน้าในการเจราจาระหว่างอาเซียนกับจีนในเรื่องนี้ โดยได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส อาเซียน-จีน เพื่อ implement DOC เป็นครั้งที่ 6 ที่เมือง Suzhou ประเทศจีน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังได้เริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างจีนกับอาเซียนในเรื่องการจัดทำ Code of Conduct หรือ COC ด้วย
ผมมองว่า การเจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้ มีความคืบหน้าในระดับน่าพอใจ ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่ตึงเครียดในช่วงก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ผ่านมา จีนเสียคะแนนไปมาก โดยเฉพาะกับสโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ”  จีนจึงคงเห็นแล้วว่า จะต้องปรับนโยบายให้อ่อนลงและหันมาเจรจากับอาเซียนอย่างจริงจัง ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่จีนกำลังปรับนโยบายไปในทิศทางนี้

·        ประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
ที่ประชุมสุดยอดยินดีต่อผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ หรือที่เรียกย่อๆว่า AMMTC เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประเทศลาว ได้มีความคืบหน้าในการจัดทำ ASEAN Convention on Trafficking in Persons นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ที่บรูไน เมื่อเดือนกันยายน ที่ประชุมตอกย้ำเป้าหมายของอาเซียนในการที่จะทำให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติด ภายในปี 2015
ผมมองว่า โดยรวม แม้ว่าการประชุมเหล่านี้ จะเป็นความคืบหน้าในระดับหนึ่งของอาเซียนในความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ก็ตาม แต่หากจะดูกันลึกๆ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ความร่วมมืออาเซียนส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดทำปฏิญญาหรือข้อตกลงต่างๆ เป็นการประกาศว่า อาเซียนจะร่วมมือกันทำอะไรบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข้อตกลงเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่กระดาษ หากไม่ได้มีการทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ความร่วมมือที่เป็นชิ้นเป็นอันของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหายาเสพติด ที่เป็นรูปธรรมเบาบางมาก ประเทศไทยเอง ก็ยังติดอยู่ใน list ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศค้ามนุษย์รายใหญ่ และเรื่องการประกาศของอาเซียนว่า จะทำให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี 2015 นั้น ดูเป็นเรื่องตลกระหว่างประเทศ เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ ที่อาเซียนจะเป็นเขตปลอดยาเสพติด ภายในปี 2015

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
ที่ประชุมสุดยอดที่บรูไน ตามคาด ยินดีต่อความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งได้มีความคืบหน้าไปแล้วเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์



·         ตลาดและฐานการผลิตเดียว
โดยในเรื่องการที่จะทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ที่ประชุมได้บอกว่า ได้มีความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะขณะนี้ มุ่งเป้าไปที่การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTB และได้มีการเดินหน้าในการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ความพยายามทำให้ตลาดการเงินมีบูรณาการมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยได้มีการจัดตั้ง ASEAN Infrastructure Fund ซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางกายภาพในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แม้ว่าที่ประชุมสุดยอดจะฉายภาพให้เห็นอย่างสวยหรูว่า มีความคืบหน้าไปมากในการจัดตั้ง AEC แต่ผมกลับมองว่า ยังมีการบ้านและปัญหาอีกเยอะ ในการที่จะทำให้ AEC เป็นประชาคมเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ โดยยังมีการบ้านที่ต้องทำอีก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ การเปิดเสรีด้านการลงทุน และปัญหาใหญ่ของอาเซียน คือ การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งยังคงไม่สามารถเปิดเสรีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่พอจะเปิดได้ คือ แรงงานมีฝีมือ 8 สาขา ซึ่งยังคงกระท่อนกระแท่น เอาเข้าจริงๆ ยังคงไม่ใช่การเปิดเสรีอย่างแท้จริง ส่วนการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียน

·        แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC)
สำหรับในเรื่องแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน หรือที่เรียกย่อว่า MPAC นั้น ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการระดมทุน โดยจะมีการใช้ ASEAN Infrastructure Fund ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา
สำหรับเรื่องการเชื่อมโยงอาเซียน นับว่าเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผมมองว่า ไทยก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ก็มีแต่แผนว่า จะสร้างโน่น สร้างนี่ จะสร้างถนน จะสร้างทางรถไฟ เชื่อมประเทศไทยกับประเทศอาเซียน แต่ก็ยังคงมีแค่แผน ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เรื่องใหญ่ คือ การขาดเงินทุนนั่นเอง

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
ที่ประชุมสุดยอดรับทราบรายงาน Mid-Term Review ของ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือ ASCC รายงานทบทวนความคืบหน้าการจัดตั้ง ASCC ระบุว่า ได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ ของ ASCC Blueprint ไปแล้ว ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ รายงานดังกล่าว ได้เสนอให้มีการพัฒนากลไกของสำนักเลขาธิการอาเซียน และการดึงผู้ที่มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการสร้าง ASCC รวมทั้งการปรับปรุง ASCC Scorecard ใหม่
อย่างไรก็ตาม ผมก็ประเมินเหมือนกับ 2 ประชาคมย่อย ที่วิเคราะห์ไปแล้ว คือ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพยายามจะบอกเราว่า การจัดตั้ง ASCC มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีปัญหา ยังมีการบ้านให้ทำอีกเยอะ

·        ภัยพิบัติ
ได้มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (AMMDM) และในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการออกปฏิญญา ที่มีชื่อว่า ASEAN Declaration on Enhancing Cooperation in Disaster management

·        สิ่งแวดล้อม
สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน และได้มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง ASEAN Sub-Regional Haze Monitoring System เพื่อจัดการกับปัญหาควันไฟป่า ซึ่งมีต้นตอมาจากอินโดนีเซีย

·         สวัสดิการสังคม
สำหรับในด้านสวัสดิการสังคม ที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการออกปฏิญญา 2 ฉบับ คือ  Declaration on the Elimination of Violence Against Women and Children in ASEAN และ ASEAN Declaration on Strengthening Social Protection โดยเน้นในเรื่องของความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสิทธิทางสังคมของทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในความร่วมมือ ในด้านเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของ ASCC ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ความคืบหน้าเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว เป็นข้อตกลง เป็นแผน เป็นกระดาษ เป็นศูนย์ แต่ถามว่า มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นไหม ในการที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่า มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ นี่คือ การบ้านชิ้นใหญ่ของอาเซียน การก้าวข้ามจากการประกาศ การจัดทำแผน ไปสู่การ implement แผน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
กล่าวโดยสรุป ผลการประชุมสุดอาเซียนในครั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดพยายามจะชี้ให้เห็นความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ผมมองว่า ยังมีความไม่คืบหน้าอีกเยอะ ยังมีการบ้านอีกเยอะ ในการที่จะทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบ
หากเปรียบเทียบประชาคมย่อย ทั้ง 3 ของประชาคมอาเซียนเป็นบ้าน 3 หลัง รัฐบาลอาเซียนกำลังจะบอกว่า ตอนนี้บ้านทั้ง 3 หลัง กำลังจะเสร็จทันเข้าอยู่ได้ ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 แต่ผมมองว่า ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 บ้านทั้ง 3 หลัง จะยังสร้างไม่เสร็จแน่นอน

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 4)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 4)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2556



                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ 3 ตอนที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของไทยต่อ 3 ประชาคมย่อยของประชาคมอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่รวมทั้ง 3 เสา มีลักษณะเป็น grand strategy ดังนี้
                ผลกระทบ
                จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน คือการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ
                ผลกระทบของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนต่อไทยนั้น ผลกระทบเชิงบวก คือ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ด้านกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์) รวมทั้งการจัดการภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความร่วมมือจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และค้ามนุษย์
                สำหรับผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไทยนั้น  ผลกระทบในเชิงบวก คือ สินค้าและบริการที่ไทยมีความได้เปรียบ จะมีโอกาสส่งออกไปในตลาดอาเซียนมากขึ้น ธุรกิจไทยจะมีโอกาสลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบ คือ สินค้าและบริการที่ไทยเสียเปรียบ อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับต่างประเทศ นอกจากนี้ จะมีการลงทุนจากประเทศอาเซียนในไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น
                สำหรับผลกระทบของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนต่อไทย คือ จะมีความร่วมมือระหว่างอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ คือ อาจจะมีปัญหาในด้านสังคมเพิ่มมากขึ้น อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาทางด้านสวัสดิการสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม
                จุดอ่อนและจุดแข็งของไทย
                สำหรับจุดแข็งของไทยในอาเซียน คือ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐาน  และศูนย์กลางการค้าภาคบริการ นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของอาเซียน และจะมีบทบาทนำในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
                อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีจุดอ่อนหลายประการ อาทิ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาวิกฤตการเมือง ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทย ที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยอันดับของคุณภาพชีวิตของประเทศไทย ตกจากอันดับ 50 ของโลก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 100 ของโลกในปัจจุบัน
                นอกจากนี้ไทยยังมีความไม่พร้อม ทั้งในด้านบุคลากร องค์กร กระบวนการทำงาน การให้บริการที่เพียงพอและมีคุณภาพ และฐานข้อมูลสารสนเทศ ในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

                วิสัยทัศน์
                จากการวิเคราะห์ผลกระทบและจุดแข็งจุดอ่อนของไทยดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อไทย ยุทธศาสตร์ของไทยก็จะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อรองรับต่อผลกระทบในเชิงบวก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรับ หรือมาตรการรองรับ สำหรับผลกระทบในเชิงลบ นอกจากนี้ ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้จุดอ่อนของประเทศไทย และยุทธศาสตร์ในการใช้จุดแข็งของไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยในประชาคมอาเซียน
                แม้ว่าขณะนี้ไทย ยังมีจุดอ่อนหลายประการ และไทยเองก็ยังเดินตามหลัง สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ในแง่ของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไทยขณะนี้จึงอยู่อันดับ 4 ของอาเซียน แต่ถ้าเราไม่รีบปฏิรูปประเทศไทย ไม่พลิกฟื้นประเทศไทย เราก็อาจจะตกอันดับไปอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 หรืออันดับ 7 และจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องมีการปฏิรูปและพลิกฟื้นประเทศไทยอย่างจริงจัง ผมมองว่า การเตรียมความพร้อมและการมียุทธศาสตร์เข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย จะเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
                ดังนั้น วิสัยทัศน์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะต้องเป็นวิสัยทัศน์ ที่เรามองไปข้างหน้าในการที่ไทยจะกลับขึ้นมาผงาดเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนในอนาคต
                โดยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนของไทยนั้น ควรมี 3 เป้าหมายหลัก เป้าหมายที่ 1 คือ การทำให้ไทยเป็นประเทศแห่งประชาธิปไตยในอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ ไทยจะเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง รวมทั้งมีบทบาทนำในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
                สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ เป้าหมายที่ 1 การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการของอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน
                สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ก็มีเป้าหมาย 3 ประการเช่นเดียวกัน เป้าหมายที่ 1 คือ การทำให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ ไทยมีบทบาทนำ ในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านสวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส และสิ่งแวดล้อม  และสำหรับเป้าหมายที่ 3 คือ ไทยมีบทบาทนำ ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของอาเซียน
                สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ซึ่งมี 3 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 คือ บุคลากรของไทย ทั้งบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมทั้งในด้านทักษะ สมรรถนะ และทัศนคติ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ การปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่สร้างโอกาสในการทำงานเชิงรุกในประชาคมอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ การจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ สำหรับทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 3)

                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนถึงยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

                ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
                ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community เรียกย่อๆว่า ASCC ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และก่อให้เกิดเอกภาพ โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ รวมทั้งสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ASCC ให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
                 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : เน้นการศึกษาเป็นวาระของอาเซียน การสร้างสังคมความรู้ โดยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสริมสร้างทักษะในการประกอบการ สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
                สวัสดิการสังคม : ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม เน้นการแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) ในการกำจัดความยากจนและความหิวโหย และ ASCC จะให้ความมั่นใจว่า ประชาชนอาเซียนทุกคนมีอาหารพอเพียงตลอดเวลา และให้ความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นการเข้าถึงการรักษาสุขภาพ การบริการทางการแพทย์และยาที่เพียงพอและราคาถูก รับประกันอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด และพร้อมรับกับภัยพิบัติ รวมถึงประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
                สิ่งแวดล้อม : ในแผนการจัดตั้ง ASCC กล่าวว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด โดยการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ดิน น้ำ แร่ธาตุ และพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ อาเซียนจะมีส่วนร่วมในความพยายามของโลกในการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการคุ้มครองชั้นโอโซน
                การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน : เน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และอารยธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว และค้นหาอัตลักษณ์ของอาเซียน และสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นแกนนำ โดยสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคม
                สิทธิมนุษยชน : ในแผนการจัดตั้ง ASCC กล่าวว่า อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิตสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
                อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง ASCC อย่างแท้จริงในปี 2015 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาเรื่องสังคมวัฒนธรรมอีกมาก ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ปัญหาการทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และปัญหาที่ประชาชนไมมีความรู้เรื่องอาเซียน

                SWOT analysis
                จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ ASCC ของไทยนั้น จะต้องเริ่มด้วยการทำ SWOT analysis คือการวิเคราะห์ผลกระทบของ ASCC ต่อไทย ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ รวมทั้งการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของไทยใน ASCC ดังนี้
·       การพัฒนามนุษย์
ความร่วมมือในการพัฒนามนุษย์ใน ASCC จะเน้นความร่วมมือด้านทางด้านการศึกษา ซึ่งผลกระทบในเชิงบวก คือ ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสมาชิกอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย และจุดแข็งของไทยในเรื่องนี้ คือ ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของอาเซียน
·       การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทย คือ ความร่วมมือในด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ผลกระทบในเชิงลบ คือ ASCC อาจส่งผลให้ปัญหาในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความปลอดภัยทางสังคม ด้านสาธารณสุข และปัญหายาเสพติด ซึ่งจะทำให้ไทยต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีศักยภาพพอ ที่จะมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความร่วมมือ ในด้านสวัสดิการสังคม และเสริมสร้างมาตรการรองรับผลกระทบในเชิงลบ
·       ความยุติธรรมและสิทธิ
สำหรับผลกระทบในเชิงบวก คือ ความร่วมมือในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น จากการจัดตั้ง ASCC แต่ปัญหาในการละเมิดสิทธิและสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ ก็อาจ จะเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย และไทยก็อาจจะต้องเพิ่มภาระในการให้บริการพื้นฐานแก่คนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
·       ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบเชิงบวก คือ ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีศักยภาพที่จะมีบทบาทนำในการส่งเสริมความร่วมมือด้านนี้ของอาเซียน
·       การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
อาเซียนเน้นใช้ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยในด้านนี้ คือ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น ความพยายามในการแสวงหาและสร้างอัตลักษณ์อาเซียนเพิ่มมากขึ้น และไทยก็มีศักยภาพที่จะมีบทบาทนำในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               
               
                ยุทธศาสตร์ของไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
                จากการทำ SWOT analysis ข้างต้น ก็จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยยุทธศาสตร์สำคัญๆ มีดังนี้
1.             การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านศึกษาของอาเซียน โดยเฉพาะการทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครชั้นนำด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน
2.             ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือในด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
3.             ไทยมียุทธศาสตร์ในการสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
4.             ไทยมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน
5.             ไทยมีแผนรองรับปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการจัดตั้ง ASCC โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านสวัสดิการสังคม และการละเมิดสิทธิผู้ด้อยโอกาส และแรงงานย้ายถิ่นฐาน
6.             ไทยมียุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนในระยะยาว ทั้งนี้ไทยควรเน้น ส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนด้วย