Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2552

แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2552
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 16 วันศุกร์ที่9 - วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2552

ในปี 2551 วิกฤติการเงินโลกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และในปี 2552 นี้ ผมก็คิดว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของโลก วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ปีที่แล้ว อาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีนี้ น่าจะเป็นปีเผาจริง

สำหรับในปีนี้ คาดว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยังคงลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ประเทศต่างๆทั่วโลกคงจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เงินลงทุนจะหดหาย รวมทั้งตลาดส่งออกและตลาดหุ้นจะตกต่ำอย่างหนัก

เมื่อปลายปีที่แล้ว IMF ได้คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะโตเพียง 2% ซึ่งจะลดลงจากปี 2007 ที่โต 5% IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2010 แต่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆจะตกอยู่ในสภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆจะติดลบและถดถอยทั้งหมด ไม่วาจะเป็นสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถึงแม้อัตราเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5% ในปีนี้ โดยประเทศในภูมิภาคเอเชีย น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ประสบกับความยุ่งยาก

การคาดการณ์ข้างต้นของ IMF เมื่อปลายปีที่แล้ว ดังกล่าวข้างต้น ก็มีความไม่แน่นอน โดยสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ยังอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า เมื่อ IMF จะประกาศการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในเดือนมกราคมในปีนี้ ก็น่าจะมีการปรับลดอัตราการเจริญเติบโตลงไปอีก

สำหรับผลกระทบสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจโลก เรื่องแรกคือ การส่งออก และการท่องเที่ยว การถดถอยของอุปสงค์ในตลาดสหรัฐและยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ รวมทั้งภาวะราคาสินค้าเกษตรก็จะตกต่ำลงอย่างมาก

นอกจากนี้ ระบบการเงินของประเทศต่างๆ อาจจะประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก อาจจะรอดตัว แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปกู้จาก IMF ซึ่งขณะนี้มีกว่า 10 ประเทศแล้ว ที่กำลังเจรจาขอกู้จาก IMF อยู่

วิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจจะส่งผลต่อระบบการค้าโลกด้วย โดยอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดดันทางการค้า ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ ปริมาณการค้าจะหดตัว ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ จะหดตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง จากปริมาณ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2007 ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจคงจะถดถอยแน่ หากไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้

จากแนวโน้มวิกฤติเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก ที่จะต้องหาหนทางในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการหลักๆอาจแบ่งออกได้เป็นมาตรการดังนี้

· มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปีที่แล้ว รัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ได้พยายามใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน มาตรการการประกันเงินฝาก และการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง มาตรการเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการกลักๆที่คงจะต้องเดินหน้าสานต่อให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการลุกลามของวิกฤติเศรษฐกิจโลกในคราวนี้ โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรจึงจะหยุดยั้งการตกต่ำลงของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของผู้บริโภค ดังนั้น ประเทศต่างๆคงจะต้องแสวงหามาตรการเสริมเพื่อจะกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นและอุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้น

· มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เศรษฐกิจเกิดใหม่ หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง หลายๆประเทศประสบปัญหาการไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรง

สำหรับประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการไหลออกของเงินทุน หลายๆประเทศอาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตน

มาตรการในแก้ปัญหาสภาพคล่องดังกล่าว IMF จะมีบทบาทสำคัญ โดยตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว IMF ได้มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออก ปัจจุบัน IMF มีเงินทุนอยู่ประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ ที่สามารถเอามาใช้ได้ในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง เมื่อปลายปีที่แล้ว ฮังการี ไอซ์แลนด์ เซอร์เบีย และยูเครน ได้กู้จาก IMF ไปแล้ว ขณะนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

· การปฏิรูประบบการเงินโลก

แต่ผมเห็นว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจในคราวนี้ คือ จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง วิกฤติคราวนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน โดยมีหลายเรื่องด้วยกันที่จะต้องมีการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบระบบการเงินโลก ระบบการประเมินความเสี่ยง และการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤติ และเพื่อกอบกู้วิกฤติเมื่อเกิดขึ้น สำหรับมาตรการย่อยๆที่อยู่ภายใต้มาตรการปฏิรูประบบการเงินโลกมีดังนี้

- กลไกควบคุมตรวจสอบ

วิกฤติคราวนี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของกลไกควบคุมตรวจสอบของระบบการเงินโลกในปัจจุบัน ระบบการเงินโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้กลไกควบคุมตรวจสอบในระดับชาติไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตั้งกลไกตรวจสอบระบบการเงินในระดับโลก

- ระบบเตือนภัยล่วงหน้า

วิกฤติคราวนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียอันมหาศาล จากการที่ไม่มีกลไกที่จะเตือนภัยล่วงหน้าถึงความเสี่ยง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะในระดับโลก ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยระบบดังกล่าวจะต้องเน้นในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการควบคุมตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ต่างๆ

- การปฏิรูประบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

เมื่อ 75 ปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคือ John Maynard Keynes ได้เสนอว่า ระบบเงินทุนสำรองของโลกมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเสถียรภาพทางการเงิน Keynes ได้หวังว่า IMF จะผลักดันให้เกิดระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้น เพื่อใช้แทนเงินสกุลดอลลาร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

- การปฏิรูปสถาบันการเงินโลก

มาตรการสุดท้ายคือ การปฏิรูปสถาบันการเงินโลก โดยเฉพาะการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก ที่ผ่านมา IMF มีปัญหามากในเรื่องของระบบธรรมาภิบาล โดย IMF เอง ก็มักจะสร้างเงื่อนไขในการกู้เงิน เงื่อนไขหนึ่งก็คือ ธรรมาภิบาล แต่แปลกมากที่ IMF เองกลับไม่มีธรรมาภิบาลในกลไกบริหารจัดการของ IMF เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป และสหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวที่มี veto power และผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดมาจากคนยุโรปมาโดยตลอด

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น Bretton Woods II ที่ผ่านมา อเมริกาต่อต้านการปฏิรูประบบการเงินโลกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ผมก็หวังว่า รัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเปิดกว้าง อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการนำไปสู่การปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจังในอนาคตได้