45 ปีอาเซียน
ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2555
การผงาดขึ้นมาของอาเซียน
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5
ของประเทศสมาชิกก่อตั้งอาเซียน และเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน โดยไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันมาโดยตลอด
ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา
ในปัจจุบัน อาเซียนนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ประมาณ 60-70 % ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นอย่างมาก
หากอาเซียนเป็นประเทศ
อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมี GDP รวมกันสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ได้ทำการศึกษาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนในปี
2030 พบว่า ในปีดังกล่าว GDP ของอาเซียนจะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
คือจะมี GDP อยู่ประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ
1 ใน 5 ของโลก ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าว จะเห็นได้ว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก
เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเป็นสมาชิกของอาเซียน
นอกจากนี้ อาเซียนกำลังเป็นสถาบันหลักในภูมิภาค
เป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค สัจธรรมของการเมืองและเศรษฐกิจโลก
คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ประเทศใหญ่ได้เปรียบ
ประเทศเล็กเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก
หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญ ที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน
และต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน
ศูนย์อาเซียนศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และด้วยความจำเป็นดังกล่าว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงริเริ่มตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้น
ในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีผมเป็นผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์ฯ เพื่อเป็นกลไกหลักของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนสู่สาธารณชน
รวมทั้งเป็นคลังสมองด้านอาเซียนศึกษา
และสนับสุนนกิจกรรมต่างๆและบทบาทของไทยในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
ศูนย์อาเซียนศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้
โดยได้มีการจัดประชุมระดมสมองครั้งที่ 1 เรื่อง “Roadmap
สู่ประชาคมอาเซียน” ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และได้ดำเนินโครงการเป็นที่ปรึกษาให้กับ ก.พ.ในการจัดทำแผน 4 ปี
เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรภาครัฐสู่ประชาคมอาเซียน และขณะนี้ศูนย์ฯก็กำลังดำเนินโครงการให้กับ
ก.พ.ร. ในโครงการ “ขับเคลื่อนภาครัฐในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดยกำลังจะมีการจัดทำตัวชี้วัด
เพื่อติดตามประเมินผลความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานราชการต่างๆของไทย
รวมทั้งจัดทำ Roadmap หรือแผนแม่บทการเตรียมความพร้อมของภาคราชการไทย
โครงการต่างๆ ที่ศูนย์ฯกำลังดำเนินการอยู่
และที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ก็มีมากมายหลายโครงการ ทั้งโครงการวิจัย
โครงการเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ โครงการฝึกอบรม โครงการจัดประชุมในรูปแบบต่างๆ
และโครงการจัดประชุมนานาชาติ
นอกจากนี้ ศูนย์ฯได้จัดทำเว็บไซด์ของศูนย์ฯขึ้น
โดยมีชื่อว่า www.castu.org เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านอาเซียนศึกษาของประเทศ โดยในเว็บไซด์ของศูนย์ฯจะมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในทุกๆด้าน
ผลงานวิจัยและผลงานการศึกษาของศูนย์ฯ และหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
รายละเอียดเกี่ยวกับการมีบทบาทในการเป็นคลังสมองของประเทศ
รวมทั้งสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆที่สามารถดาวน์โหลดได้ อาทิ บทความ บทวิเคราะห์
หนังสือ Press Release เป็นต้น
ศูนย์ฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะพัฒนาไปเป็นศูนย์อาเซียนศึกษาในระดับชาติ
และในระดับภูมิภาคต่อไป
เหลียวหลัง
แลหน้า 45 ปีอาเซียน
กิจกรรมล่าสุดของศูนย์อาเซียนศึกษาก็คือ
การจัดสัมมนา เมื่อวันอังคารที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง ในโอกาสของการครบรอบ 45
ปีของการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งก็คือวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเราเรียกว่าเป็นวันอาเซียนหรือวันเกิดของอาเซียน
นับเป็นโอกาสอันสำคัญที่ได้มี “การเหลียวหลัง” คือ การวิเคราะห์
ประเมินความสำเร็จในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งท้าทายต่างๆ และ “การแลหน้า” คือ การวิเคราะห์ เสนอแนะ วิสัยทัศน์และ Roadmap ของอาเซียนในอนาคต ซึ่งการสัมมนาในวันนั้น ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
ทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักศึกษา
และเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียนด้วย
สำหรับข้อสรุปของการประเมินความสำเร็จของอาเซียนนั้น
ตลอดเวลา 45 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีวิวัฒนาการเรื่อยมา และมีบทบาทสำคัญ ในยุคสงครามเย็นอาเซียนเป็นแนวร่วมของไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
และต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น อาเซียนเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ จนมาถึงปี 2003 ได้มีข้อตกลงที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น
ภายในปี 2015 ขณะนี้อาเซียนกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีสิ่งท้าทาย
อุปสรรค และขวากหนาม อยู่ไม่น้อยสำหรับเดินทางการเดินไปสู่ประชาคมอาเซียน
อุปสรรคสำคัญคือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิก
ความไม่วางใจซึ่งกันและกัน ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้อาเซียนไม่สามารถบูรณาการทางเศรษฐกิจในเชิงลึกได้
นอกจากนั้น อาเซียนยังขาดอัตลักษณ์ร่วม ทำให้อาเซียน 600 ล้านคน
ยังไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน นำไปสู่ความแตกแยก ไม่เป็นเอกภาพ และไม่สามัคคีกันในอาเซียน
ปัญหาล่าสุด คือ การแตกแยกกันในกรณีทะเลจีนใต้
โดยอาเซียนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือหางสหรัฐ และต้องการให้แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
มีข้อความโจมตีจีน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ถือหางจีน (โดยเฉพาะกัมพูชา)
จึงทำให้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งล่าสุด ที่กรุงพนมเปญ อาเซียนไม่สามารถมีแถลงการณ์ร่วมออกมาได้
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีของอาเซียนที่อาเซียนไม่มีแถลงการณ์ร่วม
เหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนยังมีสิ่งท้าทาย
อุปสรรค ขวากหนามอีกมาก ในการที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ
ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
รวมทั้งประเทศไทย จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเหล่านี้
เพื่อทำให้อาเซียนสามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงในอนาคตและจะทำให้อาเซียนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกได้ในอนาคต
รวมทั้งจะทำให้อาเซียนสามารถดำรงการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคต่อไปได้