Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พันธมิตรรัสเซีย-จีน ในโลกยุคหลังการผนวก Crimea

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2557


โลกในยุคหลังการผนวก Crimea
               หลังจากเกิดวิกฤตยูเครน โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบโลก ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ยุคที่การเมืองโลกกลับไปเหมือนศตวรรษที่แล้ว ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะจะเป็นยุคที่ตะวันตกจะขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ  

                ยุทธศาสตร์หลักของรัสเซียคือ ความพยายามกลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก โดยขั้นแรกคือ การขยายอิทธิพลเข้าครองงำประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต หลังจากนั้น จะขยายไปยุโรปตะวันออก ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

               ปฏิกิริยาตอบโต้รัสเซียของตะวันตกคือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซีย ทั้งทางด้านการทหาร การทูตและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ EU จะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และลดการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง

               นอกจากนี้ การผนวก Crimea ของรัสเซียยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการฟื้นคืนชีพของพันธมิตร

นาโต้ หลังจากที่ซบเซามานาน หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นาโต้ดูสับสนและไม่มีเป้าหมาย แต่จากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ทำให้นาโต้กลับมามีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การปิดล้อมรัสเซียทางทหาร

               พันธมิตรรัสเซีย-จีน

               ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ รัสเซียจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อสู้กับตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหันไปเป็นพันธมิตรกับจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดล้อมทางทหารและทางเศรษฐกิจของตะวันตก และเพื่อถ่วงดุลตะวันตก

               เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ได้เดินทางไปเยือนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่กับจีน ซึ่งวาระซ่อนเร้นคือ การดึงจีนมาเป็นพันธมิตร เพื่อถ่วงดุลตะวันตก การเยือนครั้งนี้ จึงถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน

โดยจีนได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซีย ที่จะถ่วงดุลตะวันตก

               สำหรับจีน ก็คงจะมองการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกว่า ขณะนี้ระบบโลกในยุคหลังสงครามเย็น ที่มีสหรัฐและตะวันตกครองความเป็นเจ้า โดยมีรัสเซียอยู่ใต้อาณัติของตะวันตกนั้น กำลังล่มสลายไป จีนจึงมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของจีน เพราะจีนก็หวาดระแวงเช่นเดียวกันว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีน ก็คือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน รัสเซียจึงจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะมาถ่วงดุลสหรัฐ ดังนั้นรัสเซียและจีนจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการกระชับความสัมพันธ์ เป็นพันธมิตรร่วมกัน และจีนก็คงจะมองด้วยว่า ขณะนี้รัสเซียต้องการความร่วมมือจากจีนมาก อำนาจการต่อรองของจีนก็จะมีมากขึ้นในการบีบรัสเซียในเรื่องต่างๆ

               ความร่วมมือทางพลังงาน

               ไฮไลท์ของการเยือนจีนของ Putin ในครั้งนี้คือ การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงาน โดยรัสเซียตกลงจะขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันให้กับจีนในราคาพิเศษ จีนจะลงทุนในการสร้างท่อส่งก๊าซจาก Siberia มายังจีน มูลค่า 25,000 ล้านเหรียญ และราคาก๊าซที่รัสเซียจะขายให้จีนก็จะมีราคาถูกเป็นพิเศษ ข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทก๊าซรายใหญ่ของรัสเซียชื่อ Gazprom กับบริษัทของจีน คือ China National Petroleum Corp  โดย Gazprom มีแผนจะส่งออกก๊าซธรรมชาติปริมาณ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้กับจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24 % ของการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยุโรป

               ยุทธศาสตร์หลักของรัสเซียในเรื่องนี้คือ ลดการพึ่งพาการขายพลังงานให้กับยุโรป ซึ่งในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึง 60 % ของการส่งออกพลังงานของรัสเซีย รัสเซียรู้ดีว่า EU เองก็กำลังมีแผนที่จะลการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และสหรัฐก็มีแผนที่จะขายพลังงานให้กับยุโรปในอนาคต รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก และเศรษฐกิจรัสเซียก็อยู่ได้ด้วยการส่งออกพลังงาน คิดเป็น 60 % ของรายได้ของประเทศ

               ในขณะเดียวกัน จีนก็มีความต้องการแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในอดีต จีนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียน้อยมาก คือเพียง 9 % ของการนำเข้าน้ำมัน และเพียง 1 % ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสของจีนที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะนี้ เป็นโอกาสทองที่จีนจะบีบให้รัสเซียขายพลังงานราคาถูกให้กับจีน

               นอกจากนี้ รัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของตะวันตก ตะวันตกได้ถอนเงินการลงทุนจากรัสเซียในปีนี้ไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ รัสเซียจึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งจีนเองก็พร้อมและอยากจะเข้าไปลงทุนและค้าขายกับรัสเซียอยู่แล้ว ดังนั้น รัสเซียจึงได้ประกาศที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ เพื่อที่จะให้บริษัทจากจีนเข้าไปลงทุนในรัสเซียมากขึ้น พร้อมกับเปิดตลาดให้จีนส่งออกสินค้าไปยังตลาดรัสเซียมากขึ้น

               ความสัมพันธ์ทางทหาร  

               อีกเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับแนวโน้มพันธมิตรรัสเซียกับจีนคือ การกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ระหว่างประเทศทั้งสอง ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการซ้อมรบร่วมทางทะเล ระหว่างกองทัพเรือจีนกับรัสเซีย โดยจะเป็นการซ้อมรบนอกชายฝั่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก็อยู่ทางตอนเหนือไม่ไกลนัก จากเกาะเซนกากุหรือเกาะเตียวหยู ซึ่งเป็นกรณีพิพาทจีนกับญี่ปุ่นอยู่ นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางทหารที่มีนัยยะสำคัญ เพราะช่วงก่อนหน้านี้ ตอนที่ Obama มาเยือนญี่ปุ่น ก็ได้ประกาศว่า สหรัฐจะปกป้องเกาะเซนกากุของญี่ปุ่น

               ความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียกับจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ปีที่แล้วก็ได้มีการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันใกล้เมือง Vladivostok ของรัสเซีย ซึ่งการซ้อมรบในครั้งนั้น ถือเป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดที่จีนซ้อมรบร่วมกับประเทศอื่น

               นอกจากนี้ รัสเซียได้ประกาศที่จะขายอาวุธให้กับจีน รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านการทหาร และ เทคโนโลยีอาวุธทันสมัยให้กับจีนด้วย

               กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมี

นัยยะสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการถอยหลังกลับไปสู่ระบบการเมืองโลกในศตวรรษที่ 20 ที่มีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และการถ่วงดุลกันและกัน ซึ่งเราก็กำลังเห็นแล้ว ถึงแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ ตะวันตก กับรัสเซีย และการที่รัสเซียหันไปเป็นพันธมิตรกันจีนเพื่อถ่วงดุลตะวันตก ก็คงต้องจับตาดูและวิเคราะห์กันต่อว่า ระบบการเมืองโลกในอนาคตจะวิวัฒนาการไปในทิศทางใด