Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

สหรัฐประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลก

สหรัฐประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลก
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2553

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ประกาศยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลกที่ Council on Foreign Relations คอลัมน์โลกทรรศในตอนนี้ จะวิเคราะห์สุนทรพจน์และยุทศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม
ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกที่ Clinton ได้ประกาศออกมานั้น เริ่มด้วยการมองว่า สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำโลกในศตวรรษที่ 21 โลกในปัจจุบันถือเป็น American Moment หรือช่วงเวลาของอเมริกา เป็นจังหวะเวลา ที่การเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่สหรัฐจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคต นี่คือช่วงจังหวะเวลา ที่จะสร้างรากฐานการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐสำหรับศตวรรษที่ 21

Clinton จึงประกาศยุทธศาสตร์สำหรับสถาปัตยกรรมของโลกใหม่ โดยเน้นการสร้างหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วน การพัฒนาสถาบันในภูมิภาค และสถาบันในระดับโลก

พันธมิตร
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ในการสร้างสถาปัตยกรรมโลกคือ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะในยุโรปและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม Clinton ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับยุโรป ในการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด โดยได้กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังร่วมมือกับพันธมิตรในยุโรปอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นาโต้ยังคงเป็นพันธมิตรในระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ นาโต้ได้ส่งกองกำลังร่วมกับสหรัฐในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายทั้ง al Qaeda และ นักรบตาลีบัน รัฐบาลโอบามาได้ให้ความสำคัญต่อสงครามอัฟกานิสถาน กองกำลังนาโต้ได้ส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังของสหรัฐหลายพันคน

ปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของสถาปัตยกรรมโลกคือ การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจใหม่ โดยสหรัฐได้เพิ่มความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคและพหุภาคี โดยหวังว่า มหาอำนาจใหม่เหล่านี้ จะเพิ่มความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกมากขึ้น

ขณะนี้ Strategic and Economic Dialogue เป็นเวทีความร่วมมือกับจีน

สำหรับอินเดีย สหรัฐกำลังวางรากฐานของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปเยือนอินเดียในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับรัสเซีย การแก้ปัญหาสำคัญของโลกจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัสเซีย ในสมัยรัฐบาลโอบามาจึงได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่ และในช่วงเวลา 1 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับรัสเซียหลายเรื่อง อาทิ สนธิสัญญาลดอาวุธ ความร่วมมือมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือในคณะมนตรีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน การทำสงครามจอร์เจียของรัสเซีย ประเด็นเหล่านี้ สหรัฐจะไม่รีรอที่จะแสดงท่าทีคัดค้าน เมื่อมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ไม่ยอมเล่นบทประเทศที่มีความรับผิดชอบ สหรัฐก็จะพยายามกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 ของการสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐนั้น คือ การที่สหรัฐจะเข้าไปมีบทบาทในสถาปัตยกรรมในภูมิภาคต่างๆ

สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น สหรัฐเคยถูกมองว่า บทบาทกำลังลดลง ดังนั้น รัฐบาลโอบามาจึงได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า สหรัฐกำลังจะกลับมา หลังจากนั้น สหรัฐได้กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยเฉพาะกับ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สหรัฐจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ โดยทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐได้ให้ความสำคัญกับเอเปค และได้ผลักดันการจัดทำ FTA ในกรอบ Trans Pacific Partnership (TPP) นอกจากนั้น สหรัฐยังได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับกรอบการประชุมของอาเซียนที่เรียกว่า East Asia Summit หรือ EAS โดยตั้งเป้าว่า จะพัฒนาให้ EAS พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค โดย Hillary Clinton จะเข้าร่วมการประชุม EAS ที่กรุงฮานอย ปลายปีนี้ และประธานาธิบดีโอบามาจะเข้าร่วมการประชุม EAS ครั้งต่อไปในปี 2011

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และสหรัฐลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากกว่าในจีนเสียอีก ดังนั้น สหรัฐจึงกำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สถาบันในระดับโลก
สำหรับยุทธศาสตร์ 4 ในการสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐ คือ การปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง และจะพัฒนาสถาบันดังกล่าว ให้สามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายในปัจจุบัน

สหประชาชาติหรือ UN ยังคงเป็นสถาบันโลกที่สำคัญที่สุด แต่ UN ก็มีข้อจำกัด โดยเฉพาะมีความยากลำบากอย่างยิ่งในการที่จะให้สมาชิกทั้ง 192 ประเทศ บรรลุฉันทามติในเรื่องต่างๆ ได้ UN จึงอาจจะไม่สามารถเผชิญกับทุกปัญหาในโลกได้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐจึงได้พยายามใช้หรือสร้างสถาบันอื่นๆ ขึ้นมา ตัวย่างเช่น การแก้ไขวิกฤติการณ์การเงินโลก สหรัฐได้ใช้ G20 เป็นกลไกสำคัญ สำหรับปัญหานิวเคลียร์ สหรัฐได้จัดตั้งเวที Nuclear Security Summit ขึ้นมาใหม่

ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นตัวอย่างของการที่สหรัฐใช้หลายกลไกและหลายช่องทาง แม้ว่า UN จะเป็นกลไกในระดับโลก แต่สหรัฐก็ได้ผลักดันเวทีใหม่ขึ้นมา คือ Major Economies Forum โดยเน้นเฉพาะการประชุมหารือระหว่างประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ๆ และเมื่อการเจรจาที่โคเปนเฮเกนติดขัด สหรัฐได้ใช้รูปแบบการหารือในวงเล็ก โดยตกลงร่วมกับจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล (กลุ่มนี้ตอนนี้มีชื่อย่อใหม่ว่า BASIC) และในที่สุดก็สามารถที่จะผลักดัน Copenhagen Accord ออกมาได้

บทวิเคราะห์
จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐนั้น จริงๆ แล้ว ก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงแค่บูรณาการยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่สหรัฐกำลังทำอยู่แล้ว

แต่ผมขอย้ำว่า ยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกนั้น ในที่สุด ก็มีเป้าหมายเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ คือ การครองเป็นเจ้าของสหรัฐในโลกต่อไป

ผมอยากจะสรุปยุทธศาสตร์การสร้างสถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐดังภาพข้างล่างนี้



จากภาพ ยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมโลกของสหรัฐ จะมีหลายวงซ้อนกันอยู่

วงในสุดคือ สหรัฐ ผมมองว่า เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐคือ สหรัฐจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมโลก

ส่วนวงที่ 2 เป็นพันธมิตรของสหรัฐ ซึ่งผมมีข้อสังเกตว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับพันธมิตรในยุโรปมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ถ้าหากเรามองว่า สหรัฐกับยุโรปก็คือพวกเดียวกัน คือ เป็นพวกตะวันตกด้วยกันนั่นเอง

วงที่ 3 เป็นมหาอำนาจใหม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่า มหาอำนาจใหม่ที่จะใกล้ชิดกับสหรัฐคือ อินเดีย กับบราซิล ส่วนจีนกับรัสเซียนั้น ในอนาคต น่าจะมีความขัดแย้งกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

วงที่ 4 คือ สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ สหรัฐให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด เพราะกำลังมีวิวัฒนาการ ยังไม่ลงตัว สหรัฐมียุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยสหรัฐจะพยายามเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเน้นกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาค เน้น เอเปค FTA ในกรอบ TPP ขณะเดียวกัน ก็เข้าร่วมกับ EAS เพื่อเป็นตัวกันไม่ให้อาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐลดลง

และวงที่ 5 ก็คือ สถาบันในระดับโลก ซึ่งผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อสถาบันโลกนั้น กำลังมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจาก UN ออกไป โดยสหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ในการใช้หลายๆ สถาบัน หลายๆ กลไก ในการแก้ปัญหาในระดับโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ที่สหรัฐมองว่า เวที UN ใหญ่เกินไป จึงไม่สามารถหาฉันทามติได้ และเวที UN สหรัฐจะเสียเปรียบเพราะประเทศกำลังพัฒนาได้รวมหัวกันกดดันสหรัฐให้ปรับลดก๊าซเรือนกระจกลงเป็นอย่างมาก สหรัฐจึงกำลังหาวิธีการใหม่ ด้วยการสร้างกลไกคู่ขนาน โดยแม้จะมีการเจรจาในกรอบ UN อยู่ แต่สหรัฐก็สร้างเวทีหารือที่สหรัฐเรียกว่า Major Economies Forum และเวทีวงเล็กที่ประกอบด้วยประเทศกลุ่มใหม่เรียกว่า BASIC

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ ครั้งที่ 2

กาประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 23 กันยายน 2553

ในวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดสหรัฐกับอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่นครนิวยอร์ก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการประชุม โดยจะกล่าวถึงภูมิหลังของการประชุม และประเด็นต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการหารือกัน

ภูมิหลัง
การประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐ ครั้งที่ 2 นี้ จะเป็นการสานต่อจากการประชุมสุดยอดครั้งแรก ที่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ที่สิงคโปร์ ทั้งอาเซียนและสหรัฐต้องการที่จะใกล้ชิดกัน และต้องการให้มีการประชุมสุดยอด เพราะทั้ง 2 ฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะได้จากการใกล้ชิดกัน

สำหรับอาเซียนนั้น ต้องการใกล้ชิดกับสหรัฐ โดยจะให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลจีน นอกจากนี้ ยังหวังผลประโยชน์จากการใกล้ชิดกับอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ทั้งผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง ทางทหาร และทางด้านเศรษฐกิจด้วย

สำหรับในแง่ของสหรัฐนั้น ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การครองความเป็นเจ้า ซึ่งขณะนี้กำลังมีจีนผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ดังนั้น สหรัฐจึงมียุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในอาเซียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ อิทธิพลของสหรัฐกลับลดลง สหรัฐจึงได้เริ่มปรับนโยบายใหม่ต่ออาเซียน โดยได้หันมาตีสนิทกับอาเซียน และให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแข่งกับจีน

กลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากร 620 ล้านคน มี GDP 1.5 ล้านล้านเหรียญ ขณะนี้ อาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในอาเซียนมีมูลค่ามหาศาล มากกว่าการลงทุนในจีนถึง 3 เท่า และมากกว่าการลงทุนในอินเดียเกือบ 10 เท่า อาเซียนจึงมีความสำคัญกับสหรัฐทางด้านเศรษฐกิจด้วย

และนี่ก็คือ สาเหตุหลักๆ ที่นำไปสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐครั้งที่ 2

ประเด็นสถานที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะตกลงกันได้ว่า จะประชุมที่นิวยอร์กนั้น มีการถกเถียงกันอยู่นาน ถึงสถานที่จัดการประชุม
โดยตอนแรกนั้น สหรัฐทำท่าว่าจะไม่ยอมมาประชุมที่กรุงฮานอย ซึ่งตามประเพณีและหลักปฏิบัติของอาเซียน การประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน จะประชุมในประเทศอาเซียนที่เป็นประธานอาเซียนเท่านั้น อาเซียนจะไม่ยอมไปประชุมในประเทศคู่เจรจา ที่ผ่านมา ก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอดกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ยกเว้นในกรณีที่เป็นการประชุมสุดยอดครั้งพิเศษ ที่เป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปี หรือ 20 ปี ของความสัมพันธ์ ดังนั้น อาเซียนจึงยืนยันมาตลอดว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐครั้งที่ 2 จะต้องจัดขึ้นที่กรุงฮานอย และอาเซียนก็กดดันให้โอบามาเดินทางมาประชุมที่กรุงฮานอย แต่ท่าทีของสหรัฐก็คือ โอบามามีภารกิจมากมายไม่สามารถจะเดินทางมาเอเชียหลายครั้งได้ จึงทำท่าว่าจะไม่ยอมมาประชุมและจะยกเลิกการประชุม

ผมเดาว่า ในตอนหลัง ท่าทีของอาเซียนคงอ่อนลง เพราะอาเซียนอยากจะให้มีการประชุมสุดยอดอย่างต่อเนื่องทุกปี ในที่สุด จึงออกมาเป็นสูตรที่ว่า สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สหรัฐแทน

ผมไม่มีข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับการถกเถียงกันในเรื่องนี้ แต่เดาว่า บางประเทศอาเซียนคงไม่เห็นด้วย และมองว่าจะเป็นการขัดต่อหลักปฏิบัติและประเพณีของอาเซียน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางและคุมเกม hidden agenda ของอาเซียนในการที่จะผูกขาดการจัดประชุมกับประเทศคู่เจรจาคือ การต้องการคุมเกม ดังนั้น หากยอมสหรัฐในครั้งนี้ จะเป็นการเปิด pandora box จะทำให้ในอนาคต อาเซียนจะสูญเสียอำนาจในการคุมเกมกับมหาอำนาจ

ผมเดาว่า นี่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคือ Susilo Bambang Yudhoyono มีท่าทีออกมาว่า จะไม่ไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยทางรัฐบาลอินโดนีเซียอ้างว่า ประธานาธิบดีติดภารกิจ แต่ผมวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นการประท้วงสหรัฐมากกว่า อย่าลืมว่า อินโดนีเซียคงไม่พอใจสหรัฐมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้เพราะโอบามาได้ยกเลิกการเยือนอินโดนีเซียถึง 2 ครั้ง ซึ่งน่าจะทำให้อินโดนีเซียไม่พอใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากผู้นำอินโดนีเซียไม่ไปร่วมประชุมจริง จะทำให้การประชุมครั้งนี้ดูกร่อยลงไป และจะทำให้การประชุมลดความสำคัญลง เพราะอินโดนีเซียถือเป็นลูกพี่ใหญ่ในอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ประธานาธิบดี Nguyen Minh Triet ผู้นำของเวียดนาม ก็ยังไม่แน่ว่า จะเข้าร่วมประชุมหรือไม่

ประเด็นการประชุม
• ภาพรวม
คาดว่าเรื่องที่จะประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการสานต่อจากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 1 โดยสหรัฐคงจะใช้การประชุม ในการเดินหน้านโยบายในเชิงรุกเพื่อปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งได้เข้มข้นขึ้นมาในสมัยรัฐบาลโอบามา โดยในการประชุมสุดยอดครั้งแรกนั้น ผลการประชุมถือเป็นการพลิกโฉมหน้าใหม่ความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐ มีความคิดริเริ่มหลายเรื่องที่ได้เกิดขึ้น

หลังจากนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่กรุงฮานอย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีความตกลงกันและมีความคืบหน้ากันหลายเรื่อง

สำหรับอาเซียน ก็ต้องการที่จะให้การประชุมสุดยอดกับสหรัฐนั้นมีความต่อเนื่อง และเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
คาดว่าผลการประชุม จะออกมาเพื่อเป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของสหรัฐต่ออาเซียน และเพื่อที่จะสานต่อวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีโอบามา ที่บอกว่าจะเป็น “the first Pacific President”

• สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
เรื่องที่น่าจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม คือ การที่อาเซียนจะเชิญสหรัฐเข้าร่วมเป็นสมาชิก East Asia Summit หรือ EAS อย่างเป็นทางการ และทางโอบามาคงจะตอบรับคำเชิญ โดยในตอนนี้ มีข่าวออกมาชัดเจนแล้วว่า Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะเป็นตัวแทนผู้นำสหรัฐเข้าร่วมประชุม EAS Summit ที่กรุงฮานอย ปลายปีนี้ และในปีหน้า โอบามาจะเข้าร่วมประชุม EAS Summit ที่อินโดนีเซีย

สำหรับอาเซียนนั้น ต้องการดึงสหรัฐเข้ามาใน EAS เพื่อถ่วงดุลจีน และเพื่อลดกระแสการต่อต้านของสหรัฐ ที่มองว่า เอเชียกำลังสุมหัวกัน รวมกลุ่มกัน โดยไม่มีสหรัฐ ส่วนการเข้าร่วม EAS ของสหรัฐนั้น สหรัฐก็มองว่า จะเป็นโอกาสที่สหรัฐจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และจะได้เข้ามาถ่วงดุลจีน และคงอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป

• ความมั่นคง
อีกเรื่องที่น่าจะเป็นไฮไลท์ของการประชุมคือ ความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยสหรัฐคงจะตอกย้ำการที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 หรือ ADMM+8 ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางที่สหรัฐจะคงอิทธิพลทางทหารในภูมิภาคต่อไป

แต่เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนคือ ปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งสหรัฐคงจะพยายามดึงอาเซียนมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านจีน โดยในกาประชุม ARF ที่ฮานอย ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton ได้เป็นคนจุดชนวนการประทุของปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ครั้งใหม่ การเข้ามายุ่งเรื่องนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐขยายบทบาททางทหารเข้าสู่ทะเลจีนใต้ จีนก็มีปฏิกิริยาไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่การซ้อมรบของจีนก็นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอย่างเข้มข้น

สำหรับในประเด็นเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์นี้ ผมมีความเห็นว่า อาเซียนควรจะต้องระมัดระวัง ดูเหมือนกับว่า ขณะนี้อาเซียนกำลังถูกสหรัฐดึงมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านจีน ซึ่งผมดูแล้ว ในระยะยาว ไม่น่าจะเป็นผลดีต่ออาเซียน ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดของอาเซียนคือ ยุทธศาสตร์การรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi – distant policy) กับมหาอำนาจ อาเซียนควรจะต้องเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจให้เกิดดุลยภาพอย่างแท้จริง โดยต้องไม่ไปใกล้ชิดใครเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้เสียสมดุล และจะทำให้ความสัมพันธ์อาเซียนจีนเสื่อมทรามลง ดังนั้น อาเซียนจึงไม่ควรเล่นตามเกมสหรัฐ

• พม่า
อีกเรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนในการประชุมคราวนี้คือ เรื่องพม่า

ในช่วงแรกของรัฐบาลโอบามา ได้พยายามปรับเปลี่ยนท่าทีต่อพม่า โดยได้เริ่มปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า และชะลอนโยบายคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวพม่า ยุทธศาสตร์ใหม่มีชื่อว่า practical engagement แต่ดูเหมือนกับว่า สหรัฐกำลังรู้สึกผิดหวังกับยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา ดูจะไม่ได้ผล โดยถึงแม้รัฐบาลทหารพม่าจะประกาศให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่สหรัฐก็มองว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่มีความโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม และมองว่า การเลือกตั้งคงจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารพม่าซึ่งจะเปลี่ยนสภาพมาเป็นรัฐบาลพลเรือนเท่านั้นเอง สหรัฐจึงกำลังจะพยายามกดดันพม่าในเรื่องนี้ และต้องการความร่วมมือจากอาเซียน แต่อาเซียนก็มีข้อจำกัด เพระไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของพม่า ผมเดาว่า การประชุมคงจะไม่มีผลอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ และทางผู้นำพม่าก็คงรู้ตัวว่า กำลังจะถูกเป็นเป้า จึงมีข่าวออกมาว่า นายพลตัน ฉ่วย คงจะไม่ไปร่วมการประชุม แต่คงจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Nayan Win เข้าร่วมประชุมแทน

ประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเรื่องพม่า คือ การที่สหรัฐตัดสินใจที่จะประชุมที่นิวยอร์กแทนที่จะประชุมที่กรุงวอชิงตีน ดีซี ซึ่งตามหลักแล้ว การจัดประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดีซี น่าจะดูดีกว่า ในเรื่องความสำคัญของการประชุม แต่อาจเป็นเพราะสหรัฐต้องการลดระดับความสำคัญของการประชุม เพราะไม่ต้องการให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลมทหารพม่า จึงย้ายมาจัดที่นิวยอร์กแทน

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

9 ปี เหตุการณ์ 11 กันยาฯ

9 ปี เหตุการณ์ 11 กันยาฯ
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2553

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นการครบรอบ 9 ปี ของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะย้อนกลับไปดูว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐเป็นผู้นำนั้น ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และวิเคราะห์สถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในสมัยรัฐบาลบุช
ในช่วง 8 ปี ของรัฐบาลบุช คือ ตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 จนถึงปี 2008 รัฐบาลบุชก็ยุ่งอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม สงครามที่รัฐบาลบุชหวังว่าจะชนะ แต่กลับยืดเยื้อ กลับกลายเป็นยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม ถึงแม้จะยังไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐ แต่การก่อการร้ายกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก สงครามอุดมการณ์เพื่อชนะจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โลกมุสลิมได้มองว่า สหรัฐคือ ศัตรูของอิสลาม และ al Qaeda ไม่ได้เป็นองค์กรอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นอุดมการณ์ เป็นขบวนการที่แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม ถึงแม้บุชได้ออกมาประกาศว่า ผู้นำของ al Qaeda ได้ถูกจับกุมและสังหารไปจำนวนมาก แต่ al Qaeda ได้มีการปรับตัวและสมาชิกกลับเพิ่มขึ้น อุดมการณ์ของ al Qaeda ได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม อุดมการณ์นั้นคือ การต่อต้านสหรัฐ ทำลายล้างสหรัฐและพันธมิตร ทำสงครามศาสนากับตะวันตก ขจัดอิทธิพลของตะวันตกให้ออกไปจากโลกมุสลิม และในที่สุดจะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นทั่วโลกมุสลิม

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในสมัยรัฐบาลโอบามา
ในปี 2009 ได้มีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลบุชมาเป็นรัฐบาลโอบามา ชาวโลกหวังว่า สหรัฐคงจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่กับโลกมุสลิม และมียุทธศาสตร์ใหม่ในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย

เมื่อได้รับตำแหน่งใหม่ๆ โอบามาได้กล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ในช่วงกลางปีที่แล้ว ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ประกาศยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับโลกมุสลิม ชาวโลกหลังจากได้ยินสุนทรพจน์ก็มีความหวังว่า โอบามาซึ่งแตกต่างจากบุช ซึ่งมีนโยบายสายเหยี่ยว แต่โอบามาดูจะมีนโยบายสายพิราบ จึงน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า โอบามาเองก็มองว่า สุนทรพจน์ที่ไคโรเป็นก้าวสำคัญในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม 1 ปีผ่านไป หลังจากสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์สหรัฐกับโลกมุสลิมไม่ได้ดีขึ้น แต่ดูกลับจะแย่ลง การแก้ปัญหาการก่อการร้ายกำลังถึงทางตันเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน การสำรวจความเห็นของชาวมุสลิมปรากฏว่า มีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังมีความเชื่อมั่นในตัวโอบามา ซึ่งลดลงจาก 42 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้ว โลกมุสลิมกำลังรอว่า โอบามาจะมีอะไรที่มากไปกว่าคำพูดหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนกับว่า การกระทำจะสวนทางกับคำพูดของโอบามา ตัวอย่างเช่น โอบามาประกาศว่า จะปิดคุกที่ Guantanamo แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ปิด โอบามาได้ถอนทหารออกจากอิรัก แต่กลับไปเพิ่มที่อัฟกานิสถาน รวมถึงกำลังเพิ่มปฏิบัติการไล่ล่าผู้ก่อการร้ายในปากีสถานด้วย สุนทรพจน์ของโอบามาที่ไคโรย้ำถึงการแก้ปัญหาปาเลสไตน์ ปัจจุบันปัญหาปาเลสไตน์ยังเหมือนเดิม และชาวปาเลสไตน์ยังไม่มีรัฐของตนเอง ในสายตาของชาวมุสลิม เริ่มมองว่า โอบามาคงจะไม่ต่างจากผู้นำสหรัฐคนอื่นๆ ซึ่งมีนโยบายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐเท่านั้น

ปัจจุบัน แนวรบในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากที่อยู่ในตะวันออกกกลางแล้ว ยังมาอยู่ที่ศูนย์กลางของนครนิวยอร์กด้วย คือ ความขัดแย้งในเรื่องของการที่จะสร้างมัสยิดใกล้ตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ที่ถูกถล่มในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ โดยชาวอเมริกัน ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมก็ออกมาต่อต้านการสร้างมัสยิดดังกล่าว โดยมองว่า การสร้างมัสยิดเท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะของพวกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ในขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกก็ออกมาต่อต้าน หนังสือพิมพ์ New York Times ได้สัมภาษณ์ชาวมุสลิมในกรุงแบกแดด ซึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า “อเมริกาเกลียดอิสลาม”

และในขณะที่กำลังมีความขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องการสร้างมัสยิดดังกล่าว ก็มีเหตุการณ์ทำลายภาพลักษณ์ของอเมริกาในสายตาโลกมุสลิมเพิ่มขึ้นอีก เมื่อบาทหลวงที่ประจำอยู่โบสถ์เล็กๆ ในรัฐฟลอริดา ชื่อ Terry Jones ประกาศว่า จะเผาคัมภีร์กุรอ่าน โดยเสนอว่า วันที่ 11 กันยายน จะเป็นวัน “Burn a Koran Day” หรือ “วันเผากุรอ่าน” ซึ่งการเสนอเช่นนั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านไปทั่วโลกมุสลิม

สถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
จากการประเมินข้างต้น จะเห็นได้ว่า 9 ปี หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐประสบความล้มเหลวและกลับทรุดหนักลง โดยกลุ่มก่อการ้ายและการก่อการร้ายได้แพร่ขยายไปทั่วโลก al Qaeda ยังคงเป็นองค์กรก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า ขณะนี้ al Qaeda มีอยู่ 5 มิติด้วยกัน

มิติที่ 1 คือ องค์กร al Qaeda ดั้งเดิม ที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย นำโดยบิน ลาเดน ซึ่งจะเป็นองค์กรหลักในการกำหนดทิศทางของแนวร่วมการก่อการร้ายทั่วโลก ถึงแม้สหรัฐจะพยายามอย่างสุดความสามารถ อาจถือได้ว่า เป็นความพยายามค้นหาที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สหรัฐก็ยังไม่สามารถค้นหาแหล่งที่ซ่อนของ บิน ลาเดน ได้ ถึงแม้ว่า จะมีการคาดเดาว่า แหล่งซ่องสุมใหญ่จะอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถานก็ตาม

มิติที่ 2 คือ เครือข่ายการก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al Qaeda โดยเฉพาะในปากีสถานและอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันในปากีสถาน ซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนการก่อวินาศกรรมที่ Times Square นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ก็เป็นแนวร่วมกับ บิน ลาเดน เช่นเดียวกับนักรบตาลีบันในอัฟกานิสถาน ก็เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับ al Qaeda

มิติที่ 3 ของ al Qaeda คือ แนวร่วมของ al Qaeda ในโลกมุสลิม ซึ่งมีหลายกลุ่มด้วยกัน
• กลุ่มแรกคือ al Qaeda in the Arabian Peninsula ซึ่งวางแผนโจมตีสหรัฐในวันคริสต์มาสปีที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จ กลุ่มนี้ได้โจมตีรัฐบาลเยเมน และลอบสังหารหัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของซาอุดิอาระเบียด้วย
• Al-Shabaab กลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ al Qaeda
• al Qaeda in the Islamic Maghreb เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีบทบาทสำคัญทางตอนเหนือของอัฟริกา
• กลุ่ม Lashkar e – Tayyiba เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดียและปากีสถาน มีบทบาทสำคัญในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ปี 2008
• al Qaeda in Iraq ถึงแม้จะมีบทบาทลดลง แต่ก็ยังคงก่อวินาศกรรมเป็นระยะๆ ในอิรัก

สำหรับมิติที่ 4 ของ al Qaeda คือ กลุ่มก่อการร้ายในระดับท้องถิ่น ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า home grown terrorist กลุ่มก่อการ้ายและผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ เป็นคนท้องถิ่น แต่มีอุดมการณ์ร่วมกับ al Qaeda ซึ่งขณะนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสเปนเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่น การก่อวินาศกรรมในลอนดอน ก็เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายเชื้อสายปากีสถานที่เกิดในอังกฤษ และมีผู้ก่อการร้ายสัญชาติอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ในกรณีการก่อวินาศกรรมที่ Fort Hood และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีชาวอเมริกัน 3 คน คนหนึ่งมีชื่อว่า Najibullah Zazi ได้ไปฝึกการก่อวินาศกรรมกับ al Qaeda ในปากีสถาน และได้วางแผนจะระเบิดฆ่าตัวตายในรถไฟใต้ดินของนครนิวยอร์ก แต่ทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐได้ป้องกันไว้ได้ก่อน

สำหรับมิติที่ 5 ก็คือ อุดมการณ์ของ al Qaeda คือ การทำสงครามศาสนาหรือสงคราม Jihad ต่อต้านสหรัฐและต่อต้านตะวันตก ขณะนี้ อุดมการณ์ดังกล่าวได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิมตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีชาวมุสลิมเป็นจำนวนน้อยที่เลื่อมใสในอุดมการณ์ดังกล่าว แต่คนจำนวนนี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก หากก่อวินาศกรรมที่ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตได้เป็นจำนวนมาก

ผมมองว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในอนาคต คงจะลุกลามบานปลายต่อไปไม่จบง่ายๆ โดยมีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายกำลังลุกลามขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมน และโซมาเลีย รวมทั้งในโลกตะวันตกคือ สหรัฐและยุโรป สำหรับสงครามในอัฟกานิสถานก็ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักรบตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้และสหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ สงครามอัฟกานิสถาน การที่สหรัฐหวังจะเอาชัยชนะคงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน ก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤติเช่นเดียวกัน ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ ทั้งของ al Qaeda และตาลีบัน

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

หนังสือประชาคมเอเชียตะวันออก

หนังสือประชาคมเอเชียตะวันออก
ซื้อได้แล้วที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ และ SE-ED Book Center (Coming Soon)



วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ โดยได้วิเคราะห์ความขัดแย้งทางทหารไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งทางทะเล ดังนี้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการสายเหยี่ยวของสหรัฐชื่อ Robert Kaplan ได้เขียนบทวิเคราะห์ชื่อว่า “The Geography of Chinese Power” โดยได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีน สรุปได้ดังนี้

Kaplan มองว่า จีนกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค โดยขณะนี้ จีนมีความทะเยอทะยานและนโยบายที่ก้าวร้าว เหมือนกับที่สหรัฐเคยเป็นเมื่อศตวรรษที่แล้ว ความก้าวร้าวของจีนเกิดมาจากความต้องการพลังงานและแร่ธาตุสำคัญเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยในแคว้นซินเจียง ซึ่งมีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองคำ และเหล็ก รัฐบาลจีนจึงมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะครอบครองดินแดนดังกล่าว โดยใช้วิธีการส่งชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน (คนพื้นเมืองที่ซินเจียงเป็นชาวเติร์ก) จีนใช้นโยบายที่อาจจะเรียกว่า นโยบายกลืนชาติ

สำหรับมองโกเลีย ก็กำลังจะถูกคุกคามจากจีนเช่นเดียวกัน จีนนั้นได้ครอบครองดินแดนที่เรียกว่า Outer Mongolia ไปแล้ว ขณะนี้ จีนต้องการที่จะครอบงำมองโกเลีย โดยเฉพาะทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในมองโกเลีย

สำหรับในบริเวณตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งอยู่เหนือจีนขึ้นไปนั้น มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล คิดเป็น 2 เท่าของทวีปยุโรป แต่มีประชากรเบาบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นโยบายของจีนคือ การครอบงำทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านประชากร โดยการส่งคนจีนเข้าไปในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก Kaplan วิเคราะห์ว่า ทั้งนี้เพราะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบไปด้วยรัฐเล็กๆ ที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนได้ ขณะนี้ จีนใช้อาเซียนเป็นตลาดในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน ในขณะเดียวกัน ก็นำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากอาเซียน

สำหรับในคาบสมุทรเกาหลี จีนก็มีแผนที่จะเข้าครอบงำเช่นเดียวกัน

ที่กล่าวข้างต้น เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางบก แต่สำหรับภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางทะเลนั้น จีนกำลังประสบกับสภาวะแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามสูง โดยจีนมองว่า จีนกำลังถูกปิดล้อมทางทะเล ไล่มาตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ความรู้สึกถูกปิดล้อมทางทะเล จึงทำให้จีนก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม ปี 2009 เรือรบจีนได้เผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐในทะเลจีนใต้

จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะรวมชาติกับไต้หวัน ซึ่ง Kaplan มองว่า หากสหรัฐทอดทิ้งไต้หวัน ก็จะทำให้พันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคหมดความเชื่อมั่นในสหรัฐ และอาจจะทำให้พันธมิตรของสหรัฐหันไปใกล้ชิดกับจีนแทน ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของจีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในตอนท้ายของบทความ Kaplan ได้เสนอว่า สหรัฐควรสร้างแสนยานุภาพทั้งทางอากาศและทางทะเลในภูมิภาค และมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยสหรัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค

ผมมองว่า แนวคิดของ Kaplan นั้น เป็นแนวคิดของนักวิชาการสายเหยี่ยว สำนักสัจนิยม ซึ่งมองความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิดของ Kaplan จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางทหาร ซึ่งทางฝ่ายทหารและทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐกำลังผลักดันยุทธศาสตร์นี้อยู่

ความขัดแย้งทางทะเล
ดังนั้น ในขณะนี้ ศูนย์กลางทางความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีน จึงเป็นความขัดแย้งทางทะเลซึ่งมีอยู่หลายจุด
จุดแรกคือ ไต้หวัน ซึ่งในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ มองว่า จีนกำลังเสริมสร้างกำลังทางทหารโดยมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน

จุดที่สองคือ ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งในคอลัมน์ตอนที่แล้ว ก็ได้วิเคราะห์ไปแล้วเช่นเดียวกัน โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม Hillary Clinton ได้ประกาศว่า สหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ ท่าทีของสหรัฐทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจีนจึงได้ซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และสหรัฐได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม

จุดที่สามคือ บริเวณทะเลเหลืองหรือ Yellow Sea ซึ่งได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้น โดยเริ่มมาจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือ Cheonan ของเกาหลีไต้ แต่จีนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการลงโทษเกาหลีเหนือ จึงทำให้เกาหลีใต้ดึงสหรัฐเข้ามา โดยได้มีการซ้อมรบร่วมในคาบสมุทรเกาหลีและในทะเลเหลือง มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington มาร่วมซ้อมรบด้วย ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก (การซ้อมรบของสหรัฐในทะเลเหลือง ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับจีนไปซ้อมรบในอ่าวเม็กซิโก) นอกจากนั้น การซ้อมรบร่วมเกาหลี-สหรัฐมีญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย

จุดที่สี่คือ มหาสมุทรอินเดีย ถึงแม้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียโดยหลักแล้ว จะเป็นการแข่งขันทางทหารระหว่างจีนกับอินเดีย แต่สหรัฐเองก็พยายามจะมีบทบาทในบริเวณดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรอินเดียก็อาจจะตีความได้ว่า เป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐในทะเลจีนไต้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข่าวออกมาว่า มีเรือรบของจีน 2 ลำ ได้ไปเทียบท่าที่พม่า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรือรบจีนไปเยือนพม่า การไปเยือนพม่าเป็นเวลา 5 วันของเรือรบทั้ง 2 ถือเป็นการส่งสัญญาณการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับพม่า นอกจากนี้ ผู้นำพม่าหรือ นายพลตาน ฉ่วย ก็กำลังจะเดินทางไปเยือนจีน ในช่วงวันที่ 7 – 11 กันยายนนี้ โดยในระหว่างการเยือนจีน นายพลตาน ฉ่วย จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจีย เป่า ด้วย

ความขัดแย้งจีน-อินเดียปี 2010

ความขัดแย้งจีน-อินเดียปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 9 กันยายน 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มความขัดแย้งจีนกับอินเดีย ทั้งในมิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทหาร และเศรษฐกิจ ดังนี้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
จีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ทั้ง 2 ประเทศ จึงมีลักษณะเป็นคู่แข่งกัน และกำลังจะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนมองว่าอินเดียกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องถ่วงดุลและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน อินเดียก็มองจีนว่า เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องหาหนทางปิดล้อม

อินเดียมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย โดยจีนได้เข้าไปตีสนิทกับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย กำลังพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในปากีสถานและบังคลาเทศ สร้างถนนในเนปาล และสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพม่าไปจีน จีนยังได้ช่วยปากีสถานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งน่าจะเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลืออินเดียในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศป้อนอาวุธให้กับปากีสถานรายใหญ่ที่สุด อินเดียยังมองด้วยว่า จีนเป็นตัวขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN และขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกเอเปค นอกจากนี้ จีนยังตีสนิทกับศรีลังกา เรือรบของจีนสามารถไปจอดที่ท่าเรือทางตอนใต้ของศรีลังกาได้

สำหรับอินเดีย ก็ตอบโต้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมของจีนด้วยการตีสนิทกับสหรัฐ โดยในปี 2005 สหรัฐกับอินเดียได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์

นอกจากนี้ อินเดียได้ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากขึ้น บริษัทของญี่ปุ่นได้ไปลงทุนในอินเดียกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ในปี 2007 ได้มีการซ้อมรบทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียในอ่าวเบงกอล โดยมีเรือรบของสหรัฐเข้าร่วมในการซ้อมรบด้วย อินเดียได้เน้นการสร้างแนวร่วมที่เรียกว่า “อักษะของประเทศประชาธิปไตย” หรือ Axis of Democracies

นอกจากนี้ อินเดียยังได้ขัดแย้งกับจีนในกรณีทิเบต โดยองค์ดาไล ลามะ ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในอินเดียมาตั้งแต่ปี 1959 จีนได้กล่าวหาว่า ดาไล ลามะ และอินเดียอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในทิเบตในช่วงต้นปี 2008

ความขัดแย้งทางพรมแดน
ทั้ง 2 ประเทศมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ซึ่งเคยลุกลามกลายเป็นสงครามในปี 1962 อินเดียกล่าวหาจีนว่า ได้ไปยึดครองดินแดนของอินเดียในเขตแคชเมียร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีก โดยอินเดียได้ประกาศเพิ่มทหารประชิดพรมแดนจีน ส่วนจีนก็ตอบโต้ว่าดินแดนประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร ที่ขัดแย้งกับอินเดียนั้นเป็นของจีน จีนประกาศว่า เขต Arunachal Pradesh เป็นดินแดนของจีน และจีนได้ส่งกำลังทางทหารล้ำเข้าไปในแคว้นสิกขิมของอินเดียหลายครั้ง อินเดียก็ได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังทางทหารในแคว้นอัสสัมของอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีทหารอินเดียกว่า 100,000 คน

อินเดียมีพรมแดนติดกับจีนกว่า 4,000 กิโลเมตร อินเดียอ้างว่า เขต Ladakh ซึ่งจีนครอบครองอยู่นั้นเป็นของอินเดีย ส่วนจีนก็อ้างว่า เขต Tawang ซึ่งทหารอินเดียครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 1951 นั้น เป็นของจีน

จีนปฏิเสธเส้นเขตแดนซึ่งทำขึ้นในสมัยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โดยอ้างว่า เขต Arunachal Pradesh เป็นของจีน และท่าทีของจีนก็แข็งกร้าวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร รวมถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชียใต้

ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย

แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย กำลังจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย อินเดียนั้นมุ่งเน้นที่จะครอบงำมหาสมุทรอินเดียมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดียระหว่างประเทศทั้ง 2 มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ ทั้งจีนและอินเดียต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน

สำหรับจีน ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเส้นทางลำเลียงน้ำมัน โดยการสร้างท่าเรือและจุดยุทธศาสตร์ทางทหารบริเวณมหาสมุทรอินเดีย จีนได้สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Hambantota ทางใต้ของศรีลังกา และจีนกำลังสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ที่ Gwadar ปากีสถาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ในช่วงต้นปีนี้ มีข่าวการเผชิญหน้าระหว่างเรือรบจีนและอินเดียในอ่าว Aden

อินเดียได้ตอบสนองต่อการรุกคืบทางทะเลของจีน ด้วยการพัฒนากองทัพเรือขนานใหญ่ โดยอินเดียได้มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และได้ซื้อเรือรบจากรัสเซียและสหรัฐ อย่างไรก็ตามแผนการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน รวมทั้งกองเรือดำน้ำของจีน ทำให้กองทัพเรือจีนดูจะมีความเหนือกว่าอินเดีย แต่อินเดียก็ได้พยายามเพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดีย อาทิ Mauritius, Seychelles, Madagascar และ Maldives รวมทั้งได้มีการซ้อมรบร่วมทางทะเลกับญี่ปุ่นและเวียดนามด้วย

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จีนและอินเดียจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยจีนกำลังมุ่งพัฒนาภาคบริการของตนอย่างเต็มที่เพื่อแข่งกับอินเดีย ในขณะที่อินเดียก็มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของตนเพื่อแข่งกับจีน ถึงแม้ว่า มูลค่าการค้าจีน – อินเดีย จะมีประมาณ 60,000 ล้านเหรียญในปีนี้ แต่แนวโน้มในอนาคต ทั้ง 2 ประเทศน่าจะเป็นคู่แข่งมากกว่าร่วมมือกัน แนวคิดเรื่อง Chindia ก็คงเป็นไปได้ยาก

ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานกัน การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องใหญ่คือ เรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ จีนกับอินเดียกำลังแข่งขันกันอย่างหนัก ในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซ นอกจากนี้ ทรัพยากรน้ำก็เป็นอีกเรื่องของความขัดแย้ง โดยเฉพาะแม่น้ำหลายสายของอินเดียมีต้นกำเนิดอยู่ในทิเบตซึ่งเป็นของจีน ตัวอย่างเช่น แม่น้ำพรหมบุตร มีต้นกำเนิดจากทิเบต แต่เมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้ประกาศที่จะสร้างเขื่อนในแม่น้ำดังกล่าว ซึ่งทำให้อินเดียไม่พอใจเป็นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า จีนและอินเดียซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่ตรรกะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะกำหนดให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 5)

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 5)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 50 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ได้วิเคราะห์ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ มาแล้ว 4 ตอน ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อถึงพัฒนาการความขัดแย้งล่าสุด โดยเป็นความขัดแย้งทางทหาร ดังนี้

ภาพรวม
เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เผยแพร่รายงานประจำปี วิเคราะห์บทบาททางทหารของจีน โดยรายงานดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Annual Assessment of China’s Military ซึ่งเป็นรายงานที่ต้องนำเสนอต่อสภาคองเกรสเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ รายงานดังกล่าวได้วาดภาพการขยายแสนยานุภาพของจีนว่า กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐมากขึ้น

ในตอนต้นของรายงาน ได้กล่าวถึงภูมิหลังว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจทำให้จีนสามารถปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่ การทำให้กองทัพจีนทันสมัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนสามารถที่จะใช้อำนาจทางทหารในการเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการทูต และเพื่อกดดันความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ

จะเห็นได้ว่า บทบาทของกองทัพจีนได้เปลี่ยนไปจากการป้องกันประเทศจีน มาเป็นการเพิ่มบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น โดยในรายงานดังกล่าวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ระบุว่า จีนกำลังขยายแสนยานุภาพออกไปเรื่อยๆ และกำลังมีอำนาจทางทหารเหนือกว่าไต้หวัน และขีดความสามารถทางทหารของจีน ได้ขยายออกไป จะทำให้จีนสามารถโจมตีบริเวณที่อยู่ห่างไกลถึงเกาะกวม ที่เป็นอาณาเขตของสหรัฐ จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธที่สามารถโจมตีเรือรบสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ รายงานได้ประเมินว่า แนวโน้มอำนาจทางทหารของจีน จะเปลี่ยนแปลงดุลยภาพทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในอดีต ยุทธศาสตร์ทหารจีนจะเน้นการเตรียมพร้อมที่จะป้องกันประเทศ โดยมีแนวรับตั้งแต่ญี่ปุ่นลงมาจนถึงทะเลจีนใต้ แต่ในปัจจุบัน นักยุทธศาสตร์ทางทหารจีน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่จะทำให้กองทัพจีนมีขีดความสามารถในการโจมตีไกลออกไปมากถึง เกาะกวม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสำหรับญี่ปุ่นและเวียดนามนั้น ซึ่งทั้ง 2 ประเทศก็มีความตึงเครียดทางทหารกับจีนอยู่ ได้มีรายงานจากประเทศทั้ง 2 ถึงความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน ใกล้ญี่ปุ่นและเวียดนาม อย่างผิดปกติ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

แสนยานุภาพทางทหารของจีน
ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุว่า ขณะนี้ จีนกำลังพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในทุกๆ ด้าน โดย จีนได้พัฒนาขีปนาวุธที่มีความทันสมัยเป็นจำนวนมาก พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีเรือดำน้ำที่มีอาวุธที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพสำหรับกองทัพอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพในการทำสงครามในอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า cyber warfare และจีนยังได้พัฒนาระบบการทำสงครามในอวกาศอีกด้วย

ที่สหรัฐเป็นห่วงเป็นอย่างมาก คือ การพัฒนาขีปนาวุธ โดยเฉพาะขีปนาวุธโจมตีเรือรบของสหรัฐ ซึ่งสามรถยิงไปได้ไกลถึง 1,000 ไมล์ สหรัฐถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ เพราะขีปนาวุธดังกล่าว อาจโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ด้วย ซึ่งจะทำให้การครอบงำทางทะเลของสหรัฐอ่อนลงไป

อีกเรื่องที่สหรัฐกำลังห่วงมากคือ การพัฒนาความสามรถของจีนในการทำสงครามในอินเตอร์เน็ต โดยในรายงานของกระทรวงกลาโหมได้กล่าวหาจีนว่า กองทัพจีนได้จัดตั้งหน่วยทำสงครามด้านข้อมูล ซึ่งกำลังพัฒนาไวรัสหลายตัว เพื่อที่จะโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของศัตรู รวมทั้งกำลังพัฒนาระบบการป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของจีนจากการถูกโจมตี เป้าหมายสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ศัตรูเจ้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำสงคราม โดยความสามารถของจีนในการโจมตีทางอินเตอร์เน็ตนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ของจีน ในการทำสงครามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สงครามอสมมาตร” โดยการใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของศัตรูที่เข้มแข็งกว่า อย่างเช่น สหรัฐ

ในรายงาน ได้กล่าวถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐที่ถูกโจมตีอยู่บ่อยๆ ซึ่งทางสหรัฐกล่าวหาว่า ต้นตอของการโจมตีมาจากประเทศจีน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า กองทัพจีนมีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด ล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้รายงานว่า ระบบพัฒนาอาวุธล่าสุดของสหรัฐที่มีชื่อว่า Joint Strike Fighter ถูกเจาะข้อมูลหรือ ถูก hack โดยทางฝ่ายสหรัฐเชื่อว่า เป็นการเจาะข้อมูลมาจากประเทศจีน เพื่อต้องการจารกรรมข้อมูลความลับทางทหารของสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้รายงานว่า ขณะนี้ จีนกำลังมีการเพิ่มงบประมาณทางทหารที่สูงมาก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศงบประมาณทหารในปีนี้ มีมูลค่า 78,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 7.5 เปอร์เซ็นต์ โดยงบทหารของจีนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐเชื่อว่า ตัวเลขงบทหารที่แท้จริงของจีนสูงกว่าที่ทางการจีนประกาศ โดยประเมินว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านเหรียญ

รายงานได้โจมตีจีนด้วยว่า ไม่มีความโปร่งใสทางทหาร ดังนั้น จึงมีความไม่แน่นอนในประเด็นที่ว่า จีนจะใช้อำนาจทางทหารอย่างไร ความไม่โปร่งใสของจีนจะนำไปสู่การเข้าใจผิดและการคำนวณที่ผิดพลาดทางด้านการทหารระหว่าง 2 ประเทศ

ในอดีต สหรัฐพยายามที่จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางทหารกับจีน เพื่อลดความหวาดระแวง และส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สหรัฐประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน เมื่อช่วงต้นปีนี้ ทำให้จีนตัดสินใจระงับการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐ รัฐมนตรีกลาโหม Robert Gates ได้เรียกร้องให้ฝ่ายจีน กลับมาปฏิสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐใหม่ แต่จีนก็ไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องแต่อย่างใด
ไต้หวันและหมู่เกาะสแปรตลีย์

ในรายงานของกระทรวงกลาโหมได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาไต้หวัน โดยมองว่า ขณะนี้จีนกำลังสร้างเสริมกำลังทางทหาร โดยมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องปรามไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราช และเพื่อที่จะกดดันให้ไต้หวันยอมเจรจากับจีนในทิศทางที่จีนต้องการ นอกจากนี้ จีนยังพยายามที่จะป้องปรามและป้องกันไม่ให้สหรัฐให้ความช่วยเหลือไต้หวัน ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง รายงานสรุปว่า ขณะนี้ ดุลแห่งอำนาจทางทหารในช่องแคบไต้หวันนั้น จีนแผ่นดินใหญ่กำลังได้เปรียบไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด ความขัดแย้งทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐก็เกิดขึ้น ในกรณีของความความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่างการประชุม ARF ที่กรุงฮานอย ได้ประกาศว่า สหรัฐถือว่า เรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนการเจรจาและไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ซึ่งท่าทีของสหรัฐทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น จีนจึงได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และกองทัพจีนได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะอย่างเด็ดขาด ทางฝ่ายสหรัฐก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม
ในตอนท้ายของรายงาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐมีความรับผิดชอบ ที่จะต้องตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน และเพื่อป้องปรามความขัดแย้ง โดยสหรัฐจะดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังทางทหารในภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพทางทหาร กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร สหรัฐจะต้องแสดงให้เห็นว่า สหรัฐมีความสามารถที่จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐที่ไม่ได้ประกาศออกมา ก็คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหารนั่นเอง

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (ตอนที่ 3)

สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (ตอนที่ 3)
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ ผมได้เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคไปแล้ว 2 ตอน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 3 โดยผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ล่าสุดของสหรัฐ ดังนี้

grand strategy
ก่อนอื่น ผมขอทบทวนยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐในเรื่องนี้อีกครั้ง
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ซึ่งยุทธศาสตร์ย่อยที่ตามมาคือ ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคลดลง ต้องป้องกันการขยายอิทธิพลของจีน และต้องป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของอาเซียน+3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันโดยมีอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายระยะยาว ที่จะจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น และถ้าเอเชียตะวันออกรวมตัวกันได้ จะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ ที่จะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ซึ่งจะท้าทายอำนาจของสหรัฐเป็นอย่างมาก และจะเป็นการกีดกันสหรัฐออกไปจากภูมิภาค สหรัฐจึงได้เริ่มส่งสัญญาณคัดค้านพัฒนาการของอาเซียน+3 ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มถอยจากอาเซียน+3 และหันมาพัฒนาอาเซียน+6 หรือ East Asia Summit (EAS) ขึ้นมาแทน

สำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนั้น ยุทธศาสตร์หลักคือ การทำให้สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า U.S. as the core of regional architecture โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐสรุปได้ด้วยภาพข้างล่างนี้



จากภาพ สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐคือ สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม โดยมีสหรัฐอยู่วงในสุด
วงที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับพันธมิตร ซึ่งมีลักษณะเป็น hub and spokes
วงที่ 3 คือ เวทีเฉพาะกิจและเวทีอนุภูมิภาค ที่สำคัญคือ Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็น FTA 8 ประเทศ และเวทีลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
วงที่ 4 คือ เวทีเอเปค
วงที่ 5 คือ เวที EAS ซึ่งในอดีต สหรัฐยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะเข้ามาเป็นสมาชิกหรือไม่ และจะปฏิสัมพันธ์กับ EAS ในลักษณะใด
วงที่ 6 เป็นวงที่เผื่อไว้ในอนาคต ในเรื่องของการจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา
สำหรับในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์รายละเอียดในวงที่ 5 คือ สหรัฐกับ EAS


สหรัฐกับ EAS
• ภูมิหลังของ EAS
ในอดีตนั้น อาเซียนให้ความสำคัญกับอาเซียน+3 โดยได้มีการประชุมสุดยอดครั้งแรก ตั้งแต่ปี 1997 โดยเป้าหมายระยะยาวจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วข้างต้น คือ สหรัฐมองว่า อาเซียน+3 เป็นกรอบที่กีดกันสหรัฐ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐลดลง และจะเป็นกรอบที่ทำให้อิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้น สหรัฐจึงได้แสดงท่าทีคัดค้านอาเซียน+3 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะญี่ปุ่นและอาเซียน เริ่มมีความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนอาจจะครอบงำอาเซียน+3 และประชาคมเอเชียตะวันออก จึงได้มีแนวคิดพัฒนากรอบ East Asia Summit หรือ EAS ขึ้นมา โดยดึงเอามหาอำนาจ คือ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้ามาถ่วงดุลจีน EAS จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาเซียน+6 โดยได้มีการประชุมสุดยอด EAS ครั้งแรกในปี 2005 โดยอาเซียนหวังว่า ในระยะยาว EAS จะเป็นช่องทางในการดึงสหรัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอาเซียน และเพื่อที่จะทำให้สหรัฐลดความหวาดระแวงและต่อต้านการรวมกลุ่มในภูมิภาค รวมทั้งจะเป็นการดึงเอาสหรัฐมาถ่วงดุลจีนด้วย

• ท่าทีของสหรัฐ
ในตอนแรกนั้น สหรัฐยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยในช่วงแรก สหรัฐไม่ได้มีท่าทีที่เป็นทางการแต่อย่างใด เพียงแต่ได้ประกาศเป็นหลักการกว้างๆ ว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่กำลังจะวิวัฒนาการขึ้นนั้น จะต้องมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุช สหรัฐไม่เคยมีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในสมัยรัฐบาลโอบามา ท่าทีของสหรัฐก็เปลี่ยนไป โดยได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งจากประธานาธิบดีโอบามา และจาก Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศ ในช่วงปี 2009 ว่า สหรัฐสนใจที่จะเข้าร่วมกับ EAS แต่ยังไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะเข้าร่วมในลักษณะใด

ท่าทีในเชิงบวกของสหรัฐ จึงทำให้อาเซียนตอบสนองในเชิงบวกเช่นเดียวกัน อาเซียนต้องการให้สหรัฐเข้ามาอยู่ใน EAS อยู่แล้ว ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่ฮานอย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเซียนได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนว่า อาเซียนสนับสนุนให้สหรัฐและรัสเซียเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับ EAS อย่างเป็นทางการ แต่รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ยังไม่ชัดเจน ล่าสุด ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ร่วมผลการประชุม ได้มีถ้อยคำในทำนองว่า ที่ประชุมยินดีที่ทั้งสหรัฐและรัสเซียสนใจที่จะเข้าร่วม EAS และที่ประชุมจะเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้ เชื้อเชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วม EAS อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ มีข่าวออกมาว่า มีความเป็นไปได้มากว่า สหรัฐจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EAS ค่อนข้างแน่นอน โดยข่าวในวงการทูต ได้คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีโอบามาจะเข้าร่วมการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ปลายปี 2011

• ท่าทีของ Council on Foreign Relations
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ Evan Feigenbaum จาก Council on Foreign Relations ซึ่งเป็น Think-Tank ที่มีชื่อของสหรัฐ ได้เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจ โดย Feigenbaum วิเคราะห์ว่า รัฐบาลสหรัฐคงจะเข้าร่วม EAS โดยคงจะมองว่า สหรัฐจะได้ประโยชน์หลายประการ

ประการแรกคือ ก่อนหน้านี้ สหรัฐเหมือนกับจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาค การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทได้เต็มที่
ประการที่ 2 อาเซียนเป็นกลไกหลักในการจัดตั้ง EAS ดังนั้น การเข้าร่วม EAS จะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับอาเซียน
ประการที่ 3 การเป็นสมาชิกของ EAS จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐ คือ จะเป็น EAS ที่ขยายวงออกไป โดยมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย เท่ากับจะเป็นการถ่วงดุลกรอบอาเซียน+3
ประการที่ 4 การที่สหรัฐเป็นสมชิก EAS จะทำให้ประธานาธิบดีโอบามาให้ความสนใจกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการกรุยทางไปสู่ การที่โอบามาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ไปเยือนกัมพูชาและลาว

แต่ Feigenbaum กลับวิเคราะห์ตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐว่า การเข้าร่วม EAS นั้น คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยมองว่า ปัญหาใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ สถาบันที่มีความหมายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐมากที่สุด แต่สถาบันดังกล่าวกลับไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย (เขาหมายถึง อาเซียน+3) โดยเขาเปรียบเทียบว่า การเป็นสมาชิก EAS เปรียบเสมือนสหรัฐเข้าไปอยู่ในห้องๆ หนึ่ง แต่ในอีกห้องหนึ่งที่สหรัฐไม่ได้รับเชิญ กลับเป็นห้องที่มีความหมายมากกว่า เขาจึงสรุปว่า การเข้าร่วม EAS นั้นคงไม่มีความหมายอะไร

Feigenbaum วิเคราะห์ต่อไปว่า แนวโน้มในขณะนี้คือ ประเทศในเอเชียกำลังมุ่งที่จะพัฒนาสถาบันของประเทศในเอเชียเท่านั้น โดยไม่มีสหรัฐ (ซึ่งสถาบันดังกล่าว เขาไม่ได้พูดถึงโดยตรง แต่ผมตีความว่า คือ อาเซียน+3 นั่นเอง) ซึ่งเขามองว่า อาเซียน+3 กำลังมีความร่วมมือกันที่จะเป็นภัยต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐ เขามองว่า ด้วยเหตุที่มีการพึ่งพาอาศัยทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศในเอเชียจึงแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมและสถาบันร่วม เพื่อที่จะเปลี่ยนความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้มาเป็นกลุ่มประเทศที่มีพลังอำนาจมากขึ้น
ดังนั้น Feigenbaum จึงเสนอว่า สหรัฐควรจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยสหรัฐควรที่จะหาหนทางที่จะเชื่อมสถาบันในภูมิภาคใหญ่คือ แปซิฟิค อย่างเช่น เอเปค กับสถาบันเฉพาะของเอเชียอย่าง อาเซียน+3 และเสนอว่า สหรัฐควรใช้การทูตอย่างฉลาดและใช้สมาชิกใน EAS ในการที่จะปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความสำคัญขึ้นมา เพราะในขณะนี้ เป็นเพียงแค่เวทีหารือเฉพาะผู้นำ และมีความร่วมมือกันอย่างเบาบางเท่านั้น

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 49 วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม - วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้วิเคราะห์ grand strategy ของสหรัฐต่อภูมิภาค และวิเคราะห์ถึงพัฒนาการของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุชและโอบามาไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการทูตของสหรัฐในภูมิภาค ดังนี้
สถานการณ์การทูตของสหรัฐในภูมิภาคล่าสุด

สำหรับความเคลื่อนไหวของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่าสุด ได้มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไฮไลท์การทูตของสหรัฐในภูมิภาค เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงฮานอย ในช่วงปลายเดือนกรกฎคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเวทีและประเด็นสำคัญของการทูตสหรัฐ อาจจะแยกแยะเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

• การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
ที่กรุงฮานอย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ประชุมประจำปีกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยผลการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้

- ผลการประชุมได้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับสหรัฐครั้งแรกที่สิงคโปร์
- รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมกับ USTR ได้จัดโครงการ ASEAN Road Show เดินทางไปสหรัฐ
- มีความคืบหน้าในการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับที่ 2 เพื่อแปลงแถลงการณ์ร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนดังกล่าว จะเป็นแผน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2011 – 2015
- กำลังมีการร่างข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ
- ในเดือนสิงหาคม ปีนี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับ USTR ที่เวียดนาม เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของการ implement ข้อตกลง TIFA
- ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีในกรอบ Lower Mekong - U.S. Ministerial Meeting
- สหรัฐได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2 ขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ที่สหรัฐ
- ที่ประชุมยินดีต่อการที่สหรัฐแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS
- รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐจะเข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 หรือ ADMM+8 ครั้งแรก ในเดือนตุลาคมปีนี้
- ที่ประชุมยินดีที่สหรัฐให้การสนับสนุน ในการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางหรือเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
- สหรัฐได้แต่งตั้งทูตประจำอาเซียนไปประจำอยู่ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีนี้

• U.S.-Lower Mekong Initiative
แนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการทูตสหรัฐในภูมิภาค ในปัจจุบัน คือ การเปิดแนวรุกทางการทูต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในอินโดจีน และในกรอบของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศไปแล้ว

และในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 โดย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ที่กรุงฮานอย โดยสาขาความร่วมมือที่สำคัญ มี 3 สาขา ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาและฝึกอบรม

สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือมูลค่า 22 ล้านเหรียญ ในปี 2010 สำหรับโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และจะมีการจัดทำโครงการ 3 ปี เพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และได้มีการจัดทำข้อตกลง Sister River ระหว่าง Mekong River Commission กับ Mississippi River Commission

สำหรับในด้านสาธารณสุข สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือเกือบ 150 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะในโครงการป้องกันการแพร่ขยายของเชื้อโรคร้ายต่างๆ ที่ผ่านมา สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ถึงกว่า 2 ล้านคนในภูมิภาค และทำให้อัตราการเพิ่มของโรคเอดส์ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในด้านการศึกษาและฝึกอบรมนั้น สหรัฐได้ตั้งวงเงินให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ 18 ล้านเหรียญ ในปี 2010

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ สหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกทางการทูตอย่างหนัก ต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และต่ออินโดจีน ทั้งนี้สาเหตุสำคัญคือ ความพยายามของสหรัฐที่จะแข่งกับจีน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนได้รุกหนักเข้าสู่อินโดจีนและลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเช่นกัน ในอดีต จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า มาโดยตลอด จีนจึงเป็นต่อสหรัฐอยู่หลายขุม ในอดีต สหรัฐได้ทอดทิ้งประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะหลังการแพ้สงครามเวียดนาม ประเทศเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมาโดยตลอด แต่จากยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐในภูมิภาคคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ดังนั้น เราจึงได้เห็นว่า ในปัจจุบัน สหรัฐกำลังทุ่มเต็มที่ เพื่อที่จะใกล้ชิดกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น เพื่อแข่งกับจีน

ขอเพิ่มเติมข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี กับประเทศเหล่านี้ด้วย
โดยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ดีขึ้นมากอย่างผิดหูผิดตา

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับกัมพูชา ก็ดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน ในอดีต สหรัฐกับกัมพูชา แทบจะไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันเลย แต่ขณะนี้ ได้มีข่าวออกมาว่า สหรัฐกำลังมีแผนการจะซ้อมรบร่วมทางทหารกับกัมพูชาเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายปีนี้ การซ้อมรบร่วมจะมีชื่อว่า Angkor Sentinel ซึ่งจะเน้นในเรื่องของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เหมือนกับการซ้อมรบ Cobra Gold ระหว่างสหรัฐกับไทย

และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับลาว ก็กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีลาว Dr.Thongluon Sisoulith ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐและได้พบปะกับ Hillary Clinton ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยผลการพบปะหารือ ทั้งสองฝ่ายประกาศจะกระชับความสัมพันธ์กัน และกำลังจะขยายความร่วมมือทางทหารในอนาคต โดยได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนผู้ช่วยทูตทหารระหว่างกันแล้ว นอกจากนั้น ยังได้มีการลงนามในข้อตกลงการขนส่งทางอากาศ ที่จะช่วยกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

ปัญหาหมุ่เกาะสแปรตลีย์

สำหรับเรื่องสุดท้าย ที่แสดงให้เห็นถึงการทูตในเชิงรุกของสหรัฐในภูมิภาค คือ การจุดชนวนการปะทุของปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ครั้งใหม่ โดยในระหว่างประประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่ฮานอย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม Hillary Clinton ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐในเรื่องความขัดแย้งนี้ โดยมองว่า สหรัฐถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนกระบวนการทางการทูตและการเจรจา และไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง Clinton เน้นด้วยว่า การเจรจาจะต้องเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี
ท่าทีที่คาดไม่ถึงของสหรัฐในเรื่องนี้ น่าจะเป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน โดยแนวโน้มของรัฐบาลโอบามาคือ การเปลี่ยนจากยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์มาเป็นยุทธศาสตร์แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร

ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตีสหรัฐว่า การที่ Clinton กล่าวเช่นนั้น ถือเป็นการโจมตีจีน (attack on China) หลังจากนั้น กองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด แต่ปฏิกิริยาของจีนก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอย่างเข้มข้น โดยขณะนี้ เรือรบของสหรัฐ ชื่อว่า John McCain ได้จอบเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานัง และจะเข้าร่วมภารกิจกับกองทัพเรือเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือสหรัฐกับเวียดนาม และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ ชื่อ George Washington ได้ไปจอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานังด้วย