Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 47 ที่เมียนมาร์

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 สิงหาคม 2557

               เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งล่าสุด ที่ เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
               อาเซียนหลัง 2015
               เรื่องสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การเดินหน้าการจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลัง 2015 โดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) ได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนในช่วงหลังปี 2015 ผมดูจากเอกสารแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมในครั้งนี้ พอจะเห็นลางๆว่า ประเด็นหลักของวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง 2015 น่าจะมีประเด็นเหล่านี้
·      กฎบัตรอาเซียน 
เน้นถึงความสำคัญที่ต้องมีการแปลงกฎบัตรอาเซียนไปสู่การปฏิบัติ
·      ส่งเสริมหลักการอาเซียน
จะส่งเสริมหลักการ บรรทัดฐาน และค่านิยมของอาเซียน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของภูมิภาคและระเบียบปฏิบัติที่ดี
·      ASEAN Centrality
ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อจะทำให้อาเซียนดำรงความเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยจะส่งเสริมท่าทีร่วมกันของอาเซียนในประเด็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนสมัยพิเศษ เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการยกระดับบทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการปฏิบัติตาม Bali Concord III Plan of Action
·      การลดช่องว่างแห่งการพัฒนา
จะลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยการปฏิบัติตามแผน Initiative for ASEAN Integration (IAI) และให้มีการพัฒนาแผนงานของ IAI ในยุคหลังปี 2015 ด้วย
·      เพิ่มประสิทธิภาพกลไกอาเซียน
ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงหรือ High Level Task Force เพื่อศึกษาหามาตรการเพิ่มบทบาท สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และทบทวนบทบาทของกลไกอาเซียนทั้งหมด
               แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
               อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้คือ การติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
·      ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้า ในการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ APSC Blueprint และจะเพิ่มความพยายามในการบรรลุมาตรการต่างๆ ที่ยังทำไม่เสร็จภายใต้ APSC Blueprint
·      ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ที่ประชุมยินดีที่ได้มีการปฏิบัติตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint เสร็จสิ้นไปถึงช่วงที่ 3 ของแผนงานแล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผนการจัดตั้ง AEC ในช่วงปี 2014-2015
สำหรับเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยคือ ความคืบหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ขณะนี้ ได้มีการปฏิบัติตามแผน ASEAN Strategic Transport 2011-2015 โดยเฉพาะความคืบหน้าในโครงการสำคัญๆ ได้แก่ ASEAN Single Aviation Market ข้อตกลง Open Sky, ASEAN Single Shipping Market  เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง และ ASEAN Highway Network
·      ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้าตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือ ASCC Blueprint และหวังว่า จะได้มีการดำเนินงานตาม ASCC Blueprint อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
ในการประชุมในครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา และประเทศมหาอำนาจต่างๆ อีกหลายกรอบ แต่ที่เป็นไฮไลท์คือ การประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งขณะนี้ จีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน ทั้ง 2 ฝ่ายได้เน้นถึงความสำคัญของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้การค้าระหว่างกัน เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านเหรียญในปี 2015 และ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2020 และการลงทุนระหว่างกัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญในอีก  6 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาเซียนกับจีนจะมีความใกล้ชิดกันทางเศรษฐกิจ แต่ทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีความขัดแย้งกันโดยเฉพาะในปัญหาทะเลจีนใต้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างจีนกับอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แถลงว่า พัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้น และอาเซียนตอกย้ำจุดยืนของอาเซียนในเรื่องดังกล่าว โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อาเซียนต้องการที่จะหารือกับจีน เพื่อนำไปสู่มาตรการและกลไก เพื่อการปฏิบัติตามปฏิญญาทะเลจีนใต้ หรือที่เรียกย่อว่า DOC และต้องการให้มีการเจรจา เพื่อนำไปสู่การจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct in the South China Sea (COC)
บทวิเคราะห์
·      อาเซียนหลัง 2015
ผมมองว่า เรื่องสำคัญที่สุดของอาเซียนขณะนี้คือ การจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 ซึ่งขณะนี้ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ที่พอจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ๆ คือ กฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมหลักการอาเซียน ASEAN Centrality  การลดช่องว่างแห่งการพัฒนา และการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกอาเซียน
สำหรับเรื่องกฎบัตรอาเซียนนั้น ผมขอเสนอว่า วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 จะต้องทำให้กฎบัตรอาเซียน เป็นกฎบัตรของประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะต้องมีการแก้กฎบัตรหลายมาตรา และต้องมีการเพิ่มมาตราให้มีการจัดตั้งกลไกของภาคประชาชน เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการพิจารณาในระยะยาว ในเรื่องของการพัฒนากลไกฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการของอาเซียนด้วย
สำหรับเรื่อง ASEAN Centrality นั้น ผมมองว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก ในอนาคต ต้องมีการกำหนด ยุทธาสตร์และมาตรการ ที่จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยจะต้องมีมาตรการในการสร้างเอกภาพ และกำหนดท่าทีร่วมกันให้ได้ ที่ผ่านมา อาเซียนก็แตกแยก แตกสามัคคี และถูกแบ่งแยก และถูกปกครองมาโดยตลอด ท่าทีอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศก็แทบจะไม่มีให้เห็นเลย


·      แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
สำหรับในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น ตามแผน จะต้องจัดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคมปีหน้า และแม้ว่าในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะได้กล่าวไว้อย่างสวยหรูว่า ได้มีความคืบหน้าไปมากในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ผมกลับมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การจัดตั้งประชาคมอาเซียนยังไม่เสร็จ และมีเรื่องที่จะต้องทำต่ออีกมากหลังปี 2015
ประชาคมการเมืองและความมั่นคง หรือ APSC การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยังไปไม่ถึงไหน AICHR ยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการแก้ TOR ของ AICHR ใหม่ นอกจากนี้ กลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียนยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และไม่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ยังเบาบางมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และภัยพิบัติ ปัญหากรณีพิพาทเรื่องพรมแดนยังมีอยู่ และความร่วมมือทางทหารก็ยังเบาบางมากเช่นกัน
สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัญหาอีกมาก และ AEC ยังไม่ใช่ตลาดและฐานการผลิตเดียว การเปิดเสรี 5 ด้านยังไม่สมบูรณ์ AEC ยังมีปัญหาการบูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ และประเทศสมาชิกยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นว่า เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แทนที่จะมองว่า เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
สำหรับการพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนนั้น ส่วนใหญ่ก็มีแค่แผน โดยเฉพาะแผนการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือ การขาดเงินทุน ที่จะมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ก็เหมือนกัน ในความเป็นจริงยังมีอุปสรรคอยู่มาก และยังห่างไกลจากความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของความร่วมมือในด้านต่างๆ คือ ในด้านการศึกษา สวัสดิการและสิทธิทางสังคม และเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาเซียนมีความร่วมมือในเรื่องเหล่านี้ที่เบาบางมาก เรื่องใหญ่คือ การขาดเงินทุน
และเรื่องการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ในปี 2015 ก็ยังคงจะไม่ประสบความสำเร็จ คน 600 ล้านคนในอาเซียน ยังห่างไกลกับการที่จะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ยังห่างไกลกับความรู้สึกที่มองว่า เรา 600 ล้านคน เป็นพวกเดียวกัน
และสุดท้ายก็คือ ประชาคมอาเซียนยังห่างไกล กับการที่จะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของประชาคมอย่างแท้จริง


วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 4 ) : ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2557 

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ตอนที่ 4 ซึ่งจะเป็นเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการทูตไทยในปัจจุบันและในอนาคต โดยผมจะเริ่มด้วยประวัติความเป็นมาของความสัมพันธ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเสนอยุทธศาสตร์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเน้นยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับยุทธศาสตร์พหุภาคี ที่จะต้องไปด้วยกัน
                สำหรับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของสงครามและความขัดแย้งมาโดยตลอด จนเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อสักประมาณ 20 ปีนี้เอง ที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มที่จะเป็นมิตรและเริ่มมีความร่วมมือกัน
               อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ซึ่งมี 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก ปี 2003 เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ และเรื่องที่ 2 คือ กรณีพิพาทบริเวณเขาพระวิหาร
ไทยยังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังแก้ไม่ตกอยู่อีกมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ต่างคนต่างไม่ไว้ใจกัน และปัญหาพรมแดนที่เป็นระเบิดเวลารออยู่
               ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดของการทูตไทยและนโยบายต่างประเทศไทยคือ ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใหม่ โดยยุทธศาสตร์ใหม่ต้องมีลักษณะบูรณาการ เป็นยุทธศาสตร์หลายช่องทาง ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ยุทธศาสตร์ทวิภาคีจะต้องเสริมด้วยยุทธศาสตร์พหุภาคี และต้องประสานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และส่งเสริมเกื้อกูลกัน
               ยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับยุทธศาสตร์อาเซียน จะต้องเกื้อกูลกัน ถ้าความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดี จะช่วยให้อาเซียนเจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน ถ้าอาเซียนมีความเจริญก้าวหน้าเป็นประชาคมอาเซียน มีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้น จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น ทวิภาคีเสริมอาเซียน และอาเซียนก็เสริมทวิภาคี
               สำหรับยุทธศาสตร์ไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในระดับทวิภาคีนั้น เรื่องสำคัญคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์ระยะยาว จะต้องแก้ที่รากเง้าของปัญหาคือ ความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้
               ประการแรก ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ลืมประวัติศาสตร์ เรายังขุดเอาประวัติศาสตร์มาทิ่มแทงกัน ด้วยการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และสงคราม
               ประการที่สอง ซึ่งก็สัมพันธ์กับประการแรกคือ การรื้อฟื้นลัทธิชาตินิยม ปลุกระดมคนไทยให้เกลียดประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการส่วนกระแสการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก เรายังมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู และยังไม่ไว้ใจกัน
ประการที่สาม ประเทศเพื่อนบ้านเองก็ไม่ไว้ใจไทยเช่นกัน และหวาดระแวงว่า ไทยจะพยายามครอบงำทางเศรษฐกิจ นักธุรกิจไทยในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน ถูกมองเป็นลบมาก ถูกมองว่า ตักตวงผลประโยชน์และเป็นนักฉวยโอกาส
ประการที่สี่ เรื่องวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา วัฒนธรรมไทยในลักษณะ mass culture  คือ เพลง ภาพยนตร์ ละครทีวี ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านมาก แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนในประเทศเพื่อนบ้านก็มองว่า ไทยกำลังครอบงำทางวัฒนธรรม
ดังนั้น ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหารากเหง้าเหล่านี้ นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปคือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และแก้ปัญหาพรมแดนพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างบูรณาการ
สำหรับยุทธศาสตร์พหุภาคีนั้น แบ่งเป็น 2  ยุทธศาสตร์ย่อยคือ ยุทธศาสตร์อนุภูมิภาค และยุทธศาสตร์อาเซียน
สำหรับยุทธศาสตร์อนุภูมิภาคนั้น ไทยจะต้องผลักดันกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ ให้พัฒนาการไปอย่างเป็นรูปธรรม กรอบความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ACMECS ที่ไทยเป็นคนริเริ่มจัดตั้งขึ้น น่าจะเป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ต่อไทย นอกจากนี้ ก็มีกรอบ BIMSTEC ที่จะเชื่อมไทยกับพม่าและประเทศในเอเชียใต้ และยังมีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion   ไทยจะต้องเอาจริงเอาจังกับกรอบอนุภูมิภาคเหล่านี้ เพื่อที่จะใช้เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับยุทธศาสตร์พหุภาคีอาเซียนนั้น ถ้าอาเซียนบูรณาการและเป็นประชาคมได้สำเร็จ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านดีขึ้น
ไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการเสริมสร้างประชาคมย่อยทั้ง 3 ประชาคมให้สำเร็จ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เรื่องสำคัญคือ การป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ความร่วมมือในการจัดการปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ซึ่งถ้า APSC ก้าวหน้า จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง จะมีประโยชน์มาก คือ ถ้าไทยสามารถส่งเสริมพัฒนาให้กลไกมีประสิทธิภาพ จะช่วยในการจัดการความขัดแย้งระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ตรงนี้ ถ้าเราทำสำเร็จประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ประโยชน์จาก AEC ได้ประโยชน์จากการติดต่อค้าขายกัน การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ทำให้ความหวาดแรงแวง และความไม่ไว้วางใจกันลดลง
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน ไทยกำลังผลักดันที่จะเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้าน จะสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งติดต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในระยะยาว จากการที่เรามีเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่กัน จะช่วยทำให้ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น เรื่องสำคัญคือ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งถ้าอาเซียนทำสำเร็จ ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์มาก ทำให้ไทยกับเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราสร้างอัตลักษณ์อาเซียนได้สำเร็จ ปัญหาความขัดแย้งไทยกับเพื่อนบ้าน จะแก้ได้ง่ายขึ้นมาก เราจะเลิกหวาดระแวงกัน ไทยกับเพื่อนบ้านจะมองเป็นพวกเดียวกัน

               และที่เกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์อาเซียนคือ การปรับทัศนคติของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตราบใดที่คนไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็จะไม่ดีไปด้วย เราจะต้องปรับทัศนคติคนไทยใหม่ ให้มองเพื่อนบ้านเป็นมิตรเป็นพวกเดียวกับเรา ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ เราก็จะสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และประสบความสำเร็จในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืนและอย่างแน่นอน