Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สรุปสถานการณ์อาเซียนปี 2014


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเซียนในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกเป็นหัวข้อได้ดังนี้
               เอกภาพของอาเซียน
               ปีที่แล้วและปีนี้ เป็นปีของการประสานรอยร้าว ที่ในปี 2012 เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในอาเซียน ในเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ โดยกัมพูชาประธานอาเซียนในปีนั้น ไปเข้าข้างจีน ในขณะที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนามทะเลาะกับจีนในเรื่องนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อาเซียนก็ทะเลาะกันเองถึงขั้นไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ นี่คือจุดอ่อนอันยิ่งใหญ่ของอาเซียน คือความแตกแยกและการขาดเอกภาพ
               ความแตกแยกดังกล่าว มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงอาเซียน ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และจีนกับญี่ปุ่น ทำให้อาเซียนแตกแยกและวางตัวลำบาก
               ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นตัวการสำคัญทำให้อาเซียนแตกแยก เป็นเรื่องใหญ่ระหว่างจีนกับอาเซียน ในช่วงปีนี้ จีนมีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องการประกาศแสนยานุภาพของตน แต่อาเซียนกับจีนก็พยายามที่จะทำให้ความตึงเครียดลดลง ได้มีการหารือกันระหว่างอาเซียนกับจีนหลายระดับ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และระดับผู้นำ เพื่อนำไปสู่มาตรการและกลไก เพื่อการปฏิบัติตามปฏิญญาทะเลจีนใต้ หรือ DOC และกำลังเจรจาเพื่อนำไปสู่การจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct ที่เรียกย่อว่า COC
               ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC)
               ไฮไลท์ของอาเซียนในปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมสุดยอด ได้เน้นถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง APSC ภายใต้ APSC Blueprint
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การจัดตั้ง APSC ยังไม่คืบหน้าหลายเรื่อง เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่คืบหน้า AICHR ยังไม่มีประสิทธิภาพ กลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียนยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ยังเบาบางมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และภัยพิบัติ ปัญหากรณีพิพาทเรื่องพรมแดนยังมีอยู่ และความร่วมมือทางทหารก็เบาบางเช่นเดียวกัน
               ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
               ในปี 2014 นี้ อาเซียนเดินหน้าตาม AEC Blueprint ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประกาศว่าการปฏิบัติตาม AEC Blueprint เสร็จสิ้นไปถึงขั้นตอนที่ 3 ของแผนงานแล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 4  ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการจัดตั้ง AEC
               และเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นพิเศษคือ ความคืบหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง โดยมีการปฏิบัติตามแผน ASEAN Strategic Transport 2011-2015 มีความคืบหน้าในโครงการ ASEAN Single Aviation Market ข้อตกลง Open Sky โครงการ ASEAN Single Shipping Market เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง และ ASEAN Highway Network
               อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว AEC ยังมีปัญหาอีกมาก AEC ยังไม่ใช่ตลาดและฐานการผลิตเดียว ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ และประเทศสมาชิกก็ยังไม่ไว้ใจกัน ยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนนั้น ส่วนใหญ่ก็มีแต่แผน โดยเฉพาะแผนการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ อุปสรรคใหญ่คือการขาดเงินทุนที่จะมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
               ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)
               ในรอบปีที่ผ่านมา ที่ประชุมอาเซียนแสดงความยินดีต่อความคืบหน้า การจัดตั้ง ASCC ภายใต้แผน ASCC Blueprint และที่ประชุมอาเซียนก็หวังว่า จะได้มีการดำเนินงานตาม Blueprint อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
               แต่ผมมองว่า ASCC ยังมีอุปสรรคอยู่มาก ความร่วมมือในด้านต่างๆยังเบาบาง ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา สวัสดิการและสิทธิด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เรื่องใหญ่คือการขาดเงินทุน นอกจากนี้ การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ในปี 2014 ก็ดูยังไม่มีความคืบหน้า และไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน คน 600 ล้านคนในอาเซียนยังคงห่างไกลกับการที่จะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ห่างไกลจากความรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และอาเซียนก็ยังห่างไกลต่อการที่จะเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
               ประชาคมอาเซียนหลัง 2015
               เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่อาเซียนให้ความสำคัญในปีนี้คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่องใหญ่ของการประชุมคือ การจัดทำปฏิญญาเนปิดอว์ กำหนดวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลัง 2015 โดยวิสัยทัศน์หลักๆคือ การปรับปรุงประชาคมอาเซียนให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น การทำให้ประชาคมอาเซียนมีประชาชนเป็นเป็นศูนย์กลาง อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และมีการกำหนดท่าทีร่วมกัน นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงกลไกและสถาบันต่างๆของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน
               อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าวิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่สรุปมาจากปฏิญญาเนปิดอว์นั้น โดยรวมแล้วไม่มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆที่อาเซียนทำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าผิดหวัง และไม่ได้มองไปไกล
               วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 ที่ควรจะเป็น จะต้องมีการแก้กฎบัตรอาเซียนให้ทันสมัย ต้องปรับปรุงกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน โดยการเพิ่มบทบาทให้กับ AICHR และพิจารณาความเป็นไปได้ของการ จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนของอาเซียน
               สำหรับวิสัยทัศน์ของ AEC หลัง 2015 นั้น AEC ควรพัฒนาไปเป็นตลาดร่วมที่สมบูรณ์แบบ โดยมีการเปิดเสรี 4 ด้าน คือ การค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ในระยะยาวของ AEC ควรพัฒนาไปสู่การเป็นสหภาพเศรษฐกิจอาเซียน โดยเน้นการหลอมรวมเศรษฐกิจของ 10 ประเทศให้เป็น 1 เดียว

               สำหรับ ASCC นั้น วิสัยทัศน์หลัง 2015 ที่จะต้องให้ ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การสร้างอัตลักษณ์ อาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และการทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็น ศูนย์กลางอย่างแท้จริง