Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิคของออสเตรเลีย

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 10- วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2552

ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิคของออสเตรเลีย

เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Kevin Rudd ได้กล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุม Shangri-la Dialogue ที่สิงคโปร์ โดยได้พยายามผลักดันข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชีย
แปซิฟิค หรือ Asia Pacific Community (จะเรียกย่อว่า APC) คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะวิเคราะห์ถึงข้อเสนอ APC ดังกล่าว ดังนี้

ข้อเสนอ APC

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Rudd ได้พยายามชักแม่น้ำทั้ง 5 คือพยายามบอกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งกลไกในภูมิภาคใหม่ขึ้นมา โดยพยายามอ้างว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจต่าง ๆ กำลังมีแนวโน้มขัดแย้งมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมา
Rudd อ้างว่า ในศตวรรษที่ 20 มหาอำนาจในยุโรปขัดแย้งกัน แต่ก็ไม่มีสถาบันในภูมิภาคที่จะมาแก้ไขความขัดแย้ง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม ดังนั้น เราจะต้องเลือกระหว่างความร่วมมือหรือความขัดแย้ง เราจะต้องเลือกระหว่างการแสวงหากรอบสถาบันความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาค หรือจะปล่อยให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐต่าง ๆ รุนแรงมากขึ้น เราจำเป็นต้องมีการจัดการความสัมพันธ์ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ดังนั้น สิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคงดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องมีกลไกความร่วมมือ และเราต้องการกลไกที่จะรวมเอาผู้นำของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ และควรจะเป็นเวทีที่หารือได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจและการเมือง
Rudd อ้างว่า ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรในภูมิภาคที่จะครอบคลุมประเด็นปัญหาในทุกเรื่อง ดังนั้น Rudd จึงได้เสนอ การจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค หรือ Asia Pacific Community (APC)
และ APC จะทำให้กระบวนการบูรณาการในภูมิภาคเดินหน้าต่อไปได้ ในระยะยาว APC จะทำให้เกิดประชาคมความมั่นคงขึ้นในภูมิภาค

Rudd ได้บอกว่า ดังนั้น เขาจึงได้แต่งตั้งทูตพิเศษ คือ Richard Woolcott ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ APEC เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว และ Woolcott ได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อพยายามขายไอเดีย APC และออสเตรเลียกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อแสวงหาลู่ทางการจัดตั้ง APC ขึ้นในเร็ว ๆ นี้

บทวิเคราะห์

ผมจะวิเคราะห์ข้อเสนอ APC ของออสเตรเลีย โดยจะแบ่งประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
• คำถามแรกที่ผมอยากจะวิเคราะห์คือ ทำไมถึงต้องเป็นออสเตรเลียที่เสนอ APC คำตอบคือ ออสเตรเลียเคยเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้ง APEC เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ในระยะหลัง APEC เสื่อมลงไปมาก ดังนั้น ออสเตรเลียจึงต้องผลักดันข้อเสนอใหม่ขึ้นมาแทน APEC ปัญหาใหญ่ของ ออสเตรเลียคือในโลกที่กำลังมีแนวโน้มการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ แต่ออสเตรเลียตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะไม่มีกลุ่ม เอเชียไม่ยอมรับว่าออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย ถึงแม้ออสเตรเลียจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก แต่ยุโรปกับอเมริกาก็อยู่ไกลจากออสเตรเลียมาก ออสเตรเลียจึงไม่สามารถไปรวมกลุ่มกับยุโรปและอเมริกาได้ ออสเตรเลียจึงกำลังจะถูกโดดเดี่ยว ออสเตรเลียจึงต้องพยายามผลักดันให้ออสเตรเลียกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียหรือของภูมิภาคที่ออสเตรเลียเรียกว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
ออสเตรเลียจึงได้ผลักดัน APEC ขึ้นมา และตอนนี้ก็ได้มาผลักดัน APC ซึ่งหากมีการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิคขึ้นจริง ออสเตรเลียก็จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมดังกล่าว

• ผมไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง APC โดยมีหลายเหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกคือ APC จะกลายเป็น APEC 2 ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า APEC ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐ และอาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทใน APEC และอาเซียนก็คงจะไม่มีบทบาทใน APC เช่นกัน

• อีกประเด็นที่น่าวิตก คือ APC จะทำให้ความสำคัญของอาเซียนลดลงและอาเซียนจะถูกบดบัง เพราะ APC ใหญ่กว่าอาเซียน สมาชิกก็ซ้อนกัน ความร่วมมือก็ซ้อนกัน ถ้ามี APC แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีอาเซียน

• ปัญหาใหญ่ของ APC คือการขาดอัตลักษณ์ร่วม (ซึ่งก็คือปัญหาใหญ่ของ APEC) ถ้าเราจะถามว่า APC คือกลุ่มของประเทศอะไร คำตอบก็คือ กลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นมีความหมายอย่างไร มีอะไรที่จะเป็นจุดร่วมกันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จุดร่วมกันอย่างเดียว คือ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิค ด้วยกันเท่านั้นเอง แต่ประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมกันน้อยมาก หากจะเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปที่รวมกันได้ ที่มีความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้ง ก็เพราะความเป็นยุโรปด้วยกัน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ร่วมที่สำคัญสำหรับการรวมกลุ่ม การที่อาเซียนรวมกันได้ก็เพราะเราเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน แล้วอะไรเป็นอัตลักษณ์ร่วมของ APC คำตอบคือ APC ไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้กรอบความร่วมมือนี้พัฒนาไปได้ยาก นำไปสู่การขาดวัตถุประสงค์ร่วมกัน การขาดอัตลักษณ์ร่วมทำให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิคเป็นไปไม่ได้

• และอีกเหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง APC คือ ขณะนี้ในภูมิภาคมีองค์กร กลไก อยู่มากมายอยู่แล้ว ตั้งแต่อาเซียน อาเซียน + 3 อาเซียน +6(หรือที่เรียกว่า EAS) มีกรอบการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า ASEAN Regional Forum หรือ ARF และก็ยังมี APEC อยู่แล้วด้วย การตั้ง APC ขึ้นมาก็จะเป็นการซ้ำซ้อนกับกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว

• ผมมองว่า วาระซ่อนเร้นที่สำคัญของออสเตรเลีย ในการผลักดัน APC คือ การที่ออสเตรเลียและตะวันตก จะใช้ APC ในการเป็นตัวกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกัน โดยไม่มีประเทศตะวันตก ซึ่งหากเอเชียรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ ก็จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่ต่อการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐและตะวันตก และจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกลดลงเป็นอย่างมากในภูมิภาค ดังนั้นการผลักดันเวทีพหุภาคีซ้อน ๆ กันหลายเวทีแข่งกับอาเซียน คือ APC และ APEC จะเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัว รวมกลุ่มกันของประเทศในเอเชีย

• ผมมองว่า ขณะนี้ตะวันตกซึ่งมีออสเตรเลีย และสหรัฐรวมอยู่ด้วย กำลังหวั่นวิตกต่อการรวมตัวของประเทศเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน + 3 ซึ่งไม่มีสหรัฐและออสเตรเลีย ถ้ากรอบอาเซียน +3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ก็จะกลายเป็นขั้วใหม่ขึ้นมา เศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้วอย่างชัดเจน โดยขั้วเอเชียตะวันออกจะมีพลังทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐและยุโรป ดังนั้น การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก ในกรอบอาเซียน + 3 (ซึ่งจะมีอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) จะท้าทายอำนาจของตะวันตกเป็นอย่างมาก ตะวันตก สหรัฐ และออสเตรเลีย จึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก สหรัฐเคยเผยว่า กำลังพยายามทำให้การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือที่ใหญ่กว่า ซึ่งข้อเสนอ APC ของออสเตรเลียก็จะเข้าทางสหรัฐพอดี

• ได้มีนักวิชาการตะวันตกบางคน เสนอว่า การจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา อาจจะลำบาก ดังนั้น จึงได้เสนอว่าให้ใช้กลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นฐานในการจัดตั้ง APC โดยมีข้อเสนอให้ใช้ EAS เป็นฐาน แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่ไทยหรืออาเซียนจะสนับสนุน EAS ให้พัฒนาไปเป็น APC เราต้องระมัดระวังในเรื่องพัฒนาการของ EAS เพราะ EAS นั้นเป็นเหมือนดาบสองคม ในแง่หนึ่ง ข้อดีของ EAS คือ จะเป็นเวทีที่จะดึงมหาอำนาจอื่นเข้ามาถ่วงดุลจีน แต่ข้อเสียของ EAS คือ EAS ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมได้ เพราะสมาชิก EAS ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ดังนั้น หากอาเซียนให้ความสำคัญกับ EAS มากเกินไป EAS อาจกลายเป็น Trojan horse เป็นตัวการที่จะมาทำลายกระบวนการในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุด

• ดังนั้น จุดยืนของไทยและอาเซียนคือ การคัดค้านการจัดตั้ง APC โดยไทยและอาเซียนควรตอกย้ำจุดยืน ที่จะทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน คือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นโดยเร็ว ส่งเสริมความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในกรอบอาเซียน + 1 สำหรับในกรอบอาเซียน +3 ก็ต้องรีบผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก และสำหรับ ARF ก็ควรจะต้องปรับบทบาทใหม่ โดยขยายบทบาทของ ARF ให้ครอบคลุมการหารือในทุก ๆเรื่อง และอาจยกระดับการประชุมเป็นการประชุมสุดยอด สมาชิกของ ARF ก็มีถึง 27 ประเทศซึ่งครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับปรุงบทบาทของ ARF จะทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้ง APC ขึ้นมาเลย

นโยบายของสหรัฐต่อเอเชียปี 2009

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 19 - พฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2552

นโยบายของสหรัฐต่อเอเชียปี 2009

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา Dr. Kurt Campbell อธิบดีคนใหม่ของกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้แถลงนโยบายล่าสุดของสหรัฐต่อเอเชียให้แก่คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์คำแถลงดังกล่าวดังนี้

ภาพรวม

ในตอนต้นของการแถลง Campbell ได้เน้นย้ำว่า สหรัฐนั้นเป็นประเทศในแปซิฟิค (Pacific Nation) ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทหาร การทูตและเศรษฐกิจ และได้ย้ำว่า การเดินทางเยือนเอเชียของ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค Campbell ได้ย้ำว่า เขาจะเดินหน้านโยบายปฏิสัมพันธ์กับเอเชียทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ผมมองว่า การแถลงนโยบายของ Campbell ข้างต้น เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยายามของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศใหม่ โดย keyword ที่สำคัญที่ Campbell ใช้ตลอดการแถลงนโยบาย คือคำว่า engagement (ปฏิสัมพันธ์) ผมดูภาพรวมเนื้อหานโยบายทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama มีลักษณะที่รัฐศาสตร์การทูตเรียกว่า อุดมคตินิยม (Idealism) ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักของกลุ่มที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมในสหรัฐ หัวใจของแนวคิดนี้คือ การมองโลกในแง่ดี และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ผมดูเนื้อหานโยบายแล้ว ทำให้หวนนึกถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Bill Clinton ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกเราหลายครั้งว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุดมคตินิยมก็จะเจออุปสรรคนานานัปการ ทั้งนี้เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม แต่กลับเป็นโลกของสัจจนิยม (Realism) ที่เน้นในเรื่องของการต่อสู้แข่งขันเพื่ออำนาจและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นผมก็เป็นห่วงว่า นโยบายที่มองโลกในแง่ดีของรัฐบาล Obama อาจจะอยู่ได้ไม่นาน และในที่สุด ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง

พันธมิตร

Campbell ได้กล่าวถึงพันธมิตรหลัก ๆ ของสหรัฐในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย และย้ำว่า พันธมิตรดังกล่าวจะเป็นเสาหลักของนโยบายปฏิสัมพันธ์ รัฐบาล Obama จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

เกาหลีเหนือ

ประเด็นร้อนที่สุดในภูมิภาค ขณะนี้คือ ปัญหาเกาหลีเหนือ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ในความพยายามที่จะทำให้เกาหลีเหนือยุติการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ผ่านกระบวนการเจรจา 6 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกาหลีเหนือกลับถอยห่างจากกระบวนการยุติอาวุธนิวเคลียร์ โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สอง ดังนั้น สหรัฐจึงจะร่วมมือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สหรัฐและพันธมิตรจะไม่ยอมรับการที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกับจีนในการประสานนโยบาย สหรัฐขอตอกย้ำว่า สหรัฐจะยึดมั่นในพันธกรณีที่จะปกป้องพันธมิตรของสหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจ

Campbell ได้กล่าวต่อว่า เรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก 4 เศรษฐกิจในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ถือเป็นคู้ค้าอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ และสมาชิกของ APEC ก็นำเข้าสินค้าของสหรัฐคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของสหรัฐทั้งหมด การมีตัวแทนของเอเชียใน APEC WTO และ G20 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจในเอเชีย และการเป็นแกนกลางของการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ สหรัฐจะร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อที่จะลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Campbell ได้กล่าวถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า มีโอกาสของการขยายการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับภูมิภาคนี้ โดยกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของสหรัฐในเอเชีย (รองจากจีน) โดยมีมูลค่าถึง 68,000 ล้านเหรียญ และอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สหรัฐลงทุนมากที่สุด โดยมีเม็ดเงินถึง 130,000 ล้านเหรียญ และโดยที่ขณะนี้อาเซียนกำลังเดินหน้าไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน และการจัดตั้งตลาดร่วม จึงเป็นที่คาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนจะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต สหรัฐเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นระยะเวลายาวนานเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 แล้ว และการที่อาเซียนได้มีการใช้กฎบัตรอาเซียนใหม่ ก็จะเป็นกรอบที่ทำให้ความร่วมมือในภูมิภาคกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ดังนั้น สหรัฐจึงจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อสอดรับพัฒนาการของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนให้มากขึ้นในอนาคต

สำหรับนโยบายของสหรัฐต่ออาเซียนนั้น ผมมองว่า คำแถลงของ Campbell เป็นการตอกย้ำและสานต่อแนวนโยบายของ Obama ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศนโยบายใหม่ต่อเอเชีย โดยจะหันมาเน้นพหุภาคีนิยม แทนที่ทวิภาคีนิยม ซึ่งเป็นแนวนโยบายของสหรัฐในอดีต ดังนั้นจึงมีแนวโน้มชัดเจนว่า สหรัฐกำลังให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น และในอนาคต ก็คงจะเห็นมาตรการต่าง ๆที่เป็นรูปธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น Campbell ได้เน้น 3 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
สำหรับ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ สหรัฐก็ร่วมมือกับรัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด ในการจัดการกับปัญหาการก่อการร้าย
สำหรับ ไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ และมีสถานะเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ ก็เป็นฐานสำคัญของสหรัฐในการดำเนินนโยบายต่อภูมิภาค และในขณะที่ไทยกำลังอยู่ในวิกฤติและความตึงเครียดทางการเมือง และการส่งเสริมสถาบันประชาธิปไตย สหรัฐก็พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งความปรารถนาดีเพื่อให้ไทยฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆไปได้
และสำหรับอินโดนีเชีย รัฐบาลสหรัฐได้เจรจากับทางฝ่ายอินโดนีเชียในการผลักดันกรอบหุ้นส่วนที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ (Comprehensive Partnership) ซึ่ง Hillary Clinton ได้เคยหารือกับผู้นำอินโดนีเชียและรัฐมนตรีต่างประเทศ Wirajuda ของอินโดนีเซีย โดย Campbell เน้นว่า ในอนาคตความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับในประเด็นพันธมิตรของสหรัฐในอาเซียนนั้น ผมมองว่า Campbell ได้ตอกย้ำพันธมิตรเก่าของสหรัฐ คือ ไทยกับฟิลิปปินส์ และที่มาแรงมาก ๆ ก็คือ อินโดนีเซีย ซึ่งคงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอินโดนีเซียในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและอาเซียนโดยรวม

สำหรับปัญหาพม่า Campbell ได้กล่าวย้ำถึงสิ่งที่ Hillary Clinton ได้พูดไว้ตอนเยือนอินโดนีเซียว่า นโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐก็ไม่ได้ผล ในขณะเดียวกัน นโยบายปฏิสัมพันธ์ของอาเซียนก็ไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้น ในขณะนี้รัฐบาล Obama กำลังทบทวนทางเลือกนโยบายใหม่ เพื่อหาหนทางที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในพม่า ซึ่งเราก็คงจะต้องจับตาดูว่า นโยบายใหม่ของสหรัฐต่อปัญหาพม่าจะเป็นอย่างไร

จีน

ประเทศสุดท้ายที่ Campbell กล่าวถึงคือ จีน ซึ่ง Campbell กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน- สหรัฐนั้น ถือเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็มีความสลับซับซ้อนและมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว โดย Campbell ได้บอกว่า จะสานต่อนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหรัฐต่อจีนนั้น ก็คงจะต้องเน้นการหารืออย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน และ Campbell ก็สรุปในตอนท้ายว่า จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในจีนต่อไป รวมทั้งในเรื่องปัญหา
ธิเบตด้วย

สำหรับในเรื่องนโยบายสหรัฐต่อจีนนั้น ผมมองว่า คำแถลงของ Campbell เป็นการตอกย้ำและสานต่อนโยบายของ Obama ที่ต้องการลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และการปิดล้อม และหันมาเน้นนโยบายปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของอุดมการณ์เสรีนิยม ที่เป็นปรัชญาหลักของนโยบายต่างประเทศ Obama ในขณะนี้

Obama กับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อจีน

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2552

Obama กับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อจีน

ยุทธศาสตร์หลัก

การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ศักยภาพของจีนกำลังไล่กวดสหรัฐ โดยบางเรื่องได้แซงหน้าสหรัฐไปแล้ว ทำให้สหรัฐเริ่มหวาดวิตกและกลัวว่าจีนจะเป็นคู่แข่ง ที่จะมาท้าทายการครองความเป็นเจ้าในโลกของสหรัฐในอนาคต

ในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มสายเหยี่ยวหรือที่เราเรียกกันว่า กลุ่ม Neo-Con มองว่า จีนกำลังจะเป็นภัยคุกคามมากขึ้นทุกที การวิเคราะห์ของคนกลุ่มนี้ มองว่า เป้าหมายหลักของจีนคือ การก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ดังนั้น ข้อสรุปของยุทธศาสตร์รัฐบาล Bush ต่อจีนคือ นโยบายการปิดล้อมเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนแบบเต็มรูปแบบ เหมือนยุทธศาสตร์ปิดล้อมสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น คงจะทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะ จะมีเสียงคัดค้านทั้งจากภายในประเทศและจากพันธมิตรของสหรัฐ ภายในประเทศ กลุ่มที่คัดค้านนโยบายปิดล้อมแบบเต็มรูปแบบ คือกลุ่มนักธุรกิจที่ไปลงทุนในจีนและที่ค้าขายกับจีน ขณะนี้จีนได้กลายเป็นประเทศคู้ค้าที่สำคัญของสหรัฐไปแล้ว สำหรับพันธมิตรของสหรัฐที่อยู่รายรอบจีน ก็คงไม่อยากสนับสนุนยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน เพราะไม่ต้องการเป็นศัตรูกับจีน

ดังนั้นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล Bush ในทางปฏิบัติจึงมีลักษณะ กึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ เน้นปิดล้อมทางการทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนของการปิดล้อมและปฏิสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ในสมัย Bush 1 มีสัดส่วนของการปิดล้อมมากกว่าปฏิสัมพันธ์ แต่ในสมัย Bush 2 ได้มีการปรับสัดส่วน โดยเพิ่มการปฏิสัมพันธ์และลดการปิดล้อม

สำหรับในสมัยรัฐบาล Obama ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือยังมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ แต่รัฐบาล Obama มีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนของการปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ และ พยายามที่จะลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมลง

ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์

ในสมัยรัฐบาล Obama ความสัมพันธ์สหรัฐกับจีนดีขึ้นมาก รัฐบาล Obama พยายามเป็นอย่างมากที่จะกระชับความสัมพันธ์กับจีนให้มากขึ้น โดย Obama ได้พบปะและหารือกับผู้นำจีน คือ Hu Jintao เป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุมสุดยอด G 20 ที่กรุงลอนดอน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ คือ นาง Hillary Clinton ก็ได้เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการมาแล้ว Obama ได้ตอบรับคำเชิญของจีนที่จะเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐ อยู่ในสถานะดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ในยุคตกต่ำคือในช่วงเหตุการณ์ เทียน อัน เหมิน ในช่วงปี 1989 ความสัมพันธ์ได้เริ่มดีขึ้นในช่วงรัฐบาล Bush 2 โดย Robert Zoellick รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในตอนนั้น ได้ผลักดันแนวคิดที่จะให้จีน เป็นประเทศมหาอำนาจที่แสดงความรับผิดชอบ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า responsible stakeholder

ต่อมาในสมัยรัฐบาล Obama ได้ให้ความสำคัญกับจีน 2 เรื่องใหญ่ด้วยกัน
เรื่องแรกคือ การสานต่อนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล Bush 2 โดยเน้นความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีน ตอนที่นาง Clinton เดินทางไปเยือนจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ได้กล่าวว่า “ประชาคมโลกตั้งความหวังถึงความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐกับจีนเพื่อที่จะนำไปสู่ความมั่นคง สันติภาพและความมั่งคั่งของโลกโดยรวม” เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า นาง Clinton ได้พยายามส่งสัญณาณว่าสหรัฐต้องการที่จะให้น้ำหนักกับนโยบายปฏิสัมพันธ์ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีน และพยายามที่จะลดน้ำหนักของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน


เรื่องที่สองที่รัฐบาล Obama ให้ความสำคัญต่อจีนคือ การขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือระหว่างกัน ในอดีต ความร่วมมือสหรัฐกับจีนจะเน้นเรื่อง เกาหลีเหนือ อิหร่าน ปัญหาการก่อการร้าย แต่นาง Clinton ได้พยายามผลักดันสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ 4 เรื่อง ด้วยกัน คือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีนในปัญหาภาวะโลกร้อน ความมั่นคงด้านพลังงาน การควบคุมกำลังอาวุธ และเสถียรภาพของระบบการเงินโลก
ยุทธศาสตร์การปิดล้อม


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาล Obama จะเน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์กับจีนเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐก็ยังคงดำเนินยุทธศาสตร์สกัดกั้นและปิดล้อมทางการทหารของจีนต่อไป โดยล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ซึ่งยังคงยืนหยัดเป็นสายเหยี่ยว มองจีนเป็นศัตรู ได้เผยแพร่รายงานประจำปี ประเมินอำนาจทางทหารของจีนในปี 2009 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยในรายงานดังกล่าว ยังคงหวาดระแวงจีนว่า ยังมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารของจีน โดยได้มองว่า ขณะนี้จีนกำลังขยายอำนาจทางการทหารขนานใหญ่ มีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มีการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการทหารขนานใหญ่

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ยังมองว่า จีนยังคงสร้างเสริมขีปนาวุธเพื่อข่มขู่ไต้หวัน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องปรามไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราช การข่มขู่ทางการทหารของจีน ในอนาคตจะบีบให้ไต้หวันยอมจีนตามข้อเรียกร้องของจีน และเพื่อที่จะเป็นการป้องปรามและสกัดกั้นความช่วยเหลือสหรัฐต่อไต้หวัน ในกรณีเกิดความขัดแย้ง และจีนกำลังสร้างเสริมกำลังทางการทหารที่จะทำให้จีน สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและปกป้องการอ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนที่มีความขัดแย้งต่าง ๆ
ดังนั้น การที่จีนสร้างเสริมกำลังทางทหารอย่างมาก จึงทำให้ประชาคมโลกวิตกกังวลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางทหารที่แท้จริงของจีน


นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐยังกล่าวหาจีนว่า ปกปิดงบประมาณทางการทหารและมีความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายทางการทหาร ซึ่งนำไปสู่ความไม่แน่นอน ความเสี่ยง ที่จะเกิดความเข้าใจผิดทางทหาร สหรัฐและพันธมิตรจึงจะเฝ้าติดตามพัฒนาการทางทหารของจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป และจะปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อรองรับต่อพัฒนาการดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป ฝ่ายทหารของสหรัฐมองว่า การเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของจีนขนานใหญ่ในอนาคต จะทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งทางการทหารของสหรัฐ ซึ่งข้อสรุปยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญคือ สหรัฐจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางการทหารของจีน และดำเนินยุทธศาสตร์การปิดล้อมทางทหารต่อจีน