Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้อำนวยการ IMF คนใหม่

ผู้อำนวยการ IMF คนใหม่

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2554

หลังจากที่ Dominique Strauss-Kahn อดีตผู้อำนวยการ IMF ชาวฝรั่งเศส ได้ถูกจับกุมตัวในกรณีอื้อฉาวทางเพศ ที่นครนิวยอร์ก และต่อมาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผ.อ. IMF ไปแล้วนั้น คำถามสำคัญในขณะนี้ คือ ใครจะมาเป็น ผ.อ. IMF คนใหม่ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยจะกล่าวถึงภูมิหลัง ท่าทีของประเทศต่างๆ และตัวเต็ง ผ.อ. IMF คนใหม่ ดังนี้

ภูมิหลัง

IMF หรือ International Monetary Fund กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นสถาบันทางการเงิน และเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวที่ผูกขาดอำนาจในการจัดระเบียบโลก สหรัฐฯ จึงได้ใช้อำนาจดังกล่าว สร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Bretton Woods System โดยได้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป ในการแบ่งอำนาจในการบริหารจัดการ IMF และธนาคารโลก โดยตกลงกันว่า ผ.อ. IMF ต้องเป็นคนที่มาจากยุโรป ในขณะที่ประธานธนาคารโลกต้องเป็นอเมริกัน

นอกจากนี้ รูปแบบการตัดสินใจของ IMF ก็ไม่ใช่ 1 ประเทศ 1 เสียง แต่เป็นระบบการให้น้ำหนักการลงคะแนนเสียง โดยขึ้นอยู่กับสัดส่วนเงินที่แต่ละประเทศลงขันใน IMF ซึ่งสหรัฐฯมีเงินมากที่สุด จึงมีอำนาจลงคะแนนเสียง หรือ voting power มากที่สุด ประมาณ 20% ขณะที่ยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มของ EU รวมกันแล้วมีคะแนนเสียงถึง 30% ซึ่งการจัดสรร voting power มีลักษณะลำเอียงให้กับตะวันตกเป็นอย่างมาก ในขณะที่ ประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกและประเทศยากจน แทบจะไม่มี voting power เลย แม้ว่าในปัจจุบัน IMF จะมีสมาชิกอยู่กว่า 150 ประเทศ ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ หากสหรัฐฯจับมือร่วมกับยุโรป รวมกันก็จะได้ 50% แล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆจากประเทศกำลังพัฒนา ต่อระบบการเลือก ผ.อ. IMF และระบบการลงคะแนนเสียง แต่ตะวันตกยืนกรานที่จะไม่ยอมเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ตะวันตกจำเป็นต้องขยายวงจาก G8 เป็น G20 โดยดึงเอามหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เข้ามาร่วมในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ จึงได้ยอมอ่อนข้อลงในเรื่องการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก แต่ดูเหมือนกับเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย โดยที่ประชุม G20 ครั้งล่าสุดได้ตกลงที่จะเพิ่มอำนาจการลงคะแนนเสียงใน IMF ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอีก 5% ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับสัดส่วน GDP ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่น จีน อินเดีย และบราซิล สำหรับเรื่องหลักการสรรหา ผ.อ. IMF ก็ยังไม่ได้มีการตกลงกันใน G20

ท่าทีของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

ดังนั้น หลังจากที่ Dominique Strauss-Kahn ได้ประกาศลาออกจาก ผ.อ. IMF กระบวนการการต่อสู้เพื่อเสนอชื่อ ผ.อ. IMF คนใหม่จึงได้เกิดขึ้นทันที โดยมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผ.อ. IMF คนใหม่ ไม่ควรเป็นคนจากยุโรป แต่ควรเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม โดยรัฐมนตรีคลังบราซิล ได้ออกมาพูดว่า หลักเกณฑ์การสรรหา น่าจะเป็นระบบคุณธรรม โดยคนที่จะมาเป็นผู้นำ IMF ควรจะได้รับเลือกจากความสามารถ ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นชาวยุโรป เช่นเดียวกับทางกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้ประกาศว่า การเลือกผู้นำ IMF ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและคุณธรรม ในขณะที่อีกหลายๆประเทศ อย่างเช่น อัฟริกาใต้ ไทย และรัสเซีย ได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผ.อ. IMF คนใหม่ น่าจะมาจากประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับบุคคลที่เป็นตัวเต็งที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา คนแรก คือ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของตุรกี ชื่อ Kemal Dervis ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้วิกฤติการเงินของตุรกี ในปี 2001 หลายคนมองว่า คนที่มาจากตุรกี น่าจะเป็นตัวเลือกที่เป็นการประนีประนอม เพราะตุรกีถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ขณะเดียวกัน ตุรกีก็กำลังจะเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะทำให้ ประเทศยุโรปยอมอ่อนข้อให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นาย Dervis ได้ออกมาประกาศว่า เขาไม่สนใจตำแหน่งนี้

ดังนั้น ถัดจากนาย Dervis ไป ก็ยังมีอีก 2 คนจากเอเชีย ที่อาจจะได้รับการผลักดันให้มาแข่งกับทางฝ่ายยุโรป คนแรกเป็นชาวอินเดีย ชื่อ Montek Singh Ahluwalia ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของเขา คือ อายุ ซึ่งตอนนี้ อายุ 67 ปี ซึ่งอาจจะดูอายุเยอะเกินไปสำหรับตำแหน่งนี้

ส่วนชาวเอเชียอีกคนที่ถูกจับตามอง คือ รัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ ชื่อ Tharman Shanmugaratnam ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีคลังมาตั้งแต่ปี 2007 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลใหม่ของสิงคโปร์ ทำให้เขาได้ออกมาเปิดเผยว่า เขาไม่สนใจในตำแหน่ง ผ.อ. IMF

ดังนั้น ดูในภาพรวมแล้ว นาย Montek Singh Ahluwalia จากอินเดีย น่าจะมีโอกาสมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการผลักดัน ผ.อ. IMF ที่ไม่ใช่คนจากยุโรป คือ เอกภาพของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ว่า จะตกลงกันที่จะสนับสนุนคนใดคนหนึ่งได้หรือไม่ ขณะนี้ เสียงก็แตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสำคัญ คือ บราซิล จีน อินเดีย อัฟริกาใต้ และรัสเซีย ยังไม่สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกันได้ว่า จะสนับสนุนใคร ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ ผิดกับทางยุโรป ที่มีการประสานท่าที และพูดเป็นเสียงเดียวกัน ในการสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง

ท่าทีของยุโรป

สำหรับในส่วนของยุโรปนั้น เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ขณะนี้ เสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนรัฐมนตรีเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ชื่อ Christine Lagarde โดยนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศสนับสนุนคนจากยุโรป เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ สวีเดน และนายกรัฐมนตรีอิตาลี Silvio Berlusconi ก็ได้ประกาศสนับสนุน Christine Lagarde กันหมด ทำให้ดูแล้วเธอน่าจะเป็นเต็งหนึ่ง และในขณะนี้ น่าจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะเป็น ผ.อ. IMF คนใหม่ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของ Lagarde คือ ในจำนวน ผ.อ. IMF ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 11 คน เป็นชาวฝรั่งเศสถึง 4 คน นอกจากนี้ ยังมีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป และ ผ.อ. WTO อีกด้วย พูดง่ายๆ คือ มีชาวฝรั่งเศสมากเกินไปในองค์กรเศรษฐกิจโลก

ท่าทีของสหรัฐฯ : ปัจจัยชี้ขาด

แต่ในที่สุดแล้ว คนที่จะตัดสินว่า ใครจะเป็น ผอ. IMF คนใหม่ คือ สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯยังคงเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก มีเงินใน IMF มากที่สุด มี voting power ใน IMF มากที่สุด ถึง 20% หากสหรัฐฯจับมือกับยุโรป ก็จะได้คะแนนถึง 50% แล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯในขณะนี้ ยังคงสงวนท่าที สหรัฐฯยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการ เพียงแต่พูดเป็นหลักการว่า อยากเห็นกระบวนการเลือกสรร ผ.อ.IMF ที่เปิดกว้างและรวดเร็ว

แต่ผมมองว่า ในที่สุดแล้ว สหรัฐฯน่าจะสนับสนุนคนจากยุโรปต่อไป ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯยังคงต้องการผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกันต่อไป ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับยุโรปที่แบ่งสรรกันให้ยุโรปคุม IMF และสหรัฐฯคุมธนาคารโลกมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ สหรัฐฯยังต้องการผูกขาดตำแหน่งรอง ผ.อ. IMF ซึ่งเป็นคนอเมริกันมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯได้วางตัวไว้แล้วว่าจะเป็น David Lipton อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ และตอนนี้ช่วยงานอยู่ที่ทำเนียบขาว ว่าจะให้มาเป็นรอง ผ.อ. IMF คนใหม่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า สหรัฐฯคงจะสนับสนุนคนจากยุโรป ซึ่งน่าจะเป็น Christine Lagarde เพื่อแลกกับการที่ยุโรปจะสนับสนุนสหรัฐฯในการผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกันต่อไป

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554

เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 18 ที่กรุง จาการ์ตา อินโดนีเซีย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ความขัดแย้ง ไทย-กัมพูชา

เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ในเอกสารผลการประชุม ได้กล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ทั้งไทยและกัมพูชา จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติด้วยการเจรจา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยการแก้ปัญหาจะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ รวมทั้งการเข้ามาปฏิสัมพันธ์จากอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ที่ประชุมยินดีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงในเรื่องของเอกสารระบุอำนาจหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียที่จะส่งเข้ามาในบริเวณที่มีความขัดแย้ง

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุม 3 ฝ่าย ซึ่งเป็นการประชุมนอกรอบ มีผู้นำของอินโดนีเซีย คือ ประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono เป็นประธานการประชุม โดยมี นายกฯอภิสิทธิ์ และ Hun Sen เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า และไม่ได้มีเอกสารผลการประชุมออกมา

สำหรับการวิเคราะห์ของผมนั้น มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

ประเด็นแรก คือ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียน ที่ในการประชุมสุดยอดได้มีการหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง ดังนั้น จึงอาจจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ประสบความล้มเหลว รวมทั้ง การประชุม 3 ฝ่าย ก็ประสบความล้มเหลว ถึงแม้ว่า ต่อมา ในวันที่ 9 พฤษภาคม จะมีการหารือนอกรอบ ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ประเด็นสำคัญที่ติดขัดอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องการรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ หรือ TOR ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ไทยให้ความเห็นชอบกับ TOR ในขณะที่ฝ่ายไทย ยืนกรานว่า การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน จะทำได้ก็ต่อเมื่อ กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ทับซ้อน และวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา

เป้าหมายของไทย คือ ไม่ต้องการให้เรื่องกลับไปที่ UNSC อีก แต่ทางกัมพูชาก็มีเป้าหมายตรงกันข้าม ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทย คือ ต้องไม่ให้เข้าทางกัมพูชา ไทยต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และต้องทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้ แต่ขณะนี้ มีจุดล่อแหลมที่อันตราย เพราะการประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความล้มเหลว และหากความขัดแย้งลุกลามบานปลายขึ้นมาอีก ก็อาจทำให้ UNSC เข้ามายุ่งเต็มตัว ซึ่งก็จะเป็นฝันร้ายของไทย

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค

เรื่องที่ 2 ที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมสุดยอด คือ เรื่องสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะการกำหนดท่าทีต่อเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS)

สำหรับภูมิหลังของเรื่องนี้ คือ ในอดีต อาเซียนให้ความสำคัญกับ อาเซียน+3 โดยเป้าหมายระยะยาว คือ การพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า อาเซียน+3 เป็นกรอบที่กีดกันสหรัฐฯ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง สหรัฐฯจึงได้มีท่าทีคัดค้านอาเซียน+3 ต่อมา จึงได้มีการพัฒนากรอบ East Asia Summit หรือ EAS ขึ้นมา เพื่อดึงเอามหาอำนาจเข้ามาถ่วงดุลจีน โดยอาเซียน หวังว่า EAS จะเป็นช่องทางในการดึงสหรัฐฯเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอาเซียน เพื่อที่จะทำให้สหรัฐฯลดความหวาดระแวงการรวมกลุ่มในภูมิภาค รวมทั้งการดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลจีน

ปลายปีนี้ ประธานาธิบดี Obama จะมาเข้าร่วมประชุมสุดยอด EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯคงมองว่า สหรัฐฯจะได้ประโยชน์หลายประการ อาทิ การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคได้เต็มที่ และการเป็นสมาชิกใน EAS จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า ความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 นั้น เข้มข้นกว่า EAS ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ คือ การที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความร่วมมือที่เข้มข้น และพยายามเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

จากท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯทำให้อาเซียนเริ่มวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้ โดยสหรัฐฯอาจจะพยายามเข้ามาแย่งบทบาทนำใน EAS แทนอาเซียน ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จึงได้มีการหารือกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับท่าทีของอาเซียนต่อ EAS ซึ่งจากเอกสารผลการประชุม สามารถสรุปท่าทีของอาเซียนได้ ดังนี้

• EAS จะเป็นเวทีการหารือในระดับผู้นำ และจะหารือกันในประเด็นปัญหาด้านยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ
• EAS จะร่วมมือกันในด้านพลังงาน การเงิน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา และด้านสาธารณสุข
• อาเซียนจะเป็นแกนกลางของ EAS
• EAS จะหารือประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งที่เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงแบบดั้งเดิม และประเด็นปัญหาความมั่นคงแบบใหม่ๆ
• นอกจากการหารือกันในระดับผู้นำประเทศ อาจให้มีความร่วมมือในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
• จะให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนให้การสนับสนุนการประชุม EAS

จะเห็นได้ว่า ท่าทีของอาเซียนที่กล่าวข้างต้นนั้น ขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯทุกเรื่อง คือ สหรัฐฯไม่ต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ แต่สหรัฐฯต้องการให้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น และมีการหารือกันในหลายระดับ ทั้งระดับผู้นำประเทศ ระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่ และให้มีคณะกรรมการหรือคณะทำงาน แต่ท่าทีของอาเซียน คือ ให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำประเทศเท่านั้น และไม่ต้องการให้ EAS พัฒนาเป็นสถาบันที่เป็นทางการ ในขณะที่สหรัฐฯต้องการตรงกันข้าม สหรัฐฯต้องการให้ EAS พัฒนาไปเป็นสถาบัน และสหรัฐฯอาจจะคิดถึงขั้นให้ EAS มีสำนักเลขาธิการต่างหากด้วย ซึ่งอาเซียนก็ตอบกลับไปว่า อาเซียนจะใช้สำนักเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่ในเรื่องนี้แทน

ส่วนในเรื่องประเด็นความร่วมมือนั้น Hillary Clinton ได้เคยประกาศแล้วว่า สหรัฐฯตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้ EAS พัฒนาเป็นองค์กรด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (สหรัฐฯมีเอเปค เป็นองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอยู่แล้ว) โดยได้มีการประกาศว่า Obama จะมาผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทะเล ด้านการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และด้านการรักษาสันติภาพ แต่เห็นได้ชัดจากผลการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ว่า อาเซียนไม่เห็นด้วย โดยอาเซียนได้ตอกย้ำว่า EAS จะร่วมมือกันในด้านพลังงาน การเงิน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา และด้านสาธารณสุข

อีกเรื่องที่เป็นวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือ การที่สหรัฐฯต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยต้องการเข้ามามีบทบาทนำใน EAS ซึ่งจะมาขัดแย้งกับท่าทีของอาเซียน ที่อาเซียนตอกย้ำมาตลอดว่า อาเซียนต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมของภูมิภาค และต้องการเป็นแกนกลางของ EAS

เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า สหรัฐฯจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อท่าทีของอาเซียนในเรื่องนี้

อาเซียนในเวทีโลก

และเรื่องสุดท้ายที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือ บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ ASEAN Community in a Global Community of Nations คือ การผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก อินโดนีเซียได้พยายามผลักดันเป็นอย่างมากในสิ่งที่เรียกว่า ASEAN beyond 2015 Initiative โดยอินโดนีเซียให้เหตุผลว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะทำให้อาเซียนมีบทบาทความรับผิดชอบในเวทีโลกมากขึ้น โดยในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสาระสำคัญสรุปได้ว่า ภายในปี 2022 อาเซียนจะมีท่าทีร่วมในประเด็นปัญหาของโลก โดยท่าทีของอาเซียนจะมีความเป็นเอกภาพ และจะมีการส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนในการที่จะเข้าไปมีส่วนในการจัดการกับปัญหาของโลก โดยจะมีการระบุถึงประเด็นปัญหาของโลกร่วมกัน ประสานและร่วมมือกันในประเด็นปัญหาโลก ในเวทีพหุภาคีต่างๆ อาทิ UN

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแล้ว น่าจะดีกับอาเซียน หากอาเซียนมีบทบาทในเวทีโลกได้ และมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาของโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญ คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนจะมีความสามารถในการเล่นบทบาทนี้ได้หรือ ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการเล่นบทบาทนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันอินโดนีเซียให้กลายเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก กับบทบาทของอินโดนีเซียในฐานะสมาชิก G20 สรุปแล้ว ผมมองว่า อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว หลังปี 2015 อาเซียนยังมีปัญหาในการทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์อยู่มากมายหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน บูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง การทำให้อาเซียนกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องเหล่านี้ เป็นโจทย์และการบ้านหนักสำหรับอาเซียนในยุคหลังปี 2015 อยู่แล้ว ไทยและอาเซียน จึงไม่ควรเล่นตามเกมของอินโดนีเซีย แถลงการณ์ร่วมในการประชุมในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะชี้ให้เห็นว่า อาเซียนจะมีบทบาทในเวทีโลก และจัดการกับปัญหาของโลกได้

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนจบ)

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 – วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2554

การเสียชีวิตของ Osama Bin Laden ได้นำไปสู่คำถามสำคัญ คือ หลังจากนี้ไป สถานการณ์การก่อการร้ายสากลจะเป็นอย่างไร คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ภูมิหลังและแนวโน้มในมิติที่ 1 คือ องค์กร al-Qaeda ดั้งเดิมที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในมิติที่ 2-5 และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบบบูรณาการ ดังนี้

แนวโน้ม (ต่อ)

สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอนาคต อาจวิเคราะห์ได้เป็น 5 มิติด้วยกัน โดยมิติที่ 1 คือ บทบาทขององค์กร al-Qaeda โดยตรง ซึ่งได้วิเคราะห์ไปแล้ว ตอนนี้จะมาวิเคราะห์ต่อในมิติที่เหลือ

• มิติที่ 2 : แนวร่วม al-Qaeda ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน

แนวโน้มของการก่อการร้ายสากลในอนาคตในยุคหลัง Bin Laden มิติที่ 2 คือ เครือข่ายการก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มนักรบ Taliban สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักรบ Taliban และ al-Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้ และสหรัฐฯกำลังตกที่นั่งลำบาก ฝ่าย Taliban เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาล นาย Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ พันธมิตรนาโต้ก็แตกแยก หลายประเทศต้องการถอนทหารกลับ

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน ก็ทรุดหนักเช่นเดียวกัน ปากีสถาน กำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ปากีสถานเป็นแหล่งซ่องสุมสำคัญของทั้ง al-Qaeda และ Taliban และนักรบ Taliban ในปากีสถาน ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ


• มิติที่ 3 : แนวร่วมของ al-Qaeda ในโลกมุสลิม

นอกจากกลุ่ม Taliban ในอัฟกานิสถาน และอัฟกานิสถานแล้ว ยังมีกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ในโลกมุสลิมอยู่อีกมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมกัน คือ อุดมการณ์ในการทำสงครามศาสนา หรือ Jihad กับสหรัฐฯและตะวันตก กลุ่มที่สำคัญๆ มีดังนี้

- กลุ่ม al-Qaeda in the Arabian Peninsula ซึ่งกลุ่มนี้เน้นโจมตีรัฐบาลเยเมน และซาอุดิอาระเบีย
- กลุ่ม al-Shabaab เป็นกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ al-Qaeda ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้และตอนกลางของโซมาเลีย
- กลุ่ม al-Qaeda in the Islamic Maghreb เป็นกลุ่มก่อการร้ายทางตอนเหนือของอัฟริกา มีฐานที่มั่นอยู่ในอัลจีเรีย เป็นพันธมิตรกับ al-Qaeda และได้ร่วมมือกับ al-Qaeda ในการก่อการร้ายทั้งในอัลจีเรีย มาลี ไนเจอร์ ตูนีเซีย โมร็อกโก และ มอริเตเนีย โดยกลุ่มก่อการร้ายจากโมร็อกโก เป็นกลุ่มที่วางระเบิดสถานีรถไฟในกรุงมาดริด เมื่อปี 2004
- กลุ่ม Lashkar e-Tayyiba เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดียและปากีสถาน มีบทบาทสำคัญในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ปี 2008 เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda โดย Hafiz Mohammad Saeed ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ ได้ช่วย Bin Laden ในการก่อตั้งองค์กร al-Qaeda ในปี 1988
- กลุ่ม al-Qaeda in Iraq ถึงแม้จะมีบทบาทลดลง แต่ก็ยังคงมีการก่อวินาศกรรมเป็นระยะๆในอิรัก
- กลุ่ม Jemaah Islamiah หรือ JI มีฐานที่มั่นอยู่ในอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ al-Qaeda กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีบทบาทมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิกอยู่ในหลายประเทศ ทั้งใน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย JI มีบทบาทสำคัญในการวางระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2002 มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน
- กลุ่ม Abu Sayyaf มีฐานที่มั่นอยู่ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เชื่อมโยงกับเครือข่าย al-Qaeda และมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลฟิลิปปินส์

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างขององค์กรหลักๆที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda แต่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ยังมีองค์กรก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda กระจายอยู่ในที่ต่างๆทั่วโลกอีกมากมาย

• มิติที่ 4 : กลุ่มก่อการร้ายในระดับท้องถิ่น

กลุ่มก่อการร้ายในมิตินี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า home-grown terrorist เป็นผู้ก่อการร้ายในระดับท้องถิ่น แต่มีแนวร่วมกับ al-Qaeda ซึ่งในขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรป ตัวอย่างเช่น การก่อวินาศกรรมในลอนดอน เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายเชื้อสายปากีสถานที่เกิดในอังกฤษ และมีผู้ก่อการร้ายสัญชาติอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การก่อวินาศกรรมที่ Fort Hood และเมื่อเร็วๆนี้ มีชาวอเมริกัน 3 คน ได้ไปฝึกการก่อการร้ายกับ al-Qaeda ในปากีสถาน และได้วางแผนจะระเบิดฆ่าตัวตายในรถไฟใต้ดินของนครนิวยอร์ค แต่รัฐบาลสหรัฐฯป้องกันไว้ได้ก่อน

• มิติที่ 5 : อุดมการณ์ของ al-Qaeda

มิติสุดท้าย คือ อุดมการณ์ของ al-Qaeda ที่ต้องการทำสงครามศาสนา หรือ Jihad ต่อต้านตะวันตก ขณะนี้ อุดมการณ์ดังกล่าวได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม ถึงแม้จะมีชาวมุสลิมเป็นจำนวนน้อยที่เลื่อมใสในอุดมการณ์ดังกล่าว แต่คนจำนวนนี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก หากก่อวินาศกรรมที่ส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ข้อเสนอการแก้ปัญหาการก่อการร้ายแบบบูรณาการ

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ได้ดำเนินมาเกือบ 10 ปีแล้ว และไม่ประสบความสำเร็จ ในสมัยรัฐบาล Bush ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังเป็นหลัก โดยไม่ได้แก้ที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง จึงทำให้สถานการณ์บานปลาย เข้าทำนอง ยิ่งปราบ ยิ่งเพิ่ม ในสมัยรัฐบาล Obama ในตอนแรก ก็ดูว่า Obama จะปฏิรูปยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาใหม่ โดยจะไม่เน้นการใช้กำลัง และจะแก้ปัญหาโดยเน้นที่รากเหง้าของปัญหา แต่หลังจากบริหารประเทศมาได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง นโยบายของ Obama ก็กำลังจะเหมือนกับนโยบายของ Bush มากขึ้นทุกที ในระยะหลัง Obama หันมาให้ความสำคัญกับการใช้กำลัง โดยเฉพาะการสังหาร Bin Laden เห็นได้ชัดว่า Obama ได้ละทิ้งแนวทางของตนที่ได้เคยประกาศไว้ว่า จะแก้ที่รากเหง้าของปัญหา ดังนั้น จึงเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ยุทธศาสตร์ของ Obama ในที่สุดก็กลับมาเหมือนกับยุทธศาสตร์ของ Bush

ผมขอเสนอว่า จะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้ายใหม่ โดยจะต้องเป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เน้นการแก้ที่รากเหง้าของปัญหา และจะเป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาที่มีทั้งการแก้ปัญหาในเชิงลบโดยการใช้กำลัง และการแก้ปัญหาในเชิงบวก โดยเน้นแก้ที่รากเหง้าของปัญหา ควบคู่กันไป ซึ่งรากเหง้าของปัญหา ได้แก่ ปัญหาการปะทะกันทางอารยธรรม (clash of civilizations) ลัทธิครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ นโยบายของสหรัฐฯต่อตะวันออกกลาง โดยเฉพาะนโยบายต่อปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ และปัญหาภายในโลกมุสลิม ซึ่งรวมถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และสุดท้าย คือ การทำสงครามอุดมการณ์ เพื่อเอาชนะจิตวิญญาณของประชาชน โดยเฉพาะชาวมุสลิม


* อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หนังสือของผม เรื่อง การก่อการร้ายสากล ตีพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า ปี 2550

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนที่ 1)

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 – วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีข่าวสำคัญ คือ Osama Bin Laden ได้ถูกสังหารที่เมือง Abbottabad ใกล้กรุง Islamabad ประเทศปากีสถาน การเสียชีวิตของ Bin Laden ได้นำสู่คำถามสำคัญ คือ หลังจากนี้ไป สถานการณ์การก่อการร้ายสากลจะเป็นอย่างไร คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

Osama Bin Laden ได้กลายเป็นข่าวดังไปทั่งโลก หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 โดยรัฐบาล Bush อ้างว่า Bin Laden ซึ่งเป็นผู้นำขององค์กร al-Qaeda เป็นผู้วางแผนในการก่อวินาศกรรมในวันที่ 11 กันยายน 2001 หลังจากนั้น รัฐบาล Bush ได้ส่งทหารบุกอัฟกานิสถาน เพื่อล้มระบอบ Taliban และทำลาย al-Qaeda และสังหาร Bin Laden แต่สิ่งที่สหรัฐฯทำได้แค่เพียง ล้มระบอบ Taliban ได้เท่านั้น Bin Laden ได้หายตัวไป เครือข่าย al-Qaeda ก็กระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆทั่วโลก

หลังจากนั้น สหรัฐฯทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่สงครามกลับยืดเยื้อ กลับกลายเป็นว่า ยิ่งปราบ ยิ่งเพิ่ม ถึงแม้จะไม่มีการก่อวินาศกรรมภายในสหรัฐฯครั้งใหญ่ ตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ก็ตาม แต่นอกประเทศสหรัฐฯ การก่อการร้ายกลับเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

สงครามอุดมการณ์เพื่อที่จะชนะจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ก็ประสบความล้มเหลว ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อย ได้มองว่าสหรัฐฯ คือศัตรูของอิสลาม และเครือข่าย al-Qaeda ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ได้แปรรูปกระจัดกระจายเป็นหน่วยย่อย หรือที่เรียกว่า cell ไปทั่วโลก แนวคิดของ Bin Laden และ al-Qaeda ก็ได้กลายเป็นอุดมการณ์ที่แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม

ปฏิบัติการไล่ล่า Bin Laden ได้ดำเนินมาตลอดเกือบ 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาว่า Bin Laden ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในแถบเทือกเขาบริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีข่าวแพร่ไปทั่วโลกว่า Bin Laden ได้ถูกสังหารแล้วโดยหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ที่เมือง Abbottabad ใกล้กรุง Islamabad ประเทศปากีสถาน โดย Bin Laden ได้อาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยไม่มีใครรู้

ผลกระทบ

คำถามสำคัญ คือ การเสียชีวิตของ Bin Laden จะส่งผลกระทบอย่างไร ต่อสถานการณ์การก่อการร้ายสากล

คำตอบของผม คือ น่าจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อขบวนการก่อการร้าย แต่คงไม่มากนัก และคงเป็นช่วงสั้นๆ ในที่สุด al-Qaeda ก็จะมีผู้นำคนใหม่เกิดขึ้นแทน Bin Laden อย่างไรก็ตาม Bin Laden เป็นคนที่มีบารมี สามารถเป็นแรงดึงดูดผู้คนให้มาเข้าร่วมขบวนการได้ แต่ขณะนี้ ผู้นำคนใหม่ยังไม่น่าจะมีบารมีเท่า Bin Laden จึงอาจจะกระทบบ้างเล็กน้อย ต่อการดึงดูดสมาชิกใหม่

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม การเสียชีวิตของ Bin Laden ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่อสถานการณ์การก่อการร้ายสากล ที่แน่ๆ คือ ยังไม่ใช่จุดจบของการก่อการร้าย ผมมองว่า การก่อการร้าย และการก่อวินาศกรรมยังคงจะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะขณะนี้ ขบวนการก่อการร้ายได้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรย่อยๆอยู่มากมาย ซึ่งองค์กรเหล่านี้ มีจุดร่วม คือ มีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่เป็นอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง ที่มีเป้าหมายตรงกัน คือ การขจัดอิทธิพลตะวันตกให้ออกไปจากโลกมุสลิม และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น

ผลกระทบอีกประการ น่าจะเป็นความพยายามในการแก้แค้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การก่อวินาศกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปีนี้ เป็นปีครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี และเพื่อล้างแค้นให้กับ Bin Laden

แนวโน้ม

สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอนาคต อาจวิเคราะห์ได้เป็น 5 มิติด้วยกัน ดังนี้

• มิติที่ 1 : al-Qaeda

มิติที่ 1 คือ องค์กร al-Qaeda ดั้งเดิมที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย ในอดีตนำโดย Bin Laden แม้จะอ่อนแอลง เพราะสหรัฐฯพยายามไล่ล่ามาโดยตลอดเกือบ 10 ปี แต่ al-Qaeda ก็ได้ปรับองค์กรจากการรวมศูนย์เป็นการกระจายตัว โดยขณะนี้ มีสาขาย่อยมากมายทั่วโลก มีลักษณะเป็น franchise หรือสาขา โดยแต่ละสาขา มีอำนาจตัดสินใจในการก่อวินาศกรรมได้เอง โดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ ยุทธศาสตร์การกระจายตัวของ al-Qaeda ลงมาถึงขั้นที่เรียกว่า “one man one bomb” คือ ปฏิบัติการอาจใช้แค่คนๆเดียว และระเบิดลูกเดียว นอกจากนี้ al-Qaeda มีองค์กรแนวร่วมอีกมากมาย ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในการฝึกคนที่พร้อมจะเข้าร่วมอุดมการณ์ โดยเฉพาะในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ ผมจะขยายความในหัวข้อถัดไป

การกระจายตัว และการขยายของสาขาย่อย หรือ cell ของ al-Qaeda ได้กระจาย ขยายตัวไปทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย อัฟริกา และแม้กระทั่งในยุโรป และอเมริกา

ในยุโรป มี Hamburg cell ที่เป็นกลุ่มก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ในปัจจุบัน เกือบทุกประเทศในยุโรป มี cell ของ al-Qaeda อยู่ มีชาวมุสลิมหลายร้อยคนที่ถือพาสปอร์ต ประเทศยุโรป และเดินทางไปปากีสถานและอัฟกานิสถาน เพื่อฝึกการก่อการร้าย และได้เดินทางกลับยุโรป เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการจับกุมชาวโมร็อกโค 3 คน ในเยอรมนี ที่กำลังวางแผนระเบิดสถานีรถไฟ รัฐบาลเยอรมนี ประกาศว่า มีคนสัญชาติเยอรมันมากกว่า 200 คน ได้รับการฝึกการก่อการร้ายจากอัฟกานิสถานและปากีสถาน สถานการณ์นี้ เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เป็นต้น

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของการที่จะมีปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตายในยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งการระเบิดเป้าหมายต่างๆ ทั้งเป้าหมายทางทหาร รัฐบาล และธุรกิจ ก็มีอยู่สูง

นอกจากนี้ อิทธิพลของ al-Qaeda ในอัฟกานิสถานยังมีอยู่มาก และสถานการณ์การก่อการร้าย มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น

เช่นเดียวกับในปากีสถาน ที่มีความร่วมมือกันระหว่าง al-Qaeda และ Taliban ในการก่อวินาศกรรมในปากีสถานเพื่อล้างแค้นให้กับ Bin Laden

และในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในโลกอาหรับ ขณะนี้ มีแนวโน้มการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ซึ่ง al-Qaeda ก็กำลังรอจังหวะสภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจ และอาจฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าว ยึดอำนาจรัฐ ทั้งใน ตูนีเซีย อียิปต์ ซีเรีย ลิเบีย และประเทศในอ่าวเปอร์เซีย

(โปรดติดตามอ่านตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

* อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หนังสือของผม เรื่อง การก่อการร้ายสากล ตีพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า ปี 2550