Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 2)


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2556

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ เรื่องยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตอนที่ 1 ผมได้เขียนไปแล้วเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทย คอลัมน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนของไทย
แนวคิดเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ในปี 2003 โดยได้มีการจัดทำ Bali Concord 2 ซึ่งตกลงกันว่า จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 (แต่ต่อมาร่นมาเป็นปี 2015) ประชาคมอาเซียนจะมี 3 ประชาคมย่อย ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งผมจะเรียกสั้นๆ ว่า APSC นั้น ได้มีการจัดทำ Blueprint หรือ แผนงานการจัดตั้งประชาคม โดยได้แบ่งเรื่องหลักๆ คือ การพัฒนาทางการเมือง กลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง การจัดการกับประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ รวมทั้งการทำให้ APSC เป็นแกนกลางของระบบความมั่นคงในภูมิภาค
 โจทย์สำคัญของไทย คือ เราจะมียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ APSC อย่างไร คำตอบของผมคือ เราจะต้องทำการบ้าน และการบ้านสำคัญของไทย คือ การทำ SWOT Analysis วิเคราะห์ผลกระทบของ APSC ต่อไทย ทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ และวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของไทย หลังจากนั้น เราก็กำหนดยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ APSC ว่า เราจะรุกตรงไหน รับตรงไหน ยุทธศาสตร์ APSC ของไทย น่าจะมีรูปร่างหน้าตาคร่าวๆ ดังนี้
1.              การพัฒนาทางการเมือง
เรื่องแรกที่ APSC Blueprint ให้ความสำคัญคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีปัญหามาก เกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตย หลายประเทศสมาชิกยังเป็นเผด็จการ และแม้จะมีการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่กลไกดังกล่าว ที่เราเรียกย่อว่า AICHR ก็ไม่มีประสิทธิภาพและขาดเขี้ยวเล็บ
·       SWOT Analysis
สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบของ APSC ต่อไทยในเรื่องนี้ คือ ความร่วมมือในกรอบอาเซียนในประเด็นด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน  ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายบุคคลที่มีความเสรีมากขึ้น ทำให้มีการย้ายถิ่นฐานและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงานต่างด้าว จึงอาจเพิ่มมากขึ้น

·       ยุทธศาสตร์
ดังนั้นยุทธศาสตร์ของไทยต่อ APSC ในเรื่องนี้ คือ การที่ไทยควรจะมีบทบาทนำในการส่งเสริม ความร่วมมือด้านการพัฒนาทางการเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ไทยก็จะต้องมีแผนรองรับ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้ง APSC    
2.              กลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง
APSC Blueprint ตั้งเป้าหมายจะสร้างกลไกป้องกันความขัดแย้ง  โดยจะมีมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน หรือ CBM การจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน การจดทะเบียนการซื้อขายอาวุธในอาเซียน และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม การพัฒนามาตรการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจเสร็จไม่ทันปี 2015 การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนก็ยังมีความร่วมมือที่เบาบางมาก ดังนั้น หากอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือทางทหารอย่างเข้มข้น การพัฒนาไปสู่ APSC อย่างแท้จริง คงจะไม่เกิดขึ้น
อีกเรื่อง ที่ Blueprint กล่าวถึง คือ การพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งมีการระบุถึงกลไกต่างๆ ที่จะแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี อย่างไรก็ตาม มีกลไกหนึ่งที่สหประชาชาติใช้อย่างได้ผลคือ กองกำลังรักษาสันติภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า ควรมีการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียนหรือไม่ แต่ขณะนี้อาเซียนยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องนี้ได้
·       SWOT Analysis
การวิเคราะห์ผลกระทบของ APSC ในเรื่องนี้ต่อไทย คือ ในอนาคต อาเซียนน่าจะมีกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนว่า กลไกดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกก็ยังจะไม่หมดไปง่ายๆ  ประเทศสมาชิกยังคงมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน น่าจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ต่อไป ยุทธศาสตร์ทางทหารของประเทศสมาชิกอาเซียน ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นศัตรู ซึ่งหากอาเซียนแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ การจัดตั้ง APSC อย่างแท้จริง คงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งไทยก็คงจะเสียประโยชน์ ผลประโยชน์แห่งชาติ งไทยในระยะยาว คือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อบ้าน ยุติความขัดแย้ง และร่วมมือกันในการสร้างเอกภาพของอาเซียนให้เกิดขึ้น
·  ยุทธศาสตร์
ดังนั้น ยุทธศาสตร์หลักของไทยต่อ APSC ในเรื่องนี้ คือ ไทยจะต้องมีบทบาทนำในการส่งเสริมกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ไทยควรผลักดันให้มีการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียนขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งในอาเซียนแล้ว ยังจะทำให้อาเซียนมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการส่งกองกำลังของอาเซียนเข้าร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติด้วย
3.              ประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่
จุดประสงค์หลักของ APSC ในเรื่องนี้คือ การตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีโดยสอดคล้องกับหลักการความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ จากภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ได้แก่ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหาภัยพิบัติ ก็อาจถือได้ว่า เป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ได้ด้วย
·       SWOT Analysis
                            สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบของ APSC ในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ต่อไทยนั้น ผลกระทบในเชิงบวก คือ น่าจะเกิดความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในกรอบอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย
                             อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ คือ ไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ปัญหายาเสพติดข้ามชาติ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงประโยชน์จากการเปิดและเคลื่อนย้ายเสรีทางเศรษฐกิจ จะทำให้การป้องกันและปราบปรามมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
·       ยุทธศาสตร์
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทยต่อ APSC ในประเด็นนี้ คือ ไทยควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในกรอบความร่วมมือของอาเซียน
สำหรับ ในประเทศไทยเอง ไทยก็ควรมีแผนรองรับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่อาจจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น จากการจัดตั้ง APSC
สำหรับในเรื่องของภัยพิบัติ ไทยก็ควรมีแผนการจัดการภัยพิบัติสอดคล้องกับแผนการจัดการภัยพิบัติในกรอบอาเซียน และควรมีบทบาทในเชิงรุกในการส่งเสริมให้กลไกจัดการภัยพิบัติของอาเซียน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4.              ASEAN Centrality
เป้าหมายอีกประการของ APSC คือ การที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นศูนย์กลางหรือเป็นแกนกลางของระบบความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งในประเด็นนี้ อาเซียนก็จะต้องดำเนินการในหลายกรอบ ทั้งในกรอบของอาเซียน+1 กับมหาอำนาจ อาเซียน+3 กรอบ East Asia Summit หรือ EAS กรอบ ADMM+8 (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับ 8 ประเทศคู่เจรจา) และกรอบการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ด้วย
·       SWOT Analysis
การวิเคราะห์ผลกระทบของการทำให้ APSC เป็นแกนกลางของระบบความมั่นคงในภูมิภาค คือ จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อผลประโยชน์ของไทยเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอให้กับอาเซียนและไทย โดยเฉพาะกับมหาอำนจต่างๆ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการผลักดัน APSC ให้เป็นแกนกลางคือ ความแตกแยกและความม่เป็นเอกภาพของอาเซียน
·       ยุทธศาสตร์
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทยในเรื่องนี้จึงชัดเจน ที่ไทยจะต้องมีบทบาทนำ ในการส่งเสริมให้ APSC เป็นแกนกลางของรบบความมั่นคงในภูมิภาค
ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงสร้างสรค์ ที่จะสามารถแก้ไขจุดอ่อนที่สุดของอาเซียน  คือ ความแตกแยกและการไร้เอกภาพ ซึ่งมาตรการระยะยาวในเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องไปเชื่อมกับการเสริมสร้างอัต-ลักษณ์อาเซียน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
นอกจากนี้ ไทยควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการที่จะกำหนดบทบาทที่เหมาะสมกับสถานภาพของประเทศ ในแต่ละกรอบความร่วมมือกับมหาอำนาจ คือ ไทยควรมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมทั้งในกรอบ                อาเซียน+1, อาเซียน+3, EAS, ADMM+8 และ ARF ด้วย