วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2554
ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์วิกฤตหนี้ของยุโรป หรือ วิกฤต Eurozone ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการของวิกฤตและแผนการกอบกู้วิกฤตล่าสุด ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้
วิกฤต
หัวใจของวิกฤต Eurozone ในขณะนี้ อยู่ที่กรีซ ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ แม้ว่า EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้ให้กรีซงวดแรกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2010 เป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ สาเหตุที่ต้องปล่อยกู้ให้กับกรีซ เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศตกต่ำลงอย่างมากที่สุด กรีซจึงไม่สามารถกู้ยืมเงินในตลาดการเงิน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ การที่ EU และ IMF ให้ความช่วยเหลือกรีซ ก็เพื่อที่จะเป็นการให้เวลากรีซในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อที่จะกลับมาฟื้นฟูประเทศได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของกรีซกลับแย่ลง S&P ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซต่ำที่สุด จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด
และล่าสุด สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจรวมถึงฝรั่งเศสด้วย โดยทั้ง 3 ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤตหนี้เช่นเดียวกัน และได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไป
แนวโน้ม
สำหรับแนวโน้มในขณะนี้ ก็คือ ตลาดการเงินกำลังมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า default ดูเหมือนจะมีฉันทามติแล้วว่า กรีซคงจะผิดนัดชำระหนี้แน่ แต่ที่ยังไม่แน่ก็คือ การล้มละลายของกรีซจะส่งผลกระทบต่อ Eurozone และต่อระบบการเงินโลกมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลกระทบเป็น domino effect มากน้อยแค่ไหน
กรีซ ขณะนี้มีหนี้อยู่ประมาณ 350,000 ล้านยูโร คิดเป็น 150% ของ GDP วิกฤตหนี้ของกรีซจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้กรีซอยู่กว่า 3 แสนล้านยูโร โดยเฉพาะธนาคารของฝรั่งเศสและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม หากการผิดนัดชำระหนี้ จะมีลักษณะในการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% หรือที่เรียกว่ามาตรการ “hair cut” ซึ่งถ้าออกมาเป็นแบบนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม โอกาสของการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซ ไปสู่ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีอยู่สูง โดยก่อนหน้านี้ ทาง EU และ IMF ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับโปรตุเกสและไอร์แลนด์ เช่นเดียวกับในกรณีของกรีซ ดังนั้น หากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินก็อาจจะเกิดการตื่นตระหนกว่า ต่อไป โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็อาจล้มละลายตามกรีซไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หากกรีซล้มละลาย ก็อาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลี สเปน และฝรั่งเศสด้วย เศรษฐกิจของสเปนและอิตาลีใหญ่กว่าของกรีซมาก ดังนั้น หากเกิดวิกฤตหนี้ใน 2 ประเทศนี้ EU และ IMF ก็จะไม่มีเงินพอที่จะปล่อยกู้ให้กับประเทศทั้งสองได้ ซึ่งจะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ
ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ อิตาลี ซึ่งมีมูลค่าหนี้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น อิตาลีเพิ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก S&P ซึ่งจะทำให้ในอนาคต อิตาลีจะกู้เงินได้ยากขึ้น ในที่สุด อาจจะเป็นวัฏจักร เหมือนกับที่กรีซประสบ คือ อาจจะไม่มีเงินชำระหนี้ได้ มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีก็ลดค่าลงไปเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากเกิดภาวะ domino effect ก็อาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่
มีบางคนถึงกับคาดการณ์ว่า หากปัญหาลุกลามบานปลาย ในที่สุด Eurozone ทั้งระบบอาจล่มสลาย หรืออาจมีบางประเทศอาจจะต้องถอนตัวออกจาก Eurozone ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ในที่สุด อาจนำไปสู่ Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี
แผนการกอบกู้วิกฤต
สำหรับเค้าโครงของแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ล่าสุด เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแผนดังกล่าว จะมีมาตรการหลักๆ อยู่ 3 มาตรการ
มาตรการแรก เป็นมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหา โดยอาจจะมีข้อตกลงที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ซึ่งมาตรการนี้ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า มาตรการ “hair cut”
สำหรับมาตรการที่ 2 จะมีการเพิ่มเงินทุนเข้าไปในกองทุนสำหรับการกอบกู้วิกฤต Eurozone ที่เรียกว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งในปัจจุบัน มีเงินอยู่ในกองทุนนี้ประมาณ 440,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร รัฐบาลยุโรปหวังว่า มาตรการนี้จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก EU ที่อยู่ใน Eurozone ในช่วง 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐสภาของเยอรมนี ก็ได้ลงมติเห็นชอบกับแผนการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา หาก EFSF สามารถเพิ่มเงินในกองทุนได้ ก็จะสามารถทำให้ EFSF มีเงินพอที่จะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่กำลังประสบวิกฤตหนี้ได้
ส่วนมาตรการที่ 3 เป็นมาตรการในการให้ความช่วยเหลือธนาคารใหญ่ๆของยุโรป ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล้มละลายของกรีซ
ขณะนี้ ทุกฝ่ายกำลังจับตามองไปที่การประชุมสุดยอด G20 ที่จะมีขึ้นที่เมือง Cannes ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหวังว่า G20 จะสามารถตกลงกันและผลักดันมาตรการต่างๆเหล่านี้ออกมาได้
ก่อนหน้านี้ G20 มีบทบาทน้อยมาก โดยมีเพียงการออกแถลงการณ์ว่า จะมีความร่วมมือกันในการจัดการกับวิกฤต แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดเงินเกิดความมั่นใจได้ ทั้งนี้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดมาตรการ มีเพียงแต่คำพูด แต่ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม
บทบาทของ G20 นั้น มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์วิกฤตหนี้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน EU ก็คงจะไม่มีเงินพอที่จะช่วยประเทศทั้งสองได้ ดังนั้น ก็เหลือแต่ G20 เท่านั้น ที่จะเป็นกลไกเข้ามาช่วยเหลือประเทศทั้งสอง โดยหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น G20 อาจจะต้องขยายเงินทุนเข้าไปใน IMF ซึ่ง IMF ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วย EU ปล่อยเงินกู้ให้กับไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด แต่หากเกิดปัญหาขึ้นกับสเปนและอิตาลี IMF อาจจะต้องเข้ามาช่วยปล่อยกู้ให้กับทั้ง 2 ประเทศ อย่างน้อย 50% ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งเงินดังกล่าว ก็คงจะต้องมาจากประเทศสมาชิก G20
ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า EU IMF และ G20 จะสามารถผนึกกำลังในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ หากกลไกเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจโลกก็คงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี อย่างแน่นอน
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 1)
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 – วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554
เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Walter Lohman ได้เขียนบทความชื่อ “Reinvigorating the US-Thailand Alliance” ใน website ของ Heritage Foundation ซึ่งเป็น think tank ที่มีอิทธิพลของสหรัฐฯ ผมเห็นว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญ จึงจะนำมาสรุป วิเคราะห์ ดังนี้
พันธมิตร ไทย - สหรัฐฯ : อดีต และ ปัจจุบัน
Lohman ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์และพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯว่า มีอยู่ 5 ด้าน ดังนี้
• ด้านการทหาร
พันธมิตรไทย-สหรัฐฯด้านการทหารและความมั่นคง เป็นมิติความสัมพันธ์ที่มีความเข้มข้นมากที่สุด โดยมีการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี และที่สำคัญที่สุด คือ การซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ในอดีต สหรัฐฯเป็นประเทศสำคัญที่ขายอาวุธให้ไทย ล่าสุด มีการซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล๊คฮอล์ก และเครื่องบิน F16 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จีนกำลังเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในการขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย โดยจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงหลังรัฐประหารปี 2006 สหรัฐฯระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย จีนจึงได้รีบเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย เป็นเงินจำนวนกว่า 50 ล้านเหรียญ รวมทั้งยกระดับการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับจีนด้วย
• ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯในอีกด้านที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคหลังเหตุการณ์ 11
กันยาฯ คือ ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และด้านงานข่าวกรอง รวมถึงการจัดตั้ง US-Thai Counterterrorism Intelligence Center
• ด้านเศรษฐกิจ
ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ การค้าในปี 2010 มีมูลค่าถึงเกือบ 32,000 ล้าน
เหรียญ ทำให้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การลงทุนของสหรัฐฯในไทยในปี 2010 มีมูลค่าเกือบ 13,000 ล้านเหรียญ
ไทยกับสหรัฐฯ มีสนธิสัญญา Treaty of Amity and Economic Relations ซึ่งภายใต้
สนธิสัญญาฉบับนี้ บริษัทสหรัฐฯ มีสิทธิเทียบเท่าบริษัทของไทย สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของสหรัฐฯมาไทย ยังคงประสบปัญหา โดยเฉพาะในเรื่อง
มาตรการทางภาษี ในขณะที่ จีนมี FTA กับไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับจีนในการค้าขายกับไทย ทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯเป็นอย่างมาก แม้ว่า ในปี 2004 จะได้มีการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่การเจรจาก็สะดุดหยุดลงตั้งแต่รัฐประหาร ในปี 2006 ถึงแม้ว่า USTR จะยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ ถึงความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้น FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เมื่อเร็วๆนี้ ส.ว. Richard Lugar จากพรรครีพับริกัน ได้เสนอญัตติกระตุ้นให้ USTR เปิดฉากการเจรจา FTA กับอาเซียน
• ด้านการทูต
มิติที่ 4 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งหัวใจของการทูตสหรัฐฯต่อไทย คือ สถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อสถานะของสหรัฐฯในภูมิภาค สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ เป็นสถานทูตสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯได้กลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายสิบปี
• ด้านเวทีพหุภาคี
มิติที่ 5 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ มิติที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ในอดีต ไทยเป็นแกนนำของอาเซียนมาโดยตลอด โดยไทยมีสถานะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานะของไทยในอาเซียนได้ตกต่ำลง เพราะความวุ่นวายทางการเมือง แต่ไทยก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในองค์กรนี้อยู่ ดังนั้น ไทยยังคงเป็นช่องทางของสหรัฐฯในการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
สิ่งท้าทาย
อย่างไรก็ตาม บทความของ Lohman ใน Heritage Foundation ได้วิเคราะห์ว่า มีสิ่งท้าทาย 2 เรื่องใหญ่ ต่อพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ เรื่องแรก คือ ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย และเรื่องที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองของไทยนั้น ทำให้มีหลายฝ่ายในสหรัฐฯได้ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ การพึ่งพาไทยเพื่อเป็นช่องทางเข้าอาเซียนก็ได้ถูกทำลายลง จากการที่ไทยได้เสียเครดิตอย่างมากในอาเซียนเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ความพยายามที่จะฟื้นฟูพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ จึงถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางการเมืองของไทย ซึ่งขณะนี้ ไทยไม่มีผู้นำที่แท้จริง ไม่มีผู้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และขาดผู้นำที่สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์ด้วย
สำหรับสิ่งท้าทายที่ 2 ต่อพันธมิตรระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งไทยกับสหรัฐฯมีมุมมองต่อการผงาดขึ้นมาของจีนต่างกัน โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยสหรัฐฯมองว่า จีนมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคาม แต่ในขณะที่ไทยกลับมองการผงาดขึ้นมาของจีนว่า เป็นโอกาส โดยไทยจะเน้นถึงโอกาส ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางการเมือง ที่จีนจะหยิบยื่นให้ไทย
ในประวัติศาสตร์การทูตของไทยนั้น ชี้ชัดว่า ไทยมีความเชี่ยวชาญทางการทูตเป็นอย่างมาก ในการปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่างๆ ทำให้ไทยสามารถคงความเป็นเอกราช และมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการทูต พฤติกรรมของไทยยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน โดยเห็นได้จาก ความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐฯ
สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับจีนทางด้านเศรษฐกิจนั้น การค้าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2010 มีมูลค่าการค้าถึง 46,000 ล้านเหรียญ ไทยกับจีนได้ลงนามในข้อตกลง FTA ในปี 2003 และขณะนี้ จีนได้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ไทยก็ได้ไปลงทุนในจีน ทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมาก
สำหรับในด้านการทหาร จีนมีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย โดยจีนได้เป็นประเทศผู้ขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย และจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงที่สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย ภายหลังรัฐประหาร ปี 2006 โดยจีนได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเป็น 2 เท่า จากเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯเคยให้ ให้ทุนการศึกษาต่อไทยในวิทยาลัยทางทหารของจีนมากขึ้น และขยายการซ้อมรบร่วมกับไทย ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนกลายเป็นทางเลือกใหม่ของไทย แทนที่การพึ่งพาการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯในอดีต
นอกจากนี้ จีนมีนโยบายในเชิงรุกในการทูตภาคประชาชน หรือ public diplomacy ด้วย โดยได้เปิดประตูรับนักเรียนไทยเข้าไปศึกษาในจีน ให้ทุนการศึกษา และจัดตั้ง Confucian Center เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน และสถาบันอื่นๆ เพื่อเน้นการมีมรดกร่วมทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน
(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 – วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554
เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Walter Lohman ได้เขียนบทความชื่อ “Reinvigorating the US-Thailand Alliance” ใน website ของ Heritage Foundation ซึ่งเป็น think tank ที่มีอิทธิพลของสหรัฐฯ ผมเห็นว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญ จึงจะนำมาสรุป วิเคราะห์ ดังนี้
พันธมิตร ไทย - สหรัฐฯ : อดีต และ ปัจจุบัน
Lohman ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์และพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯว่า มีอยู่ 5 ด้าน ดังนี้
• ด้านการทหาร
พันธมิตรไทย-สหรัฐฯด้านการทหารและความมั่นคง เป็นมิติความสัมพันธ์ที่มีความเข้มข้นมากที่สุด โดยมีการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี และที่สำคัญที่สุด คือ การซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ในอดีต สหรัฐฯเป็นประเทศสำคัญที่ขายอาวุธให้ไทย ล่าสุด มีการซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล๊คฮอล์ก และเครื่องบิน F16 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จีนกำลังเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในการขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย โดยจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงหลังรัฐประหารปี 2006 สหรัฐฯระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย จีนจึงได้รีบเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย เป็นเงินจำนวนกว่า 50 ล้านเหรียญ รวมทั้งยกระดับการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับจีนด้วย
• ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯในอีกด้านที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคหลังเหตุการณ์ 11
กันยาฯ คือ ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และด้านงานข่าวกรอง รวมถึงการจัดตั้ง US-Thai Counterterrorism Intelligence Center
• ด้านเศรษฐกิจ
ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ การค้าในปี 2010 มีมูลค่าถึงเกือบ 32,000 ล้าน
เหรียญ ทำให้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การลงทุนของสหรัฐฯในไทยในปี 2010 มีมูลค่าเกือบ 13,000 ล้านเหรียญ
ไทยกับสหรัฐฯ มีสนธิสัญญา Treaty of Amity and Economic Relations ซึ่งภายใต้
สนธิสัญญาฉบับนี้ บริษัทสหรัฐฯ มีสิทธิเทียบเท่าบริษัทของไทย สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของสหรัฐฯมาไทย ยังคงประสบปัญหา โดยเฉพาะในเรื่อง
มาตรการทางภาษี ในขณะที่ จีนมี FTA กับไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับจีนในการค้าขายกับไทย ทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯเป็นอย่างมาก แม้ว่า ในปี 2004 จะได้มีการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่การเจรจาก็สะดุดหยุดลงตั้งแต่รัฐประหาร ในปี 2006 ถึงแม้ว่า USTR จะยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ ถึงความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้น FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เมื่อเร็วๆนี้ ส.ว. Richard Lugar จากพรรครีพับริกัน ได้เสนอญัตติกระตุ้นให้ USTR เปิดฉากการเจรจา FTA กับอาเซียน
• ด้านการทูต
มิติที่ 4 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งหัวใจของการทูตสหรัฐฯต่อไทย คือ สถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อสถานะของสหรัฐฯในภูมิภาค สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ เป็นสถานทูตสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯได้กลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายสิบปี
• ด้านเวทีพหุภาคี
มิติที่ 5 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ มิติที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ในอดีต ไทยเป็นแกนนำของอาเซียนมาโดยตลอด โดยไทยมีสถานะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานะของไทยในอาเซียนได้ตกต่ำลง เพราะความวุ่นวายทางการเมือง แต่ไทยก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในองค์กรนี้อยู่ ดังนั้น ไทยยังคงเป็นช่องทางของสหรัฐฯในการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
สิ่งท้าทาย
อย่างไรก็ตาม บทความของ Lohman ใน Heritage Foundation ได้วิเคราะห์ว่า มีสิ่งท้าทาย 2 เรื่องใหญ่ ต่อพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ เรื่องแรก คือ ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย และเรื่องที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองของไทยนั้น ทำให้มีหลายฝ่ายในสหรัฐฯได้ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ การพึ่งพาไทยเพื่อเป็นช่องทางเข้าอาเซียนก็ได้ถูกทำลายลง จากการที่ไทยได้เสียเครดิตอย่างมากในอาเซียนเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ความพยายามที่จะฟื้นฟูพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ จึงถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางการเมืองของไทย ซึ่งขณะนี้ ไทยไม่มีผู้นำที่แท้จริง ไม่มีผู้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และขาดผู้นำที่สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์ด้วย
สำหรับสิ่งท้าทายที่ 2 ต่อพันธมิตรระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งไทยกับสหรัฐฯมีมุมมองต่อการผงาดขึ้นมาของจีนต่างกัน โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยสหรัฐฯมองว่า จีนมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคาม แต่ในขณะที่ไทยกลับมองการผงาดขึ้นมาของจีนว่า เป็นโอกาส โดยไทยจะเน้นถึงโอกาส ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางการเมือง ที่จีนจะหยิบยื่นให้ไทย
ในประวัติศาสตร์การทูตของไทยนั้น ชี้ชัดว่า ไทยมีความเชี่ยวชาญทางการทูตเป็นอย่างมาก ในการปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่างๆ ทำให้ไทยสามารถคงความเป็นเอกราช และมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการทูต พฤติกรรมของไทยยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน โดยเห็นได้จาก ความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐฯ
สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับจีนทางด้านเศรษฐกิจนั้น การค้าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2010 มีมูลค่าการค้าถึง 46,000 ล้านเหรียญ ไทยกับจีนได้ลงนามในข้อตกลง FTA ในปี 2003 และขณะนี้ จีนได้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ไทยก็ได้ไปลงทุนในจีน ทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมาก
สำหรับในด้านการทหาร จีนมีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย โดยจีนได้เป็นประเทศผู้ขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย และจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงที่สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย ภายหลังรัฐประหาร ปี 2006 โดยจีนได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเป็น 2 เท่า จากเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯเคยให้ ให้ทุนการศึกษาต่อไทยในวิทยาลัยทางทหารของจีนมากขึ้น และขยายการซ้อมรบร่วมกับไทย ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนกลายเป็นทางเลือกใหม่ของไทย แทนที่การพึ่งพาการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯในอดีต
นอกจากนี้ จีนมีนโยบายในเชิงรุกในการทูตภาคประชาชน หรือ public diplomacy ด้วย โดยได้เปิดประตูรับนักเรียนไทยเข้าไปศึกษาในจีน ให้ทุนการศึกษา และจัดตั้ง Confucian Center เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน และสถาบันอื่นๆ เพื่อเน้นการมีมรดกร่วมทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน
(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)