Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 4: ผลกระทบต่อเอเชีย)

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตยูเครนต่อระบบการเมืองโลกไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงผลกระทบของวิกฤตต่อเอเชีย ดังนี้

               ภาพรวม

               หลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อโลกคือ การหมุนโลกให้กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันทางทหารระหว่างมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ และการกำหนดเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               ผลกระทบดังกล่าวได้กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยอาจทำให้เอเชียกลับไปสู่ยุคสมัยของความขัดแย้งทางทหาร การถ่วงดุลอำนาจทางทหาร การบุกยึดครองและผนวกดินแดน รวมทั้งการสร้างเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               รัสเซีย

               สำหรับคำถามสำคัญคำถามแรกต่อเอเชียคือ รัสเซียจะมีท่าทีอย่างไรต่อภูมิภาคโดยเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านรัสเซียที่อยู่ในเอเชีย  อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว รัสเซียน่าจะให้ความสำคัญกับเขตอิทธิพลเดิมของตนในยุโรปตะวันออก คาบสมุทร Balkan เทือกเขา Caucasus และเอเชียกลางมากกว่า ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียจะใช้กำลังทางทหารผนวกดินแดนใดในเอเชียตะวันออก

               อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะหมู่เกาะคูริว ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด ที่รัสเซียยึดไปจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และขณะนี้ ก็ยังไม่คืนให้ญี่ปุ่น จึงเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Shinzo Abe ญี่ปุ่นได้พยายามกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่หลังจากวิกฤตยูเครน ญี่ปุ่นก็ถูกสหรัฐบีบให้มีท่าทีต่อต้านรัสเซีย โดยญี่ปุ่นไม่รับรองการผนวกคาบสมุทร Crimea ของรัสเซีย และได้ยุติการเจรจาข้อตกลงการลงทุนกับรัสเซีย กรณีพิพากหมู่เกาะคูริวก็มีแนวโน้มว่าจะปะทุขึ้นมาอีก

               รัสเซียเองก็มีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งในกรอบอาเซียน + 1 และรัสเซียก็เป็นสมาชิกในหลายกรอบของอาเซียน ทั้ง ASEAN Regional Forum (ARF)   East Asia Summit (EAS) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม อาเซียน + 8  จึงไม่มีความแน่นนอนว่า ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียจะเปลี่ยนไปอย่างไร

               นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า ประเทศในเอเชียตะวันออก จะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เหมือนกันที่ประเทศในยุโรป ก็กำลังมีแนวโน้มที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเช่นกัน

สหรัฐ

ผลกระทบอีกประการหนึ่งของวิกฤตยูเครนต่อเอเชียคือ บทบาทของสหรัฐและตะวันตกต่อเอเชียอาจเปลี่ยนไปโดยมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศตะวันตกและสหรัฐจะหันไปให้ความสำคัญต่อยุโรปตะวันออกและจะลดความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เน้นนโยบาย rebalance ต่อเอเชีย  Obama ก็เคยประกาศว่า จะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากที่สุด แต่หลังวิกฤตยูเครน ท่าทีของสหรัฐอาจเปลี่ยนไป แม้ว่าล่าสุด Obama จะเดินทางมาเยือนเอเชีย 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แล้วก็ตาม แต่การเยือนครั้งนี้ ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศในเอเชียลดความกังวลใจลงไป เพราะหลายประเทศในภูมิภาคต้องการให้สหรัฐเข้ามาเล่นบทถ่วงดุลจีน  

จีน

ดังนั้นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุด ที่อาจจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังวิกฤตยูเครนคือ จีน ประเด็นสำคัญที่มีการวิเคราะห์กับอยู่คือ การผนวก Crimea ของรัสเซียจะเป็นตัวอย่างให้จีนทำตามหรือไม่ เพราะจีนก็มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ บทเรียนสำคัญของรัสเซียคือ รัสเซียสามารถใช้กำลังทหารผนวก Crimea มาเป็นของรัสเซียได้ จีนก็อาจจะคิดว่า จีนจะเลียนแบบรัสเซียโดยใช้กำลังทหารเข้าผนวกดินแดนต่างๆ เป็นของตน โดยในกรณีของรัสเซีย ตะวันตกก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ยิ่งจะทำให้จีนได้ใจ มีนโยบายทางทหารที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น

นี่ก็อาจจะเป็นการอธิบายว่า ทำไมจีนถึงมีท่าทีสนับสนุนรัสเซียในการผนวก                Crimea จีนได้งดออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ที่ออกข้อมติประณามรัสเซีย หลังจากนั้น ปูตินก็ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อท่าทีของจีน และพยายามเน้นจุดยืนร่วมกันของรัสเซียและจีนคือ การต่อต้านตะวันตกและสหรัฐ ดังนั้น ผลกระทบสำคัญในอนาคตคือ การเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ถึงกับออกมาป้องปรามจีนว่า อย่าใช้ตัวอย่างจากรัสเซีย ในกรณีไต้หวัน กรณีพิพาทเกาะเซนกากุกับญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

               ทะเลจีนใต้

               ดังนั้น จุดอันตรายที่สุดที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูเครนคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยฝ่ายสายเหยี่ยวของจีนคงอาจได้ข้อสรุปว่า การผนวก Crimea ของรัสเซียเป็นตัวอย่างที่จีนจะใช้เป็นแบบอย่าง ในการตอกย้ำความเป็นเจ้าของของจีนในทะเลจีนใต้

               ก่อนหน้านี้ จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อปัญหาทะเลจีนใต้คือ มีการสร้างเสริมกำลังทางทหารมีการทำแผนที่ใหม่ ระบุชัดว่า ทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของจีน

               สำหรับท่าทีของอาเซียนที่ผ่านมาคือ การกดดันให้จีนเจรจาจัดทำ Code of Conduct และพยายามที่จะเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต มากกว่าการใช้กำลัง แต่จากกรณีการผนวก Crimea ของรัสเซีย ได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อาเซียนต้องการคือ กำลังทหารสำคัญกว่าการทูต และกฎหมาย กติการะหว่างประเทศไม่มีความสำคัญ จึงมีคำถามใหญ่ว่า Code of Conduct ที่อาเซียนต้องการ จะสามารถป้องปรามไม่ให้จีนใช้กำลังเข้าผนวกทะเลจีนใต้ได้หรือไม่

               กล่าวโดยสรุป วิกฤตยูเครน นอกจากจะส่งกระทบต่อระบบการเมืองโลกแล้ว ยังกำลังจะส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า แนวโน้มผลกระทบต่างๆที่ผมได้วิเคราะห์มา จะกลายเป็นจริงได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค