Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาคมเอเปก

ประชาคมเอเปค
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน - วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ผลการประชุม

• ประชาคมเอเปค
ในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งนี้ ได้มีการผลักดัน รื้อฟื้นเอเปคครั้งสำคัญ โดยที่ประชุมได้มีการตั้งเป้าการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยประชาคมเอเปคจะเน้นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ โดยจะเน้นในเรื่องของบูรณาการทางเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดเสรีทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ดังนี้
- จะมีการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงาน
- จะมีมาตรการที่จะทำให้การทำธุรกิจในภูมิภาคมีความง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และถูกลง
- จะมีการปรับปรุงกระบวนการศุลกากรให้มีความโปร่งใส
- จะมีการลดค่าใช้จ่ายในการทำการค้า รวมทั้งกำจัดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ

ที่ประชุมตั้งเป้าว่า บูรณาการทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะบรรลุให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ ที่เราเรียกว่า Bogor Goal โดยจะให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
หัวใจสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจเอเปค คือ การที่ที่ประชุมตกลงที่จะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ Free Trade Area of Asia Pacific (FTAAP)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะแก้ไขอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ ด้วยการดำเนินมาตรการภายใต้ แผนปฏิบัติการ APEC Supply-Chain Connectivity Framework Action Plan โดยตั้งเป้าว่า จะปรับปรุง supply-chain ให้ดีขึ้น 10% ภายในปี 2015 และลดค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ โดยตั้งเป้าว่า จะลดลง 25% ภายในปี 2015
• FTAAP
ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า FTAAP จะเป็นหัวใจของประชาคมเอเปค ในการประชุมสุดยอดที่โยโกฮามา ในครั้งนี้ จึงได้มีการจัดทำเอกสารแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการจัดตั้ง FTAAP ขึ้นมาต่างหาก โดยในเอกสารดังกล่าวได้บอกว่า การประชุมเอเปคปีที่แล้ว ที่สิงคโปร์ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะให้มีการสำรวจแนวทางในการจัดตั้ง FTAAP โดย FTAAP ได้รับการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2006 และได้มีการศึกษาตั้งแต่นั้นมา ที่ประชุมในครั้งนี้จึงได้เห็นตกลงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เอเปคจะต้องแปลแนวคิด FTAAP ให้เป็นจริง ให้เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตกลงที่จะจัดทำแผนการที่จะจัดตั้ง FTAAP โดยได้ตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้นด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP และเอเปคจะมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะ FTAAP ด้วยการเล่นบทบาทเป็นผู้นำในกระบวนการดังกล่าว เอเปคจะผลักดัน FTAAP โดยจะพิจารณาสาขาที่สำคัญ อาทิ การลงทุน บริการ e-commerce แหล่งกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม

• TPP
หัวใจของ FTAAP คือ การจัดตั้ง FTA ในกรอบของ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมนอกรอบ ผู้นำของ 9 ประเทศ ที่ตกลงจะเข้าร่วมในการจัดตั้ง TPP ซึ่ง 9 ประเทศนั้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรกนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการเจรจา เพื่อบรรลุถึงการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี TPP ที่ประชุมได้เน้นถึงเป้าหมายที่ TPP จะเป็นข้อตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง และจะครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ โดยมองว่า TPP เป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค และที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายว่า จะขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ซึ่งจะมีปริมาณการค้าคิดเป็น 40% ของการค้าโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่ประเทศในภูมิภาคหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค หลังจากที่ซบเซามานาน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ผมวิเคราะห์ว่า ประเทศที่อยู่เบื้องหลังการรื้อฟื้นเอเปค และการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค น่าจะเป็นสหรัฐฯ ซึ่งได้ครอบงำเอเปคมาตลอด การผลักดันเรื่องประชาคมเอเปค น่าจะเป็นการผลักดันขึ้นมาเพื่อแข่งกับประชาคมอาเซียน โดยท่าทีของสหรัฐฯ ในขณะนี้คือ ความหวาดวิตกว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และอิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลง ยุทธศาสตร์อันหนึ่งของสหรัฐฯ คือ การรื้อฟื้นเอเปค ด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งมีหัวใจคือ FTAAP และ TPP

• สำหรับภูมิหลังของ FTAAP นั้น ได้รับการผลักดันครั้งแรกในปี 2006 ในสมัยรัฐบาลบุช ในตอนนั้น ที่ประชุมไม่ได้ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ด้วยการเตะถ่วงให้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของ FTAAP ในตอนนั้น ประเทศที่สนับสนุน FTAAP ก็เป็นพวกสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนประเทศที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนคือ จีน โดยจีนต้องการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน และเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3

สหรัฐฯ หวังว่า การจัดตั้ง FTAAP จะช่วยฟื้นฟูบทบาทของเอเปค ซึ่งตกต่ำลงไปอย่างมาก และจะไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในขณะที่ กำลังมีกระแสการรวมตัวของประเทศเอเชีย ซึ่งจะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มบทบาทของเอเปค ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ผลักดัน FTAAP คือ การที่สหรัฐฯ จะใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มกันของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน+3 ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ หวาดวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงสถานการณ์การร่วมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกที่จะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป และหากอาเซียน+3 พัฒนากลายไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก จะทำให้เกิดขั้วทางด้านเศรษฐกิจการเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ อย่างมาก สหรัฐฯ จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและพยายามทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือที่ใหญ่กว่า คือ ให้เป็นส่วนหนึ่งของเอเปค

• TPP
และขณะนี้ สหรัฐฯ ก็มียุทธศาสตร์ใหม่ ในการผลักดัน TPP ที่จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวว่า จะขยายจำนวนสมาชิกของ TPP จากตอนนี้ที่มีสมาชิก 9ประเทศ ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ กำลังมีแผนอย่างชัดเจน โดยในการประชุมเอเปคครั้งนี้ มีการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรก และพอถึงปีหน้าที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย TPP ก็คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม โดยคงจะมีการลงนามในข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการ

สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะ lobby ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเข้าร่วม TPP มากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่เข้าร่วมล่าสุดประเทศที่ 9 คือ มาเลเซีย ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Naoto Kan เข้าร่วมในการประชุมสุดยอด TPP ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมในที่สุด เกาหลีใต้ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP เช่นกัน นอกจากนี้ได้มีข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังเจรจากับ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อให้เข้าร่วม TPP ด้วย

ส่วนประเทศไทยยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ได้ให้ข่าวว่า ท่าทีของไทยควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เรามีความพร้อมในทุกสาขาหรือไม่ และต้องพิจารณาถึงผลกระทบ โดย TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งอาจกระทบต่อสาขาเกษตรและภาคบริการของไทย ส่วนใน Facebook ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ขณะนี้ ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่หากประเทศสมาชิกเอเปคเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยคงต้องกำหนดท่าทีให้ชัดเจน แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานสูงของ TPP อาทิ เรื่อง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน และด้านการเงิน และบอกว่า ไทยควรติดตาม TPP อย่างใกล้ชิด ก่อนจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่

ผมมองว่า พัฒนาการในเรื่อง TPP กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยควรต้องรีบศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และรีบกำหนดจุดยืนว่า เราจะเอาอย่างไร

กล่าวโดยสรุป พัฒนาการของเอเปค กำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ดังนั้น ควรจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเปค เรื่อง FTAAP และ TPP

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลก

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตั้งกลางเทอมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mid-term election โดยเป็นการเลือกตั้ง สส. และสว.ของสหรัฐ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐ และผลกระทบต่อโลก ดังนี้

การเลือกตั้งกลางภาค
ระบบการเมืองของสหรัฐ จะมีการแยกระหว่างการเลือกตั้งฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้งฝ่ายบริหารจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุกๆ 4 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2008 และโอบามาจากพรรคเดโมแครทก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเทอมคือ 2 ปี หลังจากการรับตำแหน่งประธานาธิบดี จะมีการเลือกตั้ง กลางเทอมที่เรียกว่า mid-term election โดยจะเป็นการเลือก สส. และสว. เข้ามานั่งในสภาคองเกรส ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ

สำหรับการเลือกตั้ง mid-term ครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2010 โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคริพับลิกันได้รับชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครท โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก่อนการเลือกตั้ง เดโมแครทมีที่นั่งมากกว่าริพลับลิกันถึง 39 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งคราวนี้ ริพับลิกันชนะ และกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง โดยมีที่นั่งอยู่ 239 ที่นั่ง ในขณะที่เดโมแครทมีที่นั่งเพียง 188 ที่นั่ง ในขณะที่วุฒิสภาหรือสภา senate เดโมแครทเคยมีที่นั่งอยู่ 59 แต่จากผลการเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 53 ในขณะที่ริพลับลิกันมีสว.เพิ่มขึ้นเป็น 46 คน ซึ่งต่างกันไม่กี่ที่นั่ง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สหรัฐประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือที่เราเรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และเมื่อโอบามาได้มาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ต้นปี 2009 ชาวอมเมริกันก็หวังว่า โอบามาจะสามารถกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นและดูเหมือนจะทรุดหนักลง โดยขณะนี้ มีอัตราการว่างงานสูงเกือบ 10% ทำให้คนอเมริกันผิดหวังในการบริหารประเทศของโอบามาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูสโลแกนของโอบามาในการหาเสียง คือ คำว่า “change” แต่ 2 ปีผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นน้อยมาก

โดยปกติแล้ว การเมืองอเมริกันจะกลับไปกลับมาระหว่างแนวคิดเสรีนิยมที่สนับสนุนเดโมแครท กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนริพลับลิกัน 2 ปีที่แล้ว กระแสเสรีนิยมมาแรง และหลายฝ่ายก็คิดว่ากระแสนี้คงจะอยู่อีกนาน แต่การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ชี้ให้เห็นว่า การเมืองอเมริกันเริ่มเหวี่ยงกลับไปสู่กระแสอนุรักษ์นิยมอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการเกิดขึ้นของขบวนการที่เรียกว่า Tea Party Movement ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระแส Tea Party นี้ มีส่วนช่วยให้ริพลับลิกันได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในครั้งนี้

ผลกระทบต่อโลก
สหรัฐคือ อภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก เมื่อการเมืองภายในเปลี่ยน ย่อมกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งในที่สุด ก็จะกระทบต่อโลกโดยรวม อาจจะแบ่งผลกระทบออกได้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้

ภาพรวม
การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ได้ทำให้สถานะของโอบามาอ่อนลง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีการตัดสินใจสำคัญๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ที่โอบามาอาจจะตัดสินใจได้ยากยิ่งขึ้น เพราะจะมีสภาคองเกรสที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะคอยขัดแย้งและต่อต้านนโยบายของโอบามาอยู่ โดยเฉพาะนโยบายการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ในตะวันออกกลาง ก็มีเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ซึ่งยังไม่คืบหน้า การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาในคองเกรส จะทำให้มีเสียงเข้าข้างอิสราเอลมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การเจรจาสันติภาพยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

โอบามายังมีเวลาเหลืออีก 2 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ และโอบามาก็รู้ตัวดีว่า ความพ่ายแพ้ของเดโมแครทในการเลือกตั้ง mid-term ครั้งนี้ เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เวลาที่เหลือ 2 ปีนี้ โอบามาจะทุ่มเทให้กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจให้สำเร็จ ซึ่งจะมีลำดับความสำคัญมากที่สุด ส่วนเรื่องนโยบายต่างประเทศจะมีความสำคัญลดลง ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อโลกโดยรวม

• นโยบายต่างประเทศของสภาคองเกรส
เมื่อริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ริพับลิกันจะพยายามผลักดันแนวนโยบายต่างประเทศในแนวอนุรักษ์นิยมของตน ซึ่งจะขัดแย้งกับแนวนโยบายเสรีนิยมของโอบามามากขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงประการแรกคือ การที่ Ileana Ros-Lehtinen สส. รัฐฟลอริดา จากริพับลิกันจะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ ของสภาคองเกรส Ros-Lehtinen มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมขวาจัด จึงมีแนวโน้มว่า จะมีนโยบายเดินหน้าชนกับรัฐบาลโอบามาในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่อง

สส. จากริพับลิกันชื่อ John Boehner ก็จะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ Boehner มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน โดยได้เคยกล่าวโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาว่า เป็นการส่งออกตำแหน่งงานต่างๆ ไปให้จีน แทนที่จะสร้างงานในประเทศ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งคราวนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มฝ่ายขวาในพรรครีพับลิกันได้เริ่มพยายามรื้อฟื้นแนวนโยบายโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มมองว่า อเมริกาควรจะถอยมาจากปัญหาของโลก และควรจะกลับมาแก้ปัญหาภายในมากกว่า

โดยรวมแล้ว มีแนวโน้มว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านการต่างประเทศที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสคงมีปัญหาแน่ และสภาเองก็คงจะพยายามผลักดันกฎหมายในแนวอนุรักษ์นิยมและแข็งกร้าว แนวโน้มที่ชัดเจนคือ สภาคงจะผลักดันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มข้นมากขึ้น กฎหมายตอบโต้จีนในเรื่องค่าเงินหยวน มาตรการลงโทษประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐ เช่น คิวบา เกาหลีเหนือ และซีเรีย แผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานก็คงจะได้รับการต่อต้านจากสภา กฎหมายที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน สนธิสัญญาในการลดอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย และสนธิสัญญาการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงเหล่านี้ต้องผ่านการอนุมัติจากสภา แต่คงจะได้รับการต่อต้านจากสภาคองเกรสอย่างแน่นอน

ในด้านงบประมาณนั้น ก็เป็นไปได้ว่า ริพับลิกันคงจะใช้สภาคองเกรสในการตัดงบประมาณในการช่วยเหลือต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะไปเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ริพับลิกันให้ความสำคัญมาโดยตลอด

• นโยบายการค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 พรรคคงจะมีความขัดแย้งในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่องข้างต้น แต่ผมมองว่า ในประเด็นเรื่องนโยบายการค้านั้น การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส อาจจะมีผลในทางบวกต่อโลก เพราะโดยพื้นฐานแล้ว พรรคริพับลิกันจะสนับสนุนการค้าเสรีและการจัดทำ FTA ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสคงจะหันมาให้การสนับสนุน FTA สหรัฐกับประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยที่จะมีผลกระทบต่อเอเชีย ก็จะมี FTA กับเกาหลีใต้ ซึ่งยังค้างอยู่ในสภา และสภาคองเกรสก็คงจะสนับสนุนเต็มที่ในการเดินหน้าเจรจา FTA ในกรอบ Trans Pacific Partnership หรือ TPP

• นโยบายต่อจีน
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจับตามอง ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในครั้งนี้คือ นโยบายสหรัฐต่อจีน ซึ่งภายใต้สภาคองเกรสที่มีริพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีแนวโน้มจะขัดแย้งกับจีนหนักขึ้น โดยเฉพาะ Ros-Lehtinen ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ก็มีแนวคิดต่อต้านจีน โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Ros-Lehtinen ได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรจีน ด้วยเหตุที่จีนได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยบริษัทจีนได้เข้าไปลงทุนในอิหร่าน และสภาคองเกรสก็คงจะกดดันหนักขึ้น ในเรื่องการบีบให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ดังนั้น แนวโน้มคือ ในอนาคต ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐคงมีแนวโน้มเสื่อมทรามลง

อีกเรื่องที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐเสื่อมทรามลง อาจจะมาจากเหตุผลที่ว่า การที่เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้ง mid-term ในครั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า โอบามาจะต้องมีนโยบายในเชิงรุกในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายกดดันจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวน เป็นต้น

• นโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์คือ ผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ริพับลิกันมีแนวนโยบายต่อต้านจีน การที่สหรัฐเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สภาคองเกรสคงจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อไป ในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องพม่า สส. ริพับลิกันหลายคนมีแนวนโยบายสายเหยี่ยวที่ต้องการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรพม่าแทนที่จะปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น ในภาพรวมแนวโน้มอาจจะมีทั้งแนวโน้มที่เป็นไปในเชิงบวกและเชิงลบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ASEAN Connectivity
ไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity หรือแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่มาของแนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity นี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2009 โดยมองว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 นั้น ประชาคมอาเซียนจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ใน Master Plan ได้มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ สำหรับช่วงปี 2011 ถึง 2015 เพื่อเชื่อมอาเซียนใน 3 ด้าน ด้านแรกเรียกว่า physical connectivity คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ ด้านที่ 2 institutional connectivity เป็นการเชื่อมโยงกันทางสถาบัน และด้านที่ 3 people-to-people connectivity คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน

สำหรับในด้าน physical connectivity นั้น อุปสรรคสำคัญคือ เส้นทางคมนาคม เครือข่ายถนนที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงเส้นทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือและสนามบิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศด้วย ดังนั้น ในแผนแม่บทจึงได้มีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นในเรื่องของการจัดสร้างระบบคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สำหรับโครงการสำคัญคือ การจัดทำเครือข่าย ASEAN Highway Network และการจัดทำเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ถึงคุนหมิง

สำหรับในด้าน institutional connectivity นั้น มีอุปสรรคในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน อาเซียนจึงจะต้องมีการจัดการกับอุปสรรคที่มิใช่ภาษี และจัดทำข้อตกลงในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการขนส่ง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า physical connectivity นั้น เน้นในเรื่องของ hard infrastructure ส่วน institutional connectivity นั้นเน้น soft infrastructure

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การจัดทำ Master Plan ในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าและเป็นความสำเร็จในการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 และถือเป็นไฮไลท์และความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด ไทยเป็นคนที่ริเริ่มและผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ตอกย้ำ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเน้นดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ด้าน ด้านแรกคือ การเร่งบูรณาการของอาเซียน เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนมีความเข้มข้น และอาเซียนจะได้เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมได้ ด้านที่ 2 เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคในกรอบต่างๆ ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน+3 EAS ARF และ ADMM Plus

สำหรับในกรอบอาเซียน+1 นั้น ในการประชุมครั้งนี้ มีความสำเร็จและความคืบหน้าหลายด้านกับประเทศคู่เจรจา โดยได้มีการประชุมสุดยอดและข้อตกลงหลายเรื่องกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่

• ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียขึ้น ในวันที่ 30 ตุลาคม
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนนั้น ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแปลงปฏิญญาร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะครอบคลุมช่วงปี 2011-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ สำหรับหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย สำหรับปี 2010-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับปฏิญญาโตเกียวในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย นอกจากนั้น ได้มีการจัดประชุม Mekong-Japan Summit เป็นครั้งที่ 2 ด้วย
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี มีการจัดทำปฏิญญาร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
• ในวันที่ 30 ตุลาคม ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2
• ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนกันยายน

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำว่า อาเซียน+3 จะยังคงเป็นกลไกหลักในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายระยะยาว

สำหรับในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS นั้น ที่ประชุมได้เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมครั้งนี้ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เข้าร่วมประชุม EAS ด้วย
ผมมองว่า จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า อาเซียนได้เดินหน้าในการที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยได้มีความเคลื่อนไหวและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่าเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็ให้ความสนใจว่า อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อการที่พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เมื่อดูจากเอกสารผลการประชุม พอคาดเดาได้ว่า อาเซียนคงจะมีถ้อยคำที่ประนีประนอม ซึ่งผลการประชุมก็ออกมาในทำนองนี้ คือ อาเซียนยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่จะให้มีการเลือกตั้ง และขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเน้นว่า พม่าควรจะร่วมมือกับอาเซียนและ UN ต่อไป จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำของเอกสารการประชุม ภาษาที่ใช้ค่อนข้างจะอ่อนมาก และไม่ได้มีการกดดันพม่าแต่อย่างใด

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในการประชุมครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือหมู่เกาะ สแปรตลีย์ ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมา ในช่วงเดือนกรกฎาคมในการประชุม ASEAN Regional Forum โดยสหรัฐได้เป็นคนจุดชนวนประเด็นนี้ขึ้นมา และทำให้จีนไม่พอใจประกาศซ้อมรบและทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของฝ่ายต่างๆ คือ ต้องการที่จะลดความตึงเครียดในเรื่องนี้ลง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเจรจา ในเอกสารผลการประชุม อาเซียนได้ตอกย้ำความสำคัญของปฏิญญาในการแก้ปัญหานี้ ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่ได้ลงนามกันไปเมื่อปี 2002 และอาเซียนหวังว่า ทุกฝ่ายจะยึดมั่นในปฏิญญาดังกล่าว และเดินหน้าสู่การจัดทำ code of conduct ในการแก้ไขปัญหานี้ อาเซียนรู้สึกยินดีต่อแนวโน้มในทางบวกระหว่างอาเซียนกับจีน เพราะกำลังจะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับจีนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอด EAS Hillary Clinton ได้เดินหน้าต่อ ในการจุดประเด็นความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดย Clintonได้ย้ำว่า ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องนี้ สหรัฐก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธีด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม Clinton ได้กล่าวในเชิงบวกว่า เห็นด้วยที่จีนกำลังจะเจรจากับอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจา code of conduct และสหรัฐก็ได้แสดงจุดยืนว่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า สหรัฐยังคงพยายามเดินหน้าเปิดประเด็นในเรื่องนี้ต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นจุดอ่อนของจีน และจะเป็นจุดที่สหรัฐจะเข้ามาเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว อาเซียนก็ไม่อยากให้ปัญหานี้บานปลาย ต้องการให้ความตึงเครียดลดลง จีนเองก็คงไม่อยากจะให้เกิดความตึงเครียดมากไปกว่านี้ จึงยอมที่จะกลับมาเจรจากับอาเซียน

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐฯ ต่อเอเชีย

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่ฮาวาย ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

สุนทรพจน์ของ Hillary Clinton
สุนทรพจน์ดังกล่าว มีหัวข้อว่า “America’s Engagement in the Asia – Pacific” ในตอนแรก Clinton ได้เน้นว่า เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การเป็นผู้นำของสหรัฐ Clinton ได้ใช้คำใหม่ สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ว่า “forward deployed diplomacy” ซึ่งน่าจะแปลว่า การทูตในเชิงรุก โดยจะมีการใช้เครื่องมือทางการทูตในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียจะเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นอันดับแรก อันดับสองเป็นความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ และอันดับสามจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาค

สำหรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนั้น สหรัฐจะเน้นพันธมิตรทั้ง 5 คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งพันธมิตรทั้ง 5 จะเป็นเสาหลักของนโยบายสหรัฐ โดยสหรัฐจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น สำหรับญี่ปุ่นเพิ่งครบรอบ 50 ปี ของสนธิสัญญาความร่วมมือทางความมั่นคง ส่วนเกาหลี ปีนี้ครบรอบ 60 ปีของสงครามเกาหลี ปีหน้าก็จะครบรอบ 60 ปี พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย ส่วนพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทยและฟิลิปปินส์นั้น สหรัฐจะร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

สำหรับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ นั้น อินโดนีเซียกำลังเล่นบทบาทนำในภูมิภาค ในปีหน้าจะเป็นประธานอาเซียน ในเดือนหน้า โอบามาจะเดินทางไปอินโดนีเซีย และจะมีการลงนามในข้อตกลง Comprehensive Partnership Agreement อีกประเทศที่สำคัญคือ เวียดนาม ความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น และขณะนี้ความร่วมมือได้ขยายไปสู่ด้านความมั่นคงทางทะเล และด้านการป้องกันประเทศ ส่วนสิงคโปร์ก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำอาเซียน และมีบทบาทในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกรอบใหม่ที่เรียกว่า Trans Pacific Partnership หรือ TPP

สำหรับมหาอำนาจที่สำคัญในภูมิภาคคือ อินเดียและจีน สำหรับความสัมพันธ์กับอินเดียนั้น ถือว่ากำลังได้รับการยกระดับ ที่เรียกว่า U.S. – India Strategic Dialogue โอบามากำลังจะเดินทางไปเยือนอินเดีย สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้นมีความซับซ้อน แต่จะไม่เป็นประโยชน์หากสหรัฐกับจีนเป็นศัตรูกัน ดังนั้น สหรัฐพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกและร่วมมือกับจีน หลายคนในจีนอาจจะมองว่าสหรัฐกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่ Clinton ก็เน้นว่าสหรัฐไม่มีนโยบายเช่นนั้น

สำหรับบทบาทของสหรัฐในเวทีพหุภาคีนั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐอย่างแข็งกร้าวว่า หากในเวทีไหนมีการหารือกันและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐจะต้องมีส่วนและมีที่นั่งในเวทีนั้น Clinton ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาเซียนซึงกระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก อีกเวทีที่สำคัญคือ เอเปค ซึ่งสหรัฐพยายามที่จะทำให้เอเปคกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดในปีหน้า นอกจากนี้ สหรัฐยังมีนโยบายในการเสริมสร้างเวทีในระดับอนุภูมิภาค หรือที่ Clinton ใช้คำว่า mini-laterals ตัวย่างสำคัญคือ เวที Lower Mekong Initiative

สำหรับเวที East Asia Summit หรือ EAS นั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐต่อเวที EAS ว่า สหรัฐเห็นด้วยที่อาเซียนจะมีบทบาทนำ แต่สหรัฐต้องการให้ EAS เป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะในประเด็นด้านยุทธศาสตร์และการเมือง ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่อง การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และความมั่นคงทางทะเล

ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐกับพันธมิตร หุ้นส่วน และเวทีในภูมิภาคนั้น จะมีสหรัฐเล่นบทบาทนำใน 3 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน

สำหรับในด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายของสหรัฐคือ การขยายการส่งออกและการลงทุนในภูมิภาค สหรัฐจะดำเนินนโยบายผ่านทางเอเปค G20 และความสัมพันธ์ทวิภาคี ในการเปิดตลาด และสร้างความโปร่งใส แต่ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐน่าจะอยู่ที่การผลักดัน Trans Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้ง FTA ซึ่งขณะนี้มี 9 ประเทศเข้าร่วม และในอนาคตจะมีการขยายสมาชิกออกไปเรื่อยๆ

สำหรับทางด้านความมั่นคง ขณะนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐกำลังจัดทำเอกสารสำคัญเรียกว่า Global Posture Review ซึ่งจะมีการกำหนดแผนการคงกองกำลังทหารของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป โดย Clinton เน้นว่า สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเพิ่มบทบาทให้เกาะกวมเป็นฐานทัพทางทหารที่สำคัญ นอกจากนี้ สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในความร่วมมือด้านทหาร สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐจะเพิ่มบทบาทกองทัพเรือในสิงคโปร์ และจะปฏิสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มมากขึ้นกับฟิลิปปินส์และไทย สำหรับออสเตรเลียก็จะมีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน และสหรัฐได้มีความร่วมมือกับกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

สำหรับด้านสิทธิมนุษยชน Clinton ได้เน้นโจมตีรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และได้บอกว่า เอเชียขณะนี้ มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ 3 คน แต่ทั้ง 3 คน ถูกจับกุมหรือไม่ก็ต้องลี้ภัย 3 คนนั้น คือ อองซาน ซูจี ดาไล ลามะ และ Liu Xiaobo ดังนั้น ในการปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่มีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน สหรัฐจะพยายามกระตุ้นให้มีการปฏิรูป ในตอนท้าย Clinton ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งในพม่าจะไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

บทวิเคราะห์
• สุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียของ Clinton ในครั้งนี้ ดูคร่าวๆ แล้ว อาจจะดูเหมือนเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมีการใช้คำใหม่ว่า forward deployed diplomacy แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรใหม่ คือมีลักษณะเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เสียมากกว่า เมื่อวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Clinton แล้วก็เห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐไม่เคยเปลี่ยนคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า Clinton พูดคำว่า leadership หลายครั้ง โดยเน้นว่า สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงแม้ Clinton จะปฏิเสธ แต่ผมเชื่อว่า ลึกๆ แล้วสหรัฐมียุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีน โดยเฉพาะทางทหาร นอกจากนี้ สหรัฐมียุทธศาสตร์ที่จะต้องป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ Clinton ประกาศก็เป็นไปตามบทวิเคราะห์ของผม ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากรูปข้างล่างนี้

• แต่ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นแนวโน้มเกิดขึ้นชัดเจนในเรื่องบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคคือ นโยบายในเชิงรุกของสหรัฐ โดยเฉพาะในปีนี้ เราเห็นสหรัฐ active มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคี สหรัฐก็กำลังรุกหนัก โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินโดจีน ในเวทีพหุภาคี สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ กับอาเซียน และรีบกระโดดเข้าร่วมในเวที EAS และประชุมสุดยอดกับอาเซียนไปแล้ว 2 ครั้ง ส่งทูตไปประจำอาเซียน รัฐมนตรีกลาโหมก็เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 เช่นเดียวกับเวทีเอเปค สหรัฐก็กำลังรุกหนักในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP ทางด้านการทหาร สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ อาทิ การซ้อมรบในทะเลเหลือง และการจุดประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จะเห็นได้ว่า สหรัฐ ขณะนี้กำลัง active มาก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งทั้งรัฐบาลไทยและภาควิชาการของไทย ที่จะต้องติดตามวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และเราจะต้องตามให้ทันว่า สหรัฐกำลังทำอะไร เวลาสหรัฐจะรุก จะรุกหนักมาก จนเราอาจจะตามไม่ทัน ตั้งรับไม่ทัน ตามเกมไม่ทัน ไทยคงจะต้องเตรียมตั้งรับให้ดี กับการรุกหนักของสหรัฐต่อภูมิภาคในอนาคต

• สำหรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐทางด้านเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่จะต้องจับตามองและต้องวิเคราะห์กันให้ดีคือ การที่สหรัฐพยายามจะผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุด ในตอนแรกมีแค่ 6 ประเทศ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 9 ประเทศแล้ว โดยประเทศที่ 9 ที่เข้าร่วมคือ มาเลเซีย ดังนั้น คำถามสำคัญในแง่ของไทยคือ ท่าทีของไทยจะเป็นอย่างไร ไทยควรที่จะเข้าร่วม TPP หรือไม่ จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่เกาหลี

ผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่เกาหลี
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G20 ที่เมือง Gyeongju เกาหลีใต้ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด G20 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

การปฏิรูป IMF
ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ การตกลงในเรื่องการปฏิรูป IMF โดยเฉพาะการปฏิรูปโควตาสัดส่วนอำนาจในการลงคะแนนเสียง ซึ่งจะทำให้ IMF มีความชอบธรรมมากขึ้น โดยที่ประชุมได้เพิ่มโควตา 6%ให้กับประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายว่า จะมีการทบทวนสูตรสัดส่วนอำนาจการลงคะแนนเสียงเพื่อสะท้อนบทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคมปี 2013

ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF คือ Dominique Strauss-Kahn ชาวเยอรมัน ได้กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดของ IMF โดยให้ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เช่น จีนและอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น Kahn ได้แถลงว่า ได้มีการปฏิรูปจำนวนสมาชิกในบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารของ IMF ซึ่งมี 24 คน ยุโรปได้ยอมสละที่นั่ง 2 ที่นั่ง ให้กับประเทศกำลังพัฒนา Kahn ได้กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปในครั้งนี้ทำให้ IMF มีความชอบธรรม และบอร์ดก็สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การปฏิรูป IMF ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีเรื่องต้องปฏิรูปกันอีกมาก เพราะจริงๆ แล้ว ข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนาได้เสนอให้เพิ่มโควตา 10% แต่ที่ประชุมสุดยอด G20 ที่ Pittsburgh เมื่อปีที่แล้ว ตกลงให้เพิ่มเพียง 2.5% การประชุมครั้งนี้ ตกลงให้เพิ่มเป็น 6% ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ โดยภาพรวม ตะวันตกยังครอบงำ IMF และธนาคารโลกอยู่ สหรัฐมีโควตาถึง 20% และยุโรปมีเกือบ 30% นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF ก็เป็นชาวยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ ประธานธนาคารโลกก็เป็นชาวอเมริกันมาโดยตลอด

ดุลบัญชีเดินสะพัด
อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่การประชุมครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

เรื่องแรกคือ ข้อเสนอของสหรัฐ ที่จะให้มีการกำหนดเพดานมูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัด โดยสหรัฐได้เสนอที่จะให้ประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้ไม่เกิน 4% ของ GDP ซึ่งสหรัฐอ้างว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นไปตามข้อตกลงของ G20 ที่ต้องการปรับเศรษฐกิจโลกให้มีความสมดุล โดยให้ประเทศที่เกินดุลนั้น โดยเฉพาะจีน ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ จากการเน้นการส่งออกมาเป็นเน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคือ Timothy Geithner กล่าวว่า ประเทศที่ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายมากระตุ้นอุปสงค์ภายใน และประเทศที่มีค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง จะต้องปรับค่าเงินของตน IMF ได้ประเมินว่า ภายในปี 2015 จีนจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ถึง 7.8%

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐได้รับการต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ อาทิ เยอรมนี รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น
โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียมองว่า สหรัฐต้องการผลักดันเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะกดดันจีน แต่ไม่คิดว่า สหรัฐจะประสบความสำเร็จ โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียโจมตีสหรัฐว่า กดดันประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากความล้มเหลวของนโยบายสหรัฐเอง นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นคือ Yoshihiko Noda ก็แสดงความเห็นว่า การตั้งเป้าหมายเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐเสนอนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก

อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐแต่เป็นเสียงข้างน้อยคือ แคนาดาและออสเตรเลีย แต่ในที่สุด ผลการประชุมก็ออกมาคือ ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐ

ระบบอัตราและเปลี่ยน
อีกเรื่องที่การประชุมในครั้งนี้ประสบความล้มเหลวคือ การกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐกดดันจีนทั้งในเวทีทวิภาคีและพหุภาคี โดยสหรัฐมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน สหรัฐได้กดดันจีนในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จีนได้ประกาศจะปรับค่าเงินหยวน แต่มาถึงปัจจุบัน เงินหยวนก็เพิ่มค่าเพียง 2%

โดยทางจีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ โดยบอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และปฏิเสธว่า จีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน และสหรัฐอย่าเอาค่าเงินหยวนของจีนมาเป็น “แพะรับบาป” สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ

ก่อนการประชุม G20 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ประเทศสมาชิก G20 จะร่วมกันกดดันให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จากผลการประชุมที่ออกมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยในเอกสารผลการประชุมมีแต่เพียงข้อความกว้างๆ ว่า “ที่ประชุมจะผลักดันให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น และจะป้องกันไม่ให้มีการแข่งกันลดค่าเงิน โดยประเทศที่มีเงินทุนสำรองควรจะมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนของตน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”

จะเห็นได้ว่า ข้อความในเอกสารผลการประชุมไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนเลย ถึงแม้ว่า จะได้มีการพบปะหารือแบบทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐกับรองนายกรัฐมนตรีจีน แต่ผลการประชุมทวิภาคี ก็ออกมาในลักษณะที่ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ทางฝ่ายสหรัฐเพียงแต่แถลงว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเจรจาและความพยายามของสหรัฐในการกดดันจีนในเรื่องนี้