Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อเอเชียปี 2010

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อเอเชียปี 2010
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 25 วันศุกร์ที่ 12-วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ Kurt Campbell อธิบดีกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายของสหรัฐฯ ต่อเอเชียที่สภาคองเกรส ผมมองว่า การแถลงครั้งนี้ เป็นการประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะสรุปและวิเคราะห์คำแถลงดังกล่าวดังนี้

การทูตปฏิสัมพันธ์

ในตอนเริ่มต้น Campbell ได้กล่าวสรุปการทูตปฏิสัมพันธ์สหรัฐฯต่อเอเชียในสมัยรัฐบาล Obama ดังนี้
เรื่องแรก คือการปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคด้วยการเยือนในระดับสูง โดยเริ่มจาก Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากรับตำแหน่ง ได้เดินทางมาเยือนเอเชียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 โดยได้เดินทางไปเยือนสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาด้วย ต่อมา Hillary Clinton ได้เดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งที่สอง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมประชุม ARF ที่ภูเก็ต

ต่อมาประธานาธิบดี Obama ได้เดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยได้แวะเยือน 4 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ สำหรับที่สิงคโปร์ Obama ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอด APEC ครั้งที่ 17 และประชุมสุดยอดสหรัฐฯกับอาเซียนเป็นครั้งแรก และในปลายเดือนมีนาคมนี้ Obama จะเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งที่สอง โดยจะเยือนเกาะกวมอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

สำหรับการทูตปฏิสัมพันธ์กับพม่านั้น ได้มีการกำหนดนโยบายใหม่ต่อพม่า ซึ่งเรียกว่า pragmatic engagement โดยได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า แต่ขณะเดียวกัน ก็จะยังคงมาตรการคว่ำบาตรอยู่ จนกว่ารัฐบาลพม่าจะปรับเปลี่ยนนโยบาย Campbell ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีพม่า รวมทั้งกับนางออง ซาน
ซูจีด้วย

กรอบยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์

หลังจากนั้น Campbell ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์และนโยบายต่อเอเชียในอนาคต ซึ่งจะมียุทธศาสตร์อยู่ 4 เรื่องใหญ่ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือยุทธศาสตร์ต่อพันธมิตร ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดต่อสหรัฐฯในภูมิภาคคือความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรทั้ง 5 จะเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯในภูมิภาคโดยแกนหลักของพันธมิตรจะยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงด้านการทหาร ดังนั้น การซ้อมรบร่วมระหว่างพันธมิตร อาทิ การซ้อมรบร่วม Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงเป็นตัวอย่างของความสำคัญของพันธมิตร

Campbell กล่าวต่อไปว่า ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงด้านการทหาร มีความสำคัญเพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจยังคงมีอยู่ สหรัฐฯจึงต้องคงกองกำลังทหารในภูมิภาคนี้ไว้ ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นหลักประกันสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

โดยเฉพาะพันธมิตรกับญี่ปุ่น จะเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์เช่นเดียวกับพันธมิตรกับเกาหลีใต้ ซึ่งสหรัฐฯจะยังคงยึดมั่นที่จะปกป้องคุ้มครองเกาหลีใต้ และจะยังคงกองกำลังทหารในคาบสมุทรเกาหลีต่อไป

สำหรับในประเด็นเกาหลีเหนือนั้น ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ใช้การเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ แต่ในปี 2009 เกาหลีเหนือได้ยุติการเจรจาและได้เดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธ และทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือใหม่ ด้วยการเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้ส่งทูต Stephen Bosworth เป็นผู้แทนพิเศษไปเจรจากับเกาหลีเหนือ ในการเจรจา เกาหลีเหนือยอมรับความสำคัญของการเจรจา 6 ฝ่าย และแถลงการณ์ร่วมเดือนกันยายน 2005 ที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือยังไม่ตกลงใจว่า จะกลับคืนสู่การเจรจา 6 ฝ่ายเมื่อไร

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 คือยุทธศาสตร์ต่อจีน โดย Campbell กล่าวว่า จีนกับสหรัฐฯมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสทางทหาร เมื่อเร็วๆนี้ จีนได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐฯจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน รวมทั้งการที่ดาไลลามะได้พบกับทั้ง Obama และ Clinton อย่างไรก็ตาม จุดยืนของสหรัฐฯคือ สหรัฐฯจะแสวงหาความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็จะหนักแน่นในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดย Campbell กล่าวว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศอาเซียนก็เป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของสหรัฐฯต่อการค้ารวมในภูมิภาคได้ลดลง 3 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และนี่ก็คือเหตุผลที่สหรัฐฯกำลังเดินหน้าผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีในกรอบใหม่ที่เรียกว่า Trans – Pacific Partnership (TPP) โดยสหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ที่จะใช้ TPP เป็นจุดเริ่มต้นของบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้ายคือยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดย Campbell ได้บอกว่า ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มของการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาคและบูรณาการในภูมิภาค อาทิ ASEAN , ASEAN Regional Forum (ARF) และ East Asia Summit (EAS) โดยสหรัฐฯกำลังพิจารณาอยู่ว่า สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์กับสถาบันเหล่านี้อย่างไร โดยเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ Hillary Clinton ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยสหรัฐฯเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นเสาหลักของสถาปัตยกรรม สหรัฐฯได้เน้นย้ำหลายครั้งว่าสถาบันในภูมิภาคจะต้องมีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย โดยในตอนท้าย Campbell ได้กล่าวย้ำว่า สถาบันในหรือสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯจะต้องเป็นผู้เล่นสำคัญ และจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ดู สหรัฐฯเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ไม่ใช่ประเทศผู้มาเยือน ดังนั้น สหรัฐฯจะต้องเล่นบทบาทเป็นผู้นำในวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

บทวิเคราะห์

ผมมองว่า คำกล่าวของ Campbell เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาค ที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ได้ออกมากล่าวหลายครั้ง แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากคำกล่าวและสุนทรพจน์ก็คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯต่อภูมิภาค

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้คือยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า คือทำอย่างไรที่จะให้สหรัฐฯครอบงำโลกและภูมิภาคต่อไป
อีกยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้ คือยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของจีน หรือที่เรียกง่ายๆว่ายุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้คือ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศในเอเชียไม่ให้รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์ข้างต้นโดยผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี ช่องทางทวิภาคีคือ การใช้ยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือเป็นดุมล้อ และมีพันธมิตรเป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ดำเนินยุทธศาสตร์ผ่านช่องทางพหุพาคีต่างๆ อาทิ APEC ,Trans – Pacific Partnership (TPP) , Lower Mekong Initiative, การเจรจา 6 ฝ่าย และการเจรจา 3 ฝ่าย เป็นต้น