Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Bill Clinton กับวิกฤตเกาหลีเหนือ

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 14 - วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2552

Bill Clinton กับวิกฤตเกาหลีเหนือ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีข่าวคึกโครมไปทั่วโลก จากการเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ ของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton โดยการไปครั้งนี้ เพื่อไปเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อขอให้ปล่อยตัวนักข่าวอเมริกัน 2 คน ที่ถูกจับไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ในขณะที่กำลังทำข่าวอยู่ตรงพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน ต่อมา นักข่าวทั้ง 2 คนได้ถูกตัดสินจำคุกถึง 12 ปีในข้อหาที่เข้ามาในเกาหลีเหนือโดยผิดกฎหมาย ทางรัฐบาลสหรัฐได้เจรจาต่อรองมานาน จนในที่สุด ได้มีเงื่อนไขมาจากทางเกาหลีเหนือ ให้ Bill Clinton เดินทางไปพบ Kim Jong Il ผู้นำเกาหลีเหนือ หลังจากที่ Bill Clinton ได้เดินทางไปเกาหลีเหนือ และได้หารือกับ Kim Jong Il เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง และได้ร่วมรับประทานอาหารกับผู้นำเกาหลีเหนือเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น ทางเกาหลีเหนือจึงได้ปล่อยตัวนักข่าวทั้ง 2 คนเดินทางกลับสหรัฐพร้อม Bill Clinton

ไม่มีใครรู้แน่ว่า Bill Clinton ได้หารือกับผู้นำเกาหลีเหนือในเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ซึ่งหากมีการคุยกันในเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ว่า Bill Clinton คงจะเรียกร้องให้เกาหลีเหนือ หันกลับมาเจรจาในกรอบการประชุม 6 ฝ่าย สำหรับในเรื่องการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือนั้น ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ในอดีต สหรัฐปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเหตุผลอันหนึ่งที่ปฏิเสธการเจรจา 2 ฝ่ายกับเกาหลีเหนือคือ การที่เกาหลีเหนือมีประวัติที่ละเมิดข้อตกลงมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่นในปี 1994 ได้มีข้อตกลง 2 ฝ่ายระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ที่เรียกว่า Framework Agreement ที่ให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ แต่ในที่สุด ก็ได้ค้นพบว่า เกาหลีเหนือได้แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายเกาหลีเหนือก็ได้ประโคมข่าวการเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton อย่างเต็มที่ โดยสำนักข่าวของเกาหลีเหนือได้รายงานข่าวว่า Bill Clinton กับผู้นำเกาหลีเหนือ ได้มีการหารือกัน โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาเกาหลีเหนือกับสหรัฐ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความจริงใจ และทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะต้องหาหนทางการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ระหว่างประเทศทั้งสอง

ท่าทีของรัฐบาล Obama
ต่อมา ภายหลังจากที่ Bill Clinton ได้เดินทางกลับสหรัฐพร้อมนักข่าวทั้ง 2 คน รัฐบาล Obama ก็ได้พยายามส่งสัญญาณไปยังเกาหลีเหนือว่า ท่าทีของสหรัฐไม่เปลี่ยนแปลง
โดยประธานาธิบดี Obama ได้แสดงความยินดีต่อการกลับมาของนักข่าวทั้ง 2 แต่ก็ได้กล่าวว่า ภารกิจของ Bill Clinton ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐและพันธมิตร ที่ต้องการให้เกาหลีเหนือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากเกาหลีเหนือต้องการพ้นจากสภาพการถูกโดดเดี่ยว

เจ้าหน้าที่สหรัฐได้กล่าวย้ำว่า สหรัฐไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะยังคงเน้นมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้น และเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย ทั้งนี้บนเงื่อนไขที่ว่า เกาหลีเหนือจะต้องยอมยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน
ต่อมานาง Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ตอกย้ำจุดยืนของประธานาธิบดี Obama โดยทางสหรัฐจะไม่ยอมให้ผู้นำเกาหลีเหนือ ใช้โอกาสจากการเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton ในการสร้างความได้เปรียบในการเจรจากับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ต่อมาในการให้สัมภาษณ์ CNN Hillary Clinton ดูจะมีท่าทีเปลี่ยนไป โดยกล่าวว่า เป็นไปได้ว่า การเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton น่าจะทำให้เกาหลีเหนืออยากจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐ

ต่อมา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของ Obama คือ นายพล Jim Jones ได้ออกมาให้ทรรศนะในเชิงบวกเช่นกัน โดยกล่าวว่า เขาหวังว่า การเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton ในครั้งนี้ ในที่สุด อาจจะนำไปสู่ความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐดูเหมือนว่าจะพยายามส่งสัญญาณทั้งบวกและลบ โดยโฆษกทำเนียบขาว Robert Gibbs กลับกล่าวในเชิงลบว่า นโยบายของสหรัฐยังไม่เปลี่ยนแปลง และว่าสหรัฐต้องการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า เกาหลีเหนือจะไม่แพร่ขยายอาวุธร้ายแรงออกไป
นอกจากนี้ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล Democrat คือพรรค Republican และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีแนวอุดมการณ์สายเหยี่ยว ได้ออกมาโจมตีการไปเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า การกระทำของ Bill Clinton เท่ากับเป็นการยอมให้กับข้อเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย และเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการจับตัวชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นในอนาคต

แนวโน้ม
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐจะออกมาตอกย้ำนโยบายเดิม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐน่าจะกำลังวิเคราะห์ว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือกำลังจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐน่าจะกำลังประเมิน จากข้อมูลที่ได้จาก Bill Clinton จากการหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อดูว่ามีการส่งสัญญาณทางการทูตอย่างไรบ้างจาก Kim Jong Il และคงจะมีการประเมิน จาก Bill Clinton ด้วยว่า สุขภาพของ Kim Jong Il เป็นอย่างไร เพราะได้มีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆว่า Kim Jong Il กำลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพและมีปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ

เห็นได้ชัดว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ มีความเคลื่อนไหวทางการทูตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากทางสหรัฐ เห็นได้จากตอนที่ Hillary Clinton มาประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต Hillary ได้กล่าวเน้นถึงปัญหาเกาหลีเหนือหลายครั้ง ถึงกับมีการโต้คารมกันอย่างดุเดือดกับผู้แทนเกาหลีเหนือในการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ด้วย
แต่ในที่สุด ผมมองว่า กุญแจสำคัญของการแก้วิกฤตเกาหลีเหนือ คือจะต้องมีการเจรจา 2 ฝ่ายระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ตามที่เกาหลีเหนือต้องการ คือไม่ใช่มีแต่การเจรจา 6 ฝ่ายเท่านั้น โดยสหรัฐคงจะต้องยอมเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งให้หลักประกันความมั่นคง คือสหรัฐต้องไม่ขู่ว่าจะโจมตีหรือโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่ประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ในขณะนี้คือ สหรัฐตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือจะต้องประกาศยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แล้วจึงจะค่อยเจรจากัน ในขณะที่เกาหลีเหนือก็บอกว่า จะต้องเจรจากันก่อน ก่อนที่จะไปพูดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์

Hillary Clinton เยือนไทย

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 31 กรกฏคม - วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552

Hillary Clinton เยือนไทย
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การเยือนไทยของ Hillary ดังนี้

ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ
เมื่อ Hillary มาถึงไทยในวันที่ 21 กรกฎาคม ภารกิจแรกคือ เข้าพบและหารือกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในระหว่างการหารือ นายกอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และถึงแม้ขณะนี้โลกกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ นายกอภิสิทธิ์ยังได้หารือกับนาง Hillary ถึงเรื่องปัญหาการค้า โดยเน้นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและไทยควรจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าคือ GSP ต่อไป สำหรับในฐานะประธานอาเซียน นายกอภิสิทธิ์กล่าวแสดงความยินดีที่สหรัฐตัดสินใจที่จะภาคยานุวัติหรือให้การรับรองต่อสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น

ในส่วนของ Hillary ได้กล่าวว่า สหรัฐต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ เป็นประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเหนือสิ่งอื่นใด คือเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนานถึง 175 ปี Hillary ได้ใช้ภาษาดอกไม้ ยาหอมประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยบอกว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เล่นบทบาทสำคัญในการจัดประชุมอาเซียนและผลักดันจุดยืนในเชิงสร้างสรรค์ต่อปัญหาในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาพม่าและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ Hillary ยังกล่าวถึงพันธมิตรทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยกล่าวถึงการซ้อมรบ COBRA GOLD และการที่ไทยสนับสนุนทหารสหรัฐนั้น ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหารสหรัฐทั่วโลก

อาเซียน – สหรัฐ
ต่อมาในวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม Hillary ได้เดินทางไปประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต และในการแถลงข่าวที่ภูเก็ต Hillary บอกว่า การเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค Hillary กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐได้หวนคืนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว สหรัฐเห็นว่า ภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของโลก Hillary ประกาศว่า จะลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน และสหรัฐกำลังจะส่งทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียน มาประจำอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาด้วย ซึ่งจะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่ส่งทูตมาประจำที่อาเซียน

Hillary บอกว่า มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของสหรัฐ เพราะภูมิภาคอาเซียนมีประชากรถึงเกือบ 600 ล้านคน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐ และสหรัฐลงทุนในอาเซียนมากกว่าไปลงทุนในจีน
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ได้มีการจัดประชุมระหว่างสหรัฐกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นครั้งแรก ซึ่งก็มี ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยก่อนหน้านั้น มีข่าวออกมาว่า สหรัฐให้ไทยช่วยเป็นตัวกลางจัดการประชุมระหว่างสหรัฐกับอินโดจีนขึ้นเป็นครั้งแรก หลังการประชุมได้มีการจัดทำเอกสารแถลงข่าวร่วม โดยได้บอกว่า รัฐมนตรีของทั้ง 5 ประเทศ ได้หารือกัน โดยเน้นถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับประเทศเหล่านี้ โดยความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 7 ล้านเหรียญสำหรับโครงการทางด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านสาธารณสุข สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 138 ล้านเหรียญ และในด้านการศึกษาให้ความช่วยเหลือ 16 ล้านเหรียญ

เกาหลีเหนือ
สำหรับในการประชุม ARF นั้น เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่อง เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐและ Hillary ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดย Hillary ได้แถลงข่าวว่า ได้หารือกับพันธมิตรในกรอบการประชุม 6 ฝ่าย และในระหว่างการประชุม ARF มีหลายประเทศทั่วภูมิภาคแสดงความห่วงใยต่อพฤติกรรมเกาหลีเหนือ Hillary โจมตีเกาหลีเหนือว่า ผู้แทนเกาหลีเหนือในที่ประชุมกลับปฏิเสธความรับผิดชอบ และยังคงยืนกรานในการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป สหรัฐและพันธมิตรไม่สามารถยอมรับที่จะให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะเดินหน้าต่อไปที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ Hillary ได้เสนอเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือจะต้องยุติการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และหลังจากนั้นสหรัฐจึงจะยอมสถาปนาความสัมพันธ์และเจรจาสันติภาพและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ Hillary ยังได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า กำลังกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งสหรัฐมองว่า จะส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้านของพม่า สหรัฐในฐานะเป็นพันธมิตรกับไทยจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

บทวิเคราะห์
· ผมมองว่าการเยือนไทยของ Hillary ในครั้งนี้ เป็นการสานต่อแนวนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะกับอาเซียน ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี Obama ได้เคยประกาศนโยบายต่อเอเชียว่า จะหันมาเน้นพหุภาคนิยมแทนที่ทวิภาคีนิยม ซึ่งเป็นนโยบายของสหรัฐในอดีต โดยจะเห็นได้จากภาษาดอกไม้ที่ Hillary ใช้ในการกล่าวถึงไทยและอาเซียน ซึ่งแนวโน้มก็เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ และ ความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐ น่าจะกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต

· อย่างไรก็ตาม การมาเยือนไทยในครั้งนี้ Hillary ก็ไม่มีของขวัญ หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมมาให้ไทย เพียงแต่มีแต่คำชม ไทยจึงควรผลักดัน ให้มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผมมองว่า มีสองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรก คือ ไทยน่าจะผลักดันให้มีการปัดฝุ่นรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐ ขึ้นมาใหม่ และอีกเรื่องคือ ไทยน่าจะพยายามล็อบบี้ให้ประธานาธิบดี Obama มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

· สำหรับความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐนั้น ผลที่เป็นรูปธรรมในครั้งนี้ คือ การรับรองสนธิสัญญาไมตรีของอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนควรผลักดัน คือ การเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนทั้งกลุ่ม และจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ยังไม่เคยมีการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนเลย

· เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ การที่สหรัฐจัดประชุมรัฐมนตรีกับประเทศอินโดจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งผมมองว่า สหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ใหม่ต่ออินโดจีน โดยพยายามกระชับความสัมพันธ์กับกัมพูชาและลาว ในอดีต นับตั้งแต่แพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐไม่เคยสนใจอินโดจีนเลย และประเทศอินโดจีนก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมาโดยตลอด จึงเป็นไปได้ว่า ความพยายามใกล้ชิดกับอินโดจีนของสหรัฐ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเกมยุทธศาสตร์การถ่วงดุลจีนของสหรัฐนั่นเอง

· สุดท้าย ผมไม่อยากให้เราหลงระเริงกับภาษาดอกไม้ของ Hillary มากเกินไป เพราะในที่สุดแล้ว เป้าหมายของสหรัฐในภูมิภาคไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม เป้าหมายหลักของสหรัฐคือการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น เป้าหมายของทั้งรัฐบาล Bush และ Obama ก็เหมือนกัน ที่จะต่างกันก็คือ วิธีการในการครองความเป็นเจ้าเท่านั้น คือในสมัย Bush เน้นการใช้ไม้แข็ง และเน้นอำนาจทางการทหาร ส่วนในสมัย Obama ก็หันมาใช้ไม้อ่อนและการทูตในการครองความเป็นเจ้าแทน

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต

ลงใน ไทยโพสต์

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฏาคม 2552

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต


เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้


กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน


เรื่องที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ในมาตรา 14 ของกฎบัตรอาเซียน ได้กำหนดไว้ว่า จะมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แต่อำนาจหน้าที่หรือ Term of Reference (TOR) ก็ให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนร่างขึ้นมา ในแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต ได้รับรอง TOR ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights และที่ประชุมจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคมปีนี้ เพื่อพิจารณาจัดตั้งกลไกอย่างเป็นทางการต่อไป


ในภาพรวม การมีกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้นมาใหม่ก็ดีกว่าในสมัยก่อน เพราะในอดีตเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องต้องห้าม ถือเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ตอนนี้กระแสโลกเปลี่ยนไปมาก ทั่วโลกมองว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลและสำคัญ อาเซียนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีการจัดตั้งกลไกนี้ขึ้นมา

แต่ถ้าดูในรายละเอียด กลไกนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเน้นแต่เรื่องการส่งเสริม หรือ promotion เช่น การให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน การจัดทำรายงานประจำปี ให้อาเซียนลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องหลักของสิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของการละเมิด เพราะถ้ามีการละเมิดก็ต้องมีการปกป้อง หรือ protection แต่ที่ปรากฏใน TOR ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปกป้อง กลไกนี้จึงไม่มีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จากประเทศสมาชิก หรือจาก NGO และถ้ามีการรับเรื่องร้องเรียน ก็ต้องมีการไต่สวน และถ้ามีการละเมิดจริง ก็ต้องมีมาตรการที่จะยุติการละเมิด แต่คณะกรรมาธิการอาเซียนที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ ยังไม่มีบทบาทเหล่านี้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง


อาเซียน +1
ในการประชุมที่ภูเก็ต นอกจากการประชุมอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังมีการประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีกด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา มหาอำนาจต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อยู่ในเกณฑ์ดีหมด แต่ที่โดดเด่นที่สุดในการประชุมที่ภูเก็ต คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และที่รองลงมาคือ ความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน


สำหรับความสัมพันธ์อาเซียนกับจีนนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก ทำให้จีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จีนเป็นประเทศแรกที่เจรจา FTA กับอาเซียน และเป็นประเทศแรกที่เป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน ในการประชุมครั้งนี้ จีนได้เดินหน้าต่อ โดยเน้นการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียน โดยกำลังจะมีการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญ และกำลังจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในเดือนสิงหาคมปีนี้ นอกจากนี้ จีนยังมีแผนที่จะให้เงินกู้แก่ประเทศอาเซียน มูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ


แต่ความสัมพันธ์กับอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่เป็นข่าวโดดเด่นที่สุดก็คือกับสหรัฐ โดยการเดินทางเข้าร่วมประชุมของ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ Hillary ได้เข้าประชุมกับอาเซียน และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐ คือ รัฐบาล Obama ได้มาประชุมกับอาเซียน โดยในการแถลงข่าวที่ภูเก็ต Hillary ได้บอกว่า การเข้าร่วมประชุม ARF เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน Hillary ย้ำว่า ขณะนี้สหรัฐได้หวนคืนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดย Hillary ได้ลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมืออาเซียน และสหรัฐกำลังจะส่งทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียนมาประจำอยู่ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตาด้วย สหรัฐจึงเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่จะส่งทูตมาประจำอาเซียน


อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า สหรัฐน่าจะมีอะไรมาให้อาเซียนมากกว่านี้ โดยน่าจะมีการเสนอนโยบายใหม่ ๆ เสนอศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ แต่ที่เป็นรูปธรรมก็มีเพียงการรับรองสนธิสัญญาของอาเซียนเท่านั้น จริง ๆ แล้วสหรัฐน่าจะเดินหน้ากล้าที่จะรับข้อเสนอของอาเซียนในการจัดประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรก และสหรัฐน่าจะกล้าที่จะเสนอการเปิดเจรจา FTA กับอาเซียนทั้งกลุ่ม ซึ่งทั้งการประชุมสุดยอดและ FTA นั้น อาเซียนได้มีกับมหาอำนาจอื่น ๆ ไปหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐ


อาเซียน +3 และอาเซียน +6
ที่ภูเก็ตมีการประชุมอาเซียน +3 และอาเซียน + 6 ด้วย สำหรับการประชุมอาเซียน +3 ได้มีการรับรองแผนงานความร่วมมือเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ก็มีการรับทราบถึงความคืบหน้า การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area) อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แนวโน้มขณะนี้ คือ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน + 3 กำลังสะดุดหยุดลง โดยเฉพาะแผนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งก็ไม่ได้มีการพูดถึงในการประชุมคราวนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้อาเซียน + 3 สะดุดหยุดลงนั้น เพราะได้เริ่มมีการหวาดระแวงว่าจีนจะผงาดขึ้นมาครอบงำอาเซียน + 3 รวมทั้งท่าทีของสหรัฐที่เริ่มมีท่าทีในเชิงลบมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่ออาเซียน +3 จึงทำให้ประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นได้ลดความสำคัญของอาเซียน + 3 ลง และกลับไปให้ความสำคัญกับอาเซียน + 6 มากขึ้น


ในการประชุมที่ภูเก็ต เห็นได้ชัดว่า ในขณะที่อาเซียน + 3 ถูกลดความสำคัญลง แต่อาเซียน +6 กลับได้รับความสำคัญมากขึ้น ในอดีต อาเซียน +6 (หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า East Asia Summit : EAS) มีแต่การประชุมสุดยอดเท่านั้น แต่ในการประชุมที่ภูเก็ต ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส EAS และการประชุมรัฐมนตรี EAS คู่ขนานไปกับการประชุมอาเซียน +3 นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรี EAS ที่ภูเก็ตยังได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของ FTA ในกรอบอาเซียน +6 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการศึกษาคู่ขนานไปกับการศึกษา FTA อาเซียน + 3 เช่นเดียวกัน


เกาหลีเหนือ
สำหรับในการประชุม ARF ที่ภูเก็ตนั้น เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่อง เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐให้ความสำคัญและผลักดันเป็นพิเศษ ในระหว่างการประชุม มีหลายประเทศแสดงความห่วงใยต่อพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ โดยสหรัฐได้โจมตีเกาหลีเหนือว่า ปฏิเสธความรับผิดชอบและยังเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ สหรัฐและพันธมิตรไม่สามารถยอมให้เกาหลีเหนือมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยสหรัฐได้เสนอว่า เกาหลีเหนือจะต้องยุติการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และหลังจากนั้นสหรัฐจึงจะยอมสถาปนาความสัมพันธ์และเจรจาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ


พม่า
เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องพม่า ก่อนการประชุมที่ภูเก็ต ได้มีข่าวออกมาว่าทูตพม่าประจำ UN ได้แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า กำลังดำเนินการที่จะปล่อยตัวนักโทษการเมือง ดังนั้น ในการประชุมที่ภูเก็ต หลายฝ่ายจึงจับตามองว่า พม่าจะมีท่าทีอย่างไร แต่เมื่อผลการประชุมออกมาก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะในแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระบุแต่เพียงว่า พม่าได้กล่าวถึงการเยือนพม่าของเลขาธิการ UN แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการปล่อยนักโทษการเมือง ที่ประชุมอาเซียนก็เพียงแต่ขอให้พม่าจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธ์ ยุติธรรมในปีหน้า และขอให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งนางอองซาน ซูจี
แต่พม่ากลับตอบโต้ว่า แรงกดดันภายนอกและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า ในที่สุด ท่าทีของอาเซียนก็อ่อนลงกลายเป็นว่า อาเซียนจะยึดหลักปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่าต่อไป


แต่ Hillary Clinton ไม่พอใจต่อท่าทีของพม่าเป็นอย่างมาก ถึงกับเสนอให้อาเซียนขับพม่าออกจากการเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ผมมองว่า การไล่พม่าออกจากสมาชิกอาเซียนคงจะทำไม่ได้ ทั้งนี้เพราะในกฎบัตรอาเซียนไม่มีมาตราในเรื่องเกี่ยวกับการไล่สมาชิกออก

การประชุมสุดยอด Obama – Medvedev

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2552

การประชุมสุดยอด Obama – Medvedev

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Barack Obama ได้เดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นครั้งแรกและพบปะหารือกับประธานาธิบดี Medvedev ของรัสเซีย ผลการหารือชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซียที่กำลังจะดีขึ้น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ก่อนอื่น ผมอยากจะกล่าวถึงภูมิหลังความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซียในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสมัยของรัฐบาล Bush ซึ่งความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซีย เสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนถึงขั้น มีบางคนมองว่า การเมืองโลกจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาค 2 หรือไม่

ในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งเป็นพวกสายเหยี่ยวได้มองรัสเซียในทางลบเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะการมองเป็นศัตรูและมีการเผชิญหน้าอย่างชัดเจน โดยมีปัญหาความขัดแย้งกันหลายเรื่อง

ในเรื่องระบบการเมือง รัฐบาล Bush มองว่า ระบบการเมืองของรัสเซียกำลังถอยหลังลงคลอง พัฒนาการประชาธิปไตยได้ถอยหลังลงไปอย่างมาก และมีความเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อย ๆ รองประธานาธิบดี Dick Cheney ในตอนนั้นได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัสเซียอย่างรุนแรงในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของระบอบประชาธิปไตยในรัสเซีย

สำหรับในด้านพลังงานรัฐบาล Bush ได้โจมตีรัสเซียว่า กำลังใช้การส่งออกพลังงานเป็นอาวุธในการ black mail ประเทศต่าง ๆ โดยจะเห็นการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติต่อยูเครน รวมทั้งยุโรปตะวันตก

นอกจากนั้น มีความขัดแย้งต่อแผนการของสหรัฐในจะสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธในยุโรป โดยสหรัฐมีแผนจะติดตั้งระบบที่โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งอยู่ติดกับรัสเซีย ถึงแม้สหรัฐจะอ้างว่า ระบบดังกล่าวจะป้องกันการโจมตีจากอิหร่าน แต่รัสเซียก็ไม่เชื่อและคิดว่าสหรัฐมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย

สำหรับรัสเซีย ก็มองว่าสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียและลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกเข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก คาบสุมทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส รัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐและตะวันตกผลักดันให้โคโซโวประกาศเอกราชจากเซอร์เบีย รวมทั้งการที่สหรัฐจะดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิก NATO

รัสเซียยังได้พยายามแข่งกับอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียกลางและในตะวันออกกลาง รัสเซียได้แสดงจุดยืนต่อต้านการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐมาโดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ และรัสเซียยังได้ขายอาวุธให้แก่อิหร่านและซีเรีย และประกาศจะช่วยรัฐบาลทหารพม่าสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย คือ การที่รัสเซียทำสงครามบุกโจมตีจอร์เจีย ชัยชนะของรัสเซียในสงคราม เป็นการส่งสัญญานอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็น

มหาอำนาจทางทหารอีกครั้ง โดย Putin มีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะพลิกฟืนให้รัสเซียกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้งและสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่

การเยือนรัสเซียของ Obama

ต่อมาเมื่อ Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดี ก็ได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่า ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ หลังจากที่เสื่อมโทรมไปมากในสมัยรัฐบาล Bush และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Obama ก็ได้เดินทางไปรัสเซีย หลังจากได้หารือกับประธานาธิบดี Medvedev ก็ได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง

เรื่องแรกที่ตกลงกัน คือ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์ลง โดยจะลดหัวรบนิวเคลียร์ลงให้เหลือ 1 ใน 3 ของจำนวนหัวรบในปัจจุบัน และตกลงที่จะร่วมมือกันในการรักษาความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบนิวเคลียร์ภายใน 4 ปี โดย Obama ถึงกับประกาศว่า เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐ คือ การที่จะทำให้ทั้งโลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันเกี่ยวกับกรณีเกาหลีเหนือและอิหร่าน โดยทางสหรัฐยินดีที่รัสเซีย ร่วมมือกับสหรัฐในการผ่านข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ให้มีมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเกาหลีเหนือ สำหรับในกรณีอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในเรื่อง ระบบการป้องกันขีปนาวุธ และจะมีการทำการประเมินภัยคุกคามจากขีปนาวุธร่วมกัน ในสุนทรพจน์ของ Obama เขาได้ตระหนักดีว่า รัสเซียไม่เห็นด้วยกับระบบการป้องกันขีปนาวุธในยุโรปของสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐก็กำลังจะทบทวนแผนดังกล่าว และ Obama ได้ตอกย้ำว่า ระบบดังกล่าวเพื่อป้องกันการโจมตีจากอิหร่านและไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัสเซีย สหรัฐพร้อมที่จะร่วมมือกับรัสเซียในการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

เรื่องสำคัญเรื่องที่สองที่ตกลงกันได้ คือ ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งทั้งรัสเซียและสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดย Obama ได้กล่าวกับรัสเซียว่า เป้าหมายของสหรัฐ คือการทำลายเครือข่าย Al Qaeda และนักรบตาลีบัน ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน และสหรัฐต้องการความร่วมมือจากรัสเซียเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ดูแล้วยังขัดแย้งกันอยู่ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจอร์เจียและยูเครน รัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐจะดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกของ NATO โดยในการแถลงข่าว Obama ยอมรับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานะของจอร์เจีย แต่ Obama ได้ตอกย้ำว่า อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจอร์เจีย จะต้องได้รับการยอมรับ โดยในสุนทรพจน์ของ Obama ที่ได้กล่าวที่ New Economic School ในกรุงมอสโก ได้ตอกย้ำประเด็นนี้ โดยบอกว่า ระบบโลกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในอำนาจอธิปไตยของกันและกัน หลักการดังกล่าวจะต้องเอามาใช้กับยูเครนและจอร์เจียด้วย (ซึ่งเท่ากับเป็นการประณามรัสเซียทางอ้อมว่า รัสเซียทำสงครามบุกจอร์เจียเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจอร์เจีย) และ Obama ได้กล่าวต่อว่า สำหรับสมาชิก NATO นั้น ต้องเป็นความเต็มใจของประชาชนในประเทศนั้นที่เลือกที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ NATO และสหรัฐจะไม่บีบบังคับประเทศใด ๆ แต่ที่สำคัญ คือ NATO ต้องการความร่วมมือจากรัสเซียไม่ใช่การเผชิญหน้า

แนวโน้มความสัมพันธ์

ผมขอประเมินว่า โดยภาพรวมแล้ว การเยือนรัสเซียของ Obama ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง เป้าหมายของ Obama คือ ปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่ง Obama ใช้คำว่า reset ซึ่งดูแล้ว จากผลการหารือ และดูจากสุนทรพจน์ของ Obama เห็นได้ชัดว่า Obama พยายามเต็มที่ ที่จะปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย และดูแล้ว แนวโน้มคามสัมพันธ์ก็น่าจะดีขึ้น

เห็นได้ชัดว่า แนวนโยบายของ Obama นั้นเป็นแนวเสรีนิยมและอุดมคตินิยม ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดีและเน้นการผูกมิตรและความร่วมมือระหว่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่หนทางข้างหน้ายังมีอุปสรรคนานัปการ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของการเมืองโลกนั้น สวนทางกับแนวคิดของ Obama คือมีลักษณะเป็นโลกแห่งสัจจนิยม ที่มองโลกในแง่ร้าย และมักจะมองประเทศอื่นว่าเป็นศัตรู การเมืองโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้ง ลึก ๆ แล้ว รัสเซียก็ยังไม่ไว้ใจสหรัฐ และลึก ๆ แล้วทั้งสองประเทศก็คงจะหลีกหนีตรรกะของการเมืองโลกไปไม่พ้น นั่นก็คือทั้งสองประเทศก็ต้องการเป็นมหาอำนาจและต้องการขยายอิทธิพล จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความขัดแย้งกันเพื่อที่จะต่อสู้กันเพื่ออำนาจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด