การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 12 - วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตั้งกลางเทอมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mid-term election โดยเป็นการเลือกตั้ง สส. และสว.ของสหรัฐ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐ และผลกระทบต่อโลก ดังนี้
การเลือกตั้งกลางภาค
ระบบการเมืองของสหรัฐ จะมีการแยกระหว่างการเลือกตั้งฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้งฝ่ายบริหารจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุกๆ 4 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2008 และโอบามาจากพรรคเดโมแครทก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเทอมคือ 2 ปี หลังจากการรับตำแหน่งประธานาธิบดี จะมีการเลือกตั้ง กลางเทอมที่เรียกว่า mid-term election โดยจะเป็นการเลือก สส. และสว. เข้ามานั่งในสภาคองเกรส ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ
สำหรับการเลือกตั้ง mid-term ครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2010 โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคริพับลิกันได้รับชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครท โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก่อนการเลือกตั้ง เดโมแครทมีที่นั่งมากกว่าริพลับลิกันถึง 39 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งคราวนี้ ริพับลิกันชนะ และกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง โดยมีที่นั่งอยู่ 239 ที่นั่ง ในขณะที่เดโมแครทมีที่นั่งเพียง 188 ที่นั่ง ในขณะที่วุฒิสภาหรือสภา senate เดโมแครทเคยมีที่นั่งอยู่ 59 แต่จากผลการเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 53 ในขณะที่ริพลับลิกันมีสว.เพิ่มขึ้นเป็น 46 คน ซึ่งต่างกันไม่กี่ที่นั่ง
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สหรัฐประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือที่เราเรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และเมื่อโอบามาได้มาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ต้นปี 2009 ชาวอมเมริกันก็หวังว่า โอบามาจะสามารถกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นและดูเหมือนจะทรุดหนักลง โดยขณะนี้ มีอัตราการว่างงานสูงเกือบ 10% ทำให้คนอเมริกันผิดหวังในการบริหารประเทศของโอบามาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูสโลแกนของโอบามาในการหาเสียง คือ คำว่า “change” แต่ 2 ปีผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นน้อยมาก
โดยปกติแล้ว การเมืองอเมริกันจะกลับไปกลับมาระหว่างแนวคิดเสรีนิยมที่สนับสนุนเดโมแครท กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนริพลับลิกัน 2 ปีที่แล้ว กระแสเสรีนิยมมาแรง และหลายฝ่ายก็คิดว่ากระแสนี้คงจะอยู่อีกนาน แต่การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ชี้ให้เห็นว่า การเมืองอเมริกันเริ่มเหวี่ยงกลับไปสู่กระแสอนุรักษ์นิยมอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการเกิดขึ้นของขบวนการที่เรียกว่า Tea Party Movement ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระแส Tea Party นี้ มีส่วนช่วยให้ริพลับลิกันได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในครั้งนี้
ผลกระทบต่อโลก
สหรัฐคือ อภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก เมื่อการเมืองภายในเปลี่ยน ย่อมกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งในที่สุด ก็จะกระทบต่อโลกโดยรวม อาจจะแบ่งผลกระทบออกได้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้
• ภาพรวม
การเลือกตั้ง mid-term คราวนี้ ได้ทำให้สถานะของโอบามาอ่อนลง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีการตัดสินใจสำคัญๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ที่โอบามาอาจจะตัดสินใจได้ยากยิ่งขึ้น เพราะจะมีสภาคองเกรสที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะคอยขัดแย้งและต่อต้านนโยบายของโอบามาอยู่ โดยเฉพาะนโยบายการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ในตะวันออกกลาง ก็มีเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ซึ่งยังไม่คืบหน้า การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมาในคองเกรส จะทำให้มีเสียงเข้าข้างอิสราเอลมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การเจรจาสันติภาพยุ่งยากมากยิ่งขึ้น
โอบามายังมีเวลาเหลืออีก 2 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ และโอบามาก็รู้ตัวดีว่า ความพ่ายแพ้ของเดโมแครทในการเลือกตั้ง mid-term ครั้งนี้ เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เวลาที่เหลือ 2 ปีนี้ โอบามาจะทุ่มเทให้กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจให้สำเร็จ ซึ่งจะมีลำดับความสำคัญมากที่สุด ส่วนเรื่องนโยบายต่างประเทศจะมีความสำคัญลดลง ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อโลกโดยรวม
• นโยบายต่างประเทศของสภาคองเกรส
เมื่อริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ริพับลิกันจะพยายามผลักดันแนวนโยบายต่างประเทศในแนวอนุรักษ์นิยมของตน ซึ่งจะขัดแย้งกับแนวนโยบายเสรีนิยมของโอบามามากขึ้นเรื่อยๆ
การเปลี่ยนแปลงประการแรกคือ การที่ Ileana Ros-Lehtinen สส. รัฐฟลอริดา จากริพับลิกันจะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ ของสภาคองเกรส Ros-Lehtinen มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมขวาจัด จึงมีแนวโน้มว่า จะมีนโยบายเดินหน้าชนกับรัฐบาลโอบามาในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่อง
สส. จากริพับลิกันชื่อ John Boehner ก็จะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ Boehner มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน โดยได้เคยกล่าวโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาว่า เป็นการส่งออกตำแหน่งงานต่างๆ ไปให้จีน แทนที่จะสร้างงานในประเทศ
นอกจากนี้ การเลือกตั้งคราวนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มฝ่ายขวาในพรรครีพับลิกันได้เริ่มพยายามรื้อฟื้นแนวนโยบายโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มมองว่า อเมริกาควรจะถอยมาจากปัญหาของโลก และควรจะกลับมาแก้ปัญหาภายในมากกว่า
โดยรวมแล้ว มีแนวโน้มว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านการต่างประเทศที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสคงมีปัญหาแน่ และสภาเองก็คงจะพยายามผลักดันกฎหมายในแนวอนุรักษ์นิยมและแข็งกร้าว แนวโน้มที่ชัดเจนคือ สภาคงจะผลักดันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มข้นมากขึ้น กฎหมายตอบโต้จีนในเรื่องค่าเงินหยวน มาตรการลงโทษประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐ เช่น คิวบา เกาหลีเหนือ และซีเรีย แผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานก็คงจะได้รับการต่อต้านจากสภา กฎหมายที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน สนธิสัญญาในการลดอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย และสนธิสัญญาการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงเหล่านี้ต้องผ่านการอนุมัติจากสภา แต่คงจะได้รับการต่อต้านจากสภาคองเกรสอย่างแน่นอน
ในด้านงบประมาณนั้น ก็เป็นไปได้ว่า ริพับลิกันคงจะใช้สภาคองเกรสในการตัดงบประมาณในการช่วยเหลือต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะไปเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ริพับลิกันให้ความสำคัญมาโดยตลอด
• นโยบายการค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 พรรคคงจะมีความขัดแย้งในนโยบายต่างประเทศในหลายเรื่องข้างต้น แต่ผมมองว่า ในประเด็นเรื่องนโยบายการค้านั้น การที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส อาจจะมีผลในทางบวกต่อโลก เพราะโดยพื้นฐานแล้ว พรรคริพับลิกันจะสนับสนุนการค้าเสรีและการจัดทำ FTA ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสคงจะหันมาให้การสนับสนุน FTA สหรัฐกับประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยที่จะมีผลกระทบต่อเอเชีย ก็จะมี FTA กับเกาหลีใต้ ซึ่งยังค้างอยู่ในสภา และสภาคองเกรสก็คงจะสนับสนุนเต็มที่ในการเดินหน้าเจรจา FTA ในกรอบ Trans Pacific Partnership หรือ TPP
• นโยบายต่อจีน
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจับตามอง ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในครั้งนี้คือ นโยบายสหรัฐต่อจีน ซึ่งภายใต้สภาคองเกรสที่มีริพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีแนวโน้มจะขัดแย้งกับจีนหนักขึ้น โดยเฉพาะ Ros-Lehtinen ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศคนใหม่ก็มีแนวคิดต่อต้านจีน โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Ros-Lehtinen ได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรจีน ด้วยเหตุที่จีนได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยบริษัทจีนได้เข้าไปลงทุนในอิหร่าน และสภาคองเกรสก็คงจะกดดันหนักขึ้น ในเรื่องการบีบให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ดังนั้น แนวโน้มคือ ในอนาคต ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐคงมีแนวโน้มเสื่อมทรามลง
อีกเรื่องที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐเสื่อมทรามลง อาจจะมาจากเหตุผลที่ว่า การที่เดโมแครทพ่ายแพ้การเลือกตั้ง mid-term ในครั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า โอบามาจะต้องมีนโยบายในเชิงรุกในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายกดดันจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวน เป็นต้น
• นโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์คือ ผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ริพับลิกันมีแนวนโยบายต่อต้านจีน การที่สหรัฐเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สภาคองเกรสคงจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อไป ในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องพม่า สส. ริพับลิกันหลายคนมีแนวนโยบายสายเหยี่ยวที่ต้องการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรพม่าแทนที่จะปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น ในภาพรวมแนวโน้มอาจจะมีทั้งแนวโน้มที่เป็นไปในเชิงบวกและเชิงลบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไทย