Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ที่ 1 - วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนกับสหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่นครนิวยอร์ก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์ผลการประชุม ดังนี้

ผลการประชุม
จากเอกสารแถลงการณ์ร่วม สามารถสรุปเรื่องสำคัญๆ ของการประชุมได้ดังนี้
East Asia Summit
ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือในภูมิภาค และตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของกระบวนการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ซึ่งเรียกย่อว่า EAS อาเซียนยินดีต่อการที่ประธานาธิบดีโอบามาประกาศจะเข้าร่วมการประชุม EAS ในปี 2011 และรัฐมนตรีต่างประเทศ Hillary Clinton จะเข้าร่วมการประชุม EAS ในฐานะแขกของประธานที่กรุงฮานอย ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้

ความมั่นคง
เรื่องสำคัญเรื่องที่สองที่หารือกันคือ เรื่องความมั่นคง โดยที่ประชุมตอกย้ำถึงความสำคัญของเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ความมั่นคงทางทะเล เสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทะเล และต้องมีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

อาเซียนกับสหรัฐเห็นตรงกันว่า การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) จะช่วยนำไปสู่การขจัดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องการให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์และภาคี SEANWFZ หารือกัน อาเซียนยินดีต่อการที่สหรัฐประกาศว่า พร้อมที่จะเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การที่สหรัฐจะภาคยานุวัติกับ SEANWFZ

ประเด็นความมั่นคงอีกเรื่องคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมองว่า กรอบการประชุมดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งนี้อาเซียนยินดีที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐมีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุม ADMM+8 ครั้งแรกในเดือนตุลาคมนี้

พม่า
สำหรับในเรื่องพม่านั้น อาเซียนยินดีต่อการปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐกับรัฐบาลพม่า โดยหวังว่า การปฏิสัมพันธ์ทั้งจากอาเซียนและสหรัฐ จะช่วยกระตุ้นให้พม่าเดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้ตอกย้ำข้อเรียกร้องตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งแรก โดยขอให้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ในพม่า จะต้องมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม มีเสรี และมีความโปร่งใส เพื่อที่จะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเชื่อมั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้พม่าร่วมมือกับอาเซียนและสหประชาชาติต่อไปในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ

เศรษฐกิจ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือกันคือ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐมีมูลค่าถึง 84,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 28 % ในปี 2008 สหรัฐลงทุนในอาเซียนมีมูลค่าถึง 153,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่อาเซียนลงทุนในสหรัฐมีมูลค่าถึง 13,500 ล้านเหรียญ

ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้ข้อตกลง ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement หรือ TIFA ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าในการทำข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่ประชุมยินดีที่ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนกับสหรัฐเป็นครั้งแรก

ทั้งสองฝ่ายยังยินดีต่อความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบของเอเปค และการเจรจา Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมเจรจาในกรอบ TPP ด้วย

บทวิเคราะห์
• ภาพรวม

การประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐครั้งที่ 2 นี้ เป็นการสานต่อจากการประชุมสุดยอด ครั้งแรก ที่สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว โดยทั้งอาเซียนและสหรัฐก็ต้องการที่จะใกล้ชิดกัน และต้องการให้มีการประชุมสุดยอด สำหรับอาเซียนก็ต้องการใกล้ชิดกับสหรัฐเพื่อให้สหรัฐเข้ามาถ่วงดุลจีนในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังหวังผลประโยชน์ทั้งทางด้านความมั่นคงและทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับในแง่ของสหรัฐนั้น ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน สหรัฐจึงได้หันมาตีสนิทกับอาเซียนและได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแข่งกับจีน

เห็นได้ชัดว่า สหรัฐใช้การประชุมครั้งนี้ ในการเดินหน้านโยบายในเชิงรุกเพื่อปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ผลการประชุมดูไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งแรก ซึ่งในการประชุมครั้งแรกนั้น มีข้อเสนอ มีความคิดริเริ่มหลายเรื่อง และถือเป็นการพลิกโฉมหน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ แต่การประชุมครั้งนี้ ดูแล้วไม่มีอะไรโดดเด่น และค่อนข้างดูกร่อย และน่าผิดหวัง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการที่มีผู้นำอาเซียนบางประเทศไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ที่สำคัญที่สุดคือ การขาดผู้นำของอินโดนีเซีย Susilo Bambang Yudhoyono ซึ่งการไม่เข้าร่วมประชุมของผู้นำอินโดนีเซียอาจจะเป็นความไม่พอใจของอินโดนีเซีย ในเรื่องสถานที่การประชุม เพราะที่ผ่านมา อาเซียนจะจัดการประชุมสุดยอดในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น แต่ครั้งนี้ต้องไปประชุมที่สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขัดต่อประเพณีของอาเซียน และอาจจะทำให้อาเซียนสูญเสียการเป็นแกนกลางในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจได้

• ที่น่าจะเป็นไฮไลท์คือ การที่สหรัฐประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม EAS ซึ่งผมวิเคราะห์ว่า สหรัฐคงมองว่า การเข้าร่วม EAS จะเป็นโอกาสที่สหรัฐจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและจะได้เข้ามาถ่วงดุลจีน และคงอิทธิพลของสหรัฐต่อไป

• แต่สำหรับประเด็นร้อนที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมคือ เรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งสหรัฐพยายามดึงอาเซียนมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านจีน แต่อาเซียนคงจะระมัดระวังและไม่อยากกลายเป็นพวกสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้การเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจเสียดุลยภาพ ดังนั้น จึงมีข่าวออกมาว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอด ได้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศก่อน เพื่อพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วม โดยในตอนแรก สหรัฐต้องการให้มีข้อความเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่อาเซียนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับจีน จึงได้ขอให้ตัดข้อความเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ออกไปจนหมด

• สำหรับในเรื่องพม่านั้น ผลการประชุมในครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เป็นเพียงแต่กล่าวซ้ำๆ ที่เคยกล่าวในหลายเวทีการประชุมมาแล้ว คือ การขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ได้แค่นั้น จริงๆ แล้ว เบื้องหลังน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ผมเดาว่า สหรัฐคงต้องการที่จะกดดันพม่าในเรื่องนี้ และต้องการความร่วมมือจากอาเซียน แต่อาเซียนก็คงปฏิเสธ โดยอ้างในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก