ผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่เกาหลี
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G20 ที่เมือง Gyeongju เกาหลีใต้ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด G20 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
การปฏิรูป IMF
ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ การตกลงในเรื่องการปฏิรูป IMF โดยเฉพาะการปฏิรูปโควตาสัดส่วนอำนาจในการลงคะแนนเสียง ซึ่งจะทำให้ IMF มีความชอบธรรมมากขึ้น โดยที่ประชุมได้เพิ่มโควตา 6%ให้กับประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายว่า จะมีการทบทวนสูตรสัดส่วนอำนาจการลงคะแนนเสียงเพื่อสะท้อนบทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคมปี 2013
ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF คือ Dominique Strauss-Kahn ชาวเยอรมัน ได้กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดของ IMF โดยให้ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เช่น จีนและอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น Kahn ได้แถลงว่า ได้มีการปฏิรูปจำนวนสมาชิกในบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารของ IMF ซึ่งมี 24 คน ยุโรปได้ยอมสละที่นั่ง 2 ที่นั่ง ให้กับประเทศกำลังพัฒนา Kahn ได้กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปในครั้งนี้ทำให้ IMF มีความชอบธรรม และบอร์ดก็สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การปฏิรูป IMF ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีเรื่องต้องปฏิรูปกันอีกมาก เพราะจริงๆ แล้ว ข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนาได้เสนอให้เพิ่มโควตา 10% แต่ที่ประชุมสุดยอด G20 ที่ Pittsburgh เมื่อปีที่แล้ว ตกลงให้เพิ่มเพียง 2.5% การประชุมครั้งนี้ ตกลงให้เพิ่มเป็น 6% ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ โดยภาพรวม ตะวันตกยังครอบงำ IMF และธนาคารโลกอยู่ สหรัฐมีโควตาถึง 20% และยุโรปมีเกือบ 30% นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ของ IMF ก็เป็นชาวยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ ประธานธนาคารโลกก็เป็นชาวอเมริกันมาโดยตลอด
ดุลบัญชีเดินสะพัด
อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่การประชุมครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
เรื่องแรกคือ ข้อเสนอของสหรัฐ ที่จะให้มีการกำหนดเพดานมูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัด โดยสหรัฐได้เสนอที่จะให้ประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้ไม่เกิน 4% ของ GDP ซึ่งสหรัฐอ้างว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นไปตามข้อตกลงของ G20 ที่ต้องการปรับเศรษฐกิจโลกให้มีความสมดุล โดยให้ประเทศที่เกินดุลนั้น โดยเฉพาะจีน ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ จากการเน้นการส่งออกมาเป็นเน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคือ Timothy Geithner กล่าวว่า ประเทศที่ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายมากระตุ้นอุปสงค์ภายใน และประเทศที่มีค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง จะต้องปรับค่าเงินของตน IMF ได้ประเมินว่า ภายในปี 2015 จีนจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ถึง 7.8%
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐได้รับการต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ อาทิ เยอรมนี รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น
โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียมองว่า สหรัฐต้องการผลักดันเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะกดดันจีน แต่ไม่คิดว่า สหรัฐจะประสบความสำเร็จ โดยรัฐมนตรีคลังรัสเซียโจมตีสหรัฐว่า กดดันประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากความล้มเหลวของนโยบายสหรัฐเอง นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นคือ Yoshihiko Noda ก็แสดงความเห็นว่า การตั้งเป้าหมายเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐเสนอนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก
อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐแต่เป็นเสียงข้างน้อยคือ แคนาดาและออสเตรเลีย แต่ในที่สุด ผลการประชุมก็ออกมาคือ ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐ
ระบบอัตราและเปลี่ยน
อีกเรื่องที่การประชุมในครั้งนี้ประสบความล้มเหลวคือ การกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐกดดันจีนทั้งในเวทีทวิภาคีและพหุภาคี โดยสหรัฐมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน สหรัฐได้กดดันจีนในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จีนได้ประกาศจะปรับค่าเงินหยวน แต่มาถึงปัจจุบัน เงินหยวนก็เพิ่มค่าเพียง 2%
โดยทางจีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ โดยบอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และปฏิเสธว่า จีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน และสหรัฐอย่าเอาค่าเงินหยวนของจีนมาเป็น “แพะรับบาป” สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ
ก่อนการประชุม G20 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ประเทศสมาชิก G20 จะร่วมกันกดดันให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จากผลการประชุมที่ออกมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยในเอกสารผลการประชุมมีแต่เพียงข้อความกว้างๆ ว่า “ที่ประชุมจะผลักดันให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น และจะป้องกันไม่ให้มีการแข่งกันลดค่าเงิน โดยประเทศที่มีเงินทุนสำรองควรจะมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนของตน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”
จะเห็นได้ว่า ข้อความในเอกสารผลการประชุมไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนเลย ถึงแม้ว่า จะได้มีการพบปะหารือแบบทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐกับรองนายกรัฐมนตรีจีน แต่ผลการประชุมทวิภาคี ก็ออกมาในลักษณะที่ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ทางฝ่ายสหรัฐเพียงแต่แถลงว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเจรจาและความพยายามของสหรัฐในการกดดันจีนในเรื่องนี้