Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์การก่อการร้ายสากลปี 2010

สถานการณ์การก่อการร้ายสากลปี 2010
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 13 - วันพฤหัสบดีที่ 19 2553

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐโดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (National Counterterrorism Center) ได้เผยแพร่เอกสารรายงานประจำปี เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อการร้ายสากลทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์รายงานดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม
จากการประเมินของรัฐบาลสหรัฐ การก่อการร้ายสากลมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2009 มีการก่อวินาศกรรมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ครั้ง ใน 83 ประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15,000 คน อย่างไรก็ตามจำนวนการก่อการร้ายลดลงจากปี 2008 ซึ่งมีประมาณ 12,000 ครั้ง และในปี 2007 ประมาณ 14,000 ครั้ง โดยการก่อการร้ายในปี 2009 ลดลงจากปี 2008 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่การก่อการร้ายลดลง

ในอดีต ตะวันออกกลางถือเป็นศูนย์กลางของการก่อวินาศกรรม แต่ในปัจจุบัน การก่อการร้ายได้ย้ายฐานมาอยู่ที่เอเชียใต้ โดยเฉพาะในปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยภาพรวมแล้ว เกือบ 2 ใน 3 ของการก่อวินาศกรรม เกิดขึ้นในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง สำหรับในกรณีอิรัก การก่อการร้ายได้ลดลง และระเบิดฆ่าตัวตายก็ลดลง จากปี 2007 ที่มีจำนวน 350 ครั้ง เหลือเพียง 80 ครั้ง ในปี 2009

Al-Qa’ida
สำหรับองค์กรก่อการร้ายที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะต่อสหรัฐคือ Al-Qa’ida โดยฐานที่มั่นของ Al-Qa’ida ในปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน โดยเฉพาะตามพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน สหรัฐมองว่า Al-Qa’ida ในปากีสถานเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐประเมินว่า บทบาทของ Al-Qa’ida กำลังตกต่ำลง ทั้งนี้เพราะกองกำลังทหารของรัฐบาลปากีสถานได้ดำเนินการโจมตีฐานที่มั่น ทำให้เกิดการสูญเสียผู้นำ ทำให้ยากลำบากมากขึ้นในการระดมเงินทุน ในการฝึก และในการหาสมาชิกใหม่ รวมทั้งการวางแผนโจมตีสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่าย Al-Qa’ida ในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ อันดับแรกคือ กลุ่ม Al-Qa’ida in the Arabian Peninsula ซึ่งวางแผนโจมตีสหรัฐ ในวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ กลุ่มนี้ยังได้โจมตีรัฐบาลเยเมน และได้ลอบสังหาร Prince Muhammad bin Nayif หัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของซาอุดิอาระเบียด้วย

กลุ่มก่อการร้ายอีกกลุ่มที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่ม Al-Qa’ida คือ Al-Shabaab ซึ่งได้ยึดครองพื้นที่เป็นบางส่วนในประเทศโซมาเลีย

Al-Qa’ida in the Islamic Maghreb เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีบทบาทสำคัญทางตอนเหนือของอัฟริกา แต่กลุ่มนี้ประสบความล้มเหลวในการก่อวินาศกรรมในแอลจีเรีย และกำลังประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้หันมาใช้วิธีการจับชาวตะวันตกเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศ Mali, Mauritania และ Niger

และกลุ่ม Lashkar e-Tayyiba ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดียและปากีสถาน มีบทบาทสำคัญในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ปี 2008 กลุ่มนี้ถูกมองว่า กำลังจะมีบทบาทมากขึ้น และกำลังมีเป้าหมายที่จะก่อวินาศกรรมเป้าหมายของตะวันตกและสหรัฐ กลุ่มนี้จึงถูกจับตามองว่า กำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นภัยคุกคามในระดับโลก

ประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย
ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า อิหร่านเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายอันดับหนึ่ง โดยอิหร่านยังคงให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง โดยเฉพาะกลุ่ม Hizballah และ HAMAS อีกประเทศหนึ่งที่ถูกกล่าวหาคือ ซีเรีย ซึ่งได้มีพฤติกรรมเหมือนอิหร่านคือ ได้มีการสนับสนุน HAMAS กลุ่ม Palestinian Islamic Jihad และกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์อีกหลายกลุ่ม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐประเมินว่า การต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะได้มีความร่วมมือในระดับพหุภาคีอย่างจริงจัง มีการพัฒนาบุคลากร นโยบายของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และรัฐบาลมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายในภูมิภาคยังไม่หมดไป โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2009 ได้มีระเบิดฆ่าตัวตายจากกลุ่ม Jemaah Islamiya หรือ JI สร้างความเสียหายให้กับโรงแรมในกรุงจาการ์ตา 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยมีการจับกุมผู้ก่อการร้ายได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงผู้นำของกลุ่ม JI ด้วย

สำหรับในฟิลิปปินส์ ได้มีความพยายามจากหลายๆ ประเทศ ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนทางใต้ของฟิลิปปินส์อย่างสันติวิธี โดยกลุ่มก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ได้มีความสัมพันธ์ทั้งกับ JI และกลุ่ม Abu Sayaf

สำหรับในกรณีของประเทศไทย รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การก่อการร้ายทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งยังคงมีการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีผู้ที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงไปแล้วกว่า 4,000 คน นับตั้งแต่ความรุนแรงได้ลุกลามขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ความรุนแรงในปี 2009 ได้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2008 โดยได้มีการใช้ระเบิดที่มีอานุภาพมากขึ้นกว่าในอดีต

รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐมองว่า หน่วยงานต่างๆ ของไทยกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับแนวคิดหัวรุนแรง นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ ได้พบปะกับผู้นำทหารของทางมาเลเซียคือ Haji Zainal และได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงในบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย และต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2009 นายกอภิสิทธิ์ได้พบปะหารือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย คือ Najib Razak และได้ตกลงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงตามชายแดน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทางฝ่ายไทยจะมีความห่วงกังวลว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอาจจะเข้ามามีความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย แต่รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐมองว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะชี้ว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติได้เข้ามามีบทบาทในภาคใต้ของไทย และยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทยกับเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค

บทวิเคราะห์
โดยภาพรวม จะเห็นได้ว่า เอกสารประเมินการก่อการร้ายปี 2010 ของรัฐบาลสหรัฐมองว่า การก่อการร้ายมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่แน่ใจว่า การประเมินของรัฐบาลสหรัฐจะถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเราจะวิเคราะห์ต่อยอดออกไปว่า แนวโน้มสถานการณ์การก่อการ้ายในอนาคตจะลดลงจริงหรือไม่ ผมมองว่า สถานการณ์การก่อการร้ายสากลในปีนี้ และในอนาคต คงจะลุกลามบานปลายต่อไป ไม่จบง่ายๆ โดยขณะนี้ มีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายกำลังลุกลามขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมน และโซมาเลีย

สงครามในอัฟกานิสถานก็ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐค่อนข้างจะประเมินเข้าข้างตนเอง โดยได้มองข้ามปัญหาใหญ่คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งทั้งนักรบTaliban และ Al-Qa’ida ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่ที่บริเวณพรมแดนของปากีสถานกับอัฟกานิสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้และสหรัฐก็กำลังตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ การบ้านชิ้นยากที่สุดของรัฐบาลโอบามา ขณะนี้คือ สงครามในอัฟกานิสถาน การที่สหรัฐหวังจะเอาชัยชนะคงไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถานก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤติเช่นเดียวกัน ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฉบับนี้ ดูเหมือนจะพยายามมองข้ามปัญหาในปากีสถาน แต่ผมมองว่า ปากีสถานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ เช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมทั้งของ Al-Qa’ida และ Taliban และนักรบ Taliban ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2553

เมื่อเร็วๆ นี้ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือที่บางทีเราเรียกว่า ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นประเด็นร้อนในภูมิภาค คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์
หมู่เกาะสแปรตลีย์ประกอบด้วยหมู่เกาะเล็กๆ หลายร้อยเกาะ อยู่ในทะเลจีนใต้ ช่วงระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ โดยมีพื้นที่ถึง 3,500,000 ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะดังกล่าว มีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

สำหรับความสำคัญด้านความมั่นคงนั้น หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นทางผ่านของเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ คิดเป็นประมาณ 25 % ของการขนส่งทางทะเลในโลก และถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญต่อจีนมาก เพราะเป็นเส้นทางลำเลียงส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมาจีน ซึ่งคิดเป็น 80 % ของน้ำมันที่จีนนำเข้า เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งใช้เส้นทางนี้นำเข้าน้ำมันถึง 70 % และเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ดังนั้น ประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐ จึงอ้างมาโดยตลอดว่า ความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ คือ เรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือ และความมั่นคงปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือ

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์นั้น หากประเทศใดสามารถอ้างกรรมสิทธิ์มีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ จะสามารถควบคุมเส้นทางการเดินเรือ และควบคุมยุทธศาสตร์ทางทะเล โดยจะสามารถกดดันจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และถ้าจีนเข้าควบคุมบริเวณดังกล่าว จะสามารถสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางทะเลของอินเดียและสหรัฐ และจะสามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงช่องแคบมะละกา

นอกจากนี้ หมู่เกาะสแปรตลีย์ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในเกมถ่วงดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจต่างๆ โดยทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ในการใช้ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงเพื่อถ่วงดุลจีน

สำหรับความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจนั้น ก็สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่คาดว่า จะมีมหาศาลในบริเวณดังกล่าว มีการประเมินว่า น่าจะมีน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 28,000 ล้านบาเรล และมีก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 266 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์รวมทั้งมหาอำนาจก็จ้องจะเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ รวมทั้งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว

ความขัดแย้ง
ด้วยความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ดังกล่าวข้างต้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคหลายประเทศจึงได้แย่งกันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว

จีนและไต้หวันได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเกือบทั้งหมด โดยจีนอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า แผนที่ในพงศาวดารได้ระบุหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นของจีนมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล

ส่วนเวียดนาม ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์

ฟิลิปปินส์ได้อ้างว่า นักเดินเรือชาวฟิลิปปินส์เป็นคนค้นพบหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้อ้างอธิปไตยเป็นบางส่วนมาตั้งแต่ปี 1971

ส่วนมาเลเซียและบรูไนนั้น ได้อ้างกฎหมายทะเลในการกำหนดเขตไหล่ทวีปที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นบางส่วนในหมู่เกาะสแปรตลีย์

อย่างไรก็ตาม การอ้างอธิปไตยของประเทศต่างๆ เหล่านี้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังไม่มีข้อสรุป โดยการอ้างอธิปไตยของประเทศเหล่านี้ยังไม่หนักแน่นพอ ทั้งนี้เพราะไม่มีการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างสงบและนานพอโดยไม่มีการโต้แย้งจากรัฐอื่น

ดังนั้น เมื่อไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องอำนาจอธิปไตย ความขัดแย้งจึงได้เกิดขึ้นมาอย่างยืดเยื้อ ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ถึงขั้นมีการทำสงครามกัน ในปี 1974 และปี 1988 จีนได้รบกับเวียดนาม เพื่อแย่งชิงหมู่เกาะพาราเซล นอกจากนั้น จีนกับฟิลิปปินส์มีการขัดแย้งกันหลายครั้ง จนเกือบถึงขั้นกลายเป็นสงคราม ต่อมาในปี 1992 อาเซียนได้ประกาศปฏิญญาการแก้ไขปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างสันติวิธี และได้เรียกร้องให้จีนยอมรับปฏิญญาดังกล่าว แต่จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมาโดยตลอด และอ้างกรรมสิทธิ์อธิปไตยเด็ดขาดเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมา คือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อเอาใจอาเซียน จีนจึงได้ยอมทำปฏิญญา Code of Conduct เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีในปี 2002 เมื่อมีการทำปฏิญญาดังกล่าว ก็ดูเหมือนมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะทุเลาเบาบางลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของจีน และจีนกำลังจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนมีความมั่นใจในอำนาจแห่งชาติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้นโยบายต่างประเทศและท่าทีของจีนเริ่มก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ท่าทีของจีนต่อปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์เปลี่ยนไปในลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้

• จีนได้เริ่มคุกคามบริษัทขุดเจาะน้ำมันตะวันตกที่เข้าไปสำรวจน้ำมันในหมู่เกาะสแปรตลีย์
• จีนได้เพิ่มกองทัพเรือเข้าไปในหมู่เกาะสแปรตลีย์มากขึ้น เรือรบจีนได้ข่มขู่เรือของประเทศอื่น ในปี 2009 มีเหตุการณ์เผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐ และเมื่อเดือนมีนาคม 2010 ก็มีการเผชิญหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเรือรบจีนกับเรือรบสหรัฐ
• จีนได้ประกาศห้ามเรือประมงของประเทศอื่น เข้าไปจับปลาในเขตหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ และได้มีการจับกุมชาวประมงเวียดนามอยู่หลายครั้ง
• คณะทำงานระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อที่จะร่างข้อตกลง Code of Conduct ก็ติดขัดไม่คืบหน้า
• ในช่วงเดือนมีนาคม จีนได้ประกาศว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นผลประโยชน์หลักของจีน ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า core interest ซึ่งการประกาศของจีนทำให้ประเทศอาเซียนและสหรัฐตื่นตระหนก
• จีนได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยยอมรับที่จะเจรจาปัญหานี้ ในเวทีพหุภาคีโดยเฉพาะกับอาเซียน แต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ปรับเปลี่ยนท่าทีไปสู่ท่าทีดั้งเดิมของจีน คือมองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาทวิภาคี ที่จะต้องเจรจาในระดับทวิภาคีเท่านั้น

สถานการณ์ล่าสุด

จากพัฒนาการของปัญหาที่เริ่มทรุดหนักลง ในที่สุด ก็มาปะทุขึ้น ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่กรุงฮานอย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประเทศที่จุดชนวนการปะทุของปัญหาครั้งใหม่คือ สหรัฐ ในระหว่างการประชุม Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐในเรื่องความขัดแย้งนี้ ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ซึ่งสหรัฐพยายามไม่เข้ามายุ่งกับเรื่องนี้โดยตรง แต่ Clinton กลับประกาศว่า สหรัฐถือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนกระบวนการทางการทูตและการเจรจา และไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในการแก้ปัญหา Clinton ยังเน้นด้วยว่า การเจรจาจะต้องเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี

ท่าทีที่คาดไม่ถึงของสหรัฐในครั้งนี้ อาจจะเป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซง โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การปิดล้อมและการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน รัฐบาลโอบามาได้เริ่มต้นที่จะพยายามปฏิสัมพันธ์กับจีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จใดใด สหรัฐจึงน่าจะเปลี่ยนมาเป็นยุทธศาสตร์แข็งกร้าวต่อจีน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางการทหาร

หลังจากที่สหรัฐเปิดประเด็นเรื่องนี้ ในเวที ARF ประเทศสมาชิกอื่นก็ผสมโรงร่วมกับสหรัฐ โดยมีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีนโดยตรง นอกจากนั้น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ EU ก็เข้าร่วมกับสหรัฐในการหารือในเรื่องนี้ด้วย สำหรับทางฝ่ายจีนก็แสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐได้เปิดประเด็นเอาเรื่องนี้มาโจมตีจีนในเวที ARF

ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตีสหรัฐว่า การที่ Clinton กล่าวในที่ประชุม ARF นั้น ถือเป็นการโจมตีจีน (attack on China) และมองว่า สหรัฐไม่ควรแทรกแซงในเรื่องนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ หลังจากนั้น ทางกองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบ โดยมีการนำเรือรบออกมาซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด

ล่าสุด ปฏิกิริยาของจีนได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอย่างเข้มข้น ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นการตอบสนองต่อการซ้อมรบของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยขณะนี้ เรือรบของสหรัฐชื่อว่า John McCain ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานัง และจะเข้าร่วมภารกิจกับกองทัพเรือเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือสหรัฐกับเวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐชื่อ George Washington ก็ได้ไปจอดเทียบท่าที่เมืองดานัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสอง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกกระทรวงต่างประเทศเวียดนามได้ออกมาประกาศประณามจีน ในการส่งเรือเข้าไปในเขตหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่า เป็นของเวียดนาม

กล่าวโดยสรุป การปะทุขึ้นของปัญหาความขัดแย้งสแปรตลีย์รอบใหม่ครั้งนี้ และการตอบโต้ของจีนอย่างก้าวร้าวในลักษณะนี้ ทำให้เข้าทางสหรัฐ จีนถูกมองจากหลายๆ ประเทศในภูมิภาคว่า ทำเกินกว่าเหตุ ปฏิกิริยาของจีนในครั้งนี้ จะยิ่งไปกระตุ้นความหวาดระแวงของประเทศในภูมิภาค ที่มองว่า จีนอาจจะเป็นภัยคุกคามและกำลังก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่า ปฏิกิริยาในเรื่องนี้ของจีนทำให้จีนเสียหายมาก เพราะเท่าที่ติดตามยุทธศาสตร์ของจีนมาโดยตลอดนั้น 10 ปีที่ผ่านมา จีนทุ่มทุกอย่างเพื่อที่จะซื้อใจ เอาชนะใจ ประเทศอาเซียน เพื่อให้ลดความหวาดระแวงจีนลง โดยสโลแกนของจีนคือ การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise คงได้รับผลกระทบไม่น้อยจากปฏิกิริยาของจีนในครั้งนี้

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (จบ)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (จบ)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 46 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ 4 ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 5 และเป็นตอนสุดท้าย โดยจะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในอนาคต และเน้นข้อเสนอแนะนโยบายไทยต่อสหรัฐในอนาคต ดังนี้

1. ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต
สำหรับในอนาคต นโยบายไทยต่อสหรัฐควรจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นจะต้องวิเคราะห์ถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตเสียก่อน บริบทของความสัมพันธ์ไทยสหรัฐมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

1.1 ระบบ 1 ขั้วอำนาจ
ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้มีลักษณะ 1 ขั้ว คือ มีสหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก ขั้วอำนาจอื่นๆ ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะมาแข่งขันกับสหรัฐได้

จากบริบทดังกล่าว ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ซึ่งถือว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด โดยสหรัฐจะพยายามทุกวิถีทางที่จะครองความเป็นเจ้า ทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค ต่อไป ให้ได้ยาวนานที่สุด

1.2 ระบบหลายขั้วอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้ว ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ขั้วอำนาจอื่นๆ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล ประเทศในเอเชีย กลุ่มประเทศอิสลาม แอฟริกา และละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่า จะคานอำนาจสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้โลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจในระยะยาว

การผงาดขึ้นมาของจีนนับว่ามีความสำคัญมากที่สุด ในการที่จะทำให้โลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ การผงาดขึ้นมาของจีน จึงเป็นบริบทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอนาคต

จากบริบทการก่อตัวขึ้นของระบบหลายขั้วอำนาจและการผงาดขึ้นมาของจีน ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน การที่สหรัฐจะครองความเป็นเจ้าอยู่ได้นั้น จะต้องพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีคู่แข่งที่จะมาท้าทายการครองความเป็นเจ้า และแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของสหรัฐไป ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคือ จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐ

1.3 การปะทะกันทางอารยธรรม
แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง ที่ในระยะยาว ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะวิวัฒนาการไปเป็นระบบ 2 ขั้วอำนาจ จากบทวิเคราะห์ของ Samuel Huntington ในหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations มองว่า โลกกำลังจะแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วตะวันตกกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก และความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วนี้ จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต คือ แนวโน้มในอนาคต ที่ระบบโลกอาจจะเกิดความขัดแย้งทางอารยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม

จากบริบทการปะทะกันทางอารยธรรม ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ ในขณะนี้ กำลังถูกท้าทายอย่างมาก จากขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง

2. นโยบายสายกลาง
จากบริบทดังกล่าวข้างต้น ไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อสหรัฐ ผมขอเสนอ keyword ที่สำคัญสำหรับอนาคตความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐคือ นโยบายสายกลาง และความสมดุล หรือดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินนโยบายสายกลาง นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi-distant policy) การมีสมดุลและดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ร่วมกัน

2.1 นโยบายต่อระบบ 1 ขั้วอำนาจ
ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น แนวโน้มในระยะสั้นจะเป็นโลก 1 ขั้ว จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องดำเนินนโยบายเข้าหาสหรัฐ และคงความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐไว้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่จะได้จากการเข้าหาสหรัฐ

นโยบายต่อยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐนั้น ไทยจึงคงจะไม่มีทางเลือกที่จะต้องคงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และร่วมมือกับสหรัฐต่อไป

2.2 นโยบายต่อระบบหลายขั้วอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว มีความเป็นไปได้ว่า ระบบหนึ่งขั้วอำนาจจะแปรเปลี่ยนเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ และอิทธิพลของสหรัฐในระยะยาวจะลดลงเรื่อยๆ ไทยจึงควรจะต้องเตรียมนโยบายเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยนโยบายไทยจะต้องค่อยๆ ปรับจากบริบทที่เป็น 1 ขั้ว เป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐ ไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์ และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังนั้น นโยบายหลักของไทยในระบบหลายขั้วอำนาจ จึงควรเป็นนโยบายสายกลาง หรือนโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน โดยไทยควรดำเนินนโยบายต่อสหรัฐในระยะยาว ในลักษณะที่ให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักที่ไม่น้อยหรือไม่มากไปกว่ามหาอำนาจอื่น
นโยบายสายกลางต่อสหรัฐ คือ ไม่ต่อต้าน และไม่ pro พยายามหาจุดสมดุลและดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ การดำเนินนโยบายเช่นนี้น่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับไทยในระยะยาว

การดำเนินนโยบายสายกลางมีหลายสูตร สูตรที่เป็นกลางจริงๆ หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ จะเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น หากเป็นความสัมพันธ์ไทยกับสามมหาอำนาจ คือ สหรัฐ จีน และอินเดีย สูตรสัดส่วนจะเป็น 33.33 : 33.33 : 33.33 แต่หากเป็นสูตรที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่ามหาอำนาจอื่นเล็กน้อย สูตรสัดส่วนก็จะเป็น 40 : 30 : 30 เป็นต้น

สำหรับนโยบายไทยในการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การสกัดกั้นหรือการปิดล้อมจีนของสหรัฐนั้น ไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง โดยสิ่งที่ไทยควรทำคือ การดำเนินนโยบายสายกลาง สร้างดุลยภาพแห่งนโยบาย และรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกันระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีน กับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

2.3 นโยบายต่อการปะทะกันทางอารยธรรม
นอกจากนั้น ไทยจะต้องเตรียมปรับนโยบาย หากความขัดแย้งทางอารยธรรมจะมีความรุนแรงมากขึ้น ไทยคงต้องพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในการปะทะกันระหว่างขั้วตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งอาจจะมีกลุ่มประเทศมุสลิมและจีนเป็นแกนนำ

สำหรับยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐนั้น ถึงแม้ในประเด็นนี้จะดูเหมือนกับว่า ไทยกับสหรัฐจะมีภัยคุกคามร่วมกันก็ตาม แต่ไทยจะต้องระมัดระวังในความร่วมมือกับสหรัฐ ทั้งนี้เพราะอาจจะทำให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางอารยธรรมได้ สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินนโยบายคือ การสร้างสมดุลของนโยบายที่เป็นนโยบายสายกลาง โดยร่วมมือกับสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการชักศึกเข้าบ้าน ไม่ทำให้ไทยเป็นเป้าของการก่อการร้าย และไม่เป็นศัตรูกับโลกมุสลิม