Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
29 มกราคม 2555

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากจีน ในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งคงจะทอดยาวถึงปี 2012 นี้ โดยเรื่องที่ขัดแย้งกัน มีหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

ฐานทัพสหรัฐฯในออสเตรเลีย

ในช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศที่จะส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหญ่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค

แผนการของสหรัฐฯทำให้จีนมีปฏิกิริยาไม่พอใจ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตั้งคำถามว่า การขยายพันธมิตรทางทหาร จะเหมาะสมกับเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ในขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ได้โจมตีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียว่า จะก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์โดยรวมในภูมิภาค และมองว่า การขยายพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯยังคงมีแนวคิดแบบสงครามเย็นอยู่ (cold war mentality) นอกจากนี้ บทความในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ได้มองว่า การส่งกองกำลังทหารสหรัฐฯเข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายเป็นฐานทัพใหม่ในออสเตรเลียนั้น เท่ากับเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอย่างชัดเจน

ทะเลจีนใต้

อีกเรื่องที่จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือ การที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ Obama ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุม East Asia Summit ในช่วงปลายปีที่แล้ว สื่อจีนได้โจมตีสหรัฐฯว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯในการเข้ามาวุ่นวายในปัญหานี้ คือ เพื่อยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตอกย้ำท่าทีของจีนว่า ความขัดแย้งดังกล่าว ควรจะเจรจาผ่านเวทีทวิภาคี และว่า การแทรกแซงจากประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง (สหรัฐฯ) จะไม่ช่วยในการแก้ปัญหานี้

พม่า

ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ต่อพม่า โดย Clinton ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงปลายปีที่แล้ว และกำลังเดินหน้าสู่การปรับความสัมพันธ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม สื่อจีน อาทิ Global Times ได้มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า คือ การป้องกันไม่ให้จีนใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซและน้ำมันจากพม่า และมองว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของ Clinton ทำให้จีนจะยิ่งกลัวว่า เป้าหมายของสหรัฐฯในเอเชีย คือ การโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน

ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ

ในช่วงปี 2011 ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าเงินหยวนของจีน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กำหนดว่า ประเทศที่มีนโยบายทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งจะต้องได้รับการตอบโต้จากสหรัฐฯ
กระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และธนาคารกลางจีน ก็ได้บอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้มีผลทำให้จีนได้ดุลทางการค้า และการเพิ่มค่าเงินหยวนก็จะไม่มีผลต่อดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยฝ่ายจีนแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง

TPP

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา และคงจะต่อเนื่องถึงปี 2012 นี้ คือ การที่สหรัฐฯผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อย่อว่า TPP โดยได้มีการประชุมระหว่างสหรัฐฯกับอีก 8 ประเทศ ที่ฮาวาย เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อบรรลุข้อตกลง TPP โดยจีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา TPP

สื่อจีน ได้วิพากษ์วิจารณ์ TPP อย่างกว้างขวาง โดยมองว่า เป้าหมายของ TPP คือ การลดบทบาทของจีน และเพิ่มบทบาทการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของสหรัฐฯ โดยสื่อจีนมองว่า TPP จะมาแทนที่เอเปค และจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ

ไต้หวัน

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การที่สหรัฐฯประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านเหรียญ ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตสหรัฐฯเข้าพบเพื่อทำการประท้วง และต่อมา กองทัพจีนก็ได้ยกเลิกและเลื่อนการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐฯ

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกับจีนขัดแย้งกันหลายเรื่องในช่วงปีผ่านมา และความขัดแย้งเหล่านี้ คงจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2012 นี้ โดยมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือ ปี 2012 เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และขณะนี้ ผู้สมัครทุกคนก็กำลังชูนโยบายต่อต้านจีนมาเป็นจุดขายในการหาเสียงเลือกตั้ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555

ในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ขณะนี้ การรณรงค์หาเสียง เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในฟากของรีพับลิกัน ซึ่งกำลังมีการขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อเลือกตัวแทนพรรคมาแข่งกับประธานาธิบดี Obama จากพรรคเดโมแครต ซึ่ง Obama ได้ประกาศตัวแล้วว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 1 สมัย ประเด็นที่ชาวโลกสนใจ คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ซึ่งก็คงจะต้องมาวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครแต่ละคนว่า แตกต่างกันอย่างไร คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกันในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ

อิหร่าน

วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุดสำหรับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนี้ ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ถึงการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผ่านมา Obama ใช้มาตรการคว่ำบาตรในการกดดันอิหร่าน แต่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน นอกจากจะสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ยังสนับสนุนการใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย

สำหรับประธานาธิบดี Obama นั้น ในตอนเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือในช่วงต้นปี 2009 ได้เคยประกาศต่อผู้นำอิหร่านว่า สหรัฐฯต้องการปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่านอย่างจริงใจ แต่ในที่สุดความพยายามของ Obama ก็ล้มเหลว อิหร่านปฏิเสธที่จะเจรจากับสหรัฐฯ และเดินหน้าที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อ ซึ่งทำให้รัฐบาล Obama ต้องปรับนโยบายใหม่ โดยเน้นมาตรการคว่ำบาตร และใช้ไม้แข็งเพิ่มขึ้น ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว IAEA ได้ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาล Obama จึงได้เพิ่มแรงกดดันอิหร่านมากขึ้น แต่ Obama ก็ยังคงเน้นเครื่องมือทางการทูตในการกดดันอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ในฟากพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้ มีตัวเต็งอยู่ 4 คน ที่เป็นตัวเต็งอันดับ 1 คือ Mitt Romney รองลงมาคือ Newt Gingrich, Rick Santorum และ Ron Paul

สำหรับท่าทีของ Romney นั้น ได้ประกาศว่า สหรัฐฯยอมรับไม่ได้ที่จะให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะใช้เครื่องมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และเครื่องมือทางทหาร ในการป้องปรามอิหร่าน Romney ถึงกับประกาศกร้าวว่า ถ้าชาวอเมริกันเลือก Obama มาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย อิหร่านก็จะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ถ้าหากเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี อิหร่านก็จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ Romney ยังได้ประกาศจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน

สำหรับ Gingrich ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะในกรณีถ้าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทางทหาร Gingrich เน้นการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน โดยจะให้มีกองทุนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ตัดเส้นทางการส่งน้ำมัน และทำสงครามเศรษฐกิจ เพื่อบีบให้รัฐบาลอิหร่านล่มสลาย

สำหรับ Santorum มีแนวนโยบายสายเหยี่ยวมากที่สุด โดยเสนอให้สหรัฐฯร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยบอกว่า อิสราเอลเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ Santorum ยังประกาศกร้าวว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือได้ว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนสมาชิก al-Qaeda และนักรบ Taliban จึงเข้าข่ายที่จะเป็นเป้าในการลอบสังหารได้

เกาหลีเหนือ

สำหรับในกรณี วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ไม่ตอบสนอง และยังคงเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงกลางปี 2009 หลังจากนั้น Obama จึงต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้ผล

สำหรับในฟากรีพับลิกัน ส่วนใหญ่เป็นสายเหยี่ยวเกือบทั้งหมด โดย Romney มองว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอันธพาล เช่นเดียวกับอิหร่าน จึงเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง และได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล Obama ว่า มีนโยบายที่อ่อนแอ ทั้งต่อเกาหลีเหนือและต่ออิหร่าน

สำหรับ Gingrich ก็ได้โจมตีรัฐบาล Obama ว่า ปล่อยปละละเลย และไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือ ทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ในปี 2009

จีน

สำหรับในประเด็นนโยบายต่อจีนนั้น ก็เป็นประเด็นร้อนที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับจีน และต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่ต่อมาความสัมพันธ์ก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และความขัดแย้งก็เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันนั้น มองจีนเป็นลบมากกว่า Obama โดย Romney สนับสนุนการเพิ่มกำลังทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียและพันธมิตร รวมทั้งกดดันจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเรื่องนโยบายทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงินหยวน Romney ได้โจมตีจีนอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Romney ประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะผลักดันกฎหมายที่ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า currency manipulator

สำหรับ Santorum มองว่า จีนเป็นเหมือนพายุที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเขาอยากเห็นสหรัฐฯใช้มาตรการไม้แข็งต่อจีน และต้องการให้สหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้นในเวทีโลก เพื่อแข่งและประสบชัยชนะต่อการท้าทายจากจีน
สหประชาชาติ

อีกเรื่องที่ผมอยากจะวิเคราะห์ เกี่ยวกับความแตกต่างของนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครประธานาธิบดี คือ แนวนโยบายต่อสหประชาชาติ หรือ UN

โดย Obama มีแนวนโยบายที่สนับสนุน UN มาโดยตลอด ในสุนทรพจน์ที่กล่าวในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวถึง UN ในด้านดี โดยเฉพาะด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการรักษาสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ทั้ง 3 คน มีแนวนโยบายต่อต้าน UN โดย Romney ได้วิพากษ์วิจารณ์ UN มาโดยตลอด ได้กล่าวว่า UN ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และได้เสนอให้สหรัฐฯลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN
ส่วน Gingrich ก็ได้ผลักดันการปฏิรูป UN ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Gingrich ได้เสนอให้สหรัฐฯยุติการให้ความช่วยเหลือ UN ซึ่งคิดเป็นเงิน 7.6 พันล้านเหรียญต่อปี

สำหรับ Ron Paul ซึ่งผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ก็มีแนวนโยบายต่อต้าน UN อย่างสุดโต่ง โดยมองว่า UN เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และได้เรียกร้องให้สหรัฐฯลาออกจาก UN

ผลกระทบต่อโลก

จากที่ได้วิเคราะห์มาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดย Obama ยังคงมีแนวนโยบายในแนวเสรีนิยม สายพิราบ และต้องการใช้ไม้อ่อน ในขณะที่ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมด มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม สายเหยี่ยว และต้องการใช้ไม้แข็งเป็นหลัก

ดังนั้น ก็คงจะพอคาดการณ์ได้ว่า หากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะมีความแข็งกร้าวมากขึ้น อาจจะกลับไปคล้ายๆกับนโยบายในสมัยรัฐบาล Bush ซึ่งก้าวร้าวมาก ดังนั้น ผลกระทบต่อโลก ก็คือ จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความวุ่นวายขึ้นในโลกอีกยุคสมัยหนึ่ง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush

แต่หาก Obama ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ แนวนโยบายของสหรัฐฯก็คงจะเหมือนเดิม และคงจะมีความต่อเนื่อง แม้ว่า อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาก แต่ก็คงจะไม่กลับไปวุ่นวายเหมือนกับในสมัยรัฐบาล Bush

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555

ภาพรวม

ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯยังคงเดินหน้าดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ยุทธศาสตร์สหรัฐฯมีความหลากหลาย ทั้งผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี และมีทั้งมิติทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดัน FTA ในกรอบ TPP การส่งกองกำลังทหารมาประจำที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การดำเนินการทูตในเชิงรุกกับพม่า และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย โดยจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และจะส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายกองกำลังเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น

East Asia Summit หรือ EAS

เวทีพหุภาคีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ East Asia Summit หรือ EAS Obama ได้เข้าร่วมประชุม EAS ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯเน้นว่า เอเปคเป็นกลไกหารือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ที่ขาดอยู่ คือ กลไกทางด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯต้องการผลักดันให้ EAS เป็นกลไกหารือทางด้านนี้

จุดเริ่มต้นของการผลักดัน คือ การที่ Obama หยิบยกเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในการประชุม EAS มี 16 ประเทศที่ได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในเวที EAS โดยสหรัฐฯได้เน้นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก และสหรัฐฯเป็นผู้ให้หลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเน้นว่า จะต้องใช้กฎหมายทะเลเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจรจา และจะต้องมีการจัดทำ Code of conduct เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย

ผมมองว่า การที่สหรัฐฯเข้ามาเป็นสมาชิก EAS ก็เพื่อต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้จีนกับประเทศอาเซียนทะเลาะกัน ก็เป็นเป้าหมายเพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาค และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร

ฟิลิปปินส์

ในปี 2011 และต่อเนื่องถึงปี 2012 สหรัฐฯยังคงเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตร

สำหรับพันธมิตรที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯมองว่า ฟิลิปปินส์ยังมีสมรรถนะภาพทางทหารที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯจึงพยายามที่จะเข้ามาช่วยพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้เข้มแข็ง

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Clinton ได้เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์ และหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ โดยได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ซึ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง

อินโดนีเซีย

อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ อินโดนีเซีย โดย Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียมาแล้ว 2 ครั้ง และสหรัฐฯได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหาร โดยเฉพาะขีดความสามารถของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ โดยจะเน้นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย ในการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้

พม่า

อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คือ พม่า ในอดีต ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อพม่า คือ การโดดเดี่ยวและการคว่ำบาตร แต่พอมาถึงรัฐบาล Obama ก็ได้ข้อสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินมากว่า 20 ปี นั้นล้มเหลว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน และยังทำให้จีนเข้าครอบงำพม่าอีกด้วย

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ซึ่งทำให้สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยเริ่มปฏิสัมพันธ์ด้วยการส่งผู้แทนพิเศษของ Obama คือ Derek Mitchell เงื่อนไขของสหรัฐฯ คือ รัฐบาลพม่าจะต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง 2,000 คน ต้องมีการปรองดองกับฝ่ายค้านและชนกลุ่มน้อย ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง UN เรื่องการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย Mitchell ได้เดินทางไปเยือนพม่า 3 ครั้ง และได้ประกาศว่า ได้มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในพม่า หลังจากนั้น Clinton ก็ได้เดินทางไปเยือนพม่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์การทูตในเชิงรุกต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2010 เรื่อยมาจนถึงปี 2011 และในปี 2012 เราก็คงจะต้องจับตามองกันต่อว่า สหรัฐฯจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างไรต่อไป

จีนมองอาเซียน ปี 2011-2012

จีนมองอาเซียน ปี 2011-2012

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
22 มกราคม 2555

คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่ออาเซียน และต่อมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งจะแบ่งเป็นหัวข้อได้ ดังนี้

อาเซียน-จีน

ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ โดยได้มีการเยือนประเทศอาเซียนหลายประเทศจากผู้นำระดับสูงของจีนหลายครั้ง

สำหรับในกรอบของความสัมพันธ์จีนกับองค์กรอาเซียน ในช่วงปลายปีที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่อินโดนีเซีย และในเดือนตุลาคม ได้มีการจัด China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 8 ที่เมืองหนานหนิง ในขณะนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของจีน การค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในปี 2011 สำหรับในด้านการลงทุน ปีที่แล้ว อาเซียนลงทุนในจีน มีมูลค่า 67,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีน ลงทุนในอาเซียน มูลค่า 13,500 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จีนต้องตกเป็นฝ่ายรับ เมื่อปัญหาในทะเลจีนใต้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมดังกล่าว

แต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในเดือนพฤศจิกายน จีนก็ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียน โดยจีนได้ประกาศวงเงินกู้สำหรับอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญ จากที่เคยประกาศให้กู้ไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญ

แต่จีนก็ได้แสดงความไม่พอใจ เมื่อเวียดนามได้ลงนามกับอินเดีย ในโครงการร่วมขุดเจาะน้ำมันในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตน โดยจีนมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขัดแย้งกับจีนในกรณีทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ได้พยายามดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาวุ่นวายกับปัญหานี้ เพื่อถ่วงดุลจีน สื่อของจีนได้วิเคราะห์ว่า มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่อง ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเรื่องนี้ อาทิ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับอินเดีย การที่ญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนามและกับฟิลิปปินส์

สำหรับในกรณีของฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ China Daily ได้กล่าวโจมตีการเสริมสร้างสมรรถนะภาพของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ โดยได้กล่าวหาว่า การที่สหรัฐฯได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ ก็เพื่อที่จะปิดล้อมจีน และป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นในภูมิภาค โดย Hillary Clinton ได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และได้ลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration กระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง

สหรัฐฯ

เห็นได้ชัดว่า จีนมองว่าสหรัฐฯคืออุปสรรคสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค สื่อของจีนได้โจมตีสหรัฐฯอย่างรุนแรงในหลายๆเรื่อง โดยโจมตีสหรัฐฯ ที่หยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในระหว่างการประชุม EAS ที่บาหลี ทั้งๆที่จีนได้ยืนกรานว่า EAS ควรจะเน้นหารือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ

สำหรับข้อเสนอ TPP ของสหรัฐฯนั้น จีนได้สงวนท่าทีมาโดยตลอด โดยจีนได้วิเคราะห์ว่า หากญี่ปุ่น และประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP ผลก็คือ จะเป็นการโดดเดี่ยวจีน

นอกจากนี้ การเยือนพม่าของ Hillary Clinton ในเดือนธันวาคม นักวิเคราะห์จีนได้มองว่า จะทำให้อิทธิพลของจีนในพม่าลดลง นอกจากนี้ การที่พม่าตัดสินใจ ในเดือนกันยายน ที่จะระงับการก่อสร้างเขื่อน ที่เมือง Myitsone ซึ่งจีนตั้งใจว่าจะลงทุนสร้างให้กับพม่า ทำให้นักวิเคราะห์จีนมองว่า ผู้นำพม่ากำลังเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจ โดยพยายามลดความสัมพันธ์กับจีนลง และพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับตะวันตก สหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอาเซียน เพื่อมาถ่วงดุลจีน บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีน ได้วิเคราะห์ว่า กรณีการระงับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า พม่ากำลังต้องการใกล้ชิดกับตะวันตก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การเยือนพม่าของ Clinton วาระซ่อนเร้น ก็คือ การต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนนั่นเอง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การที่ออสเตรเลียยอมให้สหรัฐฯส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลียนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางทหาร โดยนอกจากออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯก็กำลังกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ทั้งกับฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มที่จีนมองมาที่อาเซียนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการมองสหรัฐฯนั้น เป็นการมองในแง่ลบเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012

วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 – วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555

ภูมิหลัง

วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านยืดเยื้อมานานหลายปี โดยตะวันตกได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด

แต่เมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ IAEA ออกมาประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้นมาก

และเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา IAEA ได้ยืนยันว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมถึง 20% ในโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินใกล้เมือง Qom นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกวิเคราะห์ว่า หากอิหร่านสามารถเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมได้ถึง 20% อิหร่านจะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 2-6 เดือน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งได้ประกาศกฎหมายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านล่าสุด โดยรวมถึงการคว่ำบาตรธนาคารกลางของอิหร่านด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นอย่างมาก

สำหรับมาตรการตอบโต้ของอิหร่านนั้น ในช่วงต้นเดือนมกราคม อิหร่านได้ขู่ว่า จะปิดช่องแคบ Hormuz เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด อิหร่านตัดสินประหารชีวิตชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสายลับ CIA และต่อมา ได้มีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านก็กล่าวหาว่า น่าจะเป็นฝีมือของสหรัฐฯ หรืออิสราเอล

บทบาทของสหรัฐฯ

สำหรับในสหรัฐฯ เรื่องอิหร่านกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก ในหมู่นักการเมือง ทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต โดยเฉพาะในปีนี้ เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องนโยบายต่ออิหร่าน โดยได้โจมตีประธานาธิบดี Obama ว่า ประสบความล้มเหลวในนโยบายต่ออิหร่าน และมีนโยบายที่อ่อนข้อให้อิหร่านมากเกินไป Mitt Romney ตัวเต็งอันดับ 1 ที่จะมาแข่งกับ Obama ประกาศกร้าวว่า อิหร่านคือภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ และโจมตี Obama ว่า ล้มเหลวที่จะเข้าใจถึงอันตรายดังกล่าว เช่นเดียวกับ Newt Gingrich ก็ได้กล่าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะดำเนินนโยบายในการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน

สำหรับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ในตอนแรก ได้ประกาศจะปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่าน แต่อิหร่านก็ไม่เล่นด้วย ต่อมา Obama หันกลับมาใช้ไม้แข็งมากขึ้น ด้วยมาตรการคว่ำบาตรด้วยรูปแบบต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ผล อิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีคลัง Timonthy Geithner ได้เดินทางไปจีนและญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศ ลดหรือยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน แต่ดูเหมือนกับว่า จีนคงไม่ยอมทำตามสหรัฐฯ เพราะอิหร่านเป็นแหล่งป้อนน้ำมันรายใหญ่ของจีน

ล่าสุด Obama ได้ประกาศเป็นนโยบายว่า สหรัฐฯกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆอยู่ทุกทางเลือก ซึ่งรวมถึงทางเลือกในการใช้กำลังทางทหารต่ออิหร่านด้วย

ในขณะที่พรรครีพับลิกันโจมตี Obama ว่า ยอมอิหร่านมากเกินไป แต่นักวิจารณ์จากทางปีกซ้ายของพรรคเดโมแครต และพวกเสรีนิยม กลับกล่าวโจมตี Obama ว่า ข้อผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของ Obama คือ Obama ยุติการปฏิสัมพันธ์กับอิหร่านเร็วเกินไป โดยได้โจมตี Obama ว่าล้มเหลว ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของบราซิลและตุรกี ที่พยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยกลุ่มนี้ มองว่า การทูตน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้

แนวโน้มสงคราม

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในขณะนี้ ที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวล คือ สงครามระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯร่วมกับอิสราเอล ในการโจมตีอิหร่าน อาจจะเกิดขึ้น โดยหากวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีหลายเหตุการณ์ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และอาจลุกลามไปถึงขั้นการใช้กำลังได้ โดย scenario ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ การที่สหรัฐฯหรืออิสราเอล ใช้เครื่องบินหรือขีปนาวุธโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน

แต่ก็มีหลายฝ่ายได้ออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบในทางลบ หากมีการใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะสงครามอาจลุกลามบานปลาย อิหร่านอาจปิดช่องแคบ Hormuz และอาจโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ รวมทั้งสนับสนุนการก่อการร้าย

แต่สำหรับในมุมมองของอิหร่าน หนังสือพิมพ์ Tehran Times ได้วิเคราะห์ว่า ตะวันตกกำลังใช้เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านมาเป็นข้ออ้างในการเปิดฉากสงครามครั้งใหม่ในภูมิภาค ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ต่ออิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับรัสเซียและจีน ก็ได้ออกมาต่อต้านแนวโน้มการใช้กำลังต่ออิหร่าน โดยหนังสือพิมพ์ Pravda ได้กล่าวเตือนสหรัฐฯว่า สหรัฐฯกำลังจะทำให้โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งใหม่ ส่วนหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีน ก็ได้มองว่า เป็นโอกาสของจีนที่จะได้เพิ่มอิทธิพลทางการทูตในภูมิภาค ด้วยการที่จีนจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการทูตต่ออิหร่าน ทั้งนี้เพราะจีนไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ ปี 2012

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ ปี 2012

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
15 มกราคม 2555

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯล่าสุด ซึ่งเอกสารมีชื่อว่า “Sustaining U.S. Global Leadership : Priorities for 21st Century Defense” คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์เอกสารดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม

สภาวะแวดล้อมทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านการเงิน ทำให้ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสหรัฐฯใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นความพร้อมในการทำสงครามในปัจจุบัน ไปเป็นการเตรียมการสำหรับสิ่งท้าทายในอนาคต และเน้นการปฏิรูป และข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้ต้องมีการตัดลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศลง และทำให้สหรัฐฯจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของภัยคุกคาม และภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ

การก่อการร้าย

การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แม้ว่าในปีที่แล้ว จะได้สังหาร Osama Bin Laden ได้ และมีการจับกุมและสังหารผู้นำ al-Qaeda เป็นจำนวนมาก ทำให้ al-Qaeda อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม กลุ่ม al-Qaeda และองค์กรสาขาแนวร่วมต่างๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในปากีสถาน อัฟกานิสถาน เยเมน และโซมาเลีย ดังนั้น ความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายจะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯและพันธมิตร โดยภัยคุกคารมที่สำคัญจะอยู่ที่เอเชียใต้และตะวันออกกลาง และด้วยการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอาวุธร้ายแรง จะทำให้กลุ่มก่อการร้ายมีศักยภาพที่จะโจมตีสหรัฐฯด้วยอาวุธร้ายแรงในอนาคต

ดังนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐฯในอนาคต คือ การเฝ้าระวังและติดตามภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ร่วมมือกับพันธมิตร และโจมตีกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง

เอเชีย

สำหรับในแง่ของภูมิภาค เอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีลำดับความสำคัญที่สุดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯจะปรับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐฯจะขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ๆทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะกับอินเดีย สหรัฐฯก็กำลังจะปรับความสัมพันธ์ให้เป็นลักษณะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในอนาคต

การดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ การค้าเสรี และอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาค ขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาค ในระยะยาว การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค จะกระทบต่อผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของอำนาจทางทหารของจีน หากไม่มีความชัดเจนในแง่ของเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ สหรัฐฯจึงจะต้องเพิ่มบทบาททางทหาร เพื่อปกป้องการเข้าถึงภูมิภาคและการปฏิบัติการอย่างเสรี เพื่อธำรงไว้ซึ่งพันธกรณีกับพันธมิตร และรักษากฎหมายระหว่างประเทศ

ผมมองว่า ยุทธศาตร์ทหารของสหรัฐฯในอนาคต จะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยสำคัญ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน สหรัฐฯมองว่า จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง และท้าทายความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ the rise of Asia ก็จะทำให้เอเชียเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งสหรัฐฯก็จะต้องใช้กำลังทางทหารในการปกป้องผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคของตนไว้

ตะวันออกกลาง

สำหรับภูมิภาคที่มีความสำคัญรองลงมาจากเอเชีย คือ ตะวันออกกลาง ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง จะเน้นการต่อต้านการก่อการร้าย และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงและขีปนาวุธ ยุทธศาสตร์สหรัฐฯจะเน้นป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ปกป้องความมั่นคงของอิสราเอล และหาหนทางสร้างสันติภาพที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตะวันออกกลาง การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯจะต้องคงกองกำลังทหารในภูมิภาคต่อไป รวมทั้งสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาค

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ทหารใหม่ของสหรัฐฯในปี 2012 ยังคงให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ในแง่ของภูมิภาค เอเชียมีความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ ตะวันออกกลาง ส่วนภูมิภาคอื่นๆมีความสำคัญลดลง โดยเฉพาะ ยุโรป อัฟริกา และลาตินอเมริกา