Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์สหรัฐปี 2014

ตีพิพม์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2557

เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี Barack Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐล่าสุด คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าวดังนี้
รัสเซีย
สถานการณ์โลกขณะนี้ Obama มองว่ามี 2 เรื่องใหญ่ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ เรื่องแรกคือ พฤติกรรมของรัสเซีย โดยเฉพาะในกรณีการผนวกคาบสมุทรไครเมีย และความตึงเครียดทางตะวันออกของยูเครน
Obama มองว่า ในอดีต นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ได้มีกติกาโลกเกิดขึ้นว่า ประเทศหนึ่งจะไปยึดครองอีกประเทศหนึ่งไม่ได้ แต่พฤติกรรมของรัสเซียในวิกฤตยูเครน ได้ท้าทายกติกาโลกดังกล่าว การผนวกไครเมียเป็นของรัสเซีย ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาลยูเครน นอกจากนี้ รัสเซียยังสนับสนุนฝ่ายกบฏทางตะวันออกของยูเครน ก่อให้เกิดความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
รัสเซียกำลังจะเปลี่ยนกติกาโลกว่า การใช้อำนาจทางทหารเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และประเทศหนึ่งสามารถยึดครองอีกประเทศหนึ่งได้ จุดยืนของสหรัฐตรงข้ามกับรัสเซีย สหรัฐยึดมั่นในหลักการว่า ประเทศใหญ่ไม่ควรรังแกประเทศเล็ก ดังนั้น สหรัฐและพันธมิตรจึงสนับสนุนประชาชนชาวยูเครน ที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ สหรัฐจะกระชับพันธมิตรนาโต้ และจะยึดมั่นในหลักการการป้องกันร่วมกัน โดยจะลงโทษรัสเซียในฐานะผู้รุกราน
               Obama มองว่า ทางออกวิกฤตยูเครนคือ ข้อตกลงหยุดยิง และหากรัสเซียยอมเดินตามแนวทางนี้ สหรัฐจะยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย และจะต้อนรับรัสเซียให้กลับมามีบทบาทในการจัดการกับปัญหาโลกร่วมกัน  แต่ขณะนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่า สหรัฐกับรัสเซีย จะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันได้หรือไม่ หรือว่าสหรัฐกับรัสเซียจะกลับกลายเป็นศัตรูกันเหมือนในอดีต
               นั่นคือสุนทรพจน์ของ Obama ซึ่งผมขอวิเคราะห์ว่า การผนวกไครเมียของรัสเซียถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบโลก โดยผมขอเรียกว่า ระเบียบโลกในยุคหลังการผนวกไครเมีย ซึ่งระเบียบโลกใหม่นี้ ตะวันตก โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กลับมาขัดแย้งกับรัสเซียอย่างชัดเจน คล้ายๆกับสมัยสงครามเย็น และรัสเซียได้เปลี่ยนกติกาโลกใหม่ คือประเทศใหญ่สามารถใช้กำลังทางทหารยึดครองดินแดนของประเทศเล็กได้
แต่หากจะวิเคราะห์ว่า อะไรเป็นสาเหตุทำให้รัสเซียมีพฤติกรรมเช่นนี้ ผมขอตอบว่า สหรัฐและตะวันตกไม่เคยโทษตัวเอง แต่จริงๆแล้ว ต้นตอของปัญหา ก็มาจากสหรัฐและตะวันตกนั่นเอง ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐพยายามขยายอิทธิพลเข้าครองงำเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียต สหรัฐมียุทธศาสตร์ชัดเจน คือการปิดล้อมรัสเซีย สกัดกั้นการขยายอิทธิพลของรัสเซีย และพยายามจะกดรัสเซียไว้ ต้นตอของวิกฤตมาจากเหตุการณ์ในปี 2006 ที่สหรัฐได้เชิญยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจมาก ปูตินจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย และจะไม่ยอมให้สหรัฐและตะวันตกมาปิดล้อมรัสเซียอีกต่อไป
               นอกจากนั้น จริงแล้วๆ รัสเซียก็ไม่ได้เป็นประเทศแรก ที่ละเมิดกติกาโลกที่บอกว่า ประเทศใหญ่จะไม่รุกรานประเทศเล็กโดย 10 ปีที่แล้ว สหรัฐนั่นแหละที่เป็นประเทศแรก ที่ฉีกกติกาโลกที่ตัวเองสร้างขึ้นมา โดยส่งทหารบุกยึดอัฟกานิสถานในปี 2001 และบุกยึดอิรักในปี 2003 ดังนั้น เมื่อผมอ่านสุนทรพจน์ของ Obama ที่บอกว่าสหรัฐไม่สนับสนุนประเทศใหญ่ให้รังแกประเทศเล็ก จึงฟังดูแล้วรู้สึกว่า เป็นเรื่องตลก
               การก่อการร้ายสากล
               ภัยคุกคามสหรัฐ นอกจากรัสเซียแล้ว ก็เป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล ซึ่งได้ฟื้นคืนชีพและลุกลามบานปลายไปทั่วตะวันออกกลาง
               Obama ได้กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐได้ดำเนินสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะต่อกลุ่ม al Qaeda ได้มีการสังหารผู้นำและทำลายฐานที่มั่น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐจะสามารถลดบทบาทกลุ่ม al Qaeda ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ได้เกิดกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใหม่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ Obama ได้เสนอให้ประชาคมโลกร่วมกับสหรัฐ ในการจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย โดยมียุทธศาสตร์4 ประการด้วยกัน
               ประการแรก กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใหม่ที่มีช่อว่า Isis หรือ IS (Islamic State)  จะต้องถูกทำลาย กลุ่มนี้กำลังปฏิบัติการก่อการร้ายในอิรักและซีเรีย สหรัฐจะร่วมกับแนวร่วมในการทำลายกลุ่มดังกล่าว โดยจะสนับสนุนชาวอิรักและซีเรีย จะใช้การโจมตีทางอากาศโจมตีกลุ่ม IS สนับสนุนกองกำลังในการต่อการกลุ่มก่อการร้าย ตัดเส้นทางการเงิน และป้องกันไม่ให้มีสมาชิกเข้าร่วมกับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ตอนนี้มีกว่า 40 ประเทศแล้ว ที่เข้าร่วมเป็นแนวร่วมกับการดำเนินการดังกล่าว
               ประการที่สอง ประชาคมโลกโดยเฉพาะชุมชนชาวมุสลิมจะต้องปฏิเสธอุดมการณ์ al Qaeda และ IS โดยจะต้องมีการยับยั้งการบิดเบือนศาสนาที่มอมเมาเยาวชนชาวมุสลิม ให้เกิดความเกลียดชังต่อคนที่นับถือศาสนาอื่น จะต้องมีการตัดเส้นทางการเงิน และจะต้องมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ทั้งในอินเตอร์เน็ตและโซเซียลมีเดีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำลังจะมีข้อมติ ให้รัฐสมาชิกต่อต้านอุดมการณ์หัวรุนแรง โดยจะมีมาตรการต่างๆออกมา อาทิ มาตรการหยุดยั้งการสอนศาสนาที่บิดเบือน และส่งเสริมสถาบันและโครงการที่จะสร้างความเข้าใจต่อกันแม้ว่าจะต่างศาสนากัน
               ประการที่สาม ประชาคมโลกจะต้องหาหนทางยุติความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างนิกายสุหนี่และชีอะห์ ที่กำลังลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง
               และประการสุดท้าย ประการที่สี่ โลกมุสลิม จะต้องให้ความสำคัญกับเยาวชน จะต้องมีการสร้างประชาสังคมที่แท้จริงให้เกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเช่นนี้ จะไม่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนา Obama ได้ยกตัวอย่างมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่กำลังพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็กำลังพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ
               สำหรับบทบาทของสหรัฐนั้น จะช่วยสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ส่งเสริมการต่อต้านอุดมการณ์หัวรุนแรง หาหนทางยุติความขัดแย้งระหว่าง 2 นิกาย และสนับสนุนการสร้างประชาสังคมสร้างผู้ประกอบการ การศึกษาสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมทั้งสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
               นั่นคือสุนทรพจน์ของ Obama ซึ่งผมขอวิเคราะห์ว่ายุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้ายของ Obamaล่าสุด ไม่ได้แตกต่างกับยุทธศาสตร์ที่เคยประกาศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐก็ไม่สามารถทำตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ได้ ในที่สุด สิ่งที่สหรัฐทำมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือยุทธศาสตร์การทำลายล้างและการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา สงครามอุดมการณ์ สหรัฐก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
               สหรัฐไม่เคยยอมรับว่า รากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่ง มาจากพฤติกรรมของสหรัฐนั่นเอง โดยเฉพาะพฤติกรรมการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ นโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลาง การยึดครองอิรักและอัฟกานิสถาน และการลำเอียงเข้าข้างอิสราเอล พฤติกรรมของสหรัฐไม่ทำให้ชาวมุสลิมไว้ใจสหรัฐเลย แต่กลับทำให้ชาวมุสลิมเป็นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า สหรัฐกำลังทำสงครามต่อต้านอิสลาม และสหรัฐและตะวันตกต้องการกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิม ซึ่งก็คือการปะทะกันทางอารยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง


วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อาเซียนกับปัญหาทะเลจีนใต้

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2557 

               อาเซียนกับการจัดการความขัดแย้งในอดีต
               ในช่วง 47 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้มีวิธีการในการจัดการกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะระหว่างประเทศสมาชิก 3 วิธีการด้วยกัน
               วิธีการที่ 1 เป็นวิธีการจัดการแบบทางอ้อม คือในแต่ละปี อาเซียนมีการประชุมหลายร้อยการประชุม เจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกได้พบปะกันเป็นประจำ ทำให้เกิดความคุ้นเคยสนิทสนม และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการได้ นอกจากนี้ การขยายจำนวนสมาชิกจาก 5 ประเทศเป็น 10 ประเทศ เป็นการจัดการความขัดแย้งทางอ้อมอีกวิธีหนึ่ง โดยประเทศสมาชิกจะรู้สึกว่าอยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีปัญหาอะไรก็คงจะถ่อยทีถ่อยอาศัยกันได้ และนอกจากจะมีการประชุมในกรอบอาเซียนแล้ว ยังมีกลไกเจรจาในระดับทวิภาคี ซึ่งก็เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก
               วิธีการที่ 2 คือ การใช้กลไกที่เป็นทางการ กลไกสำคัญคือ สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือ หรือ Treaty of Amity and Cooperation (TAC) ซึ่งมีมาตรากำหนดไว้ว่า หากภาคีสนธิสัญญาขัดแย้งกัน จะมีการจัดตั้งHigh Council ขึ้นมา เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมา อาเซียนไม่เคยมีการจัดตั้ง High Council ขึ้นมาเลย นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ก็มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่เป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งด้วย
               สำหรับวิธีการที่ 3 คือ การใช้กลไกแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นกลไกหลักของการจัดการความขัดแย้งของอาเซียน คือการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ใช้การทูตแบบไม่เป็นทางการ ใช้ระบบฉันทามติ สร้างเครือข่าย และใช้ประเทศที่สามในการไกล่เกลี่ยอย่างไม่เป็นทางการ
               ตลอดเวลา 47 ปีที่ผ่านมา อาเซียนถือได้ว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การป้องกันความขัดแย้ง และการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งอาเซียนได้ใช้กลไกไม่เป็นทางการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อาเซียนไม่ค่อยได้ใช้กลไกที่เป็นทางการ โดยเฉพาะ High Council ซึ่งไม่เคยถูกจัดตั้งขึ้นมาเลย การใช้กลไกการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ในปี 2011 ในกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา แต่อาเซียนก็ไม่สามารถที่จะจัดการความขัดแย้งไทย-กัมพูชาได้ อุปสรรคสำคัญคือ การยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และความไม่ไว้วางใจกันในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
               อาเซียนกับการจัดการความขัดแย้งในอนาคต
               สำหรับแนวโน้มในอนาคต การจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC)  เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือ การพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งใน blueprint ของ APSC ได้มีการกำหนด มาตรการต่างๆไว้ดังนี้
               มาตรการป้องกันความขัดแย้ง จะเสริมสร้างมาตรการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (CBM) การพัฒนา ระบบเตือนภัยล่วงหน้า การจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เป็นต้น
               สำหรับมาตรการจัดการความขัดแย้ง จะพัฒนาทั้งเครื่องมือทางการทูตและเครื่องมือทางกฎหมาย โดยเครื่องมือทางการทูต จะพัฒนาวิธีการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอามาใช้จัดการความขัดแย้งในอาเซียน อาทิ การที่อาเซียนจะเล่นบทบาทการเจรจา good office  บทบาทการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย (mediation) สำหรับเครื่องมือทางกฎหมายนั้น จะเน้นการใช้ประโยชน์จาก TAC โดยเฉพาะการจัดตั้ง High Council กลไกอนุญาโตตุลาการ และกลไกทางศาล
               ผมมองว่า ในอนาคต อาเซียนควรใช้ทั้งมาตรการของ APSC ควบคู่กันไปกับวิธีที่อาเซียนได้ใช้มาตลอดคือวิธีการจัดการกับความขัดแย้งทางอ้อมและวิธีที่ไม่เป็นทางการ
               การจัดการความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
               สำหรับบทบาทของอาเซียนในการจัดการความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น ผมขอแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว ดังนี้
               สำหรับมาตรการระยะสั้น เป้าหมายคือ การ contain การป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายไป มากกว่านี้ และการ freeze หรือการแช่แข็งปัญหา มาตรการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ การแปลง DOC (Declation on the Conduct of Parties in the South China Sea )  สู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีมาตรการสำคัญอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องที่ 1 คือ การพัฒนาบรรทัดฐานหรือ norms โดยเฉพาะการพัฒนา COC (Code of Conduct) เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนามาตรการ CBM เรื่องที่ 3 คือ การเจรจาระหว่างอาเซีนกับจีน ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำประเทศ ซึ่งการเจรจาก็ควรจะคู่ขนานกับไปทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี และเรื่องที่ 4 คือ การพัฒนาความร่วมมือกันในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่มีความละเอียดอ่อน เช่น ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
               สำหรับมาตรการในระยะยาวนั้น เป้าหมายคือ การแก้ไขความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ซึ่งผมมองว่า อาเซียนน่าจะพิจารณาเอาวิธีการในการจัดการความขัดแย้งระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง มาใช้จัดการกับความขัดแย้งระหว่างอาเซียนกับจีน ในปัญหาทะเลจีนใต้ โดยจะมี 4 เรื่องสำคัญคือ
               เรื่องที่ 1 การนำเอาวิธีการจัดการความขัดแย้งของอาเซียนที่มีลักษณะเป็นทางอ้อมและไม่เป็นทางการมาใช้ในการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ คือการส่งเสริมให้มีการประชุมหารือกันบ่อยๆ ระหว่างจีนกับอาเซียน การพัฒนากรอบอาเซียน-จีน และอาเซียน + 3 ที่จะทำให้อาเซียนกับจีน มีความรู้สึกเหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งก็เป็นวิธีการทางอ้อม ส่วนวิธีการที่ไม่เป็นทางการคือ การส่งเสริมการหารือแบบไม่เป็นทางการ ระหว่างจีนกับอาเซียน สร้างฉันทามติ สร้างเครือข่าย และหาตัวกลางไกล่เกลี่ยที่เราเรียกว่า honest broker
               เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาการทูตเชิงป้องกันระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเน้นการพัฒนา CBM และการจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ระหว่างอาเซียนกับจีน  
               เรื่องที่ 3 คือ การแก้ไขความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้เครื่องมือทางการทูตและเครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่งเครื่องมือทางการทูตที่สำคัญคือการเจรจา เป้าหมายการเจรจาในระยะยาวคือการเจรจา JDA (Joint Development Area) นอกจากนี้ อาเซียนควรใช้เครื่งมือทางกฎหมายควบคู่กันไปด้วย โดยเน้นการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนา COC และการพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง High Council ในกรอบ TAC เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่ง ในการจัดการความขัดแย้งระหว่างจีนกับอาเซียน
               และเรื่องที่ 4 คือยุทธศาสตร์ทางการเมือง โดยอาเซียนต้องพยายามมีเอกภาพในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับจีน และจะต้องมีการถ่วงดุลอำนาจทางด้านยุทธศาสตร์และทางทหารด้วย
               อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้น เมื่อประเทศคู่กรณีไม่มีความหวาดระแวงต่อกัน และมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน มีอัตลักษณ์ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะต้องพยายามพัฒนาให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทะเลจีนใต้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป


           

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2557

               เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยยูนนาน ที่เมืองคุนหมิง ให้ไปเข้าร่วมในการประชุม “China-ASEAN Relations: Review and Prospect” และได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “The Achievements of China-ASEAN Dialogue In the Past 23 Years”  คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะสรุปสาระสำคัญของสุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               การผงาดขึ้นมาของจีน
               ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผงาดขึ้นมาของจีน หรือ the rise of China และการผงาดขึ้นมาของอาเซียน หรือ the rise of ASEAN
               สำหรับการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 10 % ต่อปี ขนาดเศรษฐกิจของจีนหรือ GDP ขณะนี้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ แต่ในอนาคต ประมาณ 10 ปีข้างหน้า คือประมาณปี 2025 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่ค้าขายกับโลกเป็นอันดับ 1 การลงทุนในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จีนก็เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ของโลก
               ดังนั้น อิทธิพลของจีนจะเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง อิทธิพลของจีนจะมีในทุกมิติ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์หลักของจีนคือ การเปลี่ยนระบบโลกจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการประกาศสโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” หรือ peaceful rise
               การผงาดขึ้นมาของอาเซียน
               และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วคือ การผงาดขึ้นมาของอาเซียน 47 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้วิวัฒนาการกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในทุกๆมิติ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ปลายปี 2015 จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น โดยจะมี 3 ประชาคมย่อย ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               อาเซียนจึงเป็นการรวมกลุ่มของภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะเป็นรองก็แต่เพียงกับสหภาพยุโรปเท่านั้น
               10 ประเทศอาเซียนรวมกันมีประชากรกว่า 600 ล้านคน GDP รวมกันกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกพัฒนา ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ในปี 2030 GDP ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็ 7-8 ล้านล้านเหรียญ จะเป็นอันดับ 5 ของโลก
               อาเซียนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นตัวแสดงในระดับภูมิภาคและในระดับโลก อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของการทูตในภูมิภาค ซึ่งใช้คำว่า ASEAN Centrality อาเซียนมีกรอบความร่วมมือหลายกรอบ ทั้ง ASEAN + 1 ASEAN + 3 และ ASEAN + 8
               ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
               และด้วยการผงาดขึ้นมาของทั้งอาเซียนและจีนดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
               ในด้านการเมืองความมั่นคง จีนเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือของอาเซียน หรือที่เราเรียกย่อๆว่า TAC รวมทั้งสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเครียร์หรือ SEANWFZ ในปี 2002 มีปฏิญญาความร่วมมือความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และปฏิญญาทะเลจีนใต้หรือ DOC ต่อมาในปี 2003 มีปฏิญญาที่ทำให้จีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ประเทศแรกของอาเซียน ล่าสุดก็มีการจัดตั้ง Maritime Cooperation Fund ขึ้น
               สำหรับในด้านสังคมและวัฒนธรรม มีความร่วมมือกันหลายด้าน ทางด้านวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนก็มีมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในด้านใหม่ๆเกินขึ้น เช่น ด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
               แต่ที่เป็นหัวใจความสัมพันธ์อาเซียน-จีน คือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
               ด้านการค้า ขณะนี้จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน มีเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนตั้งแต่ปี 2010 การค้าขยายตัว 20 % ทุกปี จนในปี 2015 คาดว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านเหรียญ และได้มีการตั้งเป้าว่า ในปี 2020 มูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญ
               สำหรับในด้านการลงทุน ในปี 2005 ได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียน-จีน ปี 2009 มีการจัดตั้ง Investment Cooperation Fund วงเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อลงทุนในการสร้างโครงสร้าง พื้นฐาน เชื่อมการคมนาคมระหว่างจีนกับอาเซียน ตามแผนแบบบทการเชื่อมโยงอาเซียน หรือ Master Plan on ASEAN Connectivity และล่าสุดปีที่แล้ว ได้มีการเดินหน้าในการจัดตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank
               สำหรับในด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมาอาเซียนเพิ่มขึ้น 20 % ทุกปี ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาอาเซียนมากกว่า 10 ล้านคน สำหรับนักท่องเที่ยวจากอาเซียนไปจีน ก็มีตัวเลขใกล้เคียงกันคือประมาณเกือบ 10 ล้านคน
               สำหรับความร่วมมือในการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างอาเซียน-จีนนั้น มีข้อตกลง ASEAN-China Inter Connectivity และ ASEAN-China Transportation Linkage จีนได้กำหนดให้เมืองคุนหมิงและหนานหนิงเป็นประตูสู่อาเซียน โดยมีโครงการสร้างถนนและทางรถไฟจากเมืองทั้ง 2 เข้ามาในอาเซียน โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่จะมีถนนจากคุนหมิงมาถึงสิงคโปร์ นอกจากนี้ มีโครงการสร้างทางรถไฟหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงไปถึงสิงคโปร์ผ่านทางเวียดนาม และอีกเส้นก็จะผ่านทางพม่า มาไทยและลงไปสิงคโปร์ รวมทั้งโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน ลาว และไทยด้วย
               อนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
               สำหรับแนวโน้มความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต ก็จะกระชับแน่นแฟ้นขึ้นอีก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยในปี 2020 จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ในด้านการลงทุน

ในปี 2020 มูลค่าการลงทุนจากจีนมาอาเซียนจะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญ โดยจะเป็นการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีนกับอาเซียนตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งขณะนี้ จีนก็กำลังพัฒนาแผนเส้นทางถนนและรถไฟเชื่อมอาเซียนอีกหลายเส้นทาง ซึ่งทุกเส้นทางก็จะตัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด ดังนั้น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน-จีนเหล่านี้ จึงมีมีนัยอย่างสำคัญยิ่งต่อไทย
               นอกจากนี้ ก็กำลังจะมีการเจรจาปรับปรุง FTA อาเซียน-จีนกันใหม่ โดยจะให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เน้นการเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน และเชื่อม FTA อาเซียน-จีนกับประชาคมเศรษกิจอาเซียน และมีข้อเสนอการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจอาเซียน-จีน หรือ ASEAN-China Economic Area และการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจจีน-สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในอาเซียน นอกจากนี้ จีนก็กำลังผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ เรียกว่า Maritime Silk Road ซึ่งจะเป็นการเชื่อมทางทะเลระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ด้วย
               อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์อาเซียน-จีนคือ ปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ลุกลามบานปลายมากขึ้น ดังนั้น ทั้งจีนและอาเซียนต้องรีบจัดการกับปัญหานี้ อย่าปล่อยให้ลุกลามบานปลายจนจะมาทำลายความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเน้นการพูดคุยเจรจา เพื่อหาสูตรข้อตกลงในลักษณะ win-win  ด้วยการเดินหน้าแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และเจรจา COC ให้ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายจะต้องยุติกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางทหาร โดยเน้น เจรจาในเรื่องของเขตพัฒนาร่วมหรือ JDA และร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ะเอียดอ่อน แต่ที่สำคัญมากคือจะต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหานี้ในระยะยาวต่อไป