สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2553
ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2553 ผมได้เขียนเกี่ยวกับสหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ตอนที่ 1 ไปแล้ว คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ล่าสุดของสหรัฐ ดังนี้
ยุทธศาสตร์สหรัฐ
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาคคือ การทำให้สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (US as the core of regional architecture) โดยยุทธศาสตร์จะมีลักษณะเป็นหลายๆ วง ซ้อนทับกัน โดยมีสหรัฐอยู่วงในสุด วงที่ 2 คือความสัมพันธ์ทวิภาคีกับพันธมิตร วงที่ 3 คือ เวทีเฉพาะกิจและเวทีอนุภูมิภาค วงที่ 4 คือ เวที APEC วงที่ 5 คือ เวที EAS และวงที่ 6 คือ สถาบันใหม่
สำหรับในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์รายละเอียดในวงที่ 3 คือ เวทีอนุภูมิภาค ซึ่งขณะนี้กำลังมีการผลักดัน FTA อนุภูมิภาค ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
สิ่งท้าทาย
เมื่อเร็วๆ นี้ Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน อดีตกุนซือนโยบายเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลคลินตัน ได้กล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับบูรณาการทางเศรษฐกิจในเอเชีย ที่จะส่งผลกระทบต่อสหรัฐเป็นอย่างมาก และสหรัฐจะต้องตอบสนองด้วยการผลักดัน TPP ขึ้นมา
Bergsten ได้วิเคราะห์ว่า สถาปัตยกรรมและบูรณาการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังมีแนวโน้มที่บูรณาการในภูมิภาค จะเป็นไปในลักษณะที่ประเทศในเอเชียจะรวมตัวกันเองโดยไม่มีสหรัฐ หลักฐานสำคัญคือ การเกิดขึ้นของ FTA อาเซียน+1 อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-อินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3 (อาเซียน+จีน+ญี่ปุ่น+เกาหลี) ซึ่งจะไม่มีสหรัฐ ในด้านการเงิน ได้มีการจัดตั้งความคิดริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งกำลังจะพัฒนาไปเป็นกองทุนการเงินแห่งเอเชีย (Asian Monetary Fund) Bergsten มองว่าสิ่งเหล่านี้ ในที่สุด จะนำไปสู่การจัดตั้ง Asian Bloc โดยกลุ่มเศรษฐกิจนี้จะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Bergsten วิเคราะห์ว่า แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก โดยจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศนอกกลุ่ม รวมทั้งต่อสหรัฐ เท่ากับเป็นการขีดเส้นแบ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะนำไปสู่การแตกสลายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
Bergsten มองว่า ผลกระทบจะไม่จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะลามไปถึงด้านการเมืองและความมั่นคงด้วย เพราะจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ประเทศในภูมิภาคไม่ต้องการที่จะเลือกระหว่างเอเชียกับสหรัฐ ดังนั้นการแตกสลายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจึงเป็นเรื่องน่าห่วงมาก
Trans-Pacific Partnership (TPP)
อย่างไรก็ตาม Bergsten มองว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลโอบามาในการผลักดัน FTA ในกรอบ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเผชิญกับสิ่งท้าทายดังกล่าวข้างต้น โดยรัฐบาลโอบามาได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการเจรจา TPP ซึ่งเป็น FTA ที่ได้เริ่มจาก 4 ประเทศ คือ ชิลี สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน และต่อมาได้ขยายจำนวนสมาชิก โดยมีสหรัฐ ออสเตรเลีย เปรู และเวียดนาม เข้าร่วม
Bergsten ได้เสนอเป้าหมายของการพัฒนา TPP ต่อไป โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีความคืบหน้าที่เด่นชัดในระหว่างการประชุมสุดยอด APEC ที่ฮาวาย ในปี 2011 โดยสหรัฐควรจะต้องผลักดัน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ จะต้องเจรจาข้อตกลง FTA ให้เรียบร้อยระหว่าง 8 ประเทศสมาชิก และหลังจากนั้น จะต้องพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกออกไป ประเทศที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมในอนาคตคือ แคนาดา มาเลเซียก็ได้แสดงความสนใจ และประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 1 หรือ 2 ประเทศอาจเข้าร่วม ส่วนญี่ปุ่นอาจตัดสินใจเข้าร่วม TPP ในช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด APEC ที่ โยโกฮามา ปลายปีนี้ ส่วนเกาหลีใต้มีแนวโน้มจะเข้าร่วมเช่นเดียวกัน
ผมมองว่า เป้าหมายของสหรัฐคือ จะใช้ TPP เป็นแกนกลางสำคัญของการทำ FTA ในภูมิภาค โดยจะค่อยๆ ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุด อาจจะบรรลุเป้าหมายที่สหรัฐได้ตั้งไว้ คือ TPP อาจจะกลายเป็น Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งเคยเป็นข้อเสนอที่สหรัฐเสนอในกรอบ APEC แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน สหรัฐคงจะได้บทเรียนว่า ถ้าจะจัดตั้ง FTA ทั้งภูมิภาคเลย อาจจะลำบาก ดังนั้น จึงน่าจะหันมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือเริ่มจากไม่กี่ประเทศก่อน แล้วค่อยขยายออกไป
สำหรับแนวโน้มคือ สหรัฐคงจะเริ่มผลักดัน TPP ในการประชุมสุดยอด APEC ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ และพอถึงปี 2011 สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ที่ฮาวาย ผมเดาว่า TPP คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุมสุดยอด APEC ที่ฮาวาย
ยุทธศาสตร์คู่ขนาน
นอกจากนี้ ในสุนทรพจน์ของ Bergsten เขาได้เสนอแนวคิดใหม่ที่อาจจะเรียกได้ว่ายุทธศาสตร์คู่ขนาน คือมองว่า การผลักดัน TPP นั้น ควรจะมีลักษณะเกื้อกูลกับ FTA ในภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว อาทิ FTA อาเซียนกับประเทศต่างๆ และ FTA ในกรอบ อาเซียน+3 และ อาเซียน+6
Bergsten ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคนอเมริกันไม่น้อย ที่ต่อต้านการจัดตั้งสถาบันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเอเชีย โดยแนวคิดนี้กลัวว่า การบูรณาการของเอเชียจะกีดกันสหรัฐออกไป และมองว่า เป็นแนวโน้มที่อันตราย ซึ่งจะต้องต่อต้าน แนวคิดนี้ยังมองด้วยว่า Asian Bloc จะถูกครอบงำโดยจีน และจะทำให้ดุลแห่งอำนาจในโลกเปลี่ยนไป ดังนั้น จึงต้องต่อต้าน อย่างไรก็ตาม Bergsten ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และมองว่ายุทธศาสตร์สำคัญคือ ยุทธศาสตร์คู่ขนาน
Bergsten วิเคราะห์ต่อไปว่า ในเอเชีย มีแนวคิดที่จะสนับสนุนการรวมกลุ่มในเอเชียก่อน โดยการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในเอเชียก่อน แล้วค่อยขยายออกไปเป็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง Bergsten ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยแนวคิดของ Bergsten คือ ยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย พร้อมๆ กับการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ผมมองว่า ยุทธศาสตร์คู่ขนานของ Bergsten นั้น ไม่ต่างจากยุทธศาสตร์ ”หลายวง” ของสหรัฐ ที่ผมได้วิเคราะห์ในตอนแรก คือ Bergsten สนับสนุนทั้งวงที่ 3 คือ วงเวทีอนุภูมิภาค วงที่ 4 คือ APEC และวงที่ 5 คือ East Asia Summit หรือ EAS สถาบันเหล่านี้จะพัฒนาคู่ขนานกันไป แต่วาระซ่อนเร้นของสหรัฐคือ วงต่างๆ เหล่านี้ ในที่สุด จะมีสหรัฐอยู่วงในสุด คือสหรัฐจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนั่นเอง