Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 4)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 4)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2556



                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ 3 ตอนที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของไทยต่อ 3 ประชาคมย่อยของประชาคมอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่รวมทั้ง 3 เสา มีลักษณะเป็น grand strategy ดังนี้
                ผลกระทบ
                จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน คือการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ
                ผลกระทบของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนต่อไทยนั้น ผลกระทบเชิงบวก คือ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ด้านกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์) รวมทั้งการจัดการภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความร่วมมือจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และค้ามนุษย์
                สำหรับผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไทยนั้น  ผลกระทบในเชิงบวก คือ สินค้าและบริการที่ไทยมีความได้เปรียบ จะมีโอกาสส่งออกไปในตลาดอาเซียนมากขึ้น ธุรกิจไทยจะมีโอกาสลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบ คือ สินค้าและบริการที่ไทยเสียเปรียบ อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับต่างประเทศ นอกจากนี้ จะมีการลงทุนจากประเทศอาเซียนในไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น
                สำหรับผลกระทบของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนต่อไทย คือ จะมีความร่วมมือระหว่างอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ คือ อาจจะมีปัญหาในด้านสังคมเพิ่มมากขึ้น อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาทางด้านสวัสดิการสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม
                จุดอ่อนและจุดแข็งของไทย
                สำหรับจุดแข็งของไทยในอาเซียน คือ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐาน  และศูนย์กลางการค้าภาคบริการ นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของอาเซียน และจะมีบทบาทนำในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
                อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีจุดอ่อนหลายประการ อาทิ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาวิกฤตการเมือง ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทย ที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยอันดับของคุณภาพชีวิตของประเทศไทย ตกจากอันดับ 50 ของโลก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 100 ของโลกในปัจจุบัน
                นอกจากนี้ไทยยังมีความไม่พร้อม ทั้งในด้านบุคลากร องค์กร กระบวนการทำงาน การให้บริการที่เพียงพอและมีคุณภาพ และฐานข้อมูลสารสนเทศ ในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

                วิสัยทัศน์
                จากการวิเคราะห์ผลกระทบและจุดแข็งจุดอ่อนของไทยดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อไทย ยุทธศาสตร์ของไทยก็จะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อรองรับต่อผลกระทบในเชิงบวก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรับ หรือมาตรการรองรับ สำหรับผลกระทบในเชิงลบ นอกจากนี้ ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้จุดอ่อนของประเทศไทย และยุทธศาสตร์ในการใช้จุดแข็งของไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยในประชาคมอาเซียน
                แม้ว่าขณะนี้ไทย ยังมีจุดอ่อนหลายประการ และไทยเองก็ยังเดินตามหลัง สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ในแง่ของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไทยขณะนี้จึงอยู่อันดับ 4 ของอาเซียน แต่ถ้าเราไม่รีบปฏิรูปประเทศไทย ไม่พลิกฟื้นประเทศไทย เราก็อาจจะตกอันดับไปอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 หรืออันดับ 7 และจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องมีการปฏิรูปและพลิกฟื้นประเทศไทยอย่างจริงจัง ผมมองว่า การเตรียมความพร้อมและการมียุทธศาสตร์เข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย จะเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
                ดังนั้น วิสัยทัศน์ของไทย ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะต้องเป็นวิสัยทัศน์ ที่เรามองไปข้างหน้าในการที่ไทยจะกลับขึ้นมาผงาดเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนในอนาคต
                โดยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนของไทยนั้น ควรมี 3 เป้าหมายหลัก เป้าหมายที่ 1 คือ การทำให้ไทยเป็นประเทศแห่งประชาธิปไตยในอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ ไทยจะเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง รวมทั้งมีบทบาทนำในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
                สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ เป้าหมายที่ 1 การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการของอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน
                สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ก็มีเป้าหมาย 3 ประการเช่นเดียวกัน เป้าหมายที่ 1 คือ การทำให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ ไทยมีบทบาทนำ ในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านสวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส และสิ่งแวดล้อม  และสำหรับเป้าหมายที่ 3 คือ ไทยมีบทบาทนำ ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของอาเซียน
                สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ซึ่งมี 3 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 คือ บุคลากรของไทย ทั้งบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมทั้งในด้านทักษะ สมรรถนะ และทัศนคติ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป้าหมายที่ 2 คือ การปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่สร้างโอกาสในการทำงานเชิงรุกในประชาคมอาเซียน และเป้าหมายที่ 3 คือ การจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ สำหรับทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน