Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิกฤตอาหารโลก

วิกฤตอาหารโลก

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สถานการณ์วิกฤตอาหารโลก

สถานการณ์ราคาอาหารโลกได้เข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยถือว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะราคาธัญพืช ข้าวเจ้า และข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด ราคาข้าวเจ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วในรอบ 3 ปี ราคาอาหารได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเกือบเท่าตัว

จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศยากจนที่ต้องนำเข้าอาหารประสบวิกฤตอย่างหนัก ราคาอาหารในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนจนในประเทศไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร จึงนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงและความวุ่นวายในหลายประเทศ ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นในทวีปแอฟริกา นอกจากนั้น ประเทศในเอเชียใต้ก็ประสบปัญหาอย่างหนัก เช่น อินเดียและบังคลาเทศ รวมไปถึงประเทศแถบอเมริกากลาง อย่างเช่น ไฮติ ก็เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้น

สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก

สำหรับสาเหตุของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายปัจจัย และมีความสลับซับซ้อน ผมอยากจะแยกสาเหตุออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นสาเหตุที่มีลักษณะเป็นชนวนที่นำไปสู่วิกฤต และอีกกลุ่มคือสาเหตุที่เรียกว่า รากเหง้าของปัญหา

ชนวนวิกฤตอาหารโลก

สำหรับสาเหตุที่เป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ อาจแบ่งๆได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

• ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุปทานหรือ supply มีน้อยลง ในขณะ
ที่อุปสงค์หรือ demand มากขึ้น นี่ก็เป็นไปตามกลไกตลาด คือ เมื่ออุปทานไม่พอราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น

• สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสงค์ หรือความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมา
จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ความต้องการการบริโภคอาหารและการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนและอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อุปทานลดลง และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

• ปัจจัยต่อมาเป็นผลลูกโซ่มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่าน
มา ซึ่งการที่น้ำมันราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย

• อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นผลลูกโซ่จากราคาน้ำมัน นั่นคือแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ
หันไปหาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการนำเอาพืชบางชนิดมาใช้ในการเป็นพลังงาน ตัวอย่างเช่นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ที่ผสมอีเธอนอลซึ่งทำมาจากพืช และน้ำมันไบโอดีเซลก็มีส่วนผสมมาจากพืชเช่นเดียวกัน การนำเอาพืชต่างๆมาทำเป็นพลังงานใหม่ เป็นผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้น

• นอกจากนี้ ระบบอาหารโลกยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ
ภูมิภาค ที่หนักที่สุดคือภาวะแห้งแล้งในออสเตรเลีย ออสเตรเลียนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก ทำให้ออสเตรเลียไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารต่างๆรวมทั้งข้าวได้ บางคนวิเคราะห์ไปไกลถึงขั้นภาวะแห้งแล้งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

• ส่วนชนวนสุดท้ายที่ก่อให้เกิดวิกฤตอาหารโลกคือ ประเทศผู้ส่งออกเกิดการตื่น
ตระหนกกลัวเรื่องการขาดแคลนอาหาร จึงมีการจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารต่างๆ โดยเฉพาะข้าว อย่างเช่น คาซัคสถาน ผู้ส่งออกข้าวสาลีก็จำกัดการส่งออก เวียดนามและไทยก็มีการจำกัดการส่งออกข้าวเจ้า ก็ยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตอาหารโลกทรุดหนักลงไปอีก

รากเหง้าของปัญหาวิกฤตอาหารโลก

อย่างไรก็ตาม ที่วิเคราะห์ข้างต้นนั้น ผมมองว่า เป็นเพียงชนวน จริงๆแล้ววิกฤตอาหาร
โลกนั้น รากเหง้าของปัญหามีอยู่หลายประการ ดังนี้

• ความยากจน ผมคิดว่า ความยากจนถือเป็นรากเหง้าของปัญหาที่สำคัญที่สุด
เพราะจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เกิดความวุ่นวายนั้น คือประเทศที่ยากจนทั้งสิ้น
สหประชาชาติเคยสำรวจคนจนในโลก โดยมีถึง 2,800 ล้านคนที่เป็นคนจนที่มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน และมีถึง 1,200 ล้านคนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญต่อวัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้

นอกจากนี้ UN ยังได้ระบุว่า มีคนในโลกถึง 800 ล้านคนที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร และประสบภาวะหิวโหย มีอาหารไม่พอกิน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้และตะวันออกกลาง ตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา โดยมีการคาดการว่า จะมีคนที่หิวโหยและขาดแคลนอาหารในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าภายในปี 2080

ปัญหาความยากจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ มากมายหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมในประเทศเหล่านี้ที่ให้ผลผลิตที่ต่ำ และนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร

• สำหรับรากเหง้าของปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ นโยบายของรัฐ ทั้งในประเทศยากจน
และประเทศร่ำรวย ที่มีการบิดเบือนกลไกตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยได้มีการบิดเบือนกลไกตลาดเป็นอย่างมาก มีการให้เงินอุดหนุน (subsidy) มีมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้การค้าสินค้าเกษตรไม่ได้เป็นไปโดยเสรี ถึงแม้ว่าในการเจรจา WTO รอบ Doha จะได้มีความพยายามเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศร่ำรวยไม่ยอมเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตน

• สำหรับสาเหตุรากเหง้าอีกประการคือ การที่ประชาคมโลก ละทิ้งไม่ได้ให้ความ
สนใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนในการพัฒนาด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกให้เงินกู้แก่ประเทศยากจนในด้านการเกษตร ลดลงจาก 30% ในปี 1978 เหลือเพียง 8% ในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯก็ตัดเงินให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรแก่แอฟริกาลงไปถึง 75%

ทางออกการแก้ไขวิกฤตอาหารโลก

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการประชุม ของ UN ที่กรุงเวียนนา เพื่อหามาตรการแก้ไข
วิกฤตอาหารโลก โดยนาย บัน คี มูน เลขา UN ได้กล่าวว่า ขณะนี้ ปัญหาราคาสินค้าอาหารโลกได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกไปแล้ว และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ การขาดแคลนอาหารในประเทศยากจนนั้น ขณะนี้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มบทบาทขององค์กร World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประเทศยากจน WFP ได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญในปีนี้ เพื่อซื้ออาหารช่วยเหลือคนยากจนประมาณ 70 ล้านคน แต่จากการที่ราคาอาหารได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้งบประมาณดังกล่าวไม่พอจะซื้ออาหารสำหรับคน 70 ล้านคน ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือ ระดมให้ประเทศร่ำรวยลงขันให้เงินกับ WFP เพิ่มเติม อย่างน้อยประมาณ 800 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ หลาย ๆ องค์กรได้ออกมาบอกว่าต้องมีนโยบายใหม่เกี่ยวกับอาหารโลก โดยนาย Robert Zoellick ประธานธนาคารโลกได้ออกมาบอกว่า ต้องมี new deal สำหรับการแก้ปัญหา IMF และ FAO ก็กำลังหามาตรการในการแก้วิกฤตดังกล่าวอยู่

การแก้ปัญหาระยะยาวที่รากเหง้าของปัญหา

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การแก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลกอย่างยั่งยืน ต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา โดยคงจะต้องเน้น 3 เรื่องด้วยกัน

• การแก้ปัญหาความยากจน โดยประเทศยากจนจะต้องมีการปรับนโยบายเศรษฐกิจ
ลดการบิดเบือนกลไกตลาด เปิดเสรีสินค้าเกษตร และมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม ประเทศยากจนก็อ่อนแอเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น ประเทศร่ำรวยและประชาคมโลกจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

• สำหรับประเทศร่ำรวย ก็จะต้องมีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตนอย่างจริงจัง EU
ให้เงินอุดหนุนภาคเกษตรถึงปีละ 5 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯและญี่ปุ่นก็ให้เงินอุดหนุนสูงมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันการเจรจา WTO รอบ Doha ให้สามารถบรรลุข้อตกลงในการเปิดเสรีสินค้าเกษตรให้ได้

• สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ บทบาทของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็น UN
ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ จะต้องเพิ่มบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจน และแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลก ธนาคารโลกได้ประกาศว่าจะปล่อยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรในประเทศยากจนเพิ่มขึ้น 800 ล้านเหรียญ สำหรับในกรอบของ UN นั้น เมื่อปี 2000 ได้มีการกำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจน คือ Millennium Development Goal หรือ MDG ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนคนจนและคนหิวโหยลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 ประชาคมโลกคงจะต้องผลักดันให้เป้าหมาย MDG ประสบความสำเร็จ เพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลกอย่างยั่งยืน


การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2008

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2008

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานผู้แทนการค้า ของสหรัฐฯ หรือ USTR ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2008 เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า special 301 report ผมเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีความสำคัญ จึงจะนำมาสรุปและวิเคราะห์ในคอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้


ภาพรวม

ในรายงานดังกล่าว ได้พิจารณาสถานะของทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก เกือบ 80 ประเทศ โดยได้มีการระบุประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯถึง 46 ประเทศ โดยประเทศที่มีการละเมิดมากที่สุดคือ จีน และรัสเซีย นอกจากนั้น ประเทศที่ถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษได้แก่ อาร์เจนตินา ชิลี อินเดีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซุเอลา และประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รายงานได้ระบุว่า หลายๆประเทศได้มีความคืบหน้า ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น

• รัสเซีย ได้เพิ่มบทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ และดำเนินมาตรการต่อโรงงานผลิตแผ่นเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ (optical disc) คือพวกแผ่นซีดี ดีวีดี
• จีน มีความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการลดซอฟแวร์เถื่อน
• อินโดนีเซีย และไนจีเรีย มีการเพิ่มการจับกุมการขายยาปลอม
• อินเดีย กำลังจะเป็นสมาชิกของ Madrid Protocol
• จีนและออสเตรเลีย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา WIPO (World Intellectual Property Organization)
• มาเลเซีย จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาใหม่ และ
• เวียดนาม กำลังปราบปรามการขโมยสัญญาณดาวเทียม

นอกจากนี้ รายงานได้ระบุว่า มีหลายประเทศที่ได้ถูกปรับสถานะให้ดีขึ้น คือประเทศ
เบลีซ และ ลิธัวเนีย ได้ถูกถอดออกจาก Watch List (WL) หรือประเทศที่ต้องจับตามอง ส่วนอียิปต์ เลบานอน ตุรกีและยูเครน ได้รับการปรับจาก Priority Watch List (PWL)ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษมาเป็น WL

ไทย

สำหรับในส่วนของไทยนั้น ผมขอย้อนกลับไปในรายงานปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ถูกปรับระดับจาก WL เป็น PWL ในปีนี้ ไทยยังติดอยู่ในระดับ PWL ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามจากรัฐบาลไทยในการที่จะให้ไทยกลับไปอยู่ใน WL แต่รายงานระบุว่า ยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยอย่างมาก โดยสหรัฐฯขอให้ฝ่ายไทยเพิ่มมาตรการที่จะพัฒนาระบบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นไปที่ต้นตอหรือแหล่งผลิต และเพิ่มโทษเพื่อเป็นการป้องปราม

นอกจากนี้ ทางฝ่ายสหรัฐฯ เน้นในเรื่องของการมีซีดี และดีวีดีเถื่อน การขโมยสัญญาณ รวมทั้งซอฟแวร์เถื่อนอย่างกว้างขวาง

และฝ่ายไทยควรจะเพิ่มมาตรการปราบปราม การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าปลอม
รวมทั้งความล่าช้าในการอนุมัติสิทธิบัตร

รายงานระบุว่า ถึงแม้สหรัฐฯจะเข้าใจถึงความสำคัญของภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่นโยบายของไทยที่เกี่ยวข้องกับ CL สิทธิบัตรยานั้น ยังมีปัญหาในสายตาของสหรัฐฯ

ในรายงานยังได้ระบุถึงตลาดซื้อขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยนอกจากมีการระบุถึงตลาดใหญ่ๆ ในจีนและรัสเซียแล้ว ก็มีการระบุถึงตลาดในไทยด้วย โดยมีการระบุถึงพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มาบุญครอง คลองถม และพัฒน์พงศ์ว่า เป็นตลาดใหญ่ในการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมาก

สิทธิบัตรยา

รายงาน special 301 ของ USTR ฉบับปี 2008 นี้ ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิบัตรยา โดยมีการระบุว่า ปัญหาในการผลิตยาปลอม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยแหล่งผลิตที่สำคัญคือ บราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก และรัสเซีย

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนว่า ให้ความสำคัญต่อวิกฤตด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคระบาดร้ายแรง อาทิ โรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯเชื่อว่า สิทธิบัตรยามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนายาใหม่ๆ ขึ้นมา สหรัฐฯสนับสนุนปฏิญญา Doha ปี 2001 ที่ยอมรับถึงปัญหาด้านสุขอนามัยในประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ประชุม WTO ได้ตกลงว่า กฎ ระเบียบของ WTO ควรจะมีความยืดหยุ่น ที่จะบรรลุทั้ง 2 วัตถุประสงค์ คือ ทั้งในการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนที่ไม่สามารถซื้อยาราคาแพง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะให้ระบบสิทธิบัตรเดินหน้าต่อไปในการพัฒนายาใหม่ ๆ

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทาง internet

รายงานของ USTR ระบุว่า ขณะนี้ internet กำลังเป็นเครื่องมือของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนัก โดยประเทศที่มีการละเมิดอย่างหนักได้แก่ แคนาดา จีน สวีเดน สเปน และรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสนธิสัญญาที่พยายามจะป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทาง internet ซึ่งเรียกว่า WIPO Internet Treaties โดยมี 60 ประเทศเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว จีนและออสเตรเลียก็เพิ่งเข้าเป็นสมาชิก จุดยืนของสหรัฐฯคือ ต้องการให้ประเทศต่างๆ เป็นภาคีของสนธิสัญญานี้


แผ่นเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ (optical disc)

รายงาน USTR ระบุว่า ขณะนี้มีหลายๆ ประเทศที่ได้พยายามป้องกันการผลิตและขายซีดีและดีวีดีเถื่อน โดยเฉพาะ บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และยูเครน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะ บังคลาเทศ จีน อินเดีย รัสเซียและไทย
มาตรการของสหรัฐฯ

จากการวิเคราะห์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาข้างต้น รายงาน USTR ได้ระบุถึงมาตรการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯจะเอามาใช้ ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ดังนี้

• FTA
FTA จะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของสหรัฐฯในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยใน
การเจรจา FTA จะมีบทเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ด้วย

• GSP
เครื่องมืออีกอันหนึ่งในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาคือ การใช้ GSP โดยในอดีต
ได้มีการตัด GSP สำหรับประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก
ในอดีตไทยก็เคยถูกตัด GSP เพราะเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาแล้ว ในปัจจุบัน หลังจากถูกยกระดับเป็น PWL ก็มีการกลัวกันมากว่า สหรัฐฯจะตัด GSP ต่อสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ
แต่ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศที่สหรัฐฯกำลังทบทวน GSP คือ รัสเซีย เลบานอน และอุซเบกิสถาน โดยไม่มีไทย

• ข้อตกลงการต่อต้านการค้าสินค้าปลอม (Anti-Counterfeiting Trade
Agreement: ACTA)
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว USTR ได้ประกาศว่าสหรัฐฯต้องการเจรจาข้อตกลง ACTA
กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมืออีกอันหนึ่งที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

• WTO
กลไกแก้ไขความขัดแย้งในกรอบของ WTO (WTO Dispute Settlement) ก็เป็น
เครื่องมืออีกอันหนึ่ง ที่สหรัฐฯใช้ในการบีบประเทศต่างๆในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยในกรณีล่าสุดคือ เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯได้ใช้กลไกนี้กับจีน โดยกล่าวหาจีนในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

• เครื่องมืออื่นๆ
นอกจากนี้แล้ว สหรัฐฯยังได้ใช้เวทีพหุภาคีต่างๆในการผลักดันมาตรการปกป้อง
ทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ G 8 การประชุมสุดยอด สหรัฐฯ – EU การประชุม OECD และการประชุม APEC

วิกฤตพายุ Nagis

วิกฤตพายุ Nagis

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สถานการณ์

พายุไซโคลน Nagis ที่ได้พัดถล่มพม่าไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่คลื่นยักษ์ซึนามิพัดถล่มภูมิภาคนี้เมื่อปี 2004

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น ตัวเลขยังไม่แน่นอน โดยรัฐบาลทหารพม่าคงไม่ต้องการให้ตัวเลขมากจนน่ากลัว โดยพยายามบอกว่า ผู้เสียชีวิตมีประมาณ 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น และมีผู้สูญหายประมาณ 3 หมื่นกว่าคน รวมแล้วถ้ายึดตัวเลขของรัฐบาลทหารพม่า ก็คงจะเสียชีวิตประมาณ 6 หมื่นคน แต่จากการประเมินของฝ่ายต่างๆ น่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน

สำหรับชาวพม่าที่กำลังประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาดแคลนอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและกำลังเริ่มมีโรคระบาด ซึ่งจำนวนผู้ที่อยู่ในขั้นเสี่ยง ขณะนี้มีถึง 2 ล้านคน แต่ความช่วยเหลือขณะนี้ที่เข้าไปได้ ก็เข้าถึงได้เพียงประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมีปัญหาอย่างมากในความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งจากรัฐบาลพม่า และจากการที่รัฐบาลพม่ากีดกันไม่ให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือเข้าไป

อุปสรรคความช่วยเหลือ

ถ้าจะวิเคราะห์ดู น่าจะมีอุปสรรคใหญ่ๆ ที่ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้ามาก ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานของพม่าล้าหลังมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สนามบิน จึงทำให้ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือไปได้ทัน

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้ามากน่าจะมาจากตัวรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเอง ที่มีความหวาดระแวงเป็นอย่างมาก ต่อความมั่นคงของระบอบเผด็จการของตน จึงไม่ยอมที่จะให้ต่างชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

รัฐบาลพม่าได้ประสบความล้มเหลวอย่างมากในการที่จะเตือนให้ชาวพม่ารู้ล่วงหน้าก่อนที่พายุจะพัดเข้าถล่มทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าจะให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยรัฐบาลทหารหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการลดกระแสความกดดันจากนานาชาติ และจะทำให้ระบอบเผด็จการของตนอยู่ต่อไปได้

รัฐบาลพม่าประกาศมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ ว่าจะไม่ยอมให้รัฐบาลต่างชาติและองค์กรต่างชาติเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็มียกเว้นประเทศที่ญาติดีกับพม่า และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์พม่า นั่นคือ อินเดีย จีน และไทย ที่พม่ายอมให้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ แต่สำหรับประเทศตะวันตก ในตอนแรกรัฐบาลทหารก็ยืนกรานไม่ยอมรับความช่วยเหลือ

อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าต้องการที่จะให้ผ่านวันลงประชามติ คือวันที่ 10 พฤษภาคม โดยไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกเข้ามาวุ่นวายกับการลงประชามติ

ต่อมา รัฐบาลพม่าได้ประกาศว่า จะยอมรับความช่วยเหลือ แต่จะไม่ยอมรับเจ้าหน้าที่ของต่างชาติหรือ องค์กรต่าง ๆ โดยเน้นว่า ความช่วยเหลือเหล่านั้นจะดำเนินการแจกจ่ายโดยพม่าทำเอง แต่ปัญหาสำคัญคือ ฝ่ายพม่าเองก็ไม่มีคนและเครื่องมือเพียงพอที่จะแจกจ่ายความช่วยเหลือ
หลายๆ ประเทศและหลายๆ องค์กรต้องรอทำวีซ่า และได้รับวีซ่าน้อยมาก ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของ World Food Program หรือ WFP ขอวีซ่าไป 16 คนแต่ได้วีซ่าเพียง 1 คน

รัฐบาลทหารพม่าคงจะมีความกลัวเป็นอย่างมาก ต่ออิทธิพลของต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำให้ระบอบเผด็จการของตนสั่นคลอน

ความช่วยเหลือจากประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ และประเทศต่างๆ ก็กดดันพม่าอย่างต่อเนื่อง ที่จะให้ยินยอมรับความช่วยเหลือ

ในกรอบของ UN นั้น ทางฝรั่งเศสได้เสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่า ในกรณีของพม่า ถือเป็นกรณีวิกฤต และจะเอาหลักการที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบในการปกป้อง” หรือ responsibility to protect ซึ่งเป็นหลักการที่ตกลงกันในที่ประชุมสุดยอด UN ในปี 2005 โดยหลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า หากรัฐบาลใดล้มเหลว และก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หรือมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประชาคมโลกก็มีความรับผิดชอบ ที่ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อหลักการมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ฝรั่งเศสเสนอ ปรากฏว่า ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับพม่าก็ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย และเวียดนาม ออกมาค้านว่า ประเด็นเรื่องภัยพิบัติในพม่านั้น ไม่ถือเป็นประเด็นทางด้านความมั่นคง จึงไม่เข้าข่ายที่คณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกกดดันอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าก็เริ่มอนุญาตให้องค์กร UN บินเข้าไปเพื่อแจกจ่ายความช่วยเหลือ โดยมีเครื่องบินจาก WFP 3 ลำ และ UNHCR ได้ส่งความช่วยเหลือทางรถยนต์ โดยผ่านเข้าไปทางพรมแดนไทย-พม่า สำหรับ UNICEF ได้ส่งอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียเข้าไป แต่ว่ายังติดค้างอยู่ที่สนามบินในกรุงย่างกุ้ง

สำหรับในกรณีของสหรัฐฯนั้น ในตอนคลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อปี 2004 สหรัฐมีบทบาทอย่างสำคัญโดยการส่งกองทัพเรือเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพม่าในคราวนี้ สหรัฐฯกลับไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใด ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯนั้นคือศัตรูสำคัญของพม่า และสหรัฐฯก็ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรเล่นงานพม่ามาโดยตลอด พม่าจึงไม่ยินยอมที่จะให้กองกำลังทหารสหรัฐฯเข้ามาวุ่นวายในกรณีนี้

ทางฝ่ายสหรัฐฯเองก็หงุดหงิดจนถึงขั้นว่า ตัวแทนองค์กรให้ความช่วยเหลือ คือ USAID ถึงกับบอกว่า สหรัฐฯไม่ต้องสนใจ ให้ส่งเครื่องบินเข้าไปเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือชาวพม่าแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่ยินยอมก็ตาม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบุชก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะมองว่าจะเป็นการเผชิญหน้าเกินไป รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคือ Robert Gates บอกว่าคงจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลพม่า

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม รัฐบาลสหรัฐฯพยายามประนีประนอมเพื่อที่จะให้พม่ายอมเปลี่ยนใจ โดยไม่กล่าวโจมตีในเรื่องการลงประชามติ เพียงแต่บอกว่า รัฐบาลพม่าน่าจะให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า และรัฐบาลสหรัฐฯได้พยายามล็อบบี้อย่างหนัก ทั้งกับทางฝ่าย จีน อินเดีย และไทย เพื่อที่จะให้ไปพูดกับฝ่ายพม่า

และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในที่สุดฝ่ายพม่าก็เปลี่ยนใจ ยินยอมให้สหรัฐฯส่งเครื่องบิน C 130 ลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปเป็นลำแรก

สำหรับชาติตะวันตกอื่นๆ ก็ได้ออกมาประณามรัฐบาลพม่าอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี คือ Angela Merkel ได้ออกมาบอกว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้นำฝรั่งเศสคือนาย Sarkozy ได้ออกมาประณามรัฐบาลพม่า และบอกว่าฝรั่งเศสกำลังส่งเรือบรรทุกความช่วยเหลือ 1,500 ตันไปยังพม่า และออสเตรเลียเองได้เพิ่มการให้ความช่วยเหลือพม่าเป็นเงินกว่า 23 ล้านเหรียญ สำหรับจีน เป็นชาติแรกๆที่ให้ความช่วยเหลือพม่า และขณะเดียวกัน จีนก็ได้กระตุ้นให้พม่ายอมรับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก

นอกจากนี้ ยังมีองค์กร NGO ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะสภากาชาดสากล ได้ส่งเครื่องบินเข้าไปในพม่าแล้ว 9 ลำ และองค์กร Medecins sans Frontiere ได้ส่งเครื่องบินลำเลียงอาหารจากยุโรปมา 3 ลำ

สรุปได้ว่า แนวโน้มขณะนี้ รัฐบาลพม่ากำลังเปิดรับความช่วยเหลือมากขึ้น ผมก็หวังว่าความช่วยเหลือเหล่านี้ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ น่าจะเข้าไปช่วยเหลือชาวพม่าที่กำลังลำบากอยู่เกือบ 2 ล้านคนได้ทัน


น้ำมัน กับการแข่งขันทางทหาร

น้ำมัน กับการแข่งขันทางทหาร

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า กำลังมีการแข่งขันกันทางทหาร โดยเฉพาะการแข่งขันกันสะสมกำลังอาวุธ โดย Stockholm International Peace Research Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ติดตามด้านการทหาร ได้เปิดเผยตัวเลขว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 1997 - 2006 งบประมาณการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยสาเหตุสำคัญเนื่องมาจาก ความเป็นห่วงในเรื่องของทรัพยากรพลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประเทศต่างๆจึงกำลังสะสมกำลังทางทหารในอัตราที่สูง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง


น้ำมันกับทหาร

การเพิ่มกำลังทางทหารในขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจที่มีการบริโภคพลังงานน้ำมันมหาศาล และกำลังมียุทธศาสตร์ที่จะใช้อำนาจทางทหาร เพื่อปกป้องแหล่งพลังงานน้ำมันของตน นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเอง ก็มีการใช้จ่ายทางทหารสูงมากเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการแข่งขันทางทหาร กำลังทำให้ชาติตะวันตกต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในโลกที่ตะวันตกไม่สามารถครองความเป็นเจ้าทางทหารได้อีกต่อไป

แต่การสะสมกำลังทางทหารก็เป็นอันตราย เพราะอำนาจทางทหารยังอยู่ในมือของรัฐบาลเผด็จการและไม่มีเสถียรภาพ การสะสม และการแข่งขันกันทางทหาร จึงอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันถึงขั้นสงครามได้

ในสมัยสงครามเย็น การแข่งขันทางทหารเป็นการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ ระหว่างคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม แต่สถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยความมั่นคงด้านพลังงานได้เพิ่มความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นอย่างมาก ในขณะที่แหล่งพลังงานน้ำมันกำลังหดหายไปทุกที และกระจุกตัวอยู่ภายในประเทศไม่กี่ประเทศ คือ 80% ของแหล่งพลังงานน้ำมันสำรองมีอยู่ในประเทศเพียงไม่ถึง 10 ประเทศ ดังนั้น ประเทศผู้บริโภคใหญ่ ๆ จึงต้องการที่จะปกป้องเส้นทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิต ในขณะเดียวกันก็ดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันไม่ให้คู่แข่งทำสัญญาและเข้าถึงแหล่งน้ำมัน

จีน

จีนเป็นประเทศที่เข้าข่ายแนวโน้มที่ผมวิเคราะห์ข้างต้นมากที่สุด เพราะจีนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะแซงหน้าสหรัฐฯในการเป็นผู้บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก และจีนขณะนี้ กำลังขยายสมรรถนะด้านการทหารมากที่สุดในโลก งบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 10- 20% ทุกปี ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ตัวเลขของทางการจีนในปีนี้ มีงบทหาร 5 หมื่นล้านเหรียญ แต่สหรัฐฯก็ไม่เชื่อตัวเลขดังกล่าว และมองว่า มูลค่าที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้น คือ ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญ

ยุทธศาสตร์ของจีนในขณะนี้คือ การเชื่อมโยงเรื่องของแหล่งพลังงานน้ำมันกับความร่วมมือทางทหารกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ในปี 2004 จีนได้ลงนามข้อตกลงกับอิหร่าน โดยจะใช้จ่ายเงินไปกับน้ำมันของอิหร่านถึง 1 แสนล้านเหรียญ และอิหร่านได้กลายเป็นประเทศผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของจีน

เช่นเดียวกัน ซูดานส่งออกน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไปยังจีน และจีนเป็นประเทศค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับรัฐบาลซูดาน ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติในวิกฤตการณ์ Darfur ก็ตาม

ในเวเนซุเอลา ซึ่งนับเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่อีกประเทศหนึ่ง จีนก็เข้าไปตีสนิทโดยให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวเนซุเอลา และได้ช่วย Hugo Chavez ผู้นำ เวเนซุเอลา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน และเพื่อเป็นการตอบแทน Chavez ก็ได้ประกาศว่า จะส่งออกน้ำมันไปยังจีนเพิ่มอีก 3 เท่าตัว
ในเอเชียกลาง บริษัทน้ำมันของจีน ได้เข้าไปเจรจาเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสร้างท่อส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมายังจีน และเพื่อเป็นการตอบแทน เช่นเดียวกันจีนก็ได้กลายเป็นประเทศขายอาวุธรายใหญ่ให้กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งในอดีตได้ซื้ออาวุธจากสหภาพโซเวียตเดิม แต่อาวุธเหล่านั้นก็ได้ล้าสมัยไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ จีนยังได้ตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Shanghai Cooperation Organization (SCO) และเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการซ้อมรบครั้งใหญ่ระหว่างประเทศสมาชิก SCO โดยมีจีน รัสเซีย และประเทศในเอเชียกลางเข้าร่วม การซ้อมรบดังกล่าว สมมติสถานการณ์ต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย แต่วาระซ่อนเร้นคือ การแสดงความร่วมมือทางทหารของกลุ่มประเทศเหล่านี้ เพื่อท้าทายอำนาจทางทหารของสหรัฐฯและตะวันตก

รัสเซีย

งบประมาณทหารของรัสเซียก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของรัสเซียก็ดีวันดีคืน โดยเฉพาะรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้งบทหารของรัสเซียเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน

รัสเซียได้พยายามเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ โดยได้ขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆในแถบทะเลสาบแคสเปี้ยน เพื่อแลกกับความร่วมมือด้านพลังงาน สำหรับในเอเชียกลาง รัสเซียก็ได้เพิ่มความร่วมมือทางทหารกับประเทศเหล่านั้น และเมื่อปีที่แล้ว ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียของปูติน ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลงที่อินโดนีเซียจะซื้ออาวุธจากรัสเซียถึง 6 พันล้านเหรียญ ปูตินได้ประกาศกร้าวว่า ขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การแข่งขันทางทหารกำลังเกิดขึ้น

สหรัฐฯ

สำหรับสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารอันดับ 1 ของโลก สหรัฐฯพยายามที่จะเพิ่มงบประมาณทางทหาร เพื่อข่มทั้งจีนและรัสเซีย โดยงบทหารของสหรัฐฯนั้น มากมายมหาศาล ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านเหรียญ

เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย สหรัฐฯก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์เชื่อม ประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานกับทางทหาร โดยในแถบทะเลสาบแคสเปี้ยน สหรัฐฯได้เพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้สหรัฐฯ สำหรับในเอเชียกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันมหาศาล กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้เจรจาข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ เพื่ออนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศเหล่านั้น

สำหรับในตะวันออกกลาง สหรัฐฯก็กำลังสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อปิดล้อมอิทธิพลของอิหร่าน โดยสหรัฐฯจะขายอาวุธรุ่นใหม่ให้กับซาอุดิอาระเบียมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ
ประเทศอื่น ๆ

นอกจากสามมหาอำนาจข้างต้นแล้ว ประเทศอื่นๆก็กำลังขยับเพิ่มงบประมาณทางทหารและแข่งขันทางทหารกันอย่างดุเดือด

อินเดียเป็นมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง ที่กำลังผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วทางด้านการทหาร กองทัพเรือของอินเดียมีบทบาทในมหาสมุทรอินเดีย และกำลังมีการแข่งขันกันทางทหารในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะจีน และอินเดียที่ต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่จะส่งกองทัพเรือมาปกป้องเส้นทางน้ำมันของตน นอกจากนี้สหรัฐฯก็กำลังเข้าไปตีสนิทอินเดีย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คือ Robert Gates ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเพื่อกระชับความร่วมมือทางทหาร โดยสหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ที่จะดึงอินเดียมาเป็นแนวร่วมในการปิดล้อมจีนทางทหาร

สำหรับญี่ปุ่นก็พยายามเต็มที่ ที่จะขยายบทบาททางทหาร โดยเฉพาะเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ญี่ปุ่นเพิ่งตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นการให้ความสำคัญทางด้านการทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 5

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 5
นโยบายต่างประเทศของ John McCain


คอลัมน์โลกทรรศน์ครั้งที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Barack Obama ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงนโยบายต่างประเทศของ John McCain ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่คาดว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ น่าจะเป็นการแข่งกันระหว่าง McCain กับ Obama


ภาพรวม


แนวนโยบายต่างประเทศของ McCain ในภาพรวมนั้น มีลักษณะเป็นสายเหยี่ยว เมื่อเทียบกับ Obama ที่เป็นสายพิราบ McCain มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม และโน้มเอียงไปถึงขั้นเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า neo-conservative ซึ่งมีอุดมการณ์ที่มองนโยบายต่างประเทศเป็นการต่อสู้ ระหว่างความดีกับความชั่วร้าย มองโลกเป็นขาวกับดำ โดย McCain มองว่า ขณะนี้ โลกกำลังอยู่ในยุคของการต่อสู้ ระหว่างค่านิยม เสรีภาพ และประชาธิปไตย กับค่านิยมเผด็จการ เหมือนกับในสมัยสงครามเย็น


ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของ McCain นั้นคือ การมองโลกว่า กลับเข้าสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่ง
แนวนโยบายของ McCain นั้น คงจะเป็นการสานต่อแนวนโยบายของ Bush ซึ่งก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเหมือนกัน แต่มีแนวโน้มว่า McCain อาจจะเป็นสายเหยี่ยวมากกว่า Bush เสียอีก

McCain กล่าวอย่างหยิ่งผยอง และชาตินิยมจัดว่า ตั้งแต่มีการตั้งประเทศอเมริกาขึ้นมาเมื่อ 200 ปีมาแล้ว อเมริกาก็คือ ประเทศที่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คนอเมริกันคือ คนที่ชะตาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ และในยุคปัจจุบัน ก็เป็นภารกิจของอเมริกา ที่จะต้องให้โลกเชื่อมั่นในหลักการของอเมริกา McCain ได้อ้างคำพูดของอดีตประธานาธิบดี Harry Truman ว่า “พระเจ้าได้สร้างอเมริกาและนำอเมริกามาสู่จุดที่มีอำนาจและยิ่งใหญ่ ในปัจจุบัน ก็เพื่อจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่” McCain จึงกล่าวว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่จะต้องสร้างสันติภาพ และเสรีภาพให้เกิดขึ้นในโลก

ดังนั้น หัวใจของนโยบายต่างประเทศของ McCain คือ การต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ โดย McCain ถึงกับเสนอว่า น่าจะมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ที่จะเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก โดยให้ชื่อว่า องค์กร “สันนิบาตประชาธิปไตย” (League of Democracies) และหาก UN ล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตย องค์กรนี้ก็จะดำเนินการเอง McCain ได้เสนอว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในปีแรกของการดำรงตำแหน่ง เขาจะจัดการประชุมสุดยอดของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อหารือถึงมาตรการต่างๆ ที่นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรดังกล่าว เหมือนกับที่อเมริกาได้เคยทำเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในการเป็นผู้นำ การจัดตั้ง NATO

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

สำหรับ McCain นั้น ชัยชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด โดยมองว่า อิรักคือ แนวรบที่สำคัญที่สุด ดังนั้น อเมริกาควรจะต้องเข้าสู่สงครามอิรักด้วยกำลังทางทหารที่เพียงพอ และมีแผนการที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเพื่อชัยชนะ McCain มองว่า Bush ปล่อยให้เวลาผ่านไป 4 ปี ถึงได้ยอมรับยุทธศาสตร์ใหม่โดยการเพิ่มกองกำลังทางทหารเข้าไป

McCain มองว่า สหรัฐฯจะต้องประสบความสำเร็จและประสบชัยชนะในสงครามอิรัก เพราะผลกระทบจากความล้มเหลวและการพ่ายแพ้ในอิรักนั้น จะมีมากมายมหาศาล เท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ต่อขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายฮึกเหิมมากขึ้น อิรักจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวในใจกลางตะวันออกกลาง ก็จะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายใหม่ สงครามกลางเมืองในอิรักจะขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งทั่วภูมิภาค และจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความพ่ายแพ้ ในอิรัก จะนำไปสู่จุดจบของการส่งเสริมประชาธิปไตยในอิรัก และจะเป็นการเชื้อเชิญให้อิหร่านเข้าครอบงำอิรักและภูมิภาค

อิรักจึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่ McCain จึงโจมตีว่า ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตกลับประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรัก โดยไม่สนใจต่อผลกระทบ ข้อเสนอของพรรคเดโมแครตจึงเท่ากับนำโลกไปสู่หายนะ

สำหรับในอัฟกานิสถาน การกลับฟื้นคืนชีพของนักรบตาลีบัน ได้คุกคามที่จะนำอัฟกานิสถานกลับไปสู่ยุคก่อน 11 กันยาฯ กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายใหม่ ดังนั้น สหรัฐฯจึงจะต้องเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป และเพิ่มกองกำลัง NATO เข้าไปในอัฟกานิสถาน

McCain มองว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ กลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย และอิหร่าน ก็คือรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายตัวยง และขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะสามารถสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหนักขึ้น รวมทั้งอาจส่งต่ออาวุธนิวเคลียร์ให้กับเครือข่ายการก่อการร้ายด้วย ดังนั้น ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามนี้ โดยต้องเริ่มด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้น และหาก UN ไม่สามารถดำเนินมาตรการได้ สหรัฐฯก็ต้องเป็นผู้นำกลุ่มประเทศที่มีความเห็นตรงกัน ในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และแน่นอนว่า มาตรการทางทหารก็คงจะต้องเป็นทางเลือกที่อเมริกาจะต้องคงไว้

รัสเซีย

สำหรับ McCain ซึ่งมีแนวนโยบายสายเหยี่ยว ดังนั้น มองไปที่ไหนก็มีแต่ศัตรู ดังนั้นสำหรับรัสเซีย McCain ก็มองว่า กำลังเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดยมองว่า รัสเซียกำลังเป็นประเทศเผด็จการ เป็นอันธพาลคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ไพ่ คือ การส่งออกน้ำมันและก๊าซ ในการ black mail ประเทศในยุโรป

ดังนั้น McCain จึงเสนอว่า สหรัฐฯและตะวันตก ควรมียุทธศาสตร์ใหม่ต่อรัสเซีย โดย McCain ถึงกับเสนอว่า ให้ไล่รัสเซียออกจาก G 8 โดย G 8 ควรเป็นกลุ่มของประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น จึงควรดึงเอา บราซิล และอินเดียเข้ามาในกลุ่มนี้ และขับรัสเซียออก และตะวันตกควรดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซีย ด้วยการใช้ NATO และขยายจำนวนสมาชิก NATO ให้ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลบอลติค จนถึงทะเลดำ

เอเชีย

สำหรับเอเชีย ในสายตาของ McCain ก็มุ่งเป้าไปที่ประเทศเผด็จการ คือ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า โดยเสนอว่า สหรัฐฯจะต้องร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาค โดยสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่น และสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และกระชับพันธมิตรกับออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินเดีย

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ McCain บอกว่า จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับอินโดนีเซีย และขยายความร่วมมือทางทหารกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม และร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมประชาธิปไตย กำจัดภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า
McCain ยังเสนอด้วยว่า เขาจะจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา ที่จะมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง 4 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

สำหรับจีนซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ McCain ก็มองในแง่ลบ และมีแนวโน้มมองจีนเป็นศัตรู โดยมองว่า ขณะนี้ จีนกำลังสร้างเสริมกำลังทางทหาร และมีการเพิ่มขึ้นของงบทางทหารมากที่สุดในโลก จึงทำให้สหรัฐฯตั้งคำถามต่อเจตนาของจีนในการกระทำต่างๆ ที่มองว่าเป็นการยั่วยุ ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อไต้หวัน การมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเผด็จการเช่น พม่า ซูดาน และซิมบับเว และการที่จีนพยายามจัดตั้งเวทีในภูมิภาคที่จะกีดกันสหรัฐฯออกไปจากเอเชีย

การค้าเสรี

McCain มีนโยบายต่างประเทศด้านการเมืองความมั่นคงแบบสายเหยี่ยวสุดๆ แต่สำหรับนโยบายด้านการค้านั้น McCain มีจุดยืนเหมือนพวกอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ คือ เน้นการค้าเสรี เราต้องอย่าลืมว่า พรรครีพับลิกันนั้น เป็นพรรคของคนรวย เป็นพรรคของบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้น แนวนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้ ก็เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้คนรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะเห็นพรรครีพับลิกันสนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ เพราะหากมีการค้าเสรี คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คนรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

McCain จึงประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะทำให้อเมริกาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เขาโต้แย้งความเชื่อของคนอเมริกันบางคนที่มองว่า โลกาภิวัฒน์เป็นภัยคุกคาม โดย McCain สนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ และจะส่งเสริมการค้าเสรีในระดับโลก ใน WTO และจะขยายข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับในเอเชีย McCain มองว่า สหรัฐฯควรจะเป็นผู้นำในการเปิดเสรีทางการค้าในเอเชีย ด้วยการเดินหน้าเจรจา FTA กับมาเลเซียและไทยต่อ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ที่ทำไปแล้วกับเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงค์โปร์ และยกระดับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับอินเดียและอินโดนีเซีย


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 4

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 4)
นโยบายต่างประเทศของ Barack Obama

ตีพิมพ์ใน : สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า Barack Obama น่าจะชนะ Hilary Clinton และคงจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ John McCain จากพรรครีพับลิกัน แนวโน้มในขณะนี้คือ Obama มีคะแนนนำ McCain อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นที่คาดเดาได้ว่า ในที่สุด Obama อาจจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงอยากจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบของ Obama ต่อโลก หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี โดยจะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศของ Obama ดังนี้


ภาพรวม

แนวนโยบายของ Obama นั้น โดยภาพรวมเป็นแนวนโยบายที่เราเรียกว่า เสรีนิยม เป็นลักษณะสายพิราบ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของพรรครีพับลิกัน ที่มีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยม และเป็นสายเหยี่ยว Obama ได้เคยประกาศนโยบายต่างประเทศว่า จะเน้น ความมั่นคงร่วมกันสำหรับมนุษยชาติร่วมกัน หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า common security for common humanity โดย Obama ได้โจมตีแนวนโยบายของรัฐบาล Bush ว่า มีแนวคิดที่ล้าสมัย และเน้นการแก้ปัญหาโดยการใช้กำลัง ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การบุกยึดอิรัก ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของอเมริกาเป็นอย่างมาก โลกได้สูญเสียความเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ

Obama จึงเสนอว่า นโยบายหลักของสหรัฐฯคือ สหรัฐฯไม่สามารถจะเผชิญกับภัยคุกคามและปัญหาต่างๆ ตามลำพัง และสำหรับประชาคมโลกก็ไม่สามารถเผชิญปัญหาโดยปราศจากสหรัฐฯ ดังนั้น อเมริกาจึงไม่สามารถดำเนินนโยบายโดดเดี่ยว หรือในทางกลับกัน ดำเนินนโยบายทำตัวเป็นอันธพาล หลักการพื้นฐานคือ ความมั่นคงและความรุ่งเรืองของสหรัฐฯนั้น ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและความรุ่งเรืองของประเทศอื่นด้วย
ตะวันออกกลาง

สำหรับนโยบายของ Obama ต่อตะวันออกกลางนั้น เน้นไปที่ปัญหาอิรัก โดย Obamaต่อต้านสงครามอิรักมาโดยตลอด นโยบายคือ ยุติสงครามโดยเร็ว โดยมองว่าสหรัฐฯไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาทางทหารต่อสงครามกลางเมืองในอิรักได้ สหรัฐฯควรจะค่อยๆ ถอนทหารออกมาให้หมดโดยเร็ว และรีบผลักดันการเจรจาทางการทูตในระดับภูมิภาค

สำหรับปัญหาปาเลสไตน์ซึ่ง Obama ได้โจมตีรัฐบาล Bush ว่าได้ละเลย แต่ Obama ก็คงรู้ดีว่า ชาวยิวในสหรัฐฯมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ดังนั้น นโยบายของ Obama คือ ยังคงจะยึดมั่นในการคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล แต่ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ให้อยู่ร่วมกับรัฐอิสราเอลให้ได้

สำหรับในกรณีอิหร่านและซีเรียนั้น แนวนโยบายของ Obama สะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์หลักของ Obama ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ คือ จะต้องไม่ทำให้คนอเมริกันมองว่า เป็นนโยบายที่อ่อนแอ เพราะจุดอ่อนของพรรคเดโมแครตคือ มักจะถูกมองว่า มีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้อเมริกาอ่อนแอ ดังนั้น Obama จึงผสมผสานนโยบายโดยใช้ การทูตกดดัน บวกกับการใช้อำนาจทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และทหาร Obama โจมตีนโยบายของ Bush ว่าล้มเหลว เพราะเน้นการข่มขู่อิหร่าน แต่ไม่ยอมเจรจากับอิหร่าน Obama เน้นว่า สหรัฐฯจะต้องไม่รีรอที่จะเจรจาโดยตรงกับอิหร่านและซีเรีย แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะต้องใช้กำลังหากจำเป็น

การก่อการร้าย

Obama โจมตีว่า รัฐบาล Bush ล้มเหลวในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยมองว่า Bush เน้นผิดที่ คือ ไปเน้นที่อิรัก Obama เสนอว่า จะต้องให้ความสำคัญกับอัฟกานิสถาน และปากีสถาน และกลุ่มตาลีบัน บิน ลาเดน และ อัล เคด้า Obama เสนอว่า ในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย สหรัฐฯจะต้องสร้างหุ้นส่วนทางทหาร เหมือนกับที่สหรัฐฯ เคยสร้างพันธมิตร แนวร่วมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น และประสบความสำเร็จ

ผมมองว่า นโยบายสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งของ Obama คือ การที่เขาบอกว่า การแก้ปัญหาการก่อการร้าย จะต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยต้องรวมเอาทุกมิติของอำนาจ ไม่ใช่เน้นแต่ด้านทหารอย่างที่ Bush ทำ Obama เน้นว่า จะต้องเน้นไปที่รากเหง้าของปัญหา เข้าไปช่วยเหลือรัฐที่อ่อนแอ และรัฐที่ล้มเหลว สหรัฐฯต้องเข้าไปสนับสนุนกลุ่มแนวคิดสายกลางโดยการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสนับสนุนกลุ่มนักปฏิรูปและภาคประชาสังคมในโลกมุสลิม
การสร้างหุ้นส่วนและพันธมิตร

Obama ได้โจมตีรัฐบาล Bush ว่า ได้ละเลยและทอดทิ้งพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของการไม่แยแสต่อเสียงคัดค้านของยุโรป ในกรณีการบุกอิรัก ไม่สนใจความพยายามของเกาหลีใต้ที่จะคืนดีกับเกาหลีเหนือ เมินเฉยต่อลาตินอเมริกา โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

Obama จึงเสนอว่า จะต้องมีการรื้อฟื้นพันธมิตรและหุ้นส่วนและสถาบันขึ้นมาใหม่ โดยการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ กระชับความสัมพันธ์ในกรอบ NATO สำหรับในเอเชีย สหรัฐฯควรจะดำเนินนโยบายที่ไปไกลกว่านโยบายเดิมๆ ที่เน้นความสัมพันธ์ทางทหารแบบทวิภาคี โดยเน้นการที่จะสร้างสถาบันพหุภาคีขึ้นมา
สำหรับในกรณีของจีน Obama เน้นที่จะให้จีนมีบทบาทความรับผิดชอบที่สร้างสรรค์ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่า แม้จะมีหลายเรื่องที่สามารถร่วมมือกันได้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่สหรัฐฯกับจีนจะต้องต่อสู้แข่งขันกัน


ภาวะโลกร้อน

Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush ว่าล้มเหลว ในการที่สหรัฐฯจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน Obama ยอมรับว่า สหรัฐฯเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดในโลก ดังนั้น สหรัฐฯจึงจะต้องมีความรับผิดชอบที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหานี้ Obama ประกาศว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะดำเนินมาตรการเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯให้ลดลงเป็นอย่างมาก
มนุษยชาติร่วมกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ Obama เน้น ก็คือ การที่สหรัฐฯจะต้องมีบทบาทต่อมวลมนุษยชาติโดยรวม โดยเน้นการเข้าไปส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สังคมที่มีความเป็นธรรม และมีความมั่นคงปลอดภัย สหรัฐฯจะต้องมีบทบาทในการลด และแก้ปัญหาความยากจนของโลก Obama เสนอว่า เขาจะจัดสรรงบประมาณถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2012 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประเทศยากจน และจะจัดตั้งกองทุน Global Education Fund จำนวน 2 พันล้านเหรียญ

การค้า

ที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น หาก Obama ได้เป็นประธานาธิบดี และสามารถทำได้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโลกโดยรวม ซึ่งน่าจะดีกว่านโยบายของพรรครีพับลิกัน และของรัฐบาล Bush
อย่างไรก็ตาม มีนโยบายด้านหนึ่งที่อาจจะไม่เป็นผลดีต่อโลก และต่อไทย คือ นโยบายของ Obama ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า Obama มีแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม และเน้นการเอาใจผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน

ที่ผ่านมา ถึงแม้ Obama จะสนับสนุนการค้าเสรี แต่ในระยะหลังๆ ก็มีท่าทีต่อต้านเขตการค้าเสรีหรือ FTA มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่า FTA ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อชนชั้นผู้ใช้แรงงานของสหรัฐฯ Obama ได้ประกาศไม่เห็นด้วยกับการจัดทำ FTA ในหลายๆ กรณี อาทิ เขตการค้าเสรีของอเมริกากลาง หรือที่เรียกย่อว่า CAFTA และประกาศต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA และเพื่อเป็นการเอาใจคนงานอเมริกันที่เป็นฐานเสียงสำคัญ Obama จึงบอกว่า NAFTA ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานอเมริกัน และประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดีจะหารือกับผู้นำของแคนาดา และเม็กซิโก เพื่อแก้ไขข้อตกลง NAFTA ใหม่

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯภายใต้การนำของ Obama คงจะมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีและ FTA มากขึ้น และคงมีนโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้น ซึ่งคงจะส่งผลกระทบในทางลบต่อโลก และต่อไทย


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 3

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 3)

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้มาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนี้


Texas และ Ohio
ก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นที่ Texas และ Ohio สถานการณ์ของ Hillary Clinton ค่อนข้างย่ำแย่ ถึงขั้นการเลือกตั้งที่ Texas และ Ohio จะเป็นวันชี้ชะตาทีเดียว เพราะถ้า Hillary แพ้ ก็ถือว่าจบ ถึงขั้นมีคนแนะนำว่า ให้ Hillary ถอนตัวออกไปเลย เพราะยังไงก็แพ้แน่ อย่างไรก็ตาม Hillary ไม่ยอมถอนและยังคงเดินหน้าสู้ต่อ และผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา กลับพลิกสถานการณ์ เพราะ Hillary ชนะที่ Texas, Ohio และ Rhode Island ส่วน Obama ชนะที่รัฐ Vermont เท่านั้น ถือเป็นการหยุดชัยชนะของ Obama ที่ติดต่อกันถึง 12 รัฐ หลัง Super Tuesday

Hillary กลับมาได้คะแนนจากฐานเสียงสำคัญคือ คนอเมริกันผิวขาว ชนชั้นแรงงาน กลุ่มผู้หญิง ผู้สูงอายุ และพวก Latinos คือ คนอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน โดยในกลุ่มผิวขาว Hillary ชนะ Obama ถึง 19% ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ Ohio Hillary ชนะ Obama ถึง 32% สำหรับกลุ่มผู้หญิง Hillary ชนะ Obama ถึง 16% และที่ Texas ในกลุ่ม Latinos Hillary ชนะ Obama ถึง 2 ต่อ 1

ปัจจัยที่ทำให้ Hillary ชนะ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Hillary ชนะ Obama นั้นมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก Hillary ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การหาเสียงใหม่โดยหันกลับมาใช้ยุทธศาสตร์โจมตี Obama อย่างหนัก มีลักษณะเป็น fighter หรือ นักสู้ โดยได้มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตี Obama อย่างหนัก และ Hillary ดูเหมือนกับจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น มีการใช้อารมณ์ ความโกรธ ทำให้คนอเมริกันมองว่า Hillary เข้าถึงคนอเมริกันได้มากกว่า Obama เข้าทำนอง “ตีนติดดิน” มากขึ้น

ประการที่สอง คือ การใช้ยุทธศาสตร์โจมตีจุดอ่อนของ Obama อย่างหนัก
โดยเรื่องแรกคือ การโจมตีว่า Obama ไม่มีประสบการณ์ และอ่อนหัดในเรื่องนโยบายความมั่นคง และไม่สามารถเป็นผู้นำกองทัพได้

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ทำให้ Obama เสียคนคือ การที่มีข่าวรั่วออกมาว่า Obama ไปพูดกับทางเจ้าหน้าที่ของแคนาดาว่า การที่ Obama โจมตี NAFTA นั้น เป็นเพียงยุทธศาสตร์การหาเสียง แต่จริงๆ แล้ว Obama ไม่คิดจะไปแก้ข้อตกลง NAFTA กับ แคนาดา แต่อย่างใด เรื่องนี้ทำให้ Obama เสียภาพลักษณ์มาก เพราะก่อนหน้านี้ เขาพยายามชูภาพว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่ในที่สุด ก็กลับมาเป็นนักการเมือง “น้ำเน่า” ที่ตีสองหน้าได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่ทำให้ Obama เสียคนคือ การที่มีข่าวว่า Obama ไปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจมาเฟียที่กำลังถูกดำเนินคดี คือ Tony Rezko

สาเหตุประการที่สามที่ทำให้ Hillary พลิกกลับมาชนะ Obama คือ การที่เศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าทาง Hillary โดย 80% ของคน Ohio ที่ไปเลือกตั้งขั้นต้นมีความเห็นว่า FTA มีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน คนที่Ohio ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงเข้าทาง Hillary เพราะคน Ohio มอง Hillary ว่ามีประสบการณ์ และนโยบายเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมมากกว่า Obama ที่มักจะพูดแต่คำว่า “CHANGE” แต่ก็ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และนโยบายดูเพ้อฝัน

คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Hillary จะชนะ Obama ที่ Texas และ Ohio แต่คะแนนคณะผู้เลือกตั้งหรือ delegates ของ Obama ก็ยังนำ Hillary อยู่ประมาณ 160 คะแนน ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ Hillary จะชนะ แต่พรรคเดโมแครตใช้ระบบคิดเป็นสัดส่วน ดังนั้น ทั้ง Hillary และ Obama ก็ได้คะแนนโดยที่ Ohio ถึงแม้ Hillary จะชนะ Obama 10% แต่เมื่อแปลออกมาเป็นคะแนน delegates Hillary ก็ชนะ Obama เพียง 9 คนเท่านั้

ดังนั้น Hillary ยังอยู่ในภาวะเข็นครกขึ้นภูเขาถึงจะชนะ Obama ได้ โดยอาจจะต้องชนะรัฐที่เหลืออย่างน้อย 60% แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะ Obama ก็เพิ่งชนะ Hillary ไปที่ Wyoming และที่ Mississippi Obama ก็คงจะชนะอีก เช่นเดียวกับที่ North Carolina และ Oregon

สำหรับ Hillary นั้น โอกาสชนะก็ที่รัฐ Pennsylvania, Indiana, West Virginia, Montana และ South Dakota

แต่แนวโน้มคือ คงจะไม่มีใครสามารถได้ถึง 2025 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่จะชนะได้เป็นตัวแทนพรรค ดังนั้น ในที่สุดแล้ว คงต้องไปต่อสู้กันในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครด ในช่วงเดือนสิงหาคม และปัจจัยชี้ขาดคือกลุ่ม superdelegates ซึ่งคล้ายๆ กับคณะกรรมการบริหารพรรค มีอยู่ประมาณ 800 คน และคงจะเป็นกลุ่มนี้ที่จะเป็นตัวตัดสินว่า จะเลือก Hillary หรือ Obama ในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ตัวเลขล่าสุดคือ Hillary ได้รับเสียงสนับสนุนอยู่ 218 เสียง และ Obama 199 เสียง

ยุทธศาสตร์ของ Hillary

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือ Hillary คงจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ซึ่งน่าจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็น

• Hillary คงจะดำเนินยุทศาสตร์โจมตีจุดอ่อนของ Obama ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องความอ่อนหัดในนโยบายความมั่นคงและนโยบายเศรษฐกิจ

• Hillary คงจะดำเนินยุทธศาสตร์ที่จะไม่ให้ superdelegates ไปสนับสนุน Obama โดยคงจะพยายามหว่านล้อมให้ superdelegates เชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในที่สุดแล้วคงจะต้องวัดกันที่รัฐใหญ่ อาทิ Ohio, Florida ซึ่ง Hillary ดูจะมีความเหนือกว่า Obama และ Hillary คงจะต้องชนะที่รัฐ Pennsylvania เพื่อที่จะทำให้ superdelegates เชื่อว่า Hillary น่าจะทำให้พรรคเดโมแครตชนะพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้

• ทีม Hillary คงจะผลักดันให้การเลือกตั้งขั้นต้นใหม่ที่ Florida และ Michigan ซึ่งที่ผ่านมาถูกถือว่าเป็นโมฆะเพราะไปเลื่อนวันเลือกตั้ง โดย Hillary หวังว่าเสียงที่ Florida และ Michigan เหนือกว่า Obama ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็น่าจะได้เปรียบ

• Hillary คงจะเดินหน้าในการเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของ Hillary ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Clinton as fighter” ซึ่งกำลังโดนใจคนอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

• Hillary คงจะตอกย้ำว่า การที่ชนะที่ Ohio นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ใครที่ชนะที่รัฐ Ohio ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี

สมรภูมิ Pennsylvania

เหตุการณ์สำคัญที่เราจะต้องจับตามองกันต่อคือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่ Pennsylvania ในวันที่
22 เมษายน ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นรัฐชี้ชะตาของ Hillary อีกครั้ง ถ้าชนะโอกาสตีตื้น Obama ก็มากขึ้น
จากโพลล์ล่าสุดปรากฏว่า Hillary ยังนำ Obama อยู่ 44% ต่อ 32% อย่างไรก็ตาม Obama ก็ไล่กวดขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเมื่อช่วงเดือนมกราคม Hillary นำ Obama อยู่ถึง 20% แต่ตอนนี้ Obama ตามอยู่เพียง 10 กว่า% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมดูแนวโน้มแล้ว Hillary น่าจะชนะ เพราะลักษณะทางโครงสร้างประชากรของ Pennsylvania นั้น เหมือนกับที่ Ohio คือ เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีฐานผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุน Hillary ดังนั้น เรื่องสำคัญก็คงจะเหมือนที่ Ohio คือ เศรษฐกิจ ซึ่ง Hillary น่าจะได้เปรียบ นอกจากนี้ Hillary ยังได้รับการสนับสนุนทั้งจาก ผู้ว่าการรัฐ Pennsylvaniaและจากนายกเทศมนตรีเมือง Philadelphia ด้วย


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 2

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 2)

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ Super Tuesday ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดหลังจาก Super Tuesday


สถานการณ์หลัง Super Tuesday

ในตอนเลือกตั้งขั้นต้นช่วง Super Tuesday ผู้สมัครจากพรรค Democrat คือ Barack Obama และ Hillary Clinton ได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดใน 24 รัฐ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่า Hillary ชนะ Obama อยู่เล็กน้อย และคะแนน Hillary ก็นำอยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง Super Tuesday Obama ก็ผงาดขึ้นมาแรงมาก และชนะ Hillary ในทุกรัฐ โดยมีการแข่งกัน 8 รัฐ Obama ชนะ ทั้ง 8 รัฐ คือ ที่ Louisiana , Nebraska, Washington, Virgin Islands, Maine, Washington D.C., Maryland และ Virginia จึงทำให้คะแนนของ Obama แซงหน้า Hillary ไปแล้ว และในการหยั่งเสียงทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่ Obama ได้แซง Hillary ไปเช่นเดียวกัน คืออยู่ที่ 45% ต่อ 44% แต่ในบาง Poll ก็ให้เสมอกันที่ 45%

การผงาดขึ้นมาของ Obama นั้น มาแรงมากในทุก ๆ กลุ่มของคนอเมริกัน ก่อนหน้านี้ Obama ถูกมองว่า มีฐานเสียงคือ คนหนุ่มสาว และคนผิวดำ แต่จากชัยชนะหลัง Super Tuesday ได้ชี้ให้เห็นว่า Obama ชนะ Hillary ในรัฐ Maine และ Washington ซึ่งเป็นรัฐของคนผิวขาว และ Obama ยังได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากผู้มีอายุสูงวัย และจากกลุ่มอิสระ (independents) ซึ่งกลุ่มอิสระนี้คือ พวกไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค Democrat หรือ Republican นอกจากนี้ ชัยชนะของ Obama ในแต่ละรัฐ ยังเป็นชัยชนะแบบถล่มทลาย ผิดความคาดหมาย

โดยเฉพาะในรัฐ Virginia Obama ชนะ Hillary ขาดลอย คือ 64% ต่อ 35% เช่นเดียวกับรัฐ Maryland ก็ชนะขาดลอย 61% ต่อ 35% และในเขต Washington D.C. ก็ชนะแบบถล่มทลาย คือ 75% ต่อ 24%
ที่น่าสนใจคือ ชัยชนะของ Obama ในรัฐ Virginia Obama ชนะ Hillary ในทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะในกลุ่มผู้ชายหรือกลุ่มผู้หญิง ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้หญิงซึ่งน่าจะเป็นฐานเสียงของ Hillary แต่ Obama ก็ชนะ Hillary ในกลุ่มผู้หญิงนี้ คือชนะ 58% ต่อ 42% สำหรับคนผิวขาวซึ่ง Hillary น่าจะชนะ แต่ Hillary ก็แพ้ Obama คือแพ้ 47% ต่อ 52% ส่วนกลุ่ม Latinos คือ ชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน ซึ่งในอดีตเป็นฐานเสียงของ Hillary แต่ Hillary ก็แพ้ Obama อีก คือได้ 46% ต่อ 54% สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่ Hillary น่าจะชนะแต่ก็แพ้คือ กลุ่มผู้สูงวัย ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป โดยแพ้ 45% ต่อ 55%


แนวโน้ม

อย่างไรก็ตาม หากดูแนวโน้มในอนาคต ก็น่าจะเป็นการพลิกไปพลิกมา โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จะเป็นการเลือกตั้งของพรรค Democrat ที่รัฐ Hawaii และ Wisconsin ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ทราบผล แต่คิดว่า Obama น่าจะชนะทั้ง 2 รัฐ

ดังนั้น Hillary ก็จะอยู่ในลักษณะ หลังพิงฝาแล้ว โดยผมคิดว่าในวันที่ 3 มีนาคม น่าจะเป็นวันชี้ชะตา Hillary โดยจะมีการเลือกตั้งในรัฐ Texas และ Ohio ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ทั้งคู่ โดย Texas จะมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 228 คน และที่ Ohio อีก 164 คน ดังนั้น ถ้า Hillary ชนะใน 2 รัฐนี้ก็จะพลิกกลับมานำ Obama ได้

สำหรับที่ Texas นั้น Hillary น่าจะเป็นต่อ เพราะมีคน Latinos อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจเป็นเกือบครึ่งหนึ่งที่จะมาลงคะแนนเลือกผู้แทนพรรค Democrat ชาว Latinos เป็นฐานเสียงสำคัญของ Hillary อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า Latinos ส่วนใหญ่กลับเลือก Obama มากกว่า Hillary ในรัฐ Virginia

สำหรับรัฐ Ohio นั้น Hillary ก็น่าจะชนะเพราะนำ Obama อยู่ถึง 20% โดยที่ Ohio นั้นจะมีฐานเสียงสำคัญคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งมีแนวโน้มเอียงที่จะชอบนโยบายเศรษฐกิจของ Hillary มากกว่าของ Obama
อีกรัฐหนึ่งที่อาจชี้เป็นชี้ตาย Hillary คือรัฐ Pennsylvania โดยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน Pennsylvania เป็นรัฐใหญ่อีกรัฐหนึ่ง มีคะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 188 คะแนน แนวโน้มขณะนี้ Hillary ก็นำ Obama อยู่ในรัฐนี้

ข้อได้เปรียบของ Hillary

หากจะวิเคราะห์ว่าใครจะชนะได้เป็นผู้แทนพรรค Democrat นั้น คงจะต้องมาดูจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน สำหรับ Hillary นั้นน่าจะมีข้อได้เปรียบ 3 ประการด้วยกัน

ประการที่ 1 จากที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น คือ Hillary มีแนวโน้มที่จะชนะ ที่รัฐใหญ่คือ Texas, Ohio และ Pennsylvania ซึ่งทั้ง 3 รัฐรวมกันแล้ว มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 492 คน ซึ่งหาก Hillaryชนะ ก็จะพลิกกลับมานำ Obama ได้

ประการที่ 2 Hillary มีจุดแข็งโดยถูกมองว่า มีประสบการณ์มากกว่า Obama และนโยบายของ Hillary ก็ดูว่าน่าจะปฏิบัติได้ ซึ่งต่างจากนโยบายของ Obama ซึ่งดูค่อนข้างเพ้อฝัน

นอกจากนี้ Hillary ยังได้เปรียบ Obama ในการ debate หรือ การโต้วาทีในลักษณะตัวต่อตัว โดย Hillary น่าจะพยายามใช้ยุทธศาสตร์ให้มีการโต้วาทีกันตัวต่อตัวมากที่สุด และ Hillary จะใช้โอกาสในการ debate นั้นโจมตีนโยบายของ Obama ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายต่างประเทศ จุดอ่อนของโยบาย Obama คือ ค่อนข้างจะเพ้อฝัน และ Hillary คงจะพยายามชี้ให้ผู้คนเห็นว่า หากปล่อยให้ Obama เป็นตัวแทนพรรค Democrat จะไปสู้ในการ debate กับ John McCain ผู้สมัครจากพรรค Republican ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ McCain นอกจากนี้ Hillary คงจะโจมตี Obama อย่างหนักในเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์และความสามารถในด้านนโยบายเศรษฐกิจ

ข้อได้เปรียบประการที่ 3 ของ Hillary คือ บทบาทของ superdelegates ซึ่งคล้ายๆ กับเป็นคณะบริหารงานพรรค Democrat มีอยู่ประมาณ 800 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. อดีตประธานาธิบดี อดีตรองประธานาธิบดี และสมาชิกระดับสูงของพรรค กลุ่มนี้อาจเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นตัวแทนพรรค หากคะแนนสูสีกันและจะต้องตัดสินกันในการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนสิงหาคม

Hillary ดูจะได้เปรียบ Obama เพราะได้เสียงสนับสนุนในกลุ่มนี้มากกว่า ทั้งนี้เพราะ สามีของเธอคืออดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ยังมีบารมี อิทธิพล และเครือข่ายภายในพรรคอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะท่าทีของบุคคลสำคัญในพรรคคนอื่น ๆ อาทิ Al Gore ซึ่งเป็นคนที่มีบารมีอีกคนหนึ่งในพรรค หาก Al Gore ประกาศสนับสนุนใคร คนนั้นอาจได้เปรียบ แต่ Al Gore ขณะนี้ก็ยังไม่ยอมประกาศท่าที และยังวางตัวเป็นกลางอยู่

ข้อได้เปรียบของ Obama

สำหรับ Obama นั้น ขณะนี้มาแรงมาก ทั้งนี้เพราะ ความสามารถพิเศษของเขาในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ปลุกเร้าอารมณ์และสร้างความประทับใจให้แก่คนฟังเป็นอย่างมาก

Obama นั้น จับจุดความรู้สึกของคนอเมริกันได้ถูก นั่นคือ 7 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล Bush คนอเมริกันรู้สึกเบื่อหน่ายและผิดหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลง ภาษาอังกฤษก็คือคำว่า “change” Obama ก็จับเอาคำนี้มาเป็นสโลแกนการหาเสียงมาโดยตลอด ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มา “เปลี่ยนแปลง” อเมริกา ก่อให้เกิดกระแสการสนับสนุน Obama เป็นอย่างมาก

Obama พยายามสร้างภาพว่า เขาจะอยู่เหนือการเมืองในระบบเดิม ๆ โดยจะอยู่เหนือการแบ่งแยกในเรื่องสีผิว และจะอยู่เหนือการแบ่งแยกระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม การสร้างภาพว่า เป็นคนหนุ่มที่มองโลกในแง่ดีจึงได้สร้าง momentum ขึ้นอย่างมากในการหาเสียงในครั้งนี้ นอกจากนี้ Obama ก็พยายามที่จะสร้างภาพว่า เขาจะเป็นคนสร้างความสามัคคีและเอกภาพให้เกิดขึ้นหลังจากที่สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกมานาน Obama ดูเหมือนกับจะมีบารมีซึ่งเป็นลักษณะสำคัญยิ่งของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของ Obama ที่ Hillary นำมาโจมตีอยู่ตลอดคือ การไม่มีประสบการณ์ และการพูดถึงแต่เรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” นั้นดูเป็นเรื่องเลื่อนลอยและเพ้อฝัน แต่พอมาถึงนโยบายที่จะต้องนำมาปฏิบัติได้ Obama ก็ดูจะมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ หลายครั้งที่ข้อเสนอของ Obama ก็ถูก Hillary เอามาโจมตีอย่างหนักว่า เป็นข้อเสนอที่ดูโง่เขลา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 1

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 1)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยในช่วงนี้เป็นขั้นตอนของการเลือกตัวแทนพรรค การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้จะเป็นปีพิเศษ เพราะถ้าหาก Hillary Clinton ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก แต่หาก Barack Obama ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก และหาก John McCain ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด คือ 72 ปี


Super Tuesday

การเลือกตั้งขั้นต้นที่เป็นการเลือกตัวแทนของพรรคทั้ง 2 พรรคนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเริ่มจากที่รัฐ Iowa ก่อน แต่มาถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีการลงคะแนนเสียงกันถึง 24 รัฐ ซึ่งถือเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Super Tuesday

ทางฝากของพรรครีพับลิกันนั้น John McCain ชนะอย่างขาดลอย โดยชนะคู่แข่งอย่าง Huckabee และ Romney ซึ่งทั้ง 2 คนก็มาแย่งคะแนนกันเอง ในรัฐเล็ก ๆ ส่วน McCain ชนะในรัฐใหญ่ เช่น รัฐ New York , California และรัฐในบริเวณที่เรียกว่า New England ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ
โดยสรุปแล้ว McCain ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (delegates) ไปได้ถึง 600 คะแนน ในขณะที่ Huckabee ได้เพียง 155 คะแนน และ Romney ได้ 200 คะแนน Huckabee ชนะในรัฐเล็ก ๆ โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เช่น Georgia, Alabama, Louisiana ส่วน Romney ได้คะแนนจากทางตะวันตก คือรัฐเล็กๆ เช่นรัฐ Utah

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Romney ได้พ่ายแพ้ในวัน Super Tuesday เขาก็ได้ถอดใจและถอนตัวออกจากการแข่งขัน ในขณะนี้จึงเหลือเพียง McCain และ Huckabee เท่านั้น ซึ่ง McCain ก็นำห่างชนิดที่ Huckabee ไม่มีทางไล่ทัน ดังนั้น McCain ก็คงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันมาสู้กับตัวแทนพรรคเดโมแครตในปลายปีนี้อย่างแน่นอน

McCain ถูกมองว่า มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะชนะคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต แต่จุดยืนของ McCain ก็ไม่ค่อยคงเส้นคงวา บางเรื่องก็มีจุดยืนลักษณะสายกลาง บางเรื่องก็เอียงไปทางเสรีนิยม แต่บางเรื่องก็เอียงไปทางอนุรักษ์นิยม อาทิ ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ จุดยืนของ McCain เป็นสายเหยี่ยว หรืออนุรักษ์นิยมขวาจัดอย่างชัดเจน แต่จุดยืนต่อปัญหาภายในประเทศ ด้านปัญหาสังคม กลับไม่เป็นอนุรักษ์นิยม โดยเขามีท่าทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายลดภาษีของรัฐบาล Bush และมีท่าทีเมินเฉยต่อการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ และเรื่องการทำแท้ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้พวกอนุรักษ์นิยมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ออกมาต่อต้าน McCain และหันไปสนับสนุน Huckabee และ Romney ที่มีจุดยืนเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า

สำหรับทางฟากพรรคเดโมแครตนั้น ก็เป็นการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ระหว่าง Hillary Clinton และ Obama โดย Obama ได้ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาอย่างมาก โดยชนะ Hillary ในแถบภาคตะวันตกกลาง (Mid West) รัฐทางใต้และรัฐเล็ก ๆ ทางตะวันตก ในวัน Super Tuesday Obama ชนะถึง 13 รัฐ ก่อนหน้านี้ Obama ได้แรงสนับสนุนจากการที่ Edward Kennedy ซึ่งเป็นน้องชายของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้ออกมาให้การสนับสนุน Obama อย่างเต็มที่ โดยเปรียบ Obama ว่าเป็น John F. Kennedy คนใหม่ ฐานคะแนนสำคัญของ Obama คือ คนผิวดำ กลุ่มผู้ชายผิวขาว ซึ่งไม่สนับสนุน Hillary เพราะเป็นผู้หญิง และกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มอง Obama ว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกา

สำหรับในส่วนของ Hillary นั้น ในวัน Super Tuesday ก็ชนะ Obama ในรัฐใหญ่ๆ โดยเฉพาะในรัฐ California รัฐทางแถบ New England โดยเฉพาะรัฐ Massachusetts ถึงแม้ Hillary จะยังนำ Obama อยู่ แต่ก็นำอยู่ไม่มาก คะแนนนำของ Hillary ตกลงไปเรื่อย ๆ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว Hillary นำ Obama อยู่ถึง 2 ต่อ 1 คือประมาณ 40% ต่อ 20% แต่ขณะนี้ Obama ไล่กวดขึ้นมาเกือบจะเท่ากันแล้ว คือ ประมาณ 44% ต่อ 42% ฐานเสียงสำคัญของ Hillary คือ กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน ที่เราเรียกว่า Latinos

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือ ทั้งสองคนก็คงจะต่อสู้กันอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งอาจยืดเยื้อไปจนถึงการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนสิงหาคม

จุดแข็งของ Obama คือ การพูดในลักษณะปลุกกระแสได้อย่างดี Obama มีความสามารถพิเศษในการกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่ง Hillary ดูเหมือนจะสู้ไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่จุดแข็งของ Hillary คือ การมีประสบการณ์ และมีข้อมูลในเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Hillary คือ ต้องพยายามดึงเอา Obama มาถกเถียงกันในลักษณะโต้วาทีสองต่อสอง และ Hillary ก็จะใช้ความสามารถที่เหนือกว่าในการวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายของ Obama ซึ่งมีจุดอ่อนคือ เลื่อนลอยและเป็นอุดมคติ ในขณะที่นโยบายของ Hillary ดูจะเป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติในโลกของความเป็นจริงได้มากกว่า

แนวโน้ม

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Obama ก็ชนะ เพิ่มขึ้นอีก โดยชนะในรัฐ Louisiana, Nebraska ,Washington และ Maine ทำให้ขณะนี้ Hillary นำ Obama อยู่เพียงไม่กี่สิบคะแนน Hillary ได้คะแนนอยู่ในขณะนี้ 1084 คะแนน ในขณะที่ Obama ได้ 1057 คะแนน คนที่ได้ 2025 คะแนน จะถือว่าชนะได้เป็นตัวแทนพรรค เพราะฉะนั้น ยังจะต้องต่อสู้กันอีกหลายยก

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในรัฐ Maryland, Virginia และเขต Washington D.C. ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้ว Obama น่าจะชนะในทั้ง 3 เขตนี้ เพราะมีคนผิวดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นฐานสำคัญของ Obama ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า คะแนนรวมของ Obama จะแซง Hillary จากจุดนี้ไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ในวันที่ 4 มีนาคม จะมีการเลือกตั้ง ในรัฐใหญ่ คือ Ohio และ Texas ซึ่งแนวโน้ม Hillary น่าจะชนะและอาจพลิกกลับมานำในคะแนนรวม แต่ก็คงจะนำไม่มาก ซึ่งหลังจากนั้นคงจะต้องไปวัดกันอีกทีในวันที่ 22 เมษายน ที่จะมีการเลือกตั้งในรัฐ Pennsylvania

แต่ในที่สุดแล้ว ผมเดาว่า คะแนนคงจะต่างกันไม่มาก คงจะต้องไปตัดสินกัน ในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือน สิงหาคม ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้น จะมีคณะผู้เลือกตั้งที่ได้รับการเลือกเข้ามากว่า 4,000 คน ซึ่งน่าจะ เป็นคะแนนของ Hillary ประมาณ 2,000 คน และของ Obama น่าจะไล่เลี่ยกันคือประมาณ 2,000 คน

ดังนั้น แนวโน้มจึงมีความเป็นไปได้ว่า การตัดสินเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครต อาจจะต้องตัดสินโดยกลุ่มคน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Super Delegates ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 800 คน Super Delegates มีลักษณะเหมือนมีสถานะเป็น VIP ของพรรค ประกอบด้วย สมาชิกพรรคที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพรรคที่ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานาธิบดี และอดีตรองประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอื่น ๆ ที่มีตำแหน่งบริหารในระดับสูง แนวโน้มในขณะนี้ คิดว่าเสียงส่วนใหญ่ของ Super Delegates อาจจะเทเสียงส่วนใหญ่ไปทาง Hillary มากกว่าทางฝั่งของ Obama ทั้งนี้ เพราะอิทธิพลของ Bill Clinton ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดี และยังมีเครือข่ายในพรรค ซึ่ง Bill Clinton ก็คงจะ lobby ช่วยหาเสียงให้กับ Hillary อย่างเต็มที่


ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2008

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2008

ตีพิมพ์ใน : สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุม Shangri - La Dialogue ที่สิงค์โปร์ และได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายทางทหารล่าสุดของสหรัฐฯต่อเอเชีย

สุนทรพจน์ของ Gates ในครั้งนี้ เมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถือว่าลดความก้าวร้าวลงไปมาก และพูดจาภาษาดอกไม้และภาษาการทูตมากขึ้น แต่ก็มีเป็นการพูดที่มีนัยยะสำคัญแฝงอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการตีความ

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯนั้น คงไม่เปลี่ยน โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า hub & spoke ยุทธศาสตร์ดุมล้อ และซี่ล้อ โดยมีสหรัฐฯเป็นดุมล้อ และพันธมิตรเป็นซี่ล้อ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ดูจากสุนทรพจน์ สหรัฐฯกำลังมียุทธศาสตร์ลดการเผชิญหน้ากับจีน ลดความสำคัญกับยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และลดความสำคัญกับยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ยังคงเน้นยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า

สุนทรพจน์ของ Gates เน้น 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน ซึ่งผมจะแยกออกเป็นหัวข้อ ดังนี้

การคงบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาค

ในสุนทรพจน์ของ Gates ได้กล่าวนำว่า มีบางคนในเอเชีย อาจจะเป็นห่วงว่า สหรัฐฯ
อาจจะให้ความสำคัญกับตะวันออกกลางมากกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ Gates ก็ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง โดยเขากลับกล่าวว่า สหรัฐฯ ขณะนี้ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค เป็นอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยบอกว่า ตัวเขาเอง ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางมาเอเชียเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 18 เดือน ซึ่งถือว่า มาบ่อยมาก

Gates ได้ตอกย้ำว่า สหรัฐฯนั้น คือประเทศในแปซิฟิค ซึ่งเขาใช้คำว่า “Pacific nation” ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐฯก็จะมีบทบาทที่มั่นคงถาวรในเอเชีย สหรัฐฯสนับสนุนการผงาดขึ้นมาของเอเชีย และกล่าวในเชิงพูดเป็นบุญคุณว่า การผงาดขึ้นมาของเอเชียได้นั้นก็เพราะ การที่สหรัฐฯคงบทบาทในภูมิภาค โดย Gates บอกว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯได้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และในปัจจุบัน ก็เหมือนในอดีต นั่นคือ ความมั่นคงของทุกประเทศในเอเชีย จะเพิ่มมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯมีบทบาทที่เข้มแข็งในภูมิภาค

Gates ได้ตอกย้ำความสำคัญของพันธมิตรหลัก ๆ ของสหรัฐฯในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ซึ่ง Gates ให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ กับไทย นอกจากนี้ Gates ยังบอกว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับหุ้นส่วนและมิตรประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังกลายเป็น เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ได้รวมเอาทั้งอินเดีย และจีนเข้ามาด้วย

Gates ได้กล่าวว่า สหรัฐฯนั้น เป็น “resident power” ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯกำลังจะบอกว่า สหรัฐฯนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค เพราะสหรัฐฯมีดินแดนอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค ตั้งแต่หมู่เกาะ Aleutian จนมาถึงเกาะกวม ดังนั้น การที่ Gates พยายามตอกย้ำว่า สหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค ก็จะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมที่ว่า สหรัฐฯจะต้องไม่ถูกกีดกันออกไปจากการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯกำลังหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อิทธิพลในภูมิภาคของตนกำลังจะลดลง และกำลังจะถูกกีดกันออกไป จากการที่ประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน + 3 (อาเซียน + จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) กำลังมีแผนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ

Gates ได้ตอกย้ำและได้ให้ความมั่นใจว่า เนื่องด้วยผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สหรัฐฯจะไม่เพียงแต่จะคงอยู่และปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย แต่กลับจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ

หลักการ การเปิดกว้าง และความโปร่งใส

ประเด็นที่ 2 ที่ Gates ได้เน้นในสุนทรพจน์คือ สหรัฐฯสนับสนุนหลักการ การเปิดกว้าง
(openness) และต่อต้านหลักการการกีดกัน (exclusivity) ตรงนี้ผมมองว่า Gates ต้องการเน้น 2 เรื่อง เรื่องการเปิดกว้างนั้น เป็นการโจมตีจีนทางอ้อม โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการสร้างเสริมกำลังทางทหารของจีน ส่วนเรื่องที่ 2 การต่อต้านการกีดกันนั้น คือ การตอกย้ำการที่สหรัฐฯจะไม่ยอมถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มเอเชียตะวันออก

Gates ได้กล่าวโจมตีจีนทางอ้อมว่า สหรัฐนั้นต้องการการเปิดกว้างและความโปร่งใสในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหารในภูมิภาค แต่การกล่าวของ Gates ก็เป็นการพูดทางอ้อมเท่านั้น โดยไม่มีการพูดถึงจีนโดยตรง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเผชิญหน้ากับจีนในช่วงนี้ ผิดกับในช่วงของ Donald Rumsfeld รัฐมนตรีกลาโหมคนก่อน ในคราวที่มากล่าวสุนทรพจน์ที่ Shangri - La Dialogue ได้กล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงหลายครั้ง

แนวโน้มดังกล่าว ผมมองว่า น่าจะเป็นผลมาจากแนวโน้มใหญ่ของนโยบายต่างประเทศในช่วงปลายรัฐบาล Bush 2 ที่ต้องการลดอุณหภูมิ ความร้อนแรงทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วง Bush 1 ได้ดำเนินนโยบายสายเหยี่ยว ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนไปหมด โดยเฉพาะการบุกยึดครองอิรัก

สถาปัตยกรรมความมั่นคงใหม่

ประเด็นที่ 3 ที่ Gates เน้น คือ แนวโน้มของการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมความมั่นคงใหม่
(New Security Architecture) ของเอเชีย โดย Gates บอกว่า ขณะนี้ กำลังมีการพูดกันถึงสถาบันความมั่นคงใหม่ของเอเชีย ซึ่งสหรัฐฯก็สนใจการพัฒนาสถาบันในภูมิภาค แต่จุดที่ Gates เน้นคือ สหรัฐฯตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของสถาบันดังกล่าว ผมตีความว่า หมายถึง พัฒนาการของสถาบันเอเชีย ต้องไม่กีดกันสหรัฐฯนั่นเอง

แต่ Gates ก็สรุปว่า ถึงแม้การพัฒนาสถาบันจะน่าสนใจ แต่โครงสร้างที่สำคัญที่สุดก็คือ
กรอบความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ ซึ่งผมมองว่า คือการตอกย้ำความสำคัญของระบบ hub & spoke ของสหรัฐฯนั่นเอง

นอกจากนี้ Gates ยังย้ำว่า การพัฒนาสถาบันความมั่นคงในภูมิภาค จะต้องไม่เป็นลักษณะของเกมที่จะมีผู้แพ้และผู้ชนะ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า zero-sum game และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ Gates ย้ำประเด็นที่ขณะนี้อเมริกากำลังกลัวมาก นั่นคือการถูกกีดกัน โดยกล่าวว่า จุดเด่นของความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของเอเชียในขณะนี้ คือ การไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การพัฒนาสถาบันความมั่นคงของภูมิภาค จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อ มองภูมิภาคว่าเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือกีดกันใคร ดังนั้น การจัดตั้ง ระบบความมั่นคง “เอเชียตะวันออก” ที่แยกตัวออกไป (โดยไม่มีสหรัฐฯ) นั้น คงจะเป็นไปไม่ได้
ซึ่งผมมองว่า Gates กำลังพยายามที่จะตีกันและป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียน +3 และพยายามที่จะป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะถ้าจะมีแต่อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เท่านั้น ซึ่งเท่ากับจะเป็นการกีดกันสหรัฐฯออกไป สหรัฐฯจะยอมไม่ได้เด็ดขาด ถึงแม้ Gates จะไม่ได้กล่าวถึงอาเซียน + 3 โดยตรง แต่ผมตีความว่า Gates คงจะมีเจตนาเช่นนั้น และถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็เท่ากับเป็นสิ่งบ่งชี้ เป็นคำพูดที่ออกมาจากผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ คือระดับรัฐมนตรีกลาโหม ที่ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของการต่อต้านอาเซียน+3 ของสหรัฐฯมากขึ้นทุกที

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอนาคต

ประเด็นสุดท้ายที่ Gates พูดถึง คือ นโยบายของสหรัฐฯหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ในช่วงต้นปี
หน้า โดย Gates ให้ความมั่นใจว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ จะยังคงสานต่อจากนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยจะตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ สหรัฐฯจะยังคงเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่งในภูมิภาค ผลประโยชน์ดังกล่าวจะยังคงอยู่ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม โดย Gates เน้นว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ จะยังคงยืนหยัดหลักการการเข้าถึงทางยุทธศาสตร์ (strategic access) เสรีภาพทางการค้า และการเดินเรือ และเสรีภาพจากการถูกครอบงำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศ โดยสิ่งที่ Gates เน้นคือ นโยบายสหรัฐฯในอนาคต จะป้องกันไม่ให้มีเจ้าในภูมิภาคเกิดขึ้น

ตรงนี้ผมมองว่า ขณะนี้ สหรัฐฯก็คือเจ้าในภูมิภาค และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการคือ การป้องกันไม่ให้ใครมาท้าทาย และแย่งตำแหน่งเจ้าในภูมิภาคไป โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งจะท้าทายสหรัฐฯเป็นอย่างมาก

ผมเห็นด้วยกับ Gates ที่ว่า รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ก็คงจะยึดยุทธศาสตร์หลักไม่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในรายละเอียดแล้ว หากพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายของ Obama น่าจะมีความแตกต่างจากนโยบายของ Bush โดยนโยบายของ Obama น่าจะลดมิติด้านการทหาร และน่าจะให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศมากกว่ารัฐบาล Bush ที่มักจะเน้นการทหารและการเผชิญหน้า

ผลงานวิชาการ

ผลงานวิชาการ

· พ.ศ. 2551
- “ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก: ยุครัฐบาล Bush”
กระแสอาคเนย์ 5(53) พฤษภาคม 2551. หน้า 8-23.
- “แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2551” กระแสอาคเนย์ 5(50) กุมภาพันธ์ 2551.
หน้า 8-21.


· พ.ศ. 2550
- การก่อการร้ายสากล. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, บริษัท งานดีครี
เอชั่น จำกัด , 2550.
- “ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ: อดีต ปัจจุบันและอนาคต” รายงานการวิจัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พฤศจิกายน 2550
- “การก่อการร้าย” เอกสารวิชาการ เสนอในการประชุมรัฐศาสตร์และรัฐ
ประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 (2550) วันที่ 13-14 ธันวาคม 2550
ณ ศูนย์การค้าและนิทรรศการนานาชาติ (BITEC) บางนา กรุงเทพฯ
- “ท่าทีของประเทศต่าง ๆ ต่อการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก” กระแส
อาคเนย์ พฤศจิกายน 2550. หน้า
- “ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” เอเชียปริทัศน์ ปีที่ 28
ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2550 หน้า 42-76.
- “ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดอาเซียนที่สิงค์โปร์” กระแสอาคเนย์
4(48) ธันวาคม 2550. หน้า 23-33.
- “ประชาคมเอเชียตะวันออก: ข้อเสนอการทำ road map” รายงานการวิจัย
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กันยายน 2550
- “แนวโน้มสถานการณ์โลกและข้อเสนอนโยบายต่างประเทศของไทยในปี
2550 ” กระแสอาคเนย์ 4(38) กุมภาพันธ์ 2550. หน้า 18-29.
- การก่อการร้ายสากล รายงานการวิจัย สถาบันพระปกเกล้า มีนาคม 2550
- “โลกในยุคหลัง – หลังสงครามเย็น” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 28 ฉบับที่ 2
(พฤษภาคม – สิงหาคม 2550) น. 279-322.
- “ข้อเสนอท่าทีและบทบาทของไทยในอาเซียน ” กระแสอาคเนย์ 4(40)
เมษายน 2550. หน้า 8-18.
- “ข้อเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย” รัฏฐาภิรักษ์
ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2549 น.103-107.



· พ.ศ. 2549
- “ข้อเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย” รัฏฐาภิรักษ์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 4 ต.ค. – ธ.ค. 2549 หน้า 103-107.
- “การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ: ผลดี ผลเสีย และยุทธศาสตร์การเจรจา”
รัฐสภาสาร ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน พ.ศ. 2549. หน้า 105-115.
- “ASEAN-Japan Cooperation: Towards an East Asian Community”
in Siriporn Wajjwalku (ed.), Japan-ASEAN Beyond Economic
Partnership: Toward an East Asian Community? Bangkok,
Borpitt Printing, 2006.
- “ผลประโยชน์ของรัฐกับการรวมกลุ่มส่วนภูมิภาค”
เอกสารวิชาการ เสนอในการประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่ง
ประเทศไทยครั้งที่ 7 (2549) วันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2549 ณ มหาวิทยาลัย
รามคำแหง
- “ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย”
กระแสอาคเนย์ 3(36) ธันวาคม 2549. หน้า 42-49.
- หน่วยที่ 4 “เศรษฐกิจการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็น” เอกสารการสอน
ชุดกระแสโลกศึกษา หน่วยที่ 1-7 นนทบุรี: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2548. หน้า 4-1 ถึง 4-56.
- “ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
กระแสอาคเนย์ 3(29) พฤษภาคม 2549: 25-31.
- “ASEAN – Japan Cooperations: Towards an East Asian Community “
ญี่ปุ่นศึกษา ฉบับที่ 2/2006: 201-218.
- “การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ: ผลดี ผลเสีย และยุทธศาสตร์การเจรจา”
กระแสอาคเนย์ 3(32) สิงหาคม 2549: 14-21.
- “โลกในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ และปัญหาการก่อการร้ายสากล”
รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 น. 206-234.

· พ.ศ. 2548
- “ไทยกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก” ญี่ปุ่นศึกษา ฉบับที่ 2/2548
หน้า 1-22.
- “Asean-Japan Cooperation: Towards an East Asian Community” A
paper presented at International Conference on Japan-Asean Beyond the
Economic Partnership: Toward an East Asian Community?, 30 September
2005, Wanwaitayakorn Meeting Hall, Thammasat University
- “สู่ประชาคมเอเชียตะวันออก” กระแสอาคเนย์ 2(17) พฤษภาคม 2548:
10- 27.
- “ปัญหาท้าทายอาเซียนในปัจจุบัน” กระแสอาคเนย์ 2(20) สิงหาคม
2548: 6-12.
- หน่วยที่ 9 “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” เอกสารการสอนชุด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ หน่วยที่ 6-10 นนทบุรี:
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2548. หน้า 9-1 ถึง 9-55.
- โลกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น ผลงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.
- “โลกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น: บทบาทของประชาคมโลก”
เอกสารวิชาการ เสนอในการประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่ง
ประเทศไทยครั้งที่ 6 (2548) วันที่ 7-8 ธันวาคม 2548 ณ โรงแรมโลตัสปาง
สวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
- ความสัมพันธ์และนโยบายต่างประเทศของไทย กรุงเทพฯ: งานบริการเอกสารทางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

· พ.ศ. 2547 :
- “ไทยกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก” ใน นิทัศน์รัฐศาสตร์ 2547
เอกสารทาง วิชาการประจำปี สมาคมรัฐศาสตร์แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชุมพล เลิศรัฐการ, บรรณาธิการ. หน้า 60-72.
- นโยบายต่างประเทศด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชีย: ช่วงหลัง
สงครามเย็นถึงปัจจุบัน. โครงการวิจัยเสริมหลักสูตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2547.
- “Towards an East Asian Community”. A paper presented at the 2nd Annual
Conference of the Network of East Asian Think-Tanks, August 16-17, 2004,
Inter Continental Hotel, Bangkok, Thailand.
- “โลกในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ และปัญหาการก่อการร้ายสากล”.
เอกสารวิชาการ เสนอในการประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่ง
ประเทศไทยครั้งที่ 5 (2547) วันที่ 1-2 ธันวาคม 2547 ณ ศูนย์การค้าและ
นิทรรศการนานาชาติ (BITEC) บางนา กรุงเทพฯ

· พ.ศ. 2546
- กลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ผลงานวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- “ไทยกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก”. เอกสารวิชาการเสนอใน
การประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 4 (2546)
วันที่ 1-2 ธันวาคม 2546 ณ ศูนย์การค้าและนิทรรศการนานาชาติ (BITEC)
บางนา กรุงเทพฯ
- “การประชุมเอเปค 2003ที่ประเทศไทย” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 47
กรกฎาคม 2545-มิถุนายน 2546 :157-160.
- นโยบายต่างประเทศของไทยในสหัสวรรษใหม่ ผลงานวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- “วิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศในสหัสวรรษใหม่” อุโฆษสาร 2000
สังคมไทยพุทธศตวรรษที่ 25 สู่คริสตศตวรรษที่ 21 เล่ม 2 กรุงเทพฯ:
สมาคมอัสสัมชัญ 2546.

· พ.ศ. 2545
- อาเซียนในศตวรรษที่ 21 ผลงานวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สถานการณ์โลกปี 2545 ผลกระทบต่อไทย กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2545. (บรรณาธิการ)
- ความมั่นคงระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ: งานบริการเอกสารทางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ: งานบริการเอกสารทางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- “ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ : สำนักสัจจนิยม” เอกสารวิชาการ เสนอในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ 2545 สภาวิจัยแห่งชาติ และสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย
- “วิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศไทยในสหัสวรรษใหม่” สราญรมย์ ปีที่ 29 (2545)

· พ.ศ. 2544
- “โครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น” ใน นครินทร์
เมฆไตรรัตน์ และคณะบรรณาธิการ นรนิติ เศรษฐบุตร : 60 ปี กีรตยาจารย์ เล่มหนึ่ง กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2544 : 41 – 64.
- “ ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ” รัฐศาสตร์สาร ฉบับที่ 22/3 : 101-142.
- รวมงานเขียนและปาฐกถา เรื่อง การต่างประเทศของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน กรุงเทพฯ: ธาราฉัตรการพิมพ์ 2544. (บรรณาธิการร่วม)
- บทบาทของสหประชาชาติในสหัสวรรษใหม่ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2544. (บรรณาธิการ)

· พ.ศ. 2543

- นโยบายต่างประเทศของไทย : จากวิกฤตเศรษฐกิจสู่สหัสวรรษใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
- “โลกานโยบายศาสตร์ กระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษานโยบายระหว่างประเทศ” เอกสารวิชาการเสนอในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ 2543 สภาวิจัยแห่งชาติ และสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย

· พ.ศ. 2542
- ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น. ผลงานวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก โครงการวิจัยเสริมหลักสูตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
- “Thailand’s Foreign Policy in The Era of Economic Crisis.”
MIR Newsletter Vol. No.3 (January – March 1999) : 3 – 4.

· พ.ศ. 2531
- Intra - Asean Trade Cooperation : A “Policy Analysis’ Approach.
(Research Assistance Program for ASEAN Scholars in International Affairs (RAPAS) : Japan Institute of International Affairs)

· พ.ศ. 2529
- “Political Economy of Global Trade Problems : The Regime Perspective.” สราญรมย์ (2529) : 52-60.