Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ โดยได้วิเคราะห์ความขัดแย้งทางทหารไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งทางทะเล ดังนี้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการสายเหยี่ยวของสหรัฐชื่อ Robert Kaplan ได้เขียนบทวิเคราะห์ชื่อว่า “The Geography of Chinese Power” โดยได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีน สรุปได้ดังนี้

Kaplan มองว่า จีนกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค โดยขณะนี้ จีนมีความทะเยอทะยานและนโยบายที่ก้าวร้าว เหมือนกับที่สหรัฐเคยเป็นเมื่อศตวรรษที่แล้ว ความก้าวร้าวของจีนเกิดมาจากความต้องการพลังงานและแร่ธาตุสำคัญเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยในแคว้นซินเจียง ซึ่งมีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองคำ และเหล็ก รัฐบาลจีนจึงมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะครอบครองดินแดนดังกล่าว โดยใช้วิธีการส่งชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน (คนพื้นเมืองที่ซินเจียงเป็นชาวเติร์ก) จีนใช้นโยบายที่อาจจะเรียกว่า นโยบายกลืนชาติ

สำหรับมองโกเลีย ก็กำลังจะถูกคุกคามจากจีนเช่นเดียวกัน จีนนั้นได้ครอบครองดินแดนที่เรียกว่า Outer Mongolia ไปแล้ว ขณะนี้ จีนต้องการที่จะครอบงำมองโกเลีย โดยเฉพาะทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในมองโกเลีย

สำหรับในบริเวณตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งอยู่เหนือจีนขึ้นไปนั้น มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล คิดเป็น 2 เท่าของทวีปยุโรป แต่มีประชากรเบาบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นโยบายของจีนคือ การครอบงำทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านประชากร โดยการส่งคนจีนเข้าไปในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก Kaplan วิเคราะห์ว่า ทั้งนี้เพราะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบไปด้วยรัฐเล็กๆ ที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนได้ ขณะนี้ จีนใช้อาเซียนเป็นตลาดในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน ในขณะเดียวกัน ก็นำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากอาเซียน

สำหรับในคาบสมุทรเกาหลี จีนก็มีแผนที่จะเข้าครอบงำเช่นเดียวกัน

ที่กล่าวข้างต้น เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางบก แต่สำหรับภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางทะเลนั้น จีนกำลังประสบกับสภาวะแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามสูง โดยจีนมองว่า จีนกำลังถูกปิดล้อมทางทะเล ไล่มาตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ความรู้สึกถูกปิดล้อมทางทะเล จึงทำให้จีนก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม ปี 2009 เรือรบจีนได้เผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐในทะเลจีนใต้

จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะรวมชาติกับไต้หวัน ซึ่ง Kaplan มองว่า หากสหรัฐทอดทิ้งไต้หวัน ก็จะทำให้พันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคหมดความเชื่อมั่นในสหรัฐ และอาจจะทำให้พันธมิตรของสหรัฐหันไปใกล้ชิดกับจีนแทน ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของจีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในตอนท้ายของบทความ Kaplan ได้เสนอว่า สหรัฐควรสร้างแสนยานุภาพทั้งทางอากาศและทางทะเลในภูมิภาค และมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยสหรัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค

ผมมองว่า แนวคิดของ Kaplan นั้น เป็นแนวคิดของนักวิชาการสายเหยี่ยว สำนักสัจนิยม ซึ่งมองความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิดของ Kaplan จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางทหาร ซึ่งทางฝ่ายทหารและทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐกำลังผลักดันยุทธศาสตร์นี้อยู่

ความขัดแย้งทางทะเล
ดังนั้น ในขณะนี้ ศูนย์กลางทางความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีน จึงเป็นความขัดแย้งทางทะเลซึ่งมีอยู่หลายจุด
จุดแรกคือ ไต้หวัน ซึ่งในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ มองว่า จีนกำลังเสริมสร้างกำลังทางทหารโดยมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน

จุดที่สองคือ ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งในคอลัมน์ตอนที่แล้ว ก็ได้วิเคราะห์ไปแล้วเช่นเดียวกัน โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม Hillary Clinton ได้ประกาศว่า สหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ ท่าทีของสหรัฐทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจีนจึงได้ซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และสหรัฐได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม

จุดที่สามคือ บริเวณทะเลเหลืองหรือ Yellow Sea ซึ่งได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้น โดยเริ่มมาจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือ Cheonan ของเกาหลีไต้ แต่จีนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการลงโทษเกาหลีเหนือ จึงทำให้เกาหลีใต้ดึงสหรัฐเข้ามา โดยได้มีการซ้อมรบร่วมในคาบสมุทรเกาหลีและในทะเลเหลือง มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington มาร่วมซ้อมรบด้วย ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก (การซ้อมรบของสหรัฐในทะเลเหลือง ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับจีนไปซ้อมรบในอ่าวเม็กซิโก) นอกจากนั้น การซ้อมรบร่วมเกาหลี-สหรัฐมีญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย

จุดที่สี่คือ มหาสมุทรอินเดีย ถึงแม้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียโดยหลักแล้ว จะเป็นการแข่งขันทางทหารระหว่างจีนกับอินเดีย แต่สหรัฐเองก็พยายามจะมีบทบาทในบริเวณดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรอินเดียก็อาจจะตีความได้ว่า เป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐในทะเลจีนไต้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข่าวออกมาว่า มีเรือรบของจีน 2 ลำ ได้ไปเทียบท่าที่พม่า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรือรบจีนไปเยือนพม่า การไปเยือนพม่าเป็นเวลา 5 วันของเรือรบทั้ง 2 ถือเป็นการส่งสัญญาณการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับพม่า นอกจากนี้ ผู้นำพม่าหรือ นายพลตาน ฉ่วย ก็กำลังจะเดินทางไปเยือนจีน ในช่วงวันที่ 7 – 11 กันยายนนี้ โดยในระหว่างการเยือนจีน นายพลตาน ฉ่วย จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจีย เป่า ด้วย

ความขัดแย้งจีน-อินเดียปี 2010

ความขัดแย้งจีน-อินเดียปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 9 กันยายน 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มความขัดแย้งจีนกับอินเดีย ทั้งในมิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทหาร และเศรษฐกิจ ดังนี้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
จีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ทั้ง 2 ประเทศ จึงมีลักษณะเป็นคู่แข่งกัน และกำลังจะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนมองว่าอินเดียกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องถ่วงดุลและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน อินเดียก็มองจีนว่า เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องหาหนทางปิดล้อม

อินเดียมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย โดยจีนได้เข้าไปตีสนิทกับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย กำลังพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในปากีสถานและบังคลาเทศ สร้างถนนในเนปาล และสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพม่าไปจีน จีนยังได้ช่วยปากีสถานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งน่าจะเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลืออินเดียในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศป้อนอาวุธให้กับปากีสถานรายใหญ่ที่สุด อินเดียยังมองด้วยว่า จีนเป็นตัวขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN และขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกเอเปค นอกจากนี้ จีนยังตีสนิทกับศรีลังกา เรือรบของจีนสามารถไปจอดที่ท่าเรือทางตอนใต้ของศรีลังกาได้

สำหรับอินเดีย ก็ตอบโต้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมของจีนด้วยการตีสนิทกับสหรัฐ โดยในปี 2005 สหรัฐกับอินเดียได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์

นอกจากนี้ อินเดียได้ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากขึ้น บริษัทของญี่ปุ่นได้ไปลงทุนในอินเดียกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ในปี 2007 ได้มีการซ้อมรบทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียในอ่าวเบงกอล โดยมีเรือรบของสหรัฐเข้าร่วมในการซ้อมรบด้วย อินเดียได้เน้นการสร้างแนวร่วมที่เรียกว่า “อักษะของประเทศประชาธิปไตย” หรือ Axis of Democracies

นอกจากนี้ อินเดียยังได้ขัดแย้งกับจีนในกรณีทิเบต โดยองค์ดาไล ลามะ ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในอินเดียมาตั้งแต่ปี 1959 จีนได้กล่าวหาว่า ดาไล ลามะ และอินเดียอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในทิเบตในช่วงต้นปี 2008

ความขัดแย้งทางพรมแดน
ทั้ง 2 ประเทศมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ซึ่งเคยลุกลามกลายเป็นสงครามในปี 1962 อินเดียกล่าวหาจีนว่า ได้ไปยึดครองดินแดนของอินเดียในเขตแคชเมียร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีก โดยอินเดียได้ประกาศเพิ่มทหารประชิดพรมแดนจีน ส่วนจีนก็ตอบโต้ว่าดินแดนประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร ที่ขัดแย้งกับอินเดียนั้นเป็นของจีน จีนประกาศว่า เขต Arunachal Pradesh เป็นดินแดนของจีน และจีนได้ส่งกำลังทางทหารล้ำเข้าไปในแคว้นสิกขิมของอินเดียหลายครั้ง อินเดียก็ได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังทางทหารในแคว้นอัสสัมของอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีทหารอินเดียกว่า 100,000 คน

อินเดียมีพรมแดนติดกับจีนกว่า 4,000 กิโลเมตร อินเดียอ้างว่า เขต Ladakh ซึ่งจีนครอบครองอยู่นั้นเป็นของอินเดีย ส่วนจีนก็อ้างว่า เขต Tawang ซึ่งทหารอินเดียครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 1951 นั้น เป็นของจีน

จีนปฏิเสธเส้นเขตแดนซึ่งทำขึ้นในสมัยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โดยอ้างว่า เขต Arunachal Pradesh เป็นของจีน และท่าทีของจีนก็แข็งกร้าวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร รวมถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชียใต้

ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย

แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย กำลังจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย อินเดียนั้นมุ่งเน้นที่จะครอบงำมหาสมุทรอินเดียมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดียระหว่างประเทศทั้ง 2 มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ ทั้งจีนและอินเดียต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน

สำหรับจีน ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเส้นทางลำเลียงน้ำมัน โดยการสร้างท่าเรือและจุดยุทธศาสตร์ทางทหารบริเวณมหาสมุทรอินเดีย จีนได้สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Hambantota ทางใต้ของศรีลังกา และจีนกำลังสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ที่ Gwadar ปากีสถาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ในช่วงต้นปีนี้ มีข่าวการเผชิญหน้าระหว่างเรือรบจีนและอินเดียในอ่าว Aden

อินเดียได้ตอบสนองต่อการรุกคืบทางทะเลของจีน ด้วยการพัฒนากองทัพเรือขนานใหญ่ โดยอินเดียได้มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และได้ซื้อเรือรบจากรัสเซียและสหรัฐ อย่างไรก็ตามแผนการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน รวมทั้งกองเรือดำน้ำของจีน ทำให้กองทัพเรือจีนดูจะมีความเหนือกว่าอินเดีย แต่อินเดียก็ได้พยายามเพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดีย อาทิ Mauritius, Seychelles, Madagascar และ Maldives รวมทั้งได้มีการซ้อมรบร่วมทางทะเลกับญี่ปุ่นและเวียดนามด้วย

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จีนและอินเดียจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยจีนกำลังมุ่งพัฒนาภาคบริการของตนอย่างเต็มที่เพื่อแข่งกับอินเดีย ในขณะที่อินเดียก็มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของตนเพื่อแข่งกับจีน ถึงแม้ว่า มูลค่าการค้าจีน – อินเดีย จะมีประมาณ 60,000 ล้านเหรียญในปีนี้ แต่แนวโน้มในอนาคต ทั้ง 2 ประเทศน่าจะเป็นคู่แข่งมากกว่าร่วมมือกัน แนวคิดเรื่อง Chindia ก็คงเป็นไปได้ยาก

ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานกัน การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องใหญ่คือ เรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ จีนกับอินเดียกำลังแข่งขันกันอย่างหนัก ในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซ นอกจากนี้ ทรัพยากรน้ำก็เป็นอีกเรื่องของความขัดแย้ง โดยเฉพาะแม่น้ำหลายสายของอินเดียมีต้นกำเนิดอยู่ในทิเบตซึ่งเป็นของจีน ตัวอย่างเช่น แม่น้ำพรหมบุตร มีต้นกำเนิดจากทิเบต แต่เมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้ประกาศที่จะสร้างเขื่อนในแม่น้ำดังกล่าว ซึ่งทำให้อินเดียไม่พอใจเป็นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า จีนและอินเดียซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่ตรรกะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะกำหนดให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ