Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 4)

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 4)
สยามรัฐสัปดาห์วอจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 30 วันศุกร์ที่ 16 เมษายน - วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ได้วิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งจีนกับสหรัฐมาแล้ว 3 ตอน ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อถึงพัฒนาการความขัดแย้งล่าสุดดังนี้

ภูมิหลัง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก แต่ในปี 2010 นี้ ความสัมพันธ์ได้เข้าสู่จุดวิกฤติ โดยได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันหลายเรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นในเดือนมกราคม โดย Google ได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่าถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลจีนเซ็นเซอร์

ต่อมา เมื่อปลายเดือนมกราคม ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลโอบามาได้ประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงและประกาศจะตัดความสัมพันธ์ทางทหาร และประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐที่ขายอาวุธให้กับไต้หวัน โดยเฉพาะบริษัท Boeing นอกจากนี้ จีนยังได้ขู่ด้วยว่า ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ของโลก จะได้รับผลกระทบ

และต่อมา ความสัมพันธ์ได้เสื่อมโทรมลงไปอีก หลังจากที่โอบามาได้พบปะกับองค์ดาไลลามะ ที่ทำเนียบขาว ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยรัฐบาลจีนได้ออกมาโจมตีรัฐบาลโอบามาอย่างรุนแรง โดยบอกว่าการพบปะดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ และเป็นการละเมิดสิ่งที่สหรัฐยอมรับมาในอดีตว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน พฤติกรรมของสหรัฐถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้น ความขัดแย้งก็ยังไม่จบ โดยจีนไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐ ในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในคณะมนตรีความมั่นคง และในช่วงที่ผ่านมา ทางฝ่ายสหรัฐได้ออกมาโจมตีจีนอย่างมากในเรื่องค่าเงินหยวน ที่สหรัฐมองว่ามีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล และในเดือนเมษายนนี้ กำลังจะมีการพิจารณามาตรการลงโทษจีนในเรื่องนี้
จากความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น จึงมีการคาดการณ์กันว่า จีนกำลังจะมองหามาตรการตอบโต้สหรัฐด้วยการยกเลิกการเยือนระดับสูง โดยอาจจะมีการประกาศยกเลิกการเยือนสหรัฐของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ

แนวโน้มการปรับความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สถานการณ์ก็พลิกผัน โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมาประกาศอย่างผิดคาดว่า หู จิ่นเทา จะเดินทางไปเยือนสหรัฐตามกำหนดการเดิม โดยจะไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ในวันที่ 12 – 13 เมษายน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี จึงเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนท่าทีของจีนเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยจีนได้แสดงท่าทีต้องการลดความขัดแย้งกับสหรัฐ โดยประกาศจะร่วมมือกับสหรัฐในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ถึงแม้ความขัดแย้งจะยังคงมีหลายเรื่องและแก้ไขได้ยาก แต่ก็มีแนวโน้มอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์

โดยหลังจากที่จีนประกาศว่า หู จิ่นเทา จะมาเยือนสหรัฐ ทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐก็ออกมาตอบสนองด้วยดี โดยทางทำเนียบขาวได้ประกาศว่า การเยือนสหรัฐของ หู จิ่นเทา จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศ จะลดความตึงเครียดในเรื่องต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง Bill Burton โฆษกทำเนียบขาวได้กล่าวรู้สึกยินดีที่จีนจะมาร่วมการประชุมที่สหรัฐ และย้ำว่าความสัมพันธ์กับจีนมีความสำคัญ และมีหลายเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันที่จะต้องร่วมมือกัน ส่วนโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐก็ได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่า การประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีความสำคัญอย่างมาก และเห็นว่าการที่ หู จิ่นเทา จะมาเข้าร่วมการประชุม ชี้ให้เห็นว่าจีนก็เห็นถึงความสำคัญของการประชุมเช่นเดียวกัน
ต่อมา ในวันเดียวกันนั้น คือ วันที่ 1 เมษายน ได้มีการออกแถลงการณ์จากทำเนียบขาวแจ้งว่า โอบามาได้หารือทางโทรศัพท์กับ หู จิ่นเทา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยโอบามาได้กล่าวยินดีถึงการตัดสินใจของประธานาธิบดีหู ที่จะมาเข้าร่วมประชุมสุดยอด ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือถึงปัญหาที่มีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการยับยั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ไม่ให้ไปตกไปอยู่ในมือของขบวนการก่อการร้าย ผู้นำทั้งสอง ได้หารือถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในเชิงบวก โดยโอบามาได้เน้นที่จะร่วมมือกับจีนในการบีบให้อิหร่านปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ย้ำว่าสหรัฐและจีนจะร่วมกันผลักดันมาตรการต่างๆ ที่ตกลงกันในการประชุม G20 เพื่อผลักดันการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ปัญหาค่าเงินหยวน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีแนวโน้มการปรับความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น แต่ปัญหาความขัดแย้งที่จะต้องจับตาดูกันต่อก็คือ เรื่องค่าเงินหยวน ที่ทางฝ่ายสหรัฐมองว่ามีค่าต่ำเกินไป เป็นผลทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล ฝ่ายสหรัฐประเมินว่าค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% ภายใต้กฎหมายของสหรัฐกำหนดว่า กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่ารัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ (currency manipulator) ในปีนี้กระทรวงการคลังจะต้องรายงานภายในวันที่ 15 เมษายนนี้

ในอดีต ในปี 1994 สหรัฐเคยกล่าวหาจีนมาครั้งหนึ่งแล้วในเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็คงจะมองว่าการกล่าวหาจีนเช่นนั้นน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม ในปี 2005 ทางสภาสูงสหรัฐได้ลงมติที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนถึง 27% จึงเป็นการบีบให้จีนต้องประกาศเพิ่มค่าเงินหยวน โดยจีนประกาศว่าจะเพิ่ม 20% ภายใน 3 ปี แต่ในปี 2008 หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จีนได้หยุดการเพิ่มค่าเงินหยวน และทางสหรัฐก็ประเมินว่า จริงๆ แล้ว จีนเพิ่มค่าเงินหยวนเพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่กระแสต่อต้านจีนในปีนี้ก็รุนแรงมากขึ้น โดยจีนกลายเป็นแพะรับบาปของปัญหาการว่างงานในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีพัฒนาการปรับปรุงความสัมพันธ์ ผมจึงมองว่า การเยือนสหรัฐของ หู จิ่นเทา จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา คือมาตรการลงโทษจีน อาจจะชะลอออกไป ในขณะเดียวกัน ผมเดาว่า ทางฝ่ายจีนเอง ในช่วงเดือนนี้ อาจจะเป็นในระหว่างการเยือนสหรัฐ หู จิ่นเทา อาจจะประกาศว่า จีนจะเพิ่มขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งก็จะเป็นการลดกระแสกดดันลงไปได้มาก

กล่าวโดยสรุป พัฒนาการล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐคงจะทุเลาเบาบางลง โดยเฉพาะในช่วงที่ หู จิ่นเทา เยือนสหรัฐ ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้จะมีลักษณะชั่วคราวหรือถาวร ผมมองว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นน่าจะเป็นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความขัดแย้งนั้นไม่ได้เปลี่ยน ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนกับสหรัฐขัดแย้งกัน คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคต จีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมาอำนาจของสหรัฐก็ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ทำให้สถานะของสหรัฐตกลงไปมาก สหรัฐกำลังกลัวว่าจีนจะมาแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่จีนก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต ทำให้ผู้นำจีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้น ปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้จีนกับสหรัฐจะยังคงมีความขัดแย้งกันต่อไปอีกนาน

การประชุทรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดา

การประชุทรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดา
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 29 วันศุกร์ที่ 9 เมษายน - วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G8 ที่เมือง Gatineau รัฐ Quebec ประเทศแคนาดา ผลการประชุมมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย และปัญหาความมั่นคง

อาวุธนิวเคลียร์

จากเอกสารผลการประชุม G8 ในครั้งนี้ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ยินดีที่การเจรจาระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ประสบความสำเร็จในข้อตกลงการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ โดย G8 มองว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับรัสเซียจะเป็นแรงกระตุ้นในเชิงบวกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการเจรจาเพื่อทบทวนสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty : NPT) ซึ่งจะประชุมกันในเดือนพฤษภาคมนี้ และที่ประชุม G8 มองว่าการจัดประชุม Nuclear Security Summit ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในปลายเดือนเมษายนนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะหารือถึงมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของวัตถุดิบนิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของขบวนการก่อการร้าย
สำหรับปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านนั้น ที่ประชุม G8 รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่งที่อิหร่านยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง พฤติกรรมของอิหร่าน คือความไม่โปร่งใสในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Qom และการตัดสินใจเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียม เป็นการละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และการปฏิเสธความพยายามของสมาชิกถาวรทั้ง 5 ที่จะพยายามหาทางออกทางการทูต สิ่งเหล่านี้ทำให้ G8 สงสัยถึงเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ที่อิหร่านอ้างมาโดยตลอดว่าเพื่อไปใช้ในทางสันติ ดังนั้น G8 จึงเรียกร้องอย่างเต็มที่ ที่จะให้อิหร่านปฏิบัติตามข้อมติของ UN
สำหรับในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น โครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค G8 จึงเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะการเจรจา 6 ฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข และให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะนำไปสู่การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ผมวิเคราะห์ว่า G8 ให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก โดยประธานาธิบดีโอบามาได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ การประชุม G8 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการประชุมใหญ่ด้านนิวเคลียร์คือ การประชุม Nuclear Security Summit ปลายเดือนเมษายน และการประชุมทบทวนสนธิสัญญา NPT ในเดือนพฤษภาคม การประชุมครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการสร้างกระแสในเชิงบวก ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการประชุมทั้งสอง อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ของโอบามาที่ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ดูน่าจะเป็นความเพ้อฝันมากกว่าความเป็นจริง ท่าทีของสหรัฐก็ขัดแย้งกัน เพราะในขณะที่โอบามาบอกว่าจะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐล่าสุด กลับเน้นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่า ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์คงไม่จบง่ายๆ รวมทั้งปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดูแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่า จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ถึงแม้โอบามาจะลองปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือและอิหร่าน โดยพยายามใช้ไม่อ่อน เน้นปฏิสัมพันธ์และเจรจา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ท่าทีของทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือก็ยังคงแข็งกร้าวเหมือนเดิม ดังนั้น แทนที่โลกจะปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ กลับจะกลายเป็นว่า ในอนาคต อาวุธนิวเคลียร์จะแพร่ขยายออกไปเรื่อยๆ

ปัญหาการก่อการร้าย

สำหรับเรื่องสำคัญเรื่องที่ 2 ที่รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ประชุมกันในครั้งนี้ คือ การหารือในการต่อต้านการก่อการร้าย โดย G8 ได้หารือถึงมาตรการความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยจะต้องมีการประสานงานกันในการต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรง และป้องกันการแพร่ขยายของอุดมการณ์การก่อการร้าย รวมทั้งแก้ไขสภาวะที่เป็นบ่อเกิดของการก่อการร้าย G8 เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ เป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุก และเป็นระบบ โดยต้องเป็นการต่อยอดจากยุทธศาสตร์ของ UN ที่มีชื่อว่า UN Global Counter Terrorism Strategy รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ตกลงที่จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนดังกล่าวจะนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอด G8 ที่เมือง Muskoka ประเทศแคนาดาพิจารณาในปลายปีนี้
แนวรบที่สำคัญที่สุดในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายขณะนี้ คือสงครามอัฟกานิสถาน G8 จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความพยายามที่จะไม่ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายอีก โดยที่ประชุมได้มีการออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ต่างหาก ในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ย้ำว่า ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลืออัฟกานิสถาน จะต้องช่วยให้รัฐบาลอัฟกานิสถานปกป้องตนเองได้ ก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ของการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถานที่เรียกว่า London Conference Communique G8 เน้นย้ำที่จะทำให้กองกำลังของอัฟกานิสถานมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการประสานงานกันระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถาน UN (หน่วยงานของ UN ในอัฟกานิสถานมีชื่อว่า UN Assistance Mission in Afghanistan : UNAMA) รวมทั้งกองกำลัง NATO ด้วย
เรื่องที่เกี่ยวพันกันกับอัฟกานิสถานคือ ปากีสถาน G8 ได้ให้ความสำคัญกับบริเวณพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน ซึ่งกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ และเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ทั้งของนักรบตาลีบันและอัลกออิดะห์ แต่ G8 มองว่าการแก้ปัญหาในบริเวณดังกล่าว จะต้องใช้มาตรการที่นอกเหนือจากมาตรการทางทหารคือ ต้องมีการสนับสนุนการพัฒนาและการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปกครอง ดังนั้น G8 จึงได้ผลักดันกรอบความร่วมมือใหม่ ที่เรียกว่า Afghanistan Pakistan Border Region Prosperity Initiative โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง G8 กับธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงปีแรก จะเน้นโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างเมือง Peshawar - Jalalabad และการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสองเมือง
นอกจากนี้ G8 ยังได้หารือถึงสถานการณ์การก่อการร้ายที่ได้ขยายตัวเข้าสู่คาบสมุทรอาระเบียและอัฟริกา โดยเฉพาะในเยเมนและโซมาเลีย G8 ได้หารือถึงมาตรการในการช่วยเหลือรัฐบาลเยเมน ในการต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย และการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่สงบในโซมาเลียก็เป็นปัญหาใหญ่ และ G8 ได้หารือถึงมาตรการสนับสนุนรัฐบาลของโซมาเลีย
ผมวิเคราะห์ว่า ปัญหาการก่อการร้ายสากลยังคงเป็นปัญหาหนักอกของตะวันตก ที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยา ปี 2001 สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยการนำของสหรัฐ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุช ได้เน้นและให้ความสำคัญมากเกินไปต่อการใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลงไป กลายเป็นขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงได้แพร่ขยายไปทั่วโลก ถึงแม้ในระยะหลังๆ รัฐบาลตะวันตกจะเริ่มยอมรับมากขึ้นว่า ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง แต่มาตรการที่เป็นรูปธรรมที่แก้ปัญหาที่รากเหง้าก็ไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถานก็กำลังเป็นปัญหาและเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดสำหรับรัฐบาลโอบามา เพราะแนวโน้มกลับกลายเป็นนักรบตาลีบันและอัลกออิดะห์กลับฟื้นคืนชีพ และรุกคืบยึดดินแดนได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ขบวนการก่อการร้ายก็ได้ขยายตัวออกไป เข้าสู่คาบสมุทรอาระเบียและอัฟริกาเหนือ

ปัญหาความมั่นคงอื่นๆ

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ G8 หารือกัน คือ ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดย G8 มองว่าหลายประเทศยังไม่มีสถาบันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและจัดการความขัดแย้ง G8 จึงได้หารือถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น
โดยภูมิภาคที่มีปัญหาคือ ตะวันออกกกลาง โดยเฉพาะปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ G8 เน้นถึงความสำคัญของการเจรจาสองฝ่าย และให้ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นใน Road Map ที่จะนำไปสู่การเจรจาที่ประสบความสำเร็จ
ส่วนเรื่องพม่า G8 ได้แสดงความกังวลต่อกฎหมายเลือกตั้งที่มีข้อจำกัดหลายประการ G8 ได้เรียกร้องให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2010 นี้ ต้องมีความโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี โดยมองว่าการกักบริเวณจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของการเลือกตั้ง
สำหรับเรื่องสุดท้ายคือ ปัญหา Darfur G8 มองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในซูดาน ในเดือนเมษายนนี้ จะเป็นก้าวสำคัญสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยในซูดาน ซึ่งจะเป็นการกรุยทางไปสู่การจัดทำประชามติในเดือนมกราคม ปี 2011 เกี่ยวกับสถานะของ Darfur ในอนาคต
กล่าวโดยสรุป การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดาในครั้งนี้ เน้นหารือปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งท่าทีส่วนใหญ่ก็เป็นท่าทีเดิมๆ ที่ทางสหรัฐและตะวันตกได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการประชุมจะมีการใช้ภาษาทางการทูตที่สวยหรู ตั้งเป้าหมายที่ดูดี แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ไม่มีมาตรการและแผนการรองรับที่เป็นรูปธรรม การประชุมจึงมีลักษณะเป็นการ PR ในเชิงสัญลักษณ์ สร้างภาพเสียมากกว่า โดยพยายามทำให้ชาวโลกรู้สึกว่าประเทศร่ำรวยยังเอาจริงเอาจังที่จะแก้ปัญหาของโลก แต่ผลการประชุม G8 กำลังมีความสำคัญน้อยลงทุกที ทั้งนี้เพราะกลุ่ม G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างอำนาจโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะมีประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G8 จึงทำให้ผลการประชุม G8 ไม่มีความหมายและไม่มีความชอบธรรม

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย ปี 2553

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย ปี 2553
ไทยโพสท์ วันพฤหัสบดี ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

นโยบายต่างประเทศไทยในอดีต

นโยบายต่างประเทศและการทูตในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความอยู่รอดของชาติ และความเจริญรุ่งเรือง
จะเห็นได้ว่าในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ไทยได้ดำเนินการทูตอย่างแหลมคม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับจีน โดยมีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนมาโดยตลอด ในสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตก ไทยก็ดำเนินการทูตกับชาติตะวันตกอย่างชาญฉลาด ซึ่งการทูตได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้น
ต่อมาในสมัยสงครามเย็นไทยใช้การทูตในการป้องกันไม่ให้ถูกคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยการตีสนิทและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ซึ่งผลพลอยได้สำคัญจากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐคือ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยก้าวกระโดดเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สุดในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อมาในสมัยหลังสงครามเย็น ไทยดำเนินการทูตรอบทิศทางและมียุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 1997 ความฝันของไทยก็พังพินาศหมด สถานะและบทบาททางการทูตไทยก็ตกต่ำลงไปมากนับตั้งแต่นั้นมา
แม้ว่าต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ จะพยายามผลักดันนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกหลายเรื่อง แต่ในที่สุด ทุกอย่างก็พังพินาศหมด เพราะกลายเป็นว่า การทูตไทยในสมัยรัฐบาลทักษิณกลายเป็นการทูตเชิงธุรกิจ และการทูตเชิงทุจริต และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าทักษิณได้ใช้การทูตในการตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน มีการกล่าวหากันอย่างกว้างขวางว่า ทักษิณได้ใช้นโยบายต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ แต่กลับเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
การทูตไทยไม่ได้ดีขึ้นเลยหลังรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ รัฐบาลขิงแก่ ทุกอย่างก็หยุดหมด กลับกลายเป็นว่าการทูตไทยหยุดนิ่ง ที่เราเรียกกันในสมัยนั้นว่า การใส่เกียร์ว่าง ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ จึงไม่ได้มีความคิดริเริ่มในนโยบายต่างประเทศใดๆ เกิดขึ้นเลย
ต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้ง เราได้รัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย การเมืองไทยก็ปั่นป่วนเกิดวิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่ รัฐบาลทั้งสองก็ไม่มีเวลาที่จะคิดริเริ่มในเรื่องการทูตใหม่ๆ ก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะรอดจากการถูกล้มรัฐบาล
รัฐบาลปัจจุบันคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในตอนแรก ก็มีความหวังว่า จะมีการปฏิรูปนโยบายการทูตและนโยบายต่างประเทศใหม่ แต่เอาเข้าจริง หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น เรื่องที่พอจะเป็นผลงานได้บ้างคือ ความพยายามผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทในอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่แล้วหลังจากนั้น กลุ่มเสื้อแดงได้ล้มการประชุมที่พัทยา และการประชุมอาเซียนครั้งที่ 15 ก็ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แม้ว่านายกอภิสิทธิ์จะพยายามเดินทางไปร่วมประชุมในระดับโลกหลายเวที แต่ไทยก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่โดดเด่น สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เกิดปัญหาขึ้นกับกัมพูชา ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่ดูแล้วก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากนโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ การขาดนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก ขาดการจัดทำ grand strategy และขาดการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย

จากการทบทวนประเมินนโยบายต่างประเทศและการทูตไทยข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตการทูตไทยเคยรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบันการทูตไทยตกต่ำลงไปมาก แม้ว่าสถานการณ์เมืองในปัจจุบันจะไม่เอื้อ แต่ผมก็มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ที่จะต้องมีการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและการทูตไทยใหม่ โดยขอแยกเป็นประเด็นสำคัญดังนี้

• grand strategy

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องมี grand strategy ทางด้านนโยบายต่างประเทศ โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ เป็นภาพรวมและภาพกว้าง โดยสิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ จะต้องมีการผลักดันยุทธศาสตร์หรือนโยบายในเชิงรุก คือจะต้องมียุทธศาสตร์สำหรับบทบาทของไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน จะต้องมีนโยบายในเชิงรุกในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับมหาอำนาจและภูมิภาคอื่นๆ เช่น อัฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา
grand strategy ของไทย จะต้องมุ่งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือจะต้องไม่เป็นการทูตเชิงธุรกิจ การทูตในยุคใหม่ของไทย จะต้องเป็นการทูตเชิงสุจริตที่เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งเน้นหลักการธรรมภิบาลในนโยบายต่างประเทศ
นอกจากนี้ grand strategy ของไทยจะต้องมีลักษณะสมดุล เน้นดำเนินโยบายทางสายกลาง คือต้องไม่มีนโยบายแบบสุดโต่ง อย่างเช่นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีนโยบายสุดโต่ง มีลักษณะ ”โลภมาก” ทำหลายเรื่องมากเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นลักษณะนโยบายหยุดนิ่งแบบสุดโต่งเหมือนในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ นโยบายสายกลางยังหมายถึง การมียุทธศาสตร์ไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเกินไป นโยบายสายกลางยังหมายถึง การสร้างสมดุลระหว่างการเป็นพลเมืองโลกที่ดี กับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ตัวอย่างเช่น ไทยอาจเล่นบทบาทส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่เราก็ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ grand strategy ของไทย จะต้องเน้นจุดแข็งของไทย คือการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็น hub ในอนุภูมิภาค ผลักดันบทบาทไทยในการเป็นผู้ประสานงาน เป็นตัวเชื่อมกรอบความร่วมมือต่างๆ และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจต่างๆ ในโลก

• นโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับนโยบายเฉพาะเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศไทย จุดอ่อนของไทยคือ แม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจ แต่ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับไม่ดี ปัญหาใหญ่คือเรื่องความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความหวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้านที่กลัวว่าไทยจะเข้าไปครอบงำ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม เหตุการณ์เขมรเผาสถานทูต กรณีเขาพระวิหารและความตึงเครียดระหว่างไทยกัมพูชา ได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน การบ้านชิ้นใหญ่ของรัฐบาลไทยคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไว้วางใจเรา และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับเราอย่างจริงใจ

• นโยบายต่อมหาอำนาจ

สำหรับเรื่องความสำพันธ์ไทยกับมหาอำนาจนั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะการทูตไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการตีสนิทกับมหาอำนาจมาโดยตลอด ดังนั้น นโยบายไทยต่อมหาอำนาจในอนาคต คงจะเป็นการเน้นการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีที่มีมายาวนาน และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ผมดูแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย แต่สิ่งที่ไทยควรเน้นเป็นพิเศษคือ การสร้างดุลยภาพของความสัมพันธ์ คือมียุทธศาสตร์รักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเป็นพิเศษจนเสียสมดุล

• นโยบายต่อเวทีพหุภาคี

สำหรับเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การผลักดันนโยบายในเชิงรุกสำหรับบทบาทไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะเวทีในภูมิภาคซึ่งมีหลายเวที ขณะนี้ กำลังมีการถกเถียงกันอย่างมากถึงสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ไทยจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนต่อแนวโน้มการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่ผมมองว่า จุดยืนของไทยควรให้ความสำคัญกับอาเซียนมากที่สุด และควรผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค