Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 1)

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย


ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 4 – วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2554


คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤติการณ์ในลิเบีย ปฏิกิริยาของประชาคมโลก โดยเฉพาะจากสหประชาชาติ และมหาอำนาจ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก และการเมืองโลก


วิกฤตลิเบีย


เหตุการณ์การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับ ได้ลุกลามบานปลายจากตูนีเซีย อียิปต์ และขณะนี้ลามมาถึงลิเบีย ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการลุกฮือขึ้นของชาวลิเบียเพื่อต่อต้านผู้นำเผด็จการ Muammar Gaddafi ซึ่งได้ครองอำนาจมานานกว่า 40 ปี โดยรัฐบาล Gaddafi ถือเป็นรัฐบาลที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดรัฐบาลหนึ่งในโลก Gaddafi อาจจะมีเงินฝากอยู่ในธนาคารสหรัฐฯ ถึงหลายพันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน Gaddafi ได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ซึ่งน่าจะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,000 คน ในตอนแรก สถานการณ์จำกัดวงอยู่ที่เมืองหลวงตริโปลี แต่ต่อมาได้ขยายวงลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสงครามกลางเมือง โดยทางตะวันออกของประเทศ ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งได้ควบคุมเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของลิเบีย คือ เมือง Benghazi แต่ฝ่าย Gaddafi ยังคงควบคุมเมืองหลวงตริโปลี ที่มีประชากรอยู่ 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดของประเทศที่มี 6.5 ล้านคน


UNSC


สำหรับปฏิกิริยาของประชาคมโลกนั้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกย่อว่า UNSC ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ โดยสมาชิกของ UNSC ทั้ง 15 ประเทศ ได้ลงมติในข้อมติที่ 1970 โดยสาระสำคัญของข้อมติดังกล่าว มีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องการห้ามประเทศสมาชิกขายอาวุธให้กับลิเบีย ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นมาตรการคว่ำบาตร Gaddafi ครอบครัวและคนสนิท โดยในข้อมติ ได้มีการระบุถึง บุคคลใกล้ชิดของ Gaddafi รวมทั้งหมด 17 คน ที่จะถูกห้ามการเดินทางออกนอกประเทศและห้ามการออกวีซ่าให้ นอกจากนี้ Gaddafi และครอบครัวยังถูกอายัดทรัพย์สินและบัญชีเงินฝากในประเทศต่างๆ สำหรับเรื่องที่ 3 เป็นมติที่ UNSC ส่งเรื่องต่อให้กับศาลอาชญากรระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court ( ICC) โดย UNSC ได้ขอให้ ICC เข้ามาสอบสวน Gaddafi ในฐานะที่ได้กระทำอาชญากรรมสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ภายหลัง UNSC มีมติดังกล่าว เลขาธิการ UN คือ Ban Ki-moon ได้แสดงความยินดีต่อข้อมติดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประชาคมโลกจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ส่วนทูตอังกฤษประจำ UN ได้กล่าวว่า ข้อมติของ UNSC แสดงให้เห็นว่า ประชาคมโลกมีความห่วงใยและไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ในลิเบีย เช่นเดียวกับทูตสหรัฐฯประจำ UN ก็ได้กล่าวว่า ข้อมติดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณไปให้ผู้นำลิเบียว่า การเข่นฆ่าประชาชนจะต้องยุติ และผู้นำลิเบียจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว


สหรัฐฯ


สำหรับปฏิกิริยาของอภิมหาอำนาจสหรัฐฯนั้น ในตอนแรก รัฐบาล Obama ลังเล ซึ่งเหมือนกับท่าทีของสหรัฐฯต่ออียิปต์ คือ รัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้ออกมาประกาศที่จะให้ Gaddafi ลงจากอำนาจ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในที่สุด รัฐบาล Obama ได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าที แข็งกร้าวกับรัฐบาล Gaddafi โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ รัฐบาล Obama ได้ประกาศปิดสถานทูตในลิเบีย และอายัดบัญชีของ Gaddafi ที่ฝากอยู่ในธนาคารสหรัฐฯทั้งหมด Obama ได้ประกาศว่า มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเข่นฆ่าประชาชน ซึ่งได้รับการประณามจากประชาคมโลก


ผลกระทบ

* เศรษฐกิจโลก

วิกฤติลิเบียในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อ เศรษฐกิจโลก และการเมืองโลก สำหรับ ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ผลกระทบหลัก คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งได้สูงขึ้นอย่างมากหลังจากเกิดวิกฤติการณ์ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก หากวิกฤติมีความยืดเยื้อและบานปลาย ลิเบียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยปกติ จะส่งน้ำมันออกวันละ 1.7 ล้านบาร์เรล แต่หลังจากเกิดวิกฤต การส่งออกก็ลดลงกว่าครึ่ง ฝ่ายกบฏทางตะวันออกได้เข้าควบคุมแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ที่ลอนดอน ขยับขึ้นไปกว่า 120 เหรียญต่อบาร์เรล และที่สหรัฐฯก็ขยับขึ้นไปเกินกว่า 100 เหรียญ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขยับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันโลก ประการแรก คือ ความกลัวว่า supply น้ำมันจะขาดแคลน ทั้งนี้เพราะลิเบียไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ปัจจัยประการที่ 2 คือ ความหวาดวิตกว่า ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งสำรองน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติหนัก ซึ่งอาจจะลุกลามบานปลายออกไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ ตูนิเซีย อียิปต์ และตอนนี้ก็มาที่ลิเบีย บาร์เรน และเยเมน มีการคาดการณ์ว่า ประเทศต่อไปที่จะเจอปัญหาวิกฤตการเมือง คือ อัลจีเรีย ซึ่งก็เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ผลกระทบของวิกฤติในโลกอาหรับ และในลิเบีย ก็มากระทบถึงประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเศรษฐกิจไทย มีความอ่อนไหวมากต่อราคาน้ำมัน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ในโลกอาหรับยืดเยื้อ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลง ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว ไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานไทยในตะวันออกกลาง จะได้รับผลกระทบในเรื่องรายได้ การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางจะลดลง และนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่จะมาไทย ก็จะลดลงด้วย

* การเมืองโลก

สำหรับผลกระทบอีกด้านหนึ่งจากวิกฤติลิเบีย คือ ผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคง และการเมืองของโลกอาหรับ ซึ่งจะกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงของโลกด้วย โดยหากสถานการณ์การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการลุกลามขยายตัวไปทั่ว ภูมิภาค จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้กับขบวนการหัวรุนแรงที่จ้องหาจังหวะเข้ายึดอำนาจรัฐ ฉวยโอกาสที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น

สถานการณ์ภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ขบวนการหัวรุนแรงฉวยโอกาสจะใช้ความ รุนแรงนั้น มีความเป็นไปได้สูงในลิเบีย ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ในลิเบียต่างจากตูนีเซียและอียิปต์ ซึ่งมีสถาบันทางทหารที่เข้มแข็ง ซึ่งแม้ผู้นำเผด็จการจะต้องลงจากอำนาจ แต่ฝ่ายทหารก็จะยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้ แต่ในกรณีของลิเบีย ตลอดเวลา 40 ปีที่ครองอำนาจ Gaddafi ได้ทำให้สถาบันทหารอ่อนแอเป็นอย่างมาก ดังนั้น หาก Gaddafi ต้องลงจากอำนาจ ก็จะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และเกิดสภาวะอนาธิปไตย ลิเบียอาจกลายเป็น failed state หรือ รัฐที่ล้มเหลว ซึ่งก็จะเหมือนกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ก่อนที่นักรบ Taliban จะเข้ายึดอำนาจ และเหมือนกับสถานการณ์ในโซมาเลีย ที่มีลักษณะเป็น failed state เหมือนกัน ซึ่งเป็นสภาวะที่ al Qaeda ชอบมาก และจะฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าวในการยึดอำนาจรัฐ สำหรับในลิเบีย กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงที่สำคัญ คือ กลุ่ม Libyan Islamic Fighting Group (LIFG) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1995 แต่ก็ได้ถูก Gaddafi ปราบปรามอย่างหนัก สมาชิก LIFG หลายคนได้หนีไปเข้ากับกลุ่ม al Qaeda ในอัฟกานิสถาน หลังจากนั้น al Qaeda กับ LIFG ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

กล่าวโดยสรุป แม้ว่า แนวโน้มในขณะนี้ จะยังไม่ถึงจุดที่กลุ่มหัวรุนแรงจะเข้ายึดอำนาจรัฐ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป โดยหาก Gaddafi ต้องลงจากอำนาจ และลิเบียต้องเข้าสู่สงครามกลางเมือง และเกิดสภาวะอนาธิปไตย กลุ่มหัวรุนแรง LIFG ก็จะสามารถมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต และคงจะฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าว ในความพยายามที่จะเข้ายึดอำนาจรัฐในที่สุด