Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังนี้

ผลการประชุม
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus (ADMM-Plus) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก ในอดีต เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการประชุม ADMM-Plus ขึ้นนั้น น่าจะเป็นเพราะในภูมิภาคยังไม่มีเวทีหารือในระหว่างรัฐมนตรีกลาโหม ในอดีต มีเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเรื่องความมั่นคง แต่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่มีรัฐมนตรีกลาโหมเข้าร่วม

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ผมมองว่า สหรัฐคงจะไม่สบายใจที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มาประชุมสุมหัวรวมกันโดยไม่มีสหรัฐ ในด้านการทหารนั้น สหรัฐเน้นมากในการเป็นแกนกลางในการครอบงำและครองความเป็นเจ้าทางทหาร โดยระบบที่สหรัฐใช้มาตลอดเรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐเป็น hub และพันธมิตรทางทหารต่างๆ เป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ ผมเดาว่า สหรัฐคงเรียกร้องที่จะเข้ามาประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ดังนั้น จึงได้มีการหารือกันในหลายสูตร สูตรแรกน่าจะเป็น ADMM+1 แต่จะมีปัญหาว่า ถ้าจะเป็นการประชุมกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว จะดูไม่เหมาะ แต่ถ้าจะขยายออกไป ก็จะหาข้อยุติได้ยาก หากขยายออกไปเป็น ADMM+3 หรือ ADMM+6 ก็จะไม่มีสหรัฐ ซึ่งสหรัฐคงไม่ยอมแน่ ในที่สุดจึงต้องขยายออกไปเป็น ADMM+8 โดยมีสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย

สำหรับผลการประชุมนั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ADMM-Plus และที่ประชุมมองว่า ADMM-Plus จะเป็นกลไกสำคัญของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ประชุมมองว่า ขณะนี้มีสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงที่มีลักษณะข้ามชาติและซับซ้อน อาทิ เรื่องภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมข้ามชาติ และโรคระบาด โดยที่ประชุมเน้นที่จะร่วมมือกันในการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม สำหรับในเรื่องการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นประเทศสมาชิก ADMM-Plus จึงควรร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่าย และเสริมสร้างสมรรถนะในการต่อสู้กับภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

ที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมมือกันใน 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการด้านการรักษาสันติภาพ และด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้จัดตั้ง ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting–Plus (ADSOM-Plus) และให้มีการจัดตั้ง Experts’ Working Groups (EWG) หรือคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน โดยเวียดนามกับจีนได้แสดงความสนใจที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ส่วนมาเลเซียและออสเตรเลียเสนอที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านความมั่นคงทางทะเล และฟิลิปปินส์กำลังหารือกับนิวซีแลนด์ในคณะทำงานด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
ท่าทีของสหรัฐ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ Robert Gates ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และแน่นอนในความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่ง สหรัฐพยายามแสดงบทบาทนำในการประชุมครั้งนี้ โดยในสุนทรพจน์ของ Gates ได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศในแปซิฟิกและเป็นมหาอำนาจในเอเชีย ในอดีต สหรัฐได้เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มาโดยตลอดและจะเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต ดังนั้น สหรัฐจะร่วมมือในการเผชิญกับสิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคงร่วมกัน สหรัฐเน้นว่า ความสัมพันธ์ในแบบทวิภาคีจะต้องได้รับการเสริมด้วยสถาบันพหุภาคี โดย Gates ได้เน้นถึงหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคว่าต้องประกอบด้วย การค้าเสรี ระเบียบระหว่างประเทศที่เน้นสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ เสรีภาพในการเข้าถึงน่านน้ำและน่านฟ้าสากล รวมถึงหลักการในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญคือ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งทางพรมแดน การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

ท่าทีของจีน
ประเทศมหาอำนาจอีกประเทศที่ถูกจับตามองคือ จีน ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จีนได้พยายามที่จะลดกระแสความตื่นตระหนกของประเทศในภูมิภาคอันเกิดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายคู่กรณี โดยเฉพาะกับสหรัฐในเรื่องเกาหลีเหนือ ทะเลเหลือง และทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะ Sensaku/Diaoyu ในสุนทรพจน์ของนายพล Liang Guanglie รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ได้พยายามที่จะลดกระแสความตึงเครียดในภูมิภาค โดยให้หลักประกันต่อประเทศในภูมิภาคว่า จีนพร้อมที่จะร่วมมือ โดยนายพล Liang ได้กล่าวย้ำว่า จีนมีนโยบายป้องกันประเทศที่มีลักษณะเป็นนโยบายในเชิงรับ การพัฒนาทางทหารของจีนก็ไม่ได้ที่จะไปคุกคามประเทศใด และจีนต้องการที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
แต่เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมื่อ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้จุดประเด็นในเรื่องนี้ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งท่าทีของสหรัฐที่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ทำให้จีนไม่พอใจมาก จีนจึงได้ประกาศซ้อมรบและประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า หมู่เกาะ สแปรตลีย์เป็นของจีน ซึ่งก็ได้ทำให้สหรัฐรีบจับมือกับเวียดนามและเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทำให้บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นมา

ในเอกสารผลการประชุม ADMM-Plus ได้มีการกล่าวว่า บางประเทศได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และที่ประชุมยินดีต่อความพยายามของฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน์ของรัฐมนตีรกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า สหรัฐไม่ได้เข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน แต่ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขอย่างสันติวิธี และยินดีที่จะได้มีการหารือกันในการจัดทำ Code of Conduct สหรัฐสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบพหุภาคี และพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ชัดเจนคือ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือ ดังนั้นสหรัฐจึงมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องนี้
แต่ในส่วนของจีนนั้น รัฐมนตรีกลาโหมของจีนได้กล่าวไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐ โดยบอกว่า ความขัดแย้งไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขในแบบพหุภาคี โดยทางจีนมองว่า ADMM-Plus น่าจะร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ละเอียดอ่อน

จีนพยายามที่จะไม่ให้เอาเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เข้าสู่ที่ประชุม แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอาเซียนอื่นๆ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่4 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2553

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2010
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 ให้แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน โดยใน press release ของคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า Liu ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีนมาอย่างยาวนาน และได้กล่าวถึงจีนว่า ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะนี้ จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และคนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะใหม่ของจีนย่อมหมายถึงจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย แต่จีนได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ชาวจีนยังถูกจำกัดเสรีภาพ

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ Liu ได้เป็นกระบอกเสียงในการผลักดันสิทธิมนุษยชนในจีน เขาได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 Liu ได้เป็นคนสำคัญในการเขียนเอกสารที่เรียกว่า Charter 08 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเรียกร้องเสรีภาพในจีน และจัดทำขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จากการกระทำดังกล่าว Liu ได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้ถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 11 ปี ขณะนี้ การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนกำลังเกิดขึ้น โดยชาวจีนทั้งในประเทศและนอกประเทศ และ Liu ได้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน
หลังจากมีการประกาศรางวัลโนเบลสันติภาพให้แก่ Liu รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์โจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร ที่ละเมิดกฎหมายจีน การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu จึงเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของรางวัลโนเบล และเป็นการดูถูกรางวัลโนเบลสันติภาพ นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศจีนยังได้ขู่ด้วยว่า การที่คณะกรรมการโนเบลกระทำเช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่คณะกรรมการตั้งอยู่

ในตอนที่ประธานกรรมการโนเบล Thorbjorn Jagland ได้ประกาศรางวัล ได้มีการถ่ายทอดไปทั่วโลกโดย CNN และ BBC โดย Jagland ได้แสดงความเห็นว่า จีนกำลังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มหาอำนาจจะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่โลกภายนอกควรจะจับตามองจีนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และประชาคมโลกควรจะมีการถกเถียงว่า เราควรอยากจะให้จีนเป็นอย่างไร ซึ่งการแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก มีข่าวว่า รัฐบาลจีนได้ตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดการประกาศรางวัลดังกล่าวของ BBC และ CNN ทันที นอกจากนั้น สื่อต่างๆ ในจีนก็แทบจะไม่ได้ลงข่าวในเรื่องนี้เลย

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรางวัล ทางรัฐบาลจีนได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยในเดือนกันยายน สำนักข่าวของนอร์เวย์ได้ลงข่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้รับการข่มขู่จากนักการทูตจีนว่า การให้รางวัลต่อ Liu จะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างนอร์เวย์กับจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ต โดยมีการบล็อก ชื่อของ Liu และ บล็อกเว็บไซท์สื่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยที่ได้โพสต์ข้อความสนับสนุน Liu ใน blog ต่างๆ และใน twitter มีข่าวว่าตำรวจในปักกิ่งจับกุมชาวจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเฉลิมฉลองการที่ Liu ได้รางวัลดังกล่าว

ต่อมา รัฐบาลจีนได้เรียกทูตนอร์เวย์ที่ปักกิ่งเข้าพบเพื่อทำการประท้วง โดยย้ำว่า Liu เป็นอาชญากรและการให้รางวัลถือเป็นการขัดกับหลักการของโนเบลและจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ต่อมามีข่าวว่า จีนได้ยุติการเจรจากับนอร์เวย์ในเรื่องการจัดทำข้อตกลงทางการค้า

ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ
สำหรับทางประเทศตะวันตกนั้น ได้สนับสนุนรางวัลสันติภาพของ Liu อย่างเต็มที่

โดยนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ ชื่อ Jens Stoltenberg ได้แสดงความยินดีต่อ Liu และได้กล่าวว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการโนเบลเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน Liu ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ถึงแม้จีนจะมีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่จีนก็ยังมีสิ่งท้าทายโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สำหรับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้เลือก Liu ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญและจะเป็นกระบอกเสียงในการเสริมสร้างค่านิยมสากล โดยเฉพาะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปทางการเมืองยังพัฒนาไม่ทันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โอบามาได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัว Liu

ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ได้กล่าวว่ารางวัลโนเบลสันติภาพของ Liu นั้น แสดงให้เห็นถึงฉันทามติระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเทศยุโรปก็มีปฏิกิริยาออกมาในแนวเดียวกันหมด โดยโฆษกรัฐบาลเยอรมันกล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันต้องการให้จีนปล่อยตัว Liu เพื่อที่เขาจะมารับรางวัลที่นอร์เวย์ได้ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส Bernard Kouchner ได้กล่าวว่า ท่าทีของฝรั่งเศสก็เหมือนท่าทีของ EU ที่มีความห่วงใยต่อการที่ Liu ถูกคุมขัง และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวมาหลายครั้งแล้ว ฝรั่งเศสขอตอกย้ำข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนทางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้แถลงว่า การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน รัฐบาลอังกฤษได้หยิบยกการที่ Liu ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และอังกฤษขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า ปัญหาจีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพในครั้งนี้ ทำให้จีนตกเป็นเป้า โดยเฉพาะในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ซึ่งถือเป็นภาพในแง่ลบของจีนที่เกิดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การผงาดขึ้นมาของจีน การจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และความยิ่งใหญ่ของการจัด World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกกลับมาให้ความสนใจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งผมมองว่า เป็นจุดอ่อนที่สุดของจีนในขณะนี้

• การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ในแง่ของจีนคงจะมองว่า เป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของจีน ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ซึ่งในตอนนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตะวันตก ได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อจีน

• อย่างไรก็ตาม การที่จะอธิบายถึงสาเหตุของการให้รางวัลโนเบลแก่ Liu นั้น หากมองในแง่ดี อาจอธิบายได้ว่า เป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และจริงใจจากคณะกรรมการโนเบล ที่ต้องการส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ร้าย อาจจะมีประเด็นสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ อย่าลืมว่า คณะกรรมการโนเบลก็ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก ซึ่งมองจีนด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตะวันตกจึงวิตกกังวลว่า ในอนาคตจีนอาจจะท้าทายระเบียบโลก และการครองโลกของตะวันตกได้ ฉะนั้น วาระซ่อนเร้นคือ การใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการโจมตีจีน เพื่อที่จะทำให้จีนเสียชื่อ และไม่มีความชอบธรรมที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก

• อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ หลังจากนี้ การเมืองของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด มีความเป็นไปได้ว่า การให้รางวัลดังกล่าว อาจจะเป็นการจุดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนขึ้นอีกครั้ง และ รางวัลดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงทางการเมืองระหว่างผู้นำจีน ในเรื่องทิศทางการปฏิรูปทางการเมือง ในขณะที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านผู้นำของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำคนใหม่ในปี 2012 เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ในระยะยาวแล้ว พัฒนาการทางการเมืองของจีนโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร